fbpx
สงครามภาษา - Bahasa Melayu VS Bahasa Indonesia

สงครามภาษา – Bahasa Melayu VS Bahasa Indonesia

ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มาเลเซียมีข่าวไม่ใหญ่ไม่เล็กแต่ซึมลึกข้ามพรมแดนถึงประเทศเพื่อนบ้าน นั่นคือข่าวนาย อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ (Ismail Sabri Yaacob) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พูดในที่ประชุมวุฒิสภาว่าจะผลักดันให้ภาษามลายูเป็นภาษาทางการภาษาที่สองของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เพื่อยกระดับภาษามลายูให้เป็นสากล

นายกฯ ซาบรี ยกเหตุผลว่าภาษามลายูสมควรเป็นภาษาของสมาคมอาเซียน เพราะเป็นภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ ภาคใต้ของไทย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งบางส่วนของเวียดนาม กัมพูชา และลาว ในขณะที่มีประเทศอาเซียนเพียง 4 ประเทศจากทั้งหมด 10 ประเทศใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาในการปฏิบัติงานของอาเซียนในเวทีนานาชาติ ส่วนประเทศอื่นล้วนใช้ภาษาประจำชาติของตนทั้งสิ้น 

การที่มาเลเซียผลักดันให้ภาษามลายูเป็นภาษาทางการในอาเซียนไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อปี 2554 นายราอิส ยาทิม(Rais Yatim) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสารและวัฒนธรรมก็เคยเสนอเรื่องเดียวกัน เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ก็เคยนำเสนอไว้ ขณะยังดำรงตำแหน่งในปี 2560 แต่ไม่มีปฏิกริยาตอบสนองจากประเทศสมาชิกอาเซียน เรื่องจึงเงียบหายไป

อิสมาอิล ซาบรี บอกว่าเขาเองในฐานะนายกรัฐมนตรีใช้ภาษามลายูตลอดการเดินทางไปเยือนต่างประเทศ ทั้งที่อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา ประเทศไทย และเวียดนาม และให้นโยบายให้นักการเมืองและข้าราชการใช้ภาษามลายูในการประชุมระดับนานาชาติ

เขาพูดว่า “เราไม่จำเป็นต้องรู้สึกละอายหรืออิหลักอิเหลื่อในการใช้ภาษามลายูในเวทีนานาชาติเพราะความพยายามในการรักษาภาษามลายูนี้ สอดคล้องกับประเด็นหลักของกรอบนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียที่รัฐบาลเปิดตัวเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมปีที่แล้ว”

มาเลเซียกำลังจ่อคิวนั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนใน พ.ศ. 2568 ซึ่งประจวบเหมาะกับที่เป็นปีที่วิสัยทัศน์และแผนงานหลัง พ.ศ. 2568 จะถูกนำมาใช้ นายกฯ ซาบรีอาจเห็นเป็นจังหวะเหมาะที่จะเสนอเรื่องนี้ล่วงหน้า ถึงแม้จะยังอยู่ระหว่างการหยั่งเสียง  แต่ข้อเสนอของซาบรีส่งผลให้มีผู้โดดรับลูกในประเทศอย่างรวดเร็ว เริ่มจากนายไซฟูดดีน อับดุลลาฮ์ (Saifuddin Abdullah) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนเองเพิ่งเขียนจดหมายอย่างเป็นทางการเป็นภาษามลายูถึงนายแอนโธนี บลิงเกน (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายจากนายกรัฐมนตรี

ซาบรีขยับเรื่องนี้ในอาเซียนเป็นครั้งแรกในการเดินทางไปเยือนประธานาธิบดี โจโก วิโดโด (Joko Widodo) หรือโจโกวี (Jokowi) แห่งอินโดนีเซียเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่เขาและประธานาธิบดีโจโกวีออกแถลงข่าวร่วมกัน โดยตอนหนึ่งนายกฯ ซาบรี กล่าวว่า ประเทศทั้งสองตกลงจะเดินหน้าพัฒนายกระดับภาษามลายูร่วมกันต่อไป และวันหนึ่งภาษามลายูอาจเป็นภาษาของอาเซียนก็ได้

คำแถลงนี้ฟังเผินๆ ดูสอดคล้องกับความประสงค์ของมาเลเซีย แต่ลองอ่านระหว่างบรรทัดดีๆ จะรู้ว่า ไม่มีคำสัญญาใดจากอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีโจโกวีเพียงยิ้มสุภาพขณะที่ซาบรีเอ่ยถึงประเด็นนี้ โดยไม่ได้เอ่ยถ้อยคำใด แต่คำตอบที่แท้จริงของอินโดนีเซียได้เดินทางมาถึงในสองสามวันถัดมา เมื่อรัฐมนตรีอินโดนีเซียอย่างน้อยสองคนคือ นางเรทโน มาร์ซูดี (Retno Marsudi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายนาดีม มาคารีม (Nadiem Makarim) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม วิจัย และเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย ออกมาคัดค้านอย่างเปิดเผย 

รัฐมนตรีเรทโนกล่าวว่า อาเซียนคงต้องศึกษาข้อเสนอของนายกฯ มาเลเซียต่อไป แต่ต้องเข้าใจโดยทั่วกันว่าอินโดนีเซียไม่เห็นด้วย ส่วนรัฐมนตรีนาดีม ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของแพลตฟอร์ขนส่ง Gojek ของอินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรปฏิเสธข้อเสนอของมาเลเซียตรงๆ แล้วเสนอสวนไปว่าที่จริงแล้วภาษาอินโดนีเซียที่เรียกว่า Bahasa Indonesia ต่างหาก สมควรใช้เป็นภาษาในการสื่อสารระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย และสมควรเป็นภาษาทางการอีกภาษาหนึ่งของอาเซียน โดยเขาได้แสดงความเห็นนี้ให้นายกฯ มาเลเซียทราบในการประชุมไปเรียบร้อยแล้ว

นาดีมยกเหตุผลว่าภาษาอินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบทั้งทางประวัติศาสตร์ กฎหมาย และภาษา แม้ไม่ได้ขยายความเพิ่มแต่ชี้ว่าภาษาอินโดนีเซียมีการใช้ในประเทศ 47 ประเทศทั่วโลก และสอนในสถาบันการศึกษา 428 ทั่วโลก จึงสมควรใช้เป็นภาษาของอาเซียนมากกว่าภาษามลายูที่มาเลเซียเสนอ แล้วเรียกร้องให้ประชาชาอินโดนีเซียยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับรัฐบาลในการ “สร้างความเข้มแข็งและปกป้องภาษาอินโดนีเซีย” ต่อไป

“แน่นอนว่า ข้าพเจ้าในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม วิจัย และเทคโนโลยี ปฏิเสธข้อเสนอนี้” แถลงการณ์ระบุ “อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นความปรารถนาของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรกับเรา ที่จะให้ภาษามลายูเป็นภาษาทางการของอาเซียน เป็นธรรมดาว่าความปรารถนานั้นต้องได้รับการศึกษาและถกเถียงในระดับภูมิภาคต่อไป”

ข้อเสนอของนายกฯ มาเลเซียอาจสร้างความเคืองใจให้อินโดนีเซียไม่มากก็น้อย สังเกตได้จากบทนำวันที่ 6 เมษายนของหนังสือพิมพ์เดอะจาการ์ตาโพสต์ (The Jakarta Post) ที่ออกมาชี้แนะเรื่องลำดับขั้นตอนที่มาเลเซียต้องทำหากจริงจังกับเรื่องนี้ ก่อนอื่นจะต้องยกประเด็นเรื่องนี้มาหารือในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จัดขึ้นทุกสองปี ก่อนจะไปพูดคุยกันในการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงและระดับรัฐมนตรีอาเซียน  ฃหากตกลงรับข้อเสนอ ขั้นตอนต่อไปคือการแก้ธรรมนูญอาเซียนที่ระบุไว้ให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการทำงาน

บทความนี้ตบท้ายด้วยการเขียนเตือนว่า ภาษามลายูไม่ได้มีมาตรฐานเป็นหนึ่งเดียวเหมือนกันทั้งหมด แม้ภาษาอินโดนีเซียจะมีรากจากภาษามลายูที่ใช้พูดกันในเกาะเรียว (Riau) แต่ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากภาษาชวานับตั้งแต่อินโดนีเซียนำมาเป็นภาษาประจำชาติใน ค.ศ. 1928 “มาเลเซียควรต้องโน้มน้าวอาเซียนให้ได้ว่า ข้อเสนอนี้จะให้ผลดีมากกว่าผลร้าย ซึ่งแน่นอนย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย”

สรุปได้ว่าทั้งฝ่ายการเมืองและสื่อมวลชนใหญ่ของอินโดนีเซียพร้อมใจกันออกมาติดเบรกความฝันของนายกฯ ซาบรี ซึ่งดูเหมือนจะทำให้มาเลเซียชะงักอยู่ไม่น้อย เพราะนับแต่วันนั้นยังไม่ได้ยินทั้งนายกฯ และนักการเมืองมาเลเซียให้ความเห็นต่อท่าทีของอินโดนีเซียแต่อย่างไร แน่นอนว่าเสียงของอินโดนีเซียในเรื่องนี้ย่อมมีน้ำหนักสำคัญในอาเซียน เพราะตัวเลขประเมินจำนวนประชากรผู้ใช้ภาษามลายูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 300 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 45 ของประชากรอาเซียนทั้งหมดกว่า 655 ล้านคน แต่ในจำนวน 300 ล้านคนที่ใช้ภาษามลายู เป็นประชากรอินโดนีเซียเสียกว่า 270 ล้านคน ขณะที่มาเลเซียมีประชากรเพียง 32 ล้านคนกว่าๆ จึงไม่สามารถเทียบได้ด้วยประการทั้งปวง

ชาวอินโดนีเซียเรียกภาษาของตนว่า ‘ภาษาอินโดนีเซีย’ (Bahasa Indonesia) ส่วนมาเลเซียเรียกว่า ‘ภาษามลายู’ หรือ ‘มาเลย์’ (Bahasa Melayu) หากดูเผินๆ ก็เหมือนไม่มีอะไร แต่ที่มาของการเรียกชื่อภาษาสะท้อนแนวคิดของความเป็นชาติที่ไปคนละทาง 

สำหรับสองประเทศนี้ ภาษาประจำชาติไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับสื่อสาร แต่ยังเป็นเครื่องมือทางอัตลักษณ์ที่สำคัญ ขึ้นอยู่กับว่าในเงื่อนไขของแต่ละประเทศนั้น ภาษาเป็นตัวแทนทางอัตลักษณ์ของใคร

ในช่วงระหว่างการต่อสู้กับเนเธอร์แลนด์เจ้าอาณานิคมที่ปกครองหมู่เกาะอีสต์อินเดีย (East Indies) กว่า 17,000 เกาะมา 300 ปี กลุ่มเยาวชนอินโดนีเซียทั่วประเทศเดินทางมาประชุมกันในปี 2471 โดยที่ประชุมได้กล่าวคำปฏิญาณของยุวชน  (Sampah Pemuda) ต่อสู้เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ ชูคำขวัญ “หนึ่งประเทศ หนึ่งธงชาติ และหนึ่งภาษา เพื่ออินโดนีเซีย” คำว่าหนึ่งภาษาที่ว่า คือภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งมีรากมาจากคือภาษามลายูนั่นเอง

อันที่จริงภาษามลายูไม่ใช่ภาษาของชนกลุ่มใหญ่ในอินโดนีเซียซึ่งปัจจุบันมีประชากรราว 273 ล้านคน จากกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดราวรวม 300 กว่าชาติพันธุ์ มีภาษาพูด 300 กว่าภาษา กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดคือชาวอินโดนีเซียเชื้อสายชวาที่มีอยู่ราว 90 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 41 รองลงมาคือซุนดาราว 39 ล้านคน ส่วนคนเชื้อสายมลายูในอินโดนีเซียมีประมาณ 8 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ที่เกาะสุมาตรา เกาะเรียว และเกาะกาลิมันตัน

แนวร่วมชาตินิยมอินโดนีเซียมีเหตุผลอันแยบยลในการเลือกภาษามลายูให้เป็นภาษาประจำชาติ ในขณะที่ภาษาทางการที่ใช้ในยุคอาณานิคมคือภาษาดัตช์ และภาษาของชนหมู่มากคือภาษาชวา ทั้งสองภาษาไม่ถูกเลือกเพราะชัดเจนว่าภาษาดัตช์คือภาษาของผู้กดขี่ แต่ถ้าหากเลือกภาษาชวาเป็นภาษาประจำชาติก็เกรงว่าประชาชนเชื้อสายอื่นจะเกิดการเปรียบเทียบว่าคนชวาที่มีจำนวนมากกว่าใครเพื่อนอยู่แล้วมีโอกาสแสดงความเหนือกว่า ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ

นั่นทำให้ภาษามลายูซึ่งเป็นที่ใช้กันแพร่หลายในการค้าขาย หรือที่เรียกกันว่า ‘มลายูแบบตลาด’ (Pasar Malayu) จึงถูกหยิบขึ้นมาขัดเกลาประดิษฐ์สร้างให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาชวา แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Bahasa Indonesia เป็นภาษาตัวแทนของประเทศเกิดใหม่หลังประกาศเอกราชในปี 2488 อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการใช้ Bahasa Indonesia เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอัตลักษณ์ของชาติและประชาชนโดยรวม โดยก้าวข้ามเส้นแบ่งทางชาติพันธุ์นับร้อยในประเทศ

ในมาเลเซีย มาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญระบุให้ภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติที่ใช้อย่างเป็นทางการ นอกจากนั้น กฎหมาย Education Act 1961 ยังกำหนดให้ภาษามลายูเป็นภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม ในทางสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติของประชากร ภาษาต่างๆ เช่น จีน และทามิล ยังใช้กันในชีวิตประจำวันของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนและอินเดีย ในขณะที่ภาษาอังกฤษใช้ในการทำธุรกิจ 

ภาษามลายูคงสามารถเป็นภาษาประจำชาติที่แท้จริงของมาเลเซียได้อย่างเต็มภาคภูมิ หากติดที่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่ฝังรากลึก และการฉวยโอกาสของนักการเมืองในการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือยืนยันอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ของตน ในมาเลเซีย ภาษาจึงกลายเป็นเครื่องมือของการแบ่งแยกมากกว่าความเป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นทิศทางที่ต่างกับอินโดนีเซียอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือนักการเมืองอย่างนายกฯ อิสมาอิล ซาบรี เอง ที่มีบันทึกไว้ว่าเป็นนักการเมืองของพรรคอัมโน (United Malays National Organisation – UMNO) ที่มีพฤติกรรมแบ่งแยกเชื้อชาติต่างกรรมต่างวาระ เช่นใน พ.ศ. 2558 ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เขาตกเป็นข่าวเมื่อเรียกร้องให้ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูบอยคอตพ่อค้าแม่ค้ามาเลเซียเชื้อสายจีนที่ไม่ยอมลดราคาสินค้า นอกจากนั้นยังกล่าวหาพรรค Malaysian Chinese Association (MCA) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ว่าแอบทำงานร่วมกับพรรค Democratic Action Party (DAP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยทั้งสองพรรคมีฐานเสียงชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน จากนั้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เขาตำหนิบริษัทของรัฐและเอกชน รวมทั้งหน่วยราชการว่านิยมใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าภาษามลายูในการปฏิบัติงาน ชี้ว่าบริษัทและหน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่ “รักษาศักดิ์ศรีของภาษามาเลย์” 

ในการประชุมใหญ่พรรคอัมโน เขาประกาศนโยบายแก้พระราชบัญญัติองค์กร Dewan Bahasa dan Pustaka ที่เป็นองค์กรประสานงานเกี่ยวกับการใช้ภาษามลายู เพิ่มอำนาจให้ดำเนินการกับผู้ใช้ภาษามลายูในทางที่ผิด รวมทั้งผู้ที่ติดป้ายโฆษณาที่มีความผิดพลาดของภาษามลายู และให้นักศึกษาต่างชาติที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของมาเลเซียต้องเรียนภาษามลายู ซึ่งเรื่องนี้เขาอาจลืมไปว่ามีระเบียบเดิมที่กำหนดเช่นนั้นไว้แล้ว

การเมืองภายในมาเลเซียอยู่ในภาวะสั่นคลอนมา 3 ปี และขณะนี้พรรคอัมโนที่เพลี่ยงพล้ำแพ้เลือกตั้งใน พ.ศ. 2561 ก็หวนคืนกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ด้วยการรวมกลุ่มกับ ส.ส. ที่ย้ายมุ้งจากรัฐบาลมหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) นอกจากนี้ในการเลือกตั้งซ่อมที่รัฐมะละกาและรัฐยะโฮร์ อัมโดนก็ได้ส่งตัวแทนลงสนามประลองกำลัง และผลก็ปรากฏว่าอัมโนชนะขาดลอย

เมื่อพรรคอัมโนเข้มแข็งขึ้นท่ามกลางความอ่อนแอของพรรคอื่นๆ นักการเมืองอัมโนที่มั่นใจว่าพรรคจะกลับมาผงาดในฐานะแกนนำรัฐบาลเหมือนในอดีต เริ่มกดดันให้นายกฯ ซาบรียุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ก่อนที่วาระของสภา ฯ จะหมดลงตามกฎหมายในเดือนมิถุนายนปีหน้า อัมโนเริ่มส่งสัญญาณเรียกเสียงสนับสนุนด้วยการชูธงมลายูนิยมเพื่อระดมเสียงจากฐานเสียงหลักของตนคือกลุ่มภูมิบุตรหรือชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลาม ที่มีราวๆ ร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด 

นักสังเกตการณ์ทางการเมืองในมาเลเซียบางรายวิเคราะห์ไว้ว่า ประเด็นที่น่าจะร้อนระอุในศึกเลือกตั้งที่จะมาถึงคือประเด็นเชื้อชาตินิยม ซึ่งไม่ได้มาจากการชิงดำระหว่างปีกของพรรครัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่เป็นการประชันแชมป์ขวัญใจภูมิบุตรระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่ฐานเสียงภูมิบุตรด้วยกันเองว่าเลือดมลายูของใครเข้มข้นกว่ากัน พรรคที่ว่านี้คือพรรคอัมโน พรรคเบอร์ซาตู (Parti Pribumi Bersatu Malaysia – Bersatu) ของอดีตนายกรัฐมนตรี มูห์ยีดดีน ยาซซีน (Muhyiddin Yassin) และพรรคพาส (Parti Islam Se-Malaysia – PAS)

ผู้ที่รู้ตื้นลึกหนาบางของการเมืองมาเลเซียมองเห็นได้ว่า เจตนามุ่งมั่นผลักดันภาษามลายูสู่อาเซียนของนายกฯ ซาบรี น่าจะยังดูทะแม่งอยู่ ศาสตราจารย์ โมฮัมหมัด อาซีซูดีน ซานี (Mohd Azizuddin Sani) นักวิเคราะห์การเมือง ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวสเตรทไทม์ (New Strait Times) ของมาเลเซียว่า เรื่องการผลักดันภาษามลายูสู่อาเซียนไม่สามารถมองว่าเป็นเรื่องของภาษาล้วนๆ เพราะมีการเมืองเกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังในระดับหนึ่ง โดยอาจเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของนายกฯ ซาบรี ว่าเป็นผู้นำที่สู้เพื่อภาษาประจำชาติ

เขาบอกว่า “ข้อเสนอนี้ให้น้ำหนักทางการเมืองแก่อิสมาอิล ซาบรี เพราะชาวมาเลเซียโดยทั่วไปจะสนับสนุนเขาในฐานะผู้ยกระดับภาษา (มลายู) และเขาก็มีความเต็มใจในการผลักดันวาระนี้มากกว่าผู้นำคนอื่นๆ ในอดีตด้วย”

ในระดับภูมิภาค โจแอน ลิน เวลลิ่ง หัวหน้านักวิจัย Asean Studies Centre ที่สถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า การที่อาเซียนจะรับเอาภาษาของประเทศใดประเทศหนึ่งมาเป็นภาษาทางการ อาจทำให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ มองว่าเป็นการครอบงำของเชื้อชาติและวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในอาเซียนได้

ชะรอยการขยับหมากวีรบุรุษภาษามลายูของนายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี แห่งมาเลเซีย อาจคงต้องจำกัดวงอยู่แค่ในประเทศมาเลเซียไปก่อน เมื่ออินโดนีเซียเพื่อนบ้านเจ้าของภาษารายใหญ่แห่งอาเซียนลงมือดักคออย่างรู้ทัน และอาจตามด้วยประเทศใกล้เคียงเช่นสิงคโปร์

สำหรับประเทศอาเซียนอื่นๆ การอยู่นิ่งๆ ทำความเข้าใจความลึกลับซับซ้อนของประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านอย่างไม่รีบร้อน น่าจะดีที่สุด 


อ้างอิง

https://www.malaysia.gov.my/portal/content/30118

https://www.scmp.com/week-asia/lifestyle-culture/article/3173240/malaysias-call-asean-embrace-its-national-language-irks

https://www.malaymail.com/news/malaysia/2015/02/10/im-no-racist-i-wont-apologise-ismail-sabri-says/837757

https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2022/03/23/pm-wants-to-make-malay-second-language-among-asean-members/

https://www.malaymail.com/news/malaysia/2022/04/05/report-indonesia-rebuffs-ismail-sabris-bahasa-melayu-overtures/2051662

https://www.thejakartapost.com/opinion/2022/04/05/malay-for-asean.html

https://www.theborneopost.com/2017/02/27/racist-comments-of-ismail-sabri-should-be-condemned-baru/

https://www.thestar.com.my/news/nation/2022/03/24/saifuddin-writes-official-letter-to-us-secretary-of-state-in-bm

https://www.nst.com.my/news/nation/2022/04/785717/breaking-it-down-bahasa-melayu-aseans-second-language

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save