fbpx
ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาของวิถีอาเซียน ภาษาของความเท่าเทียม (?)

ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาของวิถีอาเซียน ภาษาของความเท่าเทียม (?)

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ภาษามลายูเป็นภาษาที่มีผู้พูดมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นทั้งภาษาประจำชาติ ภาษาราชการ และภาษาทางการในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนและสิงคโปร์ และแม้ภาษากลางที่ใช้สื่อสารในองค์กรอาเซียนจะเป็นภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ภาษาอินโดนีเซีย (ซึ่งพัฒนามาจากภาษามลายู) ก็มีอิทธิพลต่อการทำงานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หรือวิถีอาเซียนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

กำเนิดอาเซียน

 

อาเซียนก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ณ กรุงเทพฯ โดยมีสมาชิกร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และ สิงคโปร์ ในปัจจุบัน อาเซียนมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ และปีนี้ก็เป็นปีที่ครบรอบ 53 ปีการก่อตั้งอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือในภูมิภาคที่ดำรงมาอย่างยาวนาน ไม่ล้มไปเหมือนองค์กรในภูมิภาคก่อนหน้านี้

ในช่วงที่อาเซียนถูกก่อตั้ง โลกอยู่ท่ามกลางบริบทของยุคสงครามเย็นที่เป็นการต่อสู้ห้ำหั่นระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตย นำโดยสหรัฐอเมริกา กับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ นำโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้ของสองฝ่าย และอาเซียนก็เป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ดังนั้น คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไป หากจะสรุปว่าอาเซียนถูกก่อตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์และแรงผลักดันจากเรื่องความมั่นคงและการเมือง ทั้งในภูมิภาคและระดับโลก

 

ASEAN Way

 

แม้ว่าประเทศสมาชิกร่วมก่อตั้งอาเซียนจะมีจุดยืนสนับสนุนโลกเสรีประชาธิปไตยเหมือนกัน ทว่าแต่ละประเทศก็ยังมีความแตกต่างและมีประเด็นอ่อนไหว ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนก็ดำรงอยู่เสมอ จึงต้องมีแนวทางการทำงาน หรือแนวทางปฏิบัติเพื่อให้การทำงานของอาเซียนเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘วิถีอาเซียน’ หรือ ASEAN Way ขึ้น ซึ่งวิถีอาเซียนที่สำคัญคือ การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก และ การมีมติเอกฉันท์

1) ประเทศสมาชิกอาเซียนเคารพอธิปไตยระหว่างกัน จะไม่เข้าไปแทรกแซงปัญหาภายในของประเทศสมาชิกอื่นๆ เนื่องจากว่าทุกประเทศมีปัญหาภายในที่ไม่ต้องการให้ประเทศอื่นยื่นมือไปยุ่ง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 2) หลักการเจรจาระหว่างผู้มีอำนาจหน้าที่อย่างเงียบๆ สมาชิกอาเซียนจะไม่ทะเลาะกันออกสื่อ แต่จะประชุมปรึกษาหารือเพื่อหามติเอกฉันท์ แล้วจึงค่อยแถลงต่อสื่อว่ามติของที่ประชุมเป็นอย่างไร

ในด้านหนึ่ง นี่ทำให้ภาพอาเซียนเป็นองค์กรที่ดูเหมือนไม่มีความขัดแย้งภายใน แต่อีกด้านหนึ่ง หลักการเหล่านี้ก็ส่งผลให้การทำงานของอาเซียนไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าใดนัก เนื่องจากการจะหามติเอกฉันท์ในเรื่องต่างๆ ทำได้ลำบาก สิ่งที่สามารถมีมติร่วมกันได้ย่อมต้องเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายรู้สึกว่าประเทศตนเสียประโยชน์น้อยที่สุด ซึ่งการประชุมเพื่อหามติเอกฉันท์นี้ได้รับอิทธิพลจากจารีตปฏิบัติของสังคมการเมืองอินโดนีเซียที่เรียกว่า ‘มูชาวาระฮ์’ (musyawarah) และ ‘มูฟากัต’ (mufakat) ซึ่งหมายถึง ‘การปรึกษาหารือ’ และ ‘มติเอกฉันท์’

 

Musyawarah และ Mufakat ในอินโดนีเซีย

 

พจนานุกรมอินโดนีเซียให้นิยาม ‘มูชาวาระฮ์’ ไว้ว่า เป็นการปรึกษาหารือ อภิปรายร่วมกันเพื่อบรรลุข้อตกลงเพื่อแก้ปัญหา, การเจรจาต่อรอง โดยคำนี้มาจากคำว่า syawara  ในภาษาอาหรับ ซึ่งมีความหมายว่า เครื่องหมาย, คำชี้แนะ, คำแนะนำ, การพิจารณา ดังนั้นในทางนิรุกติศาสตร์ ‘มูชาวาระฮ์’ เป็นคำกริยาหมายถึงต่างฝ่ายต่างให้คำแนะนำ พิจารณาร่วมกันและทบทวนซึ่งกันและกัน ส่วน ‘มูฟากัต’ แปลว่า เห็นด้วย, เห็นพ้อง, มติเอกฉันท์

คำว่า ‘มูชาวาระฮ์’ และ ‘มูฟากัต’ เป็นคำที่ถูกใช้ในการเมืองของอินโดนีเซีย และเป็นส่วนหนึ่งของหลักปรัชญาอุดมการณ์ของชาติอินโดนีเซียที่เรียกว่า ‘ปัญจสีลา’ (Pancasila) ซึ่งประธานาธิบดีซูการ์โนเป็นผู้เสนอปัญจสีลาให้สังคมอินโดนีเซียที่ประกอบไปด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อและแนวคิดทางการเมือง ปัญจสีลายังถูกนำมาใช้เพื่อเป็นการประนีประนอมระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซียช่วงปี 1945 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับกลุ่มที่สนับสนุนให้อินโดนีเซียเป็นรัฐอิสลาม และนับตั้งแต่นั้นมา ปัญจสีลาก็มีบทบาทในสังคมอินโดนีเซียมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

ปัญจสีลาประกอบไปด้วย

  1. พระเจ้าองค์เดียว (ตามศาสนาของตนเอง)
  2. หลักมนุษยนิยม
  3. เอกภาพของชาติ
  4. ประชาธิปไตยผ่านตัวแทนที่มีการปรึกษาหารือ
  5. สังคมที่ยุติธรรมสำหรับคนทุกกลุ่ม

‘มูชาวาระฮ์’ และ ‘มูฟากัต’ ถูกอธิบายความหมายในปัญจสีลาข้อที่ 4 ว่า อินโดนีเซียยึดมั่นในประชาธิปไตยผ่านตัวแทนที่มีการปรึกษาหารือจนได้ข้อตกลงร่วมกันที่เป็นมติเอกฉันท์ ซึ่งเป็นการอธิบายประชาธิปไตยในแบบอินโดๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตยตามแบบของโลกตะวันตก เพราะในความเป็นจริง เป็นไปยากยิ่งที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายในกระบวนการปรึกษาหารือจะมีความเห็นเป็นมติเอกฉันท์ได้ และในช่วงยุคประชาธิปไตยแบบชี้นำภายใต้ประธานาธิบดีซูการ์โน (1959-1965) หลักการ ‘มูชาวาระฮ์’ และ ‘มูฟากัต’ ก็ถูกนำมาใช้โดยมีนัยยะหมายถึง ‘ประชาธิปไตย’ ร่วมกับหลักการที่เรียกว่า ‘กอต็อง รอย็อง’ (Gotong Royong) ที่มีความหมายว่า “ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวชวาที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

นอกจากคำว่า ‘มูชาวาระฮ์’ และ ‘มูฟากัต’ จะสะท้อนถึงวิธีคิดและวิธีการทำงานของอินโดนีเซีย อีกทั้งยังสอดรับกับหลักคิดของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงขนาดถูกนำไปใช้เป็นหลักการทำงานของอาเซียนแล้ว ภาษาอินโดนีเซียยังมีความน่าสนใจในด้านอื่นๆ ด้วย ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการใช้คำว่า ‘bang’ และ ‘bung’ ในสังคมอินโดนีเซียที่สะท้อนถึงมุมมองเรื่องความสัมพันธ์ของคนในสังคม

 

bang และ bung

 

คนไทยจำนวนไม่น้อยมักจะเรียกคนที่นับถืออิสลามว่า ‘แขก’ บ้าง ‘บัง’ บ้าง โดยคำว่า ‘บัง’ มาจากคำว่า abang ซึ่งหมายถึง ‘พี่ชาย’ มักใช้ในการเรียกผู้ชายในวัฒนธรรมของอิสลาม นอกจากนี้ คำดังกล่าวยังเป็นคำเรียกที่สุภาพและสามารถเรียกผู้ที่ขายของ คนขับรถ และอื่นๆ ได้ เปรียบได้กับคำว่า ‘พี่’ ที่ใช้กับผู้ชายในภาษาไทย แต่ในอินโดนีเซีย นอกจากคำว่า ‘บัง’ แล้ว ยังมีคำว่า ‘บุง’ (bung) อีกคำหนึ่ง ซึ่งนักเรียนไทยที่เรียนภาษาอินโดนีเซียมักจะกังขาว่า คำนี้มีความต่างหรือเหมือนอย่างไรกับคำว่า ‘บัง’

‘บุง’ ที่เห็นกันมีการใช้กันมากที่สุด คือ Bung Karno (หนังสือในภาษาอินโดนีเซียที่เกี่ยวกับชีวประวัติของซูการ์โนจำนวนมากจะตั้งชื่อหนังสือว่า Bung Karno – Karno เป็นการเรียกชื่อซูการ์โนแบบย่อ) ซึ่งมีคนบอกว่าแปลว่า ‘พี่ซูการ์โน’ โดยบอกว่า bung มีความหมายเท่ากับคำว่า bang หรือ abang ที่แปลว่า ‘พี่ (ผู้ชาย)’ ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะในพจนานุกรมฉบับทางการของอินโดนีเซียก็ให้ความหมายคำว่า bung = abang, แปลว่า คำเรียกพี่ผู้ชายที่สนิทสนม แต่ที่มาและความหมายของคำว่า bung มีมากกว่านั้น มีหลายทฤษฎีว่าด้วยเรื่องที่มาของคำว่า bung ได้แก่

  1. คำว่า ‘bung’ มาจากภาษาเบิงคูลู (ฺBengkulu) มีความหมายว่า ‘พี่’ มีผู้อ้างว่าตั้งแต่ปี 1850 มีการใช้คำนี้ในครอบครัวของชาวเบิงคูลู นอกจากนี้ คำว่า bung ก็เป็นคำที่ภรรยาใช้เรียกสามี โดยเฉพาะเมื่อครอบครัวฝ่ายหญิงไม่มีพี่ชาย ว่ากันว่าเมื่อ Fatmawati แต่งงานกับซูการ์โน เธอได้เรียกซูการ์โนว่า ‘บุงการ์โน’
  2. การเรียกว่า ‘bung’ ในภาษามลายูอัมบนแปลว่า ‘สูง’ และใช้ในการเรียกพี่ผู้ชาย เช่นเดียวกับคำว่า ‘มัส’ (mas) ในภาษาชวา การเรียกกันด้วยคำว่า ‘บุง’ เป็นที่นิยมในอัมบนในช่วงปี 1940-1950
  3. ในช่วงสงครามต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย คำว่า ‘bung’ ถูกใช้เรียกพวกนักต่อสู้ ที่สะท้อนความเท่าเทียมและความเป็นพี่น้องร่วมอุดมการณ์กัน และมีความหมายเอนเอียงไปทางสังคมนิยม หากจะแปลเป็นไทย คือคำว่า ‘สหาย’ ซึ่งคำว่า Bung Karno น่าจะมาจากทฤษฎีนี้ เนื่องจากอุดมการณ์และพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเติบโตอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นหนึ่งพลังสำคัญในการต่อสู้ในสงครามต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย และตัวซูการ์โนเองก็ค่อนข้างชื่นชมแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

นอกจากนี้ คำว่า ‘บุง’ ในความหมายว่า ‘สหาย’ ยังปรากฏในงานของ Chairil Anwar นักกวีชื่อดังชาวอินโดนีเซีย

Kenang, kenanglah kami (จงระลึกไว้ ระลึกไว้เถอะพวกเรา)
Teruskan, teruskan jiwa kami (ก้าวไปต่อ, สู้ต่อไปจิตวิญญาณพวกเรา)
Menjaga Bung Karno, menjaga Bung Hatta, menjaga Bung Sjahrir (ปกป้องบุงการ์โน, ปกป้องบุงฮัตตา, ปกป้องบุงชาห์รีร์)

และสืบเนื่องจากความหมายนี้ คำว่า ‘บุง’ ยังถูกใช้ในความหมายว่า ‘ลุกขึ้นสู้’ หรือ ‘ต่อสู้’ อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ในขณะที่คำว่า ‘บัง’ เป็นการเรียกที่มีนัยยะความสัมพันธ์ทางเครือญาติ คำว่า ‘บุง’ จะให้ความหมายของความเท่าเทียมกันมากกว่า กล่าวคือ เป็นคำเรียกที่ไม่มีลำดับชั้นการนับถือแบบคำว่า ‘บัง’ ซึ่งปัจจุบัน คำนี้ไม่เป็นที่นิยมใช้กันอีกแล้วในอินโดนีเซีย

ภาษาอินโดนีเซียถือได้ว่าเป็นภาษาน้องใหม่ ถือกำเนิดมาได้เพียง 92 ปี (แต่ก็มีอายุมากกว่าประเทศอินโดนีเซีย 17 ปี) เป็นภาษาที่มีพลวัตและยังพัฒนาได้อีก เป็นภาษาที่โอบรับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าของสังคมตะวันออกและตะวันตก ภาษาการเมืองในอินโดนีเซียเคยถูกนำมาใช้ในการทำงานของอาเซียน และในช่วงเวลาของการแสวงหาอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน ซึ่งภาษากลางของอาเซียนเป็นหนึ่งในนั้น

นอกจากนี้ ภาษาอินโดนีเซีย (หรือภาษามลายู) มักจะถูกกล่าวถึงเสมอว่า เป็นหนึ่งในภาษาที่ควรจะนำมาพิจารณาให้เป็นภาษากลางของอาเซียนนอกจากภาษาอังกฤษ ด้วยความเป็นภาษาที่เรียนรู้ง่าย พร้อมรับการปรับเปลี่ยน ประกอบกับศักยภาพของอินโดนีเซียในการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งของประเทศที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรมนุษย์มหาศาล และการเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ก็ทำให้เราไม่ควรจะมองข้ามภาษาอินโดนีเซีย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save