fbpx
เมื่อบูมเมอร์ถดถอยในภาวะรู้คิด: เกิดอะไรขึ้น

เมื่อบูมเมอร์ถดถอยในภาวะรู้คิด: เกิดอะไรขึ้น

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

พูดได้ว่า ทุกวันนี้สังคมไทยขับเคลื่อนด้วยบูมเมอร์มากกว่ากลุ่มคนรุ่นอื่นๆ

บูมเมอร์กลุ่มที่น่าสนใจมากๆ ก็คือกลุ่มที่เป็นคณะกรรมการ ‘ปฏิรูปประเทศ’ ที่ดูๆ ไปแล้ว แทบไม่มีใครไม่ได้สังกัดอยู่ในช่วงวัยบูมเมอร์เลย อาจจะมีเจนเอ็กซ์รวมอยู่ด้วย แต่ก็ประปราย และตามจริตบูมเมอร์ที่ชอบความอาวุโส คนที่เป็นประธานกลุ่มต่างๆ ก็ย่อมหนีไม่พ้นบูมเมอร์นั่นเอง

คำถามก็คือ แล้วบูมเมอร์จะทำหน้าที่ได้ดีไหม พวกเขาจะ ‘แลไปข้างหน้า’ ได้ไกลเป็นสิบๆ ปี เพื่อวางแผนและวางรากฐานให้กับสังคมไทยได้หรือเปล่า

ถ้ามองโลกในแง่ดี ก็ต้องบอกว่าประสบการณ์น่าจะทำให้บูมเมอร์เหล่านี้มองไปข้างหน้าได้ดีกว่าคนที่ไร้ประสบการณ์ อย่างเช่นพวกเด็กๆ ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมทั้งหลาย แม้จะมีคำถามอยู่ว่า บูมเมอร์จะเข้าใจโลกอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงพลิกผันขนานใหญ่ได้จริงหรือก็ตาม

ด้วยเหตุที่สังคมยังขับเคลื่อนด้วยบูมเมอร์ ดังนั้นเมื่อเห็นข่าวงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Gerontology Series B (The Journals of Gerontology: Series B) ของ Hui Zheng ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ แต่โครงการที่เขาทำเป็นของมหาวิทยาลัยมิชิแกน โดยมีชื่อโครงการว่า Health and Retirement Survey หรือการสำรวจเรื่องสุขภาพกับการเกษียณ – จึงอดเป็นกังวลขึ้นมาไม่ได้

งานวิจัยชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘A New Look at Cohort Trend and Underlying Mechanisms in Cognitive Functioning’ ซึ่งฟังแล้วอาจไม่รู้เรื่องเลยก็ได้ว่าหมายถึงอะไร แต่พูดย่อๆ ก็คือ คุณ Zheng ได้ทำวิจัยตามยาว (Longtitudinal) ศึกษาในคนกลุ่มหนึ่งเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ปี 1996 ถึง 2014 เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงในเรื่อง Cognitive Functioning (CF) หรือการทำหน้าที่ของ ‘กระบวนการรู้คิด’ ซึ่งก็คือการทำงานของสมองในด้านต่างๆ โดยนำมาเปรียบเทียบกับคนในรุ่นก่อนหน้า และมีการแบ่งคนรุ่นต่างๆ ออกมาอย่างละเอียดยิบ

ต้องออกตัวไว้ก่อนนะครับว่างานวิจัยนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับสังคมไทย และความเป็นห่วงของผมก็เป็นความเป็นห่วงลมๆ แล้งๆ ที่อาจไม่ได้เกี่ยวพันอะไรกับบูมเมอร์ไทยที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ หรือคนอื่นๆ ที่มีอำนาจวาสนายศศักดิ์ในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมายในประเทศนี้ที่อยู่ในวัยบูมเมอร์ก็ได้ แต่กระนั้นก็อยากนำมาเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับบูมเมอร์อเมริกันบ้าง

เรื่องของเรื่องก็คือ งานวิจัยนี้ทำกับคนอเมริกาอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป จำนวน 30,191 คน เป็นเวลายาวนาน และพบว่าคนรุ่นบูมเมอร์นั้น พบอาการ ‘เสื่อม’ ของการทำงานในกระบวนการรู้คิดมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า

ในการสำรวจนี้ มีการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อประเมินการทำงานของกระบวนการรู้คิดทุกๆ สองปี ตัวอย่างการสัมภาษณ์ก็เช่น ให้ผู้เข้าร่วมโครงการนับถอยหลังจาก 100 โดยขยับไปทีละ 7 ตัว หรือทำแบบทดสอบความทรงจำด้วยวิธีต่างๆ เป็นต้น

ที่น่าสนใจก็คือ การทดลองนี้แบ่ง ‘ผู้อาวุโส’ ออกมาเป็นหลากหลายรุ่นมาก ได้แก่ กลุ่ม Greatest Generation หรือกลุ่มที่สูงวัยที่สุด เกิดตั้งแต่ปี 1820-1923, กลุ่มที่เกิดในช่วงแรกๆ ของช่วงยุคเศรษฐกิจตกต่ำ เรียกว่า Early Childern of Depression คือเกิดในช่วงปี 1890-1930 ตามมาด้วยกลุ่มที่เกิดในช่วงปลายของยุคเศรษฐกิจตกต่ำ คือปี 1931-1941 หลังจากนั้นก็คือเด็กที่เกิดในช่วงสงคราม หรือ War Babies (1942-1947) ถัดมาจึงเป็นเบบี้บูมเมอร์ยุคต้น ที่เกิดตั้งแต่ปี 1948 ถึง 1953 แล้วจึงเป็นเบบี้บูมเมอร์ตอนกลางที่เกิดตั้งแต่ปี 1954-1959

จะเห็นว่า การแบ่งกลุ่ม (Cohort) ที่ละเอียดยิบเช่นนี้ เป็นไปตามสภาพการณ์แวดล้อมต่างๆ แม้ว่ายุคที่เกิดสงครามโลกครั้งที่สองนั้นอาจจะสั้นกว่า แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีอิทธิพลมากกว่า ใหญ่หลวงกว่า ส่งผลสะเทือนมากกว่า ก็จะมีการประเมินวิธีแบ่งแตกต่างกันออกไป

สิ่งที่นักวิจัยพบนั้นน่าสนใจมากนะครับ เพราะถ้าดูกันไปทีละรุ่น เขาพบว่าการทำงานของ ‘กระบวนการรู้คิด’ ของคนรุ่นต่างๆ นั้น จะ ‘ดีขึ้น’ กว่าคนรุ่นก่อนๆ มาเรื่อยๆ

จนกระทั่งมาถึงคนรุ่นบูมเมอร์

การที่การทำงานของกระบวนการรู้คิดดีขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคนน่าจะมีสุขอนามัยดีขึ้น อายุยืนขึ้น อาหารการกินก็น่าจะดีขึ้นด้วย เมื่ออาหารดี สมองก็ควรจะดี ทำให้การทำงานของกระบวนการรู้คิดดีตามไปด้วย ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นมาตลอด

แต่บูมเมอร์กลับเป็นคนรุ่นแรกที่แสดงให้เห็นเลยว่ามีกระบวนการรู้คิดที่ต่ำลง โดยเป็นความถดถอยที่เกี่ยวข้องกับวัย (Age-Related Declines in Cognition) ด้วย โดยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับปัจจัยอื่นๆ เพราะปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับทั้งชายหญิง ทุกเชื้อชาติ ทุกชาติพันธุ์ ทุกระดับการศึกษา ทุกระดับรายได้และฐานะ โดยดูที่ ‘คะแนน’ ของคนเหล่านี้ช่วงที่อยู่ในวัย 50 ต้นๆ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ช่วงเวลาที่บูมเมอร์เริ่มถดถอยในกระบวนการรู้คิดนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ยังอยู่ในวัยกลางคน คือยังไม่แก่ก็เริ่มถดถอยแล้ว

คำถามก็คือ – แล้วอะไรเป็นเหตุผลของการถดถอยนี้

การศึกษาในแบบที่ Zheng ทำ ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ชัดๆ แต่เขาก็พยายามหาปัจจัยที่อาจส่งผลทำให้เกิดแนวโน้มแบบนี้ขึ้นมา

แน่นอน เขาพบว่าสารอาหารที่ดีขึ้น ทำให้คนรุ่นก่อนสงครามโลกนั้นค่อยๆ พัฒนาสุขภาพกายและสุขภาพสมองดีขึ้น จึงมีกระบวนการรู้คิดดีขึ้นตามไปด้วย แต่ในกรณีของบูมเมอร์นั้นน่าสังเกตมาก เพราะบูมเมอร์น่าจะยิ่งได้เปรียบในเรื่องสารอาหารมากขึ้นไปอีก ทว่าสิ่งสำคัญก็คือ หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โลกเริ่มมีปัจจัยใหม่ๆ ต่างๆ เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของคนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เราเริ่มมีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตต่างๆ มีการสื่อสารวิธีใหม่ๆ เกิดขึ้นมา รวมไปถึงโทรทัศน์ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอื่นๆ ด้วย

Zheng สันนิษฐานว่า สุขภาพของบูมเมอร์อาจไม่ดีเท่าคนรุ่นก่อนๆ เช่น ออกกำลังกายน้อยกว่า กินอาหารที่มีไขมันสูงมากกว่า แถมยังมีระดับของความเหงาและภาวะซึมเศร้าสูงกว่า คนรุ่นบูมเมอร์ยังแต่งงานน้อยกว่าคนรุ่นก่อนหน้าด้วย และมีโรคเรื้อรังต่างๆ มากกว่า เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และมีอัตราการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกและหัวใจล้มเหลว ‘เร็ว’ กว่าด้วย

แต่โรคที่สำคัญกว่าโรคเรื้อรังเหล่านี้ ก็คือโรคที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรู้คิด เช่น โรคสมองเสื่อม (Dementia) หรืออัลไซม์เมอร์ ซึ่งหากดูแนวโน้มทั้งหมดแล้ว เราจะพบว่าโรคสองอย่างนี้ค่อยๆ ลดลงในคนรุ่นต่างๆ ก่อนหน้าบูมเมอร์ แต่พอมาถึงบูมเมอร์ โรคเหล่านี้กลับเพิ่มขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ในปัจจุบัน บูมเมอร์ที่แก่ที่สุดอยู่ในวัย 70 กว่าปีขึ้นไป ส่วนบูมเมอร์ที่อายุน้อยที่สุดก็กำลังจะเข้าสู่วัย 60 ปี ดังนั้น ถ้าการค้นพบของ Zheng เป็นจริง ก็แปลว่าสองโรคนี้น่าจะเกิดเพิ่มมากขึ้นและเกิดกับคนอายุน้อยลงด้วย ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ถ้าปัจจัยที่ทำให้บูมเมอร์ต้องพบเผชิญสภาวะถดถอยทางกระบวนการรู้คิดแบบนี้ แล้วเรายังหาปัจจัยพวกนี้ไม่เจอ มันยังคงอยู่ ก็แปลว่าคนรุ่นเอ็กซ์หรือรุ่นวายถัดๆ มา ก็อาจต้องพบเผชิญกับสภาวะแบบเดียวกันตามไปด้วย

Zheng บอกว่า ภาวะถดถอยทางกระบวนการรู้คิดนี้จะดำเนินต่อไป ถ้าหากเราไม่เข้าไปแทรกแซงเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่างๆ หรือมีนโยบายตอบสนองต่อเทรนด์นี้รวดเร็วมากพอ และสถานการณ์นี้ก็อาจย่ำแย่ลงไปได้เรื่อยๆ มากกว่านี้อีก

จริงอยู่ว่าการศึกษาของ Zheng ทำในคนอเมริกันทั้งหมด ดังนั้นจึงนำผลมาใช้ทำนายหรือคาดคะเนอะไรกับสังคมไทยได้ยาก แต่มันก็ชวนคิดอยู่ไม่น้อยเหมือนกันว่าจากสภาพที่เห็น บูมเมอร์ไทยเริ่มมีภาวะถดถอยทางกระบวนการรู้คิดแล้วหรือเปล่า และถ้ามี – เราจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร เพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ทำให้ความถือดีดื้อดึงดันของคนบางกลุ่มวัยอยู่เหนือกว่าคนอื่นๆ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save