fbpx
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เอาแต่เล่นมือถือ : สำรวจการใช้โซเชียลของคนยุค Baby Boomer

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เอาแต่เล่นมือถือ : สำรวจการใช้โซเชียลของคนยุค Baby Boomer

เชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคน โดยเฉพาะคน Gen Y น่าจะเคยมีประสบการณ์วัยเด็กที่โดนคุณพ่อคุณแม่ดุอยู่บ่อยๆ เวลาที่เล่นเกมแล้วไม่ค่อยยอมเลิก พอโตขึ้นมาอีกหน่อยในยุคที่เริ่มมีสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย ก็ยังมิวายโดนดุอีกว่าทำไมเอาแต่นั่งเล่นมือถือ ไม่เห็นทำอะไรให้เป็นประโยชน์บ้างเลย หลายคนเลยได้แต่เถียงข้างๆ คูๆ ไปเรื่อย แต่ลึกๆ ก็เข้าใจในเจตนาของท่านดีว่าไม่อยากให้จดจ่ออยู่กับหน้าจอมากเกินไป อย่างน้อยหันมาสนใจโลกรอบตัวหรือคนที่อยู่ใกล้ๆ บ้างก็ยังดี

แต่ใครจะไปคิดเล่าว่า จู่ๆ วันหนึ่งคนรุ่นที่เคยเป็นฝ่ายออกปากเตือน จะกลายมาเป็นคนที่จับเจ่าอยู่กับหน้าจอเสียเอง!

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้การใช้โซเชียลมีเดีย ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้กระทั่งคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เติบโตมาในยุคอนาล็อค และดูเหมือนจะไม่ค่อยประสีประสากับเทคโนโลยีใหม่ๆ เท่าไหร่นัก

ทว่าในช่วงสองสามปีมานี้ มีผลสำรวจออกมาว่า คนกลุ่มนี้เริ่ม ‘คุ้นเคย’ กับอุปกรณ์ไอทีสมัยใหม่รวมไปถึงการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ มากขึ้น แถมบางคนยังใช้ได้คล่องแคล่วไม่แพ้คน Gen Y หรือ Gen Z ที่โตมากับสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำ

จากรายงาน Thailand Internet User Profile 2016 ของกระทรวงไอซีที พบว่าคนยุค Baby Boomer หรือคนที่มีอายุตั้งแต่ 53-71 ปี มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 4.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 31.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อุปกรณ์ยอดนิยมก็คือสมาร์ทโฟน (77.3%) รองลงมาคือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (70.1%) และคอมพิวเตอร์พกพา (39.5%) ส่วนกิจกรรมยอดฮิต ก็คือการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยแอปพลิเคชันที่คนยุคนี้ใช้มากที่สุดก็คือ LINE รองลงมาคือ Facebook และ Youtube

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ทุกคนจะอินหรือเชี่ยวชาญกับการใช้โซเชียลมีเดียเสมอไป เพราะในรายงานชิ้นเดียวกันนี้ บอกว่ามีตัวแปรอีกหลายอย่างที่ส่งผลต่อการใช้โซเชียลมีเดียไล่ตั้งแต่การศึกษา ฐานะ และภูมิลำเนา

ผลสำรวจพบว่าคนที่มีการศึกษาสูง มีรายได้สูง และอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล จะมีอัตราการใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าคนที่มีการศึกษาต่ำ รายได้ต่ำ และมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัด

ทางฝั่งอเมริกาก็มีการสำรวจเรื่องนี้ออกมาเช่นกันจาก Pew research center ที่บอกว่าทุกวันนี้กลุ่ม Baby Boomer ในอเมริกา ใช้เวลาไปกับการเล่นโซเชียลมีเดียเฉลี่ย 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีแนวโน้มเปิดรับการใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากในปี 2005 ที่มีเพียงแค่ 5% เพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 2011 และเพิ่มขึ้นเป็น 69% ในปัจจุบัน ส่วนแอปพลิเคชันที่คนกลุ่มนี้ใช้มากที่สุดคือ Facebook จุดประสงค์หลักคือการอัปเดตข่าวคราวและโพสต์เรื่องราวในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยว่า บรรดาบริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงนักการตลาดทั้งหลาย มีแนวโน้มที่จะหันให้มาความสำคัญกับคนกลุ่มนี้มากขึ้นด้วย เพราะนี่คือกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และเริ่มปลอดจากภาระหน้าที่ต่างๆ แล้ว

พูดง่ายๆ ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนและดื่มด่ำกับชีวิตในบั้นปลาย จึงไม่แปลกที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่หลายคนจะมีความตั้งใจว่าอยากออกเดินทางท่องเที่ยว หรือทำในสิ่งที่อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาสทำสักที

ที่สำคัญ กลุ่มคนยุค Baby Boomer ยังเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในอเมริกา เช่นเดียวกับประเทศไทย และอีกหลายๆ ประเทศที่กำลังจะกลายเป็นสังคมของผู้สูงวัย

จากข้อมูลที่ว่ามา ช่างคลับคล้ายคลับคลากับพฤติกรรมของพี่ป้าน้าอาชาวไทยไม่มีผิดเพี้ยน สังเกตได้ว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ในปัจจุบัน จะมีการนัดพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงบ่อยขึ้น หรือไม่ก็ปิ๊งไอเดียว่าอยากไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่อยู่ตลอดเวลา

ที่น่าสนใจคือการได้เจอกับเพื่อนที่ห่างหายกันไปหลายสิบปี โดยมีเจ้าสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางสื่อสารและย้อนระลึกความหลัง รูปจากกล้องฟิล์มที่เก็บใส่อัลบั้มไว้เมื่อนานมาแล้ว ถูกถ่ายซ้ำอีกครั้งจากกล้องมือถือก่อนจะแพร่กระจายสู่กรุ๊ปไลน์ที่เต็มไปด้วยรูปดอกไม้และสติ๊กเกอร์ และบ่อยครั้งก็ใช้ช่องทางเหล่านี้ติดต่อสื่อสารกับลูกๆ หลานๆ ด้วย

ในวันเวลาที่โลกกำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็คงอยากทำความรู้จักและเข้าใจในเรื่องพวกนี้ไม่ต่างจากเรา จึงไม่แปลกที่หลายคนต้องรับบทเป็นโค้ชฝึกสอนการใช้โซเชียลมีเดียให้คุณพ่อคุณแม่ (หรือบางทีก็เป็นคุณลุงคุณป้า) อยู่บ่อยๆ และบางครั้งก็พลอยทำให้คนต่างวัยรู้สึกใกล้ชิดกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

โดยเฉพาะความเอื้ออาทรจากรูปดอกไม้ที่ส่งมาในไลน์เราแบบไม่ยั้ง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save