fbpx

‘ตอนนี้ผมแค่ be the best version of yourself โดยไม่ต้องฝืนตัวเอง’ คุยกับ AUTTA ในวันที่ชีวิตและความคิดก้าวมาสู่ ANTLV

ตั้งแต่ปลายปี 2021 จนเปิดปี 2022 วงการเพลงฮิปฮอปฮือฮากับโฟลว์การแรปเหนือชั้นของ AUTTA ที่ผสมผสานกับบีตดนตรีปลุกเร้าอารมณ์ในเพลง ANTLV 

AUTTA คือแรปเปอร์วัย 22 ปีที่ผ่านสนามการแข่งขันแรปมาทุกเวทีในไทย ทั้ง The Rapper Season 2, RAP IS NOW : THE WAR IS ON Season 4, Show me the money Thailand Season 1 จนกระทั่งเขาได้เซ็นสัญญาสังกัดค่ายเพลงฮิปฮอปอย่าง YUPP! ENTERTAINMENT และปล่อยซิงเกิลหลากหลายสไตล์ทั้งร้องและแรป รวมถึงการทำงานเบื้องหลังให้กับศิลปินอีกหลายคน

ทั้งหมดข้างต้นอาจจะทำให้เราคาดเดาได้ว่าเขาเป็นแรปเปอร์ที่มีความสามารถเฉียบคมไม่น้อย แต่ถ้าคุณกดฟังแต่ละไรม์ใน ANTLV คุณจะเห็นรายละเอียดชีวิตและความคิดของ AUTTA ตลอดเส้นทางการเป็นแรปเปอร์และนักดนตรีกว่า 3 ปี ซึ่งสะท้อนว่าทุกช่วงจังหวะชีวิตของ กร–อัษฎกร เดชมาก ก่อนที่จะมาเป็น AUTTA ในวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ตอนนี้ใครๆ ก็บอกว่าเขาก้าวไปสู่ another level ของการแรปสมกับชื่อเพลงของเขาแล้ว

“Another level แต่ยังคงวิ่งวนลูปซิ่งบนลู่วิ่ง ชนคำพูดทิ่มคมแทงสิ้นแรง ต้องทำเป็นว่าไม่พ่าย แต่กูแพ้มาทั้งชีวิต แพ้มานับไม่ถ้วน แพ้ในกีตาร์แจ๊ซ แพ้ในการเรียนดนตรี แพ้ใน TUL และยังคงแพ้ใน Show me แพ้ใน The Rapper แพ้ในทุกรายการที่มี No cap”

101 ชวนอัษฎกร เดชมาก มาพูดคุยถึงจังหวะชีวิตแต่ละไรม์ที่เขาถ่ายทอด กระบวนการทำดนตรีในเพลง ANTLV ที่ใครๆ ก็ชื่นชมว่า on another level ไปอีกขั้นของการทำเพลงแรป และภาพหวังในวงการดนตรีไทยที่เขาอยากมองเห็นในฐานะนักดนตรีที่เรียนด้านนี้มาโดยตรง อะไรคือสิ่งที่อุตสาหกรรมดนตรีจะ go beyond another level ไปได้ ความคาดหวังที่คนในวงการดนตรีอย่างเขาต้องการให้เกิดขึ้นเป็นอย่างไร

หลังจากที่คุณปล่อยเพลง ANTLV มาแล้ว กระแสตอบรับเป็นไปอย่างที่คิดไหม

เป็นไปในทางที่ดีเกินกว่าที่คิดไว้เลยครับ ตอนแรกผมคิดว่ามันเป็นเพลงที่ฟังแล้วเหนื่อยอยู่นะ ขนาดผมฟังเองยังเหนื่อย แล้วชีวิตคนเราอาจจะเจออะไรเหนื่อยๆ มาเยอะแล้ว มาเจอเพลงนี้ก็จะยิ่งฟังแล้วเหนื่อยอีก แต่พอคนชอบ มันก็เป็นไปในทางที่ดีครับ

อยากให้คุณช่วยเล่าที่มาและกระบวนการทำเพลงนี้ได้ไหมว่าเริ่มต้นได้อย่างไร

มันเกิดขึ้นมาจากที่มีคนทำรีแอคชั่นคลิปส่งมาให้ผมดู ชื่อคุณ Luke เป็นชาวออสเตรเลีย (ยูทูบเบอร์เจ้าของช่อง Luke & Me ที่มักทำคลิปรีแอคชั่นแรปเปอร์ไทย) เขาถามว่า ‘เพื่อน ทำไมนายไม่แรปแล้ววะ ผมชอบนายนะ นายเลิกแรปไปแล้วเหรอ’ ผมก็คิดว่าอ้าว เราก็ทำปกตินี่หว่า ทำไมคนถึงคิดแบบนั้น 

ช่วงปีที่ผ่านมาผมไปโปรดิวซ์เพลงให้ศิลปินคนอื่น แล้วก็มีสอนแรปอยู่ 2-3 ที่ ส่วนใหญ่คือย้ายไปทำงานเบื้องหลัง มันเลยเหมือนหายๆ ไป แต่ตอนทำผมก็คิดว่ามีความสุขดีนะ อาจจะด้วยความที่เราโตมากับสายงานนี้อยู่แล้ว ผมเรียนด้านดนตรีมาโดยตรงตั้งแต่ ม.4 เราก็สื่อสารกับทีมเบื้องหลังด้วยกันรู้เรื่อง รวมถึงว่าเราอาจจะไม่ได้ทำรายได้กับงานเบื้องหน้าเท่าไหร่ ด้วยอะไรหลายอย่าง เลยใช้งานเบื้องหลังหาเงินระหว่างเรียนไปด้วย

พอ Luke ถามมาผมเริ่มรู้สึกอย่างหนึ่ง คือจริงๆ เราเป็นคนหนึ่งที่มักจะถูกมองข้ามไปในวงการ ยกตัวอย่างเวลาเราไปดูอินสตาแกรมใครสักคน เราจะเห็นว่าเขาฟอลโลว์ MAIYARAP, Milli, หรือ Name MT หรือพูดง่ายๆ ว่าบางทีเขาก็ฟอลทั้งค่าย ยกเว้นคนเดียวคือ AUTTA มันหายไปไหนไม่รู้ ผมรู้สึกแบบนี้บ่อยมาก แล้วผมเป็นคนนิสัยชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว งั้นพูดเรื่องนี้เลยละกัน ‘อัตตาหายไปไหนวะ’ 

แล้วก็รวมกับว่าเราไม่มีเพลง represent ตัวเองเลย ซึ่งมันเป็นคัลเจอร์ของฮิปฮอปอยู่แล้วที่เขาจะมีเพลงมาอวดอ้างสรรพคุณข้างกล่อง ตอนนั้นก็คิดว่างั้นเอาเลยสักเพลง

เรารู้สึกว่าซาวนด์ที่คุณทำมีจังหวะที่ไม่ค่อยได้ยินในแรปไทยเท่าไหร่ เล่าได้ไหมว่ากระบวนการทำมันเป็นอย่างไร

ผมต้องให้เครดิตคุณ Mick Phetpoom (เพชรภูมิ เพชรแก้ว) เขาเป็นเพื่อนผมและเป็นสมาชิกวง I Hate Monday จุดเริ่มต้นคือเราจะทำเซสชันอัลบั้มกัน แล้วผมถามมิคไปว่าลองทำเพลง drill กันไหม (drill เป็นแนวดนตรีหนึ่งในฮิปฮอป มีจุดเริ่มต้นในปี 2010 จากประเด็นความรุนแรงในชิคาโก้ ซาวนด์และเนื้อหาส่วนใหญ่จะเน้นความรุนแรง ยาเสพติด ปืน การฆาตกรรม ช่วงหลัง drill มีอิทธิพลอย่างมากในอังกฤษ จนกระทั่งมีการปรับเนื้อหามาเป็นการส่งเสียงของคนรุ่นใหม่ และปัจจุบันแรปเปอร์ใช้ drill ในการสื่อสารเรื่องอื่นๆ มากขึ้น เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาความรุนแรง หรือการแสดงถึงตัวตนตัวเอง ฯลฯ)

drill จะมีเสียง shaker หรือว่า Hi-Hat ที่เป็นเสียงชึกๆๆ บางอย่างที่กำกับจังหวะยกเป็น Syncopation ซึ่งมันทำให้เกิดความรู้สึกแบบหัวไก่ คือเราโยกหัวไปด้วยได้  แต่ตอนมิคทำมาครั้งแรกฟังแล้วมันดูเหม่ๆ ผมเลยบอกว่าลองเอา reference บีต drill จากเพลงเกาะของ Younggu มาวาง แล้วไป tempo เท่านี้นะ แล้วให้มิคขึ้นกลองตามแพตเทิร์นนี้ แต่ว่าเราเปลี่ยนจากกลอง Hiphop มาเป็นกลองชุด Rock

พอมันเป็นกลองชุด มันทำให้เกิดความรู้สึกอีกแบบ ซึ่งถ้าลองเอาไปฟังเทียบกับบีตเพลงฮิปฮอปเราจะรู้สึกได้ว่าในเพลงผมจะดู weak กว่านิดหนึ่ง เพราะว่าเอกลักษณ์ของเครื่องดนตรีคือเราเล่นแต่ละครั้งน้ำหนักการเล่นมันจะไม่เท่าไหร่ เวลาไปเทียบกับพวกแซมเปิ้ล ซาวนด์เลยบางกว่า นี่เป็นเหตุผลที่ดนตรีฮิปฮอปเต้นมันกว่า ลองไปกดฟังเพลงฮิปฮอปแล้วต่อด้วยเพลงร็อกสักเพลงดูครับ มันจะฟังชัดเลยว่าเสียงแน่นไม่เท่ากัน  ในเพลงนี้ ผมเลยใช้กลองชุดสลับกับแซมเปิ้ลบ้าง 

กว่าจะได้เพลงหนึ่งผ่านกระบวนการเยอะมาก เวลาทำเพลงแต่ละครั้งคุณต้องเตรียมตัวอย่างไร สำรวจตลาดเพลงไหมว่าคนฟังต้องการอะไรบ้าง

จริงๆ ก็แอบฟังนะครับ แต่ว่าด้วยส่วนตัวผมไม่ค่อยได้ฟังเพลงไทย เราก็จะไม่ค่อยรู้อัปเดตมาก ถ้ามีเพลงใหม่ๆ ขึ้นมาในฟีดโซเชียล ก็แวะเข้าไปฟังบ้าง แต่ก่อนผมพยายามจะแคร์ว่าตลาดเพลงกำลังจะทำอะไรในตอนนี้ แต่ผมรู้สึกว่าสุดท้ายแล้ว identity มันไม่ได้เกิดจากการวิ่งไล่จับพวกนั้นอย่างเดียว ผมใช้วิธีการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากขึ้น

กลับมาที่เนื้อหาในเพลง ANTLV แต่ละไรม์คุณบอกเล่าชีวิตและความคิดคุณไว้เยอะมาก แม้จะมีเนื้อหาที่คุณอวดสรรพคุณข้างกล่องของตัวเอง ในขณะเดียวกัน คุณก็บอกว่าชีวิตคุณแพ้มาตลอดตั้งแต่ตอนเรียนดนตรี เล่าได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้น

ผมเล่าก่อนว่าจริงๆ ตอนเรียนมันไม่ได้มีปัญหาขนาดนั้น การใช้ชีวิตเหมือนวนลูปแค่ตื่น ฟังเพลง ไปเรียน ร้องเพลงประสานเสียง แล้วก็เรียนดนตรี เลิกประมาณ 3-5 โมงเย็น เสร็จแล้วซ้อมดนตรีถึง 3 ทุ่ม กลับบ้านอาบน้ำนอน ซึ่งผมมาเข้าเรียนที่นี่ก็เพราะชอบดนตรี มีความสุขกับมันก็เล่นและเรียนไป

แต่ว่าความดาวน์จะเกิดเวลาที่มีสอบวงดนตรี หรือสอบเล่นเดี่ยว ตอนนั่งซ้อมอยู่ เราจะเห็นเพื่อนๆ เก่งกันมาก มีแต่คนเล่นเซียนๆ ผมคิดเลยนะว่า “โห กูทำอะไรอยู่วะเนี่ย” พอมานึกย้อนแล้วมันก็ไม่ควรไปเปรียบเทียบเนอะ แต่ผมก็อดไม่ได้ เพราะมีแต่คนเก่งๆ แต่ผมก็พยายามอยากจะทำให้ได้

แต่เรื่องนั้นก็ไม่หนักเท่ากับอีกเรื่อง ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับดนตรี แต่ส่งผลถึงดนตรี คือผมไปเป็นประธานนักเรียน แล้วต้องบริหารจัดการงานสภา ทีนี้ผมไม่ใช่คนมีระเบียบ หรือเป็นคนที่มีความรับผิดชอบการงานเก่ง แต่ก็จับพลัดจับผลูไปทำ ซึ่งทำล่มซะเยอะ โดนอาจารย์ตำหนิ เพื่อนก็ไม่ชอบ เอาเรื่องเราไปคุย มีปัญหาสารพัดเต็มไปหมด

ผมจัดการไม่ถูกและไม่รู้จะทำอย่างไร ชีวิตผมตอนนั้นคือ กลับบ้านมาจมกับความเครียด มันท็อกซิกมากๆ และอาการหนักมากๆ เลยครับ

ทำไมคุณถึงต้องไปสมัครเป็นประธานนักเรียน

ตอนนั้นพ่อผมโทรมาบอกว่าโดนโกง แล้วมีปัญหาทางการเงิน เขาแค่บอกเฉยๆ นะครับ ไม่ได้คาดหวังอะไรจากเรา แต่ผมรู้สึกว่า “เฮ้ย กูทำอะไรไม่ได้เลยเหรอ” เหมือนว่าเราเห็นอะไรกำลังล่มสลายไป น่าจะช่วยหน่อยนะ

การเป็นประธานนักเรียนจะได้ทุนครับ ไม่มากเท่าไหร่แต่ก็ช่วยได้อยู่ ประมาณ 20,000-30,000 บาท ค่าเทอมตอนนั้นเกือบ 70,000-80,000 บาท เราก็เลยอยากแบ่งเบาเขาหน่อย 

แล้วเพื่อนๆ ก็โหวตให้เราแบบงงๆ ผมเลยเป็นม้ามืดในนั้น ไม่มีใครคิด เพราะผมเป็นคนพูดไม่ค่อยเก่ง เป็นคนเงียบมากๆ พอมีเรื่องพ่อเข้ามาแล้วเราอยากได้ทุนก็สมัครไป แล้วคิดว่า “กูจะพูดเฉียบๆ เลย” พอมีเรื่องนี้ผมรู้สึกว่าตัวเองพูดนโยบายได้คล่องและมีอิมแพ็คต่อคน เพื่อนเลยเลือกเรา

เหตุการณ์นั้นส่งผลกระทบกับการเรียนดนตรีอย่างไร

มันเหมือนบัตเตอร์ฟลายเอฟเฟค แทนที่เราจะนั่งซ้อมกีตาร์ พอกลับบ้านก็ไม่อยากซ้อมแล้ว อยากนอน ผมไม่ยอมทำอะไรเลย จมอยู่แต่กับความคิดและความเครียด ผมคิดนะว่าถ้าไม่ได้เป็นประธานนักเรียน ผมจะไม่ depress ขนาดนี้ ผมอาจจะยังคงซ้อมกีตาร์อยู่ และยังอยากเป็นคนเก่งกีตาร์อยู่ แล้วปลายทางผมอาจจะไปเล่นดนตรีในโรงแรม หรือเป็นอาจารย์สอนกีตาร์แจ๊ซ ไม่ใช่เส้นทางที่เป็น ณ ตอนนี้ 

แต่นั่นแหละ ในช่วงที่ depress มากๆ วันหนึ่งผมก็ได้ดู RAP IS NOW แล้วชอบ มันทำให้ผมจำได้ว่า มีเรื่องหนึ่งในชีวิตที่ผมทำมาโดยตลอด โดยไม่ต้องฝืนอย่างการเป็นประธานนักเรียน หรือฝืนการเป็นนักดนตรีแจซ นั่นคือการแต่งเพลง เพื่อนสมัย ม.ต้นของผมยังร้องเพลงที่ผมแต่งได้อยู่เลย สิ่งนี้เลยสร้างความมั่นใจให้ผมมากๆ ก็เลยหันมาทางแรปเต็มตัว

ถ้าให้ย้อนกลับไปคิด การตัดสินใจเป็นประธานนักเรียนในตอนนั้น ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกไหม

ถ้าเราเห็นปลายทางว่าอยู่ตรงนี้ ผมว่าถูก แต่ระหว่างทางผิดโคตรๆ ผิดแบบไม่มีอะไรถูกต้องเลยสักอย่าง 

ตอนนี้เราเห็นปลายทางความสำเร็จ แต่ต้นทุนที่เราเสียไปมันคุ้มค่ากับการมาเห็นตัวเอง ณ ตอนนี้ไหม

โห คำถามเฉียบนะครับ (นิ่งคิด) ผมไม่รู้ว่าเราควรวัดความคุ้มค่าด้วยมาตรฐานไหนดี ถ้าพูดเรื่องต้นทุนที่เสียไปหลักๆ คือสุขภาพทางใจ ซึ่งมันก็สำคัญ แต่ว่าพอได้สิ่งที่คืนมาเป็นอย่างอื่นก็เยอะ 

(นิ่งคิด) ผมถือว่าคุ้มนะ เพราะว่าสุดท้ายผม recover ตัวเองได้ ถือว่าเราได้คืนต้นทุนตรงนั้นไป และได้เจอคนดีๆ เจอทีมดีๆ เจอเพื่อนที่ดี 

อีกอย่าง แรปทำให้ผมรู้ว่าผมไม่ได้ฝืนตัวเองเลย อย่างตอนแข่ง The RAPPER วันนั้นรู้สึกว่าองค์อะไรบางอย่างลงตอนโชว์ มันเหมือนไม่ใช่ตัวเองเลย ตรงนี้แหละเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างคอนเฟิร์มได้ว่าเราไม่ต้องเค้นแบบตอนเล่นกีตาร์แจ๊ซ เพราะร่างกายมันไปเอง เหมือนมาจากจิตใต้สำนึก   

(นิ่ง) ผมพูดไปแล้วมันจะร้องไห้ (หัวเราะ) ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร เพราะตอนโชว์มันคอนโทรลไม่ได้ ความรู้สึกข้างในมันออกไปอย่างที่มันพยายามจะออกไปเอง ผมไม่ได้พยายามมันเลย

ดูคุณเน้นการเป็นตัวเองมากขึ้นด้วยไหม ไม่อยากเป็นแบบคนอื่น เลือกทำในสิ่งที่เป็นตัวเราไปเลยดีกว่า

(นิ่งคิด) ไม่แน่ใจว่าผมเน้นเรื่องนี้ไหม (หัวเราะ) จริงๆ ผมไม่คิดว่าจะมีใครเป็นตัวเองเพียวๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเกิดจากการลอกคนอื่นมาทั้งนั้น เราชื่นชมสิ่งไหน เราก็เอามาเก็บไว้กับตัว ตอนนี้ผมแค่ be the best version of yourself ที่เราเห็นว่าดี ไม่ฝืนตัวเองที่จะเป็น และการ wanna be หรือ tryna be ก็ไม่ผิดเลย อย่างผม wanna be hiphop ก็ไม่ผิด เพราะผมอยากเป็นแบบนั้น 

ความเป็นตัวเองมันพูดกันยากนิดนึง สุดท้ายแล้วเดี๋ยวจะมีคนมาบอกเราว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำไมไม่ทำแบบนั้นแหละ ซึ่งผมก็คิดว่าแล้วไง อยากทำก็ทำเองเลย ถ้าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวอะไรกับเรา เราก็ไม่ต้องแคร์ ก็ทำแบบที่เราอยากทำอยู่ดี สุดท้ายก็ดีกับทุกคน เขาไม่ต้องมาคาดหวัง เราก็ไม่ต้องคาดหวังตัวเอง

คุณไม่อยากเป็นไปตามความคาดหวังของใคร แล้วคุณอยากได้การยอมรับไหม

ผมว่ามนุษย์เป็นแบบนี้ทุกคน เพราะมนุษย์ต้องการการยอมรับจากสังคม มันเป็นสัญชาตญาณที่เราคงบ่มเพาะมาเป็นหลายล้านปีไม่ให้โดนขับไล่ออกจากกลุ่ม มันจะเกิดความภูมิใจในตัวเองลึกๆ ว่าอะไรบ้างที่เราทำสำเร็จแล้วให้กลุ่มคนรู้สึกว่าเราทำได้

ตอนนี้ผมก็ยังเป็น แต่ก็ไม่ได้คาดหวังขนาดนั้นแล้ว มันเบาลงจากเมื่อก่อนที่ผมชอบไปตามอ่านคอมเมนต์คนในคลิป RAP IS NOW กับ The RAPPER มากๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมไม่รับข้อตำหนิ ส่วนคำชมถ้ามีอันไหนชมก็ดีใจ เออ เราทำได้ว่ะ แต่ถ้าไม่มี เราก็ปล่อย ไม่ต้องหยิบมาชม ไม่ต้องพยายามขวนขวายเพื่อสร้างมัน

ถ้าอย่างนั้นจะนิยามความเป็น AUTTA ในปัจจุบันที่ another level มาจากอดีตได้อย่างไรบ้าง

หลักๆ คือ มีอัตตาเพื่อละอัตตา เรารู้ทันอารมณ์ตัวเอง รู้ว่าฉันคิดอะไร แล้วก็ไม่ปฏิเสธ  ยอมรับว่ามันต้องคิดจริงๆ แล้วก็วางมันให้ได้ นิยามของ AUTTA น่าจะเป็นรู้แล้วก็ปล่อยไป

ผมยกตัวอย่างว่าถ้ามีคนมาบอกว่า ANTLV กระจอก ห่วยว่ะ งานขยะ ปล่อยอะไรออกมาวะ แล้วผมรู้สึกเจ็บ ก็นั่นและ โดนเส้นแล้ว เรากำลังยึดอัตตาไว้กับเพลงนี้ เพราะเราเชื่อ ชื่นชม คิดว่ามันสุดเจ๋ง แต่ว่ามันอาจจะกระจอกสำหรับบางคนก็ได้ ไม่แปลก ถ้าเรายึดมันไว้ ก็รู้ตัวว่าเรายึดมันไว้แล้ว 

คิดว่าสังคม ณ ตอนนี้เอื้อให้คุณเป็น AUTTA แบบนี้มากแค่ไหน

ผมคิดว่าไม่เอื้อเลย โซเชียลทำให้เราเห็นอัตตาคนอื่นได้ง่ายขึ้น แล้วก็สั่งสมอัตตาเราให้หนาขึ้น เร็วขึ้น แล้วก็เปรียบเทียบกันได้ไวขึ้น แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วมันขึ้นอยู่กับตัวเองว่าจะไหลไปตามเกมนี้หรือเปล่า เราอาจจะลงไปจอยสนุกกับเกมได้ แต่เราต้องไม่อินจนเกินไป 

พอคุณผ่านหลายๆ เหตุการณ์ที่คุณบอกว่าตัวเองแพ้ อยากรู้ว่าทุกวันนี้ความรู้สึกต่อดนตรีของคุณเป็นอย่างไร 

เปลี่ยนไปจากตอนเข้าเรียนแรกๆ อย่างสิ้นเชิง จนผมจำไม่ได้ว่าตอนนั้นรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกจากการฟังดนตรี การตีความดนตรีเปลี่ยนเยอะเลยครับ ผมว่าหลักๆ ตอนนี้อีโกของการตัดสินเพลงน้อยลง การยึดถือว่าดนตรีแบบหนึ่งดีกว่าอีกแบบน้อยลงเยอะมากๆ เพราะเราเห็นความสวยงามของดนตรีแต่ละประเภทมากขึ้น  

แต่ก่อนผมจะเลือกอวย เลือกชมเฉพาะอะไรที่ฟังมาหรือชอบอยู่แล้ว ไม่เปิดใจกับดนตรีใหม่ๆ เลย บางทีก็ตีความตัดสินไปก่อนแล้ว ทั้งๆ ที่ดนตรีบางอย่างก็ทำออกมาเพื่อสื่อสารและสร้างอารมณ์เฉพาะกลุ่ม พอเราเจอคนมากขึ้น เจอดนตรีหลากหลายแนวมากขึ้น เราก็เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่าดนตรีจะเป็นอะไรได้บ้าง บางทีผมไปนั่งฟัง noise ที่เกิดจากการทดลองของการใช้ฮาร์ดแวร์บางอย่าง ก็เหนื่อยเหมือนกันนะ แต่สนุก หรือว่ามีพวกเพลง comtemporary ใช้เครื่องดนตรีต่างๆ มาสร้างอารมณ์ แล้วมีการกำหนดโน้ตไว้หลวมๆ วาดโน้ตเป็นรูปปลาบ้าง รูปเขื่อนบ้าง แล้วให้นักดนตรีตีความตรงนั้นสดๆ มันตื่นเต้น เราเปิดโลก เปิดใจมากขึ้น

อีกความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผมในช่วงหลังคือ เราเห็นหนึ่งโมเมนต์ก่อนเพลงจะเกิดขึ้น มันเหมือนเราเห็นภาพของนักบอลที่กำลังยิงประตู เห็นมุมเท้า จังหวะเหลี่ยมนี้มันต้องปั่นเข้าเสาแน่นอน แล้วมันก็เข้าจริงๆ คือเราเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เห็นความเป็นไปของสถานการณ์ เห็นวิธีคิดของนักเตะ เห็นความตั้งใจของเขา สิ่งนั้นมันทำให้เราสนุกขึ้น

 

ความเป็นไปได้ทางดนตรีสำคัญอย่างไรกับนักดนตรีและวงการดนตรี

โห ผมว่ามันทำให้เรามองเห็น possibility ใหม่ๆ มันเป็นไปได้หมด ดนตรี A กับ B ไม่เข้ากันเลย แต่มันเอามาผสมลงตัวได้ ตัวอย่างอาจจะเหมือน cover อะไรดีๆ มักจะมาตอนเมากาว (ช่องยูทูบที่นักดนตรีไทยกลุ่มหนึ่งรวมตัว cover เพลงไทยด้วยสไตล์เพลงที่ไม่ตรงกับเพลงต้นฉบับ)  ซึ่งมันทำให้งานครีเอทีฟเราไปได้ไกลขึ้น เพราะเราเห็นเพดานของมันสูงเกินกว่าตามที่เราเห็นปกติ

ณ ตอนนี้ที่คุณเป็นแรปเปอร์และนักดนตรีที่เรียนทางดนตรีมาโดยตรง คุณอยากเห็น another level หรือความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเพลงอย่างไรบ้าง

ผมว่าคงเป็นเรื่องความหลากหลาย พอกันทีกับแนวคิดที่ว่าฉันจะทำแต่เพลงแมส ผมก็เคยเป็นแบบนั้นนะ ตอนนี้มาคิดแล้วก็เป็นไอเดียที่ไม่ทำให้เราได้เปิดกว้างหรือทดลองอะไรใหม่ๆ ในขณะที่ฝั่งเกาหลีใช้โหมดหรือสเกลซาวนด์ใหม่ๆ บางทีไปทำอะไรที่มันหลอนๆ มีการเอา theory กับซาวนด์มา apply กันในเพลงแล้ว 

แต่ฝั่งเรายังคิดว่าแต่งเพลงยังไงให้มันพ็อปๆ ในร้านเหล้าดี ทำเพลงยังไงให้แมสดี ผมว่าความหลากหลายมันต้องเกิดมากขึ้นในวงการนี้ ซึ่งจะเกิดได้ก็ต้องมีอะไรมาซัปพอร์ต และคนในวงการพยายามสร้างงานใหม่ๆ ออกมา แล้วพอสร้างออกมามันจะชนกันเองว่าสิ่งไหนจะไปต่อ 

คุณคิดว่าอะไรที่จะช่วยซัปพอร์ตวงการเพลงให้มีงานเพลงหลากหลายขึ้นมาได้บ้าง

ผมไม่ค่อยรู้เรื่องระบบเงินทุน แต่คิดว่าหลักๆ อาจจะต้องเปลี่ยนในระบบใหญ่ ซึ่งรัฐต้องเข้ามาซัปพอร์ต โมเดลเกาหลีมันพิสูจน์ไว้หมดแล้ว ซัปพอร์ตกันจนอุตสาหกรรมกลายเป็นบ่อน้ำใหญ่ที่ทุกคนมากินน้ำได้ พอเงินมาลงทุน การแข่งขันก็สูงขึ้น มันก็เกิดการพัฒนาดนตรีและอุตสาหกรรม ตลาดในวงการก็จะโต เงินก็จะไหลเข้ามา แล้วสุดท้ายถ้ารัฐลงทุนกับมันมากพอ รัฐจะได้เงินกับตรงนี้ด้วย

ที่สำคัญคือมันมีพื้นที่เล่นด้วย ไม่ว่าจะคอนเสิร์ต, live house, หรืออะไรก็ตาม ในความคิดผมนะ ประเทศไทยต้องทำให้ศิลปินสามารถหาเงินได้ไปไกลเกินกว่าจากการเล่นดนตรีในร้านเหล้าได้แล้ว เพราะตอนนี้ศิลปินต้องทำเพลงเพื่อมาเสิร์ฟร้านเหล้าอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะขายโชว์หรือขายงานได้ที่ไหน festival บ้านเราก็ไม่ได้เยอะมากพอ 

ทีนี้พองานร้านเหล้าเป็นทางเดียวที่จะขายโชว์ได้ กลายเป็นว่าศิลปินก็คิดเพียงว่าฉันจะทำอย่างไรเพื่อให้คนในร้านเหล้าได้ฟีล ทำเพลงเพื่อมาขายตรงนี้โดยตรง ซึ่งผมว่ามันซัฟเฟอร์ มันเจ็บปวด ทำไมวงการเราถึงต้องคิดแค่นี้ ในขณะที่เกาหลีเขาคิดไปถึงสเตจใหญ่ๆ คิดไปไกลเกินกว่าสเตจแล้วด้วยซ้ำ เพราะเขามีพื้นที่เล่นเยอะ พอเราไม่มีพื้นที่ขายงานแบบนั้น ศิลปินจะทำเพลงออกมาทำไม ในเมื่อมันไม่ทำเงิน มันเลยเป็นเรื่องเจ็บปวดครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save