fbpx

ยุติธรรมอำนาจนิยม

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำนาจนิยมที่เป็นใหญ่อยู่ในขณะนี้

เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในแวดวงของผู้ที่ร่ำเรียนด้านกฎหมายในสังคมไทยว่า การจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งอัยการและผู้พิพากษา บุคคลที่จะสามารถผ่านการทดสอบเข้าไปได้ต้องมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายเป็นอย่างดี คนจำนวนไม่น้อยเองก็ยังมีความเข้าใจว่ากลุ่มคนในองค์กรเหล่านี้ถือเป็นบุคคลชั้นยอดในแวดวงด้านกฎหมาย และในส่วนของกระบวนการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งที่กล่าวมาก็ดูราวกับว่าการใช้เส้นสายหรือเครือข่ายอุปถัมภ์นั้นเป็นไปได้อย่างยากยิ่ง แตกต่างไปจากการเข้าสู่ตำแหน่งหน้าทางราชการด้านอื่นๆ  

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงย่อมเป็นที่คาดหวังของผู้คนในสังคมว่า บุคคลเหล่านี้จะสามารถใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ยิ่งกระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนสำคัญต่อการระงับข้อขัดแย้งในหลากหลายมิติ การทำหน้าที่ซึ่งตรงไปตรงมาตามหลักวิชาก็ยิ่งเป็นส่วนที่ความสำคัญมากเป็นเงาตามตัวขึ้นไป

แต่ในห้วงเวลานับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 เฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ พ.ศ. 2563 การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมทั้งในส่วนของอัยการและศาลก็ล้วนต้องเผชิญกับคำถามอย่างหนักหน่วง ในหลายคำถามได้ตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่และความถูกต้องในการใช้กฎหมายว่าเป็นสิ่งที่มิได้สอดคล้องกับหลักวิชาด้านกฎหมาย

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางและถูกมองว่าไม่มีความเป็นธรรม นับตั้งแต่การสั่งฟ้องคดีในข้อกล่าวหาที่เกินไปจากข้อเท็จจริง, การไม่คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในขั้นตอนทางกฎหมาย, การปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวด้วยเหตุผลที่ชวนให้ตั้งคำถาม เป็นต้น มีตัวอย่างจำนวนมากที่หากแสดงให้เห็นออกมาอย่างละเอียดก็คงต้องใช้เนื้อที่และระยะเวลาเป็นจำนวนไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม สำหรับในที่นี้ไม่ได้ต้องการจะถกเถียงถึงรายละเอียดในแต่ละกรณี ประเด็นสำคัญที่ต้องการทำความเข้าใจก็คือว่าอะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมของไทยซึ่งเคยได้รับการยกย่องถึงความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างมาก แต่บัดนี้กลับถูกมองอย่างกว้างขวางว่าได้กลายไปเป็นส่วนหนึ่งที่คอยปกป้องระบอบอำนาจนิยมอย่างเข้มแข็ง

ความเห็นส่วนหนึ่งเสนอว่าเป็นเพราะความบกพร่องของระบบการศึกษากฎหมายในสังคมไทยที่ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจถึงหลักวิชาได้อย่างถ่องแท้ ดังนั้น เมื่อเข้าไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรมจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องได้ตรงกับเจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมาย การบังคับใช้และการตีความกฎหมายจึงบิดเบี้ยวไปอย่างที่ปรากฏให้เห็นกันอยู่

การโยนปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในขณะนี้ให้กับระบบการศึกษากฎหมายเพียงอย่างเดียว อาจชวนให้ตั้งคำถามได้ถึงคุณภาพของโรงเรียนกฎหมายในสังคมไทยว่ามันย่ำแย่ขนาดนั้นเลยใช่หรือไม่ บุคคลที่สอบผ่านเข้าไปสู่ตำแหน่งอัยการ ผู้พิพากษา ส่วนใหญ่ก็ล้วนมาแต่สถาบันอันเก่าแก่หรือที่เป็นเสาหลักของแผ่นดินทั้งนั้น ถ้าสถาบัน ‘ขาใหญ่’ ยังมีคุณภาพต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ก็คงไม่ต้องพูดถึงโรงเรียนกฎหมายใหม่ๆ ที่เพิ่งตั้งขึ้นว่าจะไร้คุณภาพเพียงใด

สำหรับผู้เขียนแล้ว แม้ระบบการศึกษาอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นิติศาสตร์ไทยกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำนาจนิยมอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่มีปัจจัยอื่นๆ ที่ควรต้องถูกให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน

หากพิจารณาในเชิงโครงสร้างขององค์กรจะพบว่า โครงสร้างขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะอัยการหรือศาลยุติธรรมล้วนแต่ห่างไกลจากการถูกตรวจสอบจากสาธารณะ ระบบการตรวจสอบที่เป็น ‘ระบบปิด’ อันหมายถึงมีองค์กรที่ประกอบด้วยผู้คนภายในวิชาชีพเดียวกันทำหน้าที่ให้คุณให้โทษ แม้ว่าจะมีกล่าวอ้างกันถึงข้อดีว่าทำให้ไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้เกิดข้อสงสัยได้เช่นเดียวกันว่าจะสามารถเชื่อมั่นการตรวจสอบของพวกเดียวกันเองได้อย่างไร ความเป็นผู้บังคับบัญชา สายสัมพันธ์ ความเป็นพี่น้องร่วมสถาบัน วัฒนธรรมขององค์กร หรืออื่นๆ

ผมเคยตั้งคำถามกับคนที่เคยมีเพื่อนซึ่งเป็นอัยการว่าถ้าสมมติว่าในปีนั้นสั่งฟ้องคดีไป 100 คดี แล้วถูกยกฟ้องไป 99 คดี การปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะนี้จะส่งผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าในอาชีพของเขาหรือไม่ คำตอบที่ได้รับก็คือว่า “เฮ้ย คงไม่มีอัยการคนไหนแพ้คดีเยอะขนาดนั้นหรอก”

หรือกับกรณีสิทธิในการประกันตัวซึ่งเคยมีนักเรียนกฎหมายเป็นจำนวนมากได้ร่วมลงชื่อโดยมีความเห็นว่าการประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานที่บุคคลทุกคนควรได้รับ รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าในหลายคำสั่งของศาลขัดกับหลักการเรื่องการประกันตัวอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตราบจนกระทั่งระหว่างเขียนบทความชิ้นนี้ แนวทางการไม่ให้ประกันตัวก็ยังคงเดินทางไปในแนวทางแบบเดิม

ความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมจึงนำมาซึ่งสภาวะที่หลุดลอยออกไปจากการตรวจสอบของสังคมอย่างสิ้นเชิง

หากพิจารณาประกอบกับอุดมการณ์หลักที่ครอบงำอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งมุ่งเน้นการทำหน้าที่ของตนเองในฐานะที่เป็นตัวแทนของสถาบันจารีต โดยที่แทบไม่เห็นความยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนแม้แต่น้อย ก็ยิ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมมีแนวโน้มในการสนับสนุนต่อระบอบอำนาจนิยมได้ง่ายยิ่งขึ้น

กล่าวให้ชัดเจนมากยิ่งกระบวนการยุติธรรมของไทยแทบไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนเลย ในตอนเริ่มการปรับเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 แรงผลักดันสำคัญก็คือการสร้างความศิวิไลซ์ให้ทัดเทียมกับตะวันตก แม้จะมีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายจะกลายเป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง การบังคับใช้กฎหมายระหว่างสามัญชนกับชนชั้นสูงยังมีความแตกต่างกัน (นักกฎหมายบางคนยังตีความเลยเถิดออกไปว่ากฎหมายฉบับนี้ได้ทำให้เกิด ‘ระบบกฎหมายสมัยใหม่’ ขึ้นในสังคมไทย) สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงเป็นศูนย์กลางอำนาจที่สูงสุดเฉกเช่นเดิม

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อาจมีความพยายามในการทำให้กระบวนการยุติธรรมอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อคณะราษฎรต้องพบจุดจบในทางการเมือง ฝ่ายตุลาการก็ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวให้มีความเป็นอิสระจากอำนาจทางการเมืองพร้อมกับการแปรสภาพไปเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย (network monarchy) อันปรากฏให้เห็นอย่างน้อยก็นับจากทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ไม่เป็นที่ประหลาดใจแต่อย่างใดที่ผู้พิพากษาในยุคหลังจะสามารถป่าวประกาศออกมาว่าในสมัยเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น คือช่วงเวลาที่ฝ่ายตุลาการได้รับการปรับปรุงให้มีความมั่นคงและมีความอิสระเพิ่มมากขึ้น

ทั้งปัจจัยในเชิงโครงสร้างและอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ในองค์กรของกระบวนการยุติธรรมเฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายตุลาการ นับเป็นเงื่อนสำคัญที่ทำให้ระบบความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ของไทยไม่ได้ตระหนักว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนคือหัวใจสำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่

การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าไม่เป็นไปตามหลักการของกฎหมายนั้นเอาเข้าจริงกลับเป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อสถาบันของกระบวนการยุติธรรมทั้งในเชิงโครงสร้างและอุดมการณ์ที่มุ่งเน้นถึงเป้าประสงค์ที่แตกต่างไปจากความคาดหวังของผู้คนในสังคม แม้อาจจะมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่พยายามทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับหลักวิชา แต่ในท้ายที่สุด กลไกและอำนาจครอบงำของสถาบันก็จะผลักให้บุคคลดังกล่าวต้องกลับไปอยู่ ‘กับร่องกับรอย’ ขององค์กรเช่นเดิม หากไม่สามารถปรับตัวได้ก็คงต้องเผชิญกับจุดจบเช่นเดียวกับผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ

ดังนั้น การคาดหวังว่าถึงความเปลี่ยนแปลงอันอย่างกว้างขวางจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปโครงสร้างและอุดมการณ์ที่ครอบงำอยู่ในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นิติศาสตร์เพื่อราษฎรและความเป็นธรรมจึงจะมีโอกาสหยั่งรากและงอกงามขึ้นได้ในสังคมแห่งนี้  

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save