fbpx
โรงเรียนของเราน่าอยู่? : ความเจ็บปวดของวัยขาสั้นคอซองยุคโบว์ขาว

โรงเรียนของเราน่าอยู่? : ความเจ็บปวดของวัยขาสั้นคอซองยุคโบว์ขาว

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์, ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล ภาพ

 

“เผด็จการแห่งแรกในชีวิตของฉันคือโรงเรียน” คือหนึ่งในป้ายประท้วงที่โดดเด่นในการประท้วงของ ‘ม็อบมัธยม’

ท่ามกลางความตื่นตัวในสิทธิในร่างกายและสิทธิในการได้รับการศึกษาที่ช่วยให้พวกเขาเจริญเติบโตบนฐานของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คำถามที่ผู้ใหญ่หลายคนโยนใส่พวกเขาคือ “ออกมาทำไม”

“เรียกร้องสิทธินู่นสิทธินี่ ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์บ้างแล้วหรือยัง?” “เป็นเด็กเป็นเล็ก ตั้งใจเรียนหนังสือก่อนเถอะ” คำปรามาสเหล่านี้แสดงถึงความไม่เข้าใจโลกที่วัยรุ่นเผชิญอยู่แม้แต่น้อย เพราะหากมองทะลุความโกรธของพวกเขาลงไปให้ลึก จะพบว่าพวกเขาเจ็บปวดมานาน ไม่ว่าจะจากการศึกษา จากครู หรือเพื่อน-พี่-น้อง ในโรงเรียนกันเองก็ตาม

เมื่อ ‘ความเจ็บปวด’ ที่ถูกทำให้เงียบมานานเริ่มส่งเสียง 101 สนทนากับนักเรียนมัธยมผู้เจ็บปวด และครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูจากเครือข่ายครูขอสอน ผู้อยู่เคียงข้างนักเรียนและผลักดันให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง เพื่อทำความเข้าใจโลกในรั้วโรงเรียนว่าทำไมนักเรียนจึงเจ็บปวด อะไรอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งแห่งความเจ็บปวดนี้ และอะไรคือยาที่จะรักษาความเจ็บปวดของนักเรียนได้

นี่คือคำตอบว่า “ทำไมถึงต้องออกมา”

 

ตัวตนที่หายไปในโรงเรียน

 

แพนด้า (นามสมมติ) นักเรียนชั้นม.6 

 

ในวันที่นักเรียนมัธยมลุกขึ้นมาส่งเสียงต่อสังคมถึง ‘ความเจ็บปวด’ ที่พวกเขาต้องพบเจอมาตลอดในรั้วโรงเรียน และเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเพื่อการศึกษาที่ดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แพนด้า (นามสมมติ) นักเรียนชั้นม.6 คือหนึ่งในนักเรียนที่หนักแน่นในเสียงของตัวเองว่า การศึกษากำลังทำร้ายเธอและเพื่อนๆ อยู่

เมื่อถามว่าอะไรที่ทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวด คำตอบแรกที่ออกมานั้นอยู่เหนือความคาดหมาย

“เรารู้สึกว่าคาบเรียนแต่ละวิชาไม่ใช่พื้นที่ของเราเลย” แพนด้าเอ่ยถึงความรู้สึกของการที่ถูกระบบการศึกษาพันธนาการ ‘ตัวตน’ ของเธอไว้

บรรยากาศการเรียนที่แพนด้าต้องเจอ คาดว่าคงไม่ต่างจากประสบการณ์ของทุกคนที่ผ่านระบบการศึกษาไทยมามากนัก ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องเจอครูคุยกับกระดาน ครูสอนตามหนังสือแล้วให้ท่องจำไปสอบ ไม่เปิดแม้แต่โอกาสให้ซักถาม หรือแม้แต่ครูสอนด้วยทัศนคติ ‘สอนแค่นี้พอ เธอไม่จำเป็นต้องรู้เยอะหรอก อยากรู้เพิ่มก็ไปเรียนพิเศษ’

“เรารู้สึกไม่มีความสุข รู้สึกเหมือนหุ่นยนต์ เหมือนความเป็นตัวตนของเราไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก เรื่องที่เราสนใจอยากเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนเลย”

แพนด้านับว่าเป็นนักเรียนหัวดีคนหนึ่งในห้องของเธอ เธอเรียนห้องโครงการพิเศษสายวิทย์-คณิตในโรงเรียนต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง แต่เธอกลับค้นพบว่าตัวตนและความสนใจของเธออยู่ในโลกการศึกษาและประเด็นสังคมการเมือง เป็นความเจ็บปวดจากรั้วโรงเรียนอีกเช่นกันที่หล่อหลอมเธอให้เป็นเธอในวันนี้

แพนด้าเล่าให้ฟังว่า ในบรรดาสามวิชาหลักของสายวิทย์ ฟิสิกส์เป็นวิชาที่เธอสบายใจที่จะเรียนที่สุด ไม่ใช่เพราะชอบจริงๆ แต่เพราะเป็นวิชาคำนวณที่เปิดพื้นที่ให้คิดนอกกรอบเองได้บ้าง ไม่เหมือนเคมีกับชีวะที่ต้องท่องจำตามหนังสือ สิ่งที่อยู่ในห้องเรียนก็ไม่ต่างไปจากสิ่งที่เขียนไว้ในหนังสือเรียน

“ตอนนั้นคิดว่าเราน่าจะชอบวิชาฟิสิกส์ที่สุด เราก็ตั้งใจเรียนกับมัน แต่ความสุขของเราไม่ได้อยู่ที่การได้เรียน กลายเป็นว่ามันอยู่ที่เมื่อไหร่ครูจะบอกคะแนน เราทำข้อสอบได้คะแนนเต็มไหม ได้คะแนนสูงที่สุดในชั้นเรียนหรือเปล่า จะได้คำชมจากครูไหม”

“เราไม่ชอบตัวเองในตอนนั้นเลย เหมือนเรากลายเป็นใครก็ไม่รู้ แล้วมันก็ toxic กับเพื่อนคนอื่นด้วยเวลาเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อน สภาพแวดล้อมที่กดดันแบบนี้ไม่ดีกับใครเลยด้วยซ้ำ”

แรงกดดันจากการแข่งกันเรียน ความคาดหวังของสังคมว่านักเรียนสายวิทย์ต้องเป็นนักเรียนหัวกะทิ จบมัธยมแล้วต้องเรียนต่อแพทย์ วิศวกรรม สถาปัตย์ฯ ทำให้แพนด้ากลายเป็นนักเรียนที่ไม่มีความสุข จนต้องมานั่งคิดทบทวน หยุดฟังเสียงของคนอื่น แล้วหันมาฟังเสียงของตัวเองมากขึ้นจนค่อยๆ ตกตะกอนว่าที่จริงแล้ว เธอสนใจเรื่องที่โรงเรียนไม่สอน อย่างเรื่องความไม่เท่าเทียมในสังคมจากการสังเกตตัวเองว่าทุกครั้งที่หาความรู้เพิ่มนอกห้องเรียน ก็มักจะค้นหาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ในโลกออนไลน์ เธอจึงตัดสินใจลองไปเข้าค่ายที่เปิดพื้นที่ให้วัยเรียนค้นหาตัวเอง อย่างเช่นค่ายของคณะทางด้านสังคมศาสตร์ หรือค่ายนวัตกรรมสังคม

“พื้นที่แบบนั้นทำให้เรารู้สึกว่าเราเองก็มีคุณค่า มีความสามารถในแบบของเรา เรามีความสุขที่ได้ตั้งใจคิดและลงมือทำกิจกรรมตรงนั้นจริงๆ โดยที่ไม่ต้องเปรียบเทียบกับเพื่อน ไม่ต้องเอาคำชมของคนอื่น หรือคะแนนสอบมาเป็นตัวตั้งเหมือนกับตอนที่เราพยายามกับฟิสิกส์ ตอนนั้นเราเลยไม่มีความสุขระหว่างทาง”

“โรงเรียนควรเป็นที่ที่ทำให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ไม่ใช่ทำให้เด็กรู้สึกว่าจะมีคุณค่าได้ ต้องยึดตามสิ่งที่ผู้ใหญ่คาดหวังหรือให้ค่า” แพนด้ากล่าวถึงระบบการศึกษาที่กดทับเธอและเพื่อนๆ ไว้อยู่

เพื่อนร่วมห้องของแพนด้าอีกหลายคนยังก้าวไม่พ้นความเจ็บปวดจากการสูญเสีย ‘ตัวตน’ ในระบบการศึกษา เธอเล่าให้ฟังว่าเพื่อนของเธอต้องเจ็บปวดจากการแข่งขันและแรงกดดันจากครู มีครั้งหนึ่ง ครูประกาศคะแนนสอบโดยการเอาข้อสอบเขียนของนักเรียนแต่ละคนฉายขึ้นโปรเจ็กเตอร์ว่าใครทำอะไรผิดตรงไหน ซึ่งข้อสอบครั้งนั้นยากมาก แม้กระทั่งเพื่อนที่ได้คะแนนดีมาตลอดก็พลาด ครูอาจมองว่าเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนพยายามมากขึ้นในครั้งต่อไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุกคนเครียดถึงขั้นที่มีคนหลบใต้โต๊ะ แม้กระทั่งเพื่อนคนที่น่าจะร้องไห้ยากที่สุดก็ยังเสียใจมากจนต้องหลั่งน้ำตาออกมา

แพนด้าเล่าต่อว่า การได้คะแนนน้อยไม่ใช่ปัญหา เพื่อนรู้ตัวอยู่แล้วว่าพลาดตรงไหน และรู้สึกเฟลกับการที่ตัวเองทำได้ไม่ดีอยู่แล้ว แต่การที่ครูเอาข้อสอบมาชี้ให้คนทั้งห้องดู แล้วติเตียนแบบติดตลกว่า “เขียนอะไรมาก็ไม่รู้” ทั้งๆ ที่เพื่อนบอกว่าพยายามเต็มที่แล้ว คือสิ่งที่ทำให้เพื่อนเจ็บที่สุด

อีกสิ่งที่ทำให้แพนด้าและเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเจ็บปวดไม่แพ้กันคือกฎระเบียบเรื่องทรงผมและเครื่องแต่งกายที่แม้แต่ครูผู้บังคับใช้กฎเองก็หาเหตุผลรองรับไม่ได้นอกจากบอกว่า ‘มันเป็นกฎ เธอมีหน้าที่ต้องทำตามเท่านั้น’ กฎเหล่านี้มาพร้อมกับบทลงโทษ การประจานให้อับอาย หรือคำตำหนิติเตียนที่เผ็ดร้อนรุนแรงเกินกว่าเหตุ

ห้ามใส่เสื้อหนาวนอกห้องเรียน ให้ถอดรองเท้าขึ้นอาคารเรียนแต่อนุญาตให้ใส่แค่ถุงเท้าพื้นสีขาว ในขณะที่ครูใส่รองเท้าขึ้นอาคารได้ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติธรรมดาในรั้วโรงเรียน แต่แพนด้าเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมเธอจึงไม่มีความสุขในโรงเรียนและทำไมเพื่อนๆ ของเธอจึงต้องเจอการปฏิบัติจากครูราวกับว่าทำผิดร้ายแรง

เหตุการณ์ที่แจ่มชัดที่สุดคือในคาบตรวจระเบียบประจำเดือน ครูใช้ไม้บรรทัดทาบแล้วตัดผมเพื่อนต่างห้องคนหนึ่งของแพนด้าจนเหลือความยาวแค่บ่า เพื่อนคนนี้ผมยาวกว่าระเบียบที่โรงเรียนกำหนดไว้ว่าอนุญาตให้ไว้ผมยาวไม่เกิน 9 นิ้ว แต่ครูตัดผมของเพื่อนให้สั้นกว่า 9 นิ้วไปมาก เหตุการณ์นี้ถูกถ่ายคลิปและเผยแพร่ลงอินเทอร์เน็ตจนกลายเป็นข่าว แต่โรงเรียนมองว่าทำให้โรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียง ท้ายที่สุด นักเรียนหลายคนเลือกระบายความอัดอั้นตันใจลงในในแฮชแท็กชื่อโรงเรียนในทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการระบายความรู้สึกหวาดกลัวและไม่พอใจร่วมกันของเพื่อนๆ ในโรงเรียน

“เรารู้สึกว่าโรงเรียนทำกับนักเรียนได้ขนาดนี้เลยเหรอ วันนี้เรายังไม่โดน แต่เรายังอยู่ในสังคมนี้ ถ้าวันหนึ่งคนที่ถูกลงโทษเกินกว่าเหตุแบบนี้เป็นเราขึ้นมาล่ะ” แพนด้าเล่าว่านี่คือความรู้สึกว่า ‘โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย’ และเป็นคำตอบว่าทำไมเธอถึงรู้สึกไม่มีความสุข

แพนด้าคือนักเรียนที่พยายามเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนในหมู่นักเรียนในโรงเรียน และส่งเสียงให้ครูรับรู้ว่า นักเรียนอยากให้โรงเรียนปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเรื่องทรงผมตามระเบียบว่าด้วยทรงผมนักเรียนปี 2563 ของกระทรวงศึกษาธิการ แต่แม้ว่าโรงเรียนจะมาขอความเห็นจากนักเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาหลังกรณีตัดผมที่เป็นข่าว แต่ท้ายที่สุดทุกอย่างก็จบลงด้วยความเงียบ

“เราตั้งคำถามเสมอว่า เวลาเราถามเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียน ทำไมครูนิ่งเฉย ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราพูด แต่พอมีนักเรียนอีกคนบอกว่ากฎโรงเรียนเหมาะสมแล้ว ครูกลับชื่นชม”

เมื่อถามว่า ความเจ็บปวดเหล่านี้ ไม่ว่าจะจากระบบการศึกษาที่กดดันหรือจากกฎระเบียบและการลงโทษที่กดทับจะทุเลาลงได้อย่างไร แพนด้าตอบว่า “โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยของนักเรียน”

เธออยากให้ครูเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้และบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักเรียนและครู เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าโรงเรียนคือพื้นที่ของนักเรียน ดึงศักยภาพและตัวตนของนักเรียนแต่ละคน ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อผิดพลาดและเติบโต อย่างตอนเปิดข้อสอบหน้าชั้นเรียน เธอมองว่าครูควรเปิดโอกาสให้เพื่อนๆ ได้บอกว่าอยากคุยเรื่องข้อสอบอย่างไร และควรเปิดโอกาสให้เพื่อนอธิบายด้วยว่าทำไมถึงทำข้อสอบไม่ได้ ไม่ใช่แค่ตัดสินไปก่อนว่าเพื่อนไม่พยายาม “อยากให้ครูโฟกัสที่นักเรียนมากกว่านี้” แพนด้ากล่าวอย่างมีความหวัง

สำหรับกฎระเบียบเรื่องทรงผมเครื่องต่างกาย แพนด้ามองว่าการสร้างระเบียบวินัยให้คนปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่ได้เกิดจากการถูก ‘บังคับ’ ให้แต่งตัวเหมือนกัน ใส่ถุงเท้ารองเท้าเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้มองเช่นกันว่านักเรียนต้องได้รับอิสระให้ทำตามใจตัวเองอย่างไม่มีขีดจำกัด

“กฎระเบียบและการลงโทษต้องไม่ละเมิดสิทธิในร่ายกายของเรา และที่สำคัญกฎระเบียบต้องเอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนมาก เอื้อให้สังคมส่วนรวมในโรงเรียนอยู่ร่วมกันได้ อย่างเช่น การตรงต่อเวลาเกิดจากการที่เราตระหนักว่าถ้าเราเลทจะส่งผลกระทบต่อคนอื่น แต่การบังคับให้นักเรียนทำตามกฎทุกวันนี้ เราไม่เห็นเลยว่าทำไปแล้วมันเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือตัวเองอย่างไร มันไม่ได้เอื้อต่อคนส่วนมากเลย”

แพนด้าเล่าประสบการณ์ว่า มีครูบางคนที่เลือกเข้ามาพูดคุยรับฟังความคิดเห็นของเธอเกี่ยวกับกฎระเบียบทรงผมเครื่องแต่งกายว่าทำไมเธอและเพื่อนๆ ถึงคิดว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎ “ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีพื้นที่อยู่ในโรงเรียน รู้สึกว่าครูอยู่ข้างเรา ไม่ได้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเรา”

“การที่เราเคารพครูคนหนึ่ง มันเกิดจากการที่เราเห็นว่าเขาทำเพื่อนักเรียน มองเห็น ให้ความสำคัญ และหวังดีกับนักเรียนจริงๆ ไม่ใช่แค่คิดว่าทำเพื่อนักเรียนแล้วจากมุมของครู”

“เราจะเคารพและรักครูได้อย่างไร ถ้าครูเลือกที่จะอยู่ตรงข้ามนักเรียน เรารู้สึกกดดันและหวาดกลัวกับการที่ครูใช้อำนาจลงโทษ บังคับ หรือหักคะแนน สำหรับเราความเคารพไม่ได้มาจากการที่เขาทำให้เรากลัว และทำให้เรารู้สึกว่าโดนกดอยู่ ครูอาจบังคับเอาความเคารพจากเราไปก็จริง แต่ก็เป็นความเคารพจากความกลัว”

“การฟังกับการรับฟังไม่เหมือนกัน ตอนนี้ครูส่วนมากแค่ฟังอย่างเดียว ไม่ได้เก็บมาตกตะกอนว่าจริงๆ แล้วนักเรียนต้องการอะไร ถ้าอยากเข้าใจคนรุ่นใหม่ ต้องตั้งใจฟังสิ่งที่เด็กอยากพูดจริงๆ แล้วนำกลับไปคิดว่าทำไมเด็กถึงรู้สึกแบบนี้ โดยที่ไม่เอาประสบการณ์ส่วนตัวมาใส่ไว้ในใจแล้วตัดสินไปก่อน”

“ถ้าอยากเข้าใจพวกเรา อาจเริ่มต้นจากการมาพูดคุยกับพวกเราในฐานะคนๆ หนึ่งว่าทำไมพวกเราถึงเจ็บปวดและออกมาส่งเสียงเรียกร้อง” แพนด้ากล่าว

 

แพนด้า (นามสมมติ) นักเรียนชั้นม.6

 

ในสังคมโรงเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน-พี่-น้อง คือหนึ่งพื้นที่ที่แม้ว่าแพนด้าจะบอกว่าคือ ‘เซฟโซน’ ของเธอเพราะไม่มีการใช้ระบบโซตัสอย่างชัดเจน แต่ยังมีส่วนที่แพนด้ามองว่าน่าเจ็บปวดคือการที่นักเรียนบางส่วนผลิตซ้ำอำนาจที่เคยกดทับพวกเขาไว้เสียเอง

เธอเล่าว่า สภานักเรียนที่โรงเรียนของเธอขึ้นตรงต่อห้องปกครอง ตอบสนองความต้องการของห้องปกครองและใช้อำนาจบังคับเพื่อนนักเรียนกันเองมากกว่า แม้ว่าจะเลือกตั้งมาจากนักเรียนก็ตาม

“ในฐานะที่เราเลือกเขาเข้าไป เราก็คาดหวังให้สภานักเรียนเป็นกระบอกเสียงให้กับนักเรียน ผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์กับเพื่อนนักเรียนในโรงเรียน แต่เขากลับกลายเป็นภาพซ้อนของครูขึ้นมา”

อำนาจแทรกซึมอยู่ทุกแห่งหน แม้แต่ในตัวนักเรียนเอง

 

เสียงที่โรงเรียนไม่รับฟัง

 

ตึก (นามสมมติ) คือนักเรียนชั้นม.5

 

“สิ่งที่เราไม่ชอบเลยในโรงเรียนคือการที่โรงเรียนไม่มองว่านักเรียนคือ first priority”

ตึก (นามสมมติ) คือนักเรียนชั้นม.5 อีกหนึ่งคนที่ทนต่อความเจ็บปวดในรั้วโรงเรียนไม่ไหวจนต้องออกมาร่วมขบวนส่งเสียงว่าต้องการ ‘โรงเรียนที่ดีกว่านี้’ แม้ว่าน้ำเสียงของเธอจะเต็มไปด้วยความอัดอั้น ความไม่พอใจ หรือแม้กระทั่งโกรธ แต่ก็สัมผัสได้ไม่ยากเลยว่าท่ามกลางมวลอารมณ์เหล่านี้ มีความเจ็บปวดของเธอและเพื่อนๆ แฝงอยู่

ตึกเล่าถึงความเจ็บปวดสารพัดที่สะสมอยู่ในรั้วโรงเรียน เริ่มตั้งแต่การไม่ใส่ใจสวัสดิภาพของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันให้นักเรียนจัดกิจกรรมกลางแจ้งแม้ฝนตก ไม่ให้นักเรียนใส่เสื้อกันหนาวในพิธีเพียงเพื่อให้ถ่ายรูปออกมาแล้วดูเป็นระเบียบ ไม่ยอมให้นักเรียนใส่มาสก์กันฝุ่น PM2.5 ในหอประชุม และไล่ให้ออกจากหอประชุมถ้าไม่ยอมถอดมาสก์ หรือล่าสุดในช่วงโควิด โรงเรียนก็บังคับให้นักเรียนใส่มาสก์สีขาวเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน โดยบอกนักเรียนว่า ‘ถ้าไม่มี ให้ขอยืมเพื่อนหรือกลับด้านมาสก์ที่เป็นสีขาวออกมา’

“ไม่รู้ว่าเรื่องยืมมาสก์ เพื่อนรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกันไหม แต่เรารู้สึกแย่มากๆ มาก ทั้งๆ ที่มาสก์เป็นของสำคัญที่ไม่ควรยืมกัน” เธอรู้สึกว่าโรงเรียนให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ที่สวยงาม เป็นระเบียบของโรงเรียนมากกว่า ‘นักเรียน’

กฎระเบียบในโรงเรียนหรือการปฏิบัติของครูที่ละเมิดสิทธิก็สร้างความเจ็บปวดให้กับตึกและเพื่อนๆ ไม่น้อย เธอมองว่ากฎระเบียบทรงผมเครื่องต่างกายที่เปิดโอกาสให้มี ‘นักเรียนดี’ ได้เพียงแบบเดียว (ซึ่งครูเป็นคนกำหนด) ขัดกับ ‘ความเป็นตัวตน’ ที่ค่อยๆ เบ่งบานตามวัย แต่ที่ทำให้เธอรู้สึกอึดอัดใจคือการตรวจระเบียบที่ล้ำเส้นถึงเนื้อถึงตัว และการที่เพื่อนๆ ถูกครู body shaming ว่าอ้วน ซึ่งแม้ว่าครูอาจไม่ได้คิดมาก แต่นักเรียนก็เจ็บปวดจริง

“บางคนอาจจะพยายามลดน้ำหนักแล้ว หรือบางคนก็ภูมิใจในร่างกายของเขา ไม่อยากให้มาตัดสินกันแบบนี้” เธอกล่าวและย้ำว่า self-esteem เป็นเรื่องสำคัญสำหรับวัยรุ่นอย่างพวกเธอ

การละเมิดสิทธิในโรงเรียนของตึก ยังรวมไปถึงการยึดทรัพย์สินส่วนตัวอย่างโทรศัพท์ ซึ่งครูอาจมองว่าจะทำให้นักเรียนมีสมาธิกับการเรียนยิ่งขึ้น แต่ตึกมองต่างออกไป

“ที่โรงเรียนมีนโยบายให้นักเรียนฝากโทรศัพท์ในช่วงเวลาเรียน ถ้าจับได้ว่าไม่ฝาก ครูก็จะยึดไป แต่เรามองว่าโรงเรียนควรที่จะปลูกฝังจิตสำนึก ฝึกให้นักเรียนรู้ว่าเวลาไหนควรใช้หรือไม่ควรใช้โทรศัพท์มากกว่า” ตึกกล่าวและเล่าว่าบางกรณีพอครูยึดทรัพย์สินไปเป็นเวลานานหลักเดือน ก็ทำให้สิ่งของเสียหายด้วย

สิ่งที่ตึกบอกว่าเจ็บปวดและไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในโรงเรียนของเธอที่สุดคือ การทำร้ายร่างกายนักเรียนด้วยการเอาไม้ปิงปองตีหัว จนเธอและเพื่อนในกลุ่มทนไม่ได้ ต้องออกมาเขียนเรื่องนี้ลงทวิตเตอร์ “เราช็อกมาก” เธอกล่าว

เมื่อถามตึกว่า ทำไมเธอถึงมองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่อง ‘ผิดปกติ’ ท่ามกลางเพื่อนร่วมโรงเรียนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ ‘แอกทีฟ’ หรือยังไม่สัมผัสได้ว่าเรื่องเหล่านี้คือความเจ็บปวด คำตอบของเธอนั้นเรียบง่าย “ทวิตเตอร์”

เธอเล่าว่า ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่เปิดโลกของเธอ เธอเห็นคนมากมายเข้ามาถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง สังคม การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงสิทธิในร่างกายและความปลอดภัยที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เธอพบเจอ บทสนทนามากมายที่หลั่งไหลอยู่ตลอดเวลาในทวิตเตอร์ได้ปลุกให้เธอตื่น เธอเปรียบว่า “ทวิตเตอร์เหมือนทำให้เรารู้ว่าเราโดนปิดตาอยู่ แล้วพยายามแกะผ้าปิดตาออก”

และแล้ว ตึกและเพื่อนๆ จึงตัดสินใจออกมาส่งเสียง เล่าความเจ็บปวดของรุ่นน้องจากการที่ครูใช้ความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะ เรียกร้องให้โรงเรียนออกมารับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว รวมทั้งสัญญาว่าโรงเรียนจะไม่ปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีก แต่โรงเรียนกลับพยายามกลบให้เสียงเหล่านี้หายไป

ตึกเล่าต่อว่า ครูที่โรงเรียนมองว่าการส่งเสียงครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าน้อยใจและน่าผิดหวัง แทนที่จะมองว่าเป็นความหวังดีที่อยากเห็นโรงเรียนดีขึ้น นี่คืออีกครั้งที่ตึกเห็นต่าง “โรงเรียนควรสนับสนุนให้เด็กตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง”

“ทุกคนต่างบอกว่าโรงเรียนคือบ้านหลังที่ 2 ครูคือพ่อแม่คนที่ 2 เราอยากให้โรงเรียนเป็นครอบครัวที่ซัพพอร์ตเรา อย่าผลักไสเรา อยากให้ฟังเหตุผลเราก่อน อย่าเพิ่งตัดสินไปก่อน” นี่คือวิธีที่จะทำให้นักเรียนกลายเป็น first priority และบรรเทาความเจ็บปวดของนักเรียนอย่างแท้จริง

 

 

เมื่อวัฒนธรรมอำนาจนิยมกดทับความเจริญงอกงามและความเป็นไปได้อื่นๆ ในรั้วโรงเรียน : ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

 

ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูวิชาสังคม “ผู้อยู่เคียงข้างนักเรียน” จากโรงเรียนราชดำริ และเครือข่ายครูขอสอน 

 

“ถูกครูตีไม่มีเหตุผล”

“ครูสองมาตรฐาน ดูแลเด็กหน้าห้อง-เด็กหลังห้องไม่เหมือนกัน”

“ครูเปรียบเทียบว่าไม่ดีเหมือนรุ่นพี่ ไม่ดีเท่าเพื่อนห้องอื่น”

“ครูพูดบั่นทอนกำลังใจ”

“ครูทำงานหายไม่รับผิดชอบ”

“ครูให้คะแนนไม่เป็นธรรม”

“ครูฉีกงานทิ้งต่อหน้า”

“ถูกคาดหวัง ถูกกดดัน”

“ถูกบุลลี่แล้วครูไม่ปกป้อง”

“ถูกครู body shaming”

เสียงแห่งความเจ็บปวดเหล่านี้ คือเสียงที่ ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูวิชาสังคม “ผู้อยู่เคียงข้างนักเรียน” จากโรงเรียนราชดำริ และเครือข่ายครูขอสอน ได้รับฟังมาจากนักเรียนจากการเปิดพื้นที่พูดคุยเล็กๆ ในสวนหลังโรงเรียน ในวันที่นักเรียนต้องการใครสักคนรับฟัง

“ความเจ็บปวดที่เด็กนักเรียนต้องเจอทุกวันนี้มีหลายเรื่องมาก ไม่ว่าจะจากเพื่อน จากชีวิตวัยรุ่นที่มีความหวัง กำลังล้มลุกคลุกคลานตามหาความฝัน ตามหาตัวตน จากครอบครัวที่ไม่เข้าใจ แต่ไม่น้อยเหมือนกันที่ความเจ็บปวดของชีวิตวัยรุ่นมาจากโรงเรียน”

จากการสอนและคลุกคลีกับเด็กในรั้วโรงเรียน ครูทิวพบว่าสิ่งที่เป็นปัญหาปวดใจสำหรับนักเรียนมากที่สุดคือการที่ครูไม่ฟัง ครูใช้อำนาจลงโทษหรือจัดการอะไรบางอย่างกับนักเรียนโดยที่ไม่ฟังเหตุผลของนักเรียนก่อน ใช้คำพูดที่ทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด หรือบางครั้ง ครูบางคนก็พยายามสร้างแรงกดดันผลักให้เด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้น หรือสร้างเงื่อนไขบางอย่างเพื่อคั้นให้เด็กแสดงศักยภาพออกมา

ในวันที่โรงเรียนถูกนักเรียนขนานนามว่าเป็น “เผด็จการแห่งแรกในชีวิต” เพราะครูปฏิบัติกับนักเรียนอย่างไรก็ได้เสมือนมีอำนาจกำหนดชะตาควบคุมชีวิตนักเรียน ครูทิวมองว่าใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งนี้ “มีความซับซ้อนอยู่หลายอย่าง”

“ครูมักมอง ‘นักเรียน’ เป็น ‘เด็ก’ อยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า ไม่มองนักเรียนเป็นคนเท่ากัน อีกอย่างหนึ่งคือมายาคติของความเป็นครูที่บอกว่า ครูคือพ่อแม่คนที่ 2 ผู้มีพระคุณ ต้องตอบแทนบุญคุณครู เพราะครูคือผู้ให้ความรู้ ผู้ขัดเกลา”

วัฒนธรรมการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมและค่านิยมเรื่องบุญคุณที่ทำให้ครูกลายเป็นความสูงส่งที่เด็กเอื้อมไม่ถึง ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้เผด็จการอำนาจนิยมในโรงเรียนกดทับความเจริญงอกงามให้กลายเป็นความเจ็บปวด อีกหนึ่งปัจจัยที่ครูทิวเห็นจากมุมมองของคนเป็นครูคือ ระบบราชการที่กดทับสร้างภาระงานให้ครูอย่างมหาศาล จนปิดกั้นแนวทางการศึกษาไม่ให้มีความเป็นไปได้อื่นๆ

ครูทิวเล่าว่า นโยบายที่กำหนดมาจากกระทรวงศึกษาธิการต่อลงมาให้ครูทำโครงการหรือแบบประเมินเพื่อตอบสนองต่อนโยบายก็ทำให้ครูตกอยู่ในโครงสร้างระบบการศึกษาที่กดขี่เช่นกัน เพราะระบบราชการก็ให้คุณให้โทษได้หากไม่สนองนโยบาย แต่ที่สำคัญคือเวลาและพลังงานในการจัดการเรียนการสอนที่หายไป

“ระบบราชการที่บีบรัดให้ครูต้องรับผิดชอบภาระงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย ทำให้ครูไม่มีพื้นที่ ไม่มีเวลาและความคิดในการสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนการสอนให้มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เกม ใช้สื่อ หรือเปิดให้มีการอภิปราย ไม่มีเวลาพูดคุยหรือรับฟังนักเรียน ท้ายที่สุดการสอนก็ออกมาเป็นแบบ chalk and talk หรือเปิดหนังสือ ทำใบงาน ซึ่งมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ไม่มีคำตอบอื่น มันคือการลดทอนความซับซ้อนในการจัดการเรียนรู้ ดังนั้น ครูจึงมองไม่เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ในการจัดการเรียนการสอน แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจให้ออกมาเป็นแบบนี้ก็ตาม”

และแล้วอำนาจก็กลายเป็นทางออกที่ง่ายและเร็วที่สุดในการขัดเกลา ควบคุม และปรับพฤติกรรมนักเรียน รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงลงโทษให้เป็นไปอย่างที่โรงเรียนกำหนดไว้ว่าต้องการให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผม เครื่องแต่งกาย การปฏิบัติต่อครู ไปจนถึงความคิดความอ่าน

ในมุมของครูทิว ทั้งกฎระเบียบและการเรียนรู้ที่ถูกผูกขาดโดยครูย่อมนำมาสู่ความเจ็บปวดในเส้นทางการเติบโตของนักเรียน

“ใครว่าเรื่องทรงผม เรื่องกฎระเบียบไม่เกี่ยวกับการเรียนของนักเรียน ผมว่ามันมีผล แม้ว่าไม่ใช่ปัจจัยโดยตรงก็ตาม ผมเชื่อเสมอว่ามนุษย์เราจะทำอะไรได้ดี ต้องมีความมั่นใจและรู้สึกว่าโรงเรียนคือพื้นที่ปลอดภัย เด็กถึงจะกล้าคิด กล้าทำ กล้าลองผิดลองถูก เราควรเปิดโอกาสให้เขาผิดพลาด เป็นตัวของตัวเองได้ รู้สึกว่ามีคนรับฟัง และรู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่า

“ดังนั้น กฎใดๆ ที่กดทับความเป็นตัวตน ทำให้เขาไม่มั่นใจ และรู้สึกว่ามีคนคอยตัดสินตลอดเวลา จะส่งผลให้เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำ คิด หรือแม้แต่รู้สึกมันผิดหรือเปล่า พอเขาไม่กล้า กลัว ก็จะไม่ลงมือทำและไม่มีทางประสบความสำเร็จ”

 

ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูวิชาสังคม “ผู้อยู่เคียงข้างนักเรียน” จากโรงเรียนราชดำริ และเครือข่ายครูขอสอน

 

ในวันที่นักเรียนเริ่มทลายความเงียบ โลกทวิตเตอร์กลายเป็นพื้นที่ที่นักเรียนกล้าเอ่ยถึงความระทม ระบายความอัดอั้นตันใจ ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในรั้วโรงเรียน ทุกความเจ็บปวดรวมกันอยู่ใน #แฮชแท็ก ประจำโรงเรียน จนออกมาเป็นปรากฏการณ์เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในโลกจริง เสียงเรียกร้องและคำถามมากมายเหล่านี้กลายเป็นความก้าวร้าวและท้าทายอำนาจในสายตาครูหลายคน

“การส่งเสียงเรียกร้องในสิทธิที่นักเรียนต้องการ มันไปสั่นคลอนอำนาจและการควบคุมของครู เพราะหากเรียกร้องสำเร็จ หมายความว่าครูจะสูญเสียอำนาจไป การบอกว่าเด็กเหล่านี้ก้าวร้าว ไม่ยอมทำตามกฎระเบียบของโรงเรียน เรียกร้องแต่เสรีภาพเพื่อตนเองเท่านั้น มันคือการลดทอนคุณค่าของเสียงเหล่านี้”

เมื่อช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนกว้างขึ้น ครูทิวมองว่าครูไม่จำเป็นต้องเข้าสู่โลกออนไลน์เพื่อเข้าใจเด็ก แต่สิ่งที่สำคัญคือ “จะทำอย่างไรให้เด็กกล้าฉอดในโรงเรียนเหมือนฉอดในทวิตเตอร์ เพราะทวิตเตอร์คือพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กกล้าพูด ครูต้องทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ที่เด็กรู้สึกปลอดภัยเหมือนทวิตเตอร์”

“ในวันที่นักเรียนออกมาส่งเสียงว่าเขาเจ็บปวด สิ่งที่ครูควรทำคืออย่าเพิ่งอธิบายสิ่งที่ตัวเองคิด ครูต้องฟังนักเรียนว่านักเรียนคิดอย่างไรโดยที่ไม่ด่วนตัดสิน ไม่ใส่อคติ หรือไม่พยายามใช้อำนาจข่มให้เขาคิดเหมือนเรา ครูต้องมองอย่างเข้าใจว่าการที่เด็กออกมาแสดงออกแบบนี้ แก่นสารที่เขาต้องการจะสื่อคืออะไร ผู้ใหญ่ต้องมีวุฒิภาวะ รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองและเด็ก แล้วมองให้ออก”

“บนโลกนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องหนึ่งเดียว กฎต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยที่เราคุยกันว่ามันควรเป็นอย่างไร ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ฟังคนที่มีอำนาจด้อยกว่าว่าเขารู้สึกอย่างไร คิดเห็นอย่างไร หากเป็นเช่นนี้ได้ เด็กจะเจ็บปวดน้อยลง หรือเจ็บปวดแล้วเขารู้สึกว่าเขาไม่เดียวดาย เพราะโรงเรียนเป็นพื้นที่ของเขาอย่างแท้จริง”

ในวันที่การศึกษาถูกเรียกร้องให้เปลี่ยน ครูและนักเรียนต่างออกมาวาดภาพฝัน ครูทิวก็มีภาพฝันของโรงเรียนในอุดมคติเช่นกัน

“พ.ร.บ. การศึกษาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วบอกว่าให้ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ในความเป็นจริงเราฟังนักเรียนน้อยมาก เรามีพื้นที่ให้ความหลากหลายของนักเรียนออกมาโลดแล่นน้อยมาก โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เปิดให้เด็กแสดงความเป็นตัวตนได้แล้ว เรายอมรับ เข้าใจ ให้คุณค่า และให้เกียรติกัน แต่ความเป็นตัวตนนั้นต้องอยู่บนฐานของการไม่ล้ำเส้นคนอื่นในสังคม อีกอย่างหนึ่ง โรงเรียนต้องส่งเสริมให้นักเรียนมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการค้นพบตัวเอง ไม่ใช่ผลิตซ้ำ”

“การศึกษามีอยู่ 2 วัตถุประสงค์เท่านั้น อย่างแรกคือทำให้คนเชื่อง อยู่ภายใต้การกำกับ อย่างที่สองคือเพื่อปลดปล่อยผู้เรียน ตอนนี้ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สังคม โรงเรียน และครู ต้องตั้งคำถามว่าเรามีโรงเรียนไว้ทำไม เพื่อให้มองเห็นความจริงและเปลี่ยนแปลงมันอย่างที่ควรจะเป็น”

 

ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูวิชาสังคม “ผู้อยู่เคียงข้างนักเรียน” จากโรงเรียนราชดำริ และเครือข่ายครูขอสอน

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save