fbpx

บทสนทนาในวันรัฐประหารขยี้ฝัน กับ ‘ออง คานธู’ คนรุ่นใหม่พม่า

เขาไม่ต่างจากชาวพม่าหลายคนที่ตัดสินใจ ‘อพยพ’ ตามครอบครัว ข้ามพรมแดนจากพม่ามาอาศัยในไทยเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในชีวิต เพราะ ‘บ้านเกิดเมืองนอน’ ไม่สามารถให้คำมั่นสัญญาในสิ่งที่ ‘ต่างแดน’ ให้ได้

ออง คานธู เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ระหว่างเส้นพรมแดนไทย-พม่าตลอดช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ ตอนนี้เขากำลังเรียนชั้นปีที่ 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ก่อนย่ำรุ่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ท่ามกลางบรรยากาศอบอวลไปด้วยความก้าวหน้าและประชาธิปไตยที่ชวนให้ความหวังและความฝันงอกงาม อองคือคนรุ่นใหม่ที่มีฝัน – ทั้งสำหรับตัวเองและประเทศบ้านเกิด

แต่เมื่อกองทัพตัดสินใจทำรัฐประหาร ความฝันที่จะมีชีวิตที่ดีของชาวพม่าสลายหายไป อองคืออีกหนึ่งคนที่ออกมาทวงอนาคตที่หายไปแม้ว่าตัวจะอยู่ในอีกเส้นเขตแดนหนึ่งก็ตาม

เข้าเดือนที่ 5 ของการรัฐประหารพม่า 101 พูดคุยกับออง ว่าด้วยอารมณ์-ความหวัง-ความฝัน-อนาคตในห้วงเวลาที่พม่าอยู่ใต้ท็อปบู๊ต

คุณเริ่มใช้ชีวิตในไทยได้อย่างไร

ผมโตในไทย แต่ไม่ได้เกิดที่นี่แต่แรกนะ ผมเกิดในรัฐพะโคที่พม่า เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดจนถึงชั้น ป.3 แล้วค่อยย้ายมาอยู่กับพ่อแม่ที่แม่สอด พ่อแม่ย้ายมาก่อน 1 ปี จากนั้นผมกับพี่น้องค่อยตามมาอยู่ด้วย

ตั้งแต่เกิดมา ครอบครัวผมไม่ค่อยได้อยู่พร้อมหน้าด้วยกันนานๆ เท่าไหร่ พ่อแม่ต้องเดินทางไปทำงานเกือบตลอดเวลา อย่างตอนผมเกิดได้แค่ 3 วัน พ่อแม่ก็ต้องไปทำงานที่ย่างกุ้ง การมาอยู่ที่แม่สอดเลยเป็นโอกาสเดียวที่ทุกคนในครอบครัวจะได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า

ก่อนย้ายมาอยู่ที่แม่สอด ก็มีจังหวะที่ต้องย้ายไปๆ กลับๆ ระหว่างพะโคกับย่างกุ้งอยู่เหมือนกัน

ผมมาต่อ ป.4 ในโรงเรียนผู้อพยพที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในแม่สอดจนจบ ม.5 จากนั้นก็สอบ GED (General Educational Diploma) เทียบวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายสำหรับนักเรียนที่เป็นผู้อพยพ จากนั้นก็ยื่นเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จริงๆ ตอนแรกยื่นติดคณะรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย แต่ว่าสู้ค่าเรียนกับค่าครองชีพที่กรุงเทพฯ ไม่ไหว

ฟังดูเหมือนว่าคุณกับครอบครัวต้องย้ายไปมาอยู่บ่อยๆ

ครอบครัวผมก็ไม่ต่างจากครอบครัวอื่นๆ ที่ต้องย้ายไปมาเพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจหรือโอกาสการทำงานที่มีไม่ค่อยมากนักในพม่า ครอบครัวผมเคยทำธุรกิจในพม่า ช่วงแรกๆ ก็ไปได้สวย แต่หลังๆ ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ตอนนั้นครอบครัวเลยต้องย้ายออกไปที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ที่พม่า เลยย้ายมาอยู่ที่แม่สอด

พอย้ายมาอยู่ที่แม่สอด ชีวิตคุณเป็นอย่างไรบ้าง ต่างจากชีวิตที่พม่ามากไหม

เล่าอย่างตรงไปตรงมา ผมเป็นผู้อพยพก็จริง แต่ไม่ได้อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพนะ ผมอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์กับครอบครัว ชีวิตผู้อพยพของผมเลยอาจจะต่างออกไปจากประสบการณ์ของคนที่อาศัยในค่าย

แต่ชีวิตที่แม่สอด ผมได้ทานอาหารดีๆ ได้มีสุขอนามัยที่ดี ที่นี่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ใช้โซเชียลมีเดียได้ และที่สำคัญเลยคือผมได้เรียนในโรงเรียนดีๆ มีการศึกษาที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างไปจากชีวิตที่พะโค ปกติที่นั่นสุขอนามัยไม่ค่อยดีมากนัก โซเชียลมีเดียเข้าไม่ได้ ธุรกิจไม่ค่อยดี อาหารหรือโรงเรียนดีๆ ก็ไม่มีอย่างที่แม่สอด

การได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ นอกประเทศบ้านเกิดเป็นเรื่องดีนะ เพราะคุณจะได้เจอโอกาสมากขึ้น วิธีมองโลกคุณจะเปลี่ยน ความคิดของคุณจะเปิดกว้างขึ้น แต่สำหรับผม พอกลับไปที่บ้านเกิด บอกเลยว่าเห็นความเหลื่อมล้ำชัดเจนมาก

การได้อพยพมาอยู่ที่แม่สอดถือเป็นเรื่องดีก็จริง ชีวิตที่แม่สอดช่วยให้ผมและครอบครัวก้าวข้ามความขาดแคลนและข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิตที่บ้านเกิด ขนาดการศึกษาสำหรับผู้อพยพที่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับมากนักในไทยก็ยังดีกว่าที่พม่าเลย แต่ในขณะเดียวกัน การได้อพยพมาอยู่ที่แม่สอดก็ไม่ควรเป็นอภิสิทธิ์ที่มีเพียงคนบางคนได้รับ จริงๆ ถ้าจะพูดให้ตรงกว่านี้ ทุกคนควรมีสิทธิได้มีชีวิตที่ดี การได้มีชีวิตที่ดีควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนได้รับโดยไม่มีอะไรขวางกั้น อยากให้ทุกคนเท่าเทียมกัน

คุณน่าจะเริ่มจำความได้ตอนที่พม่าเริ่มเป็นประชาธิปไตย เล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณเห็นบ้านเมืองและชีวิตผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ตอนที่รัฐบาลทหารประกาศว่าพม่าจะเริ่มปฏิรูปการเมือง ตอนนั้นผมน่าจะอายุ 9 ขวบ ยังอยู่ที่บ้านเกิด เรียนเล่นสนุกตามประสาเด็ก แต่สัมผัสได้เลยว่าบ้านเมืองพัฒนาขึ้นมาก โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร การศึกษา ยิ่ง 5 ปีให้หลังที่ผ่านมานี้ยิ่งพัฒนาเร็ว

ส่วนเรื่องคุณภาพชีวิต ชัดเลยว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาดีขึ้นมาก ครอบครัวที่พม่าปรับปรุงบ้านใหม่ได้ เปลี่ยนจากบ้านแบบพม่าดั้งเดิมไปเป็นบ้านคอนกรีต เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น จากที่แต่ก่อนราคาแพงมาก ตอนนี้ก็ถูกลงมาก ซึ่งหมายความว่าเราสื่อสารกันง่ายขึ้น เดินทางไปไหนมาไหนก็ง่ายขึ้น

ไม่ใช่แค่ครอบครัวผมเท่านั้น ชีวิตเพื่อนบ้านก็ดีขึ้นเหมือนกัน หลายบ้านขยายขนาดบ้านให้ใหญ่ขึ้น หลายบ้านเริ่มมีมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง

แต่อย่างไร โอกาสในการหางานที่พม่าก็ไม่ได้ง่ายขึ้นแม้ว่าจะดีกว่าสมัยก่อนพอสมควร คนหนุ่มสาวในชุมชนที่บ้านเกิดผมส่วนมากเลือกเดินทางออกมาหางานทำที่ไทย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซียเพื่อส่งเงินกลับไปที่บ้าน เชื่อว่าถ้ายังทำงานอยู่ที่พม่า ยากมากที่จะมีเงินพอยกระดับคุณภาพชีวิต เว้นเสียแต่ว่ามีวุฒิการศึกษาที่สูงพอจะยื่นสมัครงานหรือว่ามีทักษะอาชีพ ซึ่งใช่ว่าทุกคนจะมี ไม่อย่างนั้นการออกไปหางานทำต่างประเทศนี่แหละคือหนทางที่จะส่งเงินกลับมาซัพพอร์ตคนที่บ้านได้ อย่างตอนนี้ในครอบครัวมีแค่ผมคนเดียวเท่านั้นที่ได้เรียนมหาวิทยาลัย  

แม้ว่าตอนนั้นจะยังไม่เป็นประชาธิปไตย 100% แต่หลายคนก็รู้สึกพอใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนะ

ความฝันและความหวังคือสิ่งที่มาพร้อมกับ ‘คนรุ่นใหม่’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในบรรยากาศที่เปิดให้ความเป็นไปได้ใหม่ๆ งอกงาม ก่อนรัฐประหาร คุณมองอนาคตตัวเองไว้อย่างไร

ผมมองไว้ 2 แผนหลักๆ หลังเรียนจบ แผนแรกคือกลับไปที่พม่า อีกแผนคือลองย้ายไปใช้ชีวิตในประเทศอื่น ต่างกันมากนะสองแผนนี้ (หัวเราะ)

จริงๆ การเป็นนักศึกษาพม่าในคณะสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มันมักจะตามมาด้วยสัญญาใจลับๆ กับตัวเองว่าจะต้องกลับไปทำงานช่วยพัฒนาประเทศ เพราะนี่คือเหตุผลที่เราเลือกเรียนสังคมศาสตร์ใช่มั้ยล่ะ อีกอย่างคือ การเรียนสังคมศาสตร์เหมือนเป็นการเปิดทางให้หางานในแวดวงองค์กรภาคประชาสังคมได้พร้อมเงินเดือนที่สมเหตุสมผล ที่สำคัญ พม่าคือที่ที่ผมรู้จักดีที่สุด พูดภาษาเดียวกัน รู้ว่าต้องทำงานอย่างไร ต้องสื่อสารแบบไหน นี่คือแผนแรกที่ผมมองไว้นะ

อีกแผนอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้คือย้ายไปอยู่ที่อื่น ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่พม่าและไม่ใช่ไทย เหตุผลง่ายๆ คือแค่อยากลองใช้ชีวิตในที่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน อย่างล่าสุดเพิ่งลองยื่น Diversity Visa Program ที่สหรัฐฯ ต้องสุ่มล็อตเตอรีว่าจะได้วีซ่ามั้ย ก็ต้องลุ้น ผลน่าจะออกในเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้ แต่นี่เป็นแผนส่วนตัวนะ อีกใจหนึ่งก็รู้สึกว่าต้องกลับบ้านไปพัฒนาประเทศ อาจารย์หรือว่านักวิชาการหลายๆ คนรอบตัวที่รู้จักก็เชียร์ให้กลับประเทศไปช่วยพัฒนาพม่า แต่อนาคตจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอดู (หัวเราะ)

ถ้าไม่นับว่าคุณอยากออกไปโลดแล่นในโลกกว้าง ทำไมคุณถึงอยากทำงานในภาคประชาสังคม

จริงๆ แล้ว ตอนอยู่ที่แม่สอด ที่นั่นมีองค์กรภาคประชาสังคมอยู่เยอะมาก ทำงานหลากหลายประเด็นมาก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือสิทธิผู้อพยพ ฯลฯ ผมมีโอกาสร่วมงานกับองค์กรหนึ่ง ชื่อ Equality Myanmar ก่อนหน้านี้องค์กรตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ ก่อนจะย้ายมาที่แม่สอดแล้วย้ายไปที่พม่า ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2015 หรือ 2016 ก็มีโอกาสร่วมแสดงละครเวทีสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองจากการค้ามนุษย์ เราแสดงหลายรอบมากในแม่สอด บางรอบก็ไปร่วมแสดงที่ย่างกุ้ง

ผมเชื่อว่าเราควรสนับสนุนให้ทุกคนรู้และเข้าใจถึงสิทธิที่ตัวเองมี ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเพราะประสบการณ์จากการคลุกคลีกับภาคประชาสังคมช่วงที่อยู่ที่แม่สอดนี่แหละ แล้วประสบการณ์เหล่านี้ก็บันดาลใจให้เลือกเรียนสังคมศาสตร์ มันคือทางที่ผมเลือกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนไปแล้ว เปลี่ยนไม่ได้หรอก

เมื่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา คุณคือ first voter รู้สึกอย่างไรที่ได้ไปเลือกตั้งครั้งแรก

เอาตรงๆ เลยนะ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร (หัวเราะ) ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นนะ รู้สึกปกติ ยังไงผมไปเลือกตั้งอยู่แล้วเพราะเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของพลเมือง

ช่วงเลือกตั้ง ผมไปช่วยองค์กรที่ทำงานอยู่ด้วย รณรงค์ให้คนพม่าที่มีสิทธิลงคะแนนในเชียงใหม่ออกมาเลือกตั้ง ประกาศเลยว่า “ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้ง ถ้าคุณต้องการความช่วยเหลืออะไร บอกผม ผมช่วยได้” นอกจากนี้ ผมยังอยู่ในทีมแคมเปญเลือกตั้งในเชียงใหม่ด้วย ตอนนั้นแอ็กทีฟมาก สุดท้ายที่เชียงใหม่คนพม่าออกมาใช้สิทธิเยอะมาก มากกว่า 5 ปีที่แล้วอีก ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีนะที่คนออกมาใช้สิทธิหรือเข้าถึงการใช้สิทธิได้มากขึ้น ตอนนั้นรู้สึกดีมาก แต่ตอนนี้ทั้งหมดที่ทำมามลายหายไปหมดแล้ว (หัวเราะ)

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่กองทัพพม่าตัดสินใจประกาศทำรัฐประหาร วันนั้นของคุณเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไรพอได้ยินข่าวว่ากองทัพทำรัฐประหารแล้ว

ที่จริง ก่อนหน้าที่กองทัพจะประกาศทำรัฐประหาร 2 วัน ผมได้ยินข่าวลือจากองค์กรภาคประชาสังคมที่พม่าแล้วว่าการเจรจาระหว่างอองซาน ซูจีกับมิน อ่อง หล่ายดำเนินไปได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ให้ประชาชนรีบถอนเงินสดเก็บไว้ ตุนอาหาร และอย่าออกจากบ้าน แต่ก็ไม่ได้เชื่อจริงจัง ผมไม่เชื่อข่าวนี้จนกระทั่งเกิดรัฐประหารขึ้นจริง

ตอนที่มีรัฐประหารผมหลับอยู่เพราะรัฐประหารเริ่มตอนเช้ารุ่งมาก น่าจะประมาณ ตี 1-3 ที่จริงกำลังตั้งตารอเปิดประชุมสภาวันแรกในวันรุ่งขึ้นด้วยซ้ำ ตอนแรกเชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินไปตามปกติ แต่ปรากฏว่าพอตื่นมาตอน 9 โมงเช้า เพื่อนมาหาที่ห้อง มาบอกข่าวว่าทหารทำรัฐประหารแล้ว ผมถามเพื่อนไปว่า “อะไรนะ?” แล้วเพื่อนก็ตอบว่า “รัฐประหารแล้ว” “อย่ามาล้อเล่นน่า” เพื่อนๆ ตอกกลับมาอีกว่า “ไม่ได้ล้อเล่น เรื่องจริง เปิดข่าวดูสิ รัฐประหารแล้ว”

แน่นอน วันนั้นรู้สึกไม่โอเคเลย เสียสมาธิไปทั้งวัน เพื่อนๆ ชาวพม่าที่คณะคนอื่นๆ ก็แทบไม่มีสมาธิเรียนในวันนั้นเลย รู้สึกแย่มากๆ ตอนนั้นทุกคนเช็กข่าวตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่พม่า ช่วง 2-3 อาทิตย์แรกที่เกิดรัฐประหาร พวกเราแทบกินไม่ได้ นอนไม่หลับเลยเพราะสถานการณ์ที่พม่าเปลี่ยนไวมาก เปลี่ยนแทบทุกวินาที 

แล้วยิ่งอยู่ห่างจากที่พม่าอีก

นี่เป็นการเจอรัฐประหารครั้งแรกในชีวิตผม แต่ไม่ดีเลยที่ประเทศต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร ผมเป็นห่วงพม่า เป็นห่วงครอบครัวที่พม่า เพราะครอบครัวผมแอ็กทีฟทางการเมืองมากๆ ออกมาร่วมประท้วงบนถนนด้วย อีกคนที่ผมเป็นห่วงคือพี่ชาย สถานการณ์การรัฐประหารอันตรายมากเพราะพี่ทำงานอยู่ในภาคประชาสังคม ต้องหลบหนีออกจากบ้านไปกบดานที่อื่น

ช่วงสามวันแรกหลังเกิดรัฐประหาร ถนนทุกเส้นเงียบสนิท ทุกคนรอดูข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และกำลังจะเกิดอะไรขึ้นต่อ ควรออกไปประท้วงไหม หรือว่าควรอยู่บ้านรอดูสถานการณ์ สุดท้ายพอมีแกนนำประท้วงที่ย่างกุ้งออกมา ทุกคนก็ตัดสินใจออกมากันหมด

รัฐประหารเกิดขึ้นที่พม่า แต่คุณอยู่ที่ไทย รู้สึกว่ารัฐประหารครั้งนี้มีผลกระทบอะไรต่อชีวิตคุณไหม

แน่นอน อย่างแรกเลยคือกระทบเรื่องเงิน ผมไม่ใช่นักเรียนทุน ผมกู้เงินเรียน ส่วนค่ากินอยู่พี่ชายเป็นคนส่งให้ พอมีรัฐประหาร องค์กรเอ็นจีโอที่พี่ชายทำงานอยู่ต้องปิดลงชั่วคราว พี่ก็ขาดรายได้

รัฐประหารกระทบอนาคตผมเหมือนกันนะ เพราะแผนแรกหลังเรียนจบคือกลับไปที่พม่าแล้วทำงานในองค์กรภาคประชาสังคม คิดเหรอว่าคณะรัฐประหารจะยอมให้เอ็นจีโอวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐประหารคือสิ่งที่แย่ หรือประณามว่ากองทัพฆ่าประชาชน ไม่มีทาง องค์กรที่คุณแม่ทำอยู่ตอนนี้ก็ต้องหยุดชั่วคราว คนในองค์กรต้องหลบหนีหาที่ปลอดภัยอยู่ชั่วคราว สถานการณ์ที่พม่าตอนนี้ไม่ง่ายเลยสำหรับคนที่เรียนจบสังคมศาสตร์หรือรัฐศาสตร์มา กองทัพควบคุมทุกอย่างไว้หมด มองไปทางไหนก็เห็นแต่ข้อจำกัด

พอรัฐประหาร กลายเป็นว่าต้องพับแผนนี้เลย แค่จะกลับพม่าก็ยากแล้ว แต่อย่างน้อยก็ยังมีเวลาอีก 2 ปีกว่าจะเรียนจบ ต้องคอยจับตาว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อในพม่า สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนก็ได้ ใครจะไปรู้ แต่ถ้ากองทัพยังปกครองต่อ ก็คงต้องเปลี่ยนแผนแล้วว่าจะย้ายไปอยู่ประเทศอื่น หรือจริงๆ คิดว่าทำงานอยู่ที่ไทยก็ได้ จะงานอะไรก็ได้ที่ได้เงินดี ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าเงินเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าเลือกได้ก็อยากทำงานเอ็นจีโอ เพราะน่าจะเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับสังคมชุมชนที่ผมอยู่

แต่ตอนนี้ผมยังไม่แน่ใจว่าจะทำงานในองค์กรที่จับประเด็นไหนเป็นพิเศษนะ ยังจับทางไม่ค่อยถูก ถึงจะพอรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนกับสิทธิเด็กอยู่บ้าง

 

คุณต่อสู้ร่วมกับคนอื่นๆ ที่พม่าอย่างไร

เรื่องยาว (หัวเราะ) ตั้งแต่มีรัฐประหาร ผมช่วยจัดเสวนาวิชาการหาทางออกให้พม่า พยายามรวบรวมอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวพม่า นักศึกษา ป.เอก นักศึกษา ป.โท ชาวพม่าที่ศึกษาอยู่ในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ มาศึกษาหาทางออกให้พม่ากัน

ตอนนี้ที่พม่ามี CDM (Civil Disobedience Movement) พวกเราที่เชียงใหม่กำลังคิดกันว่าจะจัดโปรเจ็กต์ช่วยระดมทุนสนับสนุนขบวนการ

ที่เชียงใหม่ คนพม่าก็เคลื่อนไหวกัน จัดม็อบไปแล้วสามครั้ง ผมไปร่วมด้วยทุกครั้ง จัดแสดงละครด้วย เชื่อว่าการจัดชุมนุมจะช่วยให้ทั้งคนพม่าเอง คนไทย สื่อ หรือต่างชาติรับรู้และตระหนักว่าเกิดอะไรขึ้นที่พม่าบ้าง คนไทยที่เชียงใหม่ก็มาดูพวกเราชุมนุม

พวกเราคนพม่าที่เชียงใหม่พยายามร่วมสู้และสนับสนุนพม่าในแบบที่เราทำได้

คุณอพยพมาอยู่ที่ไทย ใช้ชีวิตในไทยเป็นส่วนมาก แต่อะไรที่ยังทำให้คุณรู้สึกยึดโยงกับพม่าอยู่

ต่อให้คุณเป็นพลเมืองพม่า คุณก็ไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกว่ายึดโยงกับความเป็นพม่าอย่างเดียวก็ได้ จริงมั้ย? (หัวเราะ) อย่างผม บางครั้งก็รู้สึกยึดโยงกับประเทศไทยที่ผมมาอาศัยอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ยังมองว่าส่วนหนึ่งของตัวเองยึดโยงกับความเป็นพม่าอยู่นะ

ผมอยู่ในไทยก็จริง แต่ก็ยังแวดล้อมด้วยชุมชนคนพม่าขนาดย่อมๆ ที่ช่วยให้ไม่ลืมว่าครั้งหนึ่งเคยมาจากที่ไหน หรือเป็นคนที่ไหน ทั้งหมดนี้ช่วยให้ผู้อพยพอย่างพวกเรายังรู้สึกยึดโยงกับที่พม่าเสมอ

ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะแบบนี้ด้วย พอที่พม่ามีรัฐประหารเราเลยรู้สึกร่วมไปกับทุกคนที่พม่า

ทำไมคนพม่าถึงร่วมแรงต่อสู้กันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อะไรที่ทำให้คนพม่ารวมพลังกันได้

ที่พม่า ทุกเจเนอเรชัน ทุกชนชั้น ไม่ว่ารวยหรือจน ทุกคนพยายามสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเปลี่ยนแปลง ความต้องการประชาธิปไตยคือสิ่งที่ทำให้คนพม่ารวมตัวกันได้ และเป็นแรงผลักให้คนออกมาต่อสู้บนท้องถนน พวกเราถูกกดขี่มาหนักมาก เรามีระบบการเมืองที่กดขี่คน เราเจ็บปวดมานานมากแล้ว หรือต่อให้พวกเราออกไปนอกประเทศ ก็มักจะถูกกีดกัน ดูถูกดูแคลนหรือเหยียดหยามเสมอ พวกเราไม่อยากให้เป็นแบบนี้อีกแล้ว พวกเราต้องการความเท่าเทียม เราอยากให้โลกทึ่งกับพม่า หรืออย่างน้อย พวกเราก็ไม่อยากถูกดูแคลนอีกต่อไปแล้ว

ในฐานะคนรุ่นใหม่พม่าที่ตื่นตัวทางการเมืองและเรียนในไทย คุณเห็นอะไรในคนรุ่นใหม่ไทยบ้าง

ผมคิดว่าทั้งคนรุ่นใหม่ไทยและคนรุ่นใหม่พม่าตื่นตัวทางการเมืองมาก มองว่าพวกเขาเข้าใจในประชาธิปไตยดีมากๆ และยังกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ไปม็อบ ไปประท้วง

ก่อนที่พม่าจะมีรัฐประหาร นักศึกษามหาวิทยาลัยในไทยก็จัดประท้วงทั่วประเทศใช่ไหม รวมถึงที่ มช. ด้วย ผมชื่นชมมากนะ แบบว่า “คุณพระคุณเจ้า นักศึกษาไทยกระตือรือร้นมากที่จะออกมาชุมนุมประท้วง และยังมองทะลุอีกว่าต้องแก้ปัญหาระบบการเมืองไทยที่ไหน” เชื่อว่าเราเชื่อในคุณค่าประชาธิปไตยแบบเดียวกันอยู่  

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมีความหมายอย่างไรกับคุณและคนรุ่นใหม่พม่า

เมื่อพูดถึงประชาธิปไตย เราอาจนึกถึงรัฐบาลที่เลือกโดยประชาชนและเป็นเสียงของประชาชน แต่สำหรับคนพม่า ประชาธิปไตยคือเสรีภาพ อิสรภาพ โอกาสที่ดีกว่า ชีวิตที่ดีกว่า คนพม่าต้องการสิ่งเหล่านี้จากประชาธิปไตย

คุณยังเชื่ออยู่ไหมว่าพลังของประชาชนจะชนะกองทัพสักวัน

เรายังต้องเชื่อต่อไปว่าเราจะชนะ มันจะเป็นพลังบันดาลใจให้เราสู้ต่อไป ผมเชื่อแบบนั้นนะ

ก่อนหน้านี้ผมอ่านบทความชิ้นหนึ่ง ในนั้นเขียนว่าพวกเราชนะแล้ว เพียงแค่ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นผู้ชนะในศึกนี้แล้ว ส่วนฝ่ายกองทัพแพ้ไปเรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองกำลังจะแพ้ เพราะรัฐประหารครั้งนี้ไม่เหมือนกับรัฐประหารครั้งก่อนที่เกิดขึ้นในปี 1988 ตอนนั้นเรายังไม่มีโซเชียลมีเดียสื่อสารออกไปว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในพม่า ผู้คนก็ยังไม่ตื่นรู้มากขนาดนี้

ขบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้กำลังเข้มแข็งขึ้นมากๆ และกำลังค่อยๆ กระทบสั่นคลอนกองทัพ เชื่อว่าพวกเราจะชนะสักวัน ตอนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่าจะชนะเมื่อไหร่ แต่ประชาชนจะชนะ

อะไรพอจะเป็นความหวังได้บ้างในช่วงเวลาแบบนี้

ความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่จะเกิดขึ้นที่พม่าในอนาคตคือความหวัง เชื่อว่าทุกคนที่พม่าและคนพม่าทุกคนที่อยู่ที่ไทยหวังแบบนี้อยู่เหมือนกัน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save