fbpx

ชวนคุยเรื่อง AUKUS: ว่าด้วยศึกภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีคำตอบ และอนาคตการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่แน่นอน

เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษร่วมประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงในนาม ‘AUKUS’ ความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นอากาศยาน ความมั่นคงไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ หรือกระทั่งการประมวลผลคอมพิวเตอร์แบบควอนตัม[1] แต่ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดและเป็นที่กล่าวถึงและถกเถียงมาจนถึงทุกวันนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องข้อตกลงซื้อขายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับออสเตรเลีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อดุลการเมืองโลกอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อถกเถียงว่าด้วยข้อตกลงซื้อขายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อาจแบ่งได้เป็นสองประเด็น เรื่องแรกคือผลกระทบต่อพลวัตทางการเมืองโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ส่วนเรื่องที่สองคือผลกระทบต่อหลักการการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ของโลก (non-nuclear proliferation) เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (ทั้งไทยและต่างประเทศ) เน้นพูดคุยกันในประเด็นแรกเป็นหลักไปแล้ว ผู้เขียนจึงอยากพูดคุยในประเด็นแรกอย่างคร่าวๆ และเน้นไปที่ประเด็นที่สองมากกว่า

When AUKUS meets Indo-Pacific: พลวัตภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคลุมเครือ

แม้ว่าในคำประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ AUKUS จะไม่มีการระบุชื่อประเทศจีนแต่อย่างใด แต่ข้อตกลงซื้อขายดังกล่าวคือภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่าเหล่าพันธมิตรไม่พอใจต่อการกระทำของจีนอย่างรุนแรง ทั้งในแง่การพัฒนาสมรรถนะความมั่นคงและการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าว และต่างมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามที่สมควรแก่การป้องปราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่จีนคว่ำบาตรทางการค้าต่อออสเตรเลียเพื่อตอบโต้ในกรณีที่ออสเตรเลียเสนอให้มีการตรวจสอบจีนในเรื่องที่มาไวรัสโคโรนจนนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับออสเตรเลียที่แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ

ผลพวงที่ชัดเจนที่สุดจาก AUKUS และข้อตกลงซื้อขายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ก็คือ ทั้งสหรัฐฯ (และอังกฤษ) จะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมากขึ้น อย่างน้อยแค่ในประเด็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ สหรัฐฯ ก็มีพันธะที่จะต้องอัพเกรดระบบซอฟต์แวร์และช่วยอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำของออสเตรเลียอย่างต่อเนื่องแม้จะส่งมอบเรือดำน้ำเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าการวิเคราะห์ผลกระทบของข้อตกลงฯ ต่อทิศทางพลวัตทางการเมืองในภูมิภาคในรายละเอียดยังทำได้อย่างจำกัดด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรกคือ เราต้องไม่ลืมว่ารายละเอียดในข้อตกลงซื้อขายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ครั้งนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด สามพันธมิตรจะใช้เวลาอีก 18 เดือนในการพูดคุยรายละเอียดดังกล่าวทั้งในประเด็นโมเดลเรือดำน้ำ ประเภทพลังงานนิวเคลียร์ที่จะใช้ ระบบขนส่ง ระบบรักษาความปลอดภัยนิวเคลียร์ การขีดเส้นแบ่งอำนาจอธิปไตยของออสเตรเลียในการดำเนินนโยบายต่างประเทศให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงอาจมีการเพิ่มเติมจำนวนพันธมิตรมากขึ้น (ดังที่นักวิชาการและนักนโยบายหลายคนของสหรัฐฯ แนะนำ) ซึ่งข้อสรุปของรายละเอียดเหล่านี้ต่างส่งผลกระทบต่อทิศทางนโยบายของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคและในโลกทั้งสิ้น

ประการที่สองก็คือ ข้อมูลที่เผยแพร่สาธารณะทั่วไป ณ ขณะนี้ (อย่างน้อยที่ปรากฏในสื่อหลัก) ยังไม่เพียงพอที่ทำเข้าใจมากนักว่าแต่ละรัฐ ‘เข้าใจ’ และ ‘คิด’ อย่างไร รวมไปถึงมีข้อจำกัดอะไรในการดำเนินโยบายนี้ ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อไปข้างหน้าอย่างสำคัญ เช่น แม้เป็นที่ชัดเจนว่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นี้มีไว้เพื่อป้องปรามนโยบายแข็งกร้าวของจีน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า ทำไมออสเตรเลียจึงตัดสินใจเลือกใช้เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้นโยบายนี้ จริงอยู่ที่ว่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่จะซื้อจากสหรัฐฯ นั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเรือดำน้ำพลังงานดีเซลตามที่ตกลงกับฝรั่งเศสในตอนต้น แต่นักวิเคราะห์บางคนก็เห็นว่า ด้วยลักษณะภูมิประเทศของออสเตรเลียแล้ว ออสเตรเลียไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เรือดำน้ำระดับพลังงานนิวเคลียร์หากแค่ต้องการปกป้องดินแดนของตัวเองตามที่นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียได้แถลงไป

อีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนว่าเรายังเข้าใจวิธีคิดของรัฐในกรณีได้อย่างจำกัดคือ บทบาทของอังกฤษใน AUKUS แม้จะทราบกันดีว่าอังกฤษเห็นพ้องกับการป้องปรามจีนในภูมิภาค แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าทำไมอังกฤษถึงเกี่ยวข้องกับความร่วมมือนี้ และอังกฤษมีบทบาทอะไรในข้อตกลงนี้ เพราะเอาเข้าจริง การรายงานของสื่อต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว มักรายงานเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ และออสเตรเลียเป็นหลัก ในขณะที่เราแทบไม่เห็นข้อมูลเกี่ยวกับอังกฤษมากนัก

นักวิชาการบางคนมองว่าอังกฤษรับบทเป็นโบรกเกอร์ระหว่างสหรัฐฯ และออสเตรเลีย เนื่องจากอังกฤษอาจไม่พอใจฝรั่งเศสที่ทำให้กระบวนการออกจากสหภาพยุโรปยุ่งยากมากขึ้น รวมถึงอังกฤษอาจเพียงแค่ต้องการดำเนินนโยบายเป็นอิสระจากสหภาพยุโรปอีกครั้ง แม้ว่าอาจไม่ได้จริงจังกับการเข้ามาพัวพันในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกนัก (เพื่อนของผู้เขียนซึ่งเป็นเนิร์ดเรื่องอาวุธทางการทหารบอกว่า อาจเป็นไปได้ที่ออสเตรเลียจะใช้โมเดลเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แบบอังกฤษเป็นหลัก เพราะโมเดลเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของอังกฤษมีราคาถูกกว่าและสร้างง่ายกว่าโมเดลเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ [2])

ท่าทีของสหรัฐอเมริกาในรอบนี้ก็มีหลายจุดที่ยังไม่กระจ่าง แม้กระทั่งนักวิชาการและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ เองยังแปลกใจว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงได้ไร้มารยาทกับฝรั่งเศสขนาดนั้น จริงอยู่ที่การทำข้อตกลงด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงเช่นนี้ควรปิดเป็นความลับ แต่การไม่สื่อสารใดๆ กับฝรั่งเศส ชนิดที่ฝรั่งเศสรู้เรื่องอย่างกะทันหันเช่นนี้ก็ผิดมารยาทการทูตอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าพิจารณาว่าฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา (อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ‘ความไร้มารยาท’ ที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่มีเหตุมาจากการทำงานที่ยังไม่เข้ารูปเข้ารอยของกระทรวงต่างประเทศ ที่ต้องปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่จำนวนมากจากรัฐบาลทรัมป์มาสู่รัฐบาลไบเดน ซึ่งหากข้อสังเกตการณ์นี้เป็นจริง ก็เป็นการยากที่จะคาดเดาว่าความไม่ปกติในระดับปฎิบัติการทางการทูตสหรัฐฯ จะเกิดในอนาคตอีกหรือไม่หรืออย่างไร)

สำหรับประเทศจีนเองก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อเหตุการณ์นี้ แม้ว่านักวิชาการชื่อดังของสหรัฐฯ จะมองว่านโยบายป้องปรามเช่นนี้น่าจะทำให้จีนลดความแข็งกร้าวลง แต่ผลอาจไม่ได้เป็นไปตามคาด ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญจีนได้ให้สัมภาษณ์ว่า นักนโยบายของจีนไม่พอใจกับยุทธศาสตร์การป้องปรามของเหล่าพันธมิตร บางกลุ่มเสนอให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้ และส่วนน้อยเสนอให้ ‘ควบรวม’ ไต้หวันก่อนที่ออสเตรเลียจะพัฒนาอาวุธได้สำเร็จ[3] อย่างไรก็ดี นักนโยบายจีนส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นพ้องว่าควรจะรอดูรายละเอียดของข้อตกลงซื้อขายนี้ก่อนที่จะกระทำการตอบโต้ที่เหมาะสม สิ่งที่จีนได้แสดงออกตอนนี้มีเพียงแค่การโต้ตอบในทางคำพูดด้วยการกล่าวประณาม AUKUS ในที่ประชุมสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนาว่าเป็นการกระทำที่ “ไร้ความรับผิดชอบอย่างร้ายแรง” (“extremely irresponsible”) และท้าทายหลักการการไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ของโลก[4]

คำถามว่าด้วยเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์กับการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ของโลก

หลักการหรือบรรทัดฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ของโลก (non-nuclear proliferation) ถูกระบุอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty: NPT) ซึ่งมีรัฐกว่า 190 รัฐที่เข้าร่วมสนธิสัญญา จุดประสงค์หลักของ NPT คือ ต้องการป้องกันการแพร่ขยายนิวเคลียร์โดยที่ไม่แทรกแซงประเทศต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ

ภายใต้ NPT รัฐที่ไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ (เช่น ใช้ในด้านพลังงาน) จะต้องแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับสารตั้งต้นนิวเคลียร์ที่ตนมีให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) รับทราบ และต้องอนุญาตให้ IAEA ตรวจสอบว่าสารตั้งต้นเหล่านั้นไม่ได้ถูกพัฒนาเพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ระบบการแจกแจงและตรวจสอบนี้เรียกรวมๆ ว่า ‘การพิทักษ์ความปลอดภัย’ (safeguards) ซึ่งถูกออกแบบเพื่อเพิ่มต้นทุนในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์  

อย่างไรก็ตาม NPT ไม่ได้มีการระบุบทลงโทษที่ชัดเจน หากมีการละเมิด NPT หรือไม่ทำตามระบบ safeguards ของ IAEA ดังนั้นประสิทธิภาพของระบบ safeguards จึงต้องเกิดจากความสมัครใจของรัฐต่างๆ ที่จะกำกับดูแลกันและกัน โดยรัฐต่างๆ อาจบังคับใช้ผ่านการยอมทำตามอย่างเคร่งครัดหรือร่วมกันลงโทษคว่ำบาตรรัฐที่ไม่ยอมทำตามก็ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ NPT และระบบ safeguards ยังอาจถูกบังคับใช้ผ่านกลไกของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย แม้สภาความมั่นคงฯ จะถูกตั้งคำถามถึงความเป็นการเมืองภายในองค์กรค่อนข้างมาก และเราไม่สามารถรับประกันได้ว่าทุกๆ กรณีการละเมิดที่ถูกพิจารณาในสภาความมั่นคงฯ จะได้รับการตอบโต้อย่างเหมาะสม แต่ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาก็พบว่ารัฐต่างๆ พยายามรักษามาตรฐานและหลักการเอาไว้โดยพยายามแสดงให้เห็นว่าไม่มีการเลือกปฎิบัติ เช่น ในปี 2002 ที่สหรัฐฯ ในสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุชกล่าวหาว่าอิหร่านมีโปรแกรมพัฒนานิวเคลียร์อย่างลับๆ และพยายามเรียกร้องให้อิหร่านล้มเลิกระบบสกัดความบริสุทธิ์ของยูเรเนียม (uranium enrichment) แต่หลายรัฐในสหประชาชาติ (แม้กระทั่งประเทศในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีที่ยืนกรานอย่างแข็งขัน) สนับสนุนให้อิหร่านสามารถดำเนินกิจกรรมสกัดความบริสุทธิ์ของนิวเคลียร์ได้ต่อไปตราบใดที่อิหร่านยอมให้ IAEA ตรวจสอบ เป็นต้น การสนับสนุนเช่นนี้เกิดขึ้นหลังจากที่อิหร่านกล่าวย้ำสิทธิในการพัฒนานิวเคลียร์อย่างสันติของตน และเน้นให้เห็นถึงการบังคับใช้สองมาตรฐานที่ต่างกันเมื่อเทียบกรณีอิหร่านและกรณีญี่ปุ่น และต่อมาในปี 2006 สหรัฐฯ เองก็ยอมถอยโดยเปลี่ยนท่าทีจากเรียกร้องให้อิหร่าน ‘ล้มเลิก’ (abandon) เป็น ‘ชะลอ’ (suspend) ระบบสกัดความบริสุทธิ์ของยูเรเนียม

ความท้าทายที่ข้อตกลงซื้อขายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้ AUKUS มีต่อ NPT คือ แม้หากพิจารณาตามตัวบทกฎหมายแล้ว ข้อตกลงการซื้อขายนี้ไม่ผิดกฎ NPT แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบ safeguards ของ IAEA และอาจสร้างมาตรฐานใหม่ในการครอบครองนิวเคลียร์ความบริสุทธิ์สูง (high-enriched uranium: HEU) ที่รัฐอื่นๆ อาจทำตามในอนาคต หากกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นจริง ประชาคมโลกจะต้องเลือกว่าจะยอมให้มีการแพร่ขยาย HEU เพื่อรักษามาตรฐานไม่เลือกปฏิบัติไว้ หรือจะยอมปฏิบัติแบบสองมาตรฐานโดยไม่ยอมให้รัฐอื่นได้ครอบครอง HEU ซึ่งย่อมทำให้เข้มแข็งของระบอบการไม่แพร่ขยายอาวุธโดยรวมลดลง

แล้วช่องโหว่ของระบบ safeguards คืออะไร กรณีออสเตรเลียนี้สร้างมาตรฐานใหม่อย่างไร? และทำไมการแพร่ขยาย HEU จึงน่ากังวล?

ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า NPT อนุญาตให้รัฐที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์สามารถพัฒนาหรือใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติได้ตราบใดที่มีการตรวจสอบจาก IAEA และภายใต้ NPT การสร้างหรือใช้เรือพลังงานนิวเคลียร์ก็ยังอยู่ในขอบข่ายของการใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติ อย่างไรก็ตาม ในทางปฎิบัติ IAEA ไม่สามารถตรวจสอบตัวจ่ายพลังงานที่ใช้กับเรือได้ (naval reactors) โดยเฉพาะหากเรือนั้นคือเรือดำน้ำ เพราะตำแหน่งที่ตั้งของเรือดำน้ำจะต้องถูกปิดเป็นความลับ ที่ผ่านมา รัฐที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์กับเรือคือรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองอยู่แล้วเท่านั้น และหากข้อตกลงซื้อขายนี้สำเร็จ ออสเตรเลียจะเป็นรัฐแรกที่ลงนามใน NPT ที่มีนิวเคลียร์โดยไม่ได้ถูกตรวจสอบโดย IAEA

ที่ท้าทายยิ่งกว่านั้นคือ พลังงานนิวเคลียร์สำหรับเรือดำน้ำที่ออสเตรเลียซื้อน่าจะเป็นนิวเคลียร์แบบ HEU ในระดับสูงถึง 93-97% (ระดับนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ และอังกฤษใช้เป็นแหล่งพลังงานของเรือดำน้ำของตน) ซึ่งเป็นนิวเคลียร์ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้โดยตรง แม้ออสเตรเลียอาจไม่ได้แอบนำนิวเคลียร์จากเรือดำน้ำมาปรับเป็นอาวุธนิวเคลียร์ แต่รัฐอื่นๆ ในอนาคตอาจใช้ข้ออ้างเรื่องสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ แล้วอาจแอบปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์โดยปราศจากการตรวจสอบโดย IAEA

การคาดการณ์นี้ไม่ได้ไกลเกินความจริงไปนัก เพราะในปี 2018 อิหร่านเปิดเผยต่อ IAEA ว่ามีแผนกำลังจะสร้างตัวจ่ายพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้กับเรือ หรือก็เป็นที่รู้กันว่า ที่ผ่านมาบราซิลและแคนาดาก็พิจารณาที่จะใช้เรือพลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน

อนาคตของการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ของโลก?

ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์เช่น James Acton และนักนโยบายหลายคนเช่น Rose Gottemoeller อดีตรองเลขาธิการ NATO พยายามเสนอให้สหรัฐฯ โน้มน้าวให้ออสเตรเลียเปลี่ยนนิวเคลียร์ที่จะใช้เป็นแหล่งพลังงานของเรือดำน้ำจาก HEU ให้เป็นแบบยูเรเนียมบริสุทธิ์ในระดับต่ำ (Low-Enriched Uranium: LEU) แม้ข้อเสนอนี้ไม่ได้แก้ช่องโหว่ของระบบ safeguards และยังมีผลให้ออสเตรเลียเป็นรัฐแรกที่ใช้ช่องโหว่ดังกล่าวเหมือนเดิม แต่ความต่างอยู่ที่มาตรฐานที่ออสเตรเลียจะสร้างขึ้นใหม่ไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์โดยตรง

ผู้สนับสนุนข้อเสนอนี้ยังมองว่า การที่ออสเตรเลียเลือกใช้เรือดำน้ำแบบ LEU น่าจะเป็นโอกาสอันดีในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสและ NATO ด้วย เพราะหากออสเตรเลียใช้เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แบบ LEU ข้อตกลง AUKUS จะต้องเพิ่มฝรั่งเศสเข้ามาในกลุ่มพันธมิตรด้วย (เนื่องจากอเมริกาและอังกฤษใช้เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แบบ HEU เท่านั้น)

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าข้อเสนอนี้อาจค่อนข้างยากที่จะเกิดขึ้นจริง ในแง่ประสิทธิภาพและความสะดวกในการใช้งาน การใช้เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แบบ HEU ก็ยังเหนือกว่าแบบ LEU (แม้ไม่มากนัก) และหากออสเตรเลียตัดสินใจใช้ LEU ออสเตรเลียจะต้องเปลี่ยนตัวจ่ายพลังงานนิวเคลียร์ในทุกๆ 10 ปี ในขณะที่เรือดำพลังงานนิวเคลียร์แบบ HEU นั้นไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวจ่ายพลังงานเลยตลอดการใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยว่าที่จริงแล้ว ก่อนที่ออสเตรเลียจะล้มดีลกับฝรั่งเศสแล้วหันมาจับมือกับสหรัฐฯ และอังกฤษ ฝรั่งเศสได้เคยเสนอโมเดลเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์กับออสเตรเลียไปแล้ว ดังนั้น หากออสเตรเลียต้องการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แบบ LEU ออสเตรเลียก็น่าจะตกลงกับฝรั่งเศสไปแล้วในตอนต้น

ข้อเสนออื่นที่อาจเป็นไปได้มากกว่าคือ สหรัฐฯ และอังกฤษควรจะตั้งเกณฑ์ที่เหมาะสมและประกาศให้ชัดเจนว่ารัฐที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ต้องทำอะไรบ้างก่อนที่จะสามารถครอบครองตัวจ่ายพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้กับเรือได้ การกระทำนี้อาจช่วยป้องกันการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์โดยรัฐที่อาจใช้กรณีออสเตรเลียเป็นข้ออ้างในอนาคตได้ นอกจากนี้ แม้ปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันทั้งในวงการนักนโยบายและนักวิชาการว่าหลักการ NPT ยังมีอยู่จริงหรือไม่และแข็งแรงมากน้อยเพียงไร[5]

คงไม่มีใครอยากเห็นการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ในโลกมากนัก ผู้เขียนหวังว่า หลักการและกฎเกณฑ์ที่ถูกสร้างใหม่จะช่วยอุดช่องโหว่ของระบบ safeguards จะช่วยให้ NPT แข็งแรงมากขึ้นได้บ้างในอนาคต


[1] เป็นที่คาดกันว่า สามหัวข้อหลังมีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการรั่วไหลของข่าวกรองระหว่างพันธมิตร (ดูเพิ่มเติมได้ที่ Is the AUKUS alliance meaningful or merely provocation?)

[2] นักวิเคราะห์อังกฤษมีความคิดเห็นคล้ายกันในแง่ที่ว่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จะถูกพัฒนาโดยอังกฤษเป็นหลักด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ AUKUS reveals much about the new global strategic context) อย่างไรก็ดี นักวิชาการสหรัฐฯ เช่น Caitlin Talmadge มองว่าโมเดลน่าจะเป็นแบบของสหรัฐฯ ส่วนผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษที่ทำงานที่สหรัฐฯ ในตอนนี้เช่น James Acton มองว่าโมเดลน่าจะเป็นแบบผสมทั้งสองประเทศ

[3] หากสนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับตรรกะนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ preventive war ใน Fearon (1995), “Rationalist explanations for war

[4] นอกเหนือจากจีนแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่ออกมาประท้วงในเรื่องนี้คือรัสเซียและอิหร่าน

[5]นักนโยบายที่มองว่า ‘NPT ตายไปแล้ว’ เช่น Bilahari Kausikan (อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์); ตัวอย่างข้อคิดเห็นที่มองว่า NPT อ่อนแอ เช่น Don’t Sink the Nuclear Submarine Deal: The Benefits of AUKUS Outweigh the Proliferation Risks; ตัวอย่างงานวิชาการที่มองว่า NPT ยังคงมีความเข้มแข็งอยู่แม้ว่ามีการละเมิดในบางครั้ง เช่น The stability of the nuclear nonproliferation norm: a critique of norm-contestation theory; ภาพรวมเกี่ยวกับดีเบตทางวิชาการเกี่ยวกับวิธีการ ‘ประเมิน’ ความเข้มแข็งของปทัสถานระหว่างประเทศ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save