fbpx
เห็นเสียง ได้ยินภาพ หย่อนก้นลงบนบทเพลง ในนิทรรศการ AUDIO ARCHITECTURE

เห็นเสียง ได้ยินภาพ หย่อนก้นลงบนบทเพลง ในนิทรรศการ AUDIO ARCHITECTURE

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมโดดเหยงๆ อยู่ในคอนเสิร์ตของ Keigo Oyamada นักดนตรี multi-instrumentalist ชาวญี่ปุ่นที่โลกรู้จักผ่านนามปากกาทางดนตรี ‘Cornelius’

แนวเพลงของ Cornelius เปรียบได้กับ ‘น้ำเปล่า’ เพราะมันสามารถเปลี่ยนรูป เปลี่ยนสี เปลี่ยนรสชาติไปได้แทบทุกแนว ตั้งแต่ป๊อปใสๆ ร็อคหนักๆ หรือหม่นชวนซึม โดยมีจุดร่วมที่เหมือนกันซักหน่อยคือ ‘จังหวะ’ ที่ละเอียดซับซ้อนดังสมการคณิตศาสตร์  ’ลักษณะของเสียง’ ที่ประหลาดหูจนยากจะเดาว่าเล่นออกมาจากเครื่องดนตรีชนิดไหน

และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ไม่มีใครเหมือนของ Cornelius นั่นคือ เขามักจะนำเสนอเสียงดนตรีควบคู่ไปกับ ‘ภาพ’ หากไล่ดูมิวสิควิดีโอจะพบว่าทุกตัวมีเอกลักษณ์เหมือนกันคือการ ‘visualize’ – ตีความ ‘เสียง’ สร้างออกมาเป็น ‘ภาพ’ ที่แสนจะเข้ากันและคล้องไปกับ theme เพลง ลามไปถึงการแสดงสดที่ทุกโชว์จะต้องแสดงร่วมกับ visual ที่ซิงค์ลงตรงจังหวะทุกเม็ด เช่นเดียวกับโชว์ที่ชาวไทยเพิ่งได้ดูกันไป หลายคนถึงกับยกให้ว่าคือคอนเสิร์ตที่ดีที่สุดของปี 2018 เลยทีเดียว

YouTube video

Cornelius – Fit Song นอกจากเสียงและภาพจะล้อกันลงจังหวะทุกเม็ด เรื่องราวในมิวสิควิดีโอยังสอดคล้องกับ theme ของเพลงอีกด้วย

ศิลปิน Sean Ono Lennon ลูกชาย John Lennon แห่ง The Beatles พูดถึงดนตรีของ Cornelius ผ่านนิตยสารฉบับหนึ่งว่ามันคือการเนรมิต ‘Audio Architecture’ – แต่ละเสียง แต่ละโน๊ต ฟังแล้วช่างเห็นเป็นภาพ นึกออกเป็นรูปทรง ประกอบกันเป็นเพลงราวโครงสร้างสถาปัตยกรรม – พอดิบพอดีที่ประโยคนี้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับหนึ่ง และดันไปเข้าตาของ Yugo Nakamura นักออกแบบชาวญี่ปุ่นผู้เคยเนรมิตนิทรรศการดีไซน์สุดเจ๋งมาแล้วหลายต่อหลายหน (หนึ่งในนั้นคือ Design Ah! ที่เราเขียนถึงในฉบับก่อนหน้า) จากไอเดียในตัวหนังสือจึงถูกต่อยอดกลายเป็นนิทรรศการ ‘AUDIO ARCHITECTURE’ ที่ 21_21 Design Sight ใจกลางเมืองโตเกียว โดยมีศิลปินสุดอัจฉริยะอย่าง Cornelius  ที่เราเกริ่นถึงมาทำเพลงประกอบนิทรรศการ แต่จะเรียกเพลงประกอบก็ไม่ถูกเท่าไหร่ เพราะเพลงแทบจะเป็นแก่นของนิทรรศการเลยก็ว่าได้

เริ่มสงสัยใช่มั้ยว่านิทรรศการที่ว่านี้จะเป็นยังไง

พวกเรามีโอกาสไปชมทันเวลาในสองวันสุดท้าย จึงขอเก็บประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง

กด play เพื่อเปิดประตู เข้าสู่ ‘สถาปัตยกรรมแห่งเสียง’ ได้ ณ บัดนี้ !

Intro

 21_21 Design Sight, พิพิธภัณฑ์การออกแบบย่าน Tokyo Midtown

 

21_21 Design Sight คือพิพิธภัณฑ์การออกแบบที่ตั้งอยู่ในย่าน Tokyo Midtown ติดกันกับสวนสาธารณะ จะบอกว่าที่นี่คือหนึ่งในสุดยอดพิพิธภัณฑ์การออกแบบของโลกก็ไม่ผิด เพราะร่วมกันก่อตั้งโดยสุดยอดนักออกแบบญี่ปุ่นสองคน หนึ่งสถาปนิกบิ๊กเนม Tadao Ando กับหนึ่งนักออกแบบแฟชั่น Issey Miyake สถาปัตยกรรมรูปสามเหลี่ยมคว่ำที่เห็นเบื้องหน้าออกแบบโดย Ando จึงได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงเสื้อผ้าของ Miyake นั่นเอง

ผ่านเคาน์เตอร์ จ่ายค่าตั๋วคำนวนเป็นเงินไทยประมาณ 300 บาท ส่วนแรกสุดของพิพิธภัณฑ์คือช็อปเล็กๆ สำหรับขายผลิตภัณฑ์ดีไซน์ ของที่ระลึก หนังสือและสูจิบัตรจากนิทรรศการก่อนๆ ที่สะดุดตาคือแผ่นเสียงเพลงประกอบนิทรรศการ AUDIO ARCHITECTURE ที่เรากำลังจะเข้าไปดู ทำโดย Cornelius ความเท่คือกล่องซีดีสามารถพับแบบใหม่กลายเป็นที่วางแผ่นเสียงหน้าตาคล้ายอาคารเท่ๆ เล่นกิมมิกความเป็น architecture ล้อไปกับธีมนิทรรศการ

งานศิลป์, contemporary art

เดินลงบันไดไปสู่ตัวนิทรรศการหลัก ความประทับใจแรกรอเราอยู่ตั้งแต่ปากทางเข้า ด้วยป้ายชื่องานที่ฉายด้วยโปรเจ็กเตอร์ที่เคลื่อนไหว บิดเบี้ยว เปลี่ยนรูปทรง คล้องไปกับเสียงดนตรีที่ดังลอดออกมา

21_21 Design Sight

YouTube video

เอาละ แค่อินโทรก็ตื่นเต้นแล้ว !

Verse 1

Cornelius

 

Time / Space

Light / Shadow

Shape / Material

Mass / Void

Grid / Module

Structure / Surface

Chaos / Order

Sound / Silence

Into the Music

Music, Don’t Stop

Into the Music

Music, Don’t Stop

บทเพลงที่ดังอวลในบรรยากาศต้อนรับเราในห้องแรก และจะดังวนทั่วพื้นที่ ตลอดเวลาที่อยู่ในนิทรรศการ ห้องแรกของนิทรรศการคือวิดีโอ Live Performance ระหว่างการบันทึกเสียงของ Cornelius ผู้แต่งทำนอง รวมถึงผลิตเพลง ส่วนเนื้อเพลงนั้น Yugo Nakamura ผู้เป็นไดเรกเตอร์ของนิทรรศการเป็นคนเขียนเอง! ประกอบขึ้นจากคีย์เวิร์ดของสถาปัตยกรรมที่แสนเชื่อมโยงได้กับเสียงดนตรี วิดีโอถูกฉายด้วยโปรเจ็กเตอร์สามจอ โอบคนดูด้านหน้าและซ้ายขวา รู้สึกราวกำลังยืนอยู่ในห้องอัด

Verse 2

ละสายตาจากวิดีโอมายังผนังด้านซ้ายมือ บนผนังติดตั้งจอทีวีฉายโปรแกรมที่บันทึกเสียงเพลงนี้ กำลังเล่นไปพร้อมกัน ข้างกันคือจอที่ฉายเนื้อเพลง ตรงนี้ขอกราบคนญี่ปุ่นเรื่องความใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพราะแม้แต่จอฉายเนื้อเพลง เขายังใส่ลูกเล่นให้ตัวอักษรเนื้อเพลงเคลื่อนไหวล้อไปกับเสียงดนตรีและความหมายในเนื้อเพลงด้วย คำนับ!

YouTube video

Yugo Nakamura เล่าแรงบันดาลใจของนิทรรศการ หลังคำว่า ‘Audio Architecture’ ได้จุดไม้ขีดไอเดียดอกแรกของเขาให้ลุกพรึ่บ

Yugo มองว่า ‘ดนตรี’ เป็นสื่อพิเศษ เพราะมันดังขึ้นให้เราได้ยิน และหายไปทันที ดนตรีไม่คงอยู่ตลอดไป และไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา ดนตรีจึงไม่สามารถถ่ายทอด หรืออธิบายได้สื่อหรือวิธีการอื่น นอกจากเสียงดนตรีเอง

สำหรับ Yugo นิทรรศการนี้คือพื้นที่ทดลอง ‘เล่า’ คุณสมบัติของเสียงดนตรีผ่านสื่ออื่น  ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ภาพกราฟิก หรือตัวอักษร โดยทุกองค์ประกอบเชื่อมโยงและถูกตีความออกมาจากเสียงดนตรีหนึ่งเพลง โดยหวังว่าผลลัพธ์ของการทดลองจะทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงกันระหว่างเสียงเพลงที่ได้ยินด้วยหู ภาพที่เห็นด้วยตา และสถาปัตยกรรมที่คนดูก้าวเข้าไปอยู่

Yugo จึงลงมือแต่งเพลงร่วมกับ Cornelius นำบทเพลง ‘Audio Architecture’ ซึ่งเปรียบเสมือนโครงสร้างเสาและคานของนิทรรศการนี้ แจกจ่ายไปยังศิลปินภาพเคลื่อนไหว 7 คนให้ตีความเพลงนี้ จาก ‘เสียง’ สร้างออกมาเป็น ‘ภาพ’

พร้อมมั้ย เรากำลังจะเดินเข้าท่อนฮุค!

Hook

ภาพ : ameblo.jp

พื้นที่ในห้องหลักของนิทรรศการอัดเต็มด้วย ‘จอภาพ’ ในจังหวะที่เราเดินเข้าไปกำลังฉายรวมมิตรภาพเคลื่อนไหว 8 ชิ้นจากศิลปิน 8 คน และต่อด้วยการฉายเรียงกันไปทีละชิ้น

จอภาพข้างหน้าไม่ได้มีแค่ความยาวและสูงเช่นเดียวกับทีวีหรือโรงหนัง แต่เป็นจอที่มีความกว้างลามออกมาบนพื้น  จากเสียงสู่ภาพ  จากภาพกลายเป็น ‘พื้นที่’ – กว้าง ยาว และสูง ประกอบเป็น ‘สถาปัตยกรรม’

ฝั่งตรงข้ามจอ ออกแบบเป็นขั้นบันไดให้คนดูขึ้นไปนั่งชมสถาปัตยกรรมแห่งภาพและเสียงชิ้นนี้จากข้างนอก ได้ประสบการณ์ของภาพแบบพาโนรามา เห็นภาพรวมของวิดีโอทั้งชิ้นไหลผ่านไปเบื่องหน้า มุมมองคล้ายๆ นั่งมองแม่น้ำจากตลิ่ง

นั่งดูสักพักคนดูบางคนเริ่มนึกสนุก เริ่มทยอยกันเดินเข้าไปนั่งแช่ในแม่น้ำดูบ้าง นิทรรศการติดป้ายไว้ที่ปากทางเลยว่าอนุญาตให้เข้าไปนั่ง นอน เดินบนจอภาพได้ ขอแค่อย่าวิ่ง เดี๋ยวสะดุดเสียง!

นิทรรศการ ญี่ปุ่น จอภาพ

ลองลงไปนั่งเหยียดขาในจอ เพิ่งเคยรู้สึกว่า ภาพ ‘เคลื่อน’ และ ‘ไหว’ ผ่านตัวเราไปจริงๆ ก็คราวนี้ นอกจากนี้ยังสนุกกับการดูไอเดียการเล่นแร่แปรภาพของศิลปินทั้ง 8 คนที่ตีความได้ฉีกจากกันสุดขั้ว ขอยกชิ้นที่ถูกใจเรามาเล่าแล้วกัน

ชิ้นนี้ศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากอาการที่เรียกว่า cocktail party effect อาการตอนที่เราโฟกัสกับเสียงใดเสียงหนึ่งมากๆ ท่ามกลางเสียงอื่นที่ดังอยู่ด้วย

YouTube video

ศิลปิน Keita Onishi เชื่อว่าเวลาเราได้ยินเสียงไม่ได้ใช้แค่หู แต่ใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ ร่วมด้วย จึงนำเสียงสร้างออกมาเป็น motion graphic ที่ประกอบจากรูปทรงชิ้นเล็กชิ้นน้อยเคลื่อนไหวพร้อมกันราวอยู่ท่ามกลางจักรวาล ศิลปินบอกว่าเวลาเราดูวิดีโอนี้ก็คล้ายกับ cocktail party effect คือเราไม่สามารถโฟกัสทุกการเคลื่อนไหวของทุกชิ้นไปพร้อมๆ กันได้ ทำได้เพียงดูทีละชิ้น ทีละการเคลื่อนไหว แต่ละช่วงเวลาของเพลง คุณก็จะได้ยิน และได้เห็นสิ่งที่ไม่เหมือนกันเลย

ชิ้นนี้ชื่อ Layers Act ภาพกราฟิกเส้นตรงและจุดสีขาววิ่งฉวัดเฉวียนไปมา ทีแรกคิดว่าคงทำขึ้นจากโปรแกรม motion graphic ธรรมดา ที่ไหนได้ ช่วงหลังวิดีโอซูมออกมาเฉลยว่าภาพที่เห็นสร้างขึ้นจากแผ่นใสสองแผ่นที่พิมพ์ลายแพทเทิร์นต่างกันถูกันไปมา ภาพที่เราเห็นคือจังหวะที่ส่วนใสของมันเหลื่อมกัน!

YouTube video

ถ้าพูดถึงชิ้นที่แปลกตาสุดคงเป็นชิ้นนี้ ‘airflow’ ไม่ได้ใช้ภาพกราฟิกนามธรรม เส้นสีฉวัดเฉวียนเหมือนชิ้นอื่น แต่เลือกใช้เอนิเมชันลายเส้นการ์ตูน เนื้อหาพูดถึงการเคลื่อนไหวรูปแบบที่อ่อนนุ่มยวบยาบ ดูแล้วจิ๊กจี๋ปนสยิว เช่น ภาพนิ้วมือกำลังลูบซูชิ นิ้วแหย่พัดลม มีดหั่นเต้าหู้นิ่มๆ หรือลูกโป่งที่ลอยเข้าใกล้เปลวเทียน โดยใช้ถ้อยคำในเนื้อเพลงมาสร้างเป็นฉากต่างๆ

YouTube video

ชิ้นสุดท้ายโดย Koichiro Tsujikawa ศิลปินที่เคยเนรมิตหลากหลายเอ็มวีที่น่าจดจำให้ Cornelius ชิ้นนี้มาแปลกเพราะเป็นแอพลิเคชัน เริ่มต้นจากไอเดียง่ายๆ ว่า ขณะเราฟังเพลง เรากำลังดูตัวเองฟังเพลงไปด้วย แอพลิเคชันจึงให้เราเปิดกล้องเซลฟี่ ฟังเพลง และมองดูภาพใบหน้าตัวเองบิดเบี้ยวเป็นรูปทรง กระเพื่อมไหวไปตามพื้นผิวและเอฟเฟ็กต์แบบต่างๆ เชื่อมโยงกับเนื้อเพลง

YouTube video

แม้เทคนิควิธีการและการตีความจะต่าง แต่สิ่งที่ภาพเคลื่อนไหวทุกชิ้นมีเหมือนกัน ก็คือการเก็บรายละเอียดของเสียงเล็กๆ น้อยๆ ในเพลงและแปลงออกมาเป็นภาพแบบซิงค์ทุกจังหวะ ละเอียดทุกตัวโน๊ต ขยันสมยี่ห้อคนญี่ปุ่นเสียจริงๆ

Outro

มาถึงท่อนสุดท้ายของบทเพลง Audio Architecture  นิทรรศการส่วนหลังสุดแบ่งซอยพื้นที่ออกเป็นบูธ เรียงต่อกัน แต่ละบูธฉายวนภาพเคลื่อนไหวของแต่ละศิลปินให้คนดูโฟกัสวิดีโอแต่ละตัวกันแบบเต็มอิ่มอีกครั้ง พร้อมแคปชั่นแนวคิดของศิลปินแปะไว้ให้อ่าน ความสนุกคือบางชิ้นเผยกระบวนการทำให้ดูด้วย เช่น ชิ้นที่ใช้แผ่นใสก็มีแผ่นใสที่ใช้ถ่ายทำจริงตั้งไว้ให้ลองถูเล่น (และพบว่ามันไม่ง่ายเลย!) หรือชิ้นที่ใช้แอพลิเคชันก็มี QR code ให้โหลดแอพกลับไปเล่นกันที่บ้าน (แอพยังเปิดให้โหลดได้ที่นี่) หรือจะยืนเล่นตรงนั้นก็เอา

Audio Architecture

YouTube video

Audio Architecture

คุณลักษณะร่วมกันของนิทรรศการหลายชิ้นที่เราได้ดูในช่วงที่เราไปโตเกียว รวมถึงนิทรรศการ AUDIO ARCHITECTURE นี้ คือนิทรรศการมักจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ ‘ตั้งคำถาม’ ชวนคนมาหาคำตอบและความเป็นไปได้ใหม่ มากกว่าจะให้คำตอบสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ ตลอดสองชั่วโมงในนิทรรศการนี้ นักดนตรีที่แวะมาดูอาจเกิดคำถามถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการรับรู้เสียงเพลง สถาปนิกอาจเกิดไอเดียถึงงานสถาปัตยกรรมที่ถอดฟอร์มมาจากเสียง นักศึกษาแพทย์อาจได้หัวข้อวิจัยใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตาและหู หรือคำถามของใครบางคนอาจไกลไปถึงระดับอภิปรัชญา

เพราะ ‘ชวน’ ให้คนคิด น่าจะสำคัญมากกว่า ‘บอก’ ว่าคนควรคิดอะไร

ยิ่งนิทรรศการเปิดด้วยประเด็นที่น่าสนใจ น่าสนุก ทำตัวเองเป็นพื้นที่ที่ใครๆ ก็อยากมา ก็ยิ่งชวนคนหลากหลายมากขึ้นมาช่วยกันคิด ช่วยกันตั้งคำถาม และเมื่อประเทศเต็มไปด้วยคนช่างขบคิด ประเทศก็ยิ่งเติบโต

Into the music , Music don’t stop.

ไม่ใช่เพียงดนตรีที่ไม่รู้จบ แรงบันดาลใจที่ส่งต่อก็เช่นกัน

นี่แหละมั้ง หน้าที่ของนิทรรศการที่ดี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save