fbpx
รู้จักทฤษฎีการประมูล: ออกแบบตลาดฉบับนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

รู้จักทฤษฎีการประมูล: ออกแบบตลาดฉบับนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

โดยนิยามแบบกระแสหลัก เศรษฐศาสตร์คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด การแลกเปลี่ยนจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีตลาดซึ่งเป็นจุดพบปะระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย แต่วิธีการที่จะทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปอยู่ในมือคนที่เห็นค่าของมันมากที่สุดก็หนีไม่พ้น “การประมูล”

การประมูลไม่ใช่ศาสตร์ใหม่ มีหลักฐานบันทึกว่ามนุษย์เรารู้จักการประมูลตั้งแต่สมัยกรีกหรือราว 2,500 ปีก่อน แถมวิธีการประมูลก็ค่อนข้างตรงไปตรงมา ดูไม่น่าจะหาช่องทางพัฒนาไปได้ไกลกว่าการให้ผู้เข้าร่วมประมูลชูป้ายราคาแข่งกันเสนอซื้อ หรือประมูลลับแบบใส่ซองเพื่อหาผู้ที่เสนอราคาสูงที่สุด

แต่ผู้เขียนก็ต้องประหลาดใจ เมื่อผู้ได้รับรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2563 คือพอล อาร์. มิลกรอม (Paul R. Milgrom) และโรเบิร์ต บี. วิลสัน (Robert B. Wilson) สองนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ที่เปิดพรมแดนความรู้ด้านทฤษฎีการประมูลในโลกวิชาการและคิดค้นการประมูลรูปแบบใหม่ที่ใช้แก้ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรในโลกจริง

ทฤษฎีการประมูลคืออะไร มีบทบาทและความสำคัญอย่างไรในการจัดสรรทรัพยากรทั้งในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

ทำไมต้องมีทฤษฎีการประมูล?

เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเราต้องประมูลเพื่อทำการซื้อขายสิ่งของ ให้ผู้ผลิต ผู้เชี่ยวชาญ หรือใครสักคนกำหนดราคามาไม่ง่ายกว่าหรือ?

คำตอบก็คือคงง่ายกว่าจริงๆ แต่สินทรัพย์เหล่านั้นอาจขายไม่ได้เพราะผู้เชี่ยวชาญตั้งราคาไว้สูงไป หรือการจัดสรรอาจไม่มีประสิทธิภาพเพราะคนที่ได้ไปอาจไม่ใช่คนที่ให้ ‘คุณค่า’ แก่ของชิ้นนั้นมากที่สุด นี่คือเหตุผลที่การประมูลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการหา ‘ผู้ซื้อที่เหมาะสมที่สุด’  รวมถึงการหา ‘ผู้ให้บริการที่ดีที่สุด’ ในมุมของการจัดซื้อจัดจ้าง

กลไกการประมูลประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก อย่างแรกคือ รูปแบบ ซึ่งหมายถึงกฎในการประกาศราคา วิธีที่ผู้เข้าร่วมประมูลจะเสนอซื้อ ไปจนถึงการสรรหาผู้ชนะประมูล หากยังจินตนาการไม่ออกลองนึกถึงการประมูลแบบอังกฤษที่ผู้เข้าร่วมประมูลต้องแข่งขันกันเสนอราคาให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ กระทั่งได้ราคาสูงสุดและไม่มีใครเสนอราคาที่สูงกว่า ผู้ที่เสนอราคาสูงสุดก็จะชนะประมูลและได้ของชิ้นนั้นไป

อย่างที่สองคือ ข้อมูลข่าวสาร เพราะผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายย่อมมีข้อมูลในมือไม่เท่ากัน ข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วย มูลค่าเฉพาะบุคคล (private values) ซึ่งขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคนและไม่ผันแปรไปตามมูลค่าของผู้เสนอซื้อคนอื่นๆ (ตัวอย่างเช่น งานศิลปะ) และมูลค่าสามัญ (common value) ซึ่งเปรียบเสมือนราคากลางของสินทรัพย์ชิ้นนั้น (ตัวอย่างเช่น สินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน) ข้อมูลดังกล่าวจะถูกแบ่งปันให้แก่คนอื่นๆ จากการเสนอราคาซื้อขณะประมูล ที่จะสะท้อนว่าผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละคนมองว่าราคาของสินทรัพย์ที่ควรจะเป็นนั้นอยู่ที่เท่าไหร่

การศึกษาการประมูลยุคแรกเริ่มคือการพิจารณาว่ารูปแบบการประมูลที่ใช้อยู่ทั่วไปจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งรูปแบบมาตรฐานที่โรงประมูลภาคเอกชนเลือกใช้คือการประมูลแบบอังกฤษดังที่ยกตัวอย่างข้างต้น กระบวนการดังกล่าวคือภาพกลับของการประมูลแบบดัทช์ (Dutch auction) ที่เริ่มจากการตั้งราคาสูงลิ่ว แล้วค่อยๆ ลดลงมาจนกว่าจะมีผู้เสนอซื้อเป็นคนแรก

การประมูลทั้งสองแบบข้างต้นจะเป็นการเสนอราคาแบบเปิดเผย แต่ยังมีการประมูลอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นการเสนอราคาโดยลับ หรือที่เราคุ้นหูกันว่า ‘ยื่นซองประมูล’ ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างงานภาครัฐ โดยรัฐจะตัดสินใจเลือกบริษัทที่ทำงานได้ตามเงื่อนไขและยื่นซองประมูลในราคาต่ำที่สุด

เป้าหมายของการประมูลภาคเอกชนนั้นตรงไปตรงมาคือการหาผู้ซื้อที่เสนอราคาสูงสุดเพื่อแสวงหากำไรให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่การประมูลของภาครัฐอาจมีเป้าหมายแตกต่างกันออกไป เช่น การประมูลสัมปทานคลื่นความถี่ ที่นอกจากจะเป็นการหาเงินเข้าคลังแล้ว ยังต้องการให้ผู้ชนะการประมูลนั้นนำสัมปทานที่ได้ไปใช้สร้างประโยชน์สูงสุดในระยะยาวให้กับสังคม

การออกแบบการประมูลจึงมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ซับซ้อนและยุ่งยากกว่าที่เราคิด และสองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลก็ได้กรุยทางสร้างการประมูลรูปแบบใหม่ที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ประมูลสินทรัพย์ส่วนรวมเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่สังคม และภาคเอกชนเองก็นำไปใช้ประมูลการซื้อขายไฟฟ้าและตราสารหนี้ผิดนัดชำระ ดีลเหล่านี้มีมูลค่ามหาศาลและการเพิ่มประสิทธิภาพหลักไม่กี่เปอร์เซ็นต์ก็นับว่าคุ้มค่า

 

มูลค่าเฉพาะบุคคล VS มูลค่าสามัญ

 

ผู้วางรากฐานทฤษฎีการประมูลคือวิลเลียม วิคครีย์ (William Vickrey) นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2539 เขาได้พัฒนาแบบจำลองการประมูลที่ผู้ร่วมประมูลมีแต่มูลค่าเฉพาะบุคคลเท่านั้น กล่าวคือ ราคาที่ผู้ร่วมประมูลจะเสนอนั้นเป็นอิสระจากราคาที่ผู้ร่วมประมูลคนอื่นเสนอซื้อระหว่างการประมูล

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น บัตรจับมือแบบเอ็กคลูซีฟกับไอดอลชื่อดัง ซึ่งราคาที่แต่ละคนยินดีจะจ่ายก็ย่อมขึ้นกับความชื่นชอบศิลปินวงนั้น หากผมไม่รู้จักไอดอลกลุ่มดังกล่าวเลยแม้แต่นิดเดียว บัตรดังกล่าวก็มีค่าไม่ต่างจากเศษกระดาษและผมจะไม่ยอมควักสตางค์ออกจากกระเป๋าแน่ๆ ในขณะที่เหล่าแฟนคลับอาจแย่งชิงบัตรนั้นโดยยอมจ่ายเท่าที่เงินในบัญชีจะมี ซึ่งอาจารย์วิคครีย์ผู้ล่วงลับได้ให้ข้อสรุปว่า หากผู้ร่วมประมูลมีแต่มูลค่าเฉพาะบุคคล ผลลัพธ์ที่ได้จากการประมูล ไม่ว่าจะเป็นแบบอังกฤษหรือดัทช์ก็จะไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

กรณีดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงอย่างมาก เพราะการประมูลสินทรัพย์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ สัมปทาน หรือตราสารทางการเงิน ผู้เข้าร่วมประมูลย่อมมองเห็นมูลค่าสามัญที่เท่ากัน แต่อาจแตกต่างกันตามปริมาณของข้อมูลที่มีอยู่ในมือ ตัวอย่างเช่น การสัมปทานแหล่งแก๊สธรรมชาติ ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละคนอาจประเมินคุณภาพและปริมาณของแหล่งแก๊สดังกล่าวตามความเชี่ยวชาญหรือข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในมือ

ยิ่งมีประสบการณ์มากเท่าไหร่ ข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าสามัญของสินทรัพย์ดังกล่าวก็จะยิ่งแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละคนย่อมหวงแหนข้อมูลสำคัญเหล่านี้ แต่ในระหว่างการประมูลแบบเปิด ข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าสามัญจะเปิดเผยออกมาผ่านการส่งสัญญาณเพิ่มราคาเสนอซื้อ

นี่คือที่มาของปรากฎการณ์ ‘คำสาปของผู้ชนะ (winner’s curse)’ เพราะผู้ชนะประมูลคือผู้ที่เสนอราคาสูงสุด นั่นหมายความว่าราคาที่เสนอดังกล่าวอาจมากกว่าหรือเท่ากับมูลค่าสามัญตามประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น ดังนั้น ผู้ชนะการประมูลก็ไม่ต่างจากพวกมองโลกในแง่ดี และต้องเสียเงินแพงกว่ามูลค่าสามัญของสินทรัพย์ที่ชนะประมูลไป โรเบิร์ต วิลสัน ศึกษาการประมูลบนสมมติฐานดังกล่าวและพบว่าภายใต้ภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง หรือมีความแตกต่างระหว่างข้อมูลของผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละคน ผลลัพธ์ที่ได้คือผู้เข้าร่วมประมูลมักจะเสนอราคาอย่างระมัดระวังจนทำให้ราคาสุดท้ายต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากทุกคนต่างเกรงกลัวว่าตนจะต้องเสียค่าโง่จากการชนะประมูล

พอล มิลกรอม ขยับแบบจำลองให้เข้าใกล้โลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น โดยสร้างกรอบแนวคิดของการประมูลที่มีทั้งมูลค่าเฉพาะบุคคลและมูลค่าสามัญ เขาพบว่าข้อมูลที่ถูกเปิดเผยผ่านการส่งสัญญาณเสนอซื้อระหว่างการประมูลนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะบรรเทาปัญหาคำสาปของผู้ชนะ ดังนั้น การประมูลแบบอังกฤษจึงจะปิดการประมูลที่ระดับราคาสูงกว่าการประมูลแบบดัทช์ เพราะการประมูลแบบดัทช์นั้นไม่มีการส่งสัญญาณเสนอซื้อระหว่างการประมูลนั่นเอง

ข้อค้นพบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือความสำคัญของข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมแต่ละคนมีในกระบวนการประมูล ผู้ดำเนินการประมูลจึงควรจัดหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมูลค่าของสินทรัพย์แก่ผู้เข้าร่วมประมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อนที่จะเริ่มการประมูล เช่น ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอิสระเกี่ยวกับมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกประมูล เพราะยิ่งผู้เข้าร่วมประมูลมีข้อมูลในมือมากเท่าไหร่ ราคาปิดประมูลก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น

 

นวัตกรรมการประมูล กรณีการจัดสรรคลื่นความถี่ในสหรัฐอเมริกา

 

ทฤษฎีการประมูลมีบทบาทโดดเด่นอย่างยิ่งในภาคธุรกิจ หลังจากที่หน่วยงานภาครัฐต้องการหาวิธีจัดสรรคลื่นความถี่ที่สมดุลทั้งการสร้างรายได้ให้รัฐและการใช้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่สังคมโดยรวม

แรกเริ่มเดิมที รัฐบาลสหรัฐฯ เลือกใช้วิธีคัดเลือกโดยคณะกรรมการพิจารณาตามความเหมาะสม นำไปสู่การวิ่งเต้นใช้เส้นสายเพื่อให้ได้รับคัดเลือกซึ่งแทบไม่สร้างรายได้เข้าคลัง ต่อมาเมื่อจำนวนบริษัทมีมากขึ้น รัฐบาลจึงเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกเป็นการจับฉลาก แม้ว่าวิธีการดังกล่าวจะทำให้ทุกบริษัทมีโอกาสได้รับจัดสรรอย่างเท่าเทียม แต่ก็นับว่าไร้ประสิทธิภาพเนื่องจากแต่ละพื้นที่จัดสรรคลื่นความถี่ให้ผู้ให้บริการคนละราย สร้างความปวดหัวให้กับรายใหญ่ที่ต้องการให้บริการครอบคลุมทั้งประเทศ เช่นเดียวกับประชาชนที่ต้องการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายจึงเกิด ‘ตลาดมือสอง’ ขนาดยักษ์เพื่อซื้อขายคลื่นความถี่ระหว่างภาคเอกชน เงินที่ควรจะเข้ากระเป๋ารัฐบาล จึงกลายเป็นลาภลอยของบริษัทที่โชคดี

แต่การประมูลคลื่นความถี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสัมปทานคลื่นความถี่มีองค์ประกอบทั้งมูลค่าเฉพาะบุคคลและมูลค่าสามัญ อีกทั้งมูลค่าที่เอกชนยินดีจะจ่ายยังขึ้นอยู่กับว่าสัมปทานคลื่นความถี่ในพื้นที่ข้างเคียงถือครองโดยบริษัทใด แต่หากจะให้สัมปทานโดยไม่แบ่งพื้นที่ให้บริการก็จะนำไปสู่การผูกขาด ทำลายการแข่งขัน ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าและบริการในอนาคต

มิลกรอมและวิลสันจึงเสนอการประมูลรูปแบบใหม่ คือ การประมูลทุกสัมปทานพร้อมกันแบบหลายรอบ (Simultaneous Multiple Round Auction หรือ SMRA) ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลจะสามารถส่งคำเสนอซื้อได้ทุกสัมปทานทั่วประเทศ โดยการประมูลจะแบ่งเป็นรอบๆ ตามเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า หลังจากที่หมดเวลาในแต่ละรอบ ผลลัพธ์ของการประมูลจะเปิดเผยต่อผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมดเพื่อให้ทุกคนทราบว่าคนอื่นยื่นข้อเสนอที่มูลค่าเท่าไหร่ ข้อมูลดังกล่าวช่วยเพิ่มโอกาสที่สัมปทานจะถูกจัดสรรให้ผู้เสนอซื้อที่มีให้คุณค่ากับสัมปทานเหล่านั้นมากที่สุด

ความโดดเด่นของ SMRA คือจะไม่มีการกำหนดจุดสิ้นสุดการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะนำเอา ‘มูลค่าเสนอซื้อ’ ของผู้ร่วมประมูลรายอื่นมาปรับกลยุทธ์ของตนเอง โดยจะประมูลไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมดไม่ส่งคำสั่งซื้อ นั่นคือรอบสุดท้ายของการประมูล

คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารสหรัฐ (Federal Communications Commission) ริเริ่มการใช้การประมูลแบบ SMRA ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2537 เพื่อประมูลสัมปทาน 10 แห่ง โดยมีการประมูลทั้งสิ้น 47 รอบ สร้างรายได้ให้รัฐ 617 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นตัวเลขมหาศาลหากเทียบกับการจับฉลากหรือการพิจารณาอนุมัติโดยคณะกรรมการที่รัฐแทบไม่ได้อะไร

ความสำเร็จจากการประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนั้น ทำให้การประมูลแบบ SMRA ได้รับความนิยมและถูกนำไปปรับใช้จริงในการประมูลคลื่นความถี่ในหลายประเทศทั่วโลก แต่การคิดค้นวิธีประมูลแบบใหม่ก็ยังไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่อเข้าศตวรรษใหม่ มิลกรอมและคณะก็ได้เสนอวิธีการประมูลแบบคล็อค (Clock Auction) โดยแบ่งการประมูลออกเป็นหลายช่วงเพื่อแก้ไขปัญหาการประมูลสินค้าเป็นกลุ่มและลดเวลาการประมูลให้กระชับขึ้น

ทฤษฎีการประมูลมีบทบาทมากขึ้นในการจัดสรรทรัพยากรสาธาณะทั่วโลก สำหรับประเทศไทย การประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ก็ใช้วิธีการประมูลมาตลอดตั้งแต่ปี 2555 และคาดว่าในปี 2564 ก็จะมีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 Mhz เพื่อรองรับบริการเทคโนโลยี 5G ในห้วงเวลาแบบนี้ การกลับไปทำความเข้าใจทฤษฎีการประมูลอย่างจึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง

เพราะปัญหาและข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นกับการประมูลในไทย ก็อาจทำให้ทั้งมิลกรอมและวิลสันต้องเกาหัวด้วยความสงสัยอยู่ไม่น้อย

 

เอกสารประกอบการเขียน

Scientific Background: Improvements to auction theory and inventions of new auction formats

Popular science background: The quest for the perfect auction

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save