fbpx

การเมืองไทยในเดือนตุลาฯ กับ อธึกกิต แสวงสุข

ในปฏิทินการเมืองไทย ‘เดือนตุลาฯ’ มักถูกหยิบยกให้เป็นเดือนพิเศษอยู่เสมอ ยิ่งการเมืองเข้มข้น ร้อนแรงเท่าไหร่ เดือนตุลาฯ ยิ่งแหลมคม

เดือนตุลาคม 2564 สมรภูมิการเมืองกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลเจอวิกฤตทั้งภายนอกและภายใน ในขณะที่โจทย์ใหญ่บนท้องถนนก็ยังไม่ได้ถูกแก้

101 ชวน ‘ใบตองแห้ง’ – อธึกกิต แสวงสุข วิเคราะห์การเมืองไทย – จากงานรำลึกประวัติศาสตร์ ตลาดการเมืองที่กำลังเปิด และระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ในการเมืองไทย

:: จุดร่วมและจุดต่างระหว่าง ‘คนเดือนตุลา’ กับ ‘คนรุ่นใหม่’  ::

ที่ผ่านมาเหตุการณ์เดือนตุลาเงียบเหงามานาน จนกระทั่งปี 2553 เป็นต้นมาก็เกิดการโอบรับเหตุการณ์นี้โดยคนเสื้อแดง ที่รู้สึกว่ามีชะตากรรมเดียวกันกับคนเดือนตุลา เพราะเป็นกลุ่มคนที่ถูกเข่นฆ่าและเกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเหมือนกัน อารมณ์ร่วมนี้ดำเนินร่วมกันมาจนปี 2564 ซึ่งเกิดม็อบของคนรุ่นใหม่ 

งานรำลึก 6 ตุลาปีนี้คึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะสถานการณ์ของคนรุ่นใหม่ตอนนี้คล้ายๆ สถานการณ์ของคนรุ่น 6 ตุลา เช่น แกนนำโดนจับ การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ขณะเดียวกันภายหลังการรัฐประหารปี 2557 และการมาของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เปลี่ยนความหมายของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความเป็นประชาธิปไตยก็ลดน้อยลงกว่าเดิม สิ่งนี้ไปกระทบเรื่องสิทธิเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ เขามีความรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างมีอำนาจมากเกินไป จนนำไปสู่ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน เรื่องนี้ก็เป็นจุดร่วมหนึ่งระหว่างคนเดือนตุลากับคนรุ่นใหม่ แม้คนเดือนตุลาจำนวนหนึ่งจะแตกไปแล้ว แต่ก็มีบางส่วนที่กลับมามีอารมณ์ร่วมและมองเห็นตัวเองในคนรุ่นใหม่ 

สำหรับจุดต่าง ขบวนการนักศึกษารุ่นผมมีเป้าหมายและมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนมาก ตอนนั้นเป้าหมายของเราคือการไปสู่สังคมอุดมคติ เช่น สังคมนิยม มีการกำหนดแนวคิดว่าจะปกครองประเทศแบบไหน มีรูปแบบการจัดตั้งที่เข้มแข็งและชัดเจน แต่ขบวนการของคนรุ่นใหม่มาเป็นระลอกๆ ไม่มีองค์กรที่ชัดเจน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีแนวทางโครงสร้างสังคมใหม่ที่คิดไว้ เช่น คุณจะมีนโยบายต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้อย่างไร หรือในการปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล โครงสร้างจะเป็นอย่างไร ตอนนี้เรายังเห็นไม่ชัด คนรุ่นใหม่ยังไม่มีคำตอบให้เรื่องพวกนี้

ผมคิดว่าพลังของคนรุ่นใหม่กำลังอยู่ในช่วงถอดรื้อและทำลายสิ่งเก่า แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งใหม่คืออะไร เรื่องนี้สำคัญและต้องช่วยกันคิด อย่างการมีองค์กรจัดตั้งเมื่อในอดีตก็เป็นการจำกัดตัวเอง หรือการถลำไปสู่สังคมนิยม สุดท้ายแล้วพอมันล่มสลาย ก็พังหมดเลย

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่คือไม่มีเลย การไม่มีเลยเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน จุดแข็งคือเปิดกว้างให้มีการถกเถียงและมองไปข้างหน้าร่วมกัน แต่เวลาที่มีคนถามว่าจริงๆ คุณต้องการอะไร สังคมในอุดมคติของคนรุ่นใหม่จะมีลักษณะอย่างไร ณ วันนี้ยังบอกกันได้ไม่ชัด 

::  พลเอกประยุทธ์ในฐานะตัวแทนของระบบรัฐราชการที่ไม่มีใครแทนที่ได้ ::

ผมคิดว่าอีก 5 ปี พลเอกประยุทธ์ยังอยู่ในตำแหน่งได้ เพราะเขาเป็นตัวแทนของระบบรัฐราชการ 

ตลอด 7 ปีหลังรัฐประหาร 2557 พลเอกประยุทธ์สร้างระบบรัฐราชการเป็นใหญ่ เป็นระบอบที่สร้างอำนาจอันแข็งแกร่งเพื่อคุ้มครองการเปลี่ยนผ่าน และรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ส่งผลให้ความเป็นประชาธิปไตยถอยหลังไปจากเดิมหลายสิบปี ก่อนจะมีการเลือกตั้งที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยปลอม คือผ่าน ส.ว. 250 คน หรือกลไกต่างๆ เช่น พลเอกประยุทธ์ลงสมัครเป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยที่ตัวเองยังเป็นหัวหน้ารัฐประหาร แต่ทั้งหมดต้องพึ่งพานักการเมือง เขาก็ดึงนักการเมืองเข้ามา ซึ่งวิถีของนักการเมืองที่เขาดึงเข้ามาคือวิถีของนักการเมืองอุปถัมภ์ แน่นอนว่ามีต้นทุน  

เรื่องนี้ก็ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจราชการ ที่ไม่ยอมให้นักการเมืองเข้ามามีบทบาทมากนัก พวกเขากุมอำนาจทหาร ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม ตลอดจนกระทรวงมหาดไทยไว้หมด ขณะที่นักการเมืองเองก็ต้องการพึ่งพากระทรวงมหาดไทย

จะเห็นว่านักการเมืองอยากมีส่วนในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าฯ นายอำเภอ เพราะเป็นฐานเสียงของเขา อันนี้คือความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งไม่ใช่เรื่องระหว่างพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตร หรือพลเอกประยุทธ์กับธรรมนัส แต่เป็นเรื่องเชิงระบบว่าตกลงแล้วพรรคราชการยอมแบ่งพื้นที่ให้พรรคพลังประชารัฐหรือไม่

ภาพลักษณ์ของพลเอกประยุทธ์ในฐานะตัวแทนระบบรัฐราชการแสดงออกมาชัดมาก เช่น การออกมาสั่งการทุกอย่าง หรือถ้าเกิดปัญหาอะไรก็โทษประชาชน การมองว่าตัวเองดีหมดทุกอย่างและอยู่เหนือประชาชน ทั้งหมดนี้คือลักษณะของพลเอกประยุทธ์ที่เป็นตัวแทนรัฐราชการ ซึ่งผมคิดว่าด้วยลักษณะแบบนี้ จะหาใครมาแทนที่พลเอกประยุทธ์ก็ยังไม่มี ฉะนั้นก็ต้องอยู่ไปจนกว่าจะพังไปด้วยกัน 

::  กระแสยุบสภา ::

ผมไม่คิดว่าพลเอกประยุทธ์อยากเลือกตั้ง แต่กระแสมาแรงจนนำไปสู่การสร้างบรรยากาศของการยุบสภา สมมติว่ากฎหมายลูกผ่านในเดือนพฤศจิกายน จะกลายเป็นกระแสเร่งเร้าในทางการเมืองให้เกิดการยุบสภา

การสร้างบรรยากาศไปสู่การยุบสภาเป็นสิ่งที่ทุกพรรคพยายามช่วยกันสร้าง แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาล เช่นพรรคประชาธิปัตย์ก็ชูว่าจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พร้อมเป็นนายกฯ หรือพรรคภูมิใจไทยก็ชูว่าอนุทิน ชาญวีรกูลพร้อมเป็นนายกฯ เช่นกัน 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจ ณ ตอนนี้คือการขายฝัน เหมือนที่พลเอกประยุทธ์ประกาศเมื่อ 11 ตุลาคม 2564 ว่าจะเปิดประเทศ แล้วหุ้นก็ขึ้น ทำให้รัฐบาลรู้สึกได้คะแนน แต่กระแสแบบนี้อยู่ได้ไม่นาน พอพ้นช่วงอัดฉีด ปีหน้าจะเริ่มมีปัญหาปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ในภาวะเช่นนั้น รัฐบาลที่อยู่ต่อจะต้องรับภาระค่อนข้างหนัก ถ้าเขาฉลาด ผมคิดว่าในช่วงต้นปีหน้าเขาจะยุบสภาเพื่อฉวยโอกาสช่วงนี้ ฉะนั้นมีแนวโน้มสูงที่จะยุบสภา

:: ใครได้-ใครเสีย ในเกมการเลือกตั้งครั้งหน้า :: 

พรรคพลังประชารัฐไม่พร้อมตรงที่ยังหาจุดลงตัวระหว่างพลเอกประยุทธ์กับธรรมนัสไม่ได้ เพราะต่างคนก็ต่างเจ้าคิดเจ้าแค้นด้วยกันทั้งคู่ เพราะแม้ธรรมนัสจะเป็นแค่เลขาธิการพรรค แต่เขาก็มีบทบาทสำคัญอย่างการเข้าใจระบบการเมืองอุปถัมภ์ การเดินสายหาเสียง เรียกได้ว่าถึงลูกถึงคน นี่คือบุคลิกของธรรมนัส ซึ่งประมาทไม่ได้ 

ส่วนพรรคเพื่อไทยเองก็พร้อมแล้ว แค่ยังไม่ได้เปิดตัวว่าใครจะมาเป็นนายกฯ มาที่พรรคก้าวไกล เจอบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็โดนตัดโอกาสในแง่ของคะแนนนิยมและการคำนวณ ส.ส. แต่ขณะเดียวกันก็ประมาทก้าวไกลไม่ได้ เพราะพรรคมีฐานของตัวเองที่แน่นเหนียวพอสมควร ซึ่งแน่นอนว่าคนรุ่นใหม่ก็มาตามกระแสของก้าวไกลอยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตามก็มีกรณีที่แฟนคลับของก้าวไกลทะเลาะกับแฟนคลับเพื่อไทย ซึ่งการที่พรรคมีแฟนคลับของตัวเองหมายความว่าอาจบอกให้เลือกตั้งทางยุทธศาสตร์ไม่ได้ ซึ่งจุดนี้พลังประชารัฐคิดว่าเขาจะได้เปรียบ ในแง่ที่เขาสอดเข้ามาตรงช่องว่างนี้ได้ 

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่น่าเปลี่ยนท่าทีในการหาเสียง แต่เวลาหาเสียง คงไม่บอกว่าหาเสียงเพื่อให้พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ เป็นเรื่องจำเป็นที่จะบอกว่าหาเสียงเพื่อให้พรรคตัวเองได้เป็นนายกฯ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เขาก็ไปทางประยุทธ์อยู่ดี

การเลือกตั้งครั้งหน้า มุมหนึ่งเราอาจคิดเรื่องชนะเลือกตั้งถล่มทลาย แต่อีกมุมหนึ่งสถานการณ์อาจทำให้เห็นว่าภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว เพราะตอนนี้มีความหลากหลายมากขึ้น แม้กระทั่งในฝ่ายประชาธิปไตยเองก็ตาม ไม่สามารถได้พรรคเดียวหรือสองพรรคอีกแล้ว

::  การขยับเส้นของฝ่ายอำนาจ vs ประชาชน ::

สำหรับขบวนการเคลื่อนไหว เนื่องจากเป็นช่วงที่มองไม่เห็นว่าชนะการต่อสู้ไหนไปบ้างแล้ว เลยเกิดความท้อ แต่การตอบโต้ต่อความเสื่อมของอำนาจยังไม่หยุด เพราะฉะนั้นแล้วจึงมีคนกล้าในโลกออนไลน์ที่โดนจับไปหลายร้อยคน

แต่พลังของฝ่ายประชาธิปไตยยังคงต่อต้านฝ่ายอำนาจอยู่ เลยทำให้เกิดภาวะที่เขาต้องจับและต้องปล่อย ถ้ารู้สึกว่าพลังฝ่ายคนรุ่นใหม่อ่อน ก็จะรุกจับไปเรื่อยๆ อย่างตอนนี้เราก็จะเห็นการจับอานนท์ เพนกวิน ไผ่ ไมค์ แล้วล่าสุดก็มีเบนจาเพิ่มไปด้วย   

สถานการณ์ตอนนี้คล้ายว่าเราประลองกำลังกันอยู่ ฝ่ายอำนาจวางเพดานให้ต่ำลงๆ เป็นภาวะที่ผมไม่คิดว่าฝ่ายคนรุ่นใหม่แพ้แล้ว แต่แค่รอการปะทุอีกรอบ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะปะทุอีกเมื่อไหร่และอีกกี่รอบ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็เป็นอย่างที่อาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) เคยเขียนไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ว่า ถึงที่สุดแล้วสังคมก็จะไปสู่การประนีประนอม ไม่เช่นนั้นอยู่ไม่ได้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นการประนีประนอมในลักษณะไหนและใครจะได้เปรียบหรือมีอำนาจมากกว่ากันในการประนีประนอมครั้งนี้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save