fbpx
จับตาสภาผู้แทนฯ ไทย กับ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

จับตาสภาผู้แทนฯ ไทย กับ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

การดำเนินบทบาทหน้าที่ของ ส.ส.ในสภามีส่วนใดที่ขาดตกบกพร่องไปหรือไม่ ส.ส.โหวตเพื่อใคร – ตามใจ ตามพรรค หรือตามฝ่าย ประชาชนจะตรวจสอบการทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาได้อย่างไร และ คนรุ่นใหม่มองการเมืองและสภาไทยอย่างไรบ้าง

101 เก็บข้อสังเกตจากงานวิจัยและทัศนะบางส่วนของ ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์วิจัยเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (Thailand Political Data Base – TPD) ในรายการ 101 one on one ep.85 “จับตาการทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาผู้แทนฯ’

ดาวน์โหลดงานวิจัย โหวตเพื่อใคร: ตามใจ ตามพรรค หรือ ตามฝ่าย ของ ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ได้ที่ : http://www.polsci.tu.ac.th/direk/view.aspx?id=442

:: ส.ส.ไทย ทำหน้าที่นิติบัญญัติหรือเปล่า ::

 

 

จากการเก็บข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2551-2556 ในสมัยของอดีตนายกฯ สมัคร-สมชาย-อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์ มีการเสนอกฎหมาย 169 ฉบับ แต่กฎหมายกว่าครึ่งถูกเสนอโดย ครม. ซึ่งเป็นการส่งผ่านมาจากศูนย์ราชการ ขณะที่ ส.ส. เสนอร่างกฎหมายเพียง 13 ฉบับ แล้ว ส.ส. ทำอะไรในสภา

นักรัฐศาสตร์ที่พูดถึงระบบการเมืองไทยคนหนึ่งชื่อ เฟรด ริกส์ (Fred Riggs) บอกว่าประเทศไทยอยู่ในระบบรัฐราชการ (bureaucratic polity) เวลาผ่านไปกว่า 40 ปีจากที่ เฟรด ริกส์ บอก ประเทศเราก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ คือราชการยังทำหน้าที่นิติบัญญัติ โดยเสนอร่างกฎหมายผ่าน ครม.

บางที ครม. เสนอร่างกฎหมายขึ้นมา ส.ส. รู้สึกว่าฉันอยากมีบ้าง ก็เลยเสนอร่างที่เหมือนกันเป๊ะไปประกบ เนื้อหาไม่ต่างกันเลย อาจต่างแค่หน้าปกที่เปลี่ยนจากร่างโดย ครม. ไปเป็นร่างโดย ส.ส. เท่านั้น

การเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณา ต้องมี ส.ส. 20 คน เข้าชื่อรับรอง แต่ ส.ส. ชุดที่ 23 หรือยุคของสมัคร–สมชาย-อภิสิทธิ์ มี ส.ส. 72 คน ไม่เคยเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายเลย ส่วน ส.ส. ชุดที่ 24 สมัยยิ่งลักษณ์ มี ส.ส. 194 คน ไม่เคยเสนอกฎหมายอะไรเลยเช่นกัน คำถามคือ ตกลงไม่คบเพื่อนหรือเพื่อนไม่คบ

ส.ส. มักพูดว่ากฎหมายเป็นเรื่องเทคนิค ไม่ค่อยมีความรู้ แต่ตอนนี้ ส.ส. มีผู้ช่วยได้ถึง 8 คน ส.ส. ได้รับเงินเดือนแสนกว่าบาท รวมผู้ช่วยอีกแสนกว่าบาท เป็นเงินเดือน 24,000  21,000 และ 15,000  บาทตามลำดับ มีสวัสดิการพร้อม ถ้ารวมค่าเลือกตั้ง เราจ่ายให้เขาเดือนหนึ่งประมาณ 6-7 แสน เหมือนเราซื้อรถเดือนละ 500 คัน ในจำนวนเท่านี้ถ้าเขาตั้งคนที่เก่งกฎหมายมาเป็นผู้ช่วย ก็น่าจะร่างกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

:: ส.ส.โหวตเพื่อใคร ::

 

Preview Changes (opens in a new window)

 

สิ่งที่เราเจอคือ ส.ส. โหวตตามพรรค เพราะความต้องการที่สุดของ ส.ส. คือได้นั่งในสภา แต่ก่อนจะได้นั่งเขาต้องได้ลงสมัครและรับเลือกก่อน ดังนั้น ส.ส. จึงต้องเป็นเด็กดี เพราะถ้าดื้อเรื่อยๆ พรรคก็ไม่ให้ลง

ย้อนไปสมัยปี 2540 ส.ส. อาจจะไม่แคร์พรรค เพราะสมัยนั้นคนเลือกตามตัวบุคคลไม่ใช่พรรค แต่หลังปี 2544 เป็นต้นมา พรรคเริ่มแข็ง ก็เลยมีคนที่โหวตตามพรรคด้วยระบบที่บีบเขา เช่น ส.ส. ระยอง ก่อนหน้านี้มีการโหวตเรื่องการนำเข้าสารเคมีผ่านทะเล คนระยองบอกไม่เอา แต่ ส.ส. ระยองไม่โหวตไม่ได้เพราะเป็นมติพรรค เขาก็ต้องโหวตสวนเสียงประชาชนแล้วค่อยไปแก้ตัวเอา

การมี Primary Vote จะช่วยแก้ให้ ส.ส. ไม่ต้องโหวตตามพรรค หากเห็นต่างจากพรรคในบางเรื่อง แล้วประชาชนในพื้นที่จะเลือกในสิ่งที่เขาทำ ก็ยังต้องเลือกเขาอยู่

จากสถิติตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา จะเห็นว่า ส.ส. กว่า 90 % โหวตตามพรรค เช่น ในยุคของทักษิณ 2 มี ส.ส. โหวตตามพรรคถึง 98.26 % ทุกคนโหวตตามพรรคหมด เพราะกระแสพรรคแรง ส.ส. ยิ่งไม่กล้าแตกแถว แม้จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว แต่ปรากฏว่าผลโหวตก็ไม่ได้ต่างกัน คำถามก็เลยเกิดว่า ตกลงโหวตเพื่อเราหรือเปล่า

 

:: ฝ่ายค้านหรือฝ่ายยังไม่ร่วมรัฐบาล? ::

 

 

ในงานวิจัยเราแบ่งสภาเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายที่ยังไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แน่นอนว่าฝ่ายรัฐบาลจะโหวตไปในทางเดียวกับพรรคแกนนำรัฐบาลเยอะอยู่แล้ว ส่วนฝ่ายที่ยังไม่ร่วมรัฐบาลก็น่าจะรวมตัวกันโหวต แต่ปรากฏว่าพรรคฝ่ายค้านครึ่งหนึ่งยังโหวตข้ามพรรคไปในแนวทางเดียวกันกับฝ่ายรัฐบาล ตกลงที่เราเรียกว่าพรรคฝ่ายค้านเนี่ย มันไม่ค้านนะ

ทั้งสองฝ่ายจะมีพรรคขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ปะปนกันอยู่ ตามปกติพรรคเล็กจะโหวตตามพรรคแกนนำใหญ่ๆ ในฝ่ายนั้น แต่พอมาดูฝ่ายที่ยังไม่เข้าร่วมรัฐบาลจะเห็นว่าพรรคเล็กไม่โหวตตามพรรคแกนนำของตัวเอง ไปโหวตข้ามพรรค เพราะเขารอเสียบไง เลยโหวตเอาใจไปก่อน

ในพรรคขนาดกลาง ตอนทำวิจัยผมตั้งสมมติฐานว่า พรรคขนาดกลางต้องมีอำนาจต่อรองสูงแน่เลย เพราะถ้าเขาออกเมื่อไหร่ รัฐบาลเจ๊งเลย แต่พรรคขนาดกลางกลับทำตัวเป็นเด็กดีมาก ตามสถิติพรรคขนาดกลาง 90% ขึ้นไป ไม่ได้โหวตแตกแถว เพราะขนาด ส.ส. พรรคฝ่ายค้านยังโหวตตามพรรคแกนนำฝ่ายรัฐบาลเลย แล้ว ส.ส. พรรคฝ่ายรัฐบาลจะกล้าแตกแถวได้ยังไง สรุปแล้วเขาไม่ได้โหวตตามเหตุผลของแต่ละเรื่อง แต่โหวตเพื่อตัวเองและการต่อรองทางการเมือง

แล้วเวลาพูดเรื่องโหวตก็ต้องถามก่อนว่า ออกกฎหมายหรือยังล่ะ ย้อนกลับไปตอนออกกฎหมาย ก็จะเห็นว่า ส.ส. ไม่ได้ทำหน้าที่นิติบัญญัติ จึงไม่มีกฎหมายอะไรให้ค้านกันอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องหยิบยกมาดีเบตกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็ไม่มี ดังนั้นการที่โหวตออกมาเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เขาเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองทั้งหมด แต่เรื่องที่เขาโหวตมันไม่มีประเด็นจะให้เถียงตั้งแต่แรก

 

:: ส่งสัญญาณใหม่ ให้ ส.ส. รู้หน้าที่และเวลา ::

 

 

เมื่อก่อนเราไม่เคยส่งสัญญาณบอก ส.ส. ว่าเราต้องการอะไรจากเขา เรามักจะต้องการเขานอกสภา ส.ส. จึงต้องออกมาพ่นยุงลายตอนหน้าฝนทั้งที่ก็มี อบต. อบจ. อยู่แล้ว เพราะเราคาดหวังว่า ส.ส. ต้องให้บริการสาธารณะ มันก็ปฏิเสธไม่ได้ทั้งหมดหรอก แต่คุณควรรู้ว่า ส.ส. ทำหน้าที่อะไร คำตอบคือเขาต้องทำหน้าที่ในสภา อย่างน้อยต้องรู้ว่าเข้าประชุมรัฐสภาวันไหนบ้าง ถ้าคุณเห็น ส.ส. ในพื้นที่วันประชุมสภาคือเขามาผิดที่

วันพุธ-พฤหัสบดี ส.ส. ควรต้องอยู่ในสภา เรายังโดนด่าเวลาโดดเรียนเลย ดังนั้นถ้า ส.ส. โดดสภาไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ก็ควรโดนด่าเหมือนกัน เรื่องแบบนี้ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ถ้าเราจัดงานวันในวันพุธ-พฤหัสบดี เขาก็อยากมาอยู่แล้วเพราะมันเป็นคะแนนเสียง แต่ถ้าเราไม่จัดไม่เชิญแล้วเขายังโดดมาอีก ก็ด่าได้เลยครับ โดดไปไหน ทำไมไม่มา ต้องเริ่มที่เราเรียกร้อง ส.ส.ให้ถูกเวลาและหน้าที่

ตอนนี้รัฐธรรมมนูญ 2560 ดี อนุญาตให้มี Primary Vote หรือการเลือกตั้งขั้นต้น ทำให้ ส.ส. สามารถดื้อ โหวตสวน หรือหนีมติพรรคได้ แต่ต้องเข้าใจว่า ถ้า ส.ส. ทำเพื่อเรา โหวตสวนมติพรรคแล้วไปลง Primary Vote เราก็ต้องซัพพอร์ตเขา ไม่ใช่ว่าเขาทำเพื่อเราแล้วเราก็ไปเลือกคนที่มาจากพรรคอยู่ดี เราต้องส่งสัญญาณกับเขา ใครที่ทำงานตอบสนองเราก็เลือกเขา เจอ ส.ส. ก็อย่าไปหลงคารม ให้ถามไปเลยว่าเป็นไงบ้าง วันนั้นโหวตอะไร เข้าประชุมหรือเปล่า วันนี้วันพุธทำไมถึงมา

 

:: พูดอังกฤษไม่ได้ไม่เป็นไร ขอประชาธิปไตยไว้ก่อน ::

 

 

ก่อนเลือกตั้งทุกคนตื่นเต้นมากว่าเราจะมีคนรุ่นใหม่ที่เป็น New Voter กว่า 8 ล้านคน มาเปลี่ยนแปลงประเทศ ก่อนเลือกตั้งผมจึงไปสำรวจว่าคนรุ่นใหม่คิดยังไงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยสอบถามคนในช่วงอายุ 18-23 ปี จำนวน 1,061 คนทั่วประเทศ

คำถามแรกถามว่าคนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากแค่ไหนจาก 0-10 คะแนน สัดส่วนที่มากที่สุดคือ 5 คะแนน ตรงกลางระหว่างสนใจกับไม่สนใจ ในทางวิชาการมันเหมือนกับไม่มีความคิดเห็น เฉยๆ  แต่ก็ยังมีถึง 17.9 % หรือ 1 ใน 5 ของคนรุ่นใหม่ตอบว่าสนใจการเมืองมากที่สุด 10 คะแนน

ถามว่าคนรุ่นใหม่อยากเห็นอะไรในตัวนายกฯ เราคงเคยเห็นว่าคนชอบจิกกัดนายกฯ เรื่องทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ แต่เมื่อไปถามจริงๆ ว่าคนอยากได้อะไร คนรุ่นใหม่ตอบมาเป็นอันดับ 1 ว่า ต้องการผู้นำที่มีความเป็นผู้นำ สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ อันดับ 2 คือ ผู้นำที่แก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ส่วนผู้นำที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ มาเป็นอันดับ 4 และผู้นำที่มีวาทศิลป์ในการสื่อสาร มาเป็นอันดับ 6 แปลว่าเขาไม่ต้องการคนพูดเก่ง แต่ต้องการคนที่แก้ปัญหาในวิถีทางประชาธิปไตยได้

ถ้าตามทวิตเตอร์ดูเหมือนคนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้น และมีคนบ่นเรื่องผู้นำกับภาษาอังกฤษมาก แต่ให้ดูว่าเวลาคนรีทวิตแฮชแท็กเกี่ยวกับการเมือง แม้จะขึ้นอันดับหนึ่ง ก็มีคนรีทวิตไม่เกินแสนคน แต่คนรุ่นใหม่มีถึง 8 ล้าน แล้วทวิตเตอร์ที่แต่ละคนใช้ มีกี่แอคเคาท์ แอคเคาท์ที่ใช้รีทวิตเป็นแอคหลุมหรือแอคจริง นี่เป็นคำตอบง่ายๆ ว่าสิ่งที่เห็นอยู่ในทวิตเตอร์ไม่ได้แปลว่ามันคือที่สุดในเรื่องการเมือง

 

:: สังคมเราสื่อสารกันอย่างไร ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่รู้การเมืองพื้นฐาน ::

 

 

คำถามส่วนหนึ่งในงานวิจัย เรามีคำถามเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจทางการเมือง เพราะถ้าเรารู้ว่าระบบการเมืองทำงานอย่างไร เหมือนดูกีฬาแล้วเข้าใจว่าใครคือกรรมการ กติกาเป็นยังไง เราก็จะเข้าใจเกมได้ดี คำถามของผมมี 4 ข้อ คือ

  1. ท่านทราบหรือไม่ว่าใครคือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน (สอบถามในช่วงกุมภาพันธ์ก่อนการเลือกตั้ง) คำถามนี้ คนรุ่นใหม่ไม่ทราบถึง 91.7 %
  2. ท่านทราบหรือไม่ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีกี่คน คำถามนี้มีคนรุ่นใหม่ไม่ทราบถึง5 %
  3. ท่านทราบหรือไม่ว่าจำนวน ส.ส. ทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎรมีกี่คน คำถามนี้มีคนรุ่นใหม่ไม่ทราบ2%

แต่เมื่อเราถามคำถามง่ายๆ ในข้อที่ 4. ว่า ท่านทราบหรือไม่ว่าประชาคมอาเซียนมีสมาชิกกี่ประเทศ มีคนรุ่นใหม่ตอบไม่ได้เพียง 33.4 %

ข้อมูลที่เอามาเล่าไม่ได้แปลว่าคนไม่ดีนะ แต่อยากจะบอกว่า เรามารู้เรื่องนี้ด้วยดีไหม เพราะเวลามีการตัดสินอะไรในประเด็นการเมือง คนเหล่านี้ทั้งนั้นเลยนะที่เป็นผู้ตัดสิน และไม่ใช่ความผิดของ New Voter ที่ไม่รู้ เพราะถามผู้ใหญ่เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน แล้วเราสื่อสารกันอย่างไร ทำไมสังคมถึงไม่สนใจเรื่องนี้เลย

การที่คนรุ่นใหม่ตอบได้ว่าอาเซียนมีกี่ประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่โรงเรียนสอน และสะท้อนให้เห็นว่าถ้าโรงเรียนอยากจะสอนเรื่องการเมือง มันทำได้ทั้งนั้นแหละ ทุกวันนี้มีการจัดบอร์ดแปะธง 10 ชาติอาเซียนอยู่หน้าโรงเรียน แล้วทำไมเราไม่มีจัดบอร์ดว่า ส.ส. 500 คนเป็นใครบ้าง เดี๋ยวนี้เรียนวิชาสังคมศึกษาเรายังสอนเรื่องพวกนี้ไหม ประชาธิปไตยในโรงเรียนเราสอนกันอย่างไรล่ะ

บางทีเรามาเรียนรู้กันเองข้างนอก เราก็เรียนกันจากอินฟลูเอนเซอร์ หรือเลือกฟังคนที่ตรงใจตัวเอง ถึงจะผิดก็เลือกฟังอยู่ดี แต่ถ้าเรามีข้อมูลพื้นฐานอยู่ที่ตัวเอง เราก็จะรู้ว่าต้องฟังหูไว้หู ชั่งใจ และหน้าที่ในการอธิบายเรื่องพื้นฐานแบบนี้ เป็นสิ่งที่พรรคการเมือง สภา หรือโรงเรียน ก็ต้องทำ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save