fbpx
ครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์

“อาวุธที่ทรงพลังที่สุดของประชาชนคือความจริง” ครูใหญ่ – อรรถพล บัวพัฒน์

ทุกครั้งที่ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ‘ครูใหญ่’ ตบเท้าขึ้นสู่เวทีปราศรัย หลายคนมักเฝ้ารอว่าเขาจะมาไม้ไหน เพราะแกนนำราษฎรคนนี้พกท่วงท่าลีลาอันสร้างสรรค์มาแทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นมุกตลกร้ายหรือสำนวนวาจาที่ฉะฉาน

เขาคือชายที่ประกอบอาชีพครูและติวเตอร์มาก่อน จนมาสตาร์ตบทบาทขับเคลื่อนประชาธิปไตยจากการชุมนุมแฟล็ชม็อบที่จังหวัดขอนแก่น และดำเนินกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายภาคอีสาน ในนาม ‘ราษฎร โขง ชี มูล’ เขาปราศรัยในกรุงเทพมหานครครั้งแรงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย – ครูใหญ่ในวันนั้นคือชายที่เดินขึ้นเวทีพร้อม ‘กล่องวิเศษ’ หยิบยก ‘งูเห่า’ ออกมาแซวนักการเมืองบางคน หยิบ ‘แป้ง’ ออกมาลั่นวาทะเด็ด ‘มันคือแป้ง’ เรียกเสียงหัวเราะชอบใจจากผู้คนได้อยู่หมัด

เขาต่อสู้ทางการเมืองเรื่อยมาพร้อมกับเพื่อนแกนนำและประชาชนที่เขารัก และมักเรียกรวมๆ ว่า ‘พรรคพวก’ จนถูกแจ้งข้อหาความผิดต่างๆ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 , พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กระทั่งเมื่อเขาเข้าปราศรัยที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีในประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ครูใหญ่จึงกลายเป็นหนึ่งในแกนนำที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112

ในวันที่แกนนำราษฎรถูกจับกุมดำเนินคดี ผู้คนส่งเสียงร้องขอความยุติธรรมจากกระบวนการทางกฎหมาย ในวันที่ข้อเรียกร้องและความฝันของประชาชนยังถูกกล่าวขานเรื่อยไป 101 สนทนากับ ครูใหญ่ – อรรถพล บัวพัฒน์ ถึงเส้นทางการเมืองบนท้องถนนของเขา วิธีคิดเบื้องหลังการปราศรัย และความคิดความอ่านต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน – ในคืนวันแบบนี้ เขาจะมาไม้ไหน

ก่อนจะถูกจดจำในฐานะผู้มีลีลาการปราศรัยอันโดดเด่น คุณเดินในเส้นทางอาชีพ ‘ครู’ มาก่อน

ผมเริ่มจากเป็นติวเตอร์ช่วงที่เป็นนักศึกษาปี 3-4 ก็ไปติวตามบ้านให้นักเรียนครั้งละ 5-10 คน พอเรียนจบปริญญาตรีที่คณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมก็ได้ทุนเรียนปริญญาโทสาขาปรัชญา ที่คณะเดิม ระหว่างรอเรียนต่อก็ไปเป็นครูที่โรงเรียนภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ อยู่หนึ่งเทอม พอเรียนต่อปริญญาโทก็เป็นติวเตอร์ไปด้วย แต่เป็นติวเตอร์ที่มีลักษณะเป็นวิทยากร ติวในห้องใหญ่ๆ ตามที่โรงเรียนเชิญไป ติวนักเรียนครั้งละ 400-500 คน ผมสอนวิชาสังคม, ภาษาไทย, GAT เชื่อมโยง และ PAT 5

ช่วงที่เรียนต่อและทำวิทยานิพนธ์ ผมได้มาเป็นครูอยู่ที่กรุงเทพฯ ช่วงหนึ่ง แล้วก็กลับไปเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนเอกชนที่ขอนแก่นอีกเทอมหนึ่ง หลังจากนั้นงานติวเตอร์เข้ามาค่อนข้างมาก ก็เลยตัดสินใจไม่เรียนต่อ ทำงานอย่างเดียว ดังนั้นไทม์ไลน์ชีวิตผมจริงๆ มันทับซ้อนกัน ทั้งเรียน ทั้งติวเตอร์ ทั้งครู แต่ก็ถือว่าสอนหนังสือมาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบเลย


จากการเป็นครูขยับมาพูดเรื่องการเมืองได้อย่างไร

ก็พูดอยู่แล้วเรื่อยๆ ไม่ได้แยกขาดจากกันเสียเท่าไหร่ เพราะผมสอนเด็กมัธยมซึ่งโตพอสมควรที่จะคุยเรื่องพวกนี้กัน ก่อนหน้านี้ตัวเราเองเป็นคนสนใจการเมืองอยู่แล้ว แต่อาจไม่ได้มากมาย จริงๆ การคุยกับนักเรียนนี่แหละ คือสิ่งที่ทำให้เราตกผลึก

นักเรียนยุคนี้เขาขวนขวายหาความรู้มากกว่าเราเยอะ โดยเฉพาะเรื่องสังคม การเมือง หรือข่าวคราวต่างๆ หลังคลาสเรียนเขาก็จะชวนสนทนาในเรื่องเหล่านี้ บางทีก็หยิบเรื่องจากต่างประเทศมาวิเคราะห์กันในวงสนทนา ทำให้เราได้รับข้อมูลอะไรจากเขามากพอสมควร อีกอย่างในช่วงที่เรียนปริญญาโทอยู่ แม้จะเรียนไม่จบ แต่ก็ได้เรียนรู้ด้านทฤษฎีแนวคิดทางปรัชญา สังคม การเมือง ทำให้ผมตกผลึกทางความคิดมาเรื่อยๆ


ยกตัวอย่างได้ไหมว่าเนื้อหาแบบไหนที่นักเรียนชวนคุณคุยหลังคลาสจบ

ก็เช่น ตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ไทย เรื่องที่ไม่ได้อยู่ในตำราเรียน เขาจะมาถามว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้จริงไหม ครูคิดยังไง สิ่งที่เราทำได้ก็คือบอกว่ามันมีทฤษฎี มีการตีความหรือแนวคิดว่าอย่างนี้นะ คล้ายกับที่อาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) เคยพูดไว้ คนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์คือคนตาบอดหนึ่งข้าง คนที่เชื่อประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการคือคนตาบอดสองข้าง ประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ที่ยัดเยียดให้เชื่อตามที่เขาอยากให้เชื่อ

ถ้ามีตำราที่ยัดเยียดให้เชื่อ เป็นไปได้หรือที่คนประกอบอาชีพครูจะสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างรอบด้านให้นักเรียน

เป็นไปได้สูงมาก จริงๆ แล้วถ้าเรามีเวลามากพอ ก็สามารถพูดถึงเนื้อหาสองส่วนแบบแยกแยะได้ นี่คือเนื้อหาแบบกระทรวงศึกษาธิการนะ นี่คือเนื้อหาแบบที่นักประวัติศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งเขาว่ากันนะ การทำแบบนี้ทำให้เด็กสอบได้คะแนนมากกว่าเดิมด้วยนะ เพราะเขาจำได้จากการเปรียบเทียบ อ๋อ กระทรวงศึกษาฯ แม่งว่าอย่างนี้ ส่วนคนนี้ว่าอย่างนี้ เด็กเขาแยกแยะได้โดยไม่จำเป็นต้องฟันธงว่าแบบไหนถูกหรือผิด

แต่อย่าลืมว่าครูกลายเป็นสิ่งที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาด้วยเช่นกัน หากเรากลับไปเปิดดูหลักสูตรหรือตำราเรียนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาซึ่งมีเนื้อหาทั้งเรื่องศาสนา ประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ สองวิชานี้มีการปรับหลักสูตรบ่อยมาก ในแต่ละยุคสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา คนใดฝั่งใดเข้ามาเป็นรัฐมนตรีก็จะไปยุ่มย่ามอยู่กับเนื้อหาตรงนั้น

เช่น ในวิชาภาษาไทย เรื่องสั้นหรือวรรณกรรมที่กำหนดให้นักเรียนอ่านก็จะแตกต่างกันไป ในยุคที่ต้องการให้เราสยบยอมมากๆ หรือเทิดทูนอะไรมากๆ ก็จะเอาวรรณคดีวีรบุรุษของกลุ่มชนชั้นนำมาให้อ่านมาก ถ้าเป็นวิชาสังคมประวัติศาสตร์ในแบบกระทรวงศึกษาฯ ก็จะมีลักษณะขาดวิ่น ขาดที่มาที่ไป อยู่ดีๆ ก็มีเหตุการณ์นี้ให้เราเรียน แล้วก็เชิดชูตัวบุคคล กลายเป็นประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำที่ไม่เล่าว่าชนชั้นล่างอยู่อย่างไร เราไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ของประชาชน เราเรียนแต่ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำ

การศึกษาสร้างสิ่งที่เรียกว่าจิตไร้สำนึก สร้าง mindset โดยที่เราไม่ได้รู้ตัวผ่านสิ่งที่เราอ่านและถูกสอน


ครูใหญ่มีประสบการณ์ที่สร้างจุดเปลี่ยนเกี่ยวกับมุมมองต่อสังคมการเมือง หรือแบบที่สมัยนี้เรียกกันว่า ‘เบิกเนตร’ ไหม

ไม่มีเหตุการณ์ไหนเป็นจุดเปลี่ยน แต่เป็นการค่อยๆ สะสมข้อมูลมาเรื่อยๆ ถ้าถามว่าผมรู้สึกว่าตัวเองเบิกเนตรจริงๆ ตอนไหน ผมคิดว่าสัก 3 ปีย้อนหลังจากตอนนี้ คือเพิ่งหลุดพ้น ‘กลิ่นกะทิ’ ผมยังพูดเสมอว่ากลิ่นกะทิยังติดตัวอยู่เลย

การสะสม mindset ใหม่น่าจะเริ่มสักช่วงมัธยม เราเป็นเด็กที่มีทักษะทางภาษาไทยกับสังคมศึกษา เวลามีการแข่งขันอะไรในสองวิชานี้ เราก็มักจะเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่ง เช่น แข่งแต่งกลอน คำขวัญ เรียงความ สุนทรพจน์ โต้วาที ตอบคำถามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย พูดง่ายๆ ว่าเป็นลูกรักหมวดภาษาไทยกับหมวดสังคม

เวลาต้องแต่งกลอนหรือเรียงความ ผมสังเกตว่า ตั้งแต่ ม.1 จนถึง ม.6 หัวข้อเหมือนเดิมทุกปีเลย ไปแข่งรอบไหนก็เป็นเรื่องทำนองนี้ น่าจะรู้ๆ กันว่าทำนองไหน (หัวเราะ) จนรู้สึกว่าเอียน ถ้าเป็นหัวข้ออย่างนี้ไม่ไปแข่งแล้วนะ เพราะเราไม่สามารถแต่งเรื่องเดิมในสำนวนใหม่ได้อีกแล้ว

ช่วงปริญญาตรีก็เป็นวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตแบบทั่วๆ ไป เขาฆ่ากันตายอยู่ที่กรุงเทพฯ ปี  2553 ผมไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ ผมบอกตัวเองว่าตอนนั้นผม ignorance และใช้ชีวิตแบบตื้นเขินมาก มาพูดคุยเรื่องการเมืองเข้าจริงๆ ก็ตอนสอนนักเรียนช่วงที่เรียนปริญญาโท


คุณเริ่มปราศรัยเกี่ยวกับการเมืองไทยในแฟล็ชม็อบ #มขพอกันที่ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร

มข.พอกันทีเกิดจากกลุ่มและบุคคลต่างๆ ทั้งจากโลกออนไลน์และออฟไลน์ เช่น กลุ่มดาวดิน กลุ่ม UNME กลุ่ม KKU politics กลุ่ม KKU Aquarium และคนที่ไม่สังกัดกลุ่มไหนด้วย ตอนนั้นผมเป็นติวเตอร์ ก็มีนักเรียนที่เรียนกับผมแล้วเข้าไปอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย มีคนที่เคยทำงานร่วมกัน เขาต่อสายมาว่าเราจะแฟล็ชม็อบกันนะ พี่มาช่วยหน่อย ผมน่าจะเป็นคนสุดท้ายที่เข้าไปร่วม

ผมได้ปราศรัยเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก พูดว่ารัฐปกครองเราอย่างไร แล้วก็พูดปลุกใจ (หัวเราะ) หลังจากจบงานนั้นมีหลายคนที่อยากจะทำงานขับเคลื่อนต่อ โดยเหลือเราเป็นผู้อาวุโส (หัวเราะ) เป็นพี่ที่สามารถซัพพอร์ตน้องๆ ได้ เวลาน้องๆ เรียน ผมก็ตามเก็บงานให้เพราะเรามีเวลามากกว่า ต่อมาเราก็ปรึกษากันว่าถ้าเป็นแค่ ‘มข.พอกันที’ ก็จะได้แค่นักศึกษา ก็เลยเปลี่ยนเป็น ‘ขอนแก่นพอกันที’ ในงานถัดมา

ปัจจุบันก็มีการเชื่อมโยงกับหลายกลุ่มมาก ถ้าดูโครงสร้างในอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่นกับมหาสารคามก็เริ่มมีความสัมพันธ์กัน หลังจากนั้นพอเริ่มมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด เราจะพยายามส่งคนไปทำความรู้จักกับทีมงานทุกจังหวัดในอีสาน จนกลายเป็นกลุ่มใหญ่คือ ‘ราษฎร โขง ชี มูล’ ประกอบไปด้วยกลุ่มขอนแก่นพอกันที แนวร่วมนิสิตมมส. อุดรพอกันที โคราชมูฟเมนต์ เป็นต้น


เปรียบเทียบกับวันที่ปราศรัยใน มข. มาถึงวันนี้ คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์การเมืองและการต่อสู้ของประชาชนอย่างไร

อย่างแรกคือประเด็นสื่อสารที่ถูกยกระดับเร็วมากๆ แรกๆ ก็ตกใจนะว่า เฮ้ย เราจะยกระดับกันเร็วขนาดนี้เลยหรือ ผมไม่คิดว่าคนจะพร้อมรับเนื้อหาแบบนี้ แน่นอน ไม่มีเรื่องไหนหรอกที่จะทำให้คนทั้งสังคมเห็นพ้องต้องกัน 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่เราไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่าจะมีคนเห็นด้วยมากขนาดนี้ ผมใช้แค่คำว่ามากนะ ไม่ใช้คำว่าส่วนมาก เพราะยังไม่เคยถูกวัดเป็นตัวเลข และอาจจะเป็นเรื่องที่ห้ามวัดเป็นตัวเลขด้วยซ้ำ (หัวเราะ) การที่คนเห็นด้วยมากขนาดนี้ ด้วยความรวดเร็วขนาดนี้ นี่คือสิ่งที่น่าตกใจ

น่าตกใจอีกอย่างคือความเปลี่ยนแปลงของชีวิตตัวเอง เราเองไม่ใช่คนที่มาอยู่แถวหน้าตั้งแต่แรก เราอาจจะถูกผลักด้วยพลังบางอย่าง อาจจะด้วยความนิยมหรือการเป็นคนที่สามารถประสานงานในภูมิภาคได้ แต่ในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี เรากลายเป็นที่รู้จักของคนจำนวนมาก ก็ตั้งรับชีวิตยากอยู่เหมือนกันว่าเรามาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง เราเคยนั่งดูข่าวคนอื่น ทุกวันนี้เรานั่งดูข่าวตัวเอง ไปเป็นคนในข่าวได้ยังไง ไม่มีใครรู้หรอกว่าวันหนึ่งฉันจะเป็นแกนนำ จะเป็นข่าว


เมื่อเพดานถูกยกระดับขึ้น มีการปราศรัยเรื่องสถาบันฯ ในที่ชุมนุม คุณต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้ามองเชิงพื้นที่ ผมเชื่อว่าคนในกรุงเทพไปเร็วกว่าคนต่างจังหวัดในประเด็นนี้ แต่อย่าลืมว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องอายุและเจเนอเรชันด้วย ผมคิดว่าคนเจเนอเรชัน Y และ Z อยู่พื้นที่ไหนก็เหมือนกัน น่าจะมีความเข้าใจที่ไปไกลกว่าผมด้วยซ้ำ แต่เจเนอเรชัน Baby Boomer ในต่างจังหวัด ผมไม่คิดว่าเขาจะทัน ดังนั้น ผมเลยต้องใช้เวลาคิดว่าจะสื่อสารกับพวกเขาอย่างไร วิธีการพูดของผมจะมุ่งเน้นสื่อสารกับคนกลุ่มนี้

อันดับแรก ต้องคิดว่าสื่อที่คนกลุ่มนี้จะเข้าถึงคือสื่อแบบไหน ผมไม่ชอบการออกทีวี ไม่ว่าจะช่องไหนก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราสมาทานว่าต้องสื่อสารกับคนอีกเจเนอเรชัน เราอาจจะต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสื่อหลัก เพราะถ้าเราใช้แค่พื้นที่บนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มันก็ได้แค่คนรุ่นหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนี้ก็ต้องสื่อสารประเด็นเดิมซ้ำๆ เพราะการสื่อสารครั้งเดียว เราจะยังไม่รู้ว่าสารถึงคนฟังมากพอหรือยัง ดังนั้นจะเห็นว่าผมจะไม่ได้พูดแรงมาก เพราะเราคำนึงว่าเราเคยเป็นคนที่มีกลิ่นกะทิติดตัวเหมือนกัน อย่าลืมว่าพวกเขาก็คือคนที่ถูกชโลมกะทิชโลมความเชื่อแบบหนึ่งมาตั้งแต่เกิดจนโต หรืออาจจะจนแก่แล้ว เราจะคิดว่าพูดทีเดียวให้ความคิดทุกอย่างพังทลายลงมาเลยไม่ได้ เราต้องถอดสลักความคิด สร้างความเชื่อมโยงในแต่ละเรื่อง เช่น เรื่องปากท้องเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางการเมืองระดับใหญ่ยังไง ก็ต้องทำการบ้านอยู่พอสมควร

คนเจเนอเรชัน Y และ Z อาจจะรู้สึกว่าทำไมครูใหญ่พูดเรื่องเดิมๆ ให้ผมพูดตรงๆ ก็คือผมไม่ได้สื่อสารกับคุณ ผมสื่อสารกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง


แปลว่าภายในกลุ่มแกนนำก็มีการแบ่งบทบาทเรื่องการสื่อสารกัน

เราก็เข้าใจกันดีว่าใครเหมาะที่จะสื่อสารกับเจเนอเรชันไหน ภาษาที่แต่ละคนใช้เป็นภาษาแบบไหน วางตัวยังไงให้เขารู้สึกว่าอยากจะฟังคนนี้พูด ในส่วนของผมนอกจากสื่อสารกับเจเนอเรชัน Baby boomer แล้ว ก็จะสื่อสารกับคนที่ยังครึ่งๆ กลางๆ ยังไม่รู้ว่าจะหันซ้ายหรือหันขวาดี หรือคนที่หันซ้ายไปแล้วแต่ยังไม่สุด ส่วนกลุ่มที่ไปสุดเขาก็คงอยากจะฟังหรืออยากจะรับสารที่สุดขึ้นไปอีก ก้าวหน้ากว่านี้อีก

สังคมเราอยู่ในภาวะที่มีคนเดินเร็ว มีคนเดินช้า มีคนยังไม่เริ่มสตาร์ทเลย คนที่เดินเร็วอาจจะรู้สึกหงุดหงิดเมื่อมองกลับมา เฮ้ย ทำไมพวกมึงถึงยังมาไม่ถึงตรงนี้อีกวะ ผมก็จะต้องทำหน้าที่คอยบอกคนที่ยังมาไม่ถึงว่าต้องเดินยังไงถึงจะไปทันพรรคพวกเขา


ครูใหญ่เป็นอีกคนที่ได้รับการขนานนามถึงลีลาการปราศรัย คุณมีทั้งมุกตลก มีอุปกรณ์ สร้างความตื่นเต้นทุกครั้งที่ขึ้นเวที นี่เป็นหนึ่งในกลวิธีที่วางไว้หรือเปล่า

ผมอาจจะได้อิทธิพลมาจากสื่อการสอนนั่นแหละ (หัวเราะ) ผมคิดว่าการปราศรัยแต่ละครั้งต้อง educate คนให้ได้ ผมไม่ได้ตั้งใจมาพูดเพื่อระบายความรู้สึกหรือเพื่อแค่ให้ข้อมูล ผมต้องการยกระดับการเรียนรู้และวิธีคิด เมื่อเราได้รับความสนใจให้เป็นคนสำคัญแล้ว คำพูดของเราจะมีพลังต่อผู้ฟังอย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นแม้แต่เราเองก็ต้องเรียนรู้ ต้องผ่านการโดน educate เหมือนกัน


ครูใหญ่เวลาสอนหนังสือกับปราศรัยนี่เหมือนกันไหม

พอกัน เวลาสอนหนังสือผมก็สไตล์ประมาณนี้แหละ อาจจะเล่นมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะไม่ใช่เรื่องเครียดขนาดนั้น ผมจะคิดว่าทำยังไงให้เขาเข้าใจ จำเรื่องนี้ได้ แล้วก็ไปสอบได้ เราก็เลยมีวิธีเล่นตลกมากมาย

การปราศรัยครั้งแรกในกรุงเทพฯ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมก็พยายามคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้เครียด ก็เลยมีกล่องวิเศษ (กล่องอุปกรณ์ประกอบการปราศรัย) นั้นออกมา ทำให้คนน่าจะติดภาพว่าวันนี้ครูใหญ่จะมาเล่นอะไร แต่หลังจากนั้นผมก็เล่นให้น้อยลง เพื่อให้สารของเรามีพลังและเป็นทางการมากขึ้น คือถ้าเล่นมากเกินไปก็เหมือนไม่มีอะไร แต่ถ้าไม่เล่นเลย ไม่ขายขำเลย ก็จะทำให้ผู้ฟังเครียด ความสนุกทำให้เกิดการซึมซับได้เร็วกว่าความเครียด อาจจะฟังไปเพลินๆ แต่จำเนื้อหาได้


จริงๆ แล้วก่อนขึ้นไป ‘ขายขำ’ คุณเครียดไหม ความรู้สึกก่อนขึ้นปราศรัยเป็นอย่างไร

ไม่เครียด ผมชินกับการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก ผมค่อนข้างช่ำชองเรื่องการใช้ไมค์ เพราะสอนหนังสือมาก่อน และทุกครั้งไม่ว่าจะเครียดเรื่องอะไรก็ตาม ผมจะคิดว่าการที่ต้องเอนเตอร์เทนคนไปพร้อมกับให้เนื้อหาสาระ ไม่ว่าจะเข้าห้องสอนหรือขึ้นบนเวที เราต้องสลัดเรื่องข้างหลังออกไปให้ได้ ดังนั้นผมจึงไม่ต้องปรับตัวใหม่เรื่องการวางความเครียดก่อนขึ้นเวที เพราะผมใช้ชีวิตแบบนี้มาตลอด ไม่ว่าตัวเองจะไม่สบาย มีเรื่องข้างหลัง มีภาระอะไร ในเวลาหกชั่วโมงที่ผมสอน ต้องลืมเรื่องเหล่านั้นไปเลย


แกนนำคนอื่นๆ เตรียมตัวและต้องวางความเครียดทุกอย่างไว้ข้างหลังเหมือนกันไหม

ใช่ มันเป็นเรื่องการจัดการอารมณ์ อย่างเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) กว่าเขาจะขึ้นพูดแต่ละครั้งเนี่ย เขาเตรียมประเด็นมาแล้ว คิดมาดีแล้ว ส่วนมากเวลาขึ้นเวทีเขาจะไม่ถือโพย บางครั้งผมก็เห็นเขานั่งอ่านทวนสิ่งที่จะพูด เขาจะนั่งทำความเข้าใจของเขาแบบนั้น ประเด็นเขาก็จะไม่บกพร่องเลย

ส่วนอานนท์ (อานนท์ นำภา) จะไม่ขึ้นเวทีบ่อย แต่การขึ้นเวทีของอานนท์แต่ละครั้งทรงพลังมาก เพราะเขาทำการบ้าน หาข้อมูล รองรับในสิ่งที่จะสื่อสารอย่างดีมาก หรืออย่างล่าสุด มายด์ (ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล) ก็เครียดอยู่หลายวันกับประเด็นที่จะต้องสื่อสาร เราก็ปรึกษากันว่าสื่อสารออกไปอย่างไรดี

การปราศรัยเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่การวางสารที่จะสื่อ วางประเด็นที่จะเรียกร้อง วางประเด็นที่เราจะตีแผ่ไป เป็นเรื่องใหญ่มาก ใครเหมาะที่จะพูดประเด็นไหน ใครเหมาะที่จะขึ้นช่วงไหน แต่ละคนมีบุคลิกของตัวเอง ดังนั้นเวลาจะสื่อสารประเด็นอะไรที่เครียดหรือเปิดประเด็นใหม่ อาจไม่เหมาะกับครูใหญ่ ครูใหญ่เหมาะกับการให้พรรคพวกเปิดประเด็นไปสักพักหนึ่ง แล้วมาดูว่าขาดตกบกพร่องเรื่องอะไร เราจึงค่อยเสริม ผมจะพยายามรู้ก่อนว่าพรรคพวกจะปราศรัยเรื่องอะไร แล้วเอามาย่อยให้ง่าย ในภาษาที่ง่าย ส่วนคนที่เหมาะกับการเปิดประเด็นใหม่ๆ ก็เช่น เพนกวิน อานนท์ เพราะความเฉียบแหลม ความลุ่มลึกของเขา


ที่หมู่บ้านทะลุฟ้า คุณปราศรัยโดยใช้คำว่า ‘ประชาธิปไตยครึ่งแดด’ อธิบายการชุมนุมของประชาชนในช่วงที่ผ่านมา มันหมายถึงอะไร

เราออกมาชุมนุมกันทีละครึ่งแดดไง แป๊ปเดียวแล้วก็ไป ซึ่งทำให้หลายคนหงุดหงิดนะว่าทำไมมาแค่นี้ บางคนที่เขาเคยต่อสู้มาก่อนก็จะรู้สึกว่าต้องปักหลัก มาแค่นี้จะได้อะไรวะ แต่จริงๆ แล้วมันได้ แล้วมันลงทุนน้อย มันเหนื่อยน้อย มาแค่ครึ่งแดดก็พอ สี่โมงเย็นถึงหกโมงเราเจอแดดสองชั่วโมง หลังจากนั้นเจอความมืดอีกสักสองสามชั่วโมง ครึ่งหนึ่งมีแดด อีกครึ่งหนึ่งไม่มีแดด บางคนออกมาหลังจากหมดแดดแล้วด้วยซ้ำ ผมก็เลยเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งแดด ไม่จำเป็นต้องไปตากแดดทั้งวัน เรามาครึ่งแดดกันบ่อยๆ มาแต่ละครั้งก็คิดเรื่องที่จะสื่อสารให้ดี


แต่ช่วงที่ผ่านมาหลายคนส่งเสียงว่าอยากจะยกระดับการชุมนุม กระทั่งตั้งคำถามต่อสันติวิธี คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

มันไม่มีทางเลือกใดที่ดีไปกว่าสันติวิธี ไม่รู้ว่าพอหรือไม่พอ แต่เราไม่สามารถที่จะเอาชนะงบประมาณ บุคลากร อาวุธของรัฐได้หรอก อาวุธใดๆ ก็ตามที่คุณจะผลิตได้ คุณคิดว่าสู้ปืน สู้โล่ สู้ระเบิด สู้รถถังได้ไหม ทุนตัวเองหรือจะสู้ทุนรัฐ ผมพูดแบบนี้ไม่ได้จะบอกว่าคุณต้องเตรียมอาวุธ แต่ผมหมายความว่าหากจะบอกให้ทุกคนเตรียมอาวุธออกไปสู้ เราเตรียมอาวุธไปสู้กับอะไร และสมมติเราเอาชนะเจ้าหน้าที่ได้ แล้วยังไงต่อ เราไม่ได้ทะเลาะกับตำรวจ เราไม่ได้ทะเลาะกับ คฝ. นะ เราทะเลาะกับผู้มีอำนาจ ดังนั้นเราต้องกระทุ้งไปที่อำนาจ ที่ตัวผู้มีอำนาจ ไม่ใช่กระทุ้งไปที่โล่


เช่นนั้นแล้ว อาวุธที่ทรงพลังที่สุดของประชาชนในตอนนี้คืออะไร

ความจริง ช่วยกันนำความจริงออกมา แค่ความจริงและการเรียนรู้ก็ทรงพลังมากแล้ว

ผมมองที่ชัยชนะรายทาง การเก็บเกี่ยวชัยชนะไปเรื่อยๆ อย่างที่ผมพูดซ้ำๆ เสมอว่าเราได้อะไรมามาก เราได้การผลักดันรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภา เราสร้างการพูดคุยเรื่อง มาตรา 112 ในสาธารณะ ถ้าเราไปปักหลักว่าประยุทธ์ต้องออกไปก่อนถึงจะเรียกว่าชนะ แล้วเมื่อไหร่มันจะออกไป ผู้มีอำนาจก็ต้องพยายามรักษาอำนาจของตัวเองไว้ให้นานและมากที่สุด ดังนั้น ชัยชนะรายทางที่เรามีมาโดยตลอดคือการสร้างการเรียนรู้ของสังคม สร้างฐานความคิดให้มากขึ้น ถ้าเราจะเปลี่ยนประเทศนี้จริงๆ ต้องเรียนรู้ให้มากกว่านี้ และต้องมีคนที่เข้ามาเรียนรู้มากกว่านี้ คนที่รู้แล้วก็ต้องเรียนรู้ให้ลึกขึ้นและต้องสร้างการเรียนรู้ให้คนอื่นด้วย


ประชาชนใช้ความจริงต่อสู้ แต่ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐเขาตอบโต้อย่างรุนแรง  

สิ่งที่เขาทำอาจสร้างความกลัวได้ แต่เปลี่ยนทัศนะของคนไม่ได้


การที่แกนนำถูกจับกุมดำเนินคดีอาจสร้างความกังวลและอาจทำให้ประชาชนเสียกำลังใจ ขณะเดียวกันหลายเสียงก็พยายามย้ำถึงการชุมนุมแบบไม่มีแกนนำ คุณคิดเห็นอย่างไร

มันก็มีคนใหม่ได้เรื่อยๆ เมื่อดาวจรัสแสงแล้ว บางครั้งแสงอาจจะสว่างจ้าจนทำให้เราลืมมองดาวดวงอื่นๆ ดังนั้นต่อให้คุณเก็บดาวไปร้อยดวง ก็มีดาวเกิดขึ้นใหม่อีกร้อยดวง มันมีอยู่แล้ว มันมี สุดท้ายภาวะความเป็นผู้นำเกิดขึ้นได้เสมอ

การเคลื่อนไหวแบบมีแกนนำและไม่มีแกนนำ ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การมีแกนนำคือการได้เปิดประเด็น ชี้เป้า เป็นผู้นำในสิ่งที่สังคมต้องพูดคุยกัน การเคลื่อนไหวแบบไม่มีแกนนำคือการกดดัน ทั้งสองแบบต้องทำควบคู่กันไป ผมมองว่าเราไม่สามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้


คุณประเมินมาแล้วหรือเปล่าว่าอาจจะต้องเจอการดำเนินคดี กังวลแค่ไหนกับคดีที่เผชิญอยู่ในตอนนี้

ไม่ได้ประเมินมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่พอเดินมาถึงจุดนึงก็คิดว่า ถ้าเราไม่ยอมเสีย ก็หยุดซะตั้งแต่ตรงนั้น ตรงที่เรายังไม่บาดเจ็บอะไรเลย ตรงที่เรายังไม่มีคดีความ หยุดแล้วปล่อยให้คนอื่นเขาโดนไป แล้วก็นั่งดูพรรคพวกค่อยๆ เข้าคุกกันไป แต่พอถึงจุดหนึ่งก็ต้องถามต่อว่า เราจะปล่อยให้พรรคพวกสู้ แล้วเรานั่งเชียร์โดยที่กลัวว่าตัวเองจะต้องบาดเจ็บหรอ ดังนั้น โอเค รับรู้แล้วแหละว่าถ้าเดินไปมากกว่านี้จะบาดเจ็บ

ผมว่ามันไร้เดียงสามากเลยถ้าคิดว่าจะสู้โดยไม่บาดเจ็บ ดังนั้นผมใช้เวลาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจัดการกับความกังวลเหล่านั้น ทั้งเรื่องการงาน ครอบครัว จัดการว่าถ้าวันนึงเราต้องถูกจับกุมคุมขัง สิ่งต่างๆ จะดำเนินต่อไปอย่างไร ผมก็เลยไม่มีความกังวลเรื่องข้างหลังแล้ว อาจจะกังวลเรื่องความลำบากของชีวิตในคุก ไม่มีใครอยากลำบาก แต่ถ้ามันจำเป็น ผมก็ถามตัวเองว่าการถูกจำกัดเสรีภาพ ความลำบากในเรือนจำ คุ้มมั้ยกับสิ่งที่เราทำก่อนที่จะเดินเข้าไป ซึ่งผมคิดว่าคุ้มแล้ว


คุณมองกระบวนการยุติธรรมที่เพื่อนๆ แกนนำซึ่งถูกคุมขังกำลังเจออยู่อย่างไร ยังมีหวังไหม

มันคือกระบวนการที่พยายามปิดปากให้มากที่สุด กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นแค่เครื่องมือในการจัดการกับฝั่งตรงข้ามของรัฐ ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม

มีหวังไหมหรือ ก็ขึ้นอยู่กับเราจะขับเคลื่อนขบวนการไปได้แค่ไหน อย่าลืมว่านี่เป็นเรื่องการเมือง ถ้าคุณชนะ มันก็ไม่ผิดสักคนหรอกที่อยู่ในนั้นน่ะ แต่ถ้าคุณแพ้ ก็ติดคุกหัวโต พูดกันง่ายๆ แค่นี้


เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) – รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) กำลังใช้วิธีอดอาหารในการต่อสู้ เป็นห่วงไหม รู้สึกอย่างไร

ผมไม่เห็นด้วย แต่เคารพ ผมไม่เห็นด้วยที่เขาต้องทรมานตัวเองขนาดนั้นกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางมอบความยุติธรรมให้เรา เราไม่เคยร้องขอความเมตตาจากศาล เราขอแค่ความเป็นธรรม การที่มนุษย์คนหนึ่งเลือกอดอาหาร ทำต่อร่างกายของตัวเองแบบนั้นเพื่อประท้วงความอยุติธรรม คือการเสียสละตัวเองอย่างมาก ถ้าผมมีโอกาส ผมก็อยากบอกว่า มึง…เลิกเถอะ มึงกินข้าวเถอะ ผมไม่อยากให้พวกเขาอดอาหารต่อไป เขาควรจะสู้อย่างมีพละกำลัง แต่ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา


คุณมองการเคลื่อนไหวของประชาชนในอนาคตอย่างไร

ก็ต้องยึดสันติวิธี รักษาพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ ไม่ต้องปะทะ ผมมองว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงไม่ได้จบที่ถนน ถนนอาจจะทำให้เกิดการผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่หมุดหมายของอำนาจอยู่ที่รัฐสภา ดังนั้นต้องทำให้สภาเป็นไปตามข้อเรียกร้องของเรา

การเปลี่ยนแปลงที่เราพูดถึงไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในปีสองปี อาจจะต้องใช้เวลาถึงสิบปีในการค่อยๆ พิจารณากฎหมาย แก้กฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญ พวกนี้เป็นกระบวนการในระบบทั้งนั้น แต่มูฟเมนต์นี้ของประชาชนคือจุดสตาร์ต ไม่ทำไม่ได้ ไม่มีไม่ได้ ไม่งั้นไม่เกิด ในอนาคตภาคประชาชน ภาควิชาการ ก็ต้องทำงานสอดรับกันไป เราถึงจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอย่างไม่นองเลือด…อย่างไม่นองเลือดครับ

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว และไม่มีอะไรที่จะหยุดการเปลี่ยนแปลงได้ มันแค่ทำให้ช้าลงได้ แค่นั้นเอง การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทางความคิดเป็นเรื่องที่ใช้เวลา และท้ายที่สุดถ้าความคิดมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็ต้องรอการเปลี่ยนแปลงเจเนอเรชันซึ่งก็ใช้เวลาอีก แต่ไม่ว่าอย่างไร เด็ก ป.6 ในตอนนี้ จะกลายเป็นวัยทำงานในอีก 12 ปีข้างหน้า เด็กมัธยมและนักศึกษาตอนนี้ จะเริ่มเป็นหัวหน้างาน ในอีก 12 ปีข้างหน้า เจเนอเรชันมันเปลี่ยนผ่าน เวลาจะพิสูจน์ให้เราเห็นแน่ๆ ว่า คนที่ไม่เอาการเปลี่ยนแปลงจะไม่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงจะมีแต่เพิ่มขึ้นในอนาคต

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save