fbpx

‘Precarious Thailand’ มองอนาคตสังคมไทยจากประวัติศาสตร์กดขี่ กับ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ปัญหาความยากจนที่สืบเนื่องสั่งสมมานานในสังคมไทย อาจสร้างความความคุ้นชินจนทำให้คนในสังคมไทยมองปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรงด้วยสายตาที่ไม่แปลกใจนัก ด้วยคิดว่าเราเป็นกันอย่างนี้เรื่อยมาและเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก

การระเบิดทางอารมณ์ของสังคมที่ปรากฏผ่านการประท้วงทั่วประเทศในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาไม่เพียงแต่สะท้อนความอัดอั้นต่อปัญหาการเมือง แต่ความรู้สึกนี้ยังเชื่อมโยงต่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เมื่อโครงสร้างทางสังคมที่เกิดขึ้นบีบให้ผู้คนไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองหรือเลือกสร้างสรรค์สังคมในแบบที่คนส่วนใหญ่ต้องการได้

ในวันนี้เราคงมองไม่เห็นอนาคต หากไม่มองปัจจุบันอย่างพิเคราะห์ ว่าอดีตส่งต่อมรดกทางสังคมแบบไหนมาบ้าง

101 ชวน อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมเพื่อร่วมออกแบบอนาคตสังคมไทย ในรายการ 101 One-on-One เมื่อความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกำลังผลักให้สังคมไทยเดินมาถึงทางแพร่งอันตราย และเรียกร้องให้คนทุกชนชั้นในสังคมต้องร่วมกันพิจารณาปัญหาอย่างระมัดระวัง


มองย้อนทบทวนสังคมการเมืองไทยปี 2564 อาจารย์เห็นภาพอย่างไร และภาพนี้ส่งผลต่อปี 2565 อย่างไร

สิ่งที่เราเห็นในปี 2564 คือการปะทุขึ้นมาของวิกฤต แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของเราสร้างวิกฤตมานานแล้วเพียงแต่ว่าปะทุออกมาในปี 2564 และก่อให้เกิดวิกฤตหนักหน่วง

หากเรานิยาม ‘วิกฤต’ ว่าคือสภาวะของปัญหาที่ภูมิปัญญา สถาบัน หรือสิ่งที่ดำเนินมาไม่สามารถอธิบายหรือแก้ไขได้ ปี 2564 เราเห็นวิกฤตชัดเจนมากขึ้นในทางการเมือง เกิดความขัดแย้งมากมาย วิกฤตนี้สะสมมานานและเพิ่งปะทุออกมาและเชื่อว่าปี 2565 จะรุนแรงมากขึ้น เพราะวิกฤตนี้ถูกกระแทกด้วยสถานการณ์โควิด ซึ่งจะทำให้สังคมไทยเผชิญหน้าความไร้เหตุผล ความรุนแรง และภาวะอีกหลายอย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อน


ปีที่ผ่านมาโรคระบาดทำให้การประท้วงของประชาชนแผ่วลงไป หากมองปี 2565 โรคระบาดจะส่งผลต่อการเมืองอย่างไร

เราอาจจะคิดว่าแผ่วในแง่ว่าไม่ค่อยเห็นการเดินบนถนน แต่ในโซเชียลมีเดียจะเห็นว่าไม่ได้แผ่วเลย การลุกฮือโดยไม่ได้นัดหมาย (spontaneous uprising) ไม่จำเป็นต้องเกิดบนท้องถนนหรือพื้นที่เชิงกายภาพเท่านั้น แต่บนอินเทอร์เน็ตก็กระตุ้นการลุกฮือเช่นนี้ให้กว้างออกไป เราอาจไม่เห็นว่าเกิดขึ้นบนท้องถนนจึงคิดว่าแผ่ว แต่มันคือแรงกดข้างล่างที่รอการทะลุออกมา ผมจึงไม่คิดว่าเป็นการแผ่วในความหมายว่าไม่มีพลัง

ผมไม่รู้ว่าตอนนี้อะไรจะเป็นตัวจุดพลังที่อัดอั้นให้ระเบิดออก แต่สิ่งที่เห็นคือโควิดมาซ้ำเติมวิกฤตที่เรามีมานานแล้ว คือความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ปี 2565 แรงปะทุน่าจะเกี่ยวพันกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น


ความอัดอั้นนี้จะปะทุออกมาผ่านการลงคะแนนเสียงหรือเปล่า การเลือกตั้งจะเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไหมและมีอะไรที่น่าจับตา

ผมคิดว่าในปี 2565 น่าจะมีการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลประยุทธ์ไม่น่าจะอยู่รอดพ้นปี 2565 แน่นอนว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงมากมายถ้ามีการเลือกตั้ง นักการเมืองทั้งหลายจะวิ่งไปหาที่พึ่งพิงใหม่ที่เขามองว่าคุ้มค่าคุ้มราคาที่จะย้ายไป ดังนั้นดุลอำนาจที่พรรครัฐบาลคิดว่าตัวเองจะชนะเลือกตั้งได้นั้นก็ไม่ง่าย

การเลือกตั้งจะทำให้เสียงของผู้ที่ไม่มีเสียง (voice of the voiceless) ดังขึ้นมา การเลือกตั้งในบรรยากาศที่มีความอึดอัดคับข้องใจเจ็บปวดโกรธเกลียดนั้น ผมคิดว่าเสียงของผู้ที่ไม่มีเสียงจะดังอย่างต่อเนื่องมากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาที่เราหย่อนบัตรแล้วก็จบไป ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้คนจะหย่อนบัตรแล้วติดตามสิ่งที่นักการเมืองให้สัญญาและเขาจะออกเสียงกดดัน

ในบรรยากาศเช่นนี้ การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้จะสะท้อนเสียงของผู้ที่ไม่มีเสียงได้ก้องกังวานและต่อเนื่องมากกว่าทุกครั้ง

ถามว่าการเลือกตั้งจะเป็นความหวังไหม ขึ้นอยู่กับว่าเสียงของผู้ที่ไม่มีเสียงจะถูกจัดตั้งจนเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงได้ไหม เช่น มีคนโยนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสียงเหล่านี้จะสอดรับกันไหม แต่อย่างน้อยก็มีหวังมากขึ้นว่า การเลือกตั้งจะทำให้เสียงของเราดังมากขึ้น


แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่เราก็อยู่ในกติกาเดิมที่มี ส.ว. 250 คน สลักนี้จะปลดล็อกอย่างไรให้เสียงของผู้ที่ไม่มีเสียงมีพลังขึ้นมา

คงไม่มีโอกาสที่พรรคใหญ่จะแลนด์สไลด์ ดังนั้นสภาพจะคล้ายตอนนี้ คือมีพรรคใหญ่สองพรรค และพรรคขนาดกลางกับขนาดเล็ก สิ่งสำคัญคือต่อให้มี ส.ว. 250 คน แต่หัวหน้าพรรคใหญ่ที่ได้จัดตั้งรัฐบาลจำเป็นต้องฟังเสียงพรรคเล็กและเสียงประชาชนมากขึ้น แน่นอนว่าการเลือกตั้งบนรัฐธรรมนูญฉบับนี้คงไม่ใช่ความหวังของเราแน่ๆ แต่เราหวังว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วจะมีการเคลื่อนไหวกดดันพรรคการเมืองต่างๆ ให้เริ่มคิดถึงการปิดสวิตช์ ส.ว. รวมถึงเรื่องอื่นๆ

การต่อสู้ต่อรองในระบบนี้คงไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งเดียวจบ ขึ้นอยู่กับว่าเสียงของผู้ที่ไม่มีเสียงจะต้องส่งเสียงอย่างต่อเนื่อง จัดตั้งกันเป็นประเด็นให้ชัดเจนเข้มแข็งมากขึ้น


พรรคใหญ่สองพรรคตอนนี้คือเพื่อไทยและพลังประชารัฐที่อยู่กันคนละขั้ว ประเมินว่าเกมจะเดินไปในทิศทางไหน

ผลการเลือกตั้งคงสูสีกันมาก พลังประชารัฐเองก็เชื่อมั่นในนโยบาย ‘ซื้อเสียงด้วยความช่วยเหลือ’ สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำตอนนี้คือการซื้อเสียงอย่างหนึ่ง แต่เป็นการซื้อเสียงแบบโค้งกายลงไปช่วยเหลือชาวบ้าน ส่วนเพื่อไทยก็เชื่อในบารมีเก่าที่ทำมา ผมคิดว่าคงแพ้ชนะไม่มากนัก แต่พรรคขนาดกลางน่าจะได้เสียงมากขึ้นและเป็นตัวชี้ขาดว่าจะเอียงไปด้านไหน

มีโอกาสที่เสียงประชาชนจะมีมากขึ้น แต่ถ้าแลนด์สไลด์ด้านใดด้านหนึ่ง เสียงของประชาชนก็จะไม่ดังนัก เสียงของประชาชนต้องแทรกช่องเข้าไปในอำนาจที่พรรคการเมืองเขาจัดกัน


สองปีที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายเล่นงานประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ สิ่งที่ผู้มีอำนาจทำนั้นได้ผลแค่ไหน ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นเหตุใดเขาจึงยังอยู่ในอำนาจได้

สิ่งที่เครือข่ายชนชั้นนำทำตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรา 112 หรือมาตรา 116 เพราะเขาอยากทำให้เรื่องที่ประชาชนพูดกันนั้นไม่ถูกพูดถึงในที่สาธารณะ เขาหวังใช้อำนาจรัฐผลักให้คนไปนินทากัน โดยลืมว่าการนินทาในปัจจุบันไม่ได้เกิดบนโต๊ะอาหาร แต่เขานินทากันบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เขาต้องไปตามไล่จับบนโซเชียลมีเดีย

ถามว่าสิ่งที่รัฐทำมีความชอบธรรมไหม เราจะเห็นว่านี่คือการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งการคุมขังไว้โดยไม่ให้ออกมาสู้คดี การทำให้มีบางคนที่ผูกขาดความถูกต้องแล้วไปฟ้องคดีเป็นร้อยเป็นพันราย นี่คือสิ่งที่สังคมโดยรวมเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล แต่การทำแบบนี้ก็ยังหยุดสิ่งที่ประชาชนพูดกันไม่ได้ กลบฝังให้เงียบก็ไม่ได้

ความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมโดยการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ขึ้นมานั้น ท้ายสุดมันอาจถูกทำให้กลายเป็นความชอบธรรมของการใช้กฎหมาย 112 เพราะฝั่งหนึ่งก็ระแวงว่าคนอีกฝ่ายจะเป็นคณะกรรมการ ดังนั้นคณะกรรมการนี้ก็คงไม่เวิร์ก คุณกลบฝังไม่ได้ หยุดไม่ได้ การใช้กฎหมายแบบนี้รังแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งและความเกลียดชังมากขึ้น เราต้องคิดกันให้มากพอควรในการจัดการเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเงื่อนไขที่ว่าใครก็สามารถไปฟ้อง 112 คนอื่นได้ ชนชั้นนำก็ต้องคิดว่าถ้าปล่อยให้ใช้แบบนี้ต่อไปจะเป็นอันตรายมากขึ้นกับทุกฝ่าย

ถามว่าทำไมทำแบบนี้แล้วเขายังอยู่ได้ ระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจของรัฐไทยที่ถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์คือการแยกอำนาจออกจากกัน อำนาจการเมืองโดยพรรคการเมือง อำนาจเศรษฐกิจโดยนักธุรกิจ และอำนาจของระบบราชการโดยทหาร สามอำนาจนี้จะดุลกันภายใต้ใครสักคนที่ประกาศตัวเองว่าเป็น ‘คนดี’ มาคุมสามฝ่ายและยึดโยงอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์

ในโครงสร้างอำนาจแบบนี้ หากคนที่ประกาศตัวเองว่าเป็นคนดีไม่ควบรวมอำนาจ ปล่อยให้สามอำนาจนี้ทำงานไปโดยมีเขาอยู่ข้างบน อำนาจทั้งสามฝ่ายก็จะแฮปปี้ ลองนึกว่าประยุทธ์เคยพูดอะไรเกี่ยวกับทหารไหม อย่างมากคือให้ไปปลูกผักชี ด้วยโครงสร้างนี้จึงทำให้ประยุทธ์ลอยอยู่ได้โดยปล่อยให้สามอำนาจหากินไป

ส่วนข้างล่าง คนจำนวนมากที่ทนอยู่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ 1. การโหมประโคมเรื่อง 112 เป็นเรื่องที่น่ากังวลทำให้คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่ายังไงก็ต้องยึดประยุทธ์ไว้ เพราะประยุทธ์สามารถเป็นตัวกั้นเรื่อง 112 ได้ บางส่วนก็คิดว่ามีประยุทธ์ดีกว่าให้นักการเมืองมาโกงกันแบบคราวที่แล้ว ทั้งที่เขาก็เห็นว่ามีการโกงไม่ต่างกัน

2. กอ.รมน. ขยายอำนาจไปในแต่ละพื้นที่มากขึ้น จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะเห็นชัดว่า รัฐบาลนี้ตั้งใจใช้ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่ไปควบคุมประชาชน ดังนั้นแม้คนข้างล่างอยากเคลื่อนไหวก็โดนกลไกอำนาจรัฐนี้ควบคุมอยู่

3. รัฐบาลนี้เก่งในแง่ที่ว่าทำให้คนเซ็งแล้วปกครอง เขาทำให้เรารู้สึกเซ็ง เบื่อ แล้วปล่อยให้เขาใช้อำนาจไป ซึ่งความรู้สึกนี้กระจายอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อย

ด้วยกลไกที่ข้างบนบริหารอำนาจสามกลุ่มแบบยึดโยงกับอำนาจวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็มีกลไกข้างล่างด้วย ทำให้สังคมไทยไม่รู้จะทำยังไง จึงปล่อยไปและคิดว่าเดี๋ยวก็เลือกตั้ง แม้เราจะเบื่อประยุทธ์มาก เวลาประยุทธ์บอกให้ไปเลี้ยงไก่เราก็หัวเราะกัน ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เขายังสามารถอยู่ต่อไปได้

แต่หากมีการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมคิดว่าอำนาจสามเสาหลัก คือ อำนาจการเมือง เศรษฐกิจ และระบบราชการ ทั้งสามส่วนเห็นแล้วว่าประยุทธ์ช้ำเกินไป ผมไม่คิดว่าประยุทธ์จะเป็นคนที่สามกลุ่มนี้อยากแบกไว้อีกแล้ว นายกฯ คนต่อไปไม่มีทางเป็นประยุทธ์ เขาช้ำ โดนขนาดนี้ถ้าเป็นมวยก็เละทั้งตัวแล้ว ดังนั้นการแสวงหาตัวเลือกใหม่จะเกิดขึ้นแน่ๆ และตัวเลือกใหม่จะทำบทบาทเหมือนประยุทธ์ คือให้สามกลุ่มดำเนินต่อไป


ในฐานะนักประวัติศาสตร์ อ.ชาญวิทย์ เคยปรารภไว้ว่า “อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น และอะไรที่เคยเห็นก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” สำหรับ อ.อรรถจักร์ มองเห็นอะไรผ่านแง่มุมนี้

ผมศึกษาด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมา สิ่งที่เห็นชัดคือแรงปะทุของรากเหง้าปัญหา ประวัติศาสตร์ของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยทำให้คนจำนวนมากของสังคมไทยกลายเป็นคนชายขอบ 60% ข้างล่างที่ไปหล่อเลี้ยงความร่ำรวยของคน 20% ข้างบนสุด หรือหนักกว่านั้นอาจจะเป็นคนแค่ 10% ข้างบนสุด ทั้งหมดเป็นแรงปะทุของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแบบที่กีดกันคนออกไป (exclusive history) ในด้านหนึ่งเขาเอาคนเข้ามาร่วมแผนพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่แผนที่ 1 อย่างการปลูกข้าวเพื่อขาย เป็นแรงงาน เขาดึงคนมาเป็นพวกแต่ก็จำกัดพื้นที่ไม่ให้มีโอกาสขยับเขยื้อน เช่น ปล่อยให้ที่ดินเป็นสมบัติส่วนตัว บางคนมีเป็นแสนไร่ เมื่อปัจจัยเรื่องที่ดินตกอยู่ในมือคนจำนวนไม่มาก ทำให้คนไทยจำนวนมากไม่มีโอกาสจะขยับฐานะและไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยทำให้คนกลุ่มนี้ตกเป็นเบี้ยล่างและดูดซับส่วนเกินไปเลี้ยงคนข้างบน นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยยังบอกว่าชนชั้นนำทำให้พวกเราอ่อนแอ เมื่ออำนาจการตัดสินใจใช้ทรัพยากรทั้งหมดกระจุกตัว

‘ดึงเข้ามาเป็นพวก จำกัดพื้นที่ และทำให้อ่อนแอ’ นี่คือแกนหลักของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่ดูดซับส่วนเกินจากเลือดเนื้อของพี่น้องทั้งประเทศเข้าไปหล่อเลี้ยงคนข้างบน พร้อมกันนั้นเองประวัติศาสตร์แบบนี้ก็สร้างรหัสหมายทางสังคมที่จะกดคนข้างล่างไว้ เช่นการบอกว่าไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน (ซึ่งถูกเน้นในสมัยพลเอกเปรม) หรือเรื่องจนเครียดกินเหล้า หรือการบอกว่าคนเราเท่าเทียมกันไม่ได้ นิ้วมือ 5 นิ้วยังไม่เท่ากันเลย เพื่อที่จะบอกว่าเหตุที่คุณขยับชนชั้นไม่ได้นั้นไม่ใช่เพราะฉันหรือโครงสร้าง แต่เป็นเพราะตัวคุณเอง

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศไทยทำให้เกิดชนชั้นใหม่ คือชนชั้นคนยากจน ในสมัยพลเอกเปรมเริ่มพูดถึงความยากจนซ้ำซากและพื้นที่ยากจนซ้ำซาก โดยคุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ส่วนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 มีการพูดถึงคนจนข้ามรุ่น หมายถึงปู่จน พ่อก็จน ลูกก็จน ความจนข้ามรุ่นแบบนี้คือชนชั้น แปลว่าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเราคือประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนข้างล่างกลายเป็นชนชั้นที่สืบเนื่องความยากจนกันต่อมา นี่คือฐานที่น่ากังวลที่สุด แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 หวังจะแก้ความเหลื่อมล้ำในชนบท แต่แปลกที่เขาไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงในชนบท เขายังคงคิดแบบเดิม

ดังนั้น นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจะชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเราคือประวัติศาสตร์ที่ดูดซับส่วนเกินจากคนจำนวนมาก ปล่อยให้คนจำนวนมากกลายเป็นคนชายขอบเพื่อทำให้คนข้างบนมีความสุขมากขึ้น พร้อมกับสร้างรหัสหมายลงไป เพื่อที่จะดูดซับส่วนเกินได้ง่ายขึ้น

ภาวะแบบนี้จึงนำไปสู่สิ่งที่ อ.ชาญวิทย์พูดว่า “สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น” นับแต่การรัฐประหาร 2557 ความอึดอัดไม่พอใจทำให้คนจำนวนมากเปลี่ยนตัวเองและเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกสถาปนา (establishment) ในทุกเรื่องและทุกสถาบัน การตั้งคำถามแบบนี้เป็นสิ่งที่คนรุ่นผมคิดไม่ถึง เช่น การเรียกพระว่าแครอท เรียกเณรว่าเบบี้แครอท หรือการเปลี่ยนวิธีคิดคนไทย เมื่อความเป็นไทยทั้งหมดคือความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน เรามีความอ่อนน้อม รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ แต่เด็กรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนคำว่าสัมมาคารวะเป็นสัมมาคาราโอเกะ คำพวกนี้สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลง นี่คือผลผลิตจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่กดคนจำนวนหนึ่งไว้ และความเจ็บปวดทำให้คนจำนวนนี้เริ่มลุกมาทำสิ่งที่เราไม่เคยเห็น

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากประวัติศาสตร์ของเราที่กีดกันคนอื่นออกไป ประวัติศาสตร์แบบนี้อยู่ไม่ได้ อีกสักพักหนึ่งจะหนักหน่วง ตอนนี้โควิดก็มากระแทกความเหลื่อมล้ำจนเป็นแผลเป็นหมดแล้ว


ลักษณะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่ตั้งคำถามกับคุณค่าเดิม แล้วคนรุ่นใหม่ไทยแตกต่างอย่างไรจากคนรุ่นใหม่ทั่วโลกไหม

ถ้าเปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไพศาลทั่วโลก เราเปรียบเทียบกับช่วงปี 1968 ที่วัยรุ่นทั่วโลกแชร์ความคิดร่วมกันมากมาย มีการตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกสถาปนาจนกระจายทั่วยุโรปและมาถึงเมืองไทยในปี 1973 (พ.ศ. 2516) ปรากฏการณ์เหล่านี้มีลักษณะร่วมกัน รวมถึงปัจจุบันด้วย คือมีการตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกสถาปนาและรู้สึกว่าคนรุ่นเก่าขัดขวางความเจริญ

ความรู้สึกร่วมที่เกิดขึ้นนี้อาจมีความแตกต่างบ้าง เช่น กรณีญี่ปุ่น มีคนจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าถูกประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหักหลังและเขาเริ่มไปลงกับสังคม เช่นขับรถบรรทุกชนคนหรืออื่นๆ นี่คือความอึดอัดไม่พอใจกับสังคม มีหนังสือเล่มหนึ่งที่สะท้อนความน่ากลัวของญี่ปุ่นวันนี้ชื่อ Precarious Japan โดย Anne Allison

ถ้าหากสังคมไทยไม่คิดถึงการแก้ปัญหาที่ดี สังคมไทยจะมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่พร้อมอาละวาดกับสังคม เราอาจพบ Precarious Thailand ในอนาคต เช่นที่มีทหารคนหนึ่งทะเลาะกับหัวหน้า จึงยิงหัวหน้านายแล้วไปยิงคนในห้างสรรพสินค้า สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดในสังคมไทยเหมือนที่เกิดในญี่ปุ่น พลังความอึดอัดแบบนี้ ถ้าไม่จัดการให้ดีคนจะไปลงที่สังคม แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนความเจ็บปวดต่างๆ ให้เขามาต่อสู้ในระบบได้ เราจะเห็นอะไรอีกเยอะ อย่างการชุมนุมที่ดินแดงก็ชัดเจน เด็กจำนวนนี้ถูกกดดันจากอำนาจรัฐและอำนาจตำรวจ ไม่ต่างจากเหตุจลาจลพลับพลาไชยเมื่อปี 2517 วัยรุ่นจีนถูกอำนาจรัฐและตำรวจกดขี่มานาน ถึงจังหวะก็เอาคืน

เราต้องคิดกันให้เยอะ โดยเฉพาะเรื่อง 112 สังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงมหาศาล เครือข่ายชนชั้นนำควรตระหนักว่าถ้าคุณไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้คุณจะมีส่วนในการทำลายสังคมไทยที่เราทุกคนรัก


อะไรจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้คนข้างล่างหลุดพ้นจากการถูกกดไว้ได้

การจะลดความเหลื่อมล้ำต้องปฏิรูปที่ดิน จำกัดการถือครองที่ดิน แต่แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้คนจนเมืองกับคนจนชนบทเป็นเนื้อเดียวกัน คนจนชนบทที่ไม่มีที่ดินก็ต้องส่งลูกหลานมาทำงานในเมืองเป็นแรงงานราคาถูก กลายเป็นคนจนเมือง ความจนเชื่อมโยงกันกลายเป็นความจนข้ามรุ่น ความจนข้ามพื้นที่ ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น จึงต้องมีการจำกัดการถือครองที่ดิน ตระกูลไหนมีเกิน 2,000 ไร่ต้องคืนหมด แต่มันเป็นไปไม่ได้

ทำอย่างไรพี่น้องในชนบทจะมีที่ดินทำกินมากขึ้น เพื่อเขาจะดึงพี่น้องในเมืองกลับไปมีอนาคตมากขึ้น สำหรับคนจนเมืองที่เป็นฐานล่างหล่อเลี้ยงเมือง ทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายกว่านี้ เทศกิจต้องเปิดพื้นที่คนตัวเล็กตัวน้อยขายของมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำสามารถมองได้จากปัจจัยการผลิตและโอกาสตรงนี้ นอกจากนี้คือทำอย่างไรจะทำให้เกิดการใช้ที่ดินส่วนตัวที่เปิดให้สาธารณะเข้าไปใช้ได้ (privately owned public spaces – POPS) เพื่อที่คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ได้เป็นประโยชน์มากขึ้น

เรื่องความเหลื่อมล้ำไม่ง่ายแต่ต้องทำ ต้องเข้าใจความยากจนให้มากกว่าที่สภาพัฒน์ทำในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13


มองเห็นภาพในอนาคตของคนจนเมืองไหมว่าจะเป็นอย่างไร

คนจนเมืองในช่วงหลังกำลังจะถูกถีบให้ออกไปไกลเมืองมากขึ้น โดย gentrification คือกระบวนการทำให้เมืองเป็นสมบัติของพวกชนชั้นสูง ความเป็นเมืองที่เรียกกันว่าสมาร์ตซิตี้ เมืองที่สวยงาม ทำคลองให้เป็นที่พายเรือ ทำให้คนจนเมืองเริ่มตัวเล็กลง

มีงานวิจัยสลัมพบว่า คนในสลัมรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาในกรุงเทพฯ ช่วงปี 2500 ต้นๆ เขาสามารถเลื่อนตัวเองขึ้นมาระดับหนึ่ง ด้วยการเป็นหาบเร่ การสร้างเครือข่าย ในวันนี้คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในเมืองมีโอกาสสร้างตัวแบบนี้น้อยลง ถ้าเราสามารถสร้างคนจนเมืองให้ขยับขึ้นมาแบบรุ่นแรกๆ ได้ เราจะสร้างตลาดภายในอีกมหาศาลให้สินค้าต่างๆ

คุณศรินพร พุ่มมณีบอกว่า เมื่อก่อนเมืองมันหนา เหมือนเป็นฟองน้ำหนา คนจนก็เป็นหยดน้ำเม็ดใหญ่ที่ไหลไปได้ ตอนนี้ฟองน้ำแน่นขึ้น หยดน้ำก็เล็กลงและไหลยากขึ้น คนจนเมืองก็มีชีวิตลำบากขึ้น

ส่วนคนจนในชนบท เราอาจคิดถึงชนบทแบบเดิมที่มีเครือญาติ ผลิตพอกิน แต่ชนบทตอนนี้เปลี่ยนไปมหาศาล ชาวนาที่ตื่นเช้าเอาควายไปไถนาไม่มีอีกแล้ว  กระบวนการทำนาใช้การจ้างหมด เจ้าของสวนปาล์มนอนอยู่บ้าน จ้างแรงงานไปแทงปาล์ม ทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการ และสำนึกของผู้ประกอบการเริ่มเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น คนยากจนในชนบทที่ไม่มีที่ดินก็กลายเป็นแรงงานรับจ้าง ในสังคมผู้ประกอบการชนบท คนไม่มีที่ดินต้องดิ้นรนมากกว่าปกติ คนเหล่านี้ก็ไหลสู่เมือง ถ้าเราเข้าใจความหมายของความยากจนและคนจนแบบนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ จะต้องคิดอีกแบบ ไม่ใช่แค่อุดหนุนข้าวหรือยางพารา แต่ทำอย่างไรจะทำให้เกิดการเปลี่ยนมาสู่สังคมผู้ประกอบการได้มากขึ้น นี่คือคำถามใหญ่ที่จะต้องคิด


เศรษฐกิจการเมืองไทยในยุคประยุทธ์พอจะเทียบเคียงกับยุคสมัยไหนในอดีตได้ไหม และเราจะเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ยุคนั้นเพื่อมองอนาคตข้างหน้าของสังคมไทยได้

โครงสร้างทางการเมืองสมัยประยุทธ์ คือความพยายามจำลองโครงสร้างทางการเมืองจากสมัยพลเอกเปรม ประยุทธ์พยายามลอยตัวเหมือนพลเอกเปรม แต่เนื่องจากบารมีไม่ถึง ปัญญาญาณไม่เยอะ อย่าลืมว่าพลเอกเปรมมีกุนซือจำนวนหนึ่งที่มือถึง คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ทำงานชนบทให้พลเอกเปรมมากมายมหาศาล เปลี่ยนวิธีของสภาพัฒน์ต่อชนบทได้มากมาย การจำลองโครงสร้างทางการเมืองของพลเอกเปรมมาใช้ในสมัยประยุทธ์ทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ แต่ที่คุณประยุทธ์อยู่ได้เพราะแบ่งให้แต่ละกลุ่มกินกันจนอิ่มหนำสำราญ อยู่บนการปล่อยให้มีเสรีของการแสวงหาของแต่ละกลุ่ม

ยุคคุณประยุทธ์ เศรษฐกิจพังมากกว่าทุกยุค หนี้ครัวเรือนสูงมากขึ้นในช่วงหลังที่คุณประยุทธ์นั่งตำแหน่งนี้ ซึ่งเพิ่มมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เทียบยุคไหนไม่ได้ หากอยู่ในอนาคตแล้วย้อนมองประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ผมคงเขียนว่าเป็นช่วงมืดมนช่วงหนึ่งของคนไทย

ผมหวังว่าเราจะสร้างเครือข่ายประชาสังคม ถักสานกันในระดับชนชั้นกลางและเชื่อมกับพี่น้องข้างล่างให้มากขึ้น เพื่อเป็นเสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจ นี่เป็นภาพฝันของผม ครั้งหนึ่งประชาสังคมเราเข้มแข็งมาก แต่การต่อสู้เหลืองแดงแยกให้เราไม่มองหน้ากัน วันนี้หากพอจะคุยกันได้ก็ต้องคุยและเชื่อมต่อกันเพื่อให้เกิดพลังไปกดดันพรรคการเมือง นักการเมือง หรือระบบราชการเพื่อให้เราหลุดออกจากช่วงมืดมนนี้


อาจารย์สนใจแนวคิดเรื่องระบอบอารมณ์ความรู้สึก เห็นอะไรจากการใช้แว่นตานี้อ่านการเมืองไทย

การศึกษาประวัติศาสตร์ความรู้สึก หรือสังคมวิทยาความรู้สึก หรือมานุษยวิทยาความรู้สึก เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ในต่างประเทศมีการศึกษามามากแล้ว สิ่งที่นักวิชาการจำนวนมากพบคือความรู้สึกไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นจากสังคมมากำหนดให้เรารู้สึกแบบนี้ แต่ขณะเดียวกันความรู้สึกก็กลับไปเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย จึงเกิดการศึกษาเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น มีนักคิดอย่างน้อย 3-4 สำนักที่พูดเรื่องระบอบอารมณ์ความรู้สึก ชุมชนทางอารมณ์ความรู้สึกและอื่นๆ

ระบอบอารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวผลักดันคนไทยจำนวนมากให้มีปฏิบัติการทางสังคมการเมือง ผมคิดว่าคนไทยไม่ใช่คนกล้า แต่เป็นคนบ้าเลือด ในวันที่คนไทยรู้สึกว่าพี่น้องถูกกระทำอย่างไร้เหตุผลก็พร้อมลุกขึ้นมาอัดกลับ ทั้งที่ปกติแล้วจะไม่อยากยุ่งด้วย ผมคิดว่าอารมณ์บ้าเลือดสัมพันธ์อยู่กับความรู้สึกที่ว่าความอยุติธรรมมันเห็นตำตา

เราจำเป็นต้องศึกษาระบอบอารมณ์ความรู้สึกให้มากขึ้น ความโกรธ ความเกลียด ความหวัง ในแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน ในแต่ละกลุ่มคนชนชั้นก็ไม่เหมือนกัน ความโกรธ ความเกลียด ความหวัง สัมพันธ์กับระบบเกียรติยศของสังคมหรือระบบเกียรติยศของคนชุดนั้น เช่น ผมมีความหวังชุดหนึ่ง ขณะเดียวกันคนในเศรษฐกิจนอกระบบ (informal sector) ก็มีความหวังอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างออกไป เขาหวังแค่ขอมีที่พักที่สะดวกสบายหน่อย มีที่ขายของได้ง่ายๆ เพื่อจะได้มีเงินส่งลูกเรียน ถ้าเราศึกษาตรงนี้ก็จะเห็นการถักทอความหวังของผู้คนที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งเราสามารถให้เขาได้ แทนที่จะไปคิดว่าเอ็งขายตรงนี้เพราะจน เพราะขี้เกียจ

ถ้าเราเข้าใจระบอบอารมณ์ความรู้สึกของคนกลุ่มต่างๆ ให้มากขึ้นก็จะแก้ไขปัญหาอีกมากมาย ทำไมคนชั้นกลางขับรถแล้วเสียงแตรบนถนนไทยกลายเป็นเสียงด่า ในขณะที่เสียงแตรบนถนนเวียดนาม ฟิลิปปินส์หรืออินเดียเป็นเสียงบอกว่าฉันมาแล้วนะ เหตุผลคือหากเราเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยที่มีกับพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทยที่ครอบครัวเลี้ยงดูมาแบบผิดไม่เป็น เราจะแก้ปัญหาฆ่ากันบนท้องถนนได้

ผมศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของความคิดเรื่องความซื่อสัตย์ พบว่าสังคมไทยไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความซื่อสัตย์ในระดับ integrity เรากำลังทำให้ความซื่อสัตย์อยู่แค่ในระดับ honesty ผมคิดว่าเพราะระบบเกียรติยศมันไม่มีหรือพังทลาย จน integrity ที่ผูกอยู่กับระบบเกียรติยศมันพังลงไปด้วย ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจระบอบความรู้สึกชัดเจนเชื่อว่าเราจะหาทางออกจากปัญหาสังคมไทยได้มากมาย รวมทั้งปัญหาการเมืองด้วย เราจะไม่ถูกปิดตาด้วยคำว่าคนดี

การศึกษาเรื่องนี้อาจทำให้เราเข้าใจเรื่องการฆ่าตัวตายมากกว่าที่มีการอธิบายไว้ ถ้าอ่านเอกสารกรมสุขภาพจิตจะพบว่ามีคนฆ่าตัวตายในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน สูงติดต่อกันมานานมาก โดยระบุ 4-5 สาเหตุ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ ติดโรคร้าย แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น การสูญเสียตัวตนของเขาเกิดจากอะไร การเลี้ยงดูของครอบครัวทางเหนือที่เน้นบทบาทเด็กผู้ชาย แต่ผู้ชายไม่สามารถหางานในนิคมอุตสาหกรรมได้ เพราะเขาชอบจ้างผู้หญิง การสูญเสียบทบาทของผู้ชายมีผลไหม มีอารมณ์ความรู้สึกอีกมากมายที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ อย่าไปติดอยู่กับสิ่งที่รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการแปะป้ายมาให้เรา เช่น หลัก 12 ประการของคุณประยุทธ์ ที่นอกจากเชยแล้วยังไร้ความหมาย นี่คือการไม่เข้าใจรหัสหมายของเกียรติยศที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากมาย ผมหวังว่าเราจะเข้าใจมากขึ้น เราจะได้เข้าใจถึงคนดีคนเลวที่สลับซับซ้อนกว่าที่พูดกัน


คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามและเรียกร้องการรื้อถอนแทบจะในทุกเรื่อง อาจารย์มองว่าอะไรคือเรื่องที่คนรุ่นใหม่ยังยึดโยงอยู่

แม้ว่าคนรุ่นใหม่เองจะมีสำนึกเชิงปัจเจกชนที่ไม่ได้สัมพันธ์กับอะไรมากนัก แต่คิดว่าเขายังยึดโยงอยู่กับจริยธรรมบางอย่างที่ยังหลงเหลืออยู่ คนรุ่นใหม่มีคำพูดหนึ่งที่ได้ยินหนาหูว่า “ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง” ความซื่อสัตย์นี้อาจขยับไปยังเรื่องอื่นๆ แต่นี่คือระบบเกียรติยศที่ผูกปัจเจกชนไว้เพื่อให้เชื่อมโยงกับสังคม

แน่นอนว่าสิ่งที่เขายึดโยงคือตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็สร้างคอนเซ็ปต์เรื่องการซื่อสัตย์ต่อตนเอง ในขณะเดียวกันก็ซื่อสัตย์ต่อกลุ่มด้วย มันอาจไม่ใช่ integrity แบบฝรั่ง การซื่อสัตย์ต่อกลุ่มบางครั้งก็มีด้านลบ เช่นเราเป็นจิ๊กโก๋ในชุมชนเดียวกัน ผมต้องซื่อสัตย์ต่อศักดิ์ศรีของผมในการที่จะไปช่วยเพื่อนตีกับคนอื่น แต่ถ้าเราขยับความซื่อสัตย์ต่อตนเองนี้เป็นความซื่อสัตย์ต่อสังคมได้ เราจะสร้างสังคมที่มีพลังมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าความซื่อสัตย์กับตัวเองกลับมีลดน้อยถอยลงในกลุ่มคนที่สูงวัยขึ้น


เราจะเขียนประวัติศาสตร์อย่างไรเพื่อไปสู่อนาคต ทำอย่างไรประวัติศาสตร์จึงจะไม่รับใช้เพียงแค่อดีต

อันดับแรกคือจะทำอย่างไรให้ประวัติศาสตร์มีหลายแบบ เราต้องพยายามทำให้สังคมไทยมีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลายมากขึ้น มีประวัติศาสตร์แนวพินิจ เช่น ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา และอื่นๆ เพื่อทำให้มีความหลากหลายของอดีต และประชาชนจะเป็นผู้เลือกว่าเขาจะเชื่ออดีตในมุมไหน

สิ่งที่น่าตกใจคือสังคมไทยรู้สึกเพียงพอกับประวัติศาสตร์แบบที่ อ.ธงชัย วินิจจะกูล ใช้คำว่า ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ซึ่งไม่เพียงพอต่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในโลกวันนี้ เรากำลังปล่อยให้การครอบงำประวัติศาสตร์ด้านเดียวเกิดขึ้นอย่างเสรี การสัมพันธ์กับอดีตอย่างมีเสรีภาพและสร้างสรรค์จะทำให้เราสามารถสร้างสังคมปัจจุบันอย่างสร้างสรรค์ไปด้วย

เราต้องเปิดให้คนไทยสัมพันธ์กับอดีตได้อย่างมีวิจารณญาณ อย่างหลากหลายและสามารถเลือกได้ หากเป็นเช่นนี้เราจะสามารถสร้างสรรค์อดีตเพื่อตอบปัจจุบัน เพื่อให้เรามองเห็นฉากทัศน์ในอนาคตได้ชัดขึ้น เมื่อเราเป็นผู้เลือก


การอ้างประวัติศาสตร์กระแสหลักในคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างการปกครอง จะส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างไร

ทันทีที่พวกเรานักประวัติศาสตร์เห็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็รู้สึกตรงกันว่า นี่คือการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างไม่ตรงไปตรงมาและเราร่วมกันลงชื่อ หากเขียนมาแบบนี้ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้วิพากษ์ ให้นักประวัติศาสตร์ได้ชี้ว่าผิดตรงไหน แล้วคุณก็ออกมาแย้งสิ ไม่ใช่ตีขลุมไปว่าหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ

ถ้าเราเปิดให้มีการถกเถียงประวัติศาสตร์ในทุกเรื่อง เราจะสร้างสรรค์อดีตได้มากมาย

ถามว่าคำตัดสินนี้มีผลไหม สมมติว่าปีหน้ามีการเคลื่อนไหวมากขึ้น คงจะมีกลไกอำนาจรัฐจำนวนหนึ่งหยิบคำวินิจฉัยนี้มาใช้จับกุม เพราะคำวินิจฉัยนี้มีเรื่องประหลาดว่าสั่งห้ามทำต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ผิดหลักการทุกอย่าง ความพยายามใช้คำวินิจฉัยนี้มาปิดไว้ไม่ให้คนพูดแบบนี้อีกมันไม่ได้ผล เป็นความพยายามยื้อเวลาที่รังแต่จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลได้ ยากมากๆ ในการปิดกั้นความคิดคน ถ้าคุณไม่สามารถสร้างระบบความรู้สึกชุดใหม่ที่ทำให้คนรู้สึกผูกพันกับอะไรบางอย่างรอบตัวได้เอง คุณบังคับให้คนไปผูกพันไม่ได้


อะไรคือความหวังและความกังวลของอาจารย์ในปี 2565

ผมกังวลที่สุดคือความขัดแย้งในสังคมจะรุนแรงขึ้น จะปะทุ ปะทะ และนองเลือด ในขณะเดียวกัน ผมกังวลว่าถ้ามันไม่ไปปะทุกับรัฐ มันจะกลายเป็นสังคมที่อันตราย คือ ฆ่ากันเอง รังแกกันเอง ขูดรีดกันเองเหมือนในสังคมลาตินอเมริกาหลายแห่งที่ความยากจนหรือความเจ็บปวดทำให้คนจนกดขี่เอาเปรียบกันเอง

ความกังวลของผมคือ 1.ถ้าความขัดแย้งปะทุ ปะทะ นองเลือด ก็อาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้านองเลือดโดยไม่มีความเปลี่ยนแปลง ก็จะผลักสังคมไทยลงเหวลึกกว่าเดิม 2. หากเป็นสังคมอันตรายที่ใครก็สามารถฆ่ากันได้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วตอนนี้ สังคมไทยจะเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ที่สุด ที่ฟิลิปปินส์ แม้กระทั่งร้านชำยังต้องติดลูกกรง หน้าห้างสรรพสินค้าก็จะมียามถือปืนลูกซอง ผมไม่ได้บอกว่าสังคมฟิลิปปินส์ไม่ดี แต่มีความเหลื่อมล้ำสูง precarious society แบบนี้จะยิ่งผลักสังคมไทยให้กลายเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่เลย

นี่คือความกังวลสองด้านที่ผมมี และมันมีแนวโน้มที่จะเป็นทั้งสองด้าน

เรื่องความหวังสำหรับผมค่อนข้างเลื่อนลอย ผมหวังว่ากลุ่มชนชั้นนำทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่สัมพันธ์อยู่กับเครือข่ายนักธุรกิจ กลุ่มที่สัมพันธ์อยู่กับเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งหมดจะตระหนักและสำนึกหน่อยได้ไหมว่าจะช่วยกันประคับประคองสังคมที่คุณรัก สังคมที่ตระกูลคุณร่ำรวย มีบทบาทและเกียรติยศขึ้นมาได้นั้น ช่วยกันมาตะล่อมจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจกันใหม่ เปิดพื้นที่สาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำให้กับผู้คน ถ้าทำแบบนี้จะสร้างความหวังให้กับผู้คนในสังคมไทย สังคมอันตรายที่คนจะฆ่ากันเองก็จะลดลง แต่ความหวังนี้ก็เลื่อนลอย เพราะจนถึงวันนี้ผมยังไม่เห็นสัญญาณอะไรเลยว่ากลุ่มชนชั้นนำไทย 10% ข้างบนจะตระหนักเรื่องนี้

ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ใช่คำตอบ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจ แต่เครือข่ายชนชั้นนำ 10% ข้างบนต่างหาก ถ้าคุณหวังดีต่อสังคมไทยจริง ถ้าคุณรักสังคมไทยจริงก็แสดงตัวออกมา เพื่อให้การปรับอื่นๆ จะเป็นไปได้มากขึ้น


มีความหวังและข้อกังวลต่อการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง

ผมเป็นห่วงผู้ที่ถูกคุมขังทุกคน เพราะการถูกคุมขังที่ไม่ได้รับความยุติธรรมพื้นฐานแบบนี้มันแย่มากๆ แม้ว่าเราไม่รู้จะสู้อย่างไรให้คุณออกมา แต่ใจเราให้คุณเต็มที่และหวังจะผลักดันให้ความยุติธรรมเข้าไปถึงมือทุกคนให้ได้

ส่วนการเคลื่อนไหวในปีต่อไป จริงๆ แล้วกลุ่มคนรุ่นใหม่เขาก็ไม่ได้ฟังคนอย่างผม ผมหวังว่าเยาวมิตรทั้งหลายคิดให้รอบคอบ ตัดสินใจให้เด็ดขาดชัดเจน เดินหน้าไป เราพร้อมจะช่วยหลายเรื่องในการสร้างสรรค์สังคมไทยร่วมกัน สิ่งที่อยากบอกคนรุ่นใหม่และคนแก่ คือชัยชนะไม่มีวันม้วนเดียวจบ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมในโลกนี้นับจากปี 1968 เรื่อยมา เราหวังว่าคนรุ่นใหม่จะสร้างโลกตั้งแต่นั้น ซึ่งแม้ยังไม่เกิดขึ้นแต่ก็มีผลสะเทือน สิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำวันนี้มีผลต่ออนาคตสังคมไทยแน่ๆ ปฏิเสธไม่ได้

วันนี้เราอาจจะไม่ได้ดั่งใจ แม้ไม่ได้ดั่งใจในวันนี้ ก็ฝากจะให้มีความหวังไว้ในวันหน้า ด้วยความหวังชีวิตและศรัทธา มอบให้แก่ประชาทุกผู้คน


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save