fbpx

พลิกงบประมาณ – อ่านการคลังไทยกับอธิภัทร มุทิตาเจริญ

ผ่านพ้นไปแล้วหลังเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมสภาฯ ลงมติรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2566 วาระที่ 1 งบประมาณก้อนสุดท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีหน้า โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ดังกล่าวมีวงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.79% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปัจจุบันประมาณ 2.74% และรัฐบาลได้ประมาณการรายได้สุทธิไว้ที่ 2.49 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13.91% ของ GDP รวมถึงกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 695,000 ล้านบาทพร้อมกับระบุว่าการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานะทางการคลังของประเทศในระยะยาว

แม้งบประมาณประเทศดูจะเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดทำงบประมาณส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และสะท้อนให้เห็นอนาคตของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตสุขภาพและเศรษฐกิจ

101 ชวน รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งหลักคิดเอกซเรย์งบประมาณประเทศไทย ตอบคำถามถึงโจทย์ใหญ่ความท้าทายของระบบงบประมาณ และแนวทางในการผ่าตัดระบบงบประมาณไทย

อ่านภาพใหญ่การคลังไทย

ก่อนจะไปเจาะลึกถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 อธิภัทรฉายภาพใหญ่ให้เห็นถึงความท้าทายของภาคการคลังไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการติดกับดักรายได้ปานกลาง สังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำที่หลายคนบอกว่าจะเกิดภาวะแก่ก่อนรวย และการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลมาต่อเนื่องยาวนาน เมื่อเจอวิกฤตทางสุขภาพอย่างโควิด-19 จึงยิ่งซ้ำเติมภาคการคลัง และทำให้ประเทศไทยในปัจจุบันต้องเผชิญภาระการคลังที่เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 40% ต่อ GDP เป็น 60% ต่อ GDP หลังการกู้เงินตามพระราชกำหนด 2 ฉบับ 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจปัญหาโควิด-19

“ถ้าถามว่าเมื่อมองงบประมาณประเทศไทยในปัจจุบัน แล้วเห็นหน้าตาของประเทศไทยอย่างไร ผมก็อาจจะมองว่าเป็นหน้าตาของคนที่มีหนี้ค่อนข้างเยอะ ในขณะเดียวกันเขาก็กำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณ และยังไม่แน่ใจว่าจะหารายได้ต่อไปในอนาคตยังไง” อธิภัทรกล่าว

เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะอย่างอิสระโดยรัฐ?

ในระหว่างบทสนทนาได้มีการเอ่ยถึง ‘ความยั่งยืนทางการคลัง’ อันหมายถึงรายได้และรายจ่ายของภาครัฐมีลักษณะสมดุลกับระดับการก่อหนี้สาธารณะอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ดีอธิภัทรสะท้อนภาพทางการคลังของประเทศไทยว่ามีรายได้ของประเทศลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลมีการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณ อธิภัทรให้ข้อมูลว่าการจะพิจารณาว่ารัฐบาลมีวินัยทางการคลังหรือไม่ ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากพื้นที่ทางการคลัง (fiscal space) ซึ่งหมายถึงส่วนต่างระหว่างหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เกิดขึ้นจริงเปรียบเทียบกับเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ถูกคำนวณขึ้นว่าประเทศไทยควรจะอยู่ระดับเท่าใด โดย IMF กำหนดให้ประเทศไทยอยู่ที่ 60% ต่อ GDP

ในอดีตประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ 40% ต่อ GDP ทำให้มีพื้นที่ทางการคลังอยู่ที่ประมาณ 20% ต่อ GDP ซึ่งถือว่ามากพอสมควรและตัวเลขดังกล่าวทำให้มั่นใจได้ว่ารัฐบาลมีวินัยทางการคลัง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ประเทศไทยยังมีเบาะรองรับทำให้ไม่เจ็บตัว แต่ความเชื่อดังกล่าวได้เปลี่ยนไป เมื่อวิกฤตโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ต่อ GDP ภายในเวลาไม่กี่เดือน และส่งผลต่อความหมายของพื้นที่ทางการคลังต่างจากเดิม เมื่อรัฐบาลขยับเพดานหนี้สาธารณะของประเทศไทยขึ้นตามมติรัฐบาลไทย โดยมีการปรับเพดานหนี้สาธารณะจากเดิม 60% ต่อ GDP เป็น 70% ต่อ GDP อธิภัทรให้ความเห็นว่าการปรับตัวเลขดังกล่าวทำให้เพดานหนี้สาธารณะที่เคยเป็นเครื่องมือในการพิจารณาเรื่องวินัยทางการคลังของรัฐถูกลดทอนความสำคัญลงมา ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อกรอบวินัยทางการเงินการคลังที่เดิมออกแบบในบริบทที่มีพื้นที่ทางการคลังมาก ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อนักลงทุนต่างประเทศที่เคยเชื่อมั่นในพื้นที่ทางการคลังก็ต้องพิจารณาตัวชี้วัดอื่นในการพิจารณาลงทุนในประเทศไทย

เปิดกระเป๋ารายได้ของรัฐบาล

นอกจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงมากขึ้น อธิภัทรยังกล่าวถึงความท้าทายของการคลังไทยที่เป็นโจทย์ใหญ่อย่างรายได้ของรัฐที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จากข้อมูลพบว่ารายได้ของรัฐบาลไทยมีแนวโน้มลดลงและไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มระดับพัฒนาเดียวกัน กล่าวคือสัดส่วนรายได้ภาษีของรัฐต่อ GDP (tax revenue to GDP) ในช่วง 2011-2012 อยู่ที่ประมาณ 15.7%-15.8% และลดลงต่อเนื่องโดยในปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤตสุขภาพสัดส่วนรายได้ภาษีของรัฐต่อ GDP อยู่ที่ 14%

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบรายได้ภาษีของรัฐต่อ GDP กับกลุ่มประเทศที่มีระดับพัฒนาใกล้เคียงกัน ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่ารายได้ภาษีของรัฐต่อ GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ 16.1% ต่ำกว่าประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (upper middle-income) และประเทศรายได้สูง (high-income) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงมีความท้าทายในแง่ของการหารายได้เข้ารัฐ และอธิภัทรให้ความเห็นว่าเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญทางการคลังที่จะส่งผลการใช้จ่ายงบประมาณเช่นกัน

หากพิจารณาถึงแนวโน้มลดลงของการจัดเก็บภาษีโดยรัฐ หลายคนมองว่ามีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจนอกระบบที่คนไทยจำนวนมากไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อธิภัทรให้ความเห็นว่าส่วนหนึ่งถูกต้อง เนื่องจากจำนวนประชากรที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ปัจจุบันมีเพียงประมาณ 4 ล้านคนหรือคิดเป็น 10% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ ตัวเลขดังกล่าวถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่นอกจากปัญหาช่องว่างของการปฏิบัติทางภาษีให้ถูกต้อง (compliance gap) ดังกล่าวแล้ว เขายังพบว่าประเทศไทยยังมีช่องว่างเชิงนโยบาย (policy gap) ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษี

อธิภัทรฉายภาพปัญหาผ่านข้อมูลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีเพียงปี 1992 รัฐบาลมีการเริ่มใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) ซึ่งเป็นลักษณะการเพิ่มการจัดเก็บภาษี เพื่อหารายได้เข้าสู่รัฐบาล แต่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เป็นการลดอัตราภาษีลง ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ทั้งในรูปแบบการลดอัตราภาษีลงหรือขยายฐานรายได้สุทธิ เพื่อยกเว้นภาษีรายได้บุคคลธรรมดา การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น เริ่มลดหย่อนภาษีให้กับผู้ซื้อกองทุน LTF, เริ่มให้สิทธิประโยชน์ SMEs ถาวร เป็นต้น

จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจที่แนวโน้มการจัดเก็บภาษีของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ตาม อย่างไรก็ดีรัฐบาลส่วนใหญ่มักจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีในลักษณะที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องการรักษาฐานคะแนนเสียง

ในช่วงท้ายอธิภัทรได้มี 3 ข้อเสนอในการจัดเก็บภาษีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความยั่งยืนทางการคลัง ได้แก่

1. การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ค่อนข้างต่ำหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีระดับ GDP ต่อประชากรของประเทศใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดีแม้เป็นแนวทางที่ง่ายที่สุด แต่มีความท้าทายเนื่องจากเป็นภาษีถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ที่มีรายได้ปานกลางที่ต้องเสียภาษีในสัดส่วนต่อรายได้สูงกว่าคนรายได้สูง

2. การแก้ไขช่องว่างเชิงนโยบาย (policy gap) ทั้งในภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเฉพาะในด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่งในอนาคตภาครัฐจำเป็นต้องปรับวิธีคิดให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากทั่วโลกมีการบรรลุข้อตกลงในการการกำหนดภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำของโลก (global minimum tax – GMT) ที่อัตรา 15% เพื่อลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่หันมาลงทุนประเทศที่ภาษีต่ำ หากประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนต่างชาติ แต่ทำให้บริษัทข้ามชาติจ่ายภาษีไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำก็ส่งผลให้บริษัทดังกล่าวต้องไปจ่ายภาษีเพิ่มในประเทศแม่ นอกจากจะทำให้สิทธิประโยชน์ BOI มีความเสี่ยงที่จะสูญเปล่า และยังทำให้รัฐเสียโอกาสในการจัดเก็บภาษีเพื่อพัฒนาประเทศ

3. การเก็บภาษีรายได้จากทุน และการเก็บภาษีกับผู้ที่มีรายได้สูงในประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก อธิภัทรให้ความเห็นว่าน่าจะมีบทบาทมากขึ้นและควรจะทำมากกว่าการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นยาแรงส่งผลกระทบต่อคนในสังคมค่อนข้างมาก

ส่องงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลไทย

หลังจากพิจารณาความท้าทายทางการคลังที่มีอยู่เดิมแล้ว อธิภัทรกล่าวว่าในการพิจารณางบประมาณของภาครัฐมักจะพิจารณาใน 2 มิติสำคัญด้วยกัน ได้แก่ การจัดสรรงบ (allocation) โดยพิจารณาถึงความสอดคล้องกับทิศทางของประเทศและความยั่งยืนทางการคลัง และความรับผิดชอบของรัฐ  (accountability) ที่สะท้อนความโปร่งใสในการจัดทำงบประมาณ

สำหรับมิติการจัดสรรงบประมาณ อธิภัทรให้ความเห็นว่าการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลจำเป็นต้องสอดรับกับความท้าทายทางการคลังที่เกิดขึ้นส่งผลให้รายจ่ายในงบประมาณส่วนหนึ่งจะไม่สามารถลดทอนลงได้ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการ, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อดึงประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง, ความจำเป็นในการคงค่าใช้จ่ายสาธารณสุข เพื่อตอบรับกับสังคมสูงวัย เป็นต้น

อีกทั้งเมื่อพิจารณางบประมาณปี 2566 อธิภัทรได้สะท้อนความกังวลถึงรายจ่ายทางการคลังซ่อนเร้น และการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูงคิดเป็น 40.3% ของงบประมาณทั้งหมด โดยตัวเลข 24.2% เป็นงบประมาณรายจ่ายบุคลากร 0.7% ปรากฏในเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ 15.4% ปรากฏในงบกลาง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดในงบกลางพบว่าในช่วง 10 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2557-2566 งบกลางที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี โดยในปีงบประมาณ 2566 งบกลางเกือบ 80% ของประมาณทั้งหมดเป็นงบที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทั้งจากเบี้ยบำเหน็จ บำนาญ (54.7%), ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ (12.9%) และงบประมาณกันสำรองข้าราชการ (12.9%)

อธิภัทรเสนอว่างบที่เกี่ยวกับข้าราชการบางส่วนอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในงบกลาง แต่สามารถจัดให้อยู่ในรายจ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลัง เนื่องจากรายจ่ายหลายรายการไม่สามารถกำหนดตัวเลขงบประมาณได้อย่างชัดเจน เช่น ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ค่าบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น พร้อมเสนอถึงการปฏิรูปราชการผ่านการปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้สูงขึ้นเทียบเท่ากับเอกชน ดึงดูดให้คนมีความสามารถได้เข้ามาทำงานราชการ เพื่อพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันลดสวัสดิการของข้าราชการที่จะมีผลกระทบต่อความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต

นอกจากนี้อธิภัทรยังให้ความเห็นถึงประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดสรรงบประมาณที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดว่าเปรียบเทียบค่อนข้างยาก เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในแง่มิติพื้นที่ถูกบิดเบือนด้วยการรวมศูนย์อำนาจในแง่การดำเนินนโยบาย รวมไปถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีหน่วยงานค่อนข้างเยอะ และบางโครงการแม้จะมีการจัดสรรงบประมาณให้กับกรุงเทพมหานคร แต่พื้นที่ต่างจังหวัดใกล้เคียงก็ได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ดีสิ่งที่อธิภัทรคาดว่าประชาชนอยากจะเห็นในอนาคตคือการกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะอิสระทางการคลังของท้องถิ่น

ผ่าตัดงบประมาณไทย-เพิ่มความโปร่งใสของงบประมาณภาครัฐ

สำหรับมิติความรับผิดชอบของรัฐ (accountability) เป็นหนึ่งตัวชี้วัดที่หลายคนให้ความสนใจในการพิจารณางบประมาณ อธิภัทรให้ข้อมูลว่าประเทศไทยมีคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลวินัยทางการเงินการคลังของรัฐบาลผ่านการกำหนดกฎการคลัง (fiscal rules) ซึ่งนำมาสู่กรอบวินัยการเงินการคลังในการช่วยออกแบบจัดทำงบประมาณ เช่น ระบุสัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณทั้งหมดต้องไม่น้อยกว่า 20% และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินขาดดุลทั้งหมด เป็นต้น

อย่างไรก็ดีอธิภัทรชี้ถึงความกังวลที่ทำให้สาธารณชนอาจจะขาดความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบวินัยทางการคลังของภาครัฐ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและข้าราชการเป็นคณะกรรมการ เมื่อผู้ตรวจสอบวินัยทางการเงินการคลังและผู้ถูกตรวจสอบเป็นกลุ่มคนเดียวกันจึงอาจจะส่งผลต่อการตรวจสอบถ่วงดุล โดยเขาหยิบยกตัวอย่างในประเด็นการชดเชยภาระการคลังจากมาตรการกึ่งการคลังของรัฐบาล กล่าวคือรัฐบาลให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ดำเนินการตามมาตรการของภาครัฐ เช่น การประกันราคาพืชผลทางการเกษตรหรือการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกร และเมื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขาดทุนจึงมาขอรับการชดเชยจากรัฐบาลทีหลัง ซึ่งในอดีตมีการกำหนดสัดส่วนงบประมาณต้องไม่เกิน 30% ของงบประมาณทั้งหมด แต่ในปีที่แล้วรัฐบาลขอขยายสัดส่วนเพิ่มเป็น 35% ของงบประมาณทั้งหมดและในปีนี้มีแนวโน้มขยายเพิ่มอีกสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐสามารถขยับตัวเลขได้โดยไม่มีหน่วยงานที่มาถ่วงดุล แตกต่างจากประเทศอื่นที่มีหน่วยงานอิสระที่สามารถตรวจสอบการดำเนินนโยบายอย่างเข้มแข็ง ทั้งการตรวจสอบประสิทธิผลของมาตรการของภาครัฐว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดหรือไม่ และการวิเคราะห์คาดการณ์ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับสาธารณชนบนสมมติฐานที่มีพื้นฐานความเป็นจริง ปราศจากอิทธิพลทางการเมือง

การผ่าตัดระบบงบประมาณไทยภายใต้ความเห็นของอธิภัทรจึงมีเป้าหมายให้ประชาชนเจ้าของภาษีได้มีความสบายใจว่าเงินภาษีได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1. การออกแบบกรอบวินัยทางการเงินการคลังและกฎการคลังที่เหมาะสมกับทิศทางการพัฒนาประเทศและความยั่งยืนทางการคลัง เนื่องจากเดิมทีกรอบวินัยการเงินการคลังถูกออกแบบมาในระบบที่มีพื้นที่ทางการคลังอยู่มากและพึ่งพาเพดานหนี้สาธารณะเป็นตัวแปรควบคุมทางการคลัง (fiscal anchor) ขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว

2. ก่อตั้งสถาบันการคลังอิสระ (independent fiscal institutions) เพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลและตรวจสอบการดำเนินนโยบายทางการคลังของภาครัฐ เพื่อทำให้มั่นใจว่ารัฐบาลมีความรับผิดชอบของรัฐ (accountability) ขณะเดียวกันต้องไม่จำกัดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากเกินไป เนื่องจากรัฐบาลมีอำนาจจากประชาชนในการจัดเก็บภาษีและใช้งบประมาณ ซึ่งรูปแบบของสถาบันการคลังอิสระก็อาจจะแตกต่างกันไปตามบริบททางการเมืองของประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกามีสำนักงานวิเคราะห์และติดตามการใช้งบประมาณแห่งรัฐสภา (Congress Budget Office – CBO) อันเป็นหน่วยงานอิสระนี้ผูกอยู่กับรัฐสภา หรือประเทศอังกฤษตั้งหน่วยงานอิสระที่ชื่อคณะกรรมการประเมินนโยบายการคลัง (fiscal council) ปราศจากอิทธิพลจากรัฐสภาและรัฐบาล เป็นต้น

3. มีการเปิดเผยตัวเลขงบประมาณในโครงการต่างๆ สู่สาธารณชนโดยให้เวลาประชาชนศึกษาข้อมูลดังกล่าวมากขึ้นก่อนการพิจารณาของสภาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดทำงบประมาณ กล่าวคือมีรายละเอียดข้อมูลที่ประชาชนสามารถตรวจสอบวิเคราะห์จากงบประมาณของภาครัฐ และประชาชนสามารถตั้งคำถามถึงการจัดทำงบประมาณ เพื่อไปสู่การออกแบบงบประมาณที่ระบบราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save