fbpx

อ่านโหราศาสตร์กับการเมืองไทย: การช่วงชิงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ และดวงเมืองของปุถุชน

ในห้วงประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดูเหมือนว่าความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์จะยึดโยงเกี่ยวพันกับการตัดสินใจหลายเรื่องอย่างแยกไม่ออก ทั้งการดูฤกษ์ยาม สีเสื้อมงคล หรือการทำพิธีกรรมในวันสำคัญ 

แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่โหราศาสตร์แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของสังคมไทย และยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ ก็คล้ายว่าโหราศาสตร์จะอยู่เบื้องหลังความเป็นไปเสมอมา

101 ชวนตรวจดวงเมือง ดูชะตาอนาคตสังคมไทย และหาคำตอบว่าโหราศาสตร์ส่งอิทธิพลต่อการเมืองไทยอย่างไรจากหน้าประวัติศาสตร์ถึงวิกฤตร่วมสมัย ไขปริศนาการเมืองเรื่องโหราศาสตร์กับ การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ เจ้าของเว็บไซต์ไทยศรียันตรา เพจการะเกต์พยากรณ์ และเจ้าของคอลัมน์ ‘อาณาจักรใจ’ ในมติชนสุดสัปดาห์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนคอลัมน์ ‘ผี พราหมณ์ พุธ’ ในมติชนสุดสัปดาห์ และธีรภัทร เจริญสุข เจ้าของและบรรณาธิการสำนักพิมพ์พะโล้พับบลิชชิง นักเขียน นักเดินทาง ผู้สนใจศึกษาการเมือง วัฒนธรรม และโหราศาสตร์

โหราศาสตร์ส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างไร ดวงเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร และเราจะสร้างประชาธิปไตยได้หรือไม่โดยมีโหราศาสตร์เป็นตัวช่วย 

โหราธิปไตยในหน้าประวัติศาสตร์

2475 จุดเปลี่ยนการช่วงชิงอำนาจความศักดิ์สิทธิ์

หากหดช่วงเวลาให้แคบลงเพื่อทำความเข้าใจ ‘โหราธิปไตย’ ในหน้าประวัติศาสตร์ เราจะเริ่มต้นที่ฉากการสร้างเสาหลักเมืองในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ยุคที่มีการก่อบ้านเมืองขึ้นใหม่ มีการสร้างพระนครอยู่คนละที่กับกรุงธนบุรีซึ่งเป็นเมืองหลวงก่อนหน้านั้น

คมกฤชเล่าประวัติศาสตร์ในการสร้างเมืองครั้งนั้นว่า มีเรื่องเล่าที่ส่งผลต่อความเชื่อของผู้คนอย่างมาก และส่งผลต่อกาลข้างหน้าได้เที่ยงตรงอย่างน่าประหลาด 

“ปี 2325 ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการตั้งหลักเมืองเพราะเปลี่ยนพระนครใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ วัดพระแก้วในปัจจุบัน ในบันทึกของกรมหลวงนรินทรเทวีบอกว่ามีงู 4 ตัวลงไปในหลุมที่จะฝังเสาหลักเมือง ซึ่งพอได้พระฤกษ์ฝังเสา หลักเมืองก็วางทับงูลงไปจนทำให้งูทั้ง 4 ตัวตายในหลุม ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ขุนนางและพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยนั้นว่าจะเกิดเหตุเพทภัยต่อบ้านเมืองหรือไม่ เลยมีการคำนวณกันทางโหราศาสตร์จนมีคำพยากรณ์ออกมาว่ากรุงรัตนโกสินทร์หรือราชวงศ์จักรีจะอยู่ได้แค่ 150 ปี

“พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มเปลี่ยนมาเป็นกรุงเทพฯ ยุคกลางแล้ว รัชกาลที่ 4 มีความรู้ทางโหราศาสตร์ และคงได้ยินเรื่องราวที่สืบทอดกันมาในราชวงศ์จักรี เลยตั้งเสาหลักเมืองขึ้นมาใหม่อีกเสาหนึ่ง เพราะฉะนั้นเสาหลักเมืองในกรุงเทพฯ จึงมีสองเสา เป็นการแก้ทางโหราศาสตร์ แก้ฤกษ์ยามที่เสียไป

“จนพอถึง 150 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ เขาก็กลัวว่าคำทำนายจะเป็นจริง เลยมีการแก้เคล็ดด้วยการสร้างสะพานเชื่อมต่อขนาดใหญ่ระหว่างกรุงเทพฯ กับธนบุรี ซึ่งคือสะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และมีการสร้างพระรูปสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรีไว้ด้วยภายใต้ความวิตกกังวล แต่สุดท้ายก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ซึ่งครบ 150 ปีของคำทำนายพอดี” คมกฤชกล่าว

หลังจากคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง แน่นอนว่าวงการโหรก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน มีการยุบกรมโหรที่อยู่ในวัง และทำให้โหราศาสตร์กลายเป็นเรื่องของประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้ การต่อสู้กันระหว่างความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองยังมีการนำเอาความเชื่อและโหราศาสตร์เข้ามาใช้อย่างเข้มข้น

คมกฤชเล่าว่าคณะราษฎรเองก็มีการใช้สัญลักษณ์ทางความเชื่อเข้ามาเพื่อส่งเสริมการสร้างประชาธิปไตยในประเทศ เช่น นำลายอรุณเทพบุตรมาประดับเหนือซุ้มประตูของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งสื่อถึงแสงสว่างแรกขึ้นของไทยในยุคใหม่ และคณะราษฎรก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตอนเช้ามืดด้วย รวมถึงการสร้างรูปพานประชาธิปไตย หรือฝังหมุดคณะราษฎรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นต้น 

“ความรู้เรื่องโหราศาสตร์กระจายไปสู่คนข้างนอกก็จริง แต่ชนชั้นนำก็ยังใช้โหราศาสตร์ต่อสู้กับฝั่งประชาธิปไตยอยู่เสมอ และยังคงใช้มาถึงปัจจุบัน ส่วนฝั่งประชาธิปไตยในปัจจุบันก็มีความพยายามเอาโหราศาสตร์มาต่อสู้เหมือนกัน ซึ่งนอกจากต่อสู้กันในเชิงความหมายแล้ว ยังมีเรื่องทางจิตวิทยาด้วย คนทำจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่มันส่งผลต่อจิตใจของคนฝั่งที่เชื่อ ซึ่งเป็นแนวทางต่อสู้ที่น่าสนใจ” คมกฤชสรุปภาพการต่อสู้ทางโหราศาสตร์ระหว่างชนชั้นนำเดิมกับฝ่ายประชาธิปไตย

การใช้โหราศาสตร์ไม่ได้อยู่บนแค่สนามการเมืองเท่านั้น แต่ยังแทรกซึมอยู่ในตำรา เรื่องเล่า และวรรณคดีตั้งแต่สมัยอยุธยา จนมาถึงชีวิตประจำวันของผู้คน โดยธีรภัทรเสริมว่า ในเรื่องราชาธิราช ที่ว่าด้วยเรื่องของกษัตริย์มอญรบกับกษัตริย์อังวะ ก็เขียนถึงการดูฤกษ์ยามก่อนออกศึก ซึ่งราชาธิราชเป็นหนึ่งในวรรณคดีที่ถูกบรรจุในแบบเรียนไทย รวมถึงเมื่อเดินไปตามท้องตลาด เราจะพบตำราพรหมชาติที่เป็นพื้นฐานของการใช้วิชาโหรแบบชาวบ้าน และยังมีอีกหลายตำราที่พูดเรื่องลักษณะสีนำโชคประจำวัน ซึ่งเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนเกือบทุกชนชั้น

“ชาวบ้านก็ใช้โหราศาสตร์ ราชสำนักก็ใช้โหราศาสตร์ ซึ่งโหราศาสตร์เหล่านี้จารึกไว้ในวรรณกรรม วรรณคดี และเป็นที่จดจำของคนไทยมาตลอด ตอนนี้พอมาถึงยุคปัจจุบัน โลกกว้างขึ้น ทำให้เราเข้าถึงโหราศาสตร์ของประเทศอื่น เรามีการดัดแปลง เอาแนวโหราศาสตร์สากลมาผสมมากขึ้น ทำให้การคำนวณเปลี่ยนไป เช่น ใช้โหราศาสตร์แบบยูเรเนียน ที่เอาดาวในยุคปัจจุบันอย่างพลูโต ยูเรนัส เนปจูน เข้ามาคำนวณเพิ่มขึ้นด้วย เป็นต้น” ธีรภัทรกล่าว 

“ทุกวันนี้คนสามารถเข้าความรู้ได้ จากแต่ก่อนคนทำหน้าที่กำหนดฤดูกาลคือโหร อย่างในราชสำนักหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น มีกรมที่นอกจากจะทำพิธีกรรมเพื่อสังเวยบูชาบรรพบุรุษหรือเทพเจ้าแล้ว ยังเป็นคนทำปฏิทินและกำหนดฤดูกาลทั้งหลายให้ราษฎรใช้กำหนดเวลาหว่านไถเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ด้วย แต่พอทุกวันนี้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้ การกำหนดฤกษ์ยามและปฏิทินจึงไม่ได้อยู่กับชนชั้นนำอีกต่อไป” ธีรภัทรกล่าวสรุป

ความขลังของรัฐธรรมนูญ และอำนาจเบื้องหลังผู้ปกครอง

หากพูดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น การต่อสู้ทางโหราศาสตร์ระหว่างขั้วอำนาจเดิมกับขั้วอำนาจใหม่ในช่วง 2475 ถูกกระทำผ่านการกำหนดฤกษ์ยามและการให้ความหมายของอำนาจ โดยมีการเมืองเป็นเวทีแสดงอันโดดเด่น

เบนจามิน เอ.บัทสัน นักวิชาการที่สนใจวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้เขียนหนังสือ อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม (The End of the Absolute Monarchy in Siam) เห็นว่าก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน มีการปล่อยข่าวลือในหมู่ประชาชนเรื่องคำทำนายอายุ 150 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์และราชวงศ์จักรี และพอมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจริงๆ ทำให้ชาวบ้านเข้าใจได้ว่าตรงกับคำพยากรณ์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นการใช้โหราศาสตร์ในรูปแบบข่าวสารเพื่อส่งสารออกไปว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้น

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ชนชั้นนำเดิมสู้กลับด้วยการพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ในวันที่ 10 ธันวาคม โดยคมกฤชให้ความเห็นว่าเป็นการแย่งชิงความหมายของวัน จากที่วันรัฐธรรมนูญควรจะเป็นวันที่ 24 มิถุนายน กลับกลายเป็นวันที่ 10 ธันวาคมแทน

“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเลือกพระฤกษ์จากโหรหลวง แทนที่วันที่ 24 จะสำคัญ เพราะเป็นวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงๆ แต่สุดท้ายโหรหลวงก็เลือกวันที่ 10 ธันวาเป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วสร้างความหมายของรัฐธรรมนูญใหม่ว่าเป็นสิ่งพระราชทาน นี่คือการต่อสู้กันในช่วงนั้น” คมกฤชฉายภาพให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างชนชั้นปกครองเก่าและใหม่

ในช่วงเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าคณะราษฎรพยายามสร้างรัฐธรรมนูญให้ศักดิ์สิทธิ์ เช่น เขียนรัฐธรรมนูญในสมุดไทย เอารัฐธรรมนูญวางบนพาน รวมถึงมีการจัดพิธีฉลองรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งยังเป็นวิธีการสร้างความศักดิ์สิทธิ์คล้ายกับที่ชนชั้นนำเดิมทำ 

การแย่งชิงความหมายคุณค่าของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้รับการวิเคราะห์จากนักวิชาการหลายคน หนึ่งในนั้นคือวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่ให้ความเห็นว่าความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญไม่ควรเชื่อมโยงกับอำนาจเหนือธรรมชาติ แต่รัฐธรรมนูญควรจะศักดิ์สิทธิ์ด้วยตัวเอง เพราะมีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ และยังมีประเด็นเรื่อง ‘คำ’ ต่อไปอีกว่า เวลาพูดถึงความขลัง เรามักนึกถึงความเหนียว ฟันยิงไม่เข้า-ทำลายไม่ได้ แต่วรเจตน์เห็นว่า รัฐธรรมนูญไทยไม่เหนียวเลย เพราะการที่เราใช้คำว่า ‘ฉีกรัฐธรรมนูญ’ ได้ ยิ่งทำให้เห็นภาพว่า รัฐธรรมนูญไม่เหนียวจึงฉีกง่าย 

ต่อประเด็นนี้ คมกฤชเพิ่มเติมความเห็นว่า กฎหมายยุคโบราณต้องมีการอ้างเทวสิทธิ์เพื่อลงโทษคนอื่น ซึ่งเป็นการอ้างอำนาจเหนือธรรมชาติ

“ถ้ามีกฎบอกว่าคนหนึ่งมีอำนาจตัดหัวอีกคนหนึ่ง คุณต้องอ้างอำนาจเหนือ ไม่อย่างนั้นคุณจะเอาสิทธิอะไรไปตัดหัวคนอื่น กฎหมายเป็นเรื่องของการลงโทษ แต่ใครจะอ้างสิทธิที่จะลงโทษคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีระบบกษัตริย์ก็ต้องอ้างเทวสิทธิ์ที่จะตัดสิน สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ศาลตัดสินโทษประหารชีวิตไม่ได้นะ คุณต้องถวายไปให้พระมหากษัตริย์ทรงวินิจฉัย เพราะเป็นคนเดียวในแผ่นดินที่สามารถตัดสินว่าใครตายหรือไม่ตายได้ เพราะพระองค์มีเทวสิทธิ์ กฎหมายเป็นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ในทางศาสนาอยู่แล้ว 

“แต่โลกยุคใหม่มีแนวคิดเรื่องมนุษย์แต่ละคนมีศักดิ์ศรีในตัวเอง มีสิทธิเสรีภาพ ซึ่งสิ่งนี้ถูกยกเป็นความศักดิ์สิทธิ์ภายหลัง เป็นความศักดิ์สิทธิ์คนละระบบกัน เพราะฉะนั้นแม้กระทั่งช่วง 2475 การช่วงชิงความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ก็เลยต้องทำแบบเดิมก่อน ไม่เช่นนั้นฝั่งนู้นก็จะอ้างความศักดิ์สิทธิ์ตามประเพณีแบบเดิม แล้วก็มีอำนาจที่จะใช้ความศักดิ์สิทธิ์แบบนั้น ผมเลยคิดว่าเวลาจะแย่งชิงอำนาจก็จะย้อนกลับมาที่ศาสนา เราจะเห็นว่าวิธีใช้รัฐธรรมนูญของคณะราษฎรจึงไปโยงกับพุทธศาสนา” คมกฤชกล่าว

นอกจากประเด็นการสร้างความหมายทางความเชื่อแล้ว คมกฤชยังยกประเด็นเรื่อง ‘การพระราชทาน’ รัฐธรรมนูญว่ายังมีการตีความในรูปแบบอื่นได้ด้วย โดยยกประเด็นที่นิธิ เอียวศรีวงศ์วิเคราะห์ไว้ว่า พานรัฐธรรมนูญที่อยู่บนพานแว่นฟ้าไม่ได้หมายถึงการพระราชทานลงมา แต่หมายถึงประชาชนถวายขึ้นไป เพราะของที่รับพระราชทานแล้วไม่จำเป็นต้องเอาใส่พาน คนสามารถรับมาอยู่ในมือได้เลย นิธิจึงตีความว่าประชาชนต่างหากที่เป็นฝ่ายยื่นพานรัฐธรรมนูญขึ้นไป 

จากประเด็นเรื่องการสวมอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ไว้กับวัตถุหรือตัวบุคคล สอดคล้องกับความเห็นของ เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ (Edoardo Siani) นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องความเชื่อ ศาสนา และโหราพยากรณ์ ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ในประวัติศาสตร์ไทยโหราศาสตร์กับการเป็นผู้นำมาคู่กันตลอด ผมเข้าใจว่าในมุมมองของนักโหราศาสตร์ คนที่ต้องการมีอำนาจบนโลกนี้ จะต้องสะสมพลังที่มาจากที่อื่นก่อน เช่น มาจากท้องฟ้า ดวงดาว โลกเทพ หรือแม้แต่อดีตชาติ คุณจะนิยามพลังนั้นกว้างๆ ว่าเป็นพลัง หรือเจาะจงว่าเป็นบารมีก็แล้วแต่ สำหรับคนที่เชื่อในโหราศาสตร์ โหราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่จะช่วยให้ผู้นำสะสมหรือเสริมพลังนั้น เพื่อที่จะได้หรือรักษาอำนาจบนโลกนี้”

ย้อนกลับไปหา 2475 และรื้อสร้างคณะราษฎรใหม่

การแย่งชิงความหมายของบารมีและการต่อสู้กันในทางโหราศาสตร์ยังคงดำเนินมาอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพในหลายพื้นที่ คมกฤชชวนตั้งข้อสังเกตว่า ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ‘หาย’ และ ‘เปลี่ยน’ ไปหลายจุด เช่น การปิดพื้นที่สนามหลวง การถอนหมุดคณะราษฎร การย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏ การทำให้พื้นที่พระบรมรูปทรงม้ากลายเป็นพื้นที่เฉพาะ หรือการเปลี่ยนอาคารรัฐสภาใหม่ ทั้งยังสร้างให้พระสยามเทวาธิราชอยู่บนยอดมณฑปของอาคารรัฐสภา ซึ่งคมกฤชมองว่าทั้งหมดนี้คือความพยายามทำลายความทรงจำ 2475 ขณะเดียวกันก็มีการรื้อฟื้นความศักดิ์สิทธิ์ที่มีก่อน 2475 ขึ้นมา 

“ถ้าเราจะทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่ทำความเข้าใจปี 2475 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทั้งหมดนั้นคือความพยายามดึงเอาความศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นก่อน 2475 กลับมาให้หมด และผมคิดว่าด้วยเหตุนี้ แนวการต่อสู้ของฝั่งประชาธิปไตยจึงใช้ชื่อว่าคณะราษฎรใหม่ เพราะการต่อสู้ของ 2475 ยังไม่จบ ยังมีอยู่ในปัจจุบัน แล้วทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่มีนัยยะในเชิงความหมายของความศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อด้วย” คมกฤชกล่าว

เช่นเดียวกับธีรภัทรที่มองว่าการเอาสัญลักษณ์ก่อนยุค 2475 กลับมาของชนชั้นนำทำให้เกิดกระแสโต้กลับ และเมื่อย้อนกลับไปดูการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชน ก็มีการนำโหราศาสตร์และความเชื่อมาใช้ก่อนหน้านี้แล้ว เช่น การต่อสู้ของคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่ใช้โหรชาวบ้านมาทำพิธีเทเลือด จนมาถึงยุคนี้ที่เกิดม็อบมูเตลู กลายเป็น ‘มูเตลูเพื่อเสรีภาพ’ ในแฮชแท็กทวิตเตอร์ ที่ไปยืมพลังมาจากที่อื่นนอกเหนือจากความเชื่อพุทธและพราหมณ์

แม้ว่าในยุคปัจจุบันความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์และศาสนาอาจบางเบาไปในสังคมคนรุ่นใหม่ หรือมีการแปลงความเชื่อแบบดั้งเดิมผสมผสานกับความเชื่อรูปแบบอื่นมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนที่เชื่อในโหราศาสตร์และเคารพศาสนาอยู่ในสังคม และเป็นไปได้ว่าหากฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องการเพิ่มจำนวนคนให้เข้ามาในขบวนการ ก็ไม่อาจมองข้ามคนเหล่านี้ โดยคมกฤชเสนอว่าต้องมีการสมดุลคุณค่าเก่ากับคุณค่าใหม่ของความเชื่อให้ไปด้วยกันได้ เพื่อความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหว

“เวลาเราพูดถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง เราพยายามรวมเอาคนหลากหลายแบบเข้ามาเป็นส่วนประกอบ แน่นอนว่า เวลาเราบอกว่า ฉันจะไม่เอาศาสนาแล้ว ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งไม่เอากับขบวนการ เพราะสังคมไทย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดยังมีคนที่เคารพศาสนาอยู่จำนวนมาก

“มีอีกวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจ คือการตีความศาสนธรรมให้ไปกับคุณค่าประชาธิปไตย เช่น เวลาเราพูดคอนเซ็ปต์ผี พราหมณ์ พุทธ แบบเดิม จะมีบางคนสำคัญหรือศักดิ์สิทธิ์กว่าบางคน ซึ่งแน่นอนว่าเวลาเราพูดจากมุมมองคุณค่าประชาธิปไตยว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าในตัวเอง มันก็ขัดกัน ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องเปลี่ยน เราต้องเปิดพื้นที่ให้ศาสนาหรือความเชื่อทางไสยศาสตร์เข้ามาในแนวต่อสู้ได้ ทำให้คนที่มีความเชื่อแบบนี้เข้ามาร่วมได้ เราจะทำให้ทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนไปด้วยกันผ่านคุณค่าสังคมที่เรามีด้วยกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นงานยากที่จะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวฝั่งประชาธิปไตยเป็นแบบนี้ได้” คมกฤชอธิบาย ก่อนจะยกตัวอย่างการต่อสู้อีกรูปแบบหนึ่ง ที่ยังไม่ถึงกับเปลี่ยนแปลงคอนเซ็ปต์เรื่องความศักดิ์สิทธิ์หรือศาสนา แต่ทำเพื่อกวนฝั่งชนชั้นนำเดิม เช่น ฝังหมุดใหม่ที่สนามหลวง เข้าไปศาลหลักเมืองเพื่อถามว่าเทวดาว่าอยู่ฝั่งไหน อย่างที่เคยทำมาแล้ว เป็นต้น 

คมกฤชอธิบายต่อไปว่า ก่อนหน้านี้มีเทพที่ถือว่าเป็นสายประชาธิปไตยอยู่เหมือนกัน โดยเกิดจากคณะราษฎรสร้างขึ้นมาทั้งหมด 3 องค์ คือ อรุณเทพบุตร เทพีรัฐธรรมนูญ และพระศิวะปราบอสูรตีปุระ รวมอีกหนึ่งองค์ที่มีอยู่เดิมคือพระสยามเทวาธิราช ที่คณะราษฎรพยายามเอามาเปลี่ยนความหมายใหม่ เช่น เอามาเป็นตราสัญลักษณ์ในเหรียญที่มอบเป็นความดีความชอบให้ผู้ที่ปราบกบฏบวรเดช เป็นต้น และคมกฤชเชื่อว่าสามารถดึงพระสยามเทวาธิราชให้มาอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยได้

“คณะราษฎรพยายามที่จะเอาพระสยามเทวาธิราชมาอยู่ฝั่งประชาธิปไตย เพียงแต่เขาเอามาใช้ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ผมคิดว่า เราต้องดึงมาใช้เลย แล้วสร้างเรื่องราวใหม่ หรืออย่างที่กลุ่มคณะราษฎรใหม่เข้าไปถามศาลหลักเมืองว่าจะอยู่ฝั่งไหน แล้วสุดท้ายก็จะมีกระบวนการเองว่าเทพจะย้ายฝั่งได้อย่างไร แต่เราต้องเริ่มจากการตั้งคำถามก่อน” คมกฤชกล่าวสรุป

2568 จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ และดวงเมืองของปุถุชน

ก่อนจะไปถึงการดูดวงเมือง เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจระบบการดูดวงเมืองก่อนว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์ โดยการะเกต์ โหรเจ้าของเพจการะเกต์พยากรณ์ อธิบายให้ฟังว่าดวงเมืองแบ่งตามลักษณะของดาวสองดวงที่มีความสำคัญมาก คือดาวเสาร์กับดาวพฤหัสบดี หากดาวสองดวงนี้โคจรมาเจอกันเมื่อไหร่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่น มีการเปลี่ยนรัชกาล ย้ายเมือง เป็นต้น และอีกปรากฏการณ์สำคัญคือ เมื่อไหร่ที่ดาวมฤตยู (ภาษาอังกฤษเรียกยูเรนัส) เข้ามาอยู่ในราศีเมษซึ่งเป็นลักขณาดวงเมือง ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน และดาวมฤตยูจะมาถึงอีกครั้งในปี 2568

หากมองดวงเมืองตอนนี้ การะเกต์บอกว่าปี 2565 เป็นปีที่มีความสำคัญ เพราะเป็นช่วงที่ดาวใหญ่กำลังเข้ามาอยู่ในระยะทำเชิงมุมต่อกัน จะเกิดความปั่นป่วนและความวุ่นวายเป็นพักๆ ในช่วงปี 2564 แต่ยังไม่ถึงจุดสำคัญที่สุด จนปี 2565 อาจมีการปรับคณะรัฐบาล หรือเปลี่ยนตัวบุคคลที่มาบริหารประเทศ จนถึงในปี 2568 ที่น่าจะมีการแก้กฎหมายสำคัญบางตัว 

“ตอนนี้เราจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ก่อนหน้านี้คนไม่คิดว่าจะเกิด แล้วอัตราเร่งจะเร็วขึ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากขึ้น และมีปัจจัยหลายอย่างที่จะนำไปสู่ความระส่ำระสายหรือความโกลาหลสักระยะหนึ่ง จนกว่าจะไปถึงจุดพีกที่มีการเปลี่ยนใหญ่” การะเกต์สรุป

ทั้งนี้หากเราพูดถึงดวงเมือง คำถามสำคัญที่หลายคนมักถามคือ ดวงเมืองที่ว่านั้นเป็นดวงของใคร ของประชาชนทุกคน หรือเป็นของชนชั้นปกครอง การะเกต์เปรียบเทียบไว้อย่างเห็นภาพว่าประเทศหรือเมืองก็เหมือนบ้าน

“โหราศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องของเวลาและพื้นที่ ทำงานจับจุดดาวต่างๆ ดังนั้นเวลาพูดถึงดวงเมือง ให้เรานึกภาพว่ามีอาณาบริเวณหนึ่งประเทศ ประเทศนี้คือบ้านหนึ่งหลัง เมื่อมีการตั้งเสาหลักเมือง ก็คือเสาเอกของบ้านหลังนั้น ทีนี้พวกเรา ไม่ว่าจะเป็นใคร เราคือบุคคลที่อยู่ร่วมกันในบ้านหลังนี้ ทีนี้เราก็มาดูระยะทำมุมของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ที่ส่องแสงลงมายังบ้านหลังนี้ ซึ่งหมายถึงอาณาบริเวณของเมืองนี้ ทั้งหมดก็จะสัมพันธ์กับดินฟ้าอากาศ เช่น ดาวอังคารเป็นธาตุลม เวลามีพายุเข้ามาก็จะกระทบบ้านเรา ทำให้เรารู้ว่าบ้านในฤดูนี้จะเป็นอย่างไร”

เมื่อคนหลายคนรวมกันอยู่ในบ้าน จึงมีการสถาปนาคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมาเป็นเจ้าบ้าน มีกรรมสิทธิ์สูงสุด ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจมากกว่าคนอื่น ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาดูดวงเมือง จึงต้องดูดวงเจ้าบ้านเป็นหลักเพื่อดูว่าเจ้าบ้านคิดอย่างไร วางแผนจะทำบ้านแบบไหน จะบริหารบ้านอย่างไร จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ดวงเมืองจะไปเกาะดวงของผู้ปกครองหรือคณะบริหารประเทศ

“โดยธรรมชาติต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว โหราศาสตร์อาจจะบอกเราว่า เวลาเท่าไหร่ที่สิ่งไหนจะเสื่อม สิ่งไหนจะคงรูป และเราควรรีโนเวตบ้านตอนไหน ตอนนี้ถ้าบ้านชำรุดทรุดโทรม เราก็ต้องจัดการ บางทีคนรุ่นเก่าอยู่อาจจะชิน ไม่เห็นว่าเป็นปัญหา แต่คนรุ่นใหม่อาจเริ่มรู้สึกว่านี่แหละคือปัญหา รู้แล้วว่าบ้านทรุดโทรมเกินกว่าจะอยู่อาศัยกันได้อย่างสงบร่มรื่น นี่คือวิธีคิดและเจตจำนง” การะเกต์กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และอธิบายต่อว่าแม้จะมีดวงดาวกำหนดดวงเมือง แต่โหราศาสตร์ก็ไม่อาจกำหนดชีวิตทุกคนได้

“โหราศาสตร์ไม่ได้เป็นตัวกำหนดชีวิตทุกคนขนาดนั้น คนที่อยู่ในเมืองต่างหากที่เป็นคนกำหนดเมือง เพราะฉะนั้นเวลาเราอ่านดวงเมืองในทางโหร เราอ่านเพื่อเห็นภาพรวมของเมืองทั้งหมด ไม่ได้เป็นใครคนใดคนหนึ่งที่ขับเคลื่อนดวงเมือง แต่คือทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าเจตจำนงของใครมีกำลังมากกว่า ใครที่มีทุนมากกว่า มีอำนาจมากกว่า ก็อาจชนะไป เลยมีการช่วงชิงกันอยู่ในตอนนี้”

ในวันที่บ้านเมืองกำลังจะถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ และคนในบ้านมีความเห็นแตกต่างกันเรื่องการพัฒนาบ้าน การะเกต์ทิ้งท้ายเรื่องเจตจำนงในการเปลี่ยนดวงเมืองไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ตอนนี้มีการช่วงชิงกันอยู่ว่าเราจะอยู่กับบ้านอย่างไร เพราะกลุ่มที่อาศัยอำนาจเดิมอยู่ หรือรู้สึกว่าเป็นเจ้าบ้านแต่เดิม เขามีศักดิ์มีสิทธิ์ เป็นคนถือพิมพ์เขียวผังบ้านอยู่ เขาคิดว่าเขาจะไล่ใครออกจากบ้านก็ได้ เพราะเขาถือกฎอยู่ ทีนี้ถ้าเรามองเห็นว่ามีความไม่ยุติธรรมอยู่ในกฎเหล่านั้น การเปลี่ยนดวงเมืองก็คือการเปลี่ยนเจตจำนง เพิ่มจำนวนบุคคลที่เห็นร่วมกัน เมื่อไหร่ที่เรามีเสียงข้างมาก เมื่อไหร่ที่เราสามารถคานอำนาจได้ จุดนั้นแหละที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตกับบ้านเราได้”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save