fbpx
เพดานสูงสุดในความสัมพันธ์ คือการทำร้ายกัน (รึเปล่า)

เพดานสูงสุดในความสัมพันธ์ คือการทำร้ายกัน (รึเปล่า)

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

“เพดานสูงสุดของความสัมพันธ์ ก็น่าจะเป็นการทำร้ายกันหรือเปล่า”

ชายที่ฉันนับถือเป็นพี่ เนื่องด้วยขวบวัย และประสบการณ์ กล่าวขึ้นกลางวงสนทนา ขณะฉันและคนอีกสี่ห้าคนกำลังดื่มเบียร์ยามค่ำคืน

ประโยคของพี่ชายคนนี้เกิดขึ้นเมื่อ ‘ฝน’ น้องเล็กสุดในวง ถูกซักถามเรื่องความรักความสัมพันธ์ด้วยคำถามพื้นฐานทั่วไปอย่าง ‘มีแฟนหรือยัง คบมาแล้วกี่คน สเปคเป็นอย่างไร’ และแม้คำถามเหล่านี้จะเรียบง่าย แต่ฝนกลับมีท่าทีลำบากใจที่ต้องตอบพอควร

“เคยมีแฟน ไม่กี่คนหรอก”

“สเปคหรือ… ไม่รู้ว่ะพี่ ที่ผ่านๆ มาความสัมพันธ์ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่”

“ไม่ดีคือยังไง” อีกครั้งที่ฝนกลอกตาไปมาเมื่อได้ยินคำถาม และทำท่าเหมือนจะขย้อนอะไรออกมาแบบคนพูดไม่ออก

“ทำร้ายกันหรือ” พี่ชายคนเดิมถาม และฝนก็เพียงพยักหน้าเบาๆ เท่านั้น

ฝนเล่าว่าค่อนข้างแปลกใจที่พี่ชายผู้นี้ทายถูกเป๊ะๆ แม้เขาจะอธิบายไว้แล้วว่า “เพดานสูงสุดของความสัมพันธ์ ก็น่าจะเป็นการทำร้ายกันหรือเปล่า”

ฉันไม่รู้ว่าบุคคลในวงสนทนา และผู้อ่านจินตนาการคำว่า ‘ทำร้าย’ ไว้อย่างไร แต่เท่าที่ฉันรู้จักฝนมาเป็นเวลานาน ฉันรู้ดีแก่ใจว่าความหมายของเธอคือการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจหลายต่อหลายครั้ง

จะว่าไปแล้ว ผู้หญิงหลายคนมักมีข้อจำกัดในความสัมพันธ์ ทำนองว่า ฉันจะเลิกกับเขาแน่ถ้าเขานอกใจฉัน ฉันไม่มีทางทนหรอก หากเขาโกหกฉันแม้แต่ครั้งเดียว บางคนอาจจะมีกฏแบบนี้ให้ตัวเองและคนรักหลายข้อเลยด้วยซ้ำ และถึงแม้ฉันจะพบว่าพวกเธอไม่ได้ ‘ไม่ทน’ อย่างที่พูดทุกครั้ง แต่ฉันก็ไม่เคยเถียงออกไปให้ใครรำคาญใจว่า ‘ตั้งกฏไปก็เท่านั้น อย่าให้เห็นแล้วกันว่าถึงเวลาแล้วทนได้’ ในเมื่อกฏเหล่านี้นี่แหละที่จะทำให้พวกเธอรักตัวเอง และเป็นตัวช่วยเฝ้าระวังความบอบช้ำให้ไม่มากก็น้อย

สำหรับฝน ผู้หญิงที่ภายนอกดูเข้มแข็ง ไม่ยอมคน และมักตกเป็นที่พึ่งทางใจของเพื่อนๆ เสมอนั้น เธอมีกฏให้ความสัมพันธ์เพียงข้อเดียว กฏที่เมื่อย้อนมองดูในวันนี้ ฉันและฝนก็ทำได้เพียงหัวเราะขื่นๆ

“ฝนจะไม่มีทางอยู่กับคนที่ลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกายผู้หญิงเด็ดขาด” นั่นแหละสิ่งที่ฝนว่าไว้

ฝนเลือกตั้งกฏไว้แบบตรงประเด็นและเป็นเพดานสูงสุด เหมือนที่พี่ชายคนนั้นกล่าวไว้ เพราะประสบการณ์การเป็นทีปรึกษาให้เพื่อนหลายต่อหลายครั้งได้สอนว่า หากเรากำลังพูดถึง ‘ความรัก’ สิ่งที่ไร้เหตุผลสิ้นดี ทุกอย่างมักจะยืดหยุ่นได้เสมอ

ตลอดเวลาที่ฝนคบหากับแฟน เธอตกอยู่ในห้วงรักอย่างดีที่สุดเท่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะทำได้ เวลาหลายปีในการคบหากันเป็นคำตอบว่าพวกเขาเข้ากันได้ดี และเขาคงจะรักฝนมากพอดู เพื่อนๆ และครอบครัวของฝนจึงรับรู้ว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และมันก็เป็นอย่างนั้นเสมอ จนกระทั่งวันที่ฝนจบความสัมพันธ์กับเขา ฉันถึงเพิ่งได้รู้ความจริงที่น่าปวดใจ

ฝนได้ฝ่าฝืนกฏของตัวเอง และยืดหยุ่นให้กับเรื่องร้ายๆ มาหลายปี

ความรุนแรงในความสัมพันธ์

“ครั้งแรกมันเริ่มจาก เขาหึง แต่ครั้งถัดๆ ไป ครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้ ฝนนับไม่ได้และไม่อยากนับ แต่มันเกิดจากเหตุผลบ้าบออะไรก็ได้ทั้งนั้น”

ฝนเล่าว่า ฝนกับแฟนทะเลาะกันจากความหึงหวงของเขา แต่จนทุกวันนี้ฉันก็ยังไม่เชื่อเลยว่ามันจะเลยเถิดไปถึงขั้นที่เขายกสองมือของเขากุมรอบคอฝน และออกแรงบีบ พร้อมกับกัดฟันพูดประชดประชันด้วยความโกรธเคือง

มีไม่กี่อย่างที่อยู่ในสมองของฝนตอนที่มันเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ฉันจำได้มากที่สุดจากคำพูดของฝนก็คือ “ฝนคิดว่าคนตรงหน้าใช่คนเดียวกับคนรักที่ฝนคบมาหลายปีจริงๆ หรือพี่ คนที่ดูแลกันอย่างดีมาตลอด คนที่ทำให้ฝนยิ้มและหัวเราะคือคนๆ เดียวกันจริงๆ ใช่ไหม”

ฝนเริ่มหายใจลำบากขึ้นเรื่อยๆ เสียงความพยายามที่จะหายใจเข้าของฝนคงดังไปเตือนจิตสำนึกของเขาอยู่บ้าง หรืออาจจะด้วยเหตุผลที่ฝนพยายามบอก “เขาไม่ได้ตั้งใจจะทำกันให้ถึงตายหรอกพี่” เขาจึงค่อยๆ คลายมือออก

“ทำไมไม่ซัดมันกลับไปซักทีวะ” ฉันถาม และแน่ใจว่าผู้อ่านหลายคนคงคิดเหมือนกัน

ฝนส่ายหน้าแล้วเงียบ และนั่นเป็นสัญญาณว่าฉันได้ถามคำถามที่ยากที่สุดสำหรับฝนออกไป คำถามที่มีแต่คนที่ไม่ได้เจอกับตัว หรือไม่ได้อยู่กับฝนเท่านั้นที่จะเลือกถาม ด้วยความเป็นห่วง โกรธแทน หรือ ‘ด้วยความไม่เข้าใจ’ อะไรก็แล้วแต่

ฝนไม่ใช่ผู้หญิงบอบบางอะไรอย่างนั้นหรอกคุณ แต่เชื่อเถอะว่าหลังจากผ่านวินาทีที่หายใจแทบไม่ออก และวินาทีที่คนรักกลายเป็นใครบางคนที่ไม่เคยรู้จักไป เหตุการณ์ทั้งหมดมันก็เอาเรี่ยวแรงของฝนไปเสียหมด เหตุผลก็คงจะไม่มีอะไรมากไปกว่า ‘รัก’ คำๆ เดียวที่ผลักให้คนเราทำอะไรที่คาดไม่ถึงเสมอ

เมื่อฝนออกไปเจอหน้าพ่อแม่และเพื่อนๆ หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นหมาดๆ เธอเล่าว่าจิตใจของเธอเต็มไปด้วยความรู้สึกสับสน และความกลัว “เวลาฝนมองหน้าพี่สาว แม่ หรือเวลาอยู่กับเพื่อน ฝนคิดตลอดว่าควรบอกใครออกไปไหม แต่ฝนเหมือนคนคิดอะไรไม่ออกเลยพี่ แล้วฝนรักเขามากไง ฝนกลัวว่าถ้าบอกไปอาจจะทำให้ใครมองเขาไม่ดีทั้งๆ ที่เขาอาจจะไม่ตั้งใจทำก็ได้”

นั่นทำให้เรื่องตลกร้ายที่สุดเกิดขึ้น เพราะหลังจากลงไม้ลงมือไปแล้ว แฟนของฝนจะกลับมาเป็นคนที่แสนดี และดีเป็นพิเศษราวกับว่ากำลังขอโทษด้วยการกระทำ และอย่างที่ฉันและใครๆ ไม่อยากให้เกิดขึ้น ทุกครั้งฝนจะปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปโดยไม่ได้บอกใคร และไม่เลิกกับเขา

“ฝนแค่ฝันร้าย เดี๋ยวก็ตื่นแล้ว ถ้าฝนรักเขา ดีกับเขาให้มาก สะสางปัญหากันให้ดี เขาคงจะไม่ทำอีก ”

“หรือบางทีการคิดแบบนี้มันอาจจะง่ายกับตัวฝนก็ได้ว่ะพี่ เพราะตอนนั้นฝนไม่มีสติ ไม่เข้มแข็งเลย การจะบอกใครสักคนมันต้องใช้ความกล้านะ แล้วตอนนั้นฝนจะไปมีได้ยังไง แค่วิ่งหนีหรือผลักเขาออกไปฝนยังทำไม่ได้เลย”

ทางที่ฝนเลือกในวันนั้นมันนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงครั้งที่สอง สาม และสี่ ระดับของความรุนแรงต่างกันไป ตบตีบ้าง ปาข้าวของบ้าง เหตุผลที่เขาลงมือทำก็เปลี่ยนจากความหึงหวงที่เคยคิดว่าเป็นผลของความรัก มาเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างความไม่พอใจเล็กๆ น้อย หรือแค่เขาอารมณ์เสียขึ้นมา

ความรุนแรงในความสัมพันธ์

ครั้งหนึ่งเขาทำให้ฝนล้มลงจนต้องนอนราบไปที่พื้น ใช้เท้าของเขาเหยียบลงตรงหน้าอก ตรงที่หัวใจของฝนกำลังร้องไห้ และอย่างที่ฝนใช้คำว่า ‘ตลกร้ายที่สุด’ ครั้งหนึ่งเขาทำมันในบ้านของฝนเอง ในที่ที่ครอบครัวของฝนกำลังนอนหลับอยู่ถัดไปไม่กี่ห้อง หลับไปโดยที่รู้สึกว่าได้ปล่อยฝนไว้กับคนที่พวกเขา ‘ไว้ใจ’

เพราะความกลัวบางอย่างที่ฉันและหลายคนอาจไม่เข้าใจนัก ฝนเลือกที่จะปิดเรื่องนี้เป็นความลับจากครอบครัวจนถึงวันนี้ วันที่พายุได้พัดผ่านไปแล้ว “ไม่อยากให้พ่อแม่ต้องมาเสียใจที่ลูกเจอแบบนี้ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไงดีกับตัวเองและความรักที่ให้อภัยได้อย่างโคตรไร้เหตุผลเลย”

เธอยังบอกอีกว่า มันไม่ยากเลยที่จะปกปิดเรื่องเหล่านี้จากคนรอบข้าง การเดินออกจากสภาวะเช่นนี้ต่างหากที่กลายเป็นเรื่องยาก ร่างกายฝนอาจเจ็บช้ำบ้าง แต่คงไม่ร้ายแรงเท่าสุขภาพทางจิตใจ เมื่อทุกคนสัมผัสความเปลี่ยนไปของฝน ฝนกลายเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวแบบที่ควบคุมไม่ได้ ร้องไห้กับเรื่องที่ไม่น่าร้อง ให้คำปรึกษาใครไม่ได้ หนีห่างจากสังคมและครอบครัว ฝนบอกว่ากินเวลานานอยู่พอสมควรกว่าที่เธอจะทนสภาพตัวเองไม่ไหวและตัดสินใจจบทุกอย่างลง ใช้เวลาเป็นปีต่อจากนั้นเพื่อพยายามเริ่มต้นใหม่ ไปพบจิตแพทย์ โดยที่ไม่เคยเล่าเรื่องนี้ออกไปให้ใครฟัง

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2556 ปีที่ฝนยืนอย่างโดดเดี่ยวในพายุร้าย ตัวเลขในสถิติระบุว่าในหนึ่งปีมีผู้หญิงถูกกระทำรุนแรง 12,638 ราย

ในปี 2561 องค์การอนามัยโลกได้สำรวจความถี่ของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงใน 10 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย พบว่าผู้หญิงอายุน้อยโดยเฉพาะระหว่าง 15 – 19 ปี มีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศโดยคู่รักหรือแฟนมากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้หญิงในช่วงอายุอื่น และพบมากในคู่รักหรือแฟนที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน (Cohabiting)

และโดยไม่รู้ตัว วันหนึ่งฝนได้กลายเป็นหนึ่งในผู้หญิง 12,638 คนนั้น อย่างที่ฉันไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นเลย

ฉันรู้ว่าการผลักดันให้พวกเธอบอกคนรอบข้างหรือจัดการปัญหาความรุนแรงเป็นทางออกหนึ่ง แต่ในอีกทาง ฉันคิดว่าตัวฉันเอง และพวกเราทุกคน มีส่วนกับปัญหาเหล่านี้เช่นกันไม่ใช่หรือ

ไม่ว่าจะด้วยการสังเกตกัน พูดคุย มอบกำลังใจและความกล้า ไม่ว่าทางใด อย่าปล่อยให้คนรอบข้างของเราต้องเป็นหนึ่งในตัวเลขเหล่านี้กันอีกเลย

ถึงฝนและผู้หญิงอีกหลายคนที่ยืนอยู่ในห่าฝนเช่นเดียวกันนี้ ฉันเสียใจกับสิ่งที่คุณต้องเจอ และหวังว่าคุณจะผ่านพายุร้ายนี้ไปได้อย่างดี

ความรุนแรงในความสัมพันธ์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022