fbpx
ความเจ็บปวดของเอเชียนอเมริกันที่ไม่เคยถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเกิด

ความเจ็บปวดของเอเชียนอเมริกันที่ไม่เคยถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเกิด

ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ เรื่อง

ปรากฏการณ์การเหยียดเชื้อชาติเอเชียที่มาพร้อมกับการระบาดของโควิดในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อคนเชื้อชาติเอเชียที่อาศัยอยู่ในโลกตะวันตกอย่างรุนแรง จนหลายคนกลายเป็นเหยื่อของความเกลียดชังไปโดยปริยาย

ความเชื่อว่าไวรัสโควิดเริ่มระบาดจากประเทศจีนคือต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่เกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายคนเชื้อสายเอเชียรายวัน หลายกรณีถึงขั้นเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกรณีคนไทยอายุ 84 ปีถูกผลักล้มหน้าบ้านจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา กรณีคนเชื้อสายเอเชียวัย 91 ปีถูกผลักจนล้มตกขอบทางเดินกลางเมืองซานฟรานซิสโก และล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา กรณีชายผิวขาววัย 21 ปี ก่อเหตุอุกอาจบุกยิงร้านสปาสามร้านในเมืองแอตแลนตา จอร์เจียจนมีผู้เสียชีวิตสูงถึงแปดคน โดยผู้เสียชีวิตถึงหกในแปดคือคนเชื้อสายเอเชีย

ยังไม่นับอีกหลายคดีที่คนเอเชียทั่วสหรัฐฯ ถูกระรานและคุกคาม บางคนถูกดักขวางทำร้ายร่างกายระหว่างเดินทางไปทำงาน บางคนถูกล้อเลียนหรือถูกกลั่นแกล้งในที่สาธารณะ

ตั้งแต่ต้นปี 2020 จนถึงขณะนี้ มีการรายงานว่าจำนวนเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายคนเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิสูพุ่งกว่า 3,800 คดี โดยอัตราการก่อ hate crime ต่อคนเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ แต่ในความเป็นจริง ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่าที่ปรากฏในรายงาน เชื่อว่ายังมีคนไทยและคนเอเชียจากประเทศอื่นที่อาจไม่กล้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อถูกประทุษร้าย หรือถูกทำร้ายร่างกาย เพราะกลัวถูกจับได้ว่าเข้ามาหลบอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย และถูกส่งกลับประเทศ

ภาพที่คนมองปรากฏการณ์โควิดโดยทั่วไป คือภาพที่โควิดกำลังทำร้ายและทำลายมนุษยชาติอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ  แต่หากพิจารณาอีกด้านหนึ่งของเหรียญ แท้จริงแล้วโควิดคือตัวตีแผ่ปัญหาเรื้อรังทางเศรษฐกิจและสังคมที่แต่ละประเทศต่างซุกซ่อนไว้ใต้พรมมานานนับปี การเหยียดเชื้อชาติเอเชียในสหรัฐฯ ก็เช่นกัน ถือเป็นปัญหาสำคัญที่สังคมอเมริกันมักลืมและแทบไม่กล่าวถึง

จากการรายงานจำนวนประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐอเมริกาปี 2020 ในสหรัฐฯ มีจำนวนประชากรเชื้อสายเอเชียคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 6 ต่อจำนวนประชากรอเมริกันทั้งหมด หรือประมาณ 19.5 ล้านคน หรือหากนับเฉพาะคนไทยในสหรัฐฯ จะมีจำนวนประมาณ 320,000 กว่าคน อย่างไรก็ดี คนเอเชียเชื้อสายอเมริกันมักถูกมองว่าเป็นคนต่างพวกต่างฝูงหรือคนต่างชาติ รวมทั้งมักไม่ถูกนับรวมว่าเป็นคนอเมริกันโดยคนอเมริกันคนอื่นๆ ทั้งคนผิวขาวและคนผิวดำ หากค้นคลิปวีดีโอตามสื่ออินเตอร์เน็ตต่างๆ จะต้องเห็นคลิปตลกล้อเลียนกัดตัวเองของคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เสียดสีคนขาวที่ชอบตั้งคำถามกับคนเอเชียว่า “คุณมาจากประเทศไหน” พอตอบว่ามาจากซานฟรานซิสโกหรือนิวยอร์ก คนผิวขาวที่ตั้งคำถามก็ยังย้ำถามอีกว่า “ไม่ใช่…ฉันหมายถึงว่าจริงๆ แล้วคุณมาจากประเทศไหน?” ทั้งหมดนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความคิดของคนผิวขาวผู้ตั้งคำถามว่า ไม่ยอมรับว่าคนเอเชียที่ตนกำลังพูดคุยอยู่ด้วยอยู่เกิดและเติบโตในสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่คนเอเชียคนนั้นมีความเป็นอเมริกันไม่น้อยไปกว่าผู้ถามเลย

ในช่วงต้นปี 1970 ตอนที่คุณพ่อของผู้เขียนเพิ่งเดินทางไปถึงสหรัฐฯ ได้ไม่นาน ท่านเคยถูกถ่มน้ำลายใส่ระหว่างเดินใน Chinatown ในนิวยอร์ก คุณพ่อตั้งข้อสังเกตว่าคนที่ถ่มน้ำลายใส่คงคิดว่าคุณพ่อเป็นคนเวียดนาม น่าจะเป็นผลพวงของความเกลียดชังจากสงครามระหว่างเวียดนามกับสหรัฐฯ ในช่วงนั้น ส่วนตัวผู้เขียนเองก็ถูกระรานและข่มเหงระหว่างเรียนชั้นประถมที่นิวยอร์ก ขณะนั้น ทั้งโรงเรียนมีชาวเอเชียแค่สองคน คือตัวผู้เขียนกับเพื่อนชาวเขมรที่อพยพลี้ภัยมาจากกัมพูชา

จากข้อมูลของสภาจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาปี 2012 พบว่าจำนวนนักเรียนเอเชียมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มักถูกรังแก ข่มเหง และล้อเลียนจากเหตุผลทางเชื้อชาติเป็นหลัก เหยื่อที่ถูกบุลลี่มากที่สุดมักเป็นนักเรียนต่างชาติที่เพิ่งโยกย้ายถิ่นมาจากประเทศในเอเชียและนักเรียนเชื้อชาติเอเชียที่เป็นผู้อพยพรุ่นที่สอง (second generation) จากประสบการณ์ส่วนตัวและคนรอบข้าง น้อยครั้งที่คนเอเชียจะโต้ตอบเมื่อถูกข่มเหง อาจเพราะปัญหาการใช้ภาษา รวมไปถึงขนาดรูปร่างที่ค่อนข้างเล็กกว่าคนผิวขาวและคนผิวดำ จึงถูกรุมข่มเหงรังแกเป็นนิจ

ดังนั้น การเหยียดคนเชื้อชาติเอเชียไม่ได้เพิ่งเริ่มในยุคโควิด หากแต่เป็นความเกลียดชังซ่อนเงียบที่มีมายาวนานเกือบสองร้อยปี

คนจีนกลุ่มแรกอพยพเข้ามาในสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษที่ 1850 เพื่อแสวงโชคขุดหาทองในช่วงยุค Gold Rush โดยมาก คนจีนเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในวอชิงตัน โอเรกอน และแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นบริเวณชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เมื่อคนจีนอพยพเข้ามามากขึ้น เหตุการณ์ความรุนแรงต่อกลุ่มคนชาติพันธุ์จีนจึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างในปี 1871 เกิดเหตุรุมประชาทัณฑ์คนเชื้อชาติจีนกลางเมืองลอสแองเจลิสจนมีชาวจีนผู้เคราะห์ร้ายจำนวน 17 คนถูกฆ่าเสียชีวิต

ความรู้สึกเกลียดชังและกลัวว่าคนจีนจะเข้ามาแย่งงานและควบคุมกิจการต่างๆ เริ่มคุกรุ่นมากขึ้น สหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดี เชสเตอร์ เอ. อาเทอร์ จึงประกาศใช้พระราชบัญญัติการกีดกันคนเชื้อชาติจีนในปี 1882 (The Chinese Exclusion Act 1882) การประกาศการกีดกัน (ขับไล่) ชาวจีนครั้งนี้ถือเป็นการประกาศใช้กฎหมายสืบต่อเนื่องมาจากพระราชบัญญัติการประกาศห้ามผู้หญิงชาวจีนเดินทางมายังสหรัฐฯ (Page Act of 1875) ที่ป้องกันไม่ให้คนจีนอพยพมีโอกาสสืบเชื้อสายเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ถือว่าเป็นวิธีที่คนขาวควบคุม กีดกัด และขับไล่คนเชื้อชาติเอเชียผ่านกฎหมายได้อย่างแยบยล

หากว่าไปแล้ว กฎหมายต่างๆ ที่ใช้ควบคุมประชากรเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ ก็ยิ่งเอื้ออำนวยให้คนผิวขาวบางกลุ่มใช้ความรุนแรงขับไล่คนจีนได้ถนัดมือขึ้น เหตุการณ์รุมสกรัมฆ่าล้างและขับไล่คนจีนเริ่มไต่ระดับถึงขั้นรุนแรงสุดในช่วงปี 1885-1887 กลุ่มคนจีนถูกไล่ให้ออกจากพื้นที่รัฐเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดร้านค้าที่เจ้าของเป็นชาวจีน การไล่ยิง การทุบตี การบอยคอตลูกจ้างชาวจีน กระทั่งเผา Chinatown ในเมืองซานฟรานซิสโกเพื่อไล่ที่ให้ชาวจีนออกไปจากเมือง Beth Lew-Williams นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อชาติและการอพยพได้กล่าวถึงปัญหาการเหยียดชนชาติและสีผิวในอเมริกาว่า มักมุ่งไปที่ปัญหาการเหยียดชนพื้นเมืองอเมริกันและคนผิวดำเสียส่วนมาก แต่การเหยียดและการใช้ความรุนแรงต่อคนชนชาติจีนที่อพยพเข้ามาในอเมริกากลับเลือนหายไปกับเรื่องราวและภาพรวมของการสร้างชาติอเมริกา [1]

หนุ่มชาวจีนอพยพวัย 16 ปี นามว่า Hong Di ถูกตั้งข้อหาว่าฆ่าคนตาย ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่จู่ๆ ก็ถูกพลเรือนกลุ่มหนึ่งนำเขาออกจากคุก แล้วฆ่าประจานโดยการแขวนคอริมทางรถไฟในวันที่ 11 กรกฎาคม ปี 1887 (ภาพจากห้องสมุด Bancroft, University of California, Berkeley)

คนมักเข้าใจว่ากฎหมายกีดกันสีผิวและชนชาติที่บังคับใช้ระดับรัฐแต่ละรัฐอย่าง Jim Crow Law มีไว้เพื่อใช้กีดกันเฉพาะคนผิวดำ แต่หากพิจารณาดูตัวกฎหมายอย่างละเอียดแล้ว จะเห็นว่ากฎหมายกีดกันคนเอเชียและชนพื้นเมืองอเมริกันด้วย จะเห็นว่าในแอริโซน่า แคลิฟอร์เนีย มอนทาน่า เนวาดา โอเรกอน ไวโอมิง และวอชิงตันล้วนมีกฎหมายห้ามการแต่งงานระหว่างคนต่างสีผิว และระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายยังกีดกันไปจนถึงคนที่มีเชื้อสายเอเชีย 1/4 ในสายเลือด คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าคนเชื้อชาติเอเชียล้วนถูกเหยียดและกีดกันไม่ต่างจากคนผิวดำและชนพื้นเมืองอเมริกัน [2]

นอกจากคนอเมริกันเชื้อสายจีนแล้ว คนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นก็ประสบกับเหตุการณ์การถูกกีดกันและเหยียดเชื้อชาติอย่างสาหัสเช่นกัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากสหรัฐฯ ประกาศสงครามกับจักรวรรดิญี่ปุ่นในปี 1941 ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี โรสเวลต์ได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีประกาศใช้ Executive Order 9066 ในปี 1942–1945 โดยสั่งให้คนเชื้อสายญี่ปุ่นร่วม 2 แสนคนในสหรัฐฯและยังครอบคลุมคนที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น 1/8 ของสายเลือดต้องถูกจับเข้าค่ายกักกัน ค่ายกักกันเหล่านี้มีกว่าสิบแห่งในสหรัฐฯ ส่วนมากตั้งอยู่ในเขตทะเลทรายหรือเขตทุรกันดารเพื่อป้องกันผู้ถูกกักกันหลบหนี

หลังจากการโจมตีของทหารญี่ปุ่นที่อ่าว Pearl Harbor ประธานาธิบดีโรสเวลต์กังวลว่าคนญี่ปุ่นจะไม่จงรักภักดีต่อสหรัฐฯ แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ มาสองสามชั่วอายุคนก็ตาม อีกทั้งยังเกรงว่าคนญี่ปุ่นในสหรัฐฯ อาจเป็นสายให้กับฝ่ายญี่ปุ่นในช่วงสงคราม แต่ที่จริงแล้ว คนญี่ปุ่นเหล่านี้ส่วนมากคือคนรุ่นที่สองและรุ่นที่สาม พวกเขาคือประชากรอเมริกันที่เกิดและเติบโตในสหรัฐฯ บางคนไม่เคยเหยียบประเทศญี่ปุ่นหรือแม้แต่พูดภาษาญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ

ระหว่างถูกกักกัน พวกเขาถูกอายัดทรัพย์สิน ถูกทารุณกรรม หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง คนเชื้อสายญี่ปุ่นที่ถูกกักขังในค่ายกักกันต่างถูกปล่อยให้ได้รับอิสระในช่วงปี 1945-1946 แต่หลายคนกลับไม่ได้รับการชดเชยค่าเสียหายใดๆ จากรัฐบาล นับว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ์เสรีภาพครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์อเมริกาในช่วงของยุคศตวรรษที่ 20

ดังนั้น ประวัติศาสตร์การเหยียดชาติพันธุ์เอเชียในสหรัฐฯ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การเหยียดเฉพาะชนชาติจีน แต่รวมไปถึงคนเชื้อชาติญี่ปุ่น คนเชื้อชาติฟิลิปปินส์ และคนเชื้อชาติเวียดนามด้วย ในหนังสือ The Making of Asian America: A History (2015) Erika Lee ได้เล่าเรื่องราวเรื่องการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของคนเชื้อชาติเอเชียเข้ามาในอเมริกาได้อย่างน่าสนใจ Lee ได้ตั้งข้อถกเถียงไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์เอเชียเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีส่วนสำคัญในการร่วมสร้างประวัติศาสตร์ชาติอเมริกันแต่กลับเป็นที่ถูกลืม (หรืออาจถูกทำให้ลืม) ว่ากันว่าผู้หญิงเชื้อชาติเอเชียคนแรกที่เข้ามาในสหรัฐฯ ในปี 1834 คือ Afong Moy หญิงสาวชาวจีนวัย 19 ปี นอกจากนี้ Lee ยังเรียบเรียงลำดับการอพยพเข้ามายังสหรัฐฯ ของชนชาติเอเชียต่างๆ ให้เห็น โดยกลุ่มชนชาติเอเชียกลุ่มแรกๆ คือ ชนชาติจีน ส่วนชนเชื้อชาติเอเชียที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดก่อนสงครามโลกครั้งที่สองคือญี่ปุ่น จากนั้นจึงตามมาด้วยการอพยพของกลุ่มชนเชื้อชาติเอเชียใต้ เกาหลี และฟิลิปปินส์

จนกระทั่งในปี 1965 ประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน ลงนามผ่านกฎหมาย The 1965 Immigration and Nationality Act  ถือเป็นพระราชบัญญัติที่ยกเลิกกฎเกณฑ์และเงื่อนไขในการยื่นขอสัญชาติอเมริกันให้กับกลุ่มผู้อพยพ ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีการอพยพครั้งใหญ่ของผู้อพยพกลุ่มใหม่จากประเทศจีน เกาหลี ฟิลิปปินส์ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ฮ่องกง และไต้หวัน รวมทั้งผู้ลี้ภัยสงครามจากสงครามอินโดจีนอย่างเวียดนาม กัมพูชา และ ลาว [3]

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การรวมตัวของชุมชนชาวเอเชียที่เราเห็นตามเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ อย่างดาษดื่น เช่น Chinatown ในเมืองซานฟรานซิสโกหรือนิวยอร์ก ชุมชนคนญี่ปุ่นอย่างเมือง Little Tokyo ในลอสแองเจนลิส ชุมชนคนฟิลิปปินส์ในเมือง Little Manila ในลอสแองเจลิส ชุมชนคนเกาหลี Korean Town ในเวอร์จิเนียและลอสแองเจลิส หรือ Eden Center ชุมชนใหญ่ของคนเวียดนามในเวอร์จิเนีย ชุมชนเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นไม่เพียงแค่เพราะความตั้งใจที่จะสร้างจุดศูนย์รวมวัฒนธรรมที่คนเชื้อสายเอเชียเหล่านี้คุ้นเคยเท่านั้น แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างโซนปลอดภัย ป้องกันตัวเองจากการถูกทำร้ายและรังแกเพราะถูกเหยียดสีผิวและชนชาติ บวกกับการที่รัฐประกาศการใช้กฎหมายที่มีแนวโน้มเหยียดชนชาติและสีผิว พวกเขาจึงมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับการดูแลและปกป้องจากรัฐ

แต่สถานการณ์การระบาดของโควิดในระยะนี้กลับส่งผลตรงกันข้าม เพราะการรวมกลุ่มเป็นชุมชนของชาวเอเชียกลับกลายเป็นเป้าสำคัญสำหรับคนที่อาฆาตมาดร้ายหมายตั้งใจเข้าไประรานทำร้ายคนเอเชียได้ง่ายขึ้น เนื่องจากรู้ฐานที่ตั้งของเหยื่อที่ต้องการทำร้ายหรือรังแก ดังนั้นระยะนี้จึงจะเห็นข่าวคนชราเชื้อสายเอเชียถูกทำร้ายร่างกายแถบ Chinatown ในนิวยอร์กหรือซานฟรานซิสโกอยู่บ่อยครั้งอย่างน่าเศร้าใจ ร้านอาหารจีนหลายร้านเองก็ต้องปรับเวลาทำการ เนื่องจากเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกจ้างเชื้อสายจีน หลายรายถูกทำร้ายร่างกายระหว่างเดินทางมาทำงานบนรถไฟใต้ดิน หรือเวลากลับบ้านดึกๆ ดื่นๆ ดังนั้นร้านอาหารเหล่านี้จึงต้องปรับเวลาร้านเพื่อให้พนักงานเดินทางมาทำงานในช่วงเวลาที่มีคนสัญจรอย่างคลาคล่ำเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการถูกทำร้ายร่างกาย

โควิดอาจเป็นตัวกระตุ้นให้คนทั่วไปเห็นปัญหาการเหยียดเชื้อชาติเอเชียในวงกว้างมากขึ้นก็จริง แต่ผู้เขียนเองกลับไม่มั่นใจว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขหลังวิกฤตโควิดสิ้นสุดลง กรณีการทำร้ายร่างกายจากการเหยียดผิวและชนชาติเอเชียอาจเพียงทุเลาลงหลังปัญหาโควิดคลายตัวเท่านั้น แต่ถ้ามองภาพรวม คนเอเชียสัญชาติอเมริกันจะยังคงถูกมองว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ อยู่สืบไป

หากย้อนดูสายธารประวัติศาสตร์การเหยียดคนเอเชีย จะเห็นว่าการเหยียดคนเอเชียเกิดขึ้นแทบจะพร้อมกันกับกระบวนการสร้างชาติอเมริกัน นับแต่นั้นเป็นต้นมา จะมีช่วงเวลาที่คนเอเชียถูกเหยียดมากเป็นพิเศษอย่างในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเวียดนาม ภาวะโรคระบาดอย่างโควิด หรือช่วงที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ อย่างเช่นช่วงเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ที่คนที่มีพื้นเพจากเอเชียใต้พลอยถูกเหยียดและเกลียดชังไปด้วยเพราะถูกคนอเมริกันเข้าใจผิดว่าเป็นคนอาหรับ กล่าวได้ว่ารูปการณ์ของระดับการเหยียดและเกลียดชังที่คนอเมริกันผิวขาว ผิวดำ และลาติโน่บางคนมีต่อคนเอเชียเชื้อสายอเมริกันเหล่านี้จะยังคอยแปรผันตามบริบทของการเมืองโลกและการเมืองภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา

แต่ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะอยู่ในสภาวะเป็นปกติ คนเอเชียในสหรัฐฯ ก็ยังคงถูกกลั่นแกล้งอย่างสม่ำเสมอ

แม้คนเอเชียจะถูกกดขี่เชิงโครงสร้างไม่เทียบเท่าคนผิวดำที่ยังถูกกีดกันทั้งในเรื่องสิทธิการเลือกตั้ง สิทธิการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในบางรัฐ หรือถูกลิดรอนสิทธิโดยกระบวนยุติธรรม แต่คนเอเชียในสหรัฐฯ ก็ยังถูกกลั่นแกล้ง กดขี่ ล้อเลียนอยู่เป็นนิจ และโดยมากก็ไม่ตอบโต้กลับ จนกระทั่งทุกวันนี้ คนเอเชียยังถูกมองว่าเข้ามาแย่งงาน เรียนเก่งและขยันขันแข็งเกินหน้าเกินตา ไหนจะวัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อทางศาสนาที่ต่างจากอเมริกันชนทั่วไป ตราบใดที่คนเอเชียยังคงเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่โต้กลับยามถูกกลั่นแกล้ง การถูกเอารัดเอาเปรียบและกลั่นแกล้งโดยคนผิวขาว คนผิวดำ และคนลาติโน่บางกลุ่มก็จะยังดำรงอยู่ต่อไป


อ้างอิง

[1] Beth Lew-Williams. 2018. The Chinese Must Go: Violence, Exclusion, and the Making of the Alien in America, p. 3.

[2] คนไทยมักรู้จักชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาในนามชนเผ่าอินเดียนแดง อาจมาจากการแปลคำว่า redskin (หนังผิวสีแดง) ซึ่งเป็นคำที่คนผิวขาวยุคก่อตั้งอาณานิคมใช้เรียกชนพื้นเมืองเหล่านี้และเป็นศัพท์แสลง ทั้งนี้มีการวิพากษ์อย่างกว้างขวางในขณะนี้ว่าการเรียกขานคนพื้นเมืองทวีปอเมริกาว่าหนังผิวสีแดงถือว่าเป็นการเหยียดสีผิว ผู้เขียนจึงขอเลี่ยงที่จะเรียกขานพวกเขาว่าอินเดียนแดง

[3] Erika Lee. 2015. “The Making of Asian America: A History” New York: Simon & Schuster, p. 2.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save