fbpx
จับตา ASEAN Summit: RCEP ท่ามกลางสงครามการค้า

จับตา ASEAN Summit: RCEP ท่ามกลางสงครามการค้า

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องจะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2019 ภายใต้แนวคิดหลัก ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน’ โดยจะมีการประชุม พิธีการ การหารือ งานเลี้ยง และการแถลงข่าวสำคัญๆ เกิดขึ้นกว่า 22 ครั้งตลอด 5 วัน

ไม่ได้มีเพียงผู้นำอาเซียนและคู่สมรสจาก 10 ประเทศสมาชิกเท่านั้นที่ได้รับเชิญให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย หากแต่ประเทศไทยยังเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำระดับสูงจากคู่เจรจา (dialogue partners) ของอาเซียนอีก 10 คู่เจรจา อันได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, รัสเซีย, สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป และองค์การสหประชาชาติ นั่นทำให้ตลอดทั้งสัปดาห์นั้นประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพและเป็นประธานในการประชุมที่มีความสำคัญระดับโลก ที่จะกำหนดทิศทางการเดินหน้าประชาคมอาเซียนซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในทุกมิติและในทุกระดับของประชาชนกว่า 650 ล้านคนในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่มีประเด็นสำคัญๆ ที่ต้องตระหนักถึงโดยเฉพาะโครงสร้างการจัดระเบียบและความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจที่มีพลวัตรอย่างสูง

และแน่นอนว่าหนึ่งในเรื่องที่ทั่วโลกกำลังจับตามากที่สุดประเด็นหนึ่งนั่นก็คือ การประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ครั้งที่ 3 ซึ่งทางการไทยเองก็พยายามอย่างยิ่งที่จะประสานให้การสรุปและลงนามข้อตกลงการค้าเสรีที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก ระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ อันประกอบไปด้วย อาเซียน 10 ประเทศร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เกิดขึ้นได้ระหว่างการประชุมสุดยอดในรอบนี้

ทั้ง 16 ประเทศคู่เจรจา RCEP เห็นด้วยในหลักการการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ให้มีความทันสมัย, ครอบคลุม, มีคุณภาพสูง และมีผลประโยชน์ร่วมกัน (modern, comprehensive, high-quality and mutually benefit) โดยหากเจรจาสำเร็จ เขตการค้าเสรี RCEP จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือ ครอบคลุมประชากรกว่า 47.4% ของประชากรโลก มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงกว่า 32.2% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก ครอบคลุมมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศถึง 29.1% และ 32.5% ตามลำดับ

นั่นเท่ากับว่า RCEP จะเป็นเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในระดับนานาชาติว่า ทั้ง 16 ประเทศสมาชิกสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ในท่ามกลางสถานการณ์ที่การค้าแบบปกป้องคุ้มกัน (protectionism) เกิดขึ้นมากที่สุด และรุนแรงที่สุดทั้งแต่ปี 1995 ผ่านการประกาศสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องและการเสื่อมศรัทธาของการเจรจาการค้าในกรอบพหุภาคีขององค์การการค้าโลกที่ยังไม่มีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่เริ่มต้นการเจรจารอบโดฮาในปี 2001 และท่ามกลางแนวคิดแบบ unilateral ที่มหาอำนาจ (ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา) เริ่มต้นการขยายอิทธิพลและกดดันให้ประเทศอื่นๆ ยอมทำตามแต่เพียงฝ่ายเดียว

กรอบ RCEP เริ่มต้นการเจรจาในปี 2012 และเคยตั้งเป้าหมายไว้ว่า การเจรจาการค้าเสรีต้องสามารถหาข้อสรุปให้ได้ภายในปี 2015 แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อสรุปร่วมกันได้ ทั้งที่ทุกประเทศต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้นในปีนี้ที่ไทยเป็นประธานการประชุม ประเทศไทยตั้งความหวังและเดินหน้าทำงานหนักอย่างยิ่งเพื่อผลักดันให้ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้เกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 2019 ในระหว่างที่ไทยเป็นประธานและเจ้าภาพ

อย่างไรก็ตามประเด็นท้าทายในการเจรจาการค้าภายใต้กรอบ RCEP ก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นหลัก นั่นคือ ประเด็นแรกที่เป็นความท้าทายหลักต่อทุกประเทศสมาชิก นั่นคือ ความแตกต่างในระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสภาพสังคม-วัฒนธรรมที่ต่างกันอย่างยิ่งระหว่าง 16 ประเทศสมาชิก ตัวอย่างเช่น ประเทศสมาชิกที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงที่สุดใน RCEP คือ ออสเตรเลีย ที่ระดับสูงกว่า 55,000 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี ในขณะที่กัมพูชาซึ่งเป็นประเทศสมาชิกที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีต่ำที่สุดใน RCEP มีรายได้เพียง 1,300 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี หรือแตกต่างกันมากกว่า 42 เท่า ระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสภาพสังคม-วัฒนธรรมที่ต่างกันทำให้ความต้องการพื้นฐานต่อการเจรจาแตกต่างกัน บางประเทศต้องการเพียงลดภาษีเปิดตลาดเพื่อขยายโอกาสในการทำมาหากิน ต้องการเน้นการเจรจาไปเพียงการเปิดเสรีการค้าสินค้า แต่ไม่ต้องการปิดเสรีด้านการลงทุน และ/หรือ การเปิดเสรีภาคบริการซึ่งเชื่อมโยงกับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ประเทศของตนยังไม่มีความพร้อม ในขณะที่บางประเทศต้องการมาตรฐานที่สูงและครอบคลุมเอาประเด็นเชิงคุณภาพและค่านิยม อาทิ ประชาธิปไตย ความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ นั่นทำให้ประเด็นที่จะต้องนำมาเจรจากันมีความยุ่งยากซับซ้อน และแต่ละประเทศสมาชิกเองก็ให้ความสนใจหรือทุ่มเททรัพยากรไปในการเจรจาเฉพาะที่ตนเห็นว่าสำคัญ

ประเด็นที่ 2 คือประเด็นที่แต่ละประเทศมีความกังวล ซึ่งแน่นอนว่าทุกประเทศมีประเด็นที่ตนเองกังวลมาก-น้อย แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามในบทความนี้จะอธิบายถึงประเด็นห่วงกังวลของประเทศอินเดียเป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจาก อินเดีย มักจะถูกเป็นฝ่ายได้รับข้อกล่าวหาเสมอๆ ว่าเป็นผู้ที่ทำให้การเจรจาเกิดความล่าช้า ดังนั้นในบทความนี้ ผู้เขียนจะเน้นอธิบายประเด็นที่อินเดียระมัดระวังเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นมีเหตุผลอย่างไร โดย 10 ประเด็นกังวลของประเทศอินเดียมีดังนี้

1. ปีเริ่มต้น (Base year) RCEP ริเริ่มในปี 2012 และการเจรจากรอบการค้าเสรี RCEP เริ่มต้นในปี 2013 ดังนั้นประเทศสมาชิกจึงเห็นว่าในการลดภาษีควรเริ่มต้นโดยการลดอัตราภาษีจากอัตราภาษีที่แต่ละประเทศจัดเก็บในปี 2013 แต่อินเดียภายหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี Narendra Modi และคณะรัฐบาลในปี 2014 ได้มีการปฏิรูประบบภาษีและมีการปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรการนำเข้าสินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะในรายการสินค้าที่อินเดียพิจารณาว่ามีความอ่อนไหว อาทิ สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ดังนั้นอินเดียจึงอยากให้ใช้ปีเริ่มต้นในการลดภาษีจากปีที่มีการลงนามในการเจรจา (นั่นคือปี 2019) ไม่ใช่ปี 2013

2. อินเดียต้องการ auto-trigger safeguard นั่นคือ หากตรวจพบว่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิก RCEP ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ อินเดียต้องสามารถปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าได้โดยอัตโนมัติเพื่อปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศ (ล่าสุด อินเดียได้รับสิทธิ์ในการใช้ auto-trigger safeguard จากหลายๆ ประเทศสมาชิก RCEP แล้ว)

3. อินเดียไม่ต้องการ Ratchet Obligations ซึ่งคือหลักการที่ว่าภายหลังจากมีการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าไปแล้ว มาตรการทางภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ทั้งที่เคยใช้อยู่แล้ว หรือที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ จะไม่สามารถนำกลับบังคับใช้กับประเทศคู่เจรจาได้อีก ซึ่งอินเดียบอกว่าเขาไม่ขอยอมรับหลักการนี้ได้หรือไม่

4. data localisation ภายใต้ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) 14 จาก 16 ประเทศคู่เจรจาเห็นด้วยกับหลักการการเปิดเผยข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก แต่อินเดียพิจารณาว่าการเปิดเผยข้อมูลอาจจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงและการปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์แห่งชาติ

5. ประเด็นการขาดดุลการค้าที่จะขาดดุลเพิ่มขึ้น ปี 2018 อินเดียขาดดุลการค้ากับ 10 ประเทศคู่เจรจา RCEP คิดเป็นมูลค่ารวม 104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่ากับ 64% ของมูลค่าการขาดดุลการค้าทั้งหมดของอินเดีย) และใน 10 ประเทศนี้ อินเดียขาดดุลการค้าให้กับจีนกว่า 53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศที่ 87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับอินเดีย จีนคือหนึ่งในคู่ค้าที่ทั้งสำคัญที่สุดและขาดดุลมากที่สุด โดย 6% ของมูลค่าสินค้านำเข้าที่เข้ามาในอินเดียทั้งหมดมาจากประเทศจีน และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอินเดียจะทะลุ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

RCEP กำหนดให้อินเดียต้องเปิดตลาด ลดภาษี ลดมาตรการกีดกันทางการค้า กับประเทศสมาชิก RCEP ที่ 92% ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างประเทศ แต่อินเดียสามารถเปิดเสรีให้ได้ที่ระดับ 86% ของรายการสินค้าที่มีการค้าขายกับอาเซียน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และเปิดเสรีให้ได้ที่ระดับ 74% ของรายการสินค้าที่มีการค้าขายกับจีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับ 90% และ 86% รายการสินค้าที่มีการค้าขายกับทั้ง 2 กลุ่มประเทศ ตามลำดับ) โดยสินค้าอ่อนไหวที่อินเดียยังไม่ยอมเปิดตลาดให้กับ RCEP คือ นมและผลิตภัณฑ์นม เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม

6. ในหมู่รายการสินค้าที่อินเดียถือว่าอ่อนไหวและยังไม่ต้องการเปิดตลาด นมและผลิตภัณฑ์นม คือสินค้าที่เป็นสินค้าการเมืองและอ่อนไหวมากที่สุด ทั้งนี้เพราะ

1) แม้อินเดียจะเป็นผู้ผลิตน้ำนมรายใหญ่ที่สุดของโลก (ปีละมากกว่า 167 ล้านตัน) แต่การผลิตส่วนใหญ่ก็อยู่ในรูปแบบของเกษตรกรรายย่อย (ราว 50 ล้านราย) เป็นการผลิตแบบดั้งเดิม ดังนั้นคุณภาพของนมและผลิตภัณฑ์นมที่ได้อาจจะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้

2) เนื่องจากนมเป็นสินค้าการเมือง ดังนั้นนักธุรกิจรายใหญ่ อาทิ RS Sodhi ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย Amul ซึ่งแน่นอนว่ามีอิทธิพลต่อนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับรัฐบาลกลาง เริ่มออกมารณรงค์แล้วว่า ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีแผนการลับในการทำลายเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตน้ำนมและผลิตภัณฑ์ และจะทำให้อินเดียสูญเสียการพึ่งพาตนเองในการผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม (Hidden agenda to end India’s self-reliance in milk production)

3) ชาวอินเดียส่วนใหญ่รับประทานอาหารมังสวิรัติ แหล่งโปรตีนที่สำคัญที่สุดของคนอินเดียคือนมและผลิตภัณฑ์นม ดังนั้นหากเปิดเสรีแล้วทำให้โครงสร้างราคานมและผลิตภัณฑ์นมเปลี่ยนไปในรูปแบบที่เกษตรกรรายย่อยไม่เหลืออยู่และอินเดียต้องพึ่งพานมและผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศที่มีราคาสูง นั่นจะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ โดยเฉพาะราคาอาหารจะสูงขึ้นมาก และย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาข้อเท็จจริง ในขณะที่อินเดียผลิตนมได้ปีละมากกว่า 167 ล้านตัน นิวซีแลนด์และออสเตรเลียผลิตน้ำนมได้เพียงปีละ 21.7 และ 21.3 ล้านตันเท่านั้น และเป็นนมและผลิตภัณฑ์นมที่มีราคาสูงกว่าของที่ผลิตได้ในอินเดียอย่างยิ่ง นั่นทำให้ในความเป็นจริงนมและผลิตภัณฑ์นมจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลียถ้าจะเข้ามาขายในตลาดอินเดียก็คงต้องขายให้กับผู้บริโภคในตลาดบนเท่านั้น

7. ยานยนต์และชิ้นส่วน: ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผ่าน Society of Indian Automobile Manufacturers (SIAM) และ Automotive Component Manufacturers Association of India (ACMA) พิจารณาว่า หากอินเดียไม่เข้มงวดในประเด็นกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด (rules of origin ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อบทที่มีความซับซ้อนและล่าช้าที่สุดในการเจรจา RCEP) RCEP จะเป็นการเปิดช่องให้สินค้าจากประเทศจีนซึ่งมีราคาต่ำกว่ามากไหลเข้ามาในประเทศอินเดียผ่านช่องทาง back-door entry route นั่นคือ การใช้มูลค่าเพิ่มร่วมกันของผลิตภัณฑ์จากจีนที่มีมูลค่าการผลิตร่วมกับประเทศอื่นใน RCEP (cumulative rules of origin)

8. สิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม Confederation of Indian Textile Industry แสดงความกังวลเรื่องเส้นใย polyester ราคาถูกจากจีนและเวียดนามจะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไม่สามารถแข่งขันได้

9. สินค้าอื่นๆ นอกจากสิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่อินเดียเชื่อว่าตนเองจะไม่สามารถแข่งขันได้แล้วก็ยังมี เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก และสินค้าเกษตร ซึ่งอยู่ในข่ายเดียวกัน

10. ท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอินเดีย Piyush Goyal ประกาศในที่ประชุม US-India Strategic Partnership Forum เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2019 ว่า “Every interest of the domestic industry and people of India has to be protected before we execute any free-trade agreement. India will ensure that on services, on investments, in every aspect our national interest is protected.” ซึ่งการประกาศเช่นนี้สร้างความกังวลใจให้กับการเจรจา เพราะอินเดียอาจจะใช้ประเด็นเหล่านี้ที่กล่าวมาทั้ง 9 ข้อข้างต้นในการกดดันให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปอย่างยากลำบาก หรือไม่งั้นก็ต้องให้ข้อเสนอที่ดีขึ้นกับฝ่ายอินเดียเพื่อให้การเจรจาเดินหน้าสู่การหาข้อสรุปได้

ต่อจากประเด็นท้าทาย ผู้เขียนจะทำการสรุปประเด็นความสำเร็จเท่าที่ผ่านมาภายใต้การประสานงานของไทยในฐานะประธานการประชุมตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 ประเทศไทยผลักดันให้เกิดการประชุมที่เกี่ยวข้องกับ RCEP ทั้งในระดับคณะผู้เจรจาจนถึงระดับรัฐมนตรีไปแล้ว 11 รอบ โดยคณะผู้เจรจาพบปะหารือและประชุมกันทุกเดือน หรือบางเดือนประชุม 2 รอบ โดยมีการกำหนดเป้าหมายในการเจรจาแต่ละรอบอย่างชัดเจน ประเทศไทยผลักดันให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรี ที่จากเดิมปีละ 1 รอบ ให้เป็นปีละ 4 รอบ โดยประชุมระดับรัฐมนตรีไปแล้ว 3 รอบ และรอบที่ 4 ของปี (ซึ่งเป็นรอบที่ 10 ถ้านับตั้งแต่ปี 2013) จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ในระหว่างช่วงของการประชุมสุดยอดอาเซียน (31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2019) ก่อนที่การประชุมสุดยอดผู้นำ RCEP ครั้งที่ 3 (การประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 3) จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2019

การเจรจาการค้าในกรอบ RCEP แบ่งการเจรจาออกเป็น 2 กรอบ (tracks) โดยกรอบแรกจะเป็นการเจรจาในประเด็นการเปิดและการเข้าสู่ตลาด (market access) สำหรับการค้าสินค้าและการค้าบริการ โดยเฉพาะเรื่องของการค้าสินค้าที่จะเจรจาในเรื่องกรอบระยะเวลาการลดภาษี จำนวนรายการสินค้าที่จะนำมาลด ละ เลิก มาตรการทางการค้าประเภทต่างๆ ในขณะที่ภาคบริการก็จะเป็นการระบุถึงการเปิดเสรีและข้อจำกัดต่างๆ ในการให้ผู้ให้บริการเข้ามาดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศสมาชิกในรูปแบบต่างๆ การเจรจาในกรอบนี้จะให้แต่ละประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศจะเจรจากันเป็นคู่ๆ ในลักษณะทวิภาคี โดยคณะของไทยจะนำโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำงานหนักและมีความตั้งใจอย่างเต็มที่ในการรักษาผลประโยชน์ของไทย และผลักดันให้การเจรจการสามารถหาข้อสรุปได้ในปีนี้ สถานะล่าสุดของการเจรจาซึ่งเป็นการเจรจาแบบทวิภาคีนี้ พบว่า การเจรจาสามารถหาข้อสรุปได้แล้ว 80.4% ของรายการสินค้าและบริการ ในขณะที่อีก 16% ของรายการสินค้าและบริการอยู่ในสถานะที่ใกล้จะหาข้อสรุปได้ และยังคงเหลืออีก 3.6% ของรายการสินค้าและบริการที่ยังต้องเร่งให้เกิดการเจรจา

ในขณะที่อีกกรอบหนึ่งจะเป็นการเจรจาในการร่างข้อตกลง (draft agreement text) ซึ่งข้อตกลงจะมีทั้งหมด 20 ข้อบท (chapters) และสถานะล่าสุดคือ ประเทศสมาชิกสามารถบรรลุหาข้อสรุปข้อตกลงได้แล้ว 14 ข้อบท โดยผู้เขียนได้รับการยืนยันแล้วอย่างแน่นอนว่า 7 ข้อบทที่หาข้อสรุปได้แล้ว ได้แก่ ข้อบทด้านสถาบัน institutions; มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช sanitary and phytosanitary (SPS); การกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบ และการรับรอง standard and conformance, technical measures, mutual recognition; ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางวิชาการ economic and academic cooperation; ข้อบทสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม micro, small and medium size enterprises (MSMEs); พิธีการศุลกากรและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า customs procedures and trade facilitations และ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ government procurements ในขณะที่อีก 7 ข้อบทที่หาข้อสรุปได้แล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดเผย และผู้เขียนคาดการณ์จากการรวบรวมข้อมูลและคำสัมภาษณ์ของผู้มีส่วนร่วมในการเจรจาในวาระต่างๆ น่าจะได้แก่ บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป initial provisions; ข้อตกลงการค้าสินค้า trade in goods; การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการค้า trade remedies; กฎว่าด้วยการสนับสนุนการแข่งขัน competition; บทบัญญัติทั่วไป general provisions; กลไกระงับข้อพิพาท dispute settlement; และ บทบัญญัติสุดท้าย final provisions

ส่วนเรื่องที่ยังต้องเร่งเจรจากันต่อไป (ผู้เขียนคาดการณ์จากการรวบรวมข้อมูลและคำสัมภาษณ์ของผู้มีส่วนร่วมในการเจรจาในวาระต่างๆ) น่าจะได้แก่ กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด rules of origin; ข้อตกลงการเปิดเสรีภาคบริการ (ซึ่งรวมทั้งการเปิดเสรีภาคการเงิน โทรคมนาคม และบริการของผู้ประกอบวิชาชีพ) Trade in Services with Annex on Trade in Financial, telecom and professional sectors; การเคลื่อนย้ายบุคคล movement of natural persons; ข้อตกลงด้านการลงทุน investment; ทรัพย์สินทางปัญญา intellectual property และ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ e-commerce

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น RCEP จะเป็นเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในระดับนานาชาติว่า ทั้ง 16 ประเทศสมาชิกสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และในฐานะประชาชนชาวไทย เราคงต้องเอาใจช่วยผู้ที่ส่วนร่วมในการเจรจาเพื่อผลักดันให้ RCEP สามารถหาข้อสรุปได้ภายในปีนี้ที่ไทยเป็นประธานการประชุมเพื่อยืนยันความสำเร็จของไทยในเวทีนานาชาติ ควบคู่ไปกับการรักษาผลประโยชน์ของไทยร่วมกับประชาคมอาเซียนให้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานะการความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจในระดับโลก ณ ปัจจุบัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save