fbpx

มองอนาคต-ปฏิรูประบบยุติธรรมในอาเซียน รับมือโลกยุคดิจิทัลและ New Normal

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว คือสองปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบยุติธรรมของประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดทั้งกระบวนการอย่างเห็นได้ชัด

ในแง่หนึ่ง วิกฤตการณ์โควิด-19 เผยให้เห็นช่องโหว่ของระบบยุติธรรมทางอาญาของแต่ละประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอบสวนคดีอาชญากรรม การพิจารณาคดีในศาล การควบคุมจัดการระบบราชทัณฑ์ แนวทางส่งผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่สังคม รวมถึงปัญหานักโทษล้นคุกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที อย่างไรก็ดี หลังจากเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาด บางประเทศก็ได้เริ่มหันมาทบทวนระบบยุติธรรม พร้อมเร่งวางแผนปฏิรูประบบยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งพร้อมรับมือวิกฤตใหม่ๆ ในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล หรือการหาหนทางลดความแออัดในเรือนจำ ทว่าในบางประเทศอาเซียน สถานการณ์กลับยังคงอยู่ในช่วงเวลาระส่ำระส่ายไม่มั่นคง การปฏิรูประบบยุติธรรมนั้นจึงนับเป็นความท้าทายสำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น

101 ถอดความจากงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ ‘การปฏิรูปกฎหมาย’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (ACCPCJ) ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เมื่อวันที่ 22-24 สิงหาคม 2565 เพื่อฟังประสบการณ์และมุมมองของผู้ที่คร่ำหวอดในระบบยุติธรรมทางอาญาจากหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมท่ามกลางวิกฤตและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล รวมทั้งฟังข้อเสนอแนะถึงแนวทางแก้ปัญหา และปฏิรูประบบยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ภาพถ่ายโดย TIJ

โควิด-19 เปิดแผลปัญหาราชทัณฑ์อาเซียน

มาเรีย มาร์เกซ (Maria Fe Marquez) จากสำนักงานราชทัณฑ์ (The Bureau of Corrections – BuCor) ประเทศฟิลิปปินส์ ชี้ว่าระบบราชทัณฑ์ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากราชทัณฑ์ไม่อาจเตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงทีในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด จึงนำมาสู่แรงกดดันในการจัดตั้งพื้นที่เพื่อกักตัวป้องกันโรคอย่างเร่งด่วน รวมถึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ ในการจัดหายาและอุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่จำเป็นเพื่อลดผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ ทั้งยังเผยว่าในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีจำนวนผู้ต้องขังติดโควิด-19 ในเรือนจำมากถึง 688 คน และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีก 559 คน

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ระบบราชทัณฑ์ของฟิลิปปินส์ต้องตั้งมาตรการและข้อจำกัดใหม่มาบังคับใช้ในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังภายในเรือนจำที่เข้มงวดกว่าปกติ เช่น งดการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นการชั่วคราวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งในการเข้าเยี่ยมแต่ละครั้งมีการจำกัดให้เข้าเยี่ยมได้เพียง 1 คนเท่านั้น จากเดิมที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ครั้งละ 3-5 คน ทั้งยังจำกัดระยะเวลาการเข้าเยี่ยมสั้นลง และมีข้อกำหนดด้วยว่าผู้เข้าเยี่ยมทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาแล้วเท่านั้น

“Paabot System หรือระบบที่ผู้เข้าเยี่ยมจะส่งมอบอาหาร ยารักษาโรค หรือของที่เป็นปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ให้ผู้ต้องขังนั้นยังคงทำได้ในช่วงโควิด-19 เพียงแต่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งของแก่ผู้ต้องขังโดยตรง แต่ต้องฝากของให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ดำเนินการต่อให้เท่านั้น” มาร์เกซกล่าว

“นอกเหนือจากการตั้งข้อจำกัดต่างๆ ในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เรายังตั้งมาตรการใหม่ให้สามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำผ่านระบบวิดีโอออนไลน์ได้” มาร์เกซกล่าว

นอกจากนี้ มาร์เกซระบุว่า ราชทัณฑ์ยังมีการวางแผนรับมือสำหรับโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนจัดตั้งพื้นที่กักตัวสำหรับเจ้าหน้าที่และบุคลากร เตรียมความพร้อมของพื้นที่กักตัวสำหรับผู้ต้องขัง โดยผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดจะต้องย้ายไปกักตัวในพื้นที่แยกตามแต่ละเรือนจำ วางแผนมอบหมายหน้าที่และเสริมจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความรุนแรงของสถานการณ์ จัดการฝึกอบรมด้านสุขภาพให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคลากร รวมถึงส่งเสริมความตระหนักด้านสุขภาพให้แก่ผู้ต้องขัง 

“เรามีการเพิ่มการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในเรือนจำและราชทัณฑ์อย่างเข้มข้นขึ้น รวมถึงมีการฝึกอบรมและส่งเสริมการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขังเพื่อให้พวกเขามีความตระหนักและได้รับความรู้ด้านสุขภาพที่เหมาะสมมากขึ้น” มาร์เกซกล่าว

“ผู้ต้องขังบางคนถูกย้ายจากเรือนจำเดิมไปยังเรือนจำอื่นเพื่อบรรเทาปัญหาความแออัดของจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ และเพื่อลดความความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำ” มาร์เกซเสริม

มาร์เกซยังชี้ว่า แม้ในช่วงการระบาดโควิด-19 คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปทำงานที่บ้าน (work-from-home) แต่หน่วยงานราชทัณฑ์กลับออกกฎไม่อนุญาตให้บุคลากรและเจ้าหน้าที่ลางานได้เหมือนก่อนเกิดการแพร่ระบาด เนื่องจากปัญหาขาดแคลนบุคลากรในช่วงที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ติดเชื้อโควิด-19 กันเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดีหลังจากที่สถานการณ์เริ่มทรงตัวและรุนแรงน้อยลง ข้อจำกัดสำหรับเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำก็กลับมาสู่มาตรการปกติ รวมทั้งยังอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ลางานได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การปฏิบัติงานยังคงต้องดำเนินขนานไปกับมาตรการด้านสุขภาพต่อไป ทั้งการทำความสะอาดสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นประจำ และการปรับปรุงการปฏิบัติงานด้านสุขภาพตามแนวทางของหน่วยงานระดับชาติ

Digitalization-พิจารณาคดีใหม่-ใช้ทางเลือกอื่นแทนจำคุก
แก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำเรื้อรังในอาเซียน

ในฐานะผู้คร่ำหวอดในแวดวงกฎหมายและอาชญากรรม ราฟาเอล บาร์เรโต ซูซา (Rafael Barreto Souza) ตัวแทนจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ให้ความเห็นว่า วัตถุประสงค์สำคัญในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาคือการเสริมสร้างหลักนิติธรรมและส่งเสริมระบบยุติธรรมทางอาญาที่มีมนุษยธรรมและมีความเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปกระบวนการทำงานในระบบราชทัณฑ์

ในความเห็นของซูซา ความท้าทายสำคัญที่เกิดขึ้นในระบบราชทัณฑ์ของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คืออัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักโทษที่นับวันยิ่งสูงขึ้น จนนำไปสู่ความแออัดเบียดเสียดขั้นรุนแรงภายในเรือนจำ 

ภาพถ่ายโดย TIJ

“ทั้งจำนวนนักโทษและจำนวนประชากรทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่จำนวนนักโทษในเรือนจำเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2019 มีผู้ถูกควบคุมตัวประมาณ 1.19 ล้านคน จากเดิมที่มีจำนวน 0.54 ล้านคนในปี 2000 คือเพิ่มขึ้นกว่า 120% และตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา อัตรานักโทษที่ถูกจำคุกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงขึ้นกว่าอัตราทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง” ซูซาให้ข้อมูล

“ความแออัดภายในเรือนจำถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระหว่างปี 2015-2019 มีข้อมูลจากเรือนจำใน 7 จาก 11 ประเทศในภูมิภาคนี้แสดงให้เห็นว่ามี 6 ประเทศที่จำนวนผู้ต้องขังมีมากเกินกว่าขีดความสามารถของเรือนจำในประเทศจะรับไหว” ซูซาอธิบาย

จากปัญหาความแออัดอย่างรุนแรงของเรือนจำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไข ซูซาเสนอแนวทางในการปฏิรูปและแก้ปัญหาดังกล่าวไว้ 3 ประการ 

ประการแรก ระบบราชทัณฑ์ควรใช้ digitalization คือการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยการลดขั้นตอนของระบบยุติธรรมทางอาญาจากเดิมที่ทำงานด้วยการใช้เอกสารรูปแบบกระดาษ (paper-based systems) เป็นหลัก เช่น เปลี่ยนไปสู่การทำงานด้วยศาลดิจิทัล (digital court) ซึ่งคือการดำเนินกระบวนการในศาลด้วยระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการพิจารณาคดีและการปล่อยตัวหลังการพิจารณาคดีได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีได้ 

“กระบวนการศาลดิจิทัล (digital court) มีปฏิทินแสดงรายการคดีที่ศาลต้องพิจารณาแบบระบบอัตโนมัติ (automated court calendars) รวมทั้งมีระบบการจัดการแฟ้มข้อมูลผู้ต้องขัง (prisoner files) ที่ได้มาตรฐาน เหล่านี้ล้วนเป็นแนวทาง digitalization ที่จะช่วยพัฒนากระบวนการทำงานของระบบยุติธรรมได้” ซูซากล่าว

ประการที่ 2 คือต้องดำเนินโครงการปล่อยตัวนักโทษก่อนกำหนด (early release schemes) เพื่อลดความหนาแน่นของจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ ด้วยการลดระยะเวลาการถูกจำคุกสำหรับนักโทษที่มีความประพฤติดีในขณะที่ถูกคุมขัง เพื่อให้มีโอกาสกลับเข้าสู่สังคม สามารถทำงานหรือได้รับการศึกษาที่ดีอีกครั้ง และนอกจากนี้ยังต้องดำเนินการ ‘second look reform’ ซึ่งคือการพิจารณาคดีเป็นครั้งที่สอง เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีของผู้ต้องขังอีกครั้งหลังจากถูกจำคุกในเรือนจำเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องขัง เพราะอาจได้รับการพิจารณาลดโทษจำคุกลง

ประการสุดท้ายคือการเน้นลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญาด้วยวิธีการอื่นแทนการจำคุก (non-custodial measures) ด้วยแนวคิดที่ว่าผู้กระทำความผิดอาจเข้าไปซึมซับความเป็นอาชญากรในเรือนจำมากขึ้นจนส่งผลเสียทั้งต่อตนเอง คนรอบข้างและสังคม ภายหลังออกจากเรือนจำ การลงโทษด้วยวิธีการอื่นแทนการจำคุกจึงช่วยลดแนวโน้มดังกล่าว อีกทั้งจะช่วยลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำอีกด้วย

นอกจากนี้ ซูซากล่าวว่าแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการแก้ไขปัญหาความแออัดในระบบราชทัณฑ์ที่เกิดขึ้นในอาเซียนจะเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น หากมีการแลกเปลี่ยนแนวทาง ข้อปฏิบัติ ข้อมูล และความรู้เชิงลึกต่างๆ ในระดับภูมิภาค 

“การลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญาด้วยวิธีการอื่นแทนการจำคุกเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันไปสู่หลักการลดความรุนแรงของบทลงโทษ (depenalization) และการลดทอนความเป็นอาชญากรรม (decriminalization) ไม่ว่าจะเป็นการเบี่ยงคดีเชิงสมานฉันท์ (diversion and restorative justice) เพื่อให้อัตราผู้กระทำผิดซ้ำลดลง และให้ผู้กระทำผิดได้รับโอกาสในการแก้ไข” 

“การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของกัญชาในประเทศไทย คือตัวอย่างของแนวทางปฏิบัติในการลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญาด้วยวิธีการอื่นแทนการจำคุกที่จะช่วยลดความแออัดของผู้ต้องขังภายในเรือนจำ” ซูซากล่าวทิ้งท้าย

 ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’
หลักคิดใหม่สมานบาดแผลในกระบวนการยุติธรรม

อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการและนักวิจัยด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เสนอมุ่งปฏิรูประบบยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยด้วยการใช้หลักการและแนวคิด ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ (restorative justice) ซึ่งเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำผิด สร้างความสำนึกผิดเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำหลังพ้นโทษในอนาคต และช่วยบรรเทาความเสียหายหรือความสูญเสียที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี อุกฤษฏ์ชี้ว่า การพยายามปรับใช้และพัฒนาหลักดังกล่าวให้บรรลุผลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในไทยถือเป็นความท้าทายสำคัญในการปฏิรูประบบยุติธรรมไทย

อุกฤษฏ์เสริมว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แตกต่างจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแบบเดิม เพราะปกติแล้วกระบวนการยุติธรรมจะผลักให้ทั้งฝ่ายผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือต่างฝ่ายต่างแยกกันไปสืบหาเอาหลักฐานมาสู้คดี จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายยิ่งกว่าเดิม แต่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เน้นการมีส่วนร่วมของบุคคลที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์หรือความเสียหาย คือเปิดโอกาสให้คู่กรณีสองฝ่ายได้พูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกันเพื่อสมานบาดแผลที่เกิดจากความขัดแย้ง แต่ถึงอย่างไรกระบวนการในทางคดีก็ยังคงยืนอยู่บนหลักการที่ให้ความสำคัญกับการเยียวยาผู้เสียหายเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น อุกฤษฏ์ชี้ว่า หากกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถปรับใช้ในกระบวนการยุติธรรมไทยได้อย่างมีประสิทธิผล อาจนำไปสู่การลดปัญหาความแออัดเบียดเสียดของผู้ต้องขังในเรือนจำได้ เนื่องจากหากไกล่เกลี่ยให้คดีจบโดยไม่ต้องขึ้นสู่ศาล ก็จะช่วยให้ปริมาณคดีลดลง หรือหากศาลมีดุลยพินิจให้เลือกใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์โดยไม่สั่งให้ลงโทษผู้กระทำผิด ก็จะช่วยลดจำนวนผู้กระทำผิดที่ต้องจำคุกได้มากขึ้น

อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการและนักวิจัยด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ TIJ

คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย เพิ่มประสิทธิภาพระบบยุติธรรม ด้วยเทคโนโลยี: กรณีศึกษาจากเกาหลีใต้

พัคยงชอล (Yong Chul Park) ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแห่งประเทศเกาหลีใต้ นำมุมมองด้านกฎหมายและระบบยุติธรรมทางอาญาในประเทศเกาหลีใต้มาแลกเปลี่ยน โดยให้ความเห็นว่ากฎหมายนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ทว่าวิธีจัดการกับกฎหมายสำคัญยิ่งกว่า พัคระบุว่าประเทศเกาหลีใต้เริ่มนำระบบลูกขุน ซึ่งเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการพิจารณาพิพากษาคดีมาปรับใช้ตั้งแต่ปี 2008 และประกาศใช้ระบบลูกขุนอย่างเป็นทางการในปี 2016 ซึ่งถือเป็นพัฒนาการสำคัญของระบบยุติธรรมของเกาหลีใต้

นอกจากนี้ พัคระบุว่าก่อนปี 2021 ผู้เสียหายในคดีอาชญากรรมทางเพศไม่จำเป็นต้องขึ้นให้การในชั้นศาล แต่สามารถใช้การบันทึกวิดีโอคำให้การแทนได้ ทว่าต่อมากระบวนการดังกล่าวถูกมองเป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยในการสู้คดีและสืบพยาน จึงมีการปรับกระบวนการพิจารณาคดีในส่วนคดีอาชญากรรมทางเพศให้ผู้เสียหายสามารถให้การในคดีผ่านกล้องวงจรปิด (CCTV) แทนได้ 

“การให้ผู้เสียหายสามารถให้การในคดีผ่านกล้องวงจรปิดมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเกิดความรู้สึกของการถูกกระทำซ้ำ (secondary victimization) ในเหยื่อ จากเดิมที่กระบวนการให้การในชั้นศาลโดยตรงทำให้ผู้เสียหายต้องเผชิญหน้ากับจำเลยอีกครั้ง” พัคกล่าว

แน่นอนว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันย่อมมาพร้อมกับการนำระบบดิจิทัลมาปรับใช้ เช่นเดียวกับระบบยุติธรรมในเกาหลีใต้ ซึ่งมีทั้งการฟ้องคดีอาญาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการพิจารณาคดีด้วยระบบศาลเสมือนจริง (virtual court system) เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินงานของระบบยุติธรรม

“การฟ้องคดีอาญาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่งเริ่มได้รับการนำมาปรับใช้อย่างจริงจัง แต่สำหรับคดีแพ่งและพาณิชย์ ระบบดังกล่าวได้ถูกใช้มานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยระบบนี้จัดว่าสะดวกทั้งต่อจำเลยและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม เพราะสามารถบันทึกการสอบสวนทั้งหมดได้โดยไม่ต้องใช้เอกสารรูปแบบกระดาษอีกต่อไป” พัคกล่าว

พัคยงชอล (Yong Chul Park) ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแห่งประเทศเกาหลีใต้
ภาพถ่ายโดย TIJ

“ระบบศาลเสมือนจริงทำให้ไม่ต้องมีใครไปขึ้นศาลในสถานที่จริง ทั้งยังสามารถใช้ ‘อวตาร’ (avatar) ของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม การทำงานผ่านระบบดิจิทัลที่อาจอยู่บนหลักคิดที่ว่าคนเกาหลีทุกคนใช้คอมพิวเตอร์เป็นและมีเครื่องมือดิจิทัลเป็นของตนเอง ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อผู้สูงอายุและคนที่มีฐานะยากจน” พัคกล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งในระบบยุติธรรมของเกาหลีใต้คือการที่ประเด็นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้รับการนำเสนอผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงจนทำให้ประชาชนให้ความสนใจมากขึ้น ด้วยการนำคดีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นจริงมาปรับเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์หรือซีรีส์โทรทัศน์ที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงประชาชนได้ทุกเพศทุกวัย เช่น ซีรีส์ I can hear your voice และ Extraordinary Attorney Woo เป็นต้น

ปฏิรูปกฎหมายต้องมองไกลกว่าแค่นิติศาสตร์

รศ.ดร. พรชัย วิสุทธิศักดิ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบยุติธรรมทางอาญาโดยรวมคือการเกิดช่องว่างในการใช้กฎหมายระหว่างทฤษฎีหรือตัวบทกฎหมายในหนังสือ (law in book) กับปฏิบัติการจริงของกฎหมาย (law in action) อีกทั้งยังมีปัญหาการใช้คดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน หรือที่เรียกว่าคดีปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation – SLAPP) ซึ่งคือการฟ้องคดีเพื่อปิดปากบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พรชัยชี้ว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการปฏิรูปแก้ไข 

พรชัยให้ความเห็นว่า เราจำเป็นต้องมองระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในมุมมองที่กว้างกว่าเพียงตัวบทกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงจำเป็นต้องลดความล่าช้าและความซับซ้อนของระบบราชการและกระบวนการทางกฎหมายลง

“การปฏิรูปกฎหมายต้องมุ่งปรับปรุงการร่างกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อให้กฎหมายมีความยุติธรรม อำนวยความสะดวกในเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน รวมถึงลดกฎหมายและข้อบังคับที่ไม่จำเป็น” พรชัยกล่าว

พรชัย วิสุทธิศักดิ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพถ่ายโดย TIJ

พรชัยยังอธิบายถึงการใช้กฎหมายและระบบยุติธรรมจากบนลงล่าง (top-down approach) และจากล่างขึ้นบน (bottom-up approach) ที่นำมาสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้พรชัยให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญในการปฏิรูปคือการผสมผสานระหว่าง top-down กับ bottom-up ให้ลงตัวบนพื้นฐานของความยุติธรรม

“การใช้กฎหมายและระบบยุติธรรมจากบนลงล่าง หรือจากภาพใหญ่ที่สุดลงมาที่ภาพเล็ก เป็นวิธีการคงไว้ซึ่งโครงสร้างทางอำนาจ ในขณะที่การใช้กฎหมายและระบบยุติธรรมจากล่างขึ้นบน เป็นการตอบสนองต่อความต้องการด้านกฎหมายและระบบยุติธรรมของคนในสังคม” พรชัยกล่าว

“อย่างไรก็ดี เราควรให้ความสำคัญไปที่การสร้างแนวทางที่สมดุลเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่มีความแตกต่างทั้งในด้านพื้นที่ วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง” พรชัยเสริม

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่พรชัยเน้นย้ำคือเราไม่อาจปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมโดยปราศจากความรู้แขนงอื่นได้ ทั้งยังให้ความเห็นว่า แม้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะอยู่ในกรอบบริบททางกฎหมายและระบบยุติธรรมทางอาญา อีกทั้งผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายก็ถือเป็นผู้มีอำนาจหลักในการนำการปฏิรูปมาปรับใช้ แต่แนวทางในการปฏิรูปก็ควรมาจากบุคคลภายนอกที่เคยเผชิญกับปัญหาและช่องโหว่ของกฎหมายและระบบยุติธรรมด้วยเช่นกัน

“การปฏิรูปกฎหมายนับเป็นความท้าทายสำหรับประเทศอาเซียนทั้งในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น โดยมุมมองจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี จะมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จในการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” พรชัยสรุป

สำรวจสถานการณ์ของเรือนจำและผู้ต้องขังทั่วโลกในช่วงเวลาหลังโควิด-19 ผ่านรายงาน Global Prison Trend 2022 เพิ่มเติม ได้ : ที่นี่


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save