fbpx
อาเซียน ณ จุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

อาเซียน ณ จุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ช่วงกลางเดือนมิถุนายนของทุกปีจะมีเวทีการประชุมทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่น่าสนใจมากที่สุดหนึ่งเวทีเกิดขึ้น โดยเป็นการประชุมที่ระดับผู้นำประเทศ และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านความสันพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะในมิติด้านความมั่นคง ไปแสดงวิสัยทัศน์และพบปะพูดคุยกัน เวทีนั้นคือ IISS Asia Security Summit ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัย International Institute for Strategic Studies (IISS) ซึ่งตั้งอยู่ ณ​ ประเทศสิงคโปร์ และเนื่องจากการประชุมนี้ซึ่งจัดมาต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2002 จะจัดขึ้นที่โรงแรม Shangri-La ดังนั้นเราจึงนิยมเรียกชื่อการประชุมนี้ว่า Shangri-La Dialogue (SLD)

ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา SLD กลายเป็นเวทีที่ผู้นำหรือรัฐมนตรีด้านความมั่นคงจาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมาพบกันและแสดงวิสัยทัศน์ในเรื่อง ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก อาจจะด้วยความที่สถานที่จัดงาน คือ ประเทศสิงคโปร์ตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางของช่องแคบมะละกาที่เป็นรอยต่อระหว่าง 2 มหาสมุทร นั่นคือ มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย

มหาอำนาจระดับ Super Power ที่เรามักจะจับตามองกันในภูมิภาคนี้ก็ได้แก่ แน่นอน จีนซึ่งน่าจะมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในการเชื่อมโยงอินโด-แปซิฟิก ผ่านอภิมหาโครงการความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งปัจจุบันจากการประชุม BRI Forum ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้นำและตัวแทนจากองค์การระหว่างประเทศกว่า 152 ประเทศและหน่วยงานเข้าร่วมประชุม เกิดโครงการระดับทวิภาคีภายใต้ BRI แล้ว 283 โครงการ

ขอบเขตของ BRI ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว หากแต่ขยายขอบเขตออกไปทุกมิติ ซึ่งจำแนกออกเป็น 4 ด้าน 1. การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเชื่อมโยง (Boosting Infrastructure Connectivity) 2. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Promoting Sustainable Development) 3. ความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่สามารถปฏิบัติได้และได้รับการร้องขอจากประเทศคู่เจรจาของจีน (Strengthening Practical Cooperation) และ 4. ความเชื่อมโยงประชาชน (Advancing People-to-People Exchanges) BRI กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ทั้งโลกจับตามอง และจีนเองก็หวังผลกับโครงการนี้อย่างยิ่งที่จะให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ใช่ในอัตราที่สูงเกินกว่าร้อยละ 10 อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แต่อย่างน้อยก็ขอให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางภาวะสงครามการค้า ซึ่ง BRI เองก็ตอบโจทย์กับสิ่งที่ทุกประเทศกำลังต้องการนั่นคือ เงินทุนและการพัฒนาด้านความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ หลากมิติ โดยจีนมองว่า BRI จะทำให้ทั้งโลกเกิด ‘ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมวลมนุษย์’ (community with a shared future for mankind, 人類命運共同體)

อีกหนึ่งมหาอำนาจระดับเดียวกันที่ในระยะหลังเริ่มสูญเสียอำนาจและความสามารถในการจัดระเบียบโลก นั่นคือ สหรัฐอเมริกา ที่มีผู้นำที่เปลี่ยนท่าทีจากนโยบายเสรีนิยมไปสู่นโยบายชาตินิยม สหรัฐอเมริกาโดยกระทรวงกลาโหมก็ถือโอกาสนี้ในการเผยแพร่ ‘รายงานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิค’ (Indo-Pacific Strategy Report) ภายใต้หัวข้อ ‘Preparedness, Partnerships, and Promoting a Networked Region’ ในรายงานฉบับนี้ สหรัฐเน้นย้ำจุดยืนที่ประธานาธิบดี Trump กล่าวไว้ในงานประชุม APEC ครั้งที่ประชุม ณ ประเทศเวียดนามในปี 2017 ที่ว่า สหรัฐจะสนับสนุนแนวคิด ‘อินโด-แปซิฟิคที่เสรีและเปิดกว้าง’ (Free and Open Indo-Pacific: FOIP) ในรายงานของกระทรวงกลาโหมที่แผยแพร่ในวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้นำเอาวิสัยทัศน์ FOIP นี้มาขยายต่อเป็นหลักการ 4 ข้อ 1. เคารพในอำนาจอธิปไตยและความเป็นอิสระของทุกประเทศ 2. การระงับข้อพิพาทอย่างสันติ 3. การค้าเสรี ยุติธรรมและต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน (Reciprocal) บนพื้นฐานของการลงทุนที่เปิดกว้าง ภายใต้ข้อตกลงที่โปร่งใส และการเชื่อมโยง และ 4. ยึดมั่นในกฎและปทัฏฐาน (แบบแผนสําหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ) ที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในประเด็นเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน

หลักการทั้ง 4 ออกมาก็เพื่อสร้างดุลอำนาจและปิดล้อมการขยายอิทธิพลของจีนผ่าน BRI โดยเน้นหลักการที่มักจะกลายเป็นข้อครหาของ BRI เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพบังคับที่ประเทศใหญ่บังคับเอากับประเทศเล็ก กรณีพิพาทในเรื่องน่านน้ำในพื้นที่ต่างๆ และการไม่เคารพอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในอภิมหาโครงการ BRI โดยในส่วนสรุปของรายงานฉบับนี้ สหรัฐเรียกสถานการณ์ในภูมิภาคนี้ว่า Great Power Competition

ในรายงานฉบับดังกล่าวสหรัฐก็มีการกำหนดประเทศเป้าหมายด้วยว่าประเทศที่สหรัฐให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินยุทธศาสตร์ FOIP คือประเทศในกลุ่มใดบ้าง โดยสหรัฐจำแนกพันธมิตรออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้ 1. กลุ่มประเทศที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุด ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย 2. กลุ่มที่ต้องกระชับความสัมพันธ์ ได้แก่ สิงคโปร์ ไต้หวัน นิวซีแลนด์ มองโกเลีย (อย่าลืมว่า ทรัพยากร Rare Earth ที่นี่สมบูรณ์มาก) 3. กลุ่มที่ต้องสร้างและขยายความร่วมมือในมหาสมุทรอินเดียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟ บังกลาเทศ เนปาล เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ 4. กลุ่มที่สหรัฐต้องเข้าไปร่วมวางพื้นฐานความสัมพันธ์ ได้แก่ บรูไน สปป.ลาว และกัมพูชา โดยพันธมิตรของสหรัฐในการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอินโด-แปซิฟิก คือ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และแคนาดา

สำหรับมหาอำนาจระดับกลาง แน่นอนว่า อินเดีย ซึ่งเปรียบเสมือนพี่ใหญ่ในหมู่เจ้าของบ้านทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ก็เคยใช้เวที Shangri-La Dialogue ในการปาฐกถาเรื่องอินโด-แปซิฟิกมาแล้วในปี 2018 โดยอินเดียพิจารณาว่า ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องสำหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก คือ ‘เสรีภาพ เปิดกว้าง เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรือง โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง’ (Free, Open, Prosperous and Inclusive Indo-Pacific Region) นายกรัฐมนตรีโมดิเรียกร้องให้ทุกประเทศในประชาคมอินโด-แปซิฟิกต้องมีความมุ่งมั่นร่วมกัน (common commitment) บนพื้นฐานของค่านิยมและหลักการในการสนับสนุนให้ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่มีธรรมาภิบาลมีหลักเกณฑ์และหลักการการปฏิบัติที่เป็นสากล และยังกล่าวด้วยว่าในไม่ช้า ‘นโยบายปฏิสัมพันธ์กับตะวันออก’ (Act East Policy) ของประเทศอินเดียจะพัฒนาต่อไปจนกลายเป็นนโยบายใหม่ ‘ปฏิสัมพันธ์กับอินโด-แปซิฟิก’ (Act Indo-Pacific)

และในความเป็นจริง ประเทศที่เริ่มต้นใช้คำว่า อินโด-แปซิฟิก ก็คือ อินเดียนั่นเอง คนที่เริ่มต้นใช้คำนี้ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 คือ  Gurpreet s. Khurana อดีตผู้อำนวยการของ National Marine Foundation (สถาบันวิจัยด้านนโยบายความมั่นคงทางทะเลของอินเดีย ผู้อำนวยการของสถาบันคืออดีตแม่ทัพเรือที่คุมกองทัพเรือทั้งหมดของประเทศที่เกษียณอายุราชการ) Khurana ใช้คำนี้เพราะมองเห็นว่าตลอดทศวรรษ 1970-1980 สหรัฐพยายามสร้างมิตรประเทศ โดยเฉพาะจีน เพื่อปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของโซเวียต และทำสำเร็จโดยยุทธศาสตร์เชื่อมโยง เอเชีย-แปซิฟิก ดังนั้นคำถามสำคัญของ Khurana ก็คือ แล้วในอนาคตเมื่อจีนกลายเป็นมหาอำนาจ สหรัฐจะปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน อินเดียก็น่าจะต้องคิดถึงยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

และอีกหนึ่งมหาอำนาจระดับกลางที่มีบทบาทในฐานะนักลงทุนและเจ้าของห่วงโซ่มูลค่าในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นั่นคือ ญี่ปุ่น ซึ่งไม่ใช่ประเทศที่เราจะมองข้ามไปได้ อย่าลืมว่าจนถึงปี 2017 ญี่ปุ่นลงทุนในอาเซียนรวมกันไปแล้วมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และในจำนวนนี้ญี่ปุ่นลงทุนมากที่สุดในประเทศไทยถึงร้อยละ 31.36 ของเงินลงทุนทั้งหมด ในขณะที่อันดับที่ 2 คือการลงทุนในสิงคโปร์ที่ร้อยละ 30

มิถุนายน 2019 ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นเองก็มีการออกรายงาน ‘Toward Free and Open Indo-Pacific’ สังเกตนะครับว่า ญี่ปุ่นตั้งชื่อรายงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Free and Open Indo-Pacific (FOIP) ของสหรัฐ และในหลายๆ วาระเมื่อเราสอบถามความคิดเห็นกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเอเชียตะวันออกศึกษา พวกเขาก็มักจะมองว่า ในหลายวาระตลอดประวัติศาสตร์ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ญี่ปุ่นมักจะวางตนในบทบาทของการเป็นตัวกลางหรือบางครั้งก็ถึงขนาดเป็นตัวแทนระหว่างสหรัฐกับประเทศในเอเชียตะวันออกด้วยกันอยู่แล้ว

นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe เคยกล่าวปาฐกถานำในการประชุม Tokyo International Conference on African Development (TICAD) ณ ประเทศเคนยา ในปี 2016 ว่า สำหรับประเทศญี่ปุ่น กุญแจสำคัญสู่ความมีเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองคือการสร้างประชาคมที่เชื่อมโยงระหว่าง 2 ทวีป และ 2 มหาสมุทร โดย 2 ทวีปหมายถึงเอเชียและแอฟริกา และ 2 มหาสมุทรก็หมายถึงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

โดยสำหรับญี่ปุ่น หลักการสำคัญในการดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกจะวางอยู่บน 3 เสาหลัก นั่นคือ 1. การส่งเสริมเสรีนิยม ไม่ว่าจะเป็นหลักนิติธรรม (Rule of Law) การเปิดเสรีการค้า และเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน 2. สร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจผ่านความเชื่อมโยงใน 3 มิติ การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง (Quality Infrastructure Investment) การเชื่อมโยงกฎระเบียบและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า และ การเชื่อมโยงทรัพยากรบุคคลในภูมิภาค และ 3. หลักการสันติภาพและเสถียรภาพ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายในท้องทะเลอย่างเคร่งครัด การให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน การต่อต้านภัยก่อการร้าย การบริหารจัดการภายใต้ภัยพิบัติต่างๆ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และยังกล่าวรวมไปจนถึงในบางสถานการณ์อาจต้องมีการสนับสนุนการใช้กองกำลังรักษาสันติภาพ (Peacekeeping Operations: PKO)

ญี่ปุ่นยังเน้นย้ำ ซึ่งเหมือนจะเป็นการส่งสัญญาณไปที่มหาอำนาจจีนโดยตรงว่า 1. อินโด-แปซิฟิกต้องเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง ไม่ใช่การสงวนสิทธิ์ไว้แต่เพียงผู้เดียว (Not exclusive to anybody) 2. ไม่ต้องการสร้างสถาบันใหม่ขึ้นมาเพื่อแทนที่หรือลดทอน (Override/undermine) สถาบันที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ต้องไม่ลืมว่าญี่ปุ่นมีบทบาทสูงมากในธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในขณะที่จีนเองก็สร้าง ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ขึ้นมาเพื่ออำนวยการลงทุนใน BRI และ 3. ญี่ปุ่นสรุปว่า ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นเกิดขึ้นบนจิตวิญญาณของการเคารพความเป็นเจ้าของของประเทศผู้รับและคนในท้องถิ่น และต้องการเห็นการเติบโตและการพัฒนาร่วมกัน

จะเห็นได้ว่า ณ ชั่วโมงนี้ อินโด-แปซิฟิก กลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศมหาอำนาจ ทุกคนอยากเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่แห่งเดียวที่ยังมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ทั้งในมิติทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์

คำถามที่สำคัญคือ ประเทศไทยและประชาคมอาเซียนจะวางตัวอย่างไรในห้วงเวลาที่มหาอำนาจจ้องภูมิภาคนี้ที่เราเป็นสะพานเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์ของ 2 มหาสมุทรอย่างแท้จริง ในเวลาที่มหาอำนาจทุกๆ ฝ่ายต้องการทั้งแข่งขันและในขณะเดียวกันก็ต้องการผูกขาด ในเวลาที่มหาอำนาจทุกๆ ฝ่ายต้องการเปิดเสรีแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของมหาอำนาจอื่นๆ

อาเซียนต้องมีคำตอบ โดยคำตอบของอาเซียนคือ ท่าทีที่ชัดเจนผ่าน ‘เอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิก’ (ASEAN Outlook on Indo – Pacific: AOIP)

เอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิก (AOIP) เกิดขึ้นเพื่อเป็นการยืนยันท่าทีที่ชัดเจนของประชาคมอาเซียนท่ามกลางการขยายอิทธิพลทั้งในมิติเศรษฐกิจและความมั่นคงเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ประชาคมอาเซียนกำหนดท่าทีอย่างชัดเจนในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของอาเซียนและประเทศสมาชิก โดยยืนยันหลักการสำคัญในการวางตำแหน่งอาเซียนเป็นจุดศูนย์กลาง (ASEAN Centrality) ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ในระดับภูมิภาคผ่านสถาปัตยกรรมที่อาเซียนได้สร้างสรรค์เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น เวที East Asia Summit ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับอีก 8 คู่เจรจาหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เวทีด้านความมั่นคง อันได้แก่ ASEAN Regional Forum ระหว่างอาเซียนกับอีก 17 ประเทศทั่วโลก ASEAN Defence Minister Meeting – Plus (ADMM – Plus) และเวทีในระดับภูมิภาคอื่นๆ

ซึ่งเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิก ที่ได้รับการลงนามโดยผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เพราะในร่างฉบับแรกของเอกสารนี้ ยังคงมีสมาชิกบางประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดท่าทีในแนวทางดังกล่าว (ทั้งนี้เป็นเพราะแต่ละประเทศสมาชิกก็มีความใกล้ชิดกับมหาอำนาจแต่ละประเทศในรูปแบบที่แตกต่างกัน) แต่ในที่สุดด้วยการทำงานอย่างหนักของฝ่ายไทยในฐานะประธานในที่ประชุมก็ทำให้ในที่สุดประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศสามารถบรรลุผลสำเร็จในการกำหนดท่าทีร่วมกันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจที่มีพลวัตรยิ่งได้

สาระสำคัญของมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิก ประกอบด้วย 4 ส่วน

1. ความร่วมมือภาคพื้นมหาสมุทร (Maritime Cooperation) เพื่อเป็นการยืนยันจุดยืนของอาเซียนในเรื่องการกำหนดให้มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ร่วมกัน โดยการเคารพการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) และปฏิบัติตามประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการปรามและป้องกันการเกิดปัญหาข้อพิพาทกับมหาอำนาจที่ขยายอิทธิพลในพื้นที่

2. เชื่อมโยงความเชื่อมโยงต่างๆ (Connecting the Connectivity) เนื่องจากมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ อินเดีย ฯลฯ ที่ต้องการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในพื้นที่ต่างก็มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการเชื่อมโยงภูมิภาค และเมื่ออาเซียนตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลาง อาเซียนยินดีที่จะเชื่อมกับทุกฝ่ายบนเงื่อนไขที่ว่า ความเชื่อมโยงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการเดินเรือ สายการบิน ถนน ราง ท่อก๊าซ ระบบโทรคมนาคม และกฎระเบียบ สิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างๆ อาเซียนยืนยันที่จะให้ทุกฝ่ายต้องสร้างโครงการที่สอดคล้องกับแผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC) ซึ่งนี่คือผลงานของไทยที่วางไว้ตั้งแต่การประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพในรอบที่แล้วในปี 2008-2009

3. อาเซียนเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030 (Sustainable Development Goals: SDG 2030) ของสหประชาชาติ

4. ความร่วมมือในมิติอื่นๆ ซึ่งเน้นย้ำอย่างยิ่งถึงกรอบการเจรจา RCEP: Regional Comprehensive Economic Partnership

โดยความคืบหน้าล่าสุดอย่างเป็นทางการของการเจรจา RCEP หรือ ASEAN+6 ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ คือ ทุกฝ่ายสามารถหาข้อสรุปได้แล้วใน 7 ข้อบทจากทั้งหมด 20 ข้อบท และในอีก 13 ข้อบทที่ยังต้องเจรจากันต่อไป แต่ก็มีความคืบหน้าไปเรื่อยๆ ในทุกข้อบทและได้เห็นท่าทีที่ดีขึ้นจากประเทศมหาอำนาจที่เข้ามาร่วมเจรจา สถานะอย่างไม่เป็นทางการคือ เราหาข้อสรุปได้มากกว่า 7 ข้อบทแล้ว แต่ยังมีอีกบางข้อบทที่ยังคงต้องเจรจากันต่อไป โดยเฉพาะเรื่องยากๆ เช่น กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด

ประเทศไทยในฐานะประธานการเจรจาก็มีการกำหนดแผนการทำงาน (Work Plan 2019) อย่างชัดเจนโดยกำหนดเป้าหมายในทุกครั้งที่มีการเจรจา และเพิ่มจำนวนครั้งในการเจรจาให้ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเกิดขึ้นทุกเดือน และที่ประชุมระดับรัฐมนตรีที่จะเกิดการตัดสินใจมีจำนวนครั้งที่เพิ่มมากขึ้นจากปีละครั้ง เป็นการประชุม 4 ครั้งตลอดปี 2019

ทั้งนี้เนื่องจากข้อตกลง RCEP และมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิกจะเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในการยืนยันกับประชาคมโลกว่า อาเซียนและคู่เจรจายังคงสนับสนุนและต้องการเดินหน้าแนวคิดการค้าที่เปิดกว้าง เสรี และเป็นธรรมสำหรับทุกประเทศทั่วโลก

สิ่งที่เราจะต้องจับตามองกันต่อไปก็คือ ในช่วงปลายเดือนตุลาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมสุดยอดเชียตะวันออก (East Asian Summit) และผู้นำของประเทศมหาอำนาจทั้งหมดจะมาพบกันที่กรุงเทพมหานคร คำถามสำคัญ คือ ไทยและประชาคมอาเซียนจะกำหนดบทบาทท่าทีของตนเองอย่างไรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติและของภูมิภาคภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save