fbpx
อุษาคเนย์พลัดถิ่น

อุษาคเนย์พลัดถิ่น

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่อง

ปีนี้ผมเริ่มงานวิจัยใหม่ชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการรู้หนังสือแบบพื้นบ้านของ ‘ลาวโซ่ง’ กลุ่มชาติพันธ์ุในประเทศไทยกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับถิ่นฐานดั้งเดิมของพวกเขาในประเทศเวียดนาม เรื่องราวเกี่ยวกับ ‘การรู้หนังสือพื้นบ้าน’ เป็นอย่างไรนั้น ผมจะยังไม่เล่าในคราวนี้ แต่เรื่องที่จะเล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการรู้หนังสือพื้นบ้านซึ่งผูกโยงกับสำนึกพลัดถิ่นและบ้านเกิดในระดับจิตวิญญาณของลาวโซ่ง

เรื่องเล่านี้แสดงให้เห็นว่าชาวอุษาคเนย์นั้น ส่วนหนึ่งหรืออาจกล่าวได้ว่าส่วนมากด้วยซ้ำที่เป็นคนมีถิ่นฐานมาจากที่อื่น มีประวัติการย้ายถิ่น เป็นคนพลัดถิ่นฐาน หากแต่พวกเขามีสำนึกบ้านเกิดและหาทางกลับบ้านเกิดด้วยวิธีต่างๆ กัน สำหรับชาวลาวโซ่งแล้ว วิธีหนึ่งที่พวกเขาคิดถึงและกลับบ้านเกิด คือการเดินทางในชีวิตหลังความตาย

ความพลัดถิ่นเป็นประเด็นที่ศึกษากันมากในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะสังคมปัจจุบันมักพูดกันถึงการติดต่อสัมพันธ์กันข้ามถิ่นฐาน ยิ่งการละเลิกหรือผ่อนปรนการควบคุมด้านการเมืองระหว่างประเทศในโลกยุคหลังสงครามเย็น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญในอุษาคเนย์

ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงจนโลกเชื่อมต่อกันไปทั่วโลก ดังเช่นที่นักมานุษยวิทยาอย่างอรชุน อัปปาดูราย (Arjun Appadurai) ในหนังสือ Modernity at Large: Cultural Dimensions of Globalization (ภาวะสมัยใหม่ขนาดมหึมา: มิติทางวัฒนธรรมของโลกาภิวัตน์) (พิมพ์ปี 2539) เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นการสลายไปของถิ่นฐาน (deterritorialization) นั่นคือเกิดการเปลี่ยน ‘ทัศน์ทิว’ (scape) ในหลายๆ ด้าน ทั้งชีวิตผู้คนที่ไม่ตึดยึดถิ่นฐานเฉพาะที่ใดที่หนึ่งอีกต่อไป เงินทุนที่ไหลเวียนถ่ายเทไปมาทั่วโลก เทคโนโลยีที่ถูกส่งผ่านไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก ไปจนกระทั่งสื่อที่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก และความคิดที่กระจายตัวแผ่ขยายเชื่อมกันไปทั่วโลก โดยทั่วไปเรามักรู้จักปรากฏการณ์นี้ในนาม ‘โลกาภิวัตน์’ (globalization)

หากแต่อันที่จริง ปรากฏการณ์ลักษณะเดียวกันนั้นเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกมาเนิ่นนานก่อนยุคสมัยใหม่แล้ว แม้ว่าขนาดของมันจะไม่ใหญ่โตอย่างเชื่อมโยงกันทั่วโลก และไม่ได้รวดเร็วฉับไวเท่าก็ตาม กล่าวเฉพาะในภูมิภาคอุษาคเนย์ ภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยผู้คนพลัดถิ่นมาอย่างน้อยตั้งแต่เกิดชุมชนทางการเมืองระดับ ‘รัฐ’ ขึ้นนับพันปีมาแล้ว

สำหรับชาว ‘ลาวโซ่ง’ พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุเดียวกันกับชาว ‘ไตดำ’ ในถิ่น ‘สิบสองจุไท’ ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม ผมสันนิษฐานว่าชื่อ ‘ลาวโซ่ง’ มาจากการที่คนสยามนิยมเรียกคนที่ถูกกวาดต้อนมาจากถิ่นทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือว่า ‘ลาว’ แน่นอนว่าคำเรียกนี้แสดงความเหมารวมว่าคนที่มาจากดินแดนเหล่านี้ล้วนเป็น ‘ลาว’ ด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งที่พวกเขามีพื้นเพ ลักษณะทางวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างกันอย่างยิ่งก็ตาม

คำนี้อาจจะมีลักษณะเชิงดูถูกเหยีดหยามอยู่บ้างในแง่ที่ว่า คนที่ถูกเรียกว่า ‘ลาว’ ไม่ใช่ ‘ไทย’ และเมื่อไม่ใช่ก็แสดงว่ามีสถานะทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง ที่ด้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ นี่คือความเป็นลาวในสำนึกของคนไทยทั่วๆ ไป

ส่วนคำว่า ‘โซ่ง’ นั้น มีข้อสันนิษฐานไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่ามาจากคำว่า ‘ทรง’ ที่แปลว่าการแต่งกาย เพราะชาวโซ่งนิยมแต่งตัวด้วยชุดสีดำ แต่นั่นก็เป็นข้อสันนิษฐานที่แปลกประหลาด เพราะคำว่า ‘ทรง’ ในภาษาไตดำก็เป็นคำที่มีความหมาย แต่หมายถึงการอยู่นิ่งๆ หรือการทรงตัวแบบเดียวกับที่ภาษาไทยบ้านเราใช้ บ้างก็ว่าหมายถึงกางเกงในภาษาไตดำ แต่อันที่จริงภาษาไตดำเรียกกางเกงว่า ‘ส่วง’ หากออกเสียงเป็นโซ่งก็คงเป็นการออกเสียงที่เพี้ยนมากๆ ของชาวสยามเองนั่นแหละ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าข้อสันนิษฐานที่ใกล้เคียงความจริง น่าจะคือคำว่า ‘โซ่ง’ ซึ่งเป็นคำเรียกหน่วยการปกครองหนึ่งของไตดำในเวียดนาม เดิมทีเมืองแต่ละเมืองจะเรียกว่า ‘เจิวเมือง’ ขนาดประมาณหนึ่งอำเภอในปัจจุบัน แต่ละเจิวเมืองแบ่งเป็น ‘เมืองกวงเมือง’ (กวงแปลว่า ‘ใน’) และ ‘เมืองนอกเมือง’ ที่เป็นบริวารของเมืองกวงเมือง แต่ละเมืองย่อยเหล่านี้จะแบ่งออกเป็น ‘โซ่ง’ ราวๆ 4 โซ่ง อาจถือว่าเทียบเท่ากิ่งตำบลเล็กๆ ชาวโซ่งสมัยแรกๆ ที่ให้ไปตั้งถิ่นฐานที่เพชรบุรี อาจนับตนเองว่าเป็นหน่วยการปกครองเล็กๆ ระดับตำบลย่อยๆ ก็เลยนำคำว่าโซ่งมาใช้ก็เป็นได้ แต่นี่ก็ยังเป็นข้อสันนิษฐานอยู่ดี

ชาวลาวโซ่งมาอาศัยในสยามประเทศตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ 18 แล้ว หรือตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 5 พวกเขาไม่ได้เคลื่อนย้ายมาอยู่สยามด้วยความสมัครใจแต่อย่างใด ไม่ได้ประสงค์จะมาพึ่งพิงแต่อย่างใด หากแต่พวกเขาถูกบังคับ ถูกจับกุม ถูกกวาดต้อนมาด้วยกำลังของชาวสยาม ถุกคุมตัวให้เดินเท้ามา แล้วให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ถิ่นดั้งเดิมที่สุดที่เพชรบุรีนั้นอยู่ที่บ้านหนองปรง ปัจจุบันเรื่องราวเหล่านี้หาอ่านได้ไม่ยากในแหล่งต่างๆ ทั้งหนังสือและแหล่งความรู้ออนไลน์

การกวาดต้อนผู้คนจากถิ่นหนึ่งไปอีกถิ่นหนึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอุษาคเนย์มายาวนานแล้ว หากนับย้อนกลับไปยังสมัยอาณานิคมตะวันตก ชาวเอเชียใต้ ชาวทมิฬ ถูกเคลื่อนย้ายโดยสมัครใจบ้าง ไม่สมัครใจบ้าง มาเป็นคนใช้แรงงานในประเทศอาณานิคมของอังกฤษ ภายหลังคนเหล่านี้ก็ตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศเหล่านี้ไป

ส่วนในไทย อินโดนีเซีย เวียดนามใต้ รวมทั้งมาเลเซีย มีคนจีนกลุ่มภาษาต่างๆ ย้ายถิ่นมาอาศัยเป็นจำนวนมาก คนจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่มาโดยสมัครใจ แรงงานจากเอเชียใต้และแรงงานจีนเหล่านี้แหละที่เป็นกำลังแรงงานหลักของการพัฒนาอุษาคเนย์ยุคที่ทุนนิยมโลกพัฒนาขึ้นมา ผ่านการโยกย้ายทรัพยากรจากประเทศใต้อาณานิคมสู่ประเทศอาณานิคม

แต่ก่อนหน้านั้น การโยกย้ายถ่ายเทคนในภูมิภาคนี้มีมาตั้งแต่เริ่มเกิดชุมชนการเมืองแบบ ‘รัฐ’ ในอุษาคเนย์ จากการศึกษาการก่อตัวทางสังคมแบบรัฐบนที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำเจ้าพระยา นักรัฐศาสตร์อย่างเจมส์ สก๊อตต์ (James Scott) ในหนังสือ The Art of Not Being Governed: An Anarchist History of Upland Southeast Asia (ศิลปะของการไม่ถูกปกครอง: ประวัติศาสตร์นักอนาธิปไตยของถิ่นที่สูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) (พิมพ์ปี 2552) อธิบายว่า พื้นที่เหล่านี้มีขนาดกว้างขวางเกินกว่ากำลังคนท้องถิ่นจะสามารถใช้สอยเพาะปลูกทำการเกษตรได้หมด อีกทั้งการผลิตจำนวนมากก็ไม่ได้มีความจำเป็นขนาดต้องอาศัยคนจำนวนมากเกินกว่าจำนวนคนในท้องถิ่น

การผลิตในที่ราบเป็นการผลิตที่ต้องอาศัยการจัดการน้ำในพื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่สามารถอาศัยเพียงน้ำฝนตามธรรมชาติได้ การจัดการน้ำจึงนำมาซึ่งการจัดองค์กรทางสังคมที่เป็นระบบขนาดใหญ่ขึ้นมา เพื่อทั้งจัดสรรดูแลน้ำ และเพื่อเก็บแบ่งปันผลประโยชน์ส่วนหนึ่งไปใช้ในกิจการของการบริหารจัดการน้ำ จนในที่สุด สังคมจึงค่อยๆ พัฒนากลายไปเป็นสังคมที่มีชนชั้น ก่อเกิดเป็นรัฐขนาดใหญ่-เล็กทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป

เมื่อยิ่งพัฒนาขึ้น รัฐพื้นราบเหล่านี้ก็เริ่มขาดกำลังคน จึงไปรบพุ่งกับรัฐอื่นเพื่อกวาดต้อนผู้คนมาเพิ่มกำลังของตนเอง การรบในสมัยโบราณจึงไม่ได้เลือดพุ่งหรือฆ่ากันตายเป็นเบือแบบที่ถูกทำให้เข้าใจกันในภาพยนตร์ เพราะพวกเขารบกันเพื่อเอาไพร่พลมาเป็นแรงงาน ไม่ได้รบกันเพื่อทำลายล้างผู้คน

รัฐเหล่านี้มีขอบเขตอยู่ที่ความสูงของพื้นที่ เมื่อใดก็ตามที่อำนาจรัฐขยายไปจนจรดพื้นที่สูงเกิน 200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป อำนาจรัฐพื้นราบจะสลายไป มีผลทำให้สังคมที่ก่อตัวขึ้นบนที่สูงมีอิสระแยกขาดจากอำนาจรัฐพื้นราบ สังคมบนที่สูงก็พัฒนาตนเองคู่ขนานไปกับสังคมบนพื้นราบ แต่ในลักษณะที่แตกต่างกัน

ขณะที่ชนพื้นราบปลูกธัญพืชที่เก็บไว้ได้นาน ขนส่งไปขายได้ไกลๆ ชนที่สูงอาศัยพืชจำพวกหัวใต้ดินที่ทนแล้งได้ดี สะสมอาหารไว้มาก แต่รองรับได้เพียงสังคมชุมชนขนาดเล็กที่ต้องเคลื่อนที่เสมอเมื่อธาตุอาหารในดินหมดลง ทว่าชนที่สูงก็มีอิสระจากรัฐ และมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม

ส่วนรัฐพื้นราบประกอบไปด้วยคนจำนวนมาก มีความหลากหลายน้อยกว่า ถูกควบคุมจัดการโดยรัฐอย่างเข้มงวดด้วยระบบไพร่ การเคลื่อนย้ายคนเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องถูกควบคุมเพื่อเป็นกำลังแรงงานและกำลังคนในการสงคราม

ทว่าพื้นที่ทั้งสองก็ติดต่อแลกเปลี่ยนกันเสมอ ที่สำคัญคือการที่ชนพื้นราบมักหลบหนีอำนาจรัฐที่เข้มงวดกลายไปเป็นชนบนที่สูง ดังเช่นบรรดากบฏของรัฐพื้นราบต่างๆ ที่มักหนีขึ้นไปปะปนจนกลืนกลายตนเองเป็นชนบนที่สูง ส่วนชนที่สูงที่ปกติ ไม่ได้ต้องการลงมาอยู่พื้นราบ หากแต่มักถูกกวาดต้อนมาเป็นกำลังแรงงานและกำลังทหารในรัฐพื้นราบอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นที่มาของการถูกบังคับให้ย้ายถิ่นของคนไตจากเวียดนาม ให้กลายมาเป็นลาวโซ่งในประเทศไทย

การกวาดต้อนคนไตจากเวียดนาม ดำเนินมาหลายระลอก ก่อนการยกเลิกระบบไพร่ในปลายศตวรรษที่ 19 พวกเขาถูกจำกัดพื้นที่อยู่ในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชบุรี แต่หลังจากเลิกระบบไพร่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาแล้ว พวกเขาจึงย้ายไปหาแหล่งทำกินใหม่ ไล่ขึ้นไปตั้งแต่นครปฐม สุพรรณบุรี จนถึงนครสวรรค์ พิษณุโลก และสุโขทัย ทั้งยังมีกลุ่มหนึ่งที่ย้ายไปอยู่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ชาวไตดำจากเวียดนามที่กลายมาเป็นลาวโซ่งในไทยไม่ได้มาตัวเปล่า พวกเขานำแบบแผนการนับญาติ ระบบความเชื่อเรื่องผี-ขวัญ-แถน พิธีกรรมตามความเชื่อ ภาษาพูด ภาษาเขียน วรรณคดี และศิลปะวิทยาการต่างๆ ติดตัวมาด้วย ยกเว้นเพียงระบอบการเมืองการปกครองที่เมื่อมาอยู่ใต้อำนาจของรัฐสยาม พวกเขาก็ต้องยกเลิกไป ชาวไตเหล่านี้จะไม่ได้เป็น ‘ชนที่สูง’ ในความหมายของเจมส์ สก๊อตต์อย่างแท้จริง หากแต่การที่พวกเขาสร้างรัฐขนาดย่อมขึ้นในหุบเขา โดยส่วนใหญ่อาศัยเพียงผืนนาขนาดเล็กเพื่อทำการเกษตรบนพื้นราบ และไม่มีเอกภาพในการก่อตัวเป็นชุมชนทางการเมือง ขนาดเกินไปกว่าหุบเขาของแต่ละเมือง พวกเขาจึงไม่สามารถต้านอำนาจรัฐขนาดใหญ่อย่างสยามได้ และกลายเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกกวาดต้อนมา

ในการเดินทางไปเยี่ยมเยือนถิ่นลาวโซ่งในจังหวัดพิษณุโลกเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสได้พบผู้รู้ด้านพิธีกรรมความเชื่อหลายคนด้วยกัน ที่น่าทึ่งคือ ผู้รู้เหล่านี้ส่วนใหญ่อายุน้อยกว่าที่ผมเคยคาดไว้ เป็นคนวัยเพียง 30 40 และ 50 ปี ที่เพิ่งเริ่มเป็นผู้ประกอบพิธีในชุมชนชาวไต นี่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมที่คนเหล่านี้ยังคงยึดมั่นไว้ นอกจากนั้น ผมยังมีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์ในพิธีศพของชาวโซ่งครอบครัวหนึ่ง จึงได้เห็นว่ายังมีการจัดพิธี ‘ส่งผี’ อันเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งของพิธีศพชาวไตดำหรือลาวโซ่ง

โดยทั่วไปหลังจากมีผู้ตาย ชาวไตดำจะนำศพที่พวกเขาเรียกว่า ‘ขอน’ กลับมาที่บ้าน อาบน้ำศพแล้วแต่งตัวศพอย่างดีด้วยเสื้อผ้าแบบไตดำ จากนั้นพิธีสำคัญคือการตระเตรียมข้าวของต่างๆ เพื่อไปสร้าง ‘เรือนผี’ ให้ที่ ‘ป่าแฮว’ หรือป่าช้าในภาษาไทย ข้าวของเหล่านี้นอกจากแสดงฐานะของผู้ตายแล้ว ยังต้องมีเครื่องใช้สำหรับให้ผีนำไปใช้เมื่อไปอยู่ที่ ‘ด้ำดอย’ บน ‘เมืองฟ้า’

ในอดีตก่อนนำศพไปป่าช้า พวกเขาจะต้องทำพิธีอ่านหนังสือที่สำคัญสองเล่ม เล่มหนึ่งคือ ‘ความโตเมือง’ ซึ่งเป็นประวัติความเป็นมาของคนไต และหนังสือ ‘สารส่ง’ หรือที่บางแห่งเรียกว่าหนังสือ ‘บอกทาง’ เพื่อส่งผีไปเมืองฟ้า

อุษาคเนย์พลัดถิ่น

จากนั้นพวกเขาจะนำศพไปป่าช้าดั้งเดิม มีการเผาที่ป่าช้าแล้วเก็บกระดูกเพื่อฝังที่ป่าช้าแล้วสร้างเรือนผีคร่อมกระดูกที่เก็บในไห ประดับประดาด้วยเครื่องเคราต่างๆ รวมทั้งเอาข้าวของให้ผู้ตายนำไปใช้ต่อทิ้งไว้ด้วย จากนั้นเมื่อลูกหลานกลับมาบ้าน พวกเขาจะนัดวันมาอีกครั้งหรืออาจจะในวันรุ่งขึ้น เพื่อจัดพิธีเรียกผีกลับมาเรือน พร้อมทั้งพิธีบำรุงขวัญให้ครอบครัวผู้ตาย พิธีกรรมดังกล่าวมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างทั้งในเวียดนามเอง ส่วนการอ่านหนังสือความโตเมือง ปัจจุบันแทบจะไม่มีใครอ่านในวันทำพิธีศพกันแล้ว ทั้งในไทยและเวียดนาม แต่ที่ยังต้องมีการอ่านกันอยู่คือคำบอกทางส่งผีไปเมืองฟ้า

คำบอกทางส่งผีไปเมืองฟ้าในเวียดนามเท่าที่ผมเคยเจอ มักจะเริ่มจากแต่ละเรือนของผู้ตาย แล้วนำทางผีขวัญผู้ตายไปยังลำน้ำสำคัญของเมืองผู้ตาย จากนั้นก็ผ่านหมู่บ้านต่างๆ มากมาย แล้วล่องไปหรือข้ามเขา ข้ามหมู่บ้าน ข้ามเมืองมากมาย ไปจนถึง ‘น้ำแต๊’ หรือแม่น้ำดำ จากนั้นผ่านเมืองสำคัญๆ อย่างเมืองเจียน เมืองจาย แล้วข้ามเขาไปยังเมืองลุง ลงเขาไปเมืองลอ แล้วไปยัง ‘น้ำตกตาดฟีไบ๊’ ชื่อน้ำตกหนึ่งในจังหวัดเอียนบ๋าย ใกล้บริเวณที่แม่น้ำดำบรรจบกับแม่น้ำแดง ณ จุดนั้นนับว่าเป็นบันไดขึ้นเมืองฟ้า แล้วจึงข้ามแม่น้ำบนฟ้าไปยังเมืองแถน ไปยัง “ด้ำดอย” เส้นทางเหล่านี้ล้วนเป็นเส้นทางผ่านเมืองและแม่น้ำต่างๆ ที่มีอยู่จริงทั้งสิ้น หลายที่เป็นที่ที่ผมเคยไปเยือนมาแล้วแทบทั้งนั้น

สำหรับชาวลาวโซ่งในประเทศไทย เท่าที่ผมเคยศึกษาคำบอกทางผีจากถิ่นต่างๆ เส้นทางการส่งผีแต่ละถิ่นต่างกันที่ว่าพวกเขาไปอยู่ตรงไหนในประเทศไทย จากนั้นพวกเขาจะเดินไปบนเส้นทางเดียวกันคือไปยังสระบุรี ข้ามป่าดงพญาไฟ ไปโคราช หนองบัวลำพู ข้ามแม่น้ำโขง ผ่านบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) จากนั้นก็เดินทางเลียบแม่น้ำดำ แล้วก็เข้าสู่เส้นทางเดียวกันกับที่ชาวไตดำในเวียดนามนำทางผีขึ้นเมืองฟ้า

ในพิธีกรรมที่ผมเพิ่งได้ไปสังเกตการณ์ที่บางระกำ พิษณุโลก ผมมีโอกาสได้นั่งฟังและบันทึกวิดีโอระหว่าง ‘หมอเขย’ ผู้ประกอบพิธีศพของลาวโซ่งอ่านเอกสารคำบอกทางอย่างใกล้ชิดด้วยความระทึกใจ ผมใจจดใจจ่อฟังว่าเนื้อหาคำบอกทางจะเป็นอย่างไร จะต่างกับที่ผมเคยศึกษามาหรือไม่ พอเริ่ม หมอเขยอ่านคำบอกทางที่บันทึกด้วยอักษรไทยบ้านเรา แต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไตดำแบบที่ผมคุ้นเคยดีจากที่เคยศึกษามาในประเทศเวียดนาม

หมออ่านชัดถ้อยชัดคำต่อหน้าข้าวของที่กำลังจะนำไปจัดแต่งเรือนผี และต่อหน้าญาติสนิทของผู้ตายที่นั่งล้อมวงทั้งฟังคำอ่านบอกทางและแสดงโดยนัยว่าร่วมเดินทางทางจิตวิญญาณเป็นเพื่อนไปส่งผู้ตายจนถึงเมืองฟ้า หมอเขยคนนี้เริ่มเช่นเดียวกับธรรมเนียมการบอกทางของชาวไตดำทั่วๆ ไป จากการบอกกล่าวผู้ตายว่า ผู้ตายได้เจ็บป่วย ไปรักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย จนกระทั่งบัดนี้ผู้ตายตายแล้ว ขอให้รับรู้เข้าใจไว้ แล้วจึงบอกว่าพวกญาติๆ จะพาไปส่งยังเมืองของคนตาย จากนั้นทุกคนก็เดินทางไปด้วยกัน

อุษาคเนย์พลัดถิ่น

เส้นทางที่หมอใช้คือ จากบางระกำ ไปน้ำยม น้ำน่าน น้ำมูล น้ำชี หนองบัวลำพู แล้วไปลาว ผ่านบ้านต่างๆ เมืองต่างๆ ที่สำคัญคือนาน้อยอ้อยหนูในเมืองแถง ไปแม่น้ำดำ ผ่านบ้านต่างๆ เมืองต่างๆ เขาต่างๆ ที่มีชื่อซึ่งบางแห่งผมไม่คุ้นเคย บางแห่งผมคุ้นเคย แล้วไปยังเมืองเจียน เมืองจาย ท่าบู๋ ข้ามเขาไปเมืองลุง เมืองลอ ไปขึ้นเมืองลอ ไปยังน้ำตกตาดฟีไบ๊ จากนั้นเมื่อถึงริมน้ำที่จะข้ามไปเมืองผีจริงๆ แล้ว พวกกลุ่มที่ไปส่งก็จะรีบสั่งเสียผู้ตาย แล้วหมอก็นำทางพวกเขาเดินทางกลับมายังบ้านเรือนพวกเขาเอง หนทางกลับเป็นทางลัด กลับอย่างรวดเร็วเนื่องจากไม่อยากให้ขวัญคนเป็นไปตกหล่นหรือตามผู้ตายไป เมื่อหมออ่านจบ

ผมตื่นเต้นที่ได้รู้อย่างชัดเจนว่า พิธีนี้ยังมีปฏิบัติกันอยู่อย่างแน่นอน และนี่แสดงว่าสำนึกต่อบ้านเกิดของชาวลาวโซ่งยังมีอยู่อย่างเข้มข้นเช่นกัน เส้นทางที่ชาวลาวโซ่งในประเทศไทยส่งผีกลับเมืองฟ้ามีเส้นทางส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศไทย ข้ามไปลาว แล้วข้ามไปเดินทางต่อในเวียดนาม

ในเวียดนาม พวกเขาเดินทางเส้นเดียวกันกับชาวไตดำในเวียดนาม แล้วกลับไปยังจุดๆ เดียวกันเพื่อขึ้นเมืองฟ้า ผมสันนิษฐานว่า เส้นทางที่พวกเขาส่งผีกลับไป น่าจะเป็นเส้นทางที่พวกเขาเดินย้อนรอยตามทางที่พวกเขาถูกกวาดต้อนมา ไม่ว่าพวกเขาจะยังมีความทรงจำเกี่ยวกับการถูกกวาดต้อนมาว่าอย่างไร อย่างน้อยที่สำคัญที่สุด พวกเขาให้ความสำคัญต่อการกลับไปยังถิ่นฐานเดิมของพวกเขา

ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่า คนอุษาคเนย์จำนวนมากไม่เพียงรู้สึกถึงความแตกต่างของตนเองจากพื้นที่ที่ตนเคยอยู่ หากแต่พวกเขายังระลึกเสมอว่า พวกเขามาจากที่อื่น คนพลัดถิ่นไม่ได้เพิ่งพลัดถิ่นกัน การสร้างสำนึกรักถิ่นฐานใดในปัจจุบันอย่างตายตัวจนกลายเป็นความงมงายว่าที่ที่เราอยู่ปัจจุบันได้รับการปกปักษ์รักษาโดยบรรพบุรุษมายาวนาน จึงเป็นความเข้าใจที่นอกจากจะผิดพลาดแล้ว ยังเป็นความงมงายที่อาจกลายเป็นเชื้อของความเกลียดชังผู้มาใหม่อย่างไร้มนุษยธรรม ในเมื่อเราเองก็อาจจะเคยเป็นผู้มาใหม่ เคยพลัดถิ่นมา บรรพบุรุษของเราเองก็อาจจะเป็นผู้พลัดถิ่น เป็นคนอื่นในดินแดนนี้ ในอดีตอันยาวนานนับร้อยปี จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่เราจะตั้งข้อรังเกียจต่อผู้พลัดถิ่นจำนวนมากที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในดินแดนที่เราคิดว่าเป็นของเราในปัจจุบัน

เรื่องราวการพลัดถิ่นและสำนึกถึงการเป็นผู้พลัดถิ่นในระดับจิตวิญญาณของลาวโซ่ง ไม่เพียงช่วยให้เข้าใจชีวิตและจิตวิญญาณของชาวโซ่ง หากแต่ยังช่วยให้เราทำความเข้าใจลักษณะทั่วไปของความพลัดถิ่นในอุษาคเนย์ หรือกล่าวได้ว่า สังคมวัฒนธรรมอุษาคเนย์นั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากการพลัดถิ่นนั่นเอง ความแตกต่างทางวัฒนธรรมจึงเป็นลักษณะทั่วไปขั้นพื้นฐานของท้องถิ่นต่างๆ ในอุษาคเนย์ การที่ใครจะอ้างว่าเป็นเจ้าของถิ่นฐานใดจึงนับได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริงและมีส่วนกีดกันการมีส่วนร่วมในฐานะที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นเดียวกับพวกเรา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save