fbpx
มองสมรภูมิอาเซียนและอินโด-แปซิฟิก 2021

มองสมรภูมิอาเซียนและอินโด-แปซิฟิก 2021

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

หากพูดถึงหนึ่งในสมรภูมิการเมืองระหว่างประเทศที่ร้อนแรงและแหลมคมที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น ‘อินโด-แปซิฟิก’ ทั้งด้วยขนาดประชากร เศรษฐกิจ รวมไปถึงทำเลทางภูมิศาสตร์ที่คาบเกี่ยวผู้เล่นหลักในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้อินโด-แปซิฟิกคล้ายจะแปรสภาพเป็นกระดานหมากรุกระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีน ยังมินับมหาอำนาจขนาดกลางที่แวะเวียนกันเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้

แน่นอนว่า ในสมรภูมินี้ ‘อาเซียน’ คือหนึ่งในผู้เล่นสำคัญ – แม้จะไม่สำคัญที่สุด แต่ก็เป็นตัวแปรที่สามารถเปลี่ยนเกมและดุลอำนาจได้ คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาจึงหนีไม่พ้นว่า อาเซียนจะเดินเกมอย่างไรเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของอาเซียนเอง

นอกจากโจทย์ใหญ่ภายนอก อาเซียนยังต้องเผชิญกับโจทย์ที่เกิดขึ้นภายใน ทั้งปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ หรือข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ว่ายังสมเหตุสมผลอยู่หรือไม่ในโลกยุคปัจจุบันนี้ และแม้กระแสโรคระบาดอาจจะทำให้โจทย์การเมืองโลกดูแผ่วลงชั่วคราว แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมื่อคลื่นโรคระบาดซาลง การเมืองในภูมิภาคนี้ย่อมกลับมาฉายแสงในเวทีการเมืองโลกอีกครั้ง

101 ชวนทบทวนและมองสมรภูมิอาเซียนและอินโด-แปซิฟิกในปี 2021 ที่สถานการณ์การเมืองทั้งในและนอกภูมิภาคแหลมคมที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา

 

5 ทศวรรษอาเซียน กับสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21

 

ในบทความ ‘53 ปีอาเซียน: เกิดจากสงครามเย็น 1.0 เผชิญหน้าสงครามเย็น 2.0’ ปิติ ศรีแสงนาม เขียนถึงบริบทความเป็นมา และฉายภาพพลวัตในอาเซียนไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะ ‘ภาวะสงครามเย็น 2.0’ ที่เกิดขึ้นควบคู่กับการถดถอยเชิงอำนาจของสหรัฐฯ และการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน

ปิติอธิบายว่า สงครามเย็น 2.0 ที่มีการประกาศแบ่งโลกออกเป็น 2 ขั้ว คือสหรัฐฯ และจีน จะเริ่มทวีความรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามการค้าและการแตกขั้วการผลิตในระดับโลก (decoupling) ที่มาจากนโยบายของสหรัฐฯ ในยุคอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ส่วนจีนก็ขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และขยายอิทธิพลผ่านโครงการ ‘ความริเริ่มแถบและเส้นทาง’ (BRI) ทำให้เขาสรุปว่า “กฎ กติกา ระเบียบการค้าโลก (โดยเฉพาะหลังโควิด) และระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังปี 2020”

ภาพความขัดแย้งดูจะยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อตลอดเดือนกรกฎาคม 2020 เราเห็นเอกอัครราชทูตอเมริกันใน 8 ประเทศอาเซียน เขียนจดหมายเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ของประเทศที่ตนเองประจำอยู่ โดยในไทย เอกอัครราชทูตอเมริกัน George DeSombre ได้เขียนจดหมายที่มีใจความสำคัญประณามการดำเนินการของจีนในทะเลจีนใต้ อีกทั้งยังกล่าวถึงวาทกรรมของการวางตำแหน่งสหรัฐฯ และพันธมิตรให้เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มโลกเสรี ซึ่งเป็นวาทกรรมที่คล้ายกับในช่วงสงครามเย็น

การประกาศสงครามที่ชัดเจนอีกครั้งเกิดขึ้น เมื่อสหรัฐฯ สั่งปิดสถานกงสุลของจีนในเมือง Houston พร้อมกับปาฐกถาของ Michael Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เป็นการประกาศท่าทีแข็งกร้าวของสหรัฐฯ ต่อจีน

ทั้งหมดนี้ทำให้ปิติสรุปว่า “สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับจีนแล้วอย่างแน่นอน อีกทั้งศัพท์แสงที่ใช้ก็ไม่ต่างจากสมัยสงครามเย็นสักเท่าไร ที่สำคัญคือ อาเซียนเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคในทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ต้องการอย่างยิ่งที่จะสร้างพันธมิตร เพื่อปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน”

 

ปัญหาข้อพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้

 

หนึ่งโจทย์ใหญ่ที่คาราคาซังมาเนิ่นนานในอาเซียนคือ เรื่องข้อพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้ ในบทความ ‘เมื่อความปั่นป่วนในทะเลจีนใต้กระทบไกลถึงสหรัฐอเมริกา’ โดย ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์ ได้อธิบายที่มาที่ไป ความสำคัญของทะเลจีนใต้ รวมถึงฉายภาพความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่เริ่มกลับมาร้อนแรงอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Nimitz และเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ronald Reagan ดำเนินการฝึกร่วมพร้อมกองเรือโจมตี (Strike Force) และเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-52 ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณท้าทายอำนาจของรัฐบาลจีนเหนือพื้นที่พิพาทอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา พร้อมทั้งเขียนถึงการเปลี่ยนแปลงด้านดุลกำลังกองทัพเรือของจีน ที่เหมือนเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้บรรดาเหล่าประเทศคู่พิพาทต้องยอมให้จีนอ้างสิทธิได้ตามอำเภอใจ

“ในปี 2015 กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริการะบุในรายงานเรื่อง The Asia-Pacific Maritime Security Strategy ว่า จีนมีเรือรบแบบต่างๆ ประจำการอยู่มากถึง 303 ลำ ส่งผลให้กองทัพเรือจีนสามารถแสดงอำนาจ ป้องปรามการท้าทายจีนในพื้นที่พิพาททั้งในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ภาวะอสมมาตรนี้ช่วยให้จีนสามารถสร้างเกาะเทียมบนทะเลจีนใต้ได้โดยไม่ต้องกังวลถึงแรงเสียดทานจากประเทศผู้อ้างสิทธิในภูมิภาคอาเซียน

“ขณะเดียวกัน อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ประกอบกับความขัดแย้งกันเองระหว่างชาติขนาดเล็กในประเด็นทะเลจีนใต้ ทำให้องค์กรความร่วมมืออย่างอาเซียนไม่สามารถต่อกรกับจีนอย่างมีเอกภาพสำเร็จ ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายชาติเลือกที่อยู่ข้างจีนหรือตักตวงผลประโยชน์จากความขัดแย้งผ่านการวางตัวเป็นกลางในประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ เช่น กัมพูชา ลาว ไทย สิงคโปร์ และไม่ว่าสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศจะหักเหไปในทิศทางไหน ทะเลจีนใต้ก็กำลังจะกลายเป็นสนามประลองที่ชาติอาเซียนทุกชาติมีส่วนได้เสีย [และ] ไม่อาจวางเฉย”

ทั้งนี้ ณัฐรินทร์ชี้ว่า แม้สหรัฐฯ จะดูเป็นประเทศเดียวที่สามารถทำให้ประเทศเล็กสามารถดำเนินกลยุทธ์ตอบโต้จีนได้บ้าง และมีการแสดงออกหลายอย่างที่เหมือนเป็นการปฏิเสธอำนาจของจีนเพื่อผลประโยชน์ของมนุษยชาติ แต่ถ้าพิจารณาดูจริงๆ แล้ว การกระทำของสหรัฐฯ เหมือนจะเป็นไปเพื่อปกป้องความมั่นคงของตนเอง เพราะบริบทในทะเลจีนใต้กระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ จนอาจถึงขั้นบั่นทอนสถานะความเป็นหนึ่งในเอเชีย

เมื่อเป็นเช่นนี้ อาเซียนจึงตกอยู่ในที่นั่งลำบากไม่น้อย เพราะแต่ละประเทศสมาชิกต่างมีจุดยืนต่อจีนไม่เหมือนกัน และมองผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้ไม่เหมือนกัน อีกทั้งณัฐรินทร์ยังชี้ประเด็นที่น่าสนใจว่า คนอาจจะมองว่าทะเลจีนใต้เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกกับอาเซียนกับประเทศภายนอกอย่างจีนกับสหรัฐฯ แต่จริงๆ แล้ว ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่พิพาทของสมาชิกอาเซียนกันเองด้วย เพราะแต่ละประเทศอยากจะครอบครองพื้นที่ตรงนี้เพราะเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ

ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งข้อสรุปของณัฐรินทร์ว่า สำหรับอาเซียนแล้ว ทะเลจีนใต้เป็น ‘โจทย์ที่ยาก’ และเป็น ‘ภัยคุกคามสำคัญที่ใกล้ตัวเองมากที่สุด’ และแม้อาเซียนจะมีการออก ‘มุมของของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก’ (The ASEAN Outlook on The Indo-Pacific) ในปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนมองว่า เป็นการแสดงจุดยืนของอาเซียน แต่สำหรับณัฐรินทร์ เอกสารดังกล่าวก็ยังเป็นแนวทางปฏิบัติมากกว่าจะเป็นพิธีสารทางกฎหมาย อีกทั้ง AOIP ยังตอกย้ำการมีจุดยืนที่ขาดความหนักแน่นของอาเซียน และแสดงถึงความพยายามในการประนีประนอมระหว่างสองมหาอำนาจเสียมากกว่า

 

อาเซียนกับโจทย์ใหญ่ ‘มหาอำนาจในอินโด-แปซิฟิก’

 

ในบทสัมภาษณ์ ‘อ่านไทย อาเซียน และอินโด-แปซิฟิก’ ดุลยภาค ปรีชารัชช อธิบายว่า เมื่อพูดถึงอินโด-แปซิฟิก เรากำลังนึกถึง 2 องค์ประกอบหลักคือ มหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ซึ่งแสดงถึงโลกยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจที่ขยายใหญ่ออกไปจากเดิม แต่ถ้ามองในทางขอบเขตทางภูมิศาสตร์หรือรูปสัณฐาน นี่เป็นเรื่องที่นักอาณาบริเวณศึกษายังระบุขอบเขตได้ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่แน่นอนและชัดเจนคือ มี 4 มหาอำนาจที่รับความคิดนี้ คือสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ที่มารวมตัวกันเป็นเหลี่ยมยุทธศาสตร์ (Quad) เพื่อสร้างสี่เหลี่ยมคลุมอินโด-แปซิฟิก

ทั้งหมดนี้ทำให้ดุลยภาคเปรียบเทียบว่า อาเซียนเป็นเหมือนกระดานหมากรุกที่ทั้งมหาอำนาจอย่างจีน (BRI) และสหรัฐฯ (อินโด-แปซิฟิก) เข้ามาแย่งชิงอำนาจกัน รวมถึงมหาอำนาจขนาดกลางอย่างอินเดียและญี่ปุ่น ก็เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ด้วย

นอกจากอินเดียและญี่ปุ่นแล้ว อีกความเห็นที่น่าสนใจมาจากณัฐรินทร์ที่มองว่า อีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจขนาดกลางที่เริ่มมีบทบาทและเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องความมั่นคงคือออสเตรเลีย ที่แม้จะเป็นประเทศนอกภูมิภาค แต่กลับมีบทบาทในการชี้นำความเป็นไปของอาเซียนได้ โดยอาศัยช่องโหว่ที่สหรัฐฯ เริ่มไม่มั่นใจในระบบพันธมิตรที่ตนมีกับญี่ปุ่นและอินเดีย และความอ่อนแอของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประกอบกับจุดแข็งคือความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ เสนอแผนยุทธศาสตร์ที่จะคานอำนาจกับจีน รวมถึงเชื้อเชิญให้สหรัฐฯ เข้ามาร่วมลงทุนในประเทศของตนเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ สำหรับดุลยภาค โจทย์ที่โยนมาให้อาเซียนจึงเป็นเรื่องการระบุและกำหนดตัวตนในอาณาบริเวณใหม่อย่างอินโด-แปซิฟิก กล่าวคือ ขอบเขตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสุดเท่าที่เป็นอยู่ คือสุดอยู่แค่ฟิลิปปินส์ ติมอร์-เลสเต หรือขอบตะวันตกที่เลยพ้นเมียนมาไปเล็กน้อยหรือไม่ หรือเราจำเป็นต้องระบุขอบเขตภูมิศาสตร์ของภูมิภาคใหม่

อีกหนึ่งคำถามสำคัญคือ เมื่อสหรัฐฯ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของ โจ ไบเดน แล้ว ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกจะเป็นอย่างไรต่อไป?

ในบทความ ‘ฉากทัศน์นโยบายต่างประเทศของไบเดน : เมื่ออเมริกาต้องนำโลก’ จิตติภัทร พูนขำ เริ่มต้นอธิบายว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ ในช่วงอดีตประธานาธิบดีทรัมป์คือ การให้ความสำคัญกับการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจเป็นโจทย์ความมั่นคงอันดับแรก แทนที่การต่อต้านการก่อการร้าย โดยมียุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเป็นแกนหลัก เพื่อธำรงรักษาความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ เอาไว้ และป้องกันไม่ให้มหาอำนาจใดก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจนำของโลกแทนที่สหรัฐฯ ได้

ถ้าพูดให้ชัดเจนกว่านั้น ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของทรัมป์มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ทางการทหาร และสกัดกั้นการผงาดขึ้นมาของจีนเป็นสำคัญ ผ่านกลไกเชิงสถาบันแบบไม่เป็นทางการ เช่น Quad แต่เมื่อเป็นยุคของไบเดน แม้จะมีความเป็นไปได้ที่เขาอาจจะไม่ใช้ชื่ออินโด-แปซิฟิกเหมือนทรัมป์ แต่สาระสำคัญคือ การธำรงรักษาความเป็นมหาอำนาจนำของสหรัฐฯ ในภูมิภาคจะยังคงอยู่ต่อไป และจะเป็นความต่อเนื่องของเป้าหมายหลักของสหรัฐฯ มาตั้งแต่อย่างน้อยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น จิตติภัทรยกตัวอย่างบทความของไบเดนใน Foreign Affiars ว่า:

“ในช่วงทรัมป์ สหรัฐฯ เลือกที่จะไม่เล่นบทบาทนำในการจัดระเบียบโลก ซึ่งนำมาสู่เส้นทางอันตรายสองเส้นทาง คือ เส้นทางหนึ่งนั้นจะมีมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งสามารถก้าวขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯ และกำหนดกติกาที่ไม่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์และคุณค่าของสหรัฐฯ อีกเส้นทางหนึ่งคือการไม่มีมหาอำนาจใดนำโลกเลย ซึ่งจะก่อให้เกิดความโกลาหลระหว่างประเทศ ทั้งสองทางเลือกนั้น ‘ไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐฯ เลย’”

ดังนั้น เราจึงอาจบอกได้ว่า สหรัฐฯ ยังจะดำเนินนโยบายที่มุ่งจำกัดนโยบายต่างประเทศและกลาโหมที่แข็งกร้าวของจีน โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ แต่ความแตกต่างของไบเดนกับทรัมป์คือ ไบเดนน่าจะกลับไปมุ่งเน้นที่ระบบพันธมิตรและหุ้นส่วนที่เคารพคุณค่าแบบประชาธิปไตยร่วมกัน

 

หากใครสักคนมีความหวังว่า สถานการณ์ในปี 2021 จะดีขึ้นกว่าเก่า ความหวังนั้นคงถูกพังทลายไปตั้งแต่ยังไม่พ้นไตรมาสแรกของปีดี ทั้งโรคระบาดที่ยังคร่าชีวิตผู้คนไม่หยุดหย่อน เหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ หรือล่าสุดคือรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งเหมือนจะยิ่งตอกย้ำว่า สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในปี 2021 น่าจะร้อนและแหลมคมไม่แพ้ปีที่ผ่านๆ มา

ในกรณีของอาเซียน นอกจากจะต้องเผชิญกับทั้งโจทย์เก่าที่ยังคาราคาซัง ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง หรือเรื่องเศรษฐกิจอย่างการลงนามในข้อตกลง RCEP ที่ตกค้างมาจากปีที่แล้ว ยังอาจจะต้องเผชิญกับโจทย์ใหม่อย่างการเมืองเรื่องวัคซีน ที่แต่ละมหาอำนาจใช้การเมืองเรื่องสุขภาพเข้ามาขับเน้นให้เกมการแข่งขันในภูมิภาคนี้ดุเดือดมากขึ้น

สมรภูมิอาเซียนและอินโด-แปซิฟิกในปี 2021 จึงเป็นอะไรที่น่าจับตามองด้วยประการทั้งปวง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save