fbpx
อาเซียนในทศวรรษใหม่ : ความสำเร็จที่ผ่านมา และความท้าทายก้าวต่อไป

อาเซียนในทศวรรษใหม่ : ความสำเร็จที่ผ่านมา และความท้าทายก้าวต่อไป

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

สถาบันพระปกเกล้า ภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ทันทีที่ย่างเข้าสู่วันที่ 1 มกราคม 2020 ตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยได้สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ ทิ้งไว้ทั้งความสำเร็จ และข้อตกลงที่ต้องผลักดันให้บรรลุอีกหลายอย่าง รวมถึงความท้าทายอีกหลายประการที่มาพร้อมกับกระแสความผันผวนของโลกยุคปัจจุบัน

ย้อนกลับไปราว 5 ปีก่อน กระแสของอาเซียนอาจจะค่อนข้างเจือจาง เพราะแม้เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนตั้งแต่ปี 2015 แต่น้อยคนนักที่จะสนใจหรือตระหนักถึงความเป็นอาเซียนอย่างจริงจัง ส่วนบนเวทีระหว่างประเทศ อาเซียนก็อาจจะยังไม่ใช่ผู้เล่นที่มีบทบาทมากนัก นอกจากนี้ ‘วิถีแบบอาเซียน’ ที่ให้ความสำคัญกับอธิปไตยของชาติและการไม่แทรกแซงกิจการภายในยังถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามอย่างหนัก ในยุคที่การรวมกันเป็นองค์การเหนือชาติ (supranational) แบบสหภาพยุโรป (EU) ถือเป็นจุดสูงสุดของการรวมตัวกันของรัฐชาติ

อย่างไรก็ดี กระแสดังกล่าวพลิกกลับอย่างมากในช่วงปีสองปีให้หลังด้วยสาเหตุหลายประการ ทั้งในและนอกภูมิภาค กล่าวคือ โลกเริ่มพลิกกลับ สหภาพยุโรปถึงคราวปั่นป่วนเมื่อหนึ่งในเสาหลักอย่างสหราชอาณาจักรทำประชามติขอแยกตัว ประเทศที่เคยสมาทานและเป็นต้นแบบระบบเสรีนิยมอย่างสหรัฐฯ กลับเอียงขวามากขึ้น และเปิดฉากทำสงครามการค้ากับหลายประเทศ ในขณะที่จีน ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งมหาอำนาจอย่างสมน้ำสมเนื้อกัน สถานการณ์เช่นนี้ทำให้อาเซียนเริ่มกลับมาเฉิดฉายในเวทีโลกอีกครั้ง ทั้งด้วยตำแหน่งที่ตั้งในจุดกึ่งกลางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ซึ่งเป็นที่ตั้งที่สำคัญอย่างยิ่งในทางภูมิรัฐศาสตร์ ขนาดเศรษฐกิจและประชากรขนาดใหญ่ และความหลากหลายของชาติสมาชิก

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ชุดโครงการจับตาอาเซียน (ASEAN Watch) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎร และสถาบันพระปกเกล้า ได้จัดสัมมนาสาธารณะในหัวข้อ ‘ไทยกับการเป็นประธานอาเซียน: ไทยและอาเซียนได้อะไร? จะไปอย่างไรต่อ?’ เพื่อมุ่งเผยแพร่ความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียน ผลของการประชุมอาเซียนในปี 2019 และทิศทางในอนาคต

101 ชวนคุณอ่านเก็บความบางส่วนจากงานสัมมนาดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจว่า ไทยได้อะไรจากการเป็นประธานอาเซียน เราและอาเซียนจะก้าวต่อไปอย่างไร และอาเซียนจะวางตัวอย่างไรในการแข่งขันระดับโลกนี้

 

ย้อนมอง 5 ทศวรรษอาเซียน – ดร.วิชาวัฒน์ อิศรภักดี

 

ย้อนมอง 5 ทศวรรษอาเซียน - ดร.วิชาวัฒน์ อิศรภักดี

 

“ไทยมีความเกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งอาเซียนมาตั้งแต่ต้น โดยอาเซียนถือเป็นเสาหลักสำคัญของนโยบายต่างประเทศไทยมาโดยตลอด เรามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้อาเซียนก้าวหน้า เป็นปึกแผ่น ได้รับการยอมรับและความชื่นชม ในทางกลับกัน อาเซียนก็ช่วยให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเสถียรภาพ สันติภาพ และความมั่นคง ที่เป็นประโยชน์ต่อไทยเอง รวมทั้งช่วยให้เรามีน้ำหนักและพลังการต่อรองยิ่งขึ้นในเวทีโลก”

ดร.วิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวนำถึงบทบาทของไทยกับอาเซียน โดยย้อนกลับไปราว 53 ปีก่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย (ดร.ถนัด คอมันตร์) สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดและก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN)

นับจากวันนั้น อาเซียนค่อยๆ เพิ่มจำนวนสมาชิกขึ้น โดยแต่ละประเทศได้มาร่วมมือกันเพื่อสร้างภูมิภาคที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความไพบูลย์ จนกระทั่งเกิดเป็นการก่อตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2015 และเกิด 3 เสาหลักที่เป็นก้าวสำคัญของอาเซียน ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง (ASC) ประชาคมเศรษฐกิจ (AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASCC)

“ตลอดห้าทศวรรษที่ผ่านมา GDP รวมของอาเซียนโตขึ้นถึง 33 เท่า มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมี GDP รวมมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีประชากรกว่า 655 ล้านคน ที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม” วิชาวัฒน์ฉายภาพรวม และกล่าวเสริมว่า ความหลากหลายนี้ไม่ใช่อุปสรรคหรือปัญหา แต่คือจุดแข็งประการหนึ่งของอาเซียน และอาเซียนยังมีปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับภาคีภายนอก โดยสานความสัมพันธ์ผ่านทางโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคเป็นหลัก

วิชาวัฒน์สรุปว่า ในฐานะประธานอาเซียนปี 2019 ไทยให้ความสำคัญกับการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต ภายใต้แนวคิดหลัก ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน’ (Advancing Partnership for Sustainability)

“แนวคิดนี้มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่การเมืองระหว่างประเทศมีความไม่แน่นอน อีกทั้ง การแข่งขันทางการค้าในระดับภูมิภาคและระดับโลกดูจะยิ่งทวีความรุนแรง ซ้ำยังมีความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสมาชิกอาเซียนโดยตรง” วิชาวัฒน์อธิบายที่มาของแนวคิดที่เน้นเรื่องความยั่งยืน ก่อนจะต่อยอดไปยังผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของไทย และสิ่งที่ไทยได้รับจากการเป็นประธานอาเซียน

ประการแรก ความมั่นคงที่ยั่งยืนในภูมิภาค โดยผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสารว่าด้วยทัศนะอาเซียนว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก (ASEAN outlook on Indo-Pacific – AOIP) ซึ่งจะช่วยลดการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ และเสริมสร้างความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย นอกจากนี้ วิชาวัฒน์เสริมว่า ไทยยังได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน เพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนอาเซียนจะปลอดภัยจากอาชญากรรมข้ามชาติด้วย

ประการที่สอง อาเซียนภายใต้การนำของไทย ได้ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัตรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นจากความสำเร็จของไทยในการผลักดันการสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อันจะนำไปสู่การลงนามในปี 2020 ที่เวียดนาม

“เรายังได้ผลักดันการเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงริเริ่มจัดตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) ในอาเซียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และส่งเสริมการค้า รวมถึงการลงทุนในไทยและภูมิภาค”

“ไทยยังได้ผลักดันความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับความเชื่อมโยงอื่นๆ ในภูมิภาค หรือที่เราเรียกกันว่า ‘Connecting the Connectivity’ ต้องบอกก่อนว่า แต่ละประเทศในเอเชียก็มียุทธศาสตร์ในการสร้างความเชื่อมโยงของตนเอง ไทยจึงพยายามจะนำยุทธศาสตร์เหล่านี้มาเชื่อมโยงให้เป็นแบบแผนมากขึ้น” วิชาวัฒน์กล่าว พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า ไทยได้ประกาศโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพของอาเซียนจำนวน 19 โครงการ ซึ่งจะส่งเสริมการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

ประการที่สาม อาเซียนโดยการนำของไทย มุ่งมั่นในการเสริมสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนของมนุษย์ กล่าวคือ เน้นปกป้องและส่งเสริมสิทธิเด็ก รวมถึงเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย (aging society)

ประเด็นที่สี่ คือเรื่องสิ่งแวดล้อม วิชาวัฒน์เท้าความว่า ไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศติดอันดับประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด ในการประชุมที่ผ่านมา ผู้นำอาเซียนจึงได้รับรองปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและภาคีภายนอก เพื่อแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ

“ความพยายามดังกล่าวเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดูได้จากการที่ไทย ซึ่งเคยอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล เลื่อนลงมาอยู่ที่อันดับ 10 และผมยังเชื่อมั่นว่า บทบาทนำของไทยในเรื่องนี้จะช่วยสร้างพลวัตร ให้เกิดการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป”

และ ประเด็นสุดท้าย คือความพยายามของไทยในการผลักดันให้ประเด็นยุทธศาสตร์ต่างๆ เกิดผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ผ่านการดำเนินงานของศูนย์อาเซียน 7 ศูนย์ ที่ได้เปิดตัวหรือยกระดับในปีนี้ ซึ่งวิชาวัฒน์อธิบายว่า ศูนย์อาเซียนทั้ง 7 ศูนย์ เป็น “สิ่งที่ไทยมอบให้กับอาเซียนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต”

“ประเด็นของศูนย์อาเซียนทั้ง 7 ศูนย์ จะเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบมากเป็นพิเศษต่อประชาชน เช่น การเข้าสู่สังคมสูงวัย ความมั่นคงทางไซเบอร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแผนงานการส่งเสริมข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 เพื่อสร้างความยั่งยืนให้อาเซียนในทุกๆ มิติ”

วิชาวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่า “นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 เป็นต้นไป เวียดนามจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ซึ่งไทยย่อมหวังให้เวียดนามประสบความสำเร็จ และเราพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะความสำเร็จของเวียดนาม คือความสำเร็จของอาเซียน และของไทยด้วยเช่นกัน”

 

มหาอำนาจในอินโด-แปซิฟิก: โจทย์ใหญ่ของไทยและอาเซียน 

 

มหาอำนาจในอินโด-แปซิฟิก: โจทย์ใหญ่ของไทยและอาเซียน 

 

หากจะให้กล่าวถึงการเมืองโลกในปี 2019 ที่ผ่านมา คงไม่มีคำไหนจะชัดเจนไปกว่า ‘การแข่งขันของสองมหาอำนาจ’ ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่ว

ในการสัมมนาช่วงต่อมาซึ่งเป็นการสัมมนาเรื่อง ‘ไทย อาเซียน และมหาอำนาจในอินโด-แปซิฟิก’ ดร.จิตติภัทร พูนขำ ผู้ดำเนินการสัมมนา ได้เริ่มต้นด้วยการฉายภาพให้เราเห็นว่า ภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ได้กลับมาเป็นโจทย์สำคัญของการเมืองโลก ในห้วงที่สหรัฐฯ กับจีนแข่งขันอย่างดุเดือดในทุกมิติ และหลายรูปแบบ

“ภาพใหญ่ของการเมืองมหาอำนาจจะพัวพันอยู่กับโจทย์ 3 ข้อสำคัญ ข้อแรกคือ การผงาดขึ้นมาของจีน ว่าจะกระทบต่อระเบียบโลกหรือไม่ อย่างไร ข้อที่สองคือ อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ตอนนี้คำว่าอินโด-แปซิฟิก กลายเป็นเทรนด์ใหญ่ไปแล้ว ทุกคนใช้คำนี้แทนเอเชีย-แปซิฟิก ฉะนั้น เราจะละเลยประเด็นนี้ไม่ได้ เพราะอินโด-แปซิฟิกเป็นภาพขยายรวมของสองมหาสมุทร มีมิติของกระแสความคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันของตัวแสดงต่างๆ และมิติด้านโอกาสและความท้าทายทางความมั่นและเศรษฐกิจ รวมถึงบริบทของภูมิรัฐศาสตร์ที่มหาอำนาจแข่งกันด้วย”

“ข้อสุดท้าย ที่เกี่ยวพันกับเราทุกคนคือ ไทยได้อะไรบ้าง มีโอกาสและความท้าทายอะไร แล้วเราจะวางตัวอย่างไรในภูมิภาค ท่ามกลางกระแสการแข่งขันนี้” จิตติภัทรกล่าวสรุป พร้อมกับส่งไม้ต่อให้กับวิทยากรที่ร่วมการสัมมนาต่อไป

 

ระเบียบโลกที่กลับหัวกลับหาง – อุศณา พีรานนท์

 

ระเบียบโลกที่กลับหัวกลับหาง - อุศณา พีรานนท์

 

ถ้าให้สรุปถึงโลกในช่วงที่ผ่านมา อุศณา พีรานนท์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เรียกว่า เป็นโลกที่ ‘กลับตัว 360 องศา’ กล่าวคือ เป็นโลกที่สหรัฐฯ เริ่มสมาทานความเป็นเอกภาพนิยม (unilateralism) ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษี หรือถอนตัวออกจากความตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ ขณะที่จีนกลับเป็นผู้ที่ออกมาปกป้องระบบการค้าเสรี หรือเรื่องพหุภาคีนิยม (multilateralism) แทน

สืบเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไทยจึงต้องให้ความสำคัญต่อการปรับตัวและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และโจทย์ใหญ่ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสร้างความสมดุลระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะกับจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรสำคัญของอาเซียนได้ หลายคนถึงขั้นตั้งคำถามว่า หรือไทยจะต้อง (หรือถูกบังคับให้ต้อง) เลือกข้าง?

“ถ้าให้เลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เราต้องบอกว่าเราเลือกข้างไม่ได้ และการเลือกข้างก็ไม่เกิดประโยชน์กับใครในอาเซียนเลย เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ เราจะจัดการความสัมพันธ์กับสองประเทศนี้อย่างไร ให้เกิดประโยชน์กับอาเซียนให้มากที่สุด”

สำหรับเรื่อง ‘อินโด-แปซิฟิก’ อุศณาอธิบายว่า แต่ละประเทศมีความคิดเกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิกแตกต่างกัน เช่น ญี่ปุ่น ที่มองว่า หัวใจของแนวคิดอินโด-แปซิฟิกคือเรื่องสาธารณูปโภค (infrastructure) และต้องการขยายขอบเขตของภูมิภาคไปถึงทวีปแอฟริกา แต่ถ้าเป็นอินเดีย จะมองว่าหัวใจสำคัญคือการเปิดกว้างรวมทุกคนเข้ามาไว้ด้วยกัน (inclusiveness) ถ้าให้เจาะจงกว่านั้น นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ใช้คำว่า “ไม่เป็นคลับที่มีสมาชิกจำกัด และไม่เป็นยุทธศาสตร์ใดๆ แต่เป็นภูมิภาคตามธรรมชาติ (natural region) ที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้”

ในกรณีของสหรัฐฯ จะแตกต่างกับสองประเทศข้างต้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะสหรัฐฯ พยายามที่จะสกัดกั้น และต่อต้านการผงาดขึ้นมาของจีน แนวคิดอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ในตอนต้น จึงเน้นเรื่องความเป็นอิสระในอำนาจอธิปไตย (sovereignty independence) แต่อาจจะไม่ชัดเจนนัก ต่อมา สหรัฐฯ ถึงหันมาเน้นเรื่องความร่วมมือ โดยกำหนดสาขาความร่วมมือต่างๆ เช่น พลังงาน ความมั่นคง

แต่สิ่งที่น่าจะเป็นสัญลักษณ์ชัดเจนคือ การเปลี่ยนชื่อกองกำลังของสหรัฐฯ ในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก จาก Asia-Pacific Command เป็น Indo-Pacific Command ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีบุคลากรทั้งภาคทหารและพลเรือนเกือบสี่แสนคน ซึ่งแสดงว่า นอกจากมิติทางเศรษฐกิจแล้ว มิติทางความมั่นคงและการทหารก็มีนัยยะสำคัญเช่นเดียวกัน

แม้แต่ละประเทศจะนิยามอินโด-แปซิฟิกแตกต่างกัน แต่ที่ชัดเจนคือ อาเซียนจะเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยง 2 ภูมิภาคผ่านทางกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น กรอบความร่วมมือต่างๆ หรือการประชุม ASEAN Regional Forum (ARF)

อีกความท้าทายที่เกิดขึ้นคือ บางประเทศในภูมิภาค เช่น จีน หรือรัสเซีย รู้สึกว่าตนเองถูกกีดกันออกจากขอบเขตของอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะจีน ซึ่งมองว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านตนเองโดยเฉพาะ จึงเกิดเป็นภาวะน่าอึดอัดใจที่หลายประเทศเหมือนถูกบังคับให้เลือกข้างกลายๆ

ความลำบากใจดังกล่าวนำไปสู่ความคิดของอาเซียนที่ว่า อาเซียนจำเป็นต้องมีมุมมองของตนเองต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก จนกระทั่งเกิดเป็นทัศนะอาเซียนว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก (ASEAN outlook on Indo-Pacific – AOIP) ขึ้นมา

“แนวคิด AOIP เป็นเหมือนวิถีทางของอาเซียนที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติภาพและเสถียรภาพ ที่สำคัญคือ ส่งเสริมกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำในโครงสร้างสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาค และจะมุ่งส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลด้วย”

อุศณาสรุปว่า สิ่งที่อาเซียนพยายามผลักดันภายใต้แนวคิด AOIP ไม่ใช่การควบคุมใครหรือกำหนดกฎเกณฑ์ใด และไม่ใช่การแสดงอิทธิพลของอาเซียน แต่ทุกอย่างเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทุกคน

“ทุกคนเป็นหุ้นส่วนกันและให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ตอนนี้เหมือนเราลงเรือลำเดียวกันแล้ว ถ้าจะจมก็จมด้วยกัน ถ้าไปข้างหน้าก็ไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น ทุกคนในภูมิภาคล้วนมีผลประโยชน์และมีชะตาร่วมกัน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราพยายามทำเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทั้งในมิติการแข่งขันกันของมหาอำนาจ และมิติด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ”

 

DNA ของไทยคืออาเซียน – กวี จงกิจถาวร

 

DNA ของไทยคืออาเซียน - กวี จงกิจถาวร

 

“ก่อนอื่น ผมอยากจะย้ำประเด็นหนึ่งว่า DNA ของไทยคืออาเซียน นโยบายต่างประเทศของไทยคืออาเซียน และอาเซียนก็คือนโยบายของไทย”

กวี จงกิจถาวร นักวิจัยอาวุโส สถาบันความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็น พร้อมทั้งฉายภาพให้เราเห็นว่า ตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียนมา 53 ปี ไทยเป็นสมาชิกหนึ่งเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงนโยบายออกจากอาเซียน มีแต่เพิ่มพูนความแน่นแฟ้นมากขึ้น

ต่อจากประเด็นข้างต้น กวีตั้งข้อสังเกตว่า หลายคนอาจจะประเมินไทยในฐานะประธานอาเซียน ปี 2019 ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เพราะนำเรื่องการเมืองภายในเข้ามาพิจารณาด้วย แต่กวีเห็นว่า เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง เหมือน “เอาน้ำมันไปโปรยไว้บนผิวน้ำ”

“ถ้าพูดกันแบบง่ายๆ ไทยนี่เป็นตัวแสบในเวทีการเมืองระหว่างประเทศเลยนะครับ เพราะไทยมีความคิดริเริ่มเป็นของตัวเองหลายข้อ หลายคนจะมองว่า ไทยอะไรก็สหรัฐฯ หรืออะไรก็จีน แต่ผมจะบอกให้ว่า สิ่งหนึ่งที่ไทยไม่ยอมเลยคือ ไม่ยอมเสียผลประโยชน์แห่งชาติ เราไม่มีทางเลือกข้าง เราโปรไทยเสมอ”

ในปี 2020 เวียดนามจะเป็นประธานอาเซียนต่อจากไทย ซึ่งกวีกล่าวว่า เวียดนามเป็นประเทศที่อยากเห็นอาเซียนแข็งแรง และเข้มแข็งมากกว่าทุกประเทศ เพราะถ้าอาเซียนเข้มแข็งก็จะสามารถหวดสู้จีนได้ แนวคิดหลักในการเป็นประธานอาเซียนของเวียดนามจึงเน้นเรื่อง cohesive & responsive เป็นหลัก ซึ่งสะท้อนว่า เวียดนามอยากเห็นอาเซียนมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่เข้มข้นกว่านี้ และสามารถตอบโต้หรือตอบสนองได้รวดเร็ว

อย่างไรก็ดี กวีปิดท้ายว่า ลักษณะของอาเซียนอาจจะไม่เอื้อให้เป็นแบบนั้นนัก เพราะแต่ละประเทศสมาชิกมีความหลากหลาย และมีผลประโยชน์แห่งชาติที่แตกต่างกัน การตัดสินใจของแต่ละชาติจึงอาจจะตั้งต้นที่ผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งค่อยๆ หลอมรวมมาเป็นผลประโยชน์ของอาเซียนโดยรวม

 

ไทยและอาเซียน: ความสำเร็จและความท้าทายในอนาคต – รศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข

 

ไทยและอาเซียน: ความสำเร็จและความท้าทายในอนาคต - รศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข

 

รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ปิดท้ายการสัมมนาด้วยการสรุปบทบาทของไทยและอาเซียนต่อการเมืองนอกภูมิภาคเอาไว้หลายประการ ได้แก่:

(1) ประเด็นเรื่องอินโด-แปซิฟิก ซึ่งกิตติอธิบายว่า ความสำเร็จที่งดงามของไทยคือการผลักดันให้เกิดเอกสาร AOIP ออกมาได้ในลักษณะบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น และหลายประเทศพึงพอใจ ซึ่งเป็นผลงานของไทยในการประสานเรื่องนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่วมมือกับอินโดนีเซียในการโน้มน้าวชาติต่างๆ ที่มีจุดยืนต่อสหรัฐฯ และจีนไม่เหมือนกัน จนกระทั่งออกเป็นเอกสารฉบับนี้ออกมาได้

(2) ข้อตกลง RCEP ในกลุ่มอาเซียน +6 ซึ่งอินเดียยังไม่ขอลงนามข้อตกลงในปีนี้ โดยกิตติอธิบายว่า สาเหตุที่อินเดียยังไม่ลงนามข้อตกลงมาจากการที่อินเดียเป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดกั้นมานาน ยังไม่สามารถเปิดเสรีได้มาก และยังกลัวสินค้าจากจีนจะทะลักเข้าไปในประเทศด้วย แต่ถือว่าไทยประสบความสำเร็จที่ผลักดันให้มีข้อสรุปออกมาได้ เพราะ RCEP ถูกเลื่อนมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2015

“ถ้าถามว่า ทำไมเราต้องรีบทำให้ RCEP บรรลุข้อตกลง ผมคิดว่า เราจะต้องส่งสัญญาณให้โลกเห็นว่า อาเซียนและประเทศภาคีไม่สนับสนุนลัทธิคุ้มครอง (protectionism) และลัทธิเอกภาพนิยม (unilateralism) แต่เราสนับสนุนการค้าเสรีในลักษณะพหุภาคีนิยม (multilateralism) หรือภูมิภาคนิยม (regionalism)”

อีกหนึ่งความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือ การจัดตั้งศูนย์อาเซียน 7 ศูนย์ เช่น ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre: AJCCBC) สำหรับเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในอนาคต หรือศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue: ACSDSD) เพื่อสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ (SDGs) 2030 ของสหประชาชาติ (UN)

อย่างไรก็ดี ถึงอาเซียนจะประสบความสำเร็จหลายประการดังที่กล่าวไปแล้ว แต่กิตติกลับมองว่า มีอีกหลายประเด็นที่อาจจะยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เช่น Code of Conduct เกี่ยวกับข้อพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้ หรือบทบาทของอาเซียนต่อประเด็นการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

“ผมคิดว่าอาเซียนน่าจะเกี่ยวดองกับเกาหลีเหนือได้มากขึ้น เพราะเกาหลีเหนือต้องการออกสู่ประชาคมโลก และอาเซียนก็จะดูเป็นเวทีที่เหมาะสม เพราะเราไม่เคยกดดันเกาหลีเหนืออยู่แล้ว อีกทั้ง หลายประเทศก็ยังเป็นมิตรกับเขา และเรายังมีประเด็นที่หลากหลายที่อาจเชิญเขามาเข้าร่วมได้ด้วย เช่น การบรรเทาภัยพิบัติและโรคระบาด แต่ก็ยังไม่สามารถเชิญเกาหลีเหนือเข้ามาร่วมได้มากเท่าที่ควร”

แม้การเป็นเจ้าภาพของไทยจะปิดฉากลงในปีที่แล้ว (2019) แต่แน่นอนว่า ไทยและอาเซียนต้องก้าวต่อไปข้างหน้า พร้อมกับเจอความท้าทายหลายประการที่รออยู่ โดยกิตติเปิดประเด็นว่า การประชุมอาเซียนอาจจะเน้นรับมือกับความท้าทายภายนอก จนลืมมองความท้าทายภายในไป คือเรื่องอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี เช่น กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง หรือกฎหมายกักกันสินค้าต่างๆ ที่จะต้องมีการปฏิรูป

อีกประเด็นหนึ่งคือ การอนุวัติกฎหมายในประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นไปตามข้อตกลง เพราะอาเซียนไม่ได้มีมาตรการบังคับให้ชาติสมาชิกต้องปรับกฎหมายให้เข้ากับข้อตกลงอาเซียน ประเทศสมาชิกเลยใช้หลักความสบายใจ คือทำบ้างไม่ทำบ้าง ซึ่งกิตติมองว่า เป็นเรื่องที่ต้องปรับให้จริงจังมากขึ้น และหากมีภาคส่วนใดได้รับผลกระทบจากการปรับกฎหมาย ก็ต้องเยียวยาพวกเขาเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ กิตติยังได้กล่าวถึงคำแนะนำ 3 ข้อ ที่น่าสนใจในการสร้างอาเซียนให้มีความเข้มแข็งขึ้น ได้แก่

“ข้อแรกคือ เราต้องปรับสถาบันภายในประเทศให้สอดคล้องกับประชาคมและความเชื่อมโยงอาเซียน เพราะถึงแม้เราจะมีศูนย์นั่นศูนย์นี่ แต่ถ้าในประเทศไม่ปรับตัว การดำเนินการก็จะยังติดขัดอยู่ ข้อที่สองคือ เราต้องทลายการทำงานแบบไซโล หน่วยงานราชการที่เคยแยกกันทำงาน ต้องประสานกันให้มากขึ้น”

“ข้อสุดท้าย เราต้องปฏิรูปสำนักเลขาธิการอาเซียนให้มีสมรรถนะมากขึ้น คือไม่ได้มีหน้าที่แค่จัดประชุม แต่สามารถตอบสนองโดยการให้ข้อมูล ให้การวิเคราะห์ หรือให้คำปรึกษา โดยทำงานร่วมกับสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนด้วย” กิตติปิดท้าย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save