fbpx

นี่หรือคือพลังแผ่นดิน

                                                       “เพราะพ่อรู้ พ่อคือ… พลังแห่งแผ่นดิน ให้เราพออยู่พอกินกันต่อไป”

                                                                                           ทำไมถึงให้เราแค่ “พออยู่พอกินกันต่อไป”?

ในช่วงเวลาไม่นานมานี้มีเรื่องราวบางอย่างเกี่ยวกับกษัตริย์ภูมิพลที่ผมมองด้วยความฉงน อาจจะเรียกว่าปรากฏการณ์ก็ได้ นั่นคือการไล่ลบรอยสักแสดงความรักและเทิดทูนที่ได้มาเมื่อครั้งสวรรคต และการได้ยินเรื่องเล่าว่ามีการพูดถึงการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างเปิดเผยต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แล้วใครสักคนพูดขึ้นว่า “เราไม่เคยรู้สึก ‘รัก’ มาตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็ก” ซึ่งเมื่อลองเทียบจากอายุผู้พูดแล้ว ในช่วงเวลานั้น ภาพของกษัตริย์ภูมิพลยังไม่ได้อยู่ในสถานะของการให้รัก แต่ยังเป็นรูปแบบของการให้ยกย่องเทิดทูน ประหนึ่งเป็นหน้าที่ของพลเมือง รักที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกนั้นน่าจะเริ่มขึ้นในช่วงท้ายแผ่นดิน โดยเป็นผลมาจากการชี้นำทางภาพลักษณ์และภาพพจน์ของผู้จงรักภักดีและอิงแอบอยู่ภายใต้ร่มบารมี ดังนั้นแล้วจึงค่อนข้างเป็นเรื่องแปลกที่เราจะไม่รักใครสักคนตั้งแต่เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ‘รัก’ ที่ว่านั้นคืออะไร

สองประการนี้เป็นผลสืบเนื่องของอาการ ‘ตาสว่าง’ เมื่อใครๆ ก็ ‘เห็น’ ใครต่อใครก็เลยต้องลบรอยที่เคยไม่เห็น ใครต่อใครก็เลยต้องแสดงออกให้รู้ว่าตื่นก่อน เห็นก่อน ความฉงนจากสิ่งที่รับรู้นำพาไปสู่คำถามว่า “รักคืออะไร?” ในความหมายจากการมองลงมาและการมองขึ้นไป ทั้งที่โดยธรรมชาติแล้วเราต่างยืนอยู่บนระนาบเดียวกัน ดูเหมือนว่าคำว่า ‘รัก’ ในที่นี้จะเป็นจุดที่ประหยัดที่สุดและมีดุลยภาพที่สุดของการทอดตัวลงมาและการไต่ระดับขึ้นไป

จะมีอะไรดีไปกว่าการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงผ่านการมองย้อนกลับหลังด้วยการตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์

กว่าจะครองอำนาจนำ (2564) ของอาสา คำภา พัฒนามาจากดุษฎีนิพนธ์ชื่อ “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535” จุดสำคัญสำหรับการศึกษาเรื่องนี้ของอาสาคือ #ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9 ซึ่งนำไปสู่คำถามว่า “แม้การประกาศตนนี้จะมีนัยเพื่อแสดงความระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างอาลัยและจงรักภักดี แต่แท้จริงแล้วเรามีความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัชสมัยรัชกาลที่ 9 มากน้อยเพียงใด” ในช่วงระยะเวลาสี่ทศวรรษในการศึกษานี้ อาสาได้นำสิ่งผมเรียกว่า ‘ก๊ก’ มาร้อยเรียงให้เห็นเป็นภาพการเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาว่าสถาบันกษัตริย์พ้นจากสภาวะอับแสงมาสู่ความเจิดจ้าจนมองอะไรอย่างอื่น (แม้แต่รัก) ไม่เห็นได้อย่างไร


กว่าจะครองอำนาจนำ


ก๊กที่จะกล่าวถึงไว้แบ่งได้ 6 ก๊กใหญ่ๆ ดังนี้ 1.) ก๊กกษัตริย์ที่หมายถึงสถาบันกษัตริย์ ราชสำนัก และผู้รับใช้ใกล้ชิด 2.) ก๊กทหารที่หมายถึงกลุ่มทหาร (ตำรวจ) ที่มีกองกำลังอยู่ในมือ 3.) ก๊กข้าราชการที่หมายถึงเทคโนแครตและข้าราชการ 4.) ก๊กการเมืองที่หมายถึงนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ รวมไปถึงพรรคคอมมิวนิสต์ 5.) ก๊กพ่อค้าที่หมายถึงกลุ่มเจ้าสัวนักธุรกิจที่มีผลประโยชน์จากการพาณิชย์ และ 6.) ก๊กประชาชนซึ่งเป็นก๊กที่ใหญ่ที่สุดแต่มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด และมีลักษณะพิเศษอีกประการคือไม่มีคุณลักษณะเป็นชนชั้นนำในเชิงอำนาจเหมือนก๊กอื่นๆ ข้างต้น

สภาวะอับแสงที่เกิดขึ้นหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองทำให้บทบาทของสถาบันกษัตริย์ถูกจำกัด มีเพียงกลุ่มคนใกล้ชิดเท่านั้นที่คอยปกปักรักษาและฟื้นฟูเกียรติยศให้หวนคืน ถึงแม้ว่าอุดมการณ์ของคณะราษฎรจะมีอายุเพียงสิบห้าปี แต่ผลของการเปลี่ยนแปลงได้หยั่งรากลงไปในแผ่นดินแล้ว สถาบันกษัตริย์ได้รับบทเรียนสำคัญว่าทหารคือหอกข้างแคร่ที่ต้องหมั่นชำเลืองมองและต้องมีโล่กำบังที่คุณสมบัติทัดเทียมกันไว้รับมือ ตัวเลือกที่เหมาะมือที่สุดในช่วงที่ยังไม่มั่นคงคือศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ แม้จะมีเมล็ดพันธุ์อย่างใหม่ที่ชื่อประชาธิปไตย แต่สถาบันกษัตริย์ก็ยังคงเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน กุศโลบายเหมาะมือนี้มีชื่อว่า “ราชประชาสมาสัย” หรือการพึ่งพาอาศัยกันและกันระหว่างกษัตริย์กับประชาชน

สำหรับสถาบันกษัตริย์แล้ว ความพ่ายแพ้จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นจบลงอย่างเด็ดขาดเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม พลัดถิ่นสิ้นอำนาจ ความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ถูกเชิดชูขึ้นอีกครั้งภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งปกครองประเทศด้วยการส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์  โดยได้รับการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากก๊กอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน สิ่งสำคัญที่คอยประสานให้ก๊กต่างๆ อยู่ด้วยกันได้คือการตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ของตน ไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่ของก๊กอื่นไม่ว่าจะในรูปแบบใด

การตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ของตนหมายถึงการที่ไม่มีก๊กใดก๊กหนึ่งขึ้นมากุมอำนาจนำแต่เพียงก๊กเดียวด้วย แต่ละก๊กจะมีวิธีจัดการกดหรือกำจัดก๊กที่โดดเด่นขึ้นมาให้อยู่ในร่องในรอย อาสาได้เสนอว่ารูปแบบนี้คือฉันทมติของการไม่ควบรวมอำนาจ อาจเรียกได้ว่านี่คือ unwritten rule หรือกฎที่แต่ละก๊กพึงตระหนักรู้

แต่ถึงแม้ว่าสิ่งที่พึงตระหนักรู้จะมีความสำคัญเพียงใด ความมั่นใจในอำนาจที่เพิ่มขึ้นและความต้องการสืบทอดอำนาจนั้นไว้ก็นำไปสู่การล่วงละเมิด ไปสู่ความพยายามในการครอบครองการนำ โดยก๊กที่มีปัญหาในการกระทบกระทั่งต่อกลุ่มอื่นมากที่สุดคือก๊กทหาร

เมื่อก๊กทหารกล้าแข็งจนทำให้ก๊กอื่นๆ สัมผัสถึงดุลยภาพที่กำลังสูญเสีย แต่ด้วยข้อจำกัดทางอำนาจไม่เอื้อให้ขยับตอบโต้ ก๊กทหารจึงลุแก่อำนาจจนไปกระตุ้นให้ก๊กของประชาชนออกมาเคลื่อนไหว

ถึงแม้ว่าก๊กกษัตริย์จะได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากก๊กทหาร แต่พิษของบาดแผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังคงทำให้มีความหวาดระแวงต่อหอกข้างแคร่อยู่เสมอ การเคลื่อนไหวของประชาชนที่มีกลุ่มนักศึกษาเป็นแกนนำในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ก๊กกษัตริย์ที่ดำเนินกุศโลบายราชประชาสมาสัยมาโดยตลอดได้อำนาจใหม่จากพลังศรัทธาของประชาชนที่อยู่ในเมืองหลวง นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญในการขึ้นสู่กระแสสูงของอำนาจนำที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากก๊กประชาชน สิ่งที่เรียกกันว่า “เครือข่ายในหลวง” จากก๊กกษัตริย์เริ่มปรากฏโฉมให้เห็นชัดขึ้นจนเป็นตัวแปรสำคัญในการปกครอง อาจกล่าวได้ว่าในทุกก๊กมีตัวแทนจากก๊กกษัตริย์เข้าไปคานอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ไม่ได้นำมาแต่เพียงความศรัทธาที่มากขึ้นต่อก๊กกษัตริย์ในหมู่ประชาชน ความเสื่อมลงของก๊กทหารยังนำไปสู่การมีบทบาทที่เพิ่มขึ้นของก๊กการเมืองทั้งปีกขวาและปีกซ้าย นายทหารบางกลุ่มใช้พรรคการเมืองเป็นทางออกในการแสวงหาอำนาจเพื่อการต่อรองในระบอบประชาธิปไตย

ในช่วงนั้น สถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก๊กกษัตริย์ซึ่งมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อปรากฏการณ์คอมมิวนิสต์ได้แสดงออกถึงความเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจน จุดแตกหักของการปะทะกันเชิงอุดมการณ์คือเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

การตอบโต้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างตาต่อตาฟันต่อฟันของก๊กกษัตริย์ผ่านเครือข่ายในหลวงทำให้ก๊กอื่นได้รับผลกระทบ แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้ชนชั้นนำทุกก๊กรักษาระยะห่างจากสถาบันกษัตริย์ การเมืองการปกครองของไทยอยู่ในวังวนของการล้างไพ่ด้วยการทำรัฐประหาร และความพยายามในการสืบทอดอำนาจ จนกระทั่งการเข้าฉากของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ทำให้ก๊กทหารกลับมาแนบแน่นกับก๊กกษัตริย์ในลักษณะผนวกเข้าด้วยกันอย่างชัดเจน  ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ทำให้ก๊กกษัตริย์เป็นตัวแปรสำคัญในการยุติปัญหาการแย่งอำนาจกันของก๊กทหาร

ในระหว่างที่ก๊กกษัตริย์ต้องคอยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจที่เกิดขึ้นจากการกระทบกระทั่งกันระหว่างชนชั้นนำก๊กอื่นๆ ราชประชาสมาสัยเป็นกุศโลบายที่ดำเนินไปอย่างดูเหมือนไร้พิษสง ทุกก๊กอำนวยความสะดวกให้กับทุกโครงการตามประสงค์ของกษัตริย์ภูมิพล

หลังจากการยุติบทบาทนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์  การเมืองไทยก็เข้าสู่ยุค “การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ก๊กการเมืองเฟื่องฟูจนก๊กทหารต้องทำการยึดอำนาจและเกิดเงื่อนไขข้อขัดแย้งที่นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งจบลงด้วยการยุติความขัดแย้งที่คู่กรณีสยบอยู่แทบเท้ากษัตริย์ภูมิพล ความนิยมต่อสถาบันกษัตริย์ขึ้นสู่จุดสุดยอดจากการเป็นที่เทิดทูนบูชาของทุกกลุ่มโดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมือง  โล่กำบังเมื่อครั้งเริ่มต้นกลับกลายเป็นอาวุธที่ทำให้ทุกก๊กต้องเกรงขาม

เหตุการณ์ทางการเมืองอย่างกระชับที่กล่าวถึงข้างต้นคือภาพร่างอย่างหยาบที่แสดงให้เห็นว่าบนสมรภูมิการเมืองไทย แต่ละก๊กแต่ละเหล่ามีความสัมพันธ์กันแบบใด สิ่งที่อาสาทำใน กว่าจะครองอำนาจนำ คือการแสดงให้เห็นว่าในแต่ละก๊กมีใครบ้างที่เป็นตัวละครสำคัญ พิษสงของแต่ละก๊กระงับได้ด้วยวิธีใด และก๊กไหนแพ้ทางแก่ก๊กไหน รูปแบบความเชื่อมโยงที่อาสาใช้ (อยากให้คิดถึงภาพสืบหาคนร้ายบนกระดานในภาพยนตร์สืบสวนสอบสวน) ในการศึกษาพลวัตของกลุ่มชนชั้นนำมีความพิเศษมากขึ้นเพราะใช้แนวคิดที่สำคัญในการศึกษาอย่างพระราชอำนาจนำของชนิดา ชิตบัณฑิตย์, Network Monarchy ของ Duncan McCargo, Deep State ของ Eugénie Mérieau, และ Parallel State ของ Paul Chambers & Napisa Waitoolkiat บวกเข้ากับแนวคิดและการศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์ของ the Trinity (ผมใช้คำนี้อย่างลำลองและล้อเล่นอยู่เสมอเมื่อเอ่ยถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ธงชัย วินิจจะกูล, และเกษียร เตชะพีระ) ไปจนถึงความลับระหว่างบรรทัดและระหว่างเล่มของหนังสืองานศพและเอกสารหายากจำนวนมหาศาล (คงไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่านี่เป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากวิธีการทำงานของสายชล สัตยานุรักษ์) ในการทำให้เส้นสายที่โยงใยในก๊กและระหว่างก๊กเคลื่อนขยับอย่างมีชีวิตชีวาจนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘อิสระเชิงสัมพัทธ์’ อันอยู่ภายใต้ข้อผูกมัดของการแสวงหา ‘ฉันทมติ’ ในการอยู่ร่วมกัน

ผลการศึกษาใน กว่าจะครองอำนาจนำ ทำให้เราเห็นภาพกว้างของการเมืองการปกครองไทยชัดเจนขึ้น มิติของตัวละครบางตัวจะเด่นชัดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ยกตัวอย่างที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์, ธานินทร์ กรัยวิเชียร, พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์) ซึ่งอาจมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความรับรู้ความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับกษัตริย์ภูมิพล ประเด็นนี้นำไปสู่ข้อสังเกตว่า กว่าจะครองอำนาจนำ ทุ่มเทเนื้อหาส่วนใหญ่ไปกับการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของก๊กทหารกับก๊กกษัตริย์มากกว่าก๊กอื่นๆ จึงทำให้ภาพของเครือข่ายในหลวงของก๊กทหารเด่นชัดกว่ากลุ่มอื่น ข้อสังเกตนี้อาจตีความได้ว่าเพราะก๊กทหารคือก๊กที่ไม่น่าไว้ใจที่สุด ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์อันซับซ้อนอ่อนไหวที่ก๊กกษัตริย์ต้องจับตามองและเอามาเป็นพวกกว่ากลุ่มอื่น ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายในหลวงในมิติอื่นจึงยังไม่ปรากฏออกมาเด่นชัดนัก แม้ออกจะน่าเสียดายอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะถ้าจะให้เห็นความสัมพันธ์ชัดเจนในทุกก๊ก อาจจะต้องมีหนังสือเล่มใหญ่ขนาดนี้ออกมาอีกห้าเล่ม

ข้อสังเกตอีกข้อที่ได้จากการไล่เรียงเหตุการณ์และบทบาทตัวละครตามลำดับเวลาของ กว่าจะครองอำนาจนำ คือจะว่าไปแล้ว บทบาทการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองของก๊กกษัตริย์นั้นเห็นได้อย่างชัดเจนมาตลอด แต่ที่รอดพ้นจากความแคลงใจของคนส่วนใหญ่มาได้นั้นเป็นผลมาจากม่านกั้นชื่อ ‘อยู่เหนือการเมือง’ ซึ่งเป็นทั้งโวหารที่คมคายและวาทกรรมที่อำพราง (เหมาะสำหรับชาติที่คลั่งไคล้คำขวัญและคำคมดีนักแล) นำสิ่งตำตาทั้งหลายไปอยู่ใต้ร่มเงาของคำว่า ‘พระปรีชาสามารถ’ อีกที

ถ้าปรากฏการณ์ตาสว่างคือจุดเปลี่ยนวิธีการมองของประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ หรือจะพูดให้ชัดกว่านั้นว่าคือการมองไปยังกษัตริย์ภูมิพลโดยตรง ในแง่หนึ่งสิ่งที่ กว่าจะครองอำนาจนำ ทำ (แม้จะว่ากันว่านี่คือหนังสือเล่มที่ขวาที่สุดของสำนักพิมพ์ “เพราะแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถ(?)”) คือการเสนอให้เห็นว่าภาวะตามัวมืดไปจนกระทั่งบอดของ ‘รัก’ นั้นมีวิวัฒนาการอย่างไรเมื่อพิจารณาเทียบไปกับการปรับตัวต่อคลื่นลมเพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงในเชิงอำนาจนำของกษัตริย์ภูมิพล

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save