fbpx

ร่างทรง ความจริง ความเชื่อ และสิ่งที่เปลี่ยนไป

ปีพุทธศักราช 2564 กำลังจะผ่านพ้นไป ทิ้งความทรงจำอันเลวร้ายบัดซบไว้ให้กับบรรดาหนุ่มสาว เยาวชน คนรุ่นใหม่ของประเทศ ที่ต้องเผชิญชะตากรรมความมืดมนทางประชาธิปไตย ท่ามกลางความพยายามจะนำพาประเทศชาติบ้านเมืองหวนคืนกลับไปสู่สังคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝ่ายอำนาจนิยม

มิได้มีเหตุผลใดอื่นเลย นอกเสียจากเพื่อจะธำรงไว้ซึ่งสถานภาพ อำนาจ และผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ตลอดจนเหล่าสมุนบริวารที่ต้องการปกป้องความมั่งคั่ง ผูกขาดความอยู่ดีมีสุขเอาไว้บนความเหลื่อมล้ำได้เปรียบเหนือผู้คนอื่นซึ่งอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกัน

ดิ้นรนทำทุกอย่างทุกวิถีทางแม้จะสวนกระแสพัฒนาการทางอารยธรรมของมนุษย์ ทั้งใช้อำนาจรัฐข่มขู่คุกคาม ปราบปราม ปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง และปลุกใจปลอบขวัญกันเอง

รักชาติเสียจนฉิบหายวายป่วง ล้าหลัง ถดถอยทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

ใช้กฎหมายตีความกันอย่างกับตีกบ ตีไก่

คร่ำครึคลุ้มคลั่ง กระทั่งภาพกราฟิกโปรโมตมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์บนธงชาติ ยังเอามาเป็นประเด็น จะเป็นจะตายกันให้ได้ มิน่าเล่า ประเทศชาติบ้านเมืองถึงจมปลัก ไม่สามารถเจริญเดินก้าวไปข้างหน้าได้เสียที

มิได้เฉลียวใจฉุกคิดกันบ้างเลยหรือ ว่าเหตุใดทำไมภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีมานี้เองประเทศไทยถึงเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

ถึงขนาด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. รุ่นที่ 64 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ภายหลังร่วมกันร้องเพลงบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อปลุกใจและปลูกฝังความรักชาติรักแผ่นดินว่า

“อีกประการหนึ่ง ฝากดูในเรื่องของการยืนในห้องชมภาพยนตร์ด้วย นึกออกไหม มันกลายเป็นคนอยากยืนแต่ไม่กล้ายืน เราต้องกล้าหาญในการที่จะยืน คงเข้าใจนะไม่ได้บังคับ แต่เราเป็นครอบครัวเดียวกัน ครอบครัวเดียวกันที่ต้องทำอะไรให้จีรังยั่งยืน ด้วยหลักเกณฑ์หลักการของประเทศชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนต้องไปด้วยกัน”

จากเดิมไม่กล้านั่ง เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปไม่กล้ายืน

ไม่เคยมีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย และก็ไม่เคยมีการหาคำตอบเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลงพัฒนาให้ดีขึ้น

หากซื่อสัตย์กับตัวเอง ซื่อตรงต่อมโนธรรมสำนึก ความรับผิดชอบชั่วดี ทุกคนย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าอะไรเป็นอะไร

และไม่ว่าจะจบลงอย่างไร ที่รุ่นใครหรือไม่ก็ตามที แต่อย่างน้อยที่สุดวิบัติการณ์ความเป็นไปที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง ทำให้ประชาชนหูตาสว่างมากขึ้นทุกที

อะไรที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ อะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น

ประเทศนี้นอกจากจะมีกองทัพไว้ทำรัฐประหารค้ำบัลลังก์ผู้ปกครองทรราชแล้ว เดี๋ยวนี้ยังมีทหารไว้ปลูกผักชี ขับรถบรรทุกสินค้า มีกระบวนการยุติธรรม ตำรวจไว้กำราบปราบปรามเด็กและเยาวชน  

ดินแดนแห่งการคอมโพรไมซ์ ประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ให้ ขอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่เอา เสนอปฏิรูปสถาบันฯ ก็ไม่ได้ วินิจฉัยว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เป็นกบฏกันทั้งๆ ที่อยู่ในวัยกระเตาะแรกรุ่น หลายคนยังเรียนหนังสือหนังหาอยู่เลย

แม้หลายคนดูจะยังมีความหวังว่า จะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ด้วยการประนีประนอม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน

แต่ก็นั่นแหละ พระอาทิตย์ไม่ขึ้นทางทิศตะวันตก งาช้างไม่งอกออกจากปากสุนัข

ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ประชาชนทั้งแผ่นดินได้ประจักษ์ถึงความไม่จริงใจของนักการเมืองในการผลักดันแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยแม้แต่น้อย

เว้นเสียแต่ประเด็นรื้อระบบเลือกตั้งกลับไปใช้บัตร 2 ใบ ซึ่งสมประโยชน์พรรคการเมืองขนาดใหญ่ สมประสงค์ผู้ปกครองอำนาจนิยมที่ต้องการปิดกั้นการเติบโตของพรรคการเมืองบางพรรคที่ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อระบอบ

นอกนั้นกี่ร่างที่มีเนื้อหาสาระนำไปสู่พัฒนาการทางประชาธิปไตย ไม่เคยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาแม้สักร่างเดียว

ไม่ตกวาระแรกก็ไม่ผ่านวาระที่สาม

ล่าสุดที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ลงมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่.. ) พ.ศ….. ที่เสนอโดยกลุ่มรี-โซลูชัน ในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง 473 ต่อ 206 งดออกเสียง 6 นับเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่สองของภาคประชาชนที่ถูกโหวตคว่ำตั้งแต่วาระแรก

ผู้เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยถูกสมาชิกวุฒิสภาสำรอกใส่ กล่าวหากลางสภาว่าเนรคุณแผ่นดิน-ต้องการล้มล้างสถาบันฯ

ถามจริงๆ เถอะ บ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้าในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมได้อย่างไร หากยังขึงพืดอย่างนี้โดยไม่ยอมรับฟังข้อเท็จจริงและเหตุผลใดๆ

จะปฎิรูป ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลยหรือ

11 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนคนทั้งประเทศได้แลเห็นถึงความโหดเหี้ยมอำมหิตของผู้ปกครองในการปราบปรามหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ จับกุมคุมขังเยาวชน ลูกหลานซึ่งลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องการให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามความหมายคำว่าปฏิรูปเอาไว้ว่า ปรับปรุงให้เหมาะสม ปรับปรุงให้ดีขึ้น เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฯลฯ

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามกับเนื้อหารายละเอียด ข้อเรียกร้อง 10 ประการของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ข้อเสนอของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่อาจจะขาดๆ เกินๆ ไปบ้างตามวัยที่เร่าร้อน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธไปได้เลยว่า การเคลื่อนไหวของพวกเขามีเหตุปัจจัยรองรับสนับสนุน

ใช่ว่าไม่มีที่มาที่ไปหรือมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรทั้งสิ้นอย่างที่พยายามบิดเบือนเบี่ยงเบน

หากซื่อสัตย์กับตัวเอง ซื่อตรงต่อมโนธรรมสำนึก ความรับผิดชอบชั่วดี ทุกคนย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าเพราะอะไรลูกหลานหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่จึงออกมาเรียกร้องต้องการให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง

มิพักพูดถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ที่สร้างความผิดหวังให้กับผู้รักประชาธิปไตยและกำลังนำพาสังคมไทยไปสู่ความมืดมน หนทางที่ตีบตันในการคลี่คลายความขัดแย้ง การเผชิญหน้าระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ประชาชนกับผู้ปกครองเผด็จการ

จากกระบวนการพิจารณาที่มีข้อสงสัย ท้าทายหลักนิติธรรม

นำไปสู่คำวินิจฉัยว่า การชุมนุมและการปราศรัยของนายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 ในที่สาธารณะหลายครั้ง เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อเรียกร้องสิบประการ

…พิจารณาแล้วเห็นเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข…

จึงมีมติโดยเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งและมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งการให้ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามมาตรา 49 วรรคสอง

คำวินิจฉัยซึ่งปราศจากการไต่สวนผู้ถูกร้อง ใช้เวลาอ่านอยู่ราว 34 นาที มิได้กล่าวถึงเจตจำนงของผู้ถูกร้องที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อันหมายถึง การปรับปรุงให้เหมาะสม ปรับปรุงให้ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย  โดยปรากฏคำว่า ‘ปฏิรูป’ อยู่เพียงคำเดียวในตอนท้ายกับประโยคที่ว่า “การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิใช่การปฏิรูป…”

บ้านเมืองนี้ก็แปลก เด็กย้ำแล้วย้ำอีกว่า ปฏิรูปๆ ๆ ยอมรับการมีกษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นอารยประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรืออังกฤษ ฯลฯ แต่ผู้ใหญ่ทั้งหัวหงอกหัวดำกลับร้องแรกแหกกระเชอ คำสองคำก็ว่าล้มล้าง จาบจ้วงล่วงละเมิด

ไม่รู้จะหยิบยกเอาทฤษฎีการเมือง หลักวิชา ตรรกะเหตุผลอะไรขึ้นมาโต้แย้ง ถกเถียงได้ก็รวบรัดตัดบทด้วยการขับไล่ไสส่งอีกฝ่ายออกนอกประเทศหรือไม่เช่นนั้นก็ยัดมาตรา 112 มาปิดปาก

เนื้อหาของคำวินิจฉัยซึ่งปรากฏ ยังชวนให้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยอีกด้วย ถึงความเข้าใจที่มีต่อประชาธิปไตยและเจตนารมณ์การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ที่อ้างถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น นิยามความหมายเป็นการปกครองซึ่งยึดถือว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ตรงกันกับที่ลูกหลาน เยาวชน หนุ่มสาวเขาร่ำเรียนมาหรือไม่ สอดคล้องต้องด้วยเจตจำนงแท้จริงของคณะราษฎรหรือเปล่า

งามหน้าไหมละกับข่าวประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาเชิญ 110 ชาติ ร่วมประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย The Summit for Democracy กลับไม่ปรากฏรายชื่อประเทศไทยเข้าร่วม

เกียรติภูมิของชาติบ้านเมืองบนเวทีประชาคมโลกแทบไม่หลงเหลือ

กรรมเวรของประชาชนคนทั้งประเทศ แผ่นดินนี้มีปัญหาประชาธิปไตย แต่กลับไพล่ไปแก้ไขด้วยการร้องเพลงบ้านเกิดเมืองนอนปลุกปลอบใจ จะไม่ถดถอยตกต่ำได้อย่างไร

ปกครองบริหารประเทศเหมือนผีห่าซาตานเข้าสิง เป็นร่างทรงปฏิบัติราชการกันราวกับปราศจากจิตวิญญาณที่จะคิดพิจารณาผิดชอบชั่วดี

ตลกร้าย ไปประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดกระบี่ ยังมีหน้าไปพร่ำสอนเด็กว่า ต้องมีกระบวนการคิด  

ประทานโทษเถอะ ไม่ใช่เพราะกระบวนการคิดที่เป็นระบบของลูกหลาน ความกล้าหาญของหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศหรอกหรือ ถึงเต้นเร่ากันทั้งผีทั้งเจ้าที่เข้าร่างทรง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save