fbpx

วรรณกรรมไทยร่วมสมัยเท่าที่เข้าใจ: บทรำพึงรำพันและทบทวนความเข้าใจวรรณกรรมไทยของข้าพเจ้า

อันที่จริงแล้วบทความที่ผมกำลังเขียนอยู่ชิ้นนี้ควรจะเป็นบทความที่ออกในช่วงปลายปีเพราะด้วยความที่ผมตั้งใจให้บทความชิ้นนี้เป็นข้อสังเกตถึงความเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนพัฒนาการของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย บทความประเภทนี้ดูเหมือนจะเป็นการสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบปีนั่นเอง แต่มันกลับกลายเป็นบทความที่ออกมาในช่วงต้นปีซึ่งอาจจะดูผิดเวลาแต่ผมคิดว่ามันไม่ผิดกาลเทศะ ผมเคยคิดที่จะเขียนบทความแบบนี้มาระยะหนึ่งแล้วหลังจากที่เขียนถึงหนังสือแต่ละเล่มทุกเดือนๆ แต่การเขียนอะไรทำนองนี้ย่อมต้องเก็บข้อมูลจำนวนมาก มหาศาล และต้องมีความสามารถในการสังเคราะห์ประเด็นต่างๆ ให้ออกมาเฉียบคม เพื่อทำให้ผู้อ่านให้เห็นภาพรวมว่าความเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหวของสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ นั้นเป็นอย่างไร

ณ ที่นี้ ผมคงไม่ได้นำเสนออะไรที่แหลมคมให้กับปรากฏการณ์ร่วมสมัยของวรรณกรรมไทยมากนัก สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอในบทความนี้ไม่ใช่การวิจารณ์หนังสือบางเล่มอย่างที่เคยทำมา ไม่ใช่การสังเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในรอบปี ไม่ใช่การขึ้นบัลลังก์ตัดสินชี้ขาดว่าวรรณกรรมไทยร่วมสมัยที่ผ่านมาเป็นอย่างไรและควรเป็นอย่างไรในอนาคต หากแต่เป็นเพียงข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ของผมตั้งแต่รับหน้าที่ในการเขียนบทวิจารณ์วรรณกรรมไทยร่วมสมัยมาสักพักหนึ่งและเริ่มมองเห็นว่าปรากฏการณ์ของวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในรอบสามปี (หรืออาจจะมากกว่านั้น หากนับว่าผมเขียนลงเว็บไซต์ The101.world ก็สามปีกับอีกสองเดือน แต่ผมก็ติดตามอ่านวรรณกรรมไทยมาอย่างต่อเนื่องในฐานะที่วรรณกรรมไทยเป็นสิ่งที่ผมต้องสอนหนังสือเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ช่วงระยะหนึ่ง) มีจุดที่น่าสนใจและเป็นจุดที่ผมรู้สึกว่าถ้าไม่เขียนออกมามันจะติดอยู่ในใจของผมอยู่พอสมควร – โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือวรรณกรรมประเภทที่เรียกกันว่า ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ -และในท้ายที่สุดผมมีความคิดว่าหากผมต้องกลับมาอ่านบทความชิ้นนี้ในอีกห้าปีข้างหน้าจะมีอะไรเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

ผมอยากเริ่มจากสิ่งที่เรียกว่า ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ ในแวดวงวรรณกรรมไทยเสียก่อน วรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทยนั้นอาจมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 หลังจากที่ ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ ถูกวิจารณ์และตั้งคำถามอย่างหนักเพราะเกิดสิ่งที่ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์เรียกว่า ‘สุญญกาศทางวรรณกรรม’[1] เพราะนักเขียน ‘ฝ่ายซ้าย’ ต่างเข้าป่าไปกันหมด ทำให้บรรยากาศการสร้างสรรค์วรรณกรรมแบบเพื่อชีวิตหรือแบบฝ่ายซ้ายในเขตเมืองนั้นซบเซาลงไปมาก ด้วยเหตุนี้ เหล่าบรรดา ‘ปัญญาชนกระฎุมพีเสรีนิยม’ มีโอกาสได้เสนอทางเลือกวรรณกรรมแบบใหม่ขึ้นผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ในนิตยสารวรรณกรรม การแปลวรรณกรรม บทความวรรณกรรมจากต่างประเทศ อีกทั้งการสถาปนารางวัลวรรณกรรมขึ้นมากมายอันเป็นตัวแทนของรสนิยมทางวรรณกรรมของปัญญาชนกระฎุมพีเสรีนิยมในทศวรรษ 2520 ได้กลายเป็นบรรทัดฐานชุดหนึ่งที่สามารถกำหนดทิศทางของวรรณกรรมไทยในขณะนั้นได้ภายใต้ฉลากประเภทของวรรณกรรมที่เรียกว่า ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ชูศักดิ์พยายามชี้ให้เห็นว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่เจริญเติบโตขึ้นหลัง 6 ตุลาคม 2519 นี้เป็นการ ‘ประนีประนอม’ กันระหว่างกระแสวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตและวรรณกรรมแนวจารีตนิยม ในแง่ที่ยอมรับแนวคิดเรื่องวรรณกรรมต้องทำหน้าที่สะท้อนชีวิตและสังคมของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิต ขณะเดียวกันก็เชิดชูแนวคิดเรื่องความงามและความวิจิตรอลังการของภาษา อันเป็นมรดกของวรรณกรรมแนวจารีตนิยม ‘คุณค่าทางวรรณศิลป์’ และ ‘คุณค่าต่อชีวิตและสังคม’ จึงกลายเป็นแกนหลักของมาตราฐานทางวรรณกรรมหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ข้อสังเกตของผมที่มีต่อวรรณกรรมในแนวนี้ก็คือ เนื้อหาของวรรณกรรมสร้างสรรค์จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวให้ความสำคัญกับสภาวะภายในของปัจเจกบุคคลสูงมากซี่งเป็นไปในลักษณะของการบรรยายถึงอารมณ์ ความรู้สึกและสภาวะภายในของปัจเจกบุคคลด้วยกลวิธีที่ซับซ้อนและหลากหลาย การให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลในวรรณกรรม ผมคิดว่าเราอาจเคยเห็นจากวรรณกรรมในยุค 14 ตุลาคม 2516 หรือเป็นยุคที่เรียกกันว่า ‘ยุคแสวงหา’ ผมคิดว่าแม้จะมีจุดร่วมกันในประการที่สำคัญก็คือการแสดงให้เห็นถึงสภาวะที่เรียกว่าวิกฤตของตัวตนที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกแต่ความแตกต่างที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือคำถามที่นักเขียนยุคแสวงหาตั้งไว้ในวรรณกรรมก็คือ เราเป็นใครและเราทำอะไรหรือกำลังทำอะไร สิ่งที่เราทำและเป็นอยู่นี้มันสำคัญต่อตนเองและคนอื่นๆ อย่างไร เราทำมันไปทำไม สิ่งที่เราเคยเชื่อเคยยกย่องมันควรค่าแก่การยกย่องจริงหรือไม่อย่างไร

ในขณะที่วรรณกรรมสร้างสรรค์โดยเฉพาะในรอบยี่สิบปีหลังมานี้ ผมคิดว่าคำถามของนักเขียนหลากหลายมากขึ้นและไม่มีคำถามใดคำถามหนึ่งเป็นคำถามหลักซึ่งอาจเป็นคำถามที่เป็นความเห็นพ้องร่วมกันมากนักในสังคม นั่นคือสังคมไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างใหญ่หลวงและตกต่ำอย่างรวดเร็ว รุนแรง โลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงของสื่อสังคมจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์ วิกฤตการเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ความสนใจของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่ง หรือเราอาจกล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้ให้เวลามากพอที่คนจะได้ขบคิดกับมัน เราจึงไม่อาจหาคำถามที่เป็นฉันทามติร่วมกันได้ (ในแวดวงนักเขียน) ข้อสังเกตของผมประการหนึ่งก็คือเป็นไปได้หรือไม่ที่คำถามและปัญหาของนักเขียนแนววรรณกรรมสร้างสรรค์ในปัจจุบันนั้นมีมากมายและไม่จำเพาะเจาะจงอยู่กับปัญหาใดปัญหาหนึ่งหรือไม่เช่นนั้นอาจเป็นเพราะเราไม่จำเป็นต้องมี ‘ฉันทาคติ’ ร่วมกันในสังคมอีกต่อไป ดังนั้นทุกคนสามารถนำเสนอสิ่งที่ตนเองสนใจและอาจเห็นว่าเป็นปัญหาได้ด้วยวิธีการอันหลากหลาย มีความแยบยล แยบคายที่แตกต่างกันไป

ความสนใจในสภาวะภายในของปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งที่นักเขียนแนววรรณกรรมสร้างสรรค์ให้ความสนใจอยู่เสมอ ผมมีข้อสังเกตว่างานของนักเขียนแนววรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทยรุ่นใหม่ๆ จำนวนมากพยายามดึงเอาสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของตนออกมาเขียนอย่างละเอียดลออและพยายามใช้เทคนิคทางวรรณกรรมผสมผสานกับเทคนิคของศิลปะประเภทอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ มาใช้ในการพรรณนาอารมณ์ความรู้สึก หรือบางครั้งก็มักเล่นกับทฤษฎีและกระแสทางวรรณกรรม เช่น เมตาฟิกชั่น สัจนิยมมหัศจรรย์ กระแสสำนึก จิตวิเคราะห์ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน อย่างน้อยที่สุดผมคิดว่าในยุคแสวงหานักเขียนไทยก็เริ่มใช้กลวิธีและเทคนิคเหล่านี้กันมากแล้ว ณ ที่นี้ผมไม่มีความเห็นว่าใครใช้แนวทางหรือกระแสทางวรรณกรรมหรือมีกลวิธีที่น่าสนใจไม่น่าสนใจอย่างไร เพราะบทความชิ้นนี้เป็นเพียงข้อสังเกตของผมเท่านั้น

ด้านภาษา ผมสังเกตว่าการบรรยายที่ต้องใช้ความละเอียดมากๆ เพื่อแสดงให้เห็นสภาวะภายในจิตใจของปัจเจกบุคคลของนักเขียนไทยรุ่นใหม่ๆ นั้นมักใช้คำคุณศัพท์และกลุ่มคำคุณศัพท์จำนวนมาก บางครั้งในหนึ่งย่อหน้าจึงเต็มไปด้วยคำคุณศัพท์เพื่อขยายและแสดงอาการหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวละคร ดังนั้นผมอาจจะไม่ทันได้สังเกตเห็นว่ามีคำกริยาอยู่มากนักอารมณ์ความรู้สึกในงานของนักเขียนรุ่นใหม่ๆ จึงมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนทางอารมณ์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งมากกว่า ในมุมหนึ่งผมคิดว่างานของนักเขียนไทยรุ่นใหม่เป็นเหมือนบันทึกทางอารมณ์ของนักเขียนแต่ละคนที่ไม่ได้มีความปะติดปะต่อหรือต่อเนื่องทางอารมณ์ที่ถ่ายสะท้อนผ่านตัวละคร

ผมพยายามเข้าใจว่า ในผลงานชิ้นแรกๆ ของนักเขียนนั้นมักจะนำเอาประสบการณ์และความรู้สึกของตนเองมาเขียนเพราะเป็นสิ่งที่นักเขียนย่อมรู้ดีที่สุด เวลาที่ผมอ่านวรรณกรรมเรื่องใดสักเรื่องที่มีศูนย์กลางเป็นปัจเจกบุคคลนั้นผมมักจะนึกย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ผมเคยไปเข้าค่ายนักเขียน ค่ายวรรณกรรมเมื่อสักเกือบยี่สิบปีที่แล้ว วิทยากรซึ่งเป็นนักเขียน กวี ที่มีผลงานมากมาย เป็นศิลปินแห่งชาติ มีรางวัลการันตี ทุกคนก็พูดในทำนองเดียวกันหมดว่านักเขียนและกวีจะต้องเขียนในสิ่งที่ตนเองรู้ดีที่สุด ต่อประเด็นนี้ผมก็ว่าจริง เพราะถ้าเขียนในเรื่องที่เราไม่รู้เรื่องมากพอหรือไม่ถนัด นอกจากเรื่องจะไม่สนุกแล้ว มันยังขาดความสมจริง ขาดชีวิตชีวาอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่นักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่มีผลงานชิ้นแรกๆ จะดึงเอาประสบการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของตนเองออกมาเขียน เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเขารู้ดีมากที่สุด

อย่างไรก็ตามในด้านตรงกันข้าม ผมเข้าใจว่ามีนักเขียนจำนวนอีกไม่น้อยเลยทีเดียวที่เขียนหนังสือเพื่อเยียวยาตนเอง พยายามทำความเข้าใจตนเองผ่านการเขียนหนังสือ ดังนั้นสภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกของนักเขียนอาจไม่ใช่สิ่งที่นักเขียนเข้าใจดีที่สุดก็ได้ แต่การเขียนคือการทำความเข้าใจตนเองของนักเขียนและพยายามที่จะไขข้อข้องใจ ข้อสงสัยต่อตนเองออกมาผ่านงานวรรณกรรม

อนึ่ง ผมคิดว่า การให้ความสนใจอยู่กับสภาวะของปัจเจกบุคคลนั้นเป็นผลมาจากอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่อีกด้วย ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ‘เสรีนิยมใหม่’ ไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกแต่เป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ คนรุ่นกลางจนถึงรุ่นใหม่นั้นเติบโตขึ้นมาท่ามกลางอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเพราะแนวคิดเสรีนิยมใหม่มองมนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ มนุษย์สามารถคิดได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมนุษย์จึงรู้ดีที่สุดว่าตนเองต้องการอะไรและต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ มนุษย์จึงจำเป็นต้องตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตด้วยตนเองผ่านความเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้นภาระต่างๆ ในชีวิตจึงตกไปอยู่กับปัจเจกบุคคลแทนที่จะหวังพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐ[2] ดูเหมือนว่าเสรีนิยมใหม่จะให้อำนาจในการตัดสินใจกับปัจเจกบุคคล แต่แท้จริงแล้วปัจเจกบุคคลต่างหากต้องแบกรับความเสี่ยงต่างๆ ตลอดเวลา ปัจเจกบุคคลถูกทำให้เชื่อว่าตนเองเป็นองค์ประธานในการตัดสินใจแต่แท้จริงแล้วรัฐและนายทุนที่จับมือกันอย่างเหนียวแน่นต่างหากเป็นผู้กำหนดให้ปัจเจกบุคคลเลือกในสิ่งต่างๆ  

อิทธิพลของเสรีนิยมใหม่นั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศไทยเท่านั้นแต่เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก ดังนั้นวิกฤตของปัจเจกบุคคลอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในแวดวงวรรณกรรมไทยอย่างเดียว – โดยเฉพาะวรรณกรรมสร้างสรรค์หรือวรรณกรรมแนวซีเรียส – แต่อาจจะเกิดขึ้นกับแวดวงวรรณกรรมในประเทศอื่นๆ ด้วย ผมมีความรู้ไม่พอที่จะอภิปรายในที่นี้ว่าวิกฤตปัจเจกบุคคลในวรรณกรรมนั้นได้รับความนิยมในหมู่นักเขียนของประเทศอื่นๆ หรือไม่ บางทีวรรณกรรมแปลที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในรอบหลายปีมานี้อาจเป็นสิ่งที่ตอบคำถามนี้ได้

ทั้งหมดนี้เป็นข้อสังเกตที่ผมมีต่อแวดวงวรรณกรรม ‘สร้างสรรค์’ ของไทย โดยเฉพาะผลงานที่มาจากนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ระหว่างการเขียนนี้ผมไม่มีสมมติฐานที่ต้องการพิสูจน์ใดๆ ผมเขียนขึ้นด้วยการรวบรวมข้อสังเกตที่ผมมีต่อวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทยเท่านั้น และแม้ว่าก่อนหน้านี้ผมจะเคย ‘แซะ’ หรือ ‘จิกๆ กัดๆ’ ผ่านการเขียนบทวิจารณ์อยู่บ้าง แต่ผมก็พยายามแยกตัวเองออกมาจากการวิจารณ์ด้วยการแสดงให้เห็นว่าผมเห็นอะไรแต่ผมคงไม่อาจอธิบายว่าผมรู้สึกหรือนึกคิดกับมันอย่างไรและผมหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงผลงานของใครคนใดคนหนึ่งอย่างชัดเจนและเจาะจง บางทีมันอาจจะเป็นข้อสังเกตลอยๆ ก็ได้ แต่ดังผมกล่าวไว้ตอนต้นว่า ในอีกห้าปีถัดไปนี้ เมื่อผมมาอ่านบทความชิ้นนี้อีกครั้ง ผมอยากจะเห็นว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้างในวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทย


[1] โปรดดูต่อในบทความ “บทบาทของรางวัลวรรณกรรมต่อการสร้างและการเสพวรรณกรรม” ใน ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. 2558. อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง. พิมพ์ครั้งที่ 2 ปรับปรุงใหม่. กรุงเทพฯ: อ่าน. บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสารคดี เมษายน 2539

[2] รายละเอียดอย่างกว้างๆ ของเรื่องเสรีนิยมใหม่นั้นโปรดดู https://waymagazine.org/what-is-neoliberalism/  

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save