fbpx
เมื่อคาถา “ศิลปินมีไว้ชื่นชม ไม่ได้มีไว้รู้จัก” อาจไม่ศักดิ์สิทธิ์เสมอไป

เมื่อคาถา “ศิลปินมีไว้ชื่นชม ไม่ได้มีไว้รู้จัก” อาจไม่ศักดิ์สิทธิ์เสมอไป

คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในฐานะที่เป็นติ่งชื่นชอบศิลปิน ดารา นักร้อง ไปเรื่อย บวกกับทำงานที่เกี่ยวข้องกับแวดวงศิลปะและอุตสาหกรรมบันเทิง หนึ่งในประโยค (เรียกให้ตรงกว่าคือ ‘คำขวัญ’) ที่ผมพูดกับคนรอบข้างอยู่เสมอคือ “ศิลปินมีไว้ชื่นชม ไม่ได้มีไว้รู้จัก” อันหมายถึงว่า เราควรชื่นชมศิลปินจากผลงานหรือด้านที่เขาอยากให้เห็นพอ ไม่ควรไปรู้จักตัวตนหรือด้านอื่นๆ ของเขามากเกินไป เพราะมันมักจะนำมาซึ่งความเจ็บปวดและผิดหวัง

ถ้าให้เล่าจากประสบการณ์ตรง ประมาณสิบกว่าปีที่แล้วผมทำงานเป็นสตาฟฟ์ในเทศกาลภาพยนตร์งานหนึ่ง มีผู้กำกับระดับโลกมากมายเข้าร่วม แต่กลายเป็นว่าคนทำหนังที่เราปลื้มกลับมีนิสัยที่ไม่น่ารักเท่าไร ทั้งเหวี่ยงวีน ไม่เฟรนด์ลี่ เอาใจยาก หรือบางรายก็ไม่แน่ใจว่าจะรู้สึกอย่างไรกับเขา เช่นว่า เชิญมาเป็นกรรมการตัดสินหนัง แต่เจ้าตัวกลับเอาแต่หนีเที่ยวไม่ยอมดูหนัง ทว่าในขณะที่เอือมระอาขั้นสุด พี่แกก็ดันเข้ามาบอกว่า “แฮปปี้เบิร์ธเดย์นะ วันนี้วันเกิดยูนี่นา ไอเห็นในเฟซบุ๊ก” เล่นเอาเกลียดผู้กำกับรายนี้ไม่ลง

แน่นอนว่าผลงานที่ผู้กำกับเหล่านี้สร้างไว้ก็ยังยอดเยี่ยมเหมือนเดิม แต่หลังจากเทศกาลผ่านไป เวลากลับมาดูหนังของ ‘ท่านๆ’ เหล่านี้ โมเมนต์ที่เขาเหวี่ยงใส่เราหรือสตาฟฟ์คนอื่นก็ผุดขึ้นมาทันที นับจากนั้นผมเลยสัญญากับตัวเองว่าจะเลี่ยงไม่ทำงานประเภทต้องเข้าไปใกล้ชิดกับศิลปินที่ชื่นชอบ ขอเป็นเพียงผู้เสพผลงานดีกว่า

ทว่าในยุคนี้การจะ ‘ไม่รู้จัก’ ศิลปินนี่มันเป็นไปได้ยากเหลือเกิน ปัจจัยสำคัญคือโซเชียลมีเดีย เราแทบจะได้รับรู้ความเป็นไปของศิลปินตลอดเวลาและทุกกิจกรรม คนดังหลายคนอัพสตอรี่ในอินสตาแกรมถี่มาก ไม่ว่าจะเวลาอยู่บ้าน ไปเที่ยว ดูหนัง กินข้าวนอกบ้าน ขนาดก่อนนอนมาสก์หน้าอยู่แท้ๆ ยังต้องไลฟ์คุยกับแฟนคลับ ซึ่งฝั่งแฟนคลับก็รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับคนที่ตนชอบ ส่วนฝั่งศิลปินก็สามารถมี ‘สื่อ’ อยู่ในมือของตัวเองได้

การที่เราได้เห็นความเคลื่อนไหวและข่าวสารของศิลปินตลอดเวลา มันก็ทำให้เราได้เห็นด้านที่ไม่ดีของเขาไปด้วย (ทั้งแบบที่ศิลปินตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ) เช่น ศิลปินไล่ให้แฟนคลับที่บ่นเรื่องปากท้องจากโควิดให้ไปตาย หรือนักร้องที่เมคเรื่องขึ้นมาว่าตัวเองติดโควิด-19 ตอนเอพริลฟูลส์เดย์  แล้วยิ่งในยุคโซเชียล ดราม่าต่างๆ ก็ลุกเป็นไฟโดยง่าย เกิดเรื่องไวรัลอะไรขึ้นมา สักพักชาวเน็ตก็จะแห่ไปคอมเมนต์ถล่มหรือที่เรียกว่า ‘ทัวร์ลง’

ปรากฏการณ์ทัวร์ลงเป็นเรื่องขบคิดกันต่อได้ว่ามันเป็นกระบวนการลงโทษทางสังคมหรือเพียงแค่ความสะใจ แต่โดยปกติเมื่อศิลปินทำผิด เขาก็จะได้รับการลงโทษทางอาชีพหรือกฎหมายอยู่แล้ว เช่น หลังจาก มาซาฮิโระ ฮิกาชิเดะ กับ เอริกะ คาราตะ ถูกจับได้ว่าคบชู้ ทั้งหนัง ละคร และโฆษณาก็พากันถอนตัวกันหมด (แต่บางส่วนแย้งว่านี่มันเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเปล่า) หรือวง Kasabian ก็จัดการอัปเปหินักร้องนำออกจากวง หลังศาลตัดสินว่าเขามีความผิดจริงในข้อหาทำร้ายร่างกายแฟนสาว

แต่บทลงโทษในบางกรณีก็ทำให้เกิดข้อถกเถียง อย่างเคสของไอดอลเกาหลี อิมยองมิน วง AB6IX ที่ถูกจับเมาแล้วขับ ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงมากในสังคมเกาหลีใต้ แต่อิมยองมินไม่ได้เพียงถูกพักงานเท่านั้น เขาถึงขั้นต้องลาออกจากวงเลยทีเดียว คำถามคือเขาสมควรถูกผลักไสออกจากวงการหรือสังคมควรให้โอกาสเขาแก้ตัว และสังคมคาดหวังให้ศิลปินเป็นผ้าขาวบริสุทธิ์มากกว่าปุถุชนสีเทาหรือเปล่า

อีกสิ่งที่เป็นปัญหาตามมาเมื่อศิลปินทำผิดคือสังคมมักโฟกัสว่าเขาหรือเธอ ‘รู้สึกผิดหรือยัง’ มากจนเกินไป เช่น กรณีของจีมินวง AOA ที่ถูกอดีตเพื่อนร่วมวงเปิดโปงว่าเคยถูกเธอกลั่นแกล้ง ต่อมาเธอจึงประกาศลาออกจากวงการเพลงและแถลงขอโทษ แต่ชาวเน็ตก็พากันก่นด่าว่าเธอไม่ได้รู้สึกผิดจริงหรอก เพราะถูกแฉน่ะสิ เลยต้องขอโทษ

คำถามคือต้องทำอย่างไรล่ะถึงจะพิสูจน์ได้ว่ารู้สึกผิดแท้จริง เขียนจดหมายด้วยลายมือ? เขียนด้วยเลือด? ก้มหัวขอขมา? โกนหัว?

อย่างไรก็ดี คำถามสำคัญที่สุดสำหรับแฟนคลับคือ เมื่อศิลปินทำผิดหรือทำให้ผิดหวัง เราจะยังสนับสนุน/ติดตามเขาต่อไปหรือเปล่า (ในกรณีที่เขายังได้ทำงานต่อ) นี่เป็นคำถามที่ผมได้รับจากคนรอบตัวอยู่เสมอ คำตอบคือมันคงไม่มีกฎตายตัวชัดเจน อย่างตัวผมก็มีเกณฑ์คร่าวๆ ว่าสิ่งที่ศิลปินทำมันร้ายแรงแค่ไหน สร้างผลกระทบมากเท่าไร เรารับได้หรือเปล่า เคสที่ผมรับไม่ได้ก็จะเป็นการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ สนับสนุนการฆ่า/ล้างเผ่าพันธุ์ แต่เรื่องเหยียดนี่พูดยาก แค่ไหนที่เรียกว่าเหยียด แถมการเหยียดก็มีหลายเลเวล เหยียดแบบตลกร้าย เหยียดจริงจัง เหยียดด้วยความไม่รู้ (ignorance) ฯลฯ

 

YouTube video

 

วิดีโอชื่อ Love the Art, Hate the Artist ของชาแนล The Art Assignment ยังเสนอเกณฑ์พิจารณาที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก เช่นว่า “ใครบ้างที่จะเดือดร้อนหากงานของศิลปินรายนั้นยังเข้าถึงได้” “ใครบ้างจะเดือดร้อนหากงานของศิลปินรายนั้นถูกลบเลือนไป” “ใครได้ประโยชน์หากเรายังคงให้ความสนใจศิลปินต่อไป” แต่สิ่งที่ผู้เขียนชอบในคลิปนี้คือการเสนอว่า ‘งานศิลปะ’ กับ ‘ตัวศิลปิน’ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การพยายามแยกทั้งสองสิ่งอย่างสัมบูรณ์ (หรือตามคำขวัญของผมนั่นแหละ) คือการลดบทบาทของเราในฐานะผู้เสพงาน มันเป็นการทำให้บทบาทของศิลปินอยู่เหนือเราจนเกินไป ทั้งที่จริงแล้วบทบาทสำคัญอยู่ที่ตัวเรา

เช่นนั้นแล้วในบางครั้งเรื่องส่วนตัวของศิลปินก็กลายเป็น ‘บริบท’ ที่เกี่ยวโยงกับผลงานของเขาที่เราอาจลองทำความเข้าใจ (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการสนับสนุนหรือนิยมชมชอบ) อาทิ ทำไมมอร์ริสซีย์ที่ยุคหนึ่งเคยแต่งเพลงด่าเชื้อพระวงศ์ ตอนนี้กลับสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวา, คลินต์ อีสต์วู้ด ที่มีแนวคิดทางการเมืองค่อนไปทางขวา (แต่เจ้าตัวไม่ค่อยยอมรับ) ได้สะท้อนสิ่งนั้นในงานภาพยนตร์ของเขาหรือไม่และแนบเนียนแค่ไหน หรือ คานเย เวสต์ ที่เคยสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ทำไมอยู่ดีๆ หันไปทำเพลงสรรเสริญพระเจ้า นี่เกี่ยวกับการที่เขาประกาศว่าเลิกหนุนทรัมป์แล้วหรือเปล่า

ดูเหมือนว่านับจากนี้ไปผมน่าจะต้องพูดประโยค “ศิลปินมีไว้ชื่นชม ไม่ได้มีไว้รู้จัก” ให้น้อยลง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save