fbpx
ความเห็นแก่ตัวของศิลปินในนามของศิลปะ

ความเห็นแก่ตัวของศิลปินในนามของศิลปะ

คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

นิทรรศการ SECOND HAND DIALOGUE ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY จบลงไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2019 อย่างไรก็ดี แม้งานจะเสร็จสิ้นไปแล้ว มันยังคงทิ้งร่องรอยหลายอย่างให้ผู้เขียนเอาไปขบคิดต่อ

สำหรับคุณผู้อ่านที่ไม่ได้ไปชมนิทรรศการนี้ ขอเล่าให้ฟังอย่างย่อว่ามันเป็นงานศิลปะประเภทที่เรียกร้องการมีส่วนร่วมจากผู้ชม กล่าวคือผู้ชมจะเข้าไปในห้องบันทึกเสียงแล้วโทรหาใครก็ได้เป็นระยะเวลาสั้นๆ บทสนทนาจะถูกบันทึกไว้ จากนั้นนำเอาไปออกอากาศต่อทางลำโพงที่ติดตั้งอยู่รอบแกลเลอรี่ ส่วนห้องตรงกลางจะมีศูนย์ทำงานที่มีคนนั่งถอดเทปบทสนทนาเหล่านั้น (กระบวนการจะถูกแสดงขึ้นบนจอ) อย่างไรก็ดี ผู้ชมอีกส่วนหนึ่งอาจเลือกไม่มีส่วนร่วมก็ได้ ด้วยการสังเกตการถอดเทปหรือไปนั่งๆ ยืนๆ ฟังเสียงบทสนทนาตามลำโพง

 

ที่มารูป: https://www.facebook.com/bangkokcitycity

 

ช่วงที่นิทรรศการดำเนินอยู่ ผู้เขียนเกิดสงสัยในเรื่องการยินยอม (Consent) ขึ้นมา เช่น สมมติผมโทรหาแฟนเก่า แล้วเธอจะรู้สึกโอเคหรือเปล่าที่คำพูดของตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ หลังจากสอบถามไปยังศิลปินโดยตรงก็ได้ความว่าก่อน ‘บริจาคบทสทนา’ (ในนิทรรศการใช้วลีนี้) ผู้บริจาคจะต้องเซ็นใบยินยอมก่อน ข้อตกลงมีหลายข้อ ตั้งแต่ต้องแจ้งให้คู่สนทนาทราบถึงรายละเอียดนิทรรศการ รวมถึงการรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง เช่นกรณีพูดคุยถึงเรื่องสุ่มเสี่ยง (ซึ่งประเทศนี้มีมากมายนับไม่ถ้วน)

ผู้เขียนอาจไม่ได้อินกับนิทรรศการ SECOND HAND DIALOGUE นัก (อาจเพราะวันที่ไปเจอแต่บทสนทนาที่ไม่ค่อยโดนใจ) แต่ชื่นชมการคิดคอนเซ็ปต์อย่างละเอียดรอบคอบ อย่าง ‘คู่สี’ ที่ใช้ในงานจะมีแต่แดงกับขาว รวมถึงการตกแต่งห้องต่างๆ ให้มีบรรยากาศไซไฟนิดๆ อย่างไรก็ดี ศิลปินแอบเล่าว่าก่อนจะจัดงานนี้ ทีมงานต้องคุยกันเรื่อง ‘กฎหมาย’ (โดยเฉพาะประเด็นความเป็นส่วนตัว) มากกว่าเรื่อง ‘ศิลปะ’ เสียอีก

หลายครั้งที่งานศิลปะของนวพลชวนให้นึกถึงประโยคทำนองว่า “ศิลปินสร้างสรรค์งานด้วยการฉกฉวยสิ่งต่างๆ ของผู้อื่น” อย่างนิทรรศการครั้งที่แล้วของนวพล I WRITE YOU A LOT (2016) เป็นการเอาภาพถ่ายบุคคลต่างๆ ที่เขาถ่ายไว้มาใส่คำบรรยายแต่งเติมเรื่องตามจินตนาการ ทว่ามันอาจไม่ให้ความรู้สึกที่คุกคามมากนัก เพราะภาพส่วนใหญ่ถ่ายในระยะไกลและเรื่องราวที่แต่งขึ้นออกไปในทางตลกร้ายหรือโรแมนติก ส่วนงาน SECOND HAND DIALOGUE ถือเป็นการยกระดับขึ้นสู่การ ‘ฉกฉวย’ โดยที่อีกฝ่าย ‘เต็มใจ’

ทว่างานศิลปะหลายชิ้นก็อาจมีที่มาจากการฉกฉวยที่ ‘ไม่เต็มใจ’

หนึ่งในแรงบันดาลใจคลาสสิกของการทำงานศิลปะคือเรื่องแฟนเก่า ว่ากันว่าหนังเรื่อง Lost in Translation (2003, โซเฟีย คอปโปล่า) และ Her (2013, สไปค์ จอนซ์) ต่างเป็นปฏิกิริยาต่อความสัมพันธ์ที่ร้างรากันของทั้งคู่ ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาโทรหากันหรือเปล่า ประมาณว่า “เฮ้ เธอ ฉันจะทำหนังเกี่ยวกับเธอนะ” หรือ “คุณๆ ผมจะทำหนังที่อินสไปร์จากคุณแหละ” แต่ถ้าให้เดาก็คง ‘ไม่’

 

วิดีโอแสดงความเชื่อมโยงกัน (โดยบังเอิญ?) ของหนังเรื่อง Lost in Translation กับ Her

 

ขอเล่าประสบการณ์ของตัวเองเล็กน้อย สมัยสิบกว่าปีก่อนที่ผู้เขียนยังทำภาพยนตร์สั้นอยู่ มีงานชิ้นหนึ่งที่เป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีภาพแฟนเก่าอยู่ด้วย ตอนนั้นคิดไม่ตกว่าต้องบอกเจ้าตัวหรือไม่ แต่ก็คิดเข้าข้างตัวเองไปว่า “เอ๊ะ นี่มันความทรงจำของคนสองคนนี่ ฉันก็มีสิทธิในความทรงจำนี้นะ” (โถ เจ้าเด็กน้อย…) สรุปก็ไม่ได้บอกอีกฝ่ายก่อน แต่ใช้วิธีเชิญมาดูตอนหนังฉายเลย เนื่องจากมันเป็นหนังทดลองและมีแค่ภาพขึ้นมานิ่งๆ เลยไม่ได้มีดราม่าอะไร แฟนเก่าบอกแค่ว่า “น่าจะเลือกรูปที่สวยกว่านี้หน่อย” แล้วก็จบกันไป แต่คิดย้อนไปแล้วรู้สึกอายจนอยากแทรกแผ่นดินหนี ถ้าเป็นวัยนี้คงไม่ทำอะไรแบบนั้นอีก

หรืออีกกรณีเป็นเรื่องของเพื่อนกับแฟนที่ผมรู้จักทั้งสองฝ่าย หลังจากเลิกรากันไปปรากฏว่าฝ่ายชายนำเอาความสัมพันธ์ที่จบลงไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตงานของตัวเอง เขาไม่ได้บอกฝ่ายหญิงและไม่ได้เชิญเธอไปในวันแสดงงานด้วย ผมก็เลยตกอยู่ในสถานะคนกลางที่ทำตัวลำบาก ถึงกระนั้นเมื่อได้พูดคุยกับฝ่ายหญิง เธอบอกว่า ‘ไม่พอใจ’ แต่ก็ ‘เข้าใจ’ ว่าในฐานะศิลปินแล้ว การที่เขาจะบอกหรือขออนุญาตเธอมันคงเป็นเรื่องทำใจลำบากและส่งผลต่อกระบวนการสร้างสรรค์งาน พวกเราเลยสรุปกันแบบติดตลกแต่จริงแท้ว่า “ศิลปินหลายครั้งก็เป็นพวกเห็นแก่ตัว หรือบางทีต้องยอมเห็นแก่ตัว”

ที่ยกตัวอย่างไปเป็นความเห็นแก่ตัวของศิลปินซึ่งส่งผลกระทบต่อคนรอบตัว แต่ในบางกรณีมันก็ส่งผลในวงกว้าง อย่างเช่นหนังดัง The Social Network (2010, เดวิด ฟินเชอร์) ที่คนทั้งโลกชื่นชม แต่คนที่ไม่แฮปปี้กับหนังอย่างแน่นอนคือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก เพราะหนังนำเสนอภาพเขาเป็นคนที่ไม่น่าคบเอาเสียเลย ซัคเคอร์เบิร์กเคยเปิดใจว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เขาเจ็บปวดพอสมควร มีการแต่งเติมเรื่องเกินจริงไปมาก หากสร้างอย่างตรงไปตรงมาหนังคงเป็นภาพเขานั่งเขียนโค้ดหน้าคอมพิวเตอร์ยาวสองชั่วโมง (ฮา)

ทว่าดราม่าหนักหน่วงที่สุดคงเป็นงานออสการ์เมื่อต้นปี 2019 เมื่อหนึ่งในหนังที่เข้าชิงสาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมคือ Detainment (2018, วินเซนต์ แลมบ์) สร้างจากคดีสะเทือนขวัญปี 1993 เมื่อเด็กชายวัยสิบขวบสองคนร่วมมือกันล่อลวง เจมส์ บัลเจอร์ เด็กอายุสองขวบไปฆ่า

 

 

เสียงตอบรับต่อ Detainment ล้วนเป็นเอกฉันท์ว่ามันคือหนังยอดเยี่ยม โดยเฉพาะความตึงเครียดที่แทบจะทนไม่ไหวและการแสดงอันสุดยอดของเหล่านักแสดงเด็ก แต่ปัญหาคือ ผู้กำกับแลมบ์ไม่เคยแจ้งเรื่องการสร้างหนังกับครอบครัวของ เจมส์ บัลเจอร์ เลย แม่ของบัลเจอร์ให้สัมภาษณ์ว่าเธอรู้สึก ‘ขยะแขยง’ หนังเรื่องนี้ และเรียกร้องให้หนังยุติการฉายและถอนตัวจากการชิงรางวัลออสการ์

แต่ทางฝั่งแลมบ์ไม่ยอมและบอกว่ามันจะเป็นการทำลายเป้าประสงค์ของการสร้างหนังเรื่องนี้ เขายืนยันว่าไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายจิตใจหรือแสวงหากำไรจากใคร แต่เขาต้องการตั้งคำถามว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เด็กสองคนที่ก่อเหตุสมควรถูกมองว่าเป็นปีศาจร้ายหรือไม่ และเราจะทำอย่างไรไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีก

บ้างกล่าวว่า Detainment เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จทาง ‘ศิลปะ’ แต่ล้มเหลวด้าน ‘มนุษยธรรม’ แต่นั่นก็เป็นเรื่องพูดลำบาก บางครั้งมนุษยธรรมเป็นสิ่งที่วัดได้ยากและคลุมเครือ เช่นเดียวกับการจะฟันธงว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้เป็นศิลปินที่มีความตั้งใจอันดี หรือเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจกันแน่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save