fbpx
ภาพปรากฏของนิทรรศการ

ภาพปรากฏของนิทรรศการ

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

 

หัวข้อข่าว Police round up ‘orlane’ boys ในหนังสือ Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946, หน้า 103

 

Police round up ‘orlane’ boys

18 January – Bangkok A hundred teenage boys were rounded up by police and ordered to change their clothes and behaviour. If a boy had a wavy bunch of hair hanging over his forehead, and long sideburns, he was called orlane. The slang word referred to the orlon material in their clothing, a fibre similar to nylon, and also the Thai word chinglane, which meant lizard. Orlane boys wore loud, striped, tight-fitting shirts, hung around theatres, listen to juke box music at coffee shops and whistled at girls.

 

ข้อความข้างต้นปรากฏอยู่ในหนังสือ Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946 หน้า103 หนังสือรวมหัวข้อข่าวหนังสือพิมพ์ บทความในนิตยสาร และภาพถ่ายขนาด 444 หน้าเล่มนี้จัดพิมพ์โดย Didier Millet และบางกอกโพสต์เมื่อปี 2552 เป็นบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยระหว่างปี 2489-2552 (ปี 2489 คือปีหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นปีก่อตั้งของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์) ประกอบด้วยหัวข้อข่าวที่ถูกคัดเลือกมาจำนวน 35-45 เรื่องต่อปี

หนึ่งในคณะกรรมการบรรณาธิการ (Editorial Committee) และผู้เขียนบทนำคือวิลเลียม วอร์เรน (William Warren) นักเขียนชาวอเมริกันผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมานานกว่า 50 ปี เขาเป็นเพื่อนสนิทของจิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) นักธุรกิจชาวอเมริกัน ราชาผ้าไหมไทย และอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอผู้หายตัวไปอย่างลึกลับในมาเลเซีย วอร์เรนยังเป็นผู้เขียนหนังสือ Jim Thompson: The Unsolved Mystery (2542) หรือในชื่อภาษาไทยว่า ปมปริศนา ราชาไหมไทย: จิม ทอมป์สัน (2544, แปลโดย สุรเดช ไกรนวพันธุ์) อีกด้วย ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันตั้งชื่อตามชื่อของเขาเพื่อเป็นเกียรติในฐานะผู้เขียนชีวประวัติเล่มแรกของทอมป์สัน

เมื่อศิลปิน กรกฤช เจียรพินิจนันท์ ได้รับเชิญให้เข้ามาสำรวจห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรนเพื่อสร้างงานศิลปะสำหรับจัดแสดงในห้องสมุด ท่ามกลางหนังสือ สูจิบัตรนิทรรศการ และเอกสารนานาประเภทนับร้อยนับพันเล่ม เขาเลือกเปิดหนังสือ Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946 และในบรรดาหัวข้อข่าวเกือบสามพันเรื่อง เขาเลือกหัวข้อข่าวกรอบเล็กๆ คือ Police round up ‘orlane’ boys หัวข้อข่าวนั้นกลายเป็นชื่อนิทรรศการศิลปะจัดวางเฉพาะเจาะจงพื้นที่ (site-specific installation) ออเหลน (ORLANE)

“orlane” หรือ “ออเหลน” เป็นคำแสลงที่ใช้เรียกวัยรุ่นชายในยุค พ.ศ. 2500 ซึ่งก็คือพวก “โก๋หลังวัง” นั่นเอง พวกเขาใส่กางเกงรัดรูปขาลีบแบบที่เรียกว่า “ทรงจิ้งเหลน” เสื้อเชิ้ตพอดีตัว หวีผมเสยใส่น้ำมัน มีปอยผมห้อยที่หน้าผาก ฟังเพลงร็อกแอนด์โรลจากตู้เพลงในคอฟฟี่ชอป ชื่นชอบเอลวิส เพรสลีย์และเจมส์ ดีน

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มองว่าออเหลนเป็นพวกอันธพาลกวนเมือง ต้องจับมาปรับทัศนคติและการแต่งตัว เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2502 มีการจับกุมวัยรุ่นเหล่านี้กว่าร้อยคนมาอบรมให้เปลี่ยนการแต่งกายเสียใหม่เป็นแบบสุภาพชน

ออเหลนเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาเรื่องราวในหนังสือที่วอร์เรนมีส่วนสำคัญในการสร้าง ระหว่างออเหลนกับวอร์เรน ไม่มีความสัมพันธ์ที่เฉพาะเจาะจงอันใด สถานะไม่ได้แตกต่างจากหัวข้อข่าวอื่นๆ อย่าง Female MP makes a stand for women’s rights (พ.ศ. 2500, หน้า 95), Field Marshall Thanom returns (พ.ศ. 2519, หน้า 212) หรือ Porthip wins Miss Universe crown in Taipei (พ.ศ. 2531, หน้า 283) ดังที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงการใช้ archive ในงานศิลปะร่วมสมัยมาแล้วครั้งหนึ่ง

ในที่นี้ กรกฤชสืบเสาะค้นหาแรงบันดาลใจจากห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรนที่เป็นประหนึ่งหอจดหมายเหตุกักเก็บข้อมูลสารพัน ความจับใจต่อเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งเป็นมุมมองเฉพาะบุคคล หัวข้อข่าว Police round up ‘orlane’ boys ถูกเลือกขึ้นมาเพราะผู้เลือกมองเห็นแง่มุมบางอย่างที่บรรจบกับความสนใจส่วนตัว คือวัฒนธรรมของวัยรุ่น แฟชั่นและวัฒนธรรมย่อย (subculture) ออเหลนไม่ได้พิเศษต่อวอร์เรน แต่พิเศษต่อกรกฤช

 

กรกฤช เจียรพินิจนันท์, ออเหลน, 2563, Selected images and texts from CHRONICLE OF THAILAND: HEADLINE NEWS SINCE 1946 by Nicholas Grossman (Editor-in- Chief), BANGKOK by Marc Riboud and William Warren, BANGKOK by William Warren and Paul Chesley, AMERICANS in THAILAND by Robert Horn, Denis Gray, Jim Algie, Jeff Hodson, Wesly Hsu and Nicholas Grossman. Image of Dang Bireley’s and Young Gangsters movie directed by Nonzee Nimibutr. Images of James Dean. Images from Auntie Noi’s friendship album. Images of independent gay magazine from 1989-1995. Scanning images of You Are Around, contact sheets, 1997. Paradox in FAT festival 2 for DNA magazine, 2001. Outtake image of Jibby, 2008. 138 images of scanning polaroids from 2000-2009. Pointless, retouching image, 2017 Folded poster, 4 colour offset printing, 50 x 67.7 cm, 50 copies ที่มาภาพ: กรกฤช เจียรพินิจนันท์

 

กรกฤช เจียรพินิจนันท์, ออเหลน, 2563, Selected images and texts from CHRONICLE OF THAILAND: HEADLINE NEWS SINCE 1946 by Nicholas Grossman (Editor-in- Chief), BANGKOK by Marc Riboud and William Warren, BANGKOK by William Warren and Paul Chesley, AMERICANS in THAILAND by Robert Horn, Denis Gray, Jim Algie, Jeff Hodson, Wesly Hsu and Nicholas Grossman. Image of Dang Bireley’s and Young Gangsters movie directed by Nonzee Nimibutr. Images of James Dean. Images from Auntie Noi’s friendship album. Images of independent gay magazine from 1989-1995. Scanning images of You Are Around, contact sheets, 1997. Paradox in FAT festival 2 for DNA magazine, 2001. Outtake image of Jibby, 2008. 138 images of scanning polaroids from 2000-2009. Pointless, retouching image, 2017 Folded poster, 4 colour offset printing, 50 x 67.7 cm, 50 copies ที่มาภาพ: กรกฤช เจียรพินิจนันท์

 

กรกฤช เจียรพินิจนันท์, ออเหลน, 2563, Selected images and texts from CHRONICLE OF THAILAND: HEADLINE NEWS SINCE 1946 by Nicholas Grossman (Editor-in- Chief), BANGKOK by Marc Riboud and William Warren, BANGKOK by William Warren and Paul Chesley, AMERICANS in THAILAND by Robert Horn, Denis Gray, Jim Algie, Jeff Hodson, Wesly Hsu and Nicholas Grossman. Image of Dang Bireley’s and Young Gangsters movie directed by Nonzee Nimibutr. Images of James Dean. Images from Auntie Noi’s friendship album. Images of independent gay magazine from 1989-1995. Scanning images of You Are Around, contact sheets, 1997. Paradox in FAT festival 2 for DNA magazine, 2001. Outtake image of Jibby, 2008. 138 images of scanning polaroids from 2000-2009. Pointless, retouching image, 2017 Folded poster, 4 colour offset printing, 50 x 67.7 cm, 50 copies ที่มาภาพ: กรกฤช เจียรพินิจนันท์

 

เช่นเดียวกับวิลเลียม วอร์เรนที่กลายร่างจากนักเขียนมาเป็นชื่อของห้องสมุด ออเหลนจากยุค 2500 ก็ขยายตัวออกมาจากหน้าหนังสือสู่ชื่อนิทรรศการศิลปะ และผลงานชิ้นหนึ่งในนั้น ออเหลน (2563) เป็นสิ่งพิมพ์ที่ทำขึ้นในรูปของหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ที่กางออกมาเป็นโปสเตอร์ได้ ภายในประกอบด้วยภาพและข้อความจากหนังสือสามเล่มที่วอร์เรนเป็นผู้เขียน ได้แก่ Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946 (2552), Bangkok (2515) ที่ทำร่วมกับมาร์ค ริบูด์ (Marc Riboud) ช่างภาพชาวฝรั่งเศสและ Bangkok (2537) ที่ทำร่วมกับพอล เชสลีย์ (Paul Chesley) ช่างภาพชาวอเมริกัน ซ้อนทับกันอยู่กับภาพและเรื่องราวของวัยรุ่นชาวกรุงเทพในยุคหลัง

จุดที่ชวนให้สะดุดใจคือ ในบรรดาภาพถ่ายวัยรุ่นผู้ชาย มีชุดภาพจากนิตยสารเกย์ฉบับต่างๆ ที่วางแผงอยู่ในช่วงปี 2532-2538 ปะปนอยู่ด้วย ออเหลน (2563) คือ photomontage ที่กอปรขึ้นจากภาพของหนุ่มวัยรุ่นไทยหลากยุคสมัย จิ๊กโก๋อันธพาลแบบแดง ไบเล่ย์ เกย์ แฟชั่น ข่าว อุตสาหกรรมบันเทิง เรื่องจริง เรื่องแต่ง และวัฒนธรรมป๊อป เมื่อผืนภาพเปิดกางออก เรือนร่างที่มีทั้งเปิดเผยและปกปิดด้วยอาภรณ์ของแต่ละยุคสมัย ตลอดจนสายตาที่ทั้งมองตรงและเหลือบมอง ก็แสดงให้เห็นถึงชั้นเชิงของศิลปินในการเผยนัยบางอย่างซึ่งหลบเร้นอยู่ในสายตาของผู้สร้างผลงาน

 

Installation view นิทรรศการ ออเหลน ที่ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ที่มาภาพ: กรกฤช เจียรพินิจนันท์

 

 

Installation view นิทรรศการ ออเหลน ที่ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ที่มาภาพ: กรกฤช เจียรพินิจนันท์

 

Installation view นิทรรศการ ออเหลน ที่ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ที่มาภาพ: กรกฤช เจียรพินิจนันท์

 

นิทรรศการ ออเหลน ประกอบด้วยผลงานทั้งหมด 18 ชิ้น มีทั้งหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ และภาพเคลื่อนไหวที่จัดวางอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ ภายในห้องสมุด โดยผู้ใช้ห้องสมุดสามารถเปิดอ่านและค้นหาเพิ่มเติมได้ ผลงานสร้างสรรค์กับตัวอ้างอิงดำรงอยู่ในพื้นที่เดียวกัน สะท้อนและเชื่อมโยงกันไปมา เป็น archival art ที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งข้อมูลตั้งต้น ทั้งยังเชื้อเชิญผู้ชมให้มีปฏิสัมพันธ์กับทั้งตัวผลงานและพื้นที่ผ่านการสำรวจค้นคว้า

เราอาจใช้เวลาหลายชั่วโมงในห้องสมุดขนาดย่อมเพื่อดูและอ่าน หลอมรวมกันเป็นการเสพรับศิลปะ ทว่า ความเป็นนิทรรศการศิลปะจัดวางเฉพาะเจาะจงพื้นที่+interactive ก็ดำเนินไปได้เพียงแค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากเปิดนิทรรศการได้เดือนกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ทำให้ห้องสมุดต้องปิดทำการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 4)  และ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน

ในสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดเดาล่วงหน้า เมื่อโรคระบาดร้ายแรงเข้าเขย่าภาวะปกติ ออเหลน ก็ย้ายตัวเองไปเป็นนิทรรศการออนไลน์จัดแสดงในเว็บไซต์ส่วนตัวของกรกฤช เราอาจไม่รู้สึกว่าการย้ายเข้าสู่พื้นที่ออนไลน์สร้างความแตกต่างมากนักเพราะในเวลานี้ พิพิธภัณฑ์สองพันกว่าแห่งทั่วโลกก็ร่วมมือกับ Google Arts & Culture ทำนิทรรศการออนไลน์เพื่อให้บริการในยามที่ผู้คนไม่ออกจากบ้านเหมือนกัน (ต่างกันที่ความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีที่ทำให้นิทรรศการเหล่านั้นเป็นแบบเสมือนจริง คือสามารถจำลองการเดินดูงานตามห้องต่างๆ ได้ด้วย)

แม้ลักษณะเช่นนี้จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องใหม่ (new normal?) แต่เรื่องธรรมดาไม่ว่าจะใหม่หรือไม่ ก็มีประเด็นให้อภิปรายได้เสมอ

เรื่องแรก ออเหลน จัดแสดงในเว็บไซต์ของศิลปิน ไม่ใช่เว็บไซต์ของหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สันที่ดูแลห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน โดยทั่วไปแล้ว เว็บไซต์ของศิลปินก็คือ portfolio ออนไลน์ เป็น archive ที่เก็บรวบรวมผลงานเก่าเรียงตามลำดับเวลา ในกรณีนี้ ผลงานที่สร้างจาก archive ในห้องสมุดคือ ออเหลน ได้ผสานเข้ากับ archive ส่วนตัวของกรกฤช ควรต้องอธิบายด้วยว่า ดั้งเดิมนั้น ผลงานหลายชิ้นในนิทรรศการ ออเหลน ก็คือผลงานเก่าที่เป็นภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์ของกรกฤชที่สร้างขึ้นระหว่างปี 1996-2019 นั่นเอง จัดแสดงในฐานะกึ่งงานศิลปะ กึ่ง archive หรือก็คือ archival art รูปแบบหนึ่ง

ในวาระนั้น ตัวตนผลงานของกรกฤชแทรกซึมอยู่ทั่วทั้งพื้นที่แสดงงาน ออเหลน จึงไม่ใช่นิทรรศการที่อุทิศถึงวิลเลียม วอร์เรน วอร์เรนเป็นชื่อของพื้นที่แสดงงาน เป็นจุดตั้งต้นของแรงบันดาลใจ เป็นที่มา แต่ไม่ใช่ปลายทางสุดท้าย

เมื่อศิลปินย้ายผลงานไปอยู่ในโลกออนไลน์โดยกลับสู่เว็บไซต์ของตัวเอง ความซับซ้อนของการเป็น archival art ยิ่งทวีคูณ เมื่อมองจากหน้าเว็บไซต์ที่มีรายการต่างๆ อยู่ทางซ้ายมือ ออเหลน จัดแสดงในส่วน “previous record 2011-2020” ไม่ได้อยู่ในอีกส่วนหนึ่งคือ “ongoing project” ปีนี้คือปี 2020 แต่ “previous record” ไม่ใช่ 2011-2019 หากเป็น 2011-2020 ที่นับรวมปีปัจจุบันเข้าไปด้วย

สรุปแล้ว ออเหลน คืออะไร? ออเหลน คือสิ่งที่ผ่านเลยไปแล้วจึงจัดเก็บเข้าเป็น archive? หรือเป็นสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่กันแน่? เป็น archival art หรือ archival art ที่กลายเป็น archive อีกที?

ราวกับอุปมาของสถานการณ์ COVID-19 ที่ยืดเยื้อ ออเหลน บนเว็บไซต์เป็นปัจจุบันที่ไม่อาจคาดเดาจุดสิ้นสุด กาลเวลาจากอดีตนับจากวันเปิดงานในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงทอดยาวโดยที่จุดตัดยังมาไม่ถึง คู่ขนานกันไปกับนิทรรศการในโลกจริงที่เพียงแค่หยุด แต่ยังไม่สุดสิ้น ห้องสมุดเพียงปิดทำการโดยไม่มีกำหนด นิทรรศการที่ตามกำหนดเดิมต้องปิดเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมาจึงยังไม่ปิด (แต่ก็ไม่เปิด…) ตัวแปรคือไวรัสนำมาซึ่งความค้างคาในกาลเวลาและปฏิบัติการทางศิลปะ ค้างคาทั้งการจัดแสดงและตัวตนของผลงานบนเวทีที่ไม่ใช่พื้นที่ดั้งเดิมแต่แรก

ในห้วงเวลาพิเศษนี้ แม้ ออเหลน จะอยู่ใน “previous record 2011-2020” แต่ก็เป็น “ongoing project” ไปพร้อมกัน เพราะ Post-COVID 19 ยังมาไม่ถึง

 

กรกฤช เจียรพินิจนันท์, กล่องที่ 1, 2563, Selected works in black leather box, 27.5 x 22 x 5.5 cm. ที่มาภาพ: กรกฤช เจียรพินิจนันท์

 

หนึ่งในภาพจาก กล่องที่ 7, I Wish (Bangkok), 2020, 32 Colour Indigo printing, each 10.5 x 16 cm, mounted on Uncoated colour papers, 18 x 18 cm. Marbled paper on paper box, 18.7 x 18.7 x 3.5 cm. ที่มาภาพ: กรกฤช เจียรพินิจนันท์

 

เรื่องต่อมา คือการกำหนดมุมมองและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผลงานกับผู้ชม ถึงแม้ ออเหลน จะเป็นนิทรรศการศิลปะจัดวางเฉพาะเจาะจงพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดเส้นทางเดินที่ตายตัว เมื่อผ่านประตูทางเข้าห้องสมุดเข้ามา ผู้ชมมีอิสระที่จะเลือกเดิน หยุดพักนั่งตามชุดโต๊ะเก้าอี้ ส่องหาหนังสือตามชั้นที่วางเรียงราย กวาดตามองรอบห้อง เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา กลับหน้ากลับหลัง เลือกตำแหน่งและมุมมองของตัวเอง

แต่ในเว็บไซต์ สิ่งที่เราเห็นคือภาพที่ถูกคัดเลือก ไม่ว่าจะเป็นภาพ installation view ที่กำกับมุมมองของเราว่าเราน่าจะได้เห็นผลงานในพื้นที่ห้องสมุดอย่างไร หรือภาพผลงานที่อยู่ในชุดที่เป็นกล่องข้อมูลลำดับต่างๆ ที่เรามองเห็นภาพข้างในได้โดยไม่ต้องเปิดกล่องเอง เราไม่อาจสัมผัสผลงานด้วยมือผ่านเว็บไซต์เหมือนที่เราทำในห้องสมุด (ข้อห้ามว่าด้วยการจับต้องผลงานศิลปะถูกทำลายลงนานแล้วในกรณีของศิลปะร่วมสมัย) และไม่อาจเห็นได้ครบถ้วนทุกชิ้น

ความสัมพันธ์ระหว่าง ออเหลน กับหนังสือและวัตถุต่างๆ ในห้องสมุดเปลี่ยนผันไปเป็นระหว่าง ออเหลน กับผลงานเก่าของกรกฤชโดยผ่านส่วนอื่นๆ ในเว็บไซต์ที่มีรายการให้เลือกคลิก ในขณะที่ตัวตนของวิลเลียม วอร์เรนและประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมอเมริกันและชาวอเมริกันในเมืองไทยยุคสงครามเย็นอันเป็นแกนรอง (sub theme) ที่อยู่ใต้เรื่องราวของวัยรุ่นยุคออเหลนเลือนรางลง เค้าโครงความเป็นกรกฤชก็เด่นชัดขึ้น การย้ายนิทรรศการเข้ามาจัดแสดงในเว็บไซต์ส่วนตัวเปิดทางให้ผู้ชมได้ทำความรู้จักกับจักรวาลผลงานของกรกฤช

เรื่องสุดท้าย ระหว่างโลกจริงกับโลกออนไลน์ โลกจำลองเสมือนจริง โลกดิจิทัล โลกของการผลิตซ้ำ ถึงแม้ว่า COVID-19 ทำให้นิทรรศการออนไลน์กลายเป็นภาคบังคับของพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และศิลปินทั้งหลาย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความสำคัญของวัตถุจริงที่มีตัวตนในโลกกายภาพจะลดลง ความโหยหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองและระหว่างมนุษย์กับวัตถุต่างๆ รวมทั้งการทำกิจกรรมนอกบ้านเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า โลกออนไลน์ (ไม่ว่าในปัจจุบันจะมีความสำคัญกับชีวิตของมนุษย์มากเพียงใด) นั้นไม่สามารถทดแทนประสบการณ์อันเกิดขึ้นจริงกับตัวได้อย่างหมดจด

แต่ในขณะที่มันไม่ “แทนที่” เพราะโลกออนไลน์นำเสนอประสบการณ์ “อีกแบบหนึ่ง” โดยสิ้นเชิงนั้น โลกออนไลน์ก็เปิดประตูบางบานที่เราไม่สามารถสัมผัสจริงได้ด้วยตัวเองให้เราด้วย

นานนับร้อยปีมาแล้วเคยมีข้อกังวลว่าภาพถ่ายจะมาแทนที่ภาพเขียน ตามด้วยภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์จะมาแทนที่ศิลปวัตถุ ภาพที่ถูกผลิตซ้ำ ภาพจำลอง จนมาถึงปัจจุบันคือภาพดิจิทัลแบบเสมือนจริงก่อให้เกิดปริวิตกในผู้คนบางหมู่ผู้ให้ค่ากับความ “original” ชนิดมองไม่เห็นความเป็นไปได้อื่น เราจะไม่อภิปรายข้อถกเถียงว่าอะไรดีกว่าอะไรกันในที่นี้ เพราะผู้เขียนเองไม่ได้เชื่อว่าอะไรดีกว่าอะไร เป็นเพียงความแตกต่างที่ให้ประสบการณ์การรับรู้คนละแบบ

อันที่จริงแล้ว นักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะทุกคนคุ้นเคยกับของจำลองและภาพศิลปวัตถุหรือสถาปัตยกรรมที่เกิดจากการผลิตซ้ำยิ่งกว่าของจริงเสียอีก เราทำความรู้จักประติมากรรมกรีกผ่านสิ่งที่เรียกว่า “Roman copy” ที่ดูผ่านหนังสือ เว็บไซต์หรือภาพสไลด์ในชั้นเรียน (ที่ส่วนใหญ่ก็แสกนมาจากหนังสือหรือดึงภาพมาจากเว็บไซต์อีกที) เราศึกษาแผนผังของเมืองโบราณผ่านการดูภาพถ่ายทางอากาศที่เผยให้เห็นตำแหน่งและความสัมพันธ์ระหว่างอาคารแต่ละหลังที่เป็นซากปรักหักพัง เราเรียนจากหนังสือมากเสียยิ่งกว่าจากของจริง

ในมุมของการศึกษา เทคโนโลยีเล่นบทสำคัญเสมอมาไม่ว่าจะในยุค analog หรือดิจิทัล เราได้เห็นมุมมองที่ต่อให้เราไปอยู่เบื้องหน้าของจริงก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็น ลองนึกถึงภาพเขียนสีเฟรสโกของไมเคิลแองเจโลบนผนังและเพดานที่ Sistine Chapel ในวาติกันที่นักท่องเที่ยวในฤดูร้อนหลั่งไหลเข้าไปวันละเกือบสองหมื่นคน ต่อให้เราพกกล้องส่องทางไกลไปด้วยก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ “ดื่มด่ำกับฝีแปรง” ในภาพ The Creation of Adam อันโด่งดัง มีแต่การมองผ่านเทคโนโลยีเท่านั้นที่ทำให้เราได้เห็นภาพโคลสอัพรายละเอียดของผลงานดังกล่าวได้ นอกจากนี้ Virtual Tour ที่อยู่ในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์วาติกันยังให้ประสบการณ์จำลองราวกับว่าเราได้เดินเข้าไปในอาคารอันปราศจากผู้คนที่ในความเป็นจริงเราไม่มีวันได้สัมผัส

อาจไม่มีอะไรใหม่สำหรับการจัดนิทรรศการออนไลน์ เพราะมีการทำกันมาตั้งแต่โลกยังไม่มี COVID-19 แต่ก็เป็นวิกฤต COVID-19 นี้เองที่มาสะกิดให้เราได้ตระหนักว่า ความสัมพันธ์ระหว่างออนไลน์กับโลกภายนอกซับซ้อนนั้นกว่าที่เคยคิด สำหรับงานศิลปะที่การมองเป็นผัสสะสำคัญเสมอมา การมองที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวกรองคือการรับรู้ผลงานเดิมในอีกแง่มุมหนึ่ง ระหว่างการเห็นวัตถุจริงที่จับต้องได้กับภาพของวัตถุผ่านหน้าจอที่ย่นย่อ-ขยายทั้งมิติและขนาดให้เป็นอื่น เราไม่จำเป็นต้องเลือกว่าอะไรดีกว่าอะไร ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าภาพถ่ายอันเป็นประดิษฐกรรมของศตวรรษที่ 19 ไม่ได้นำมาซึ่งการสูญพันธุ์ของภาพเขียน…

ไม่มีใครรู้ว่าวันไหนการจบสิ้นของคืนวันแห่งการกักตัวจะมาถึง แต่ต่อให้กรกฤชใส่ผลงานในนิทรรศการลงไปในเว็บไซต์ทุกชิ้น เพิ่มภาพ installation view เข้าไปอีกนับสิบภาพเพื่อพาสายตาของผู้ชมให้ซอกซอนเข้าไปจนครบทุกซอกมุมของห้องสมุด เมื่อวันนั้นมาถึง จะยังคงมีคนเดินทางไปดูงานในสถานที่จริง

เพราะประสบการณ์กับงานศิลปะไม่จบเพียงแค่การได้เห็นภาพ แต่คือการรับรู้วัตถุในบรรยากาศ คือระยะใกล้ชิดระหว่างเรากับผลงาน คือความเคลื่อนไหวของร่างกายในพื้นที่ คือบทสนทนาเงียบเชียบระหว่างเรากับสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า

 

หมายเหตุ – นิทรรศการ ออเหลน โดย กรกฤช เจียรพินิจนันท์ จัดแสดงที่ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์-30 เมษายน 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ห้องสมุดปิดทำการโดยไม่มีกำหนด

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save