fbpx

สื่อ-ศิลป์ 2019 : ปีแห่งการช่วงชิงพื้นที่และเสรีภาพ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ปี 2019 ที่ผ่านมา 101 ได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับแวดวงสื่อสารมวลชน รวมถึงแวดวงศิลปวัฒนธรรมไว้อย่างหลากหลาย หากมองอย่างผิวเผิน สองแวดวงนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันนัก ไม่นับว่าขอบเขตของแต่ละวงนั้นครอบคลุมเนื้อหาอันกว้างใหญ่ไพศาล

ทว่าในฐานะที่ผู้เขียนเป็นหนึ่งในคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวทั้งสองแวดวง พบว่าจุดร่วมอย่างหนึ่งที่คนทำงานในสองแวดวงนี้จำเป็นต้องมี คือพื้นที่ และเสรีภาพ

หากศิลปินไร้พื้นที่และเสรีภาพ คงไม่ต่างอะไรจากจอทีวีที่ไร้แสง

หากสื่อมวลชนไร้พื้นที่และเสรีภาพ คงไม่ต่างอะไรจากกระจกเงาที่ส่องเข้ากำแพง

เมื่อย้อนมองเนื้อหาว่าด้วยสื่อ-ศิลป์ ที่เผยแพร่ลง 101 ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ผู้เขียนพบลักษณะบางประการที่น่าสนใจ คือการพยายามช่วงชิงพื้นที่และเสรีภาพ ภายใต้ข้อจำกัดและความอัดอั้น ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นไปของสภาพสังคมการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ

ต่อไปนี้คือการประมวลไฮไลท์เด่นๆ มาให้อ่านกันแบบไม่เหนื่อยจนเกินไป และน่าจะทำให้พอมองเห็นแสงแห่งความหวังที่ส่องรำไรในปี 2020 ไม่มากก็น้อย

 

เมื่อสนามสื่อคือสนามรบ

 

“ผมเคยเชื่อว่าถ้าหากเอาข้อมูล เอาข้อเท็จจริงมาวาง แล้วคนจะเปลี่ยน แต่ไม่นานนี้ผมเพิ่งค้นพบว่า วิธีคิดแบบนั้นใช้ไม่ได้ผล เพราะคนมันไม่เชื่อ แล้วมันก็มีวิธีที่บัดซบมากในการอธิบายความไม่เชื่อนั้นๆ ไม่มีทางที่คุณจะเอา fact มาวางให้ตรงหน้า แล้วหวังว่าโลกมันจะเปลี่ยน”

นั่นคือประโยคที่ อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร Way Magazine เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ 101 เมื่อต้นปี เมื่อชวนเขาประเมินเส้นทางของสื่อในศักราช 2019

หนึ่งปีผ่านไป ภาพของการปะทะกันทางควาคิดความเชื่อบนพื้นที่สื่อ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ยิ่งย้ำชัดถึงสิ่งที่เขาพยากรณ์ไว้ สอดคล้องกับที่ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ทุกวันนี้คนเราเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากเชื่อ ไม่ได้เชื่อจากข้อมูล แต่เชื่อเพราะคนนี้พูด ความแปลกแยกของคนสมัยนี้ทำให้คนไม่อดทนพอที่จะฟังในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากฟัง”

อย่างไรก็ดี วันชัยยังมีความเชื่อว่าถ้าสื่อมวลชนนำเสนอเนื้อหาด้วยเหตุและผลอย่างอดทน เรี่ยวแรงที่ลงไปนั้นอาจไม่สูญเปล่าเสมอไป

“สิ่งที่สื่อพอจะทำได้ เวลาทำข่าวหรือนำเสนอเนื้อหาอะไร คือต้องมีเหตุและผลที่ชัดเจนมาสนับสนุน มันจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเริ่มสำรวจว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่ออาจจะไม่ใช่แล้ว ในมุมของสื่อ ถ้าเราอดทนพอที่จะนำเสนอเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล บนฐานของข้อเท็จจริง ผมเชื่อว่าจะทำให้คนจำนวนมากเข้าใจหลายๆ เรื่องได้ชัดเจนขึ้น เพียงแต่เราต้องอดทนพอสมควร”

และในฐานะที่เคยผ่านงานบริหารสถานีโทรทัศน์มาอย่างสมบุกสมบัน ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเมืองเหลืองแดง เรื่อยมาถึงช่วงหลังรัฐประหาร เขาบอกว่า “ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ บางทีเราก็ต้องไต่เส้นลวดบ้าง” โดยเน้นย้ำว่าหลักสำคัญที่สื่อมวลชนมืออาชีพควรยืดถือ คือความน่าเชื่อถือ และการตรวจสอบผู้มีอำนาจ

“ในเมื่อคุณมีอภิสิทธิ์อย่างหนึ่งในสังคม คุณก็ควรที่จะใช้อภิสิทธิ์นั้นตรวจสอบผู้มีอำนาจด้วย คำถามคือสื่อที่บอกตัวเองว่าเป็นสื่ออาชีพทุกวันนี้ ได้ทำหน้าที่นี้หรือไม่”

หากพื้นที่สื่อคือสนามรบ น่าสนใจว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่แต่ละฝ่ายแต่ละค่ายงัดออกมาใช้นั้นเป็นอย่างไร มีประสิทธิผลแค่ไหน กระทั่งว่ามันได้สร้างบาดแผลหรือความวอดวายให้กับใคร ในรูปแบบไหนบ้าง

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งเราชวนมาแลกเปลี่ยนทัศนะว่าด้วยการทำงานของสื่อไทยภายใต้รัฐบาลเผด็จการ เธอวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาว่าปัญหาของสื่อไทยทุกวันนี้ มีสองเรื่องใหญ่ๆ คือการไม่รู้ว่าฐานคิดของตัวเองคืออะไร และไม่รู้ว่าหน้าที่ตัวเองคืออะไร

“สิ่งสำคัญที่สุดของการทำสื่อ คือต้องทำความจริงให้ปรากฏ แม้จะมีการถกเถียงกันว่าความจริงคืออะไร แต่อย่างน้อยคุณต้องทำให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด นี่คือหน้าที่ของสื่อ คืองานของสื่อ คือความรับผิดชอบของสื่อ”

แต่ท่ามกลางความแตกแยกของผู้คน ซึ่งลามเลยไปถึงในแวดวงสื่อมวลชน คำถามสำคัญก็คือคนทำสื่อยังต้องยึดถือหลัก ‘ความเป็นกลาง’ อยู่หรือไม่ กระทั่งว่าสื่อสามารถเลือกข้างได้ไหม ในทัศนะของนิธินันท์ เธอมองว่าสื่อเลือกข้างได้ แต่ต้องทำอย่างมืออาชีพ

“ประเด็นที่ประเทศไทยยังพูดถึงกันน้อย คือคำว่า ‘Advocacy Journalism’ คือคุณเป็นสื่อที่เลือกข้างได้ แต่คุณต้องเป็นมืออาชีพด้วย แม้แต่ถ้าคุณจะเป็น propaganda คุณต้องเป็นมืออาชีพพอที่จะยอมรับว่าฉันกำลังทำ propaganda อย่าทำแบบอายๆ หรือหลบๆ ซ่อนๆ

“สิ่งที่สื่อไทยไม่ค่อยมีคือความอาจหาญ คุณต้องอาจหาญ ต้องเป็นตัวของตัวเอง ถ้าคุณรักเผด็จการ คุณจงอาจหาญที่จะพูดว่าฉันรักเผด็จการ เพราะเผด็จการในทัศนะของฉัน มันนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย ไม่มีใครออกนอกแถว ฉันชอบแถวแบบนี้ จงอาจหาญที่จะพูด แต่อย่ามาบอกว่าฉันเป็นประชาธิปไตยทั้งๆ ที่ในใจคิดอีกอย่าง”

มุมมองของนิธินันท์สอดคล้องกับคนทำสื่อรุ่นราวคราวเดียวกันอย่าง สุชาดา จักรพิสุทธิ์ โดยเธอมองว่าความเป็นกลางนั้นอาจไม่สำคัญเท่ากับความเป็นธรรม

“ถ้าคุณตีโจทย์ว่าความเป็นธรรมกับผู้ตกเป็นข่าว หรือความเป็นธรรมกับ Stakeholder ทั้งหมดในข่าวนั้นจำเป็นต้องมี คุณก็จะใช้จิตใจที่รักความเป็นธรรมในการชั่งน้ำหนักว่า หากคุณสัมภาษณ์แค่หนึ่งกับสอง แต่ฝ่ายที่หนึ่งเสียหายหนักหนาสาหัส ตายทั้งครอบครัว 9 ชีวิต ส่วนฝ่ายที่สองเป็นแค่นักการเมือง มีอิทธิพล คุณต้องให้ฝ่ายที่หนึ่งซึ่งมีคนอีก 9 ชีวิตที่เสียไป ได้พูดมากกว่าฝ่ายที่สอง

“คนมักจะคิดว่าความเป็นกลางคือคณิตศาสตร์หารสอง แต่ความเป็นธรรมไม่ใช่คณิตศาสตร์ มันคือความครบถ้วน ใจเขาใจเรา มีฝ่ายที่เสียหายมากกว่า สูญเสียมากกว่า ด้วยจำนวนที่เยอะกว่า มีผลกระทบต่อส่วนรวมและต่อประโยชน์สาธารณะที่มากกว่า”

ในฐานะคนที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายอย่าง 6 ตุลาฯ มาในช่วงที่เป็นนักศึกษา และเล็งเห็นว่าสื่อคือตัวการสำคัญที่ปลุกปั่นให้เกิดโศกนาฏกรรมในเช้าวันนั้นที่ธรรมศาสตร์ เธอมองว่าสิ่งที่คนในวิชาชีพนี้ต้องมี คือจิตใจที่อ่อนไหว รู้ทุกข์รู้สุขของคนอื่น

“ภาษาฝรั่งใช้คำว่า ‘take role’ คือการคิดถึงคนอื่นอย่างเข้าใจ เช่น ถ้าเราเป็นเขาแล้วจะเป็นยังไง ถ้าเขาประสบเหตุ ถูกฆ่า จะเป็นยังไง น้ำท่วม ทุกข์ยากขนาดไม่มีจะกิน มันเป็นยังไง ถ้าเรามีสื่อที่ take role เป็น เข้าใจทุกข์ของคนอื่น สื่อจะ sensitive และวิเคราะห์ปัญหาได้ถูกต้องมากกว่านี้ รู้ว่าควรจะยืนอยู่ข้างไหนได้มากกว่านี้

“ทุกวันนี้ปัญหามันก็ตีกลับเหมือนกรรมตามสนอง คือสื่อมวลชนเองไม่ได้รับการยอมรับนับถือ เครดิตเสื่อมถอยไปมาก อย่ามาโทษว่าเพราะคอนเทนต์ หรือว่าโซเชียลมีเดีย”

จากมุมมองความคิดที่ไล่เรียงมา สะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่านี่อาจเป็นช่วงเวลาที่บทบาทและสถานะของสื่อมวลชนไทยไม่สู้ดีเท่าไหร่นัก สิ่งที่น่าสนใจคือหากเราย้อนกลับไปพิจารณาต้นทางอย่างสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะคณะหรือสาขาวิชาที่ทำหน้าที่ผลิตนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ๆ ออกมา มีจุดไหนที่ต้องปรับตัวหรือไม่ และจะอยู่รอดอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้

“พอเห็นความเป็นกระดาษล่มสลายไปต่อหน้า นักศึกษาก็กลัวไม่มีงานทำ บวกกับความเป็น journalism ความเป็นคนข่าว ซึ่งคนมักติดภาพว่าทำงานเหนื่อย เงินเดือนน้อย ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่า แล้วกูจะเรียนไปทำไม” คือข้อสังเกตจาก รองศาสตราจารย์ รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขาเปิดใจว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษาในภาควิชาที่เขาประจำการอยู่นั้นน้อยลงอย่างน่าใจหาย โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความซบเซาของแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นผลให้ต้องมีการปรับโครงสร้างหลักสูตรกันขนานใหญ่ เพื่อให้ตอบรับกับโลกของสื่อที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับการตอบสนองความต้องการของผู้เรียนที่เทความสนใจไปยังสื่อออนไลน์มากขึ้น

อย่างไรก็ดี เขาย้ำว่าสิ่งที่เป็นแก่นของวิชาชีพยังเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนการสอนอยู่เหมือนเดิม ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไป คือเรื่องของการฝึกใช้ความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ซึ่งเป็นช่องโหว่ของระบบการศึกษาไทยมาช้านาน

เมื่อให้ลองวิเคราะห์การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน เขาตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ในภาวะที่ผู้คนและสื่อมวลชนแตกออกเป็นขั้ว เราต่างอยู่ถูกขังภายใต้กรวยที่จะได้ยินแค่เสียงบางเสียง ข้อมูลบางชุด ที่ดังก้องอยู่ภายในกรวยนั้นเท่านั้น

“สถาบันการศึกษา รวมถึงสื่อเอง ต้องช่วยกันทำความเข้าใจกับคนในสังคม ว่าคุณต้องใจเย็นๆ ลงหน่อย เพราะคุณกำลังอยู่ในชุดข้อมูลเดียวภายในกรวยนี้ เรื่องนี้มีหลักฐานงานวิจัยบอกชัดเจน ว่าทุกวันนี้คนอยู่ในกรวยจริงๆ สิ่งที่สื่อควรมีและควรทำ คือการทำให้คนอ่านไม่ว่าจะอยู่ในกรวยไหน เข้าไปอ่านแล้วรู้สึกว่า เออ แม่งจริงว่ะ แม้แต่สื่อที่เลือกข้างก็ตาม คุณต้องทำข้อมูลข่าวสารให้อีกข้างหนึ่งรับฟังได้ด้วย ซึ่งแปลว่าคนที่เป็นผู้เขียน เป็นกอง บ.ก. ต้องเปิดกว้างมาก

“ถ้าคุณเป็นสื่อที่อยู่ในสังกัดขั้ว คุณสามารถพูดจาให้อีกขั้วหนึ่งเปิดใจรับฟังได้ไหม ที่เห็นเดี๋ยวนี้มันฟังกันไม่ค่อยได้ กลายเป็นเรื่องสาดเสียเทเสีย ทำ fake news ถล่มใส่กัน”

หากการทำหน้าที่สื่อคือกระจกเงาสะท้อนสังคมอย่างที่ใครบางคนว่าไว้ อาจไม่ผิดนักหากจะพูดว่าภาพรวมของสื่อไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเสมือนกระจกที่ค่อนข้างขุ่นหมอง หรือไม่ก็เลือกส่องสะท้อนเฉพาะบางแง่มุมที่ตัวเองอยากเห็น

ยังไม่นับว่า มีกระจกอีกหลายบานที่พยายามตั้งใจทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ถูกทุบให้แตกด้วยน้ำมือของบางใครที่ไม่กล้าสบตากับความจริง

 

งานหนังสือตายแล้ว?

 

พ้นจากแวดวงสื่อ ขยับมาที่แวดวงหนังสือ เริ่มต้นปี 2019 ได้ไม่นาน คนที่รักในศิลปะ โดยเฉพาะกลุ่มนักอ่านและคนในแวดวงหนังสือ ก็ได้ตื่นตาตื่นใจกับอีเวนท์ใหม่ถอดด้ามที่ชื่อว่า ‘Lit Fest เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ’ ณ มิวเซียมสยาม ซึ่งเปลี่ยนภาพจำของคำว่า ‘งานหนังสือ’ ไปโดยสิ้นเชิง ด้วยรูปแบบของงานแฟร์ที่มีกิจกรรมสนุกๆ เข้ามาผสม สอดแทรกด้วยศิลปะแขนงอื่นๆ อย่างดนตรีและภาพยนตร์ แน่นอนว่าทีม 101 ไม่พลาดที่จะลงพื้นที่ไปเก็บบรรยากาศมาให้ชมกันตั้งแต่วันแรกของงาน

หากมองในฐานะผู้ที่ไปร่วมงาน พูดได้เต็มปากว่าเป็นงานที่ทั้งสนุกและสร้างสรรค์ สามารถปักหลักได้ทั้งวันจากมีกิจกรรมที่มีให้เลือกหลากหลาย และหากมองในฐานะคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังสือมาสักระยะ ก็พูดได้อย่างไม่เคอะเขินเช่นกัน ว่างานนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ช่วยเปิดมิติใหม่ๆ ในการจัดอีเวนท์เกี่ยวกับหนังสือหนังหา

ล่วงเข้าเดือนมีนาคม หลังเลือกตั้งไม่กี่วัน ก็ถึงเวลาที่แฟนหนังสือและบรรดาสำนักพิมพ์น้อยใหญ่ต้องโบกมือลาศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ได้ฤกษ์ปิดปรับปรุง ทิ้งความทรงจำสุดท้ายไว้กับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 หลังจากที่ถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานสัปดาห์หนังสือฯ มาต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว สิ่งที่คนในแวดวงหนังสือ รวมถึงแฟนนักอ่านพร้อมใจกันจับตา คืองานสัปดาห์หนังสือที่จะจัดขึ้นถัดจากนี้ จะย้ายไปยังสถานที่ไหน

รอไม่นาน สมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ก็ออกมาแถลงไขว่างานถัดไป คืองานมหกรรมหนังสือฯ ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม จะย้ายไปจัดที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้สโลแกน ‘ยกขบวนไปอิมแพ็ค’

101 มีโอกาสสัมภาษณ์ โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คนล่าสุด ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งสำคัญในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานสัปดาห์หนังสือฯ พอดิบพอดี เธอสารภาพว่านี่เป็นงานที่ ‘ไม่ง่าย’ เพราะนอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แล้ว ยังถูกบีบด้วยเวลาที่จำกัด

“เรามองว่าความท้าทายคือโอกาส ความยากหรือความท้าทายในที่นี้คือทุกอย่างมันใหม่หมด ต้องมาดูเหตุปัจจัย ต้องดูธรรมชาติของมัน และพยายามเข้าไปทำให้เหตุปัจจัยเหล่านั้นเป็นเหตุปัจจัยที่ดี เพื่อนำไปสู่ผลที่ดี

“อีกแง่หนึ่ง เราเชื่อว่ามันจะเป็นโอกาสให้คนในชุมชนอีกโซนนึง ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสงานนี้ได้ง่ายขึ้น ก็อยากเชิญชวนคนที่อยู่โซนเมืองทอง นนทบุรี หรือกระทั่งอยุธยา ที่ก่อนหน้านี้อาจไม่ได้มีโอกาสไปงานหนังสือที่ใจกลางเมืองอย่างแต่ก่อน คราวนี้ก็น่าจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อยากให้ลองมาเปิดประสบการณ์ ลองมาหาคอนเทนต์ใหม่ๆ ให้ชีวิตกันดูค่ะ”

นั่นคือบางส่วนของทัศนะและความตั้งใจที่เธอให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนที่งานมหกรรมหนังสือฯ ที่อิมแพ็คจะเริ่มต้น

ทว่าเมื่อถึงเวลา ปัญหาหลายอย่างก็ค่อยๆ พรั่งพรูออกมา ทั้งจากมุมของสำนักพิมพ์ที่ไปร่วมออกบูธ ที่หลายเสียงพูดไปในทิศทางเดียวกันว่าคนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และตั้งคำถามถึงสมาคมฯ ในแง่ของการเตรียมความพร้อม รวมถึงแนวทางในการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายที่น่าจะครอบคลุมและน่าดึงดูดมากกว่านี้

ส่วนในมุมผู้ร่วมงาน เสียงบ่นที่หนาหูที่สุดย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการเดินทาง แม้ทางสมาคมฯ จะจัดบริการรถรับ-ส่งเพิ่มเติม พร้อมประชาสัมพันธ์วิธีการเดินทางผ่านขนส่งสาธารณะ แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังมองว่าสถานที่จัดงานนั้นค่อนข้างไกล และเดินทางลำบากพอสมควร เมื่อเทียบกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เหล่านี้นับเป็นโจทย์ที่สมาคมฯ ในฐานะเจ้าภาพหลักในการจัดงานมหกรรมหนังสือต่างๆ ต้องนำไปพิจารณาเพื่อแก้ปัญหา และยกระดับการจัดงานในครั้งต่อๆ ไปให้น่าสนใจและตอบโจทย์ทุกฝ่ายมากขึ้น หากไม่อยากให้ ‘งานสัปดาห์หนังสือฯ ตายแล้ว’ ดังที่มีคนปรามาสไว้

ในส่วนของ 101 เองนั้น ช่วงกลางปีที่ผ่านมาได้จัดอีเวนท์ ‘ความน่าจะอ่าน 2018-2019’ ที่ชวนนักอ่านและผู้คนในแวดวงหนังสือ มาร่วมกันคัดเลือกหนังสือที่ ‘น่าจะอ่าน’ แห่งปี โดยหนังสือที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุด คือเรื่อง ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ ที่เป็นเสมือนไดอารีระหว่างที่ถูกจองจำในคุก ของภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันในชื่อ ‘เจ้าสาวหมาป่า’

ในงานเสวนา ‘ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : Final Round’ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ได้เขียนจดหมายขอบคุณผู้อ่าน โดยฝากให้เพื่อนนักโทษที่เธอเจอในคุก เป็นผู้ถ่ายทอดให้แขกทุกคนในงานฟัง ใจความตอนหนึ่งว่า

…ขอบคุณผู้อ่านที่ให้เกียรติเปิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ขอบคุณที่พูดถึงมัน วิพากษ์วิจารณ์มัน และข้าพเจ้ายินดีที่จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งอันในประเทศที่ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นนี้

ข้าพเจ้าหวังว่าเราทุกคนจะผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายไปได้ด้วยการตระหนักถึงพลังของตนเอง ข้าพเจ้าเขียนเพราะข้าพเจ้าต้องเขียน ถ้าข้าพเจ้าไม่เขียนข้าพเจ้าจะไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้ และข้าพเจ้าก็ทำทุกสิ่งทุกอย่างเช่นที่ทำอยู่ทุกวันนี้เพื่อประคับประคองหัวใจของข้าพเจ้าเอง พวกท่านก็เช่นกัน จงทำสิ่งใดที่ทำได้ เพื่อรักษาหัวใจของตนเองไว้อย่างดีที่สุด

ขอบคุณที่ทั้งหมดทั้งมวลที่ข้าพเจ้าทำอย่างสุดจิตสุดใจส่งข้าพเจ้าไปติดคุก

หากใครยังไม่มีหนังสือของข้าพเจ้า โปรดไปซื้อหามาไว้ในครอบครอง นอกจากความหนาจะใช้ฟาดหน้าผู้ที่จะมารุมทำร้ายได้บ้างแล้ว หากว่าวันใดบ้านคุณไฟไหม้ จงรู้ไว้ว่าหนังสือเล่มนี้จะไม่ไหม้ไฟ แต่หากวันใดท่านเดินหลงป่าก็ฉีกออกมาใช้เป็นเชื้อไฟได้…

สำหรับทีมงาน 101 และผู้ที่ได้มาร่วมงานในวันนั้น นี่ถือเป็นอีกหนึ่งโมเมนต์ที่น่าประทับใจแห่งปี เป็นความประทับใจที่แฝงด้วยความเศร้าและอึดอัดคับข้องอยู่ลึกๆ

นอกเหนือจากอีเวนท์ที่เกี่ยวกับแวดวงหนังสือ ในรอบปีที่ผ่านมา 101 ได้ตระเวนไปพบปะพูดคุยกับคนในแวดวงหนังสืออีกหลายต่อหลายคน ไล่ตั้งแต่ รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ร่วมก่อตั้งร้านหนังสือ Book Re:public แห่งเชียงใหม่ ที่เพิ่งกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา, ครูต้อม ชโลมใจ ชยพันธนาการ แห่งห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ, อติภพ ภัทรเดชไพศาล และ อุรุดา โควินท์ สองนักเขียนที่กำลังปลุกปั้น ‘สมิงบุ๊คคลับ’ อยู่ที่เชียงราย, อนุรุทธ์ วรรณพิณ และ นัฏฐกร ปาระชัย แห่ง Readery, ชัยพร อินทุวิศาลกุล แห่งโรงพิมพ์ภาพพิมพ์, ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ นักวาดการ์ตูนเจ้าของนามปากกา ‘สะอาด’

ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, ประธาน ธีระธาดา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Art4d, จิรเดช โอภาสพันธวงศ์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร a day, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียน นักสัมภาษณ์ ผู้เขียนคอลัมน์ Interview 101 เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ปีล่าสุด รวมไปถึง สุธิดา วิมุตติโกศล ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้มุมมองเกี่ยวกับวัฒนธรรมการอ่านและการวิจารณ์แบบไทยๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังที่กล่าวไว้ในบางช่วงบางตอนของรายการ 101 one-on-one Ep.88 ว่า

“บางคนพูดถึงความสำคัญของ ‘อ่านอะไร’ เช่นบอกว่า แม้จะอ่านมากเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ก็ไม่เวิร์ก ต้องอ่านสิ่งมีคุณค่า ประเทืองปัญญา แต่ส่วนตัวคิดว่าความสำคัญอยู่ที่ ‘อ่านอย่างไร’ มากกว่า ต่อให้อ่านเว็บพันทิปหรืออ่านการ์ตูนก็ไม่ได้เป็นปัญหา ถ้าอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ อยู่ที่ว่าเรามองสิ่งที่อ่านอย่างไร และได้อะไรจากสิ่งที่อ่าน

“วัฒนธรรมการอ่านของไทยยังอ่อนแอ เพราะเราเคารพสิ่งที่เราอ่านมากเกินไป เหมือนที่เคารพสิ่งอื่นที่มีอำนาจสูงกว่าเรา ให้ในสิ่งที่เราไม่มีได้ เรามีแนวโน้มที่จะให้ความเคารพเชื่อถือต่อสิ่งที่อ่าน ให้หนังสือเป็นตัวกำหนดว่าเราจะเข้าถึงมันยังไง ถ้าเราลองเปลี่ยน ไม่เชื่อถือมัน เถียงกับมันได้ วิเคราะห์วิจารณ์มันได้ จะเป็นวิธีการอ่านอีกแบบหนึ่ง

“ในแวดวงการศึกษา เราอ่านเพื่อเรียนรู้จากหนังสือ ส่วนใหญ่หนังสือที่เราอ่านถ้าไม่ใช่แบบเรียน ก็ถูกคัดมาโดยคนที่มีอำนาจในสังคมว่าสิ่งนี้ดีสำหรับเรา รวมไปถึงสื่ออื่นๆ สังคมไทยมีการเซ็นเซอร์ว่าเด็กวัยนี้ควรได้ดูอะไร ซึ่งมาพร้อมแนวคิดการสั่งสอน เรื่องศีลธรรมอันดีต่างๆ ไม่แปลกที่เราจะมองว่าตัวบทต้องสอนอะไรเรา”

 

ศิลปะกับการช่วงชิงพื้นที่และเสรีภาพ

 

เรื่องราวของศิลปวัฒนธรรม เป็นอีกหมวดหมู่หนึ่งที่ 101 นำเสนอเนื้อหาออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 ที่ผ่านมา นอกจากคอลัมนิสต์ขาประจำอย่าง ‘นรา’ ที่เขียนรีวิวภาพยนตร์ทั้งในและกระแสได้อย่างเฉียบคม และ Eyedropper Fill ที่คอยอัพเดตข่าวสารและเทรนด์ใหม่ๆ ในแวดวงศิลปะแล้ว เรามีคอลัมนิสต์หน้าใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยเสริมเนื้อหาในหมวดนี้ให้มีน้ำมีเนื้อมากขึ้น

ไล่ตั้งแต่ ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนวิจารณ์นิทรรศการศิลปะ และบทวิเคราะห์ที่เชื่อมโลกศิลปะกับการเมือง

คันฉัตร รังสีกาญจน์ส่อง นักเขียน นักวิจารณ์ภาพยนตร์ แบ่งปันประสบการณ์และมุมมองทั้งจากการเป็นอาจารย์พิเศษ และการแง่มุมที่ตกผลึกจากการชมงานศิลปะหลากแขนง

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล นักแปลและอาจารย์ด้านวรรณคดีอังกฤษ อัพเดตข่าวสารและความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะ-วรรณกรรมระดับโลก ส่งต้นฉบับร้อนๆ ข้ามทวีปมาจากอังกฤษ

ขณะเดียวกัน กองบรรณาธิการ The101.world ก็ได้พูดคุยกับตัวละครหลากหลายในแวดวงศิลปะ ไล่ตั้งแต่ ศุ บุญเลี้ยง นักเขียนและนักแต่งเพลง, สุมาลี เอกชนนิยม ศิลปินและอาจารย์ด้านศิลปะ ธาดา เฮงทรัพย์กูล ช่างภาพ ดีเจ และศิลปินอิสระ, ‘สิปปกร’ ศิลปินและเจ้าของเพจ Baphoboy, นักรบ มูลมานัส นักออกแบบผู้เชี่ยวชาญด้านงานคอลลาจ, วิสูจน์ ศรีสัจจะลักษณ์ หรือ เล็กฮิป’ ตัวละครสำคัญในนวนิยาย พันธุ์หมาบ้า ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์และอาจารย์ด้านศิลปะ, ธีระวัฒน์ มุลวิไล ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มละคร B-Floor, กิตติยา แก้วมณี หัวหน้าทีมเต้น D Maniac

นอกจากนี้ ช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม เราได้ชวน 4 ศิลปินรุ่นใหม่ คือ พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล นักร้องและนักแสดง, ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ช่างภาพสตรีทและผู้ร่วมก่อตั้ง Clapper Club, น้ำใส ศุภวงศ์ กราฟิกดีไซน์เนอร์ และ คาลิล พิศสุวรรณ นักเขียน มาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับแวะวงศิลปะและการเมืองไทยที่พวกเขาอยากเห็น

เมื่อพิจารณาภาพรวมของเนื้อหาที่ไล่เรียงมา ไม่แน่ว่าเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาอย่างเห็นได้ชัด คือศิลปะกับสภาวะสังคมการเมืองนั้น เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ดังที่ พิช-วิชญ์วิสิฐ กล่าวไว้ในบางช่วงบางตอนในวงสนทนาว่า

“ปัญหาของประเทศนี้ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าไม่ค่อยมีเสรีในการแสดงออกทางความรู้สึกและความคิดเท่าไหร่ สมมติถ้าเราอยู่ในพื้นที่ที่สามารถบ่นขิงข่าอะไรก็ได้ โดยที่ไม่มีใครมาว่า เราน่าจะทานทนกับสิ่งที่เป็นอยู่ได้ดีกว่านี้ เพราะกูได้พูด กูได้ด่า แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรื่องนี้ก็พูดไม่ได้ เรื่องนั้นก็ห้ามพูด งั้นกูแปรสภาพเป็นงานศิลปะแทนละกัน”

แต่อีกด้านหนึ่ง การเรียกร้องให้ศิลปินต้องทำงานศิลปะที่สะท้อนสังคมอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นการคาดหวังที่ผิดฝาผิดตัว อย่างที่ธนาวิ ตั้งข้อสังเกตไว้ในรายการ 101 one-on-one Ep.78 ตอน ‘ศิลปะแห่งการช่วงชิงความทรงจำ’ ว่า

“ถ้าศิลปินวาดรูปดอกไม้ได้ดีที่สุด ก็ไม่มีใครไปบังคับให้เขาเขียนเรื่องการเมืองได้ คนวงการศิลปะอาจเรียกร้องว่า ทำไมศิลปินไม่สนใจปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นรอบตัวเลย เขาอาจสนใจก็ได้ แต่ไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวกับสิ่งนั้น เขาอาจไปชุมนุมทุกครั้งโดยที่คุณไม่รู้ก็ได้”

ขณะเดียวกัน เมื่อมองในภาพใหญ่ของสังคม เรื่องของศิลปวัฒนธรรม กระทั่งเรื่องรสนิยม ภายใต้บริบทของสังคมไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าตกอยู่ภายใต้การควบคุมและชี้นำของชนชั้นนำมาโดยตลอด ดังที่ถนอม ชาภักดี ตั้งแต่ข้อสังเกตไว้ว่า

“พวกนี้เป็นเรื่องปัจเจกมากๆ แล้วคุณคิดว่ารัฐไทยเคยปล่อยให้คุณเป็นปัจเจกมั้ย ไม่เคย เกิดมาปั๊บก็รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย ต้องกินอาหารไทย ต้องฟังดนตรีไทย มอตโต้ตั้งแต่มีรัฐชาติไทยขึ้นมา เป็นเรื่องของกลไกที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐมาตลอด

“รสนิยมภายใต้รัฐต้องเป็นเอกภาพ ต้องเหมือนกัน ต้องพร้อมเพรียง อย่างนั้นถึงจะดี แต่ความเป็นรสนิยมโดยตัวมันเองคือเรื่องของแต่ละคน จุดตัดของรสนิยมหรือสุนทรียะทำให้เกิดการวิจารณ์ แล้วก็มาหาจุดร่วมด้วยกัน ผมชอบกินส้มตำปลาแดก แต่คุณบอกว่าใส่อย่างอื่นน่าจะอร่อยกว่า หรือไม่ใส่เพราะเหม็นปลาแดก สองส้มตำก็จะมาดีเบทกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าของคุณดี ของผมไม่ดี”

“หลังปี 2475 เป็นต้นมา ทุกอย่างประดิษฐ์หมด เป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง รัฐพยายามจะให้เกิดความเป็น unity ให้ได้ ภายใต้กรอบอะไรก็แล้วแต่ ศิลปวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญอันแรก เป็น soft power ที่สามารถจะทำได้ แล้วอย่าลืมว่าเครื่องมือของรัฐไม่ใช่แค่ศิลปวัฒนธรรม แต่กลไกของรัฐทำผ่านกระบวนการของระบบข้าราชการเป็นหมื่นๆ แสนๆ คน ข้าราชการก็อยู่ภายใต้กำกับของรัฐ จะต้องทำตาม ไม่อย่างนั้นคุณก็ไม่ได้เงินเดือน ไม่ได้เลื่อนชั้น มีกลไกที่ทำให้คุณขยับไปไหนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการสร้างวัฒนธรรมประดิษฐ์ ผ่านกระบวนการทางศิลปวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด”

 

จากเนื้อหาทั้งหมดทั้งมวลที่ประมวลออกมา ไม่ว่าในมุมของสื่อมวลชน หรือมุมของคนทำงานด้านศิลปะ ผู้เขียนพบว่าวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจในการใช้ชีวิตท่ามกลางสภาวะสังคมแบบนี้ พร้อมๆ ไปการขับเคลื่อนสังคมไปสู่จุดที่ดีกว่าอย่างที่ใครหลายคนวาดฝันไว้ อาจตั้งต้นจากการลงมือลงแรงทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่ออย่างสุดกำลัง ในพื้นที่ที่ตัวเองมี

แม้ดอกผลอาจยังไม่ผลิบานในเร็ววัน แต่อย่างน้อยเมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงไป ย่อมค่อยๆ ฝังรากลึกลงในผืนดิน รอวันเติบใหญ่ในจังหวะเวลาที่ดินฟ้าเอื้ออำนวย.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save