fbpx
ส่องแนวรบด้านศิลปวัฒนธรรม หลัง ‘ประเทศกูมี’ เผชิญหน้าอำนาจรัฐ

ส่องแนวรบด้านศิลปวัฒนธรรม หลัง ‘ประเทศกูมี’ เผชิญหน้าอำนาจรัฐ

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ไม่ใช่ครั้งแรกที่สาธารณชนถูกชวนเข้าไปในโลกความคิดทางการเมืองผ่านบทเพลง

นอกจากภาพถ่ายและหนังสือ สังคมสยามเปลี่ยนผ่านมาถึงสังคมไทย มีบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านทางบทเพลงมาเสมอ

สมัยรัชกาลที่ 4 ที่กำลังเผชิญหน้ากับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ เพลงชาติอย่าง ‘God Save the Queen’ ยังถูกเอามาแปลงเป็นเพลง ‘จอมราชจงเจริญ’ โดยชนชั้นนำสยาม เพื่อสดุดีกษัตริย์

ในมุมหนึ่ง เป็นไปได้ว่าดนตรีไม่ได้ทำให้ใครเสียเลือดเสียเนื้อ

และในอีกมุม บางบทเพลงก็สะท้อนฉาก ชีวิต และเหตุการณ์ความเป็นจริงของยุคสมัยไว้เช่นกัน

แต่โมงยามนี้ไม่ใช่เวลามาพูดถึงเพลงที่กลั่นมาจากอำนาจรัฐ เพื่อบังคับให้พลเมืองหันซ้ายหันขวา ซึ่งได้ยินได้ฟังกันมาทั้งชีวิตอยู่แล้ว

พ้นไปจาก ‘ประเทศกูมี’ แล้ว 101 ชวนลองเหลียวหลังแลหน้า กวาดสายตาหาแนวรบด้านศิลปวัฒนธรรมที่ต่อต้านอำนาจรัฐ ว่ามีใครเคียงข้างอีกบ้าง

หากโมงยามนี้เป็นของ ประเทศกูมี ของคณะ Rap Against Dictatorship ที่กำลังเป็นเป้ามากที่สุด กระทั่งว่านอกจากฝ่ายรัฐจะออกท่าทีขึงขังคุกคามใส่แล้ว ยังถึงขั้นแต่งแร็ป Thailand 4.0 มาเรียกคืนความเชื่อมั่นจากสาธารณชน ผ่านมันสมองกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย

ทว่าเหมือนสำนวนไทย “ช้างตายทั้วตัว ใบบัวปิดไม่มิด” จะทรงพลังในการอธิบายความตั้งใจของฝ่ายรัฐได้ชัดเจนที่สุด และหลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของแนวรบด้านศิลปวัฒนธรรม…

แว่นตาสายภาพยนตร์

 

ธีระวัฒน์ รุจินธรรม
ธีระวัฒน์ รุจินธรรม

ภาพคนกำลังชูกำปั้นขึ้นดีใจไชโยโห่ร้อง บ้างปรบมือ คล้ายกับฝูงชนกำลังล้อมวงเอ็นจอยดูการแสดงสดของศิลปินแร็ปเปอร์ มุมกล้องหมุนเคลื่อนเป็นวงกลม วนไปเรื่อยๆ

แร็ปเปอร์หนุ่มผลัดกันมาเล่าเรื่องประเทศกูมีแทบทุกแง่มุม ดึงดูดผู้ชมราวกับอยู่ในมหรสพ แต่สุดท้ายตอนจบก็เผยภาพร่างไร้วิญญาณ ถูกแขวนคอห้อยต่องแต่ง พร้อมกับชายในชุดซาฟารีสีเข้มเงื้อเก้าอี้กระหน่ำฟาดร่างนั้น

หลังจากเอ็มวี ‘ประเทศกูมี’ เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับเอ็มวีชิ้นนี้เผลอไปเห็นคอมเมนต์ทำนองว่า “ไอ้เด็กพวกนี้มันเกิดทันเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยเหรอ ทำมาเป็นตื่นตัวทางการเมือง”

เขาคิดว่านั่นคงมาจากความคิดของคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์เมื่อ 40 กว่าปีก่อน และอาจจะลืมเลือนไปชั่วคราว จนกระทั่งวันที่มีคนรุ่นใหม่ออกมาพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา บรรดาลุงๆ ป้าๆ ที่แสดงความเป็นเจ้าของเหตุการณ์ต้องออกอาการหัวเสีย-หมั่นไส้

“ผมได้แต่ถามตัวเองในใจว่า อ้าว แล้วพวกพี่เกิดทัน ทำไมพวกพี่ถึงลืมล่ะ มีคนตาย ถูกแขวนคอ ถูกเก้าอี้ฟาดต่อหน้าต่อตา พี่ไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอ เพื่อนๆ พี่ทั้งนั้นไม่ใช่เหรอที่ตายไปในเหตุการณ์วันนั้น แล้วถามจริงๆ ว่าพี่จำชื่อคนตายได้บ้างไหม” เขาอธิบายความรู้สึกถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น

ผู้กำกับผมยาว เคราดกครึ้ม บอกว่าเขาทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และในฐานะที่เป็นผู้กำกับภาพ เขาต้องดีไซน์งานภาพให้สอดรับกับบทหนังเรื่องนั้นๆ และต้องทำงานทางความคิดกับผู้กำกับภาพยนตร์ด้วยในเบื้องต้น ก่อนจะเริ่มถ่ายทำ

“ผมเห็นกระบวนการทำงานทางความคิดว่าซีนไหนจะเล่าเรื่องอะไร เล่าเพื่ออะไร และผมมักเห็นโค้ดความคิดที่ถูกบรรจุลงไปในภาพยนตร์เสมอ แล้วคนดูมักจะไม่รู้สึกตัว”

เขายกตัวอย่างงานที่เคยผ่านมือ จำพวกหนังประวัติศาสตร์สู้รบสมัยอยุธยาที่คนไทยชอบดูกัน โจทย์ของมันคือต้องสร้างศัตรูขึ้นมาให้คนดูรู้สึกว่าฝ่ายไทยถูกรังแก เพราะฉะนั้นต้องทำให้ศัตรูมีบุคลิกที่คนดูรู้สึกเกลียดให้ได้ งานภาพยนตร์ต้องสร้างปีศาจที่น่ากลัวขึ้นมา

“เวลาแคสติ้งนักแสดง ต้องหาคนตัวใหญ่ๆ หน้าดุๆ เพื่อเอามาเป็นภาพแทนว่านี่เป็นคู่ต่อสู้ของพระเอกหรือฝั่งไทย และไทยกำลังต่อสู้อยู่กับความยากลำบาก ความโหดร้าย อีกฝั่งเป็นพวกกักขฬะ รุนแรง สมควรตาย”

ประเด็นคือสิ่งที่อยู่ในหนังใช่ความจริงหรือไม่

ธีระวัฒน์บอกว่า ถ้าคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ เข้าใจความจริง ดูแล้วจะเฉยๆ และรู้ว่ายุคนั้นยังไม่ได้เป็นไทย พรมแดนของประเทศไทยยังไม่เกิด พื้นที่ยังเป็นแค่อาณาจักรหนึ่งเท่านั้น แต่หนังที่ทำในปัจจุบันคือการสร้างมายาคติ พาคนดูย้อนหลังกลับไปแล้วผูกอคติขึ้นมา ทั้งที่คนดูไม่ได้รู้จักคนพม่าในปัจจุบันด้วยซ้ำว่าเป็นอย่างไร คนไทยแทบไม่รู้จักแรงงานพม่าที่ทำงานรับค่าแรงถูกๆ ว่าเขาอยู่กันอย่างไร

“อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความคลั่งชาติให้คนดู”

ธีระวัฒน์บอกอีกว่า แต่หากพูดอีกมุมหนึ่งก็ไม่น่าแปลกอะไร เพราะในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ หลายเรื่องก็สร้างมาเพื่อพร็อพพาแกนดาความคิดทางการเมืองอยู่แล้ว

“เยอรมนีในยุคนาซีก็มี Leni Riefenstahl ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Triumph of the Will’ หนังเรื่องนี้ยกย่องเชิดชูนาซีและชนชาติอารยัน ผลที่ตามมาคือ มันเกิดการแบ่งว่าใครเป็นเชื้อชาติแท้หรือเทียม จนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โลกลืมไม่ลง”

ไม่เพียงแต่หนังประวัติศาสตร์ชาตินิยม แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังโตไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยด้วย ธีระวัฒน์บอกว่าภาพยนตร์ไทยหลายต่อหลายเรื่องสร้างภาพโรแมนติกให้ชนบท สร้างภาพให้ชาวบ้านต่างจังหวัดดูเป็นคนซื่อและใสสะอาด ทั้งที่ความจริงชาวบ้านมีความเป็นการเมือง ชนบทไม่ได้โรแมนติก ชีวิตประจำวันพวกเขารู้จักการต่อรอง ประนีประนอม และเล่นการเมืองเป็น

“วันดีคืนดีพวกคุณเดินออกมาจากโรงหนัง แล้วเห็นว่าชาวบ้านไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิด ไม่เหมือนในหนังที่ดู คุณก็ไปหาว่าเขาโง่ หรือโดนนักการเมืองหลอก กระทั่งเลยเถิดไปมองว่าเขาไม่ใช่คนไทย และสุดท้ายเมื่อเขาเชื่อไม่เหมือนคุณ คุณก็ไปรังเกียจเขา และอาจยินดีถ้ามีใครไปฆ่าเขาเสีย”

ธีระวัฒน์ไม่ลังเลที่จะบอกว่าเขาต่อต้านอำนาจนอกระบบมาก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำเอ็มวีประเทศกูมี

หนังสั้นเรื่องแรกที่เขาทำ แต่ไม่ได้ลงชื่อ คือเรื่อง ‘นี่คือเหตุผลที่ทำไมคนไทยต้องเท่ากัน’ เผยแพร่ลงในเพจสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ปี 2556

ในช่วงเวลาที่ม็อบ กปปส. ปิดคูหาล้มการเลือกตั้ง มีจดหมายของชาวนาจาก ต.วังกรด จ.พิจิตร เขียนมาถึงอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธีระวัฒน์มีโอกาสได้อ่านจดหมายฉบับดังกล่าว

“ผมเห็นว่าเสียงของคนต่างจังหวัดมีความหมาย แต่สิทธิเสรีภาพของเขาถูกริบไปด้วยการที่มีคนเมืองออกมายึดประเทศ เป่านกหวีด และเหยียดหยามคนอื่นที่คิดต่างออกไป ว่าพวกเขาเป็นพวกเสียงที่ไม่มีคุณภาพบ้าง ถูกหลอกจากนักการเมืองบ้าง พูดง่ายๆ ก็คือดูถูกคนว่าไม่เท่ากันนั่นแหละ”

ประเด็นคือ ทั้งที่สายงานของผู้กำกับผมยาวเคราครึ้มคนนี้ น่าจะนำพาให้เขามีชีวิตสุขสบายดี แล้วจะหันมาเดือดเนื้อร้อนใจกับวิกฤตการเมืองไทยทำไม

“ส่วนตัวผมเป็นคนทำงานศิลปะ และผมไม่สามารถแยกตัวเองออกจากเนื้อดินสังคมนี้ได้ ผมเห็นประวัติศาสตร์ที่คนไทยฆ่ากันเองเพียงแค่เพราะคิดต่างกัน และถูกฝ่ายชนชั้นนำบิดเบือนว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรูของชาติ ผมเห็นใจคนที่ถูกกดเหยียบ ถูกทำให้ต่ำต้อย ทั้งที่เขามีค่า มีศักดิ์ศรีเท่ากับทุกคน แต่กลายเป็นว่างานศิลปะในสังคมนี้ส่วนใหญ่กลับไปส่งเสริมการกดเหยียบศักดิ์ศรีคน”

เขาบอกว่างานศิลปะควรเปิดพื้นที่ให้คนได้คิดต่างบ้าง ไม่เช่นนั้นพอคิดเหมือนกันหมด ถ้ามีใครคิดต่างออกไป ก็ต้องไปเกลียดกัน หรือไปฆ่ากันอีก “เราอยากจะอยู่ในสังคมแบบนี้เหรอ”

“ที่ผมออกมาทำเอ็มวีกับกลุ่ม Rap Against Dictatorship ส่วนหนึ่งเพราะผมคิดว่าเวลาของผมกำลังจะหมด ถ้านับอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ ผมอาจจะอยู่ได้แค่ 20-30 ปี แต่คนรุ่นใหม่มีภาระที่ต้องอยู่ไปอีกนาน และผมคิดว่าสังคมในอนาคตของพวกเขาควรจะดีกว่าที่เป็นอยู่ ผมมีความหวังและผมไม่รอที่จะออกมา” ธีระวัฒน์ กล่าว

แว่นตาสายละคร

ภาสกร อินทุมาร
ภาสกร อินทุมาร

“ในมุมของผม เอ็มวีประเทศกูมีที่เล่าถึงฉากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กำลังตั้งคำถามว่า คนเราสามารถสนุกสนานกับความรุนแรงตรงหน้าได้อย่างไร และดูเหมือนว่าแม้จะผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว ก็ยังมีคนไม่น้อยที่สนุกไปกับความรุนแรงได้อย่างเป็นปกติ”

ภาสกร อินทุมาร หัวหน้าสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนมุมมองต่อเอ็มวีเพลงแร็ปที่กำลังสั่นคลอนอำนาจรัฐอย่างตรงไปตรงมา

อย่างไรก็ตาม เขาย้อนเล่าว่าก่อนที่ทีมงานผู้แต่งเพลงประเทศกูมีจะถูกคุกคาม ละครเวทีเรื่อง ‘บางละเมิด’ เมื่อปี 2559 ของกลุ่มละครบีฟลอร์ กำกับโดย ‘อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์’ แม้ไม่แมสเท่าประเทศกูมี แต่ก็มีทหารเข้ามาดูทุกรอบ

“มันสะท้อนว่าศิลปะกำลังสำแดงการขัดขืนอำนาจในห้วงเวลาที่สังคมกำลังถูกกด”

นอกจากศิลปินขบถในสังคมไทย ภาสกรยกตัวอย่างถึงแนวรบด้านศิลปวัฒนธรรมในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ ที่ ‘เครือข่ายละครประชาชนแห่งฟิลิปปินส์’ (People’s Theatre Network of the Philippines) ใช้การละครตั้งคำถามกับอำนาจเถื่อนของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส เผด็จการที่ครองอำนาจในช่วงปี 1985-1986

เขาเล่าว่า เครือข่ายละครฯ ดังกล่าวประกอบไปด้วยกลุ่มละครต่างๆ ที่มาจากฐานชุมชน 300 กลุ่ม สมาชิกในเครือข่ายได้กระจายตัวกันไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อแสดงละครให้เห็นถึงปัญหาจากการกดขี่ของมาร์คอส เพราะสื่อถูกปิด ไม่อาจนำเสนอข่าวสารได้

“ละครได้ตอกย้ำภาพการเอารัดเอาเปรียบของรัฐบาล และในการเดินขบวนประท้วงของประชาชน ละครคือแนวหน้าของขบวน กระทั่งการเคลื่อนไหวขับไล่เผด็จการได้รับชัยชนะ เมื่อมาร์คอสหลบหนีออกนอกประเทศไปเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1986”

ภาสกรเล่าอีกว่า หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เครือข่ายละครได้ก่อรูปเป็น ‘สมาคมละครเพื่อการศึกษาแห่งฟิลิปปินส์’ (Philippine Educational Theatre Association – PETA) พวกเขามุ่งสร้างการเรียนรู้มากกว่ารูปแบบการแสดง สิ่งนี้ทำให้นักละครของ PETA เรียกตัวเองว่า ‘ATER’ ที่มาจากคำว่า Artists, Teachers, Organizers และ Researchers

ทุกวันนี้เขาบอกว่า PETA ยังคงมีบทบาทในการใช้ละครสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชน การเรียกตัวเองว่า ‘ATER’ ซึ่งมีคำว่า ‘ครู’ เป็นองค์ประกอบ สะท้อนให้เห็นว่านักละครมีเจตจำนงในการสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้ชม รวมทั้งในกระบวนการสร้างการเรียนรู้ นักละครต้องเป็นผู้สร้างและศึกษาหาความรู้อีกด้วย

ดังนั้น นอกจากการเป็นนักแสดงและนักจัดการแล้ว การเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ และการใช้ความรู้ของนักละคร ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ละครสามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้ชมได้

แว่นตาสายหมอลำ

 

ถนอม ชาภักดี
ถนอม ชาภักดี

“ผมคิดว่าเพลงประเทศกูมีเป็นสัญญาณของการต่อสู้ครั้งใหญ่ แวดวงดนตรีเราขาดตอนมานาน เพลงเพื่อชีวิตก็ถูกแปรรูปไปเป็นฝ่ายรับใช้เผด็จการแทน”

ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะ เริ่มต้นอธิบายอารมณ์ของสังคมที่ได้รับอิทธิจากเพลงประเทศกูมี ซึ่งปัจจุบันมียอดเข้าชมถึง 27 ล้านวิวแล้ว

เขาคิดว่าปรากฏการณ์ประเทศกูมีสะท้อนนัยยะสำคัญว่าคนกำลังกระหาย หิวโหยเสรีภาพ ไม่รู้จะออกจากความอึดอัดคับข้องไปทางไหน และแต่ละคนก็รอหาเสียงตัวแทนที่พูดแทนความคับข้องของตัวเอง

ขณะเดียวกัน ถนอมพาย้อนไปก่อนหน้าที่สังคมไทยจะรู้จักยุคสมัยแร็ปเปอร์ ย้อนไปตั้งแต่ประเทศไทยยังเป็นสยาม

“เวลาเราพูดถึงเพลงขบถ เรามักจะคิดถึงเพลงที่เป็นภาษาไทย แต่อย่าลืมว่าเพลงหมอลำก็ขบถมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว เห็นชัดๆ ได้ในวัฒนธรรมกลุ่มกบฏผีบุญแทบภาคอีสาน ที่ปฏิเสธอำนาจรัฐส่วนกลางชัดเจน และกบฏผีบุญคนสุดท้ายก็มาตายในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ขอนแก่น”

เขามองว่าสังคมไทย โดยเฉพาะแวดวงศิลปินที่คิดว่าตัวเองทำงานต่อต้านอำนาจรัฐ ไม่เคยพูดถึงความเป็นขบถของคนเหล่านี้เลย

“ถ้ามองความเป็นศิลปินขบถ รากฐานของมันยึดโยงอยู่กับการไม่มีพื้นที่ ทั้งพวกกราฟิตี้ หรือแร็ปเปอร์ ศิลปินเหล่านี้ถูกปฏิเสธจากพื้นที่ทางสังคมของคนส่วนใหญ่ และผมคิดว่าถ้าเรามองเข้าไปในสังคมไทยดีๆ จะเห็นว่าการต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลางมีมาตลอด ไม่ว่าจะต่อต้านด้วยอาวุธหรือต่อต้านด้วยวัฒนธรรมก็ตาม แต่การขบถหรือต่อสู้ กลับถูกนับว่าใครใช่หรือไม่ใช่ขบถจากแว่นของคนเมืองมากกว่า ถ้าเราให้ความสำคัญกับคนที่ถูกกดด้วยอำนาจรัฐจริงๆ เราจะได้ยินเสียงของคนอีกมากในแผ่นดินนี้”

นักวิจารณ์ศิลปะยกตัวอย่างในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่มักพูดกันว่าเป็นยุค ‘น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก‘ ช่วงปี 2500 รัฐบาลยุคนั้นใช้ขอนแก่นเป็นโมเดลในการเปิดศักราชของการพัฒนา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งประกาศเมื่อปี 2504 รัฐบาลก็ร่างกันที่บึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น

“ขอนแก่นเป็นโมเดลสำคัญที่ส่วนกลางเข้าไปคุกคาม ทำลายความเป็นสามัญ ถนนมิตรภาพจากสระบุรีเข้าโคราช จากโคราชไปหนองคาย ก็เป็นหนึ่งในแผนสมคบคิดกันของจอมพลสฤษดิ์กับอเมริกา”

เขาคิดว่าการรำพึงรำพันแบบขบถมีอยู่ในตัวคนทุกคน เพียงแต่ว่าใครจะเป็นคนเริ่มสะกิดและเปิดให้ความขบถของแต่ละคนออกมารวมกันเป็นพลังมวลชนได้ ถนอมคิดว่า ‘หมอลำ’ สามารถปลุกความขบถของแต่ละคนออกมาได้

“ในช่วงสงครามเย็น หมอลำถูกใช้ทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายคอมมิวนิสต์ เพื่อต่อสู้ช่วงชิงมวลชนของกันและกัน CIA เคยพาหมอลำไปเที่ยวอเมริกาก่อนใครด้วยซ้ำ กระทั่งว่า CIA ยังเคยพาหมอลำนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปรำบนอากาศ เพื่อให้คนได้ฟังก็มี”

ทั้งหมดนี้ ถนอมสรุปว่าเป็นการต่อสู้กันแบบ Soft Power หรือ ‘อำนาจละมุน’ ซึ่งเรียกตามราชบัณฑิต

แต่ปัญหาที่เขาเห็นเป็นสาระ คือช่วงเวลาที่ผ่านมาเผด็จการทหารและชนชั้นนำมีความแยบยลมาก สามารถปลุกเร้ากล่อมเกลาให้กระบวนการทางศิลปะตกไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายเผด็จการได้มากกว่าที่ศิลปินฝ่ายประชาธิปไตยจะเอามาใช้

“คนทำเพลงประเทศกูมีกล้าหาญที่จะเสี่ยง เพราะถ้าไม่เสี่ยงมันไม่มีทางที่จะสร้างความหวังได้ ผมคิดว่าเวลานี้ศิลปะทุกแขนงสามารถตื่นตัวและหยิบยื่นความน่าละอายให้กับเผด็จการได้” ถนอมทิ้งท้าย


หมายเหตุ – มุมมองบางส่วนของภาสกร อินทุมาร และถนอม ชาภักดี เรียบเรียงจากวงเสวนาหัวข้อ ‘ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน’ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save