fbpx
เมื่อชีวิตไม่ใช่แค่สถิติ: การจดจำผู้ถูกบังคับให้สูญหายผ่านผืนผ้าของหญิงชาวชิลีในช่วงเผด็จการทหาร

เมื่อชีวิตไม่ใช่แค่สถิติ: การจดจำผู้ถูกบังคับให้สูญหายผ่านผืนผ้าของหญิงชาวชิลีในช่วงเผด็จการทหาร

สิรินทร์ มุ่งเจริญ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้สูญหายหรือผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ในช่วงนาซีเยอรมนี เหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐอเมริกา หรือที่ใกล้กว่านั้นคือการรายงานสถิติตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในแต่ละเหตุการณ์ ชีวิตที่สูญหายไปถูกลดทอนให้กลายเป็นตัวเลขสถิติ

ในรายงานข่าว พวกเขาไม่มีชื่อ ไม่มีอายุ ไม่มีอาชีพ หรืออีกนัยหนึ่งคือ พวกเขาไม่มี ‘ชีวิต’ ทั้งในความหมายตามตัวอักษร และในความหมายลักษณะที่ว่าพวกเขาไม่ใช่ ‘ชีวิต’ ในสายตาของสาธารณชน พวกเขาไม่ใช่ปัจเจกบุคคล พวกเขาถูกมัดรวมกันเป็นตัวเลข แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนหนึ่งคนในตัวเลขก้อนใหญ่นั้นเคยมีชีวิต มีครอบครัว และมีคนที่รัก หลายเหตุการณ์ความรุนแรงจึงเกิดอนุสรณ์สลักชื่อผู้สูญหายหรือผู้เสียชีวิตเอาไว้เพื่อดำรงความทรงจำและความเจ็บปวดของเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ให้หายไปจากการจดจำของสาธารณชน

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ครอบครัวและคนใกล้ชิดผู้สูญหายหรือเสียชีวิตไม่สามารถ ‘จดจำ’ ชีวิตของเขาเหล่านั้นในที่สาธารณะได้ด้วยปัจจัยบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางการเมือง เมื่อพวกเขาคือผู้ถูกทำให้สูญหายภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร เช่นผู้สูญหายกว่าสามพันคนภายใต้การปกครองของนายพลปิโนเชต์ในประเทศชิลี เมื่อรัฐบาลเองเป็นผู้ ‘ลบ’ ชีวิตคน ผู้ที่หลงเหลืออยู่จึงจำต้องหาวิธีการ ‘จดจำ’ ไม่ให้ชีวิตของพวกเขาถูกลืมและสูญหายไปตลอดกาล

ในช่วงเผด็จการทหารภายใต้การปกครองของนายพล ออกุสโต ปิโนเชต์ ระหว่างปี 1973-1990 ชาวชิลีกว่าสามพันคนถูกฆ่าหรือถูกบังคับให้สูญหาย ด้วยนโยบายของนายพลปิโนเชต์ในการสร้าง ‘ระเบียบใหม่’ โดยการกำจัดผู้เห็นต่างหรือผู้ที่อาจเป็นภัยต่อชาติ ซึ่งก็คือใครก็ตามที่อาจเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายซ้าย หรือต่อต้านเผด็จการทหาร ผู้สูญหายจากเผด็จการทหารในชิลี และประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกาอย่างอาร์เจนตินามีจำนวนมากจนคำว่า ‘โลส เดซาปาเรซิโดส’ (los desaparecidos) ที่แปลตรงตัวว่า ‘เหล่าผู้สูญหาย’ กลายเป็นคำที่หมายถึงผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายจากสาเหตุทางการเมือง เมื่อมีผู้บังคับให้สูญหายจำนวนมาก ชาวชิลีจดจำ ‘ชีวิต’ คนเหล่านั้นอย่างไร เพื่อไม่ให้พวกเขากลายเป็นเพียงตัวเลขสถิติ

 

ถักทอ-จดจำ

 

เนื่องจากผู้สูญหายจำนวนมากเป็นเพศชาย ผู้ที่หลงเหลืออยู่จึงเป็นแม่ ลูกสาว พี่สาว และน้องสาวของผู้สูญหาย ผู้พยายามจะตามหาคนที่พวกเธอรัก ผู้หญิงกลุ่มนี้พบปะกันระหว่างการตามหาผู้สูญหาย ไม่ว่าจะเป็นตามโรงพยาบาล คุก หรือแม้กระทั่งห้องเย็น จนเกิดเป็นกลุ่มสมาชิกครอบครัวผู้ถูกจับกุม-สูญหาย (Agrupación de Familiares de Detenidos Desaparecidos) ที่เคลื่อนไหวเพื่อตามหาบุคคลที่รัก

ในขณะเดียวกัน โบสถ์คาทอลิกมีบทบาทอย่างมากเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนท่ามกลางบรรยากาศระบอบเผด็จการทหารในชิลี เกิดเขตศาสนปกครองแห่งความสมัครสมาน (La Vicaría de la Solidaridad) องค์กรสิทธิมนุษยชนที่สร้างงานให้กับผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีสาขาในหลายภูมิภาคของชิลี หนึ่งในงานที่เขตศาสนปกครองนี้สร้างขึ้นคืองานฝีมือที่สร้างรายได้ให้ผู้หญิงจำนวนมาก รวมถึงผู้หญิงกลุ่มสมาชิกครอบครัวผู้ถูกจับกุม-สูญหายด้วย ผืนผ้าแห่งการต่อต้าน ความทรงจำ และความหวัง ‘อาร์ปิเญราส’ (arpilleras) จึงถือกำเนิดขึ้น

อาร์ปิเญราสคือผืนผ้าที่ทอภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงเผด็จการทหาร ไม่ว่าจะเป็นภาพการจับกุมนักโทษทางการเมือง ภาพการประท้วง หรือภาพการระลึกถึงเหล่าผู้สูญหาย ‘อาร์ปิเญริสตาส’ (arpilleristas) ผู้หญิงที่ถักทอผืนผ้าอาร์ปิเญราส ถักทอความเป็นจริงและความเจ็บปวดที่พวกเธอเผชิญ อาร์ปิเญราสสร้างความทรงจำร่วมของผู้หญิงที่เผชิญความเจ็บปวดจากการปกครองของนายพลปิโนเชต์ และภาพบนผืนผ้าเหล่านี้คือสิ่งที่บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเผด็จการทหารไว้ไม่ให้สูญหาย

 

‘เยียวยา’

 

ในสภาวะที่ผู้ถูกบังคับให้สูญหายมีจำนวนมาก ผู้สูญหายถูกเปลี่ยนจาก ‘ชีวิต’ ให้กลายเป็น ‘สถิติ’ ลบเลือนความเป็นคนที่มีชีวิตก่อนหน้าที่เขาจะสูญหาย อาร์ปิเญราสแสดงภาพชีวิตคน ไม่ใช่ตัวเลข ด้วยสองมือ เข็ม และด้ายของผู้สูญเสีย พวกเธอถักทอความเจ็บปวดและการสูญเสียลงไปในผืนผ้า ดังนั้นนอกจากอาร์ปิเญราสจะเป็นหลักฐานความทรงจำของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเผด็จการทหารแล้ว ผืนผ้าเหล่านี้ยังคงเป็นวิธีการเยียวยาของผู้สูญเสีย พวกเธอไม่ปล่อยให้ชีวิตของผู้เสียหายถูกลดทอนให้เป็นเพียงสถิติ ชีวิตที่ถูกถักทอลงบนอาร์ปิเญราสยังคงเป็นชีวิตที่ดำรงอยู่ต่อไป แม้จะไม่ทราบว่าชีวิตเหล่านั้นอยู่ที่ไหน

การถักทออาร์ปิเญราส สามารถมองได้ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งในการจัดการกับความเศร้าโศก (grief) เมื่อสูญเสียคนที่รัก โดยปกติแล้วเมื่อเราสูญเสียคนที่รัก กระบวนการที่สังคมมองว่าปกติคือการเดินทางผ่าน 5 ขั้นตอน อันได้แก่ การปฏิเสธ (denial) ความโกรธ (anger) การต่อรอง (bargaining) ความเศร้าเสียใจ (depression) และท้ายที่สุดคือ การยอมรับ (acceptance) การเดินทางไปถึงขั้นสุดท้ายของการสูญเสียนั้นหมายถึงการสิ้นสุดหรือการยุติลง (closure) ของความเศร้าโศก นั่นหมายถึงการกลับคืนสู่ ‘ความปกติ’ หรือการ ‘มูฟออน’ แต่สำหรับครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รักของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย พวกเขาสามารถไปถึง ‘จุดสิ้นสุด’ ของความเศร้าโศกจากการสูญเสียได้จริงหรือ ในเมื่อพวกเขาไม่ทราบความเป็นตายของผู้สูญหาย ไม่มีร่าง ไม่มีงานศพ ไม่มีมรณบัตร 

หนังสือ ‘Ambiguous Loss: Learning to Live with Unresolved Grief’ โดย Pauline Boss พูดถึง ‘ambiguous loss’ หรือ ‘การสูญเสียที่ไม่ชัดเจน’ ว่าเป็นการสูญเสียที่เจ็บปวดที่สุด มีลักษณะเฉพาะเจาะจงและค้านกับการไปถึงจุดสิ้นสุด ผู้ที่เผชิญความสูญเสียลักษณะนี้ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับการสูญเสียอย่างไร เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าการสูญเสียนั้นเป็นการสูญเสียเพียงชั่วคราวหรือถาวร อีกทั้งสังคมยังไม่มี ‘พิธีกรรม’ หรือสัญลักษณ์บางอย่างสำหรับการสูญเสียลักษณะนี้ ต่างจากการเสียชีวิตที่มักมีพิธีศพ และคนรอบตัวของผู้สูญเสียก็ไม่สามารถจะปฏิบัติต่อผู้สูญเสียลักษณะนี้ในรูปแบบเดียวกับที่พวกเขาปฏิบัติต่อผู้ที่บุคคลที่รักเสียชีวิต บุคคลใกล้ชิดกับผู้ถูกบังคับให้สูญหายจึงเผชิญความสูญเสียที่ไม่มีวันสิ้นสุด อันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของความสูญเสีย   

 

‘ลืม’ หรือ ‘จำ’

 

การไปถึงจุดสิ้นสุดของความเศร้าโศกนั้นส่วนใหญ่แล้วเรามองว่าคือการ ‘ลืม’ หรือการก้าวผ่านความสูญเสียไป แต่หลายครั้งการไปถึงจุดสิ้นสุดของความเศร้าโศกกลับเป็นการ ‘จำ’ เช่น การจารึกชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงเหมือนเหตุการณ์ 9/11 ที่กล่าวไป หนังสือ ‘Closure: The Rush to End Grief and What it Costs Us’ โดย Nancy Berns บอกว่า ผู้ที่พยายามไปถึงจุดสิ้นสุดของความโศกเศร้าด้วยการ ‘จำ’ นั้นพยายามหยุดความกลัวของการ ‘ลืม’ หรือความกลัวว่าคนอื่นๆ จะลืม จึงต้องหาวิธีการ ‘จำ’ เช่น จดจำร่วมกับผู้อื่นในที่สาธารณะ 

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เขียนใน Mourning and Melancholia ว่าการไว้ทุกข์ (mourning) คือกระบวนการยอมรับการสูญเสีย ที่ผู้สูญเสียตัดความสัมพันธ์กับบุคคลที่รัก (ที่สูญเสียไป) ได้ และเติมสิ่งที่สูญเสียไปด้วยสิ่งอื่น ถือเป็นการไว้ทุกข์ที่สำเร็จ (successful mourning) ซึ่งเป็นกระบวนการปกติ แต่การเศร้าโศกอย่างลึกซึ้ง (melancholia) ที่เกิดขึ้นในจิตไร้สำนึก (unconscious mind) คือการที่ผู้สูญเสียไม่สามารถยอมรับการสูญเสียนั้นได้ ทำให้ ‘ติด’ อยู่กับการสูญเสียจนเกิดอาการอย่างซึมเศร้า แต่จูดิธ บัตเลอร์ ไม่เห็นด้วยกับฟรอยด์ บัตเลอร์ให้ความสำคัญกับ melancholia และแย้งฟรอยด์ว่า melancholia คือการสูญเสียที่หาอะไรมาทดแทนไม่ได้ บุคคลที่สูญเสียไปอาจเป็นผู้ที่ไม่สามารถไว้ทุกข์ได้ (ungrievable) โดยบัตเลอร์ยกกรณีของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ ที่คนใกล้ชิดไม่สามารถ ‘ไว้ทุกข์’ พวกเขาในที่สาธารณะได้ เพราะในอดีตโรคเอดส์มาพร้อมตราประทับทางสังคม (social stigma) เรื่องการรักคนเพศเดียวกัน ทำให้การสูญเสียนั้นเป็นการสูญเสียที่ไม่สามารถเอ่ยถึงได้ (unspeakable)

ในกรณีของผู้ถูกบังคับให้สูญหายในชิลี ผู้สูญหายนั้นไม่ปรากฏร่าง ไม่สามารถทราบได้อย่างแน่นอนว่าผู้สูญหายยังอยู่หรือเสียชีวิต อีกทั้งการอยู่ในช่วงเผด็จการทหาร ทำให้ผู้สูญเสียไม่สามารถไว้ทุกข์ผู้สูญหายในที่สาธารณะได้ ซึ่งบัตเลอร์กล่าวว่า เมื่อการสูญเสียไม่ได้รับการยอมรับในที่สาธารณะ หรือเมื่อการสูญเสียนั้นไม่สามารถถูกเอ่ยชื่อ ไม่สามารถได้รับการไว้ทุกข์ได้ ความรู้สึก melancholia จะไม่ใช่เพียงเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมด้วย

เมื่อผู้สูญเสียเหล่านั้นไม่สามารถผ่านกระบวนการไว้ทุกข์ อีกทั้งยังไม่สามารถจดจำผู้สูญหายในที่สาธารณะได้ พวกเขาจึงนำความโศกเศร้าและเจ็บปวดของตนที่ไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้มาถักทอบนผืนผ้า ให้ความทรงจำของผู้สูญหายดำรงอยู่ต่อไป ในหนังสือ ‘Tapestries of hope, threads of love: the arpillera movement in Chile’ ผู้เขียนพูดคุยกับหญิงผู้ถักทอผืนผ้าอาร์ปิเญราส และพบว่าพวกเธอไม่ได้ต้องการการแก้แค้นหรือให้ผู้คนเห็นใจพวกเธอ พวกเธอเพียงแต่อยากให้สาธารณชนจดจำสามี ลูกชาย พี่ชาย น้องชาย ผู้ถูกบังคับสูญหายในฐานะชีวิตชีวิตหนึ่ง ไม่ใช่อาชญากรอย่างที่รัฐบอก เช่น การที่พวกเธอถักทอผืนผ้าอาร์ปิเญราสเพื่อระลึกถึงคนที่รักในทุกๆ วันครบรอบปีที่เขาสูญหาย 

 

ขัดขืนใต้ความเงียบ

 

อาร์ปิเญราสคือผลผลิตของสังคมแห่งการกดทับ คือศิลปะแห่งการขัดขืน โดยฝีมือของผู้หญิงที่สูญเสียบุคคลที่รัก ผู้หญิงที่ถูกสังคมปิตาธิปไตยบอกให้เงียบ ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารบอกให้เงียบ แต่พวกเธอกลับสู้กลับภายใต้ความเงียบโดยใช้สิ่งที่มีลักษณะ ‘ความเป็นหญิง’ อย่างการถักทอ ปักผ้า ให้เรื่องราวที่ถูกทำให้เงียบอย่างการจับกุมตัวอย่างมิชอบโดยรัฐ การบังคับสูญหาย การประท้วงต่างๆ รวมไปกับเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ภาพการรับประทานอาหารในบ้านแต่มีเก้าอี้ที่ว่างเปล่า ได้ถูกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ การถักทออาร์ปิเญราสกลายเป็นกระบวนการขัดขืนใต้ความเงียบ เป็นจุดเริ่มต้นของการขัดขืนรัฐ และในเวลาต่อมา ผืนผ้าเหล่านี้ก็เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้อย่างดี เช่น ทำให้มีการค้นพบศพผู้สูญหายในหลายบริเวณของเมืองซานติอาโก 

ในประเทศไทยเอง มีผู้ถูกบังคับสูญหายจำนวนมากภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหาร และเช่นเดียวกับกรณีของชิลี ญาติและเพื่อนๆ ของผู้สูญหายไม่สามารถ ‘ไว้อาลัย’ ผู้ที่สูญหายไปได้ พวกเขาไม่ได้รับการเยียวยา ไม่ได้รับความยุติธรรม อันเนื่องมาจากบริบทของประเทศไทยที่ยังไม่มีกฎหมายเรื่องการบังคับสูญหาย และการแสดงออกเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อผู้สูญหายก็ถูกมองเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ภายใต้ ‘ความเงียบ’ ของรัฐและสาธารณชน ญาติและมิตรสหายของผู้ถูกบังคับสูญหายจึงต้องหาหนทางอื่นในการขัดขืนรัฐและจดจำผู้สูญหาย เช่น การรวมตัวกันอ่านบทกวี

ดังนั้น เมื่อรัฐพยายาม ‘ลบ’ ชีวิตของประชาชนที่ขัดขืนรัฐในทางใดทางหนึ่ง สิ่งที่ตามมาย่อมเป็นการขัดขืนกลับภายใต้ความเงียบโดยผู้ที่ต้องการ ‘จำ’ ชีวิตที่ถูกทำให้สูญหาย แม้ว่ารัฐจะสกัดกั้นการจดจำชีวิตเหล่านั้นมากเท่าไร ผู้เป็นที่รักของผู้สูญหายก็สามารถหากระบวนการจดจำชีวิตเหล่านั้นไม่ให้ชีวิตพวกเขาถูกลืม ถูกกลืนหายไปในตัวเลขสถิติ หรือถูกจดจำเพียงแค่ในฐานะ ‘เหยื่อ’ อย่างเช่นกรณีผืนผ้าอาร์ปิเญราสของผู้หญิงชาวชิลี ที่นอกจากจะบันทึกความทรงจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองระบอบเผด็จการของนายพลปิโนเชต์แล้ว ก็ยังเป็นกระบวนการนำความเจ็บปวด ความสูญเสียของญาติผู้หายสาบสูญ ถักทอลงไปเป็นภาพบนผืนผ้า เพื่อดำรงชีวิตของผู้สูญหายให้มีชีวิตอยู่ต่อไปในความทรงจำ ไม่เลือนหายไปเป็นเพียงหนึ่งในตัวเลขสถิติ

 

อ้างอิง

Agosín Marjorie, Tapestries of hope, threads of love: the arpillera movement in Chile, Rowman & Littlefield Publishers, Lanham, MD, 2008.

Berns, N. (2011). Forgetting versus Remembering: Politics of Mourning, Sacred Space, and Public Memory. In Closure: The Rush to End Grief and What it Costs Us (pp. 140-160). Temple University Press. Retrieved July 14, 2020, from www.jstor.org/stable/j.ctt1bw1jks.12

Boss, P. (1999). Frozen Grief. In Ambiguous Loss: Learning to Live with Unresolved Grief (pp. 1-25). Cambridge, Massachusetts; London, England: Harvard University Press. Retrieved July 14, 2020, from www.jstor.org/stable/j.ctvjhzrh4.3

LaDuke, B. (1983). Chile: Embroideries of Life and Death. The Massachusetts Review, 24(1), 33-40. Retrieved June 8, 2020, from www.jstor.org/stable/25089383

McIvor, D. (2012). Bringing Ourselves to Grief: Judith Butler and the Politics of Mourning. Political Theory, 40(4), 409-436. Retrieved June 8, 2020, from www.jstor.org/stable/41703076

Moya-Raggio, E. (1984). “Arpilleras”: Chilean Culture of Resistance. Feminist Studies, 10(2), 277-290. doi:10.2307/3177867

Paliewicz, N. S., & Hasian, M. A. (2019). The securitization of memorial space: Rhetoric and public memory. Lincoln: University of Nebraska Press.

 

หมายเหตุ : ที่มาภาพประกอบ molaa.org

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save