fbpx
ความตกต่ำของภาพลักษณ์ของทหาร

ความตกต่ำของภาพลักษณ์ของทหาร

พลันที่จดหมายลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 จากกองพิธีการ กรมสารบรรณทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ส่งไปถึงสภากาชาดไทย เรื่อง “ขอรับการสนับสนุนวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna)” ให้กับกำลังพลและครอบครัว ถูกเปิดเผยออกมาในโลกออนไลน์ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังกระหึ่มภายในเวลาไม่นาน

ตอนแรก หลายคนคิดว่าเป็น fake news แต่สุดท้ายเมื่อมีการตรวจสอบ ทางการก็ยอมรับว่า “ไม่ใช่เอกสารปลอม แต่ไม่ใช่เอกสารทางการ”  เพราะผู้ส่งไม่มีอำนาจหน้าที่ส่งหนังสือไปส่วนราชการภายนอก

“ไม่ใช่เอกสารปลอม แต่ไม่ใช่เอกสารทางการ” กลายเป็นไวรัล ไม่ต่างจากคำว่า “ไม่ใช่น้ำท่วม แต่เป็นน้ำรอระบาย”

ไม่มีใครทราบว่า หากจดหมายฉบับนี้ไม่ถูกเปิดเผยออกมาในที่สาธารณะ จะเกิดอะไรขึ้นกับวัคซีนโมเดอร์นา ที่มีจำนวนจำกัดและมีคนจำนวนมากยอมเสียเงินซื้อมากกว่าวัคซีนที่ทางการจัดหาให้

แต่สิ่งที่ตามมาคือ ภาพลักษณ์ของทหารที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อ 7 ปีก่อน พลอยตกต่ำลงอีก เพราะนี่คือการเล่นกับความเป็นความตายของประชาชนทั้งประเทศ ตอกย้ำถึงความเป็นอภิสิทธิ์ชนของทหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังการทำรัฐประหารในปี 2557

การนั่งเก้าอี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจ

3 ปี ภายหลังจากการรัฐประหาร ตามด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ ปรากฏว่า รัฐวิสาหกิจจำนวน 40 แห่งมีนายทหารเข้าไปเป็นกรรมการในบอร์ดถึง 80 คน เพิ่มขึ้นเกือบ 100% จากก่อนหน้าปี 2557 และในจำนวนนี้ มีนายทหารเป็นประธานบอร์ด ไม่ว่าจะยังรับราชการอยู่หรือเกษียณอายุราชการแล้วถึง 16 แห่งจากเดิม 3 แห่ง ซึ่งมากกว่าเดิม 5 เท่าตัว

นอกจากนี้ ทหารบางคนนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากกว่า 1 แห่ง บางคนยังเป็นหนึ่งใน 250 วุฒิสมาชิก

ในปี 2562 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายราย พบว่านายทหารบางคนรับค่าตอบแทนจากการเป็นกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจและบริษัทที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่หลายแห่ง จนมีรายได้รวมกันมากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี 

เรียกได้ว่า นายพลหลายคนที่เคยรับราชการมีเงินเดือนร่วมแสนบาท รวยอู้ฟู่ขึ้นทันตาเห็น ในช่วงที่ทหารเรืองอำนาจ

งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น

หลังจากรัฐประหาร งบกระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปี 2558 กระทรวงกลาโหมได้งบ 1.92 แสนล้านบาท และถัดมาในปี 2561 ก็ได้เพิ่มเป็น 2.22 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมยังจัดซื้ออาวุธสงครามอย่างต่อเนื่อง อาทิ เรือดำน้ำ ปืนใหญ่ รถถัง รถหุ้มเกราะ เฮลิคอปเตอร์ ฯลฯ โดยเฉพาะการจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำของกองทัพเรือจากประเทศจีน ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความจำเป็นและความเหมาะสม แต่สุดท้ายรัฐบาลทหารก็ไม่สนใจ เดินหน้าจัดซื้อจนสำเร็จ ท่ามกลางข่าวลือเรื่องเงินทอนใต้โต๊ะ

สำหรับปีงบประมาณ 2565 งบกระทรวงกลาโหมถูกปรับลดลงเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่ไม่เข้าเป้า ทำงบกระทรวงลดลงมาเหลือ 203,282 ล้านบาท แต่ก็ยังมากกว่างบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ 50,000 ล้านบาท

และที่เป็นข่าวสร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนจำนวนมากในสถานการณ์โควิดระบาดหนัก เมื่อกองทัพเรือเดินหน้าเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 มูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้าน ในงบประมาณปี 2565 จนเมื่อถูกวิจารณ์หนักเข้า รัฐบาลจึงยอมถอนเรื่องทันที

หน่วยงานปฎิบัติการจิตวิทยา หรือ IO

ภายหลังรัฐประหาร เครื่องมือสำคัญของฝ่ายรัฐบาลในการสู้กับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล คือหน่วยงานหลายแห่งที่ทำงานเผยแพร่ข่าวสาร หรือ ‘IO’ (Information Operation) ซึ่งเป็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รวมทั้งปลุกปั่นยุยง ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้าม ซึ่งนับว่ามีมาตั้งแต่อดีตในสมัยสงครามเย็น

ที่ผ่านมา มีข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่า บรรดา IO ที่แฝงเข้ามาในสื่อโซเชียลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Twitter โดยมีบทบาทในการตอบโต้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ตั้งแต่คนทั่วไปจนถึง สส.พรรคฝ่ายค้าน น่าจะเป็นหน่วยทหารบางแห่งที่มาทำภารกิจนี้โดยตรง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากกองทัพมาตลอด

จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ทาง Twitter ออกมาแถลงข่าวว่าได้ระงับบัญชีผู้ใช้งานที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation: IO) ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าละเมิดนโยบายการใช้งานของ Twitter และได้ระงับการใช้งานบัญชี IO ทุกบัญชีเรียบร้อยแล้ว โดยจากการตรวจสอบทางเครือข่าย พบบัญชีที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพบกเป็นจำนวน 926 บัญชี

แม้กองทัพบกจะออกมาปฏิเสธและแก้ตัวว่าเป็นบัญชีเพื่องานเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ช่วยเหลือและแจ้งเตือนประชาชน  เป็นช่องทางชี้แจงข่าวบิดเบือน และเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนโดยตรง แต่ก็ดูจะฟังไม่ขึ้นว่าทำไมกองทัพถึงเอาเงินภาษีมาทำงานต่อสู้กับประชาชนด้วยกันเอง

ความตกต่ำของภาพลักษณ์ของทหารยังไม่รวมข่าวการเสียชีวิตของพลทหารหลายคนอย่างลึกลับในค่ายทหาร ที่ดูเหมือนมีบาดแผลจากการถูกซ้อมทำร้ายอย่างหนักจนเสียชีวิต

โดยเฉพาะ กรณี ‘จ่าคลั่ง’ สาดปืนเข้าใส่ชาวบ้านที่จังหวัดนครราชสีมา จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และคำพูดของผู้บัญชาการทหารบกที่ถือเป็นการปัดความรับผิดชอบของกองทัพว่า “วินาทีที่ลั่นไกสังหารประชาชน เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว”

เมื่อมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดในปี 2563 และรัฐบาลห้ามจัดงานที่มีการรวมตัวกัน แต่กองทัพบกกลับเปิด ‘ไฟเขียว’ ให้จัดมวยนัดสำคัญที่สนามมวยลุมพินี กระทั่งกลายเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อไวรัสอย่างมโหฬาร สะท้อนความเป็นอภิสิทธิ์ชนของกลุ่มทหารอีกครั้ง

และเมื่อมีการประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด มีนายทหารและตำรวจรวมกัน 104 คน ในจำนวนนี้มีน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา และยังมีน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งก็คือ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ท่ามกลางกระแสกดดันว่า สว.เหล่านี้ไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากคอยค้ำบัลลังก์ของพรรคพวกทหารด้วยกัน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำพูดที่ว่า #ทหารมีไว้ทำไม #เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด จึงระบาดหนักในหมู่คนทั่วไป

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนเคยคุยกับเพื่อนนายทหาร เขาเล่าว่าทหารอาชีพในกองทัพหลายคนเริ่มรู้สึกว่า การที่นายทหารรุ่นพี่นำกองทัพไปทำรัฐประหารและยุ่งเกี่ยวการเมืองมาหลายปี พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า…

บ้านเมืองไม่ได้สงบอย่างที่คิด และทหารก็ไม่มีความสามารถในการปกครองประเทศให้สงบได้จริงๆ

กองทัพที่มีหน้าที่ดูแลความมั่นคง แต่ก็พบว่าความมั่นคงในประเทศมีปัญหาเพิ่มขึ้น เพราะผู้คนแตกแยกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายกันหนักขึ้น

การที่ทหารมายุ่งการเมือง เอาเข้าจริง ผลประโยชน์ได้กับนายทหารที่เข้ามายุ่งการเมืองไม่กี่กลุ่ม

ขณะที่ภาพลักษณ์ในสายตาประชาชนตกต่ำลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงโควิดระบาดหนัก ทางที่ดีกองทัพควรถอยห่างจากการเมืองให้มากที่สุด

เพราะยิ่งเข้าสู่วงจรอำนาจการเมือง ความมั่นคงของชาติยิ่งไม่ปลอดภัย

ทางที่ดี กองทัพควรกลับเข้ากรมกอง เป็นทหารอาชีพจริงๆ

เพราะนี่คือการสร้างภาพลักษณ์ของทหารได้ดีที่สุด

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save