fbpx

กองทัพฟิลิปปินส์: แบบแผนการเล่นการเมืองภายใต้หลักการพลเรือนเป็นใหญ่

ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต แต่งตั้งให้พลตรี โรมิโอ บราวเนอร์ จูเนียร์ (Romeo Brawner Jr.) อดีตรองผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจในเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายบุกยึดเมืองมาราวี ปี 2017 เป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ของฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม เพื่อให้เขาสืบทอดภารกิจทางด้านความมั่นคงและการปฏิรูปกองทัพบกซึ่งเป็นเหล่าทัพที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุดของประเทศ มีกำลังประมาณ 100,000 คนเศษ ที่สำคัญมีบทบาททางการเมืองมาโดยตลอด

“เราเชื่อมั่นว่านายพล บราวเนอร์ จะสืบทอดภารกิจในการปฏิรูปที่ริเริ่มโดยผู้บัญชาการคนก่อนๆ เพื่อปรับเปลี่ยนให้เหล่าทัพที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพฟิลิปปินส์ (Armed Forces of the Philippines—AFP) ให้เป็นองค์กรที่มีพลวัตและเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริงในการรับใช้ประชาชนและรักษาความมั่นคงของชาติ” คาร์โล โนกาเลส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการยืนยันการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่[1]

บราวเนอร์ เข้ารับตำแหน่งแทน พลโท แอนเดรส เซนติโน (Andres Centino) ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาธิการกองทัพฟิลิปปินส์ เชื่อกันว่าประธานาธิบดี ดูเตอร์เต อนุมัติการแต่งตั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เพราะเหตุว่ากองพลทหารราบที่ 4 ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเขาประสบความสำเร็จในการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน รวมทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ได้สังหารจอร์จ แมดรอส หรือ คา โอริส ผู้นำคอมมิวนิสต์คนสำคัญของแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ ที่มีฐานที่มั่นอยู่มินดาเนาทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์[2]

นอกจากนี้เขายังเคยเป็นโฆษกกองทัพบก หัวหน้าฝ่ายกิจการสาธารณะของกองทัพฟิลิปปินส์ ซึ่งทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ปรากฏชื่อต่อสาธารณชนอยู่เสมอ แต่เกียรติประวัติทางทหารที่สำคัญของเขาได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะรองผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจมาราวี (Marawi Siege 2017) และโฆษกของหน่วยดังกล่าวในปฏิบัติการนาน 5 เดือน (23 พฤษภาคม-23 ตุลาคม 2017) เพื่อปลดปล่อยเมืองมาราวี ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์จากการยึดครองของกลุ่มก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับขบวนการรัฐอิสลาม (Islamic State – IS) การต่อสู้ในครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ทั้งทหารรัฐบาล นักสู้ไอเอส และพลเรือน รวมทั้งสิ้น 1,132 คน ประชาชนเกือบ 200,000 คนต้องอพยพหนีตาย[3] และบ้านเรือน อาคารสถานที่โดนถล่มราบเป็นหน้ากลอง ใช้เวลาฟื้นฟูนับแต่เหตุการณ์จบลงในเดือนตุลาคม 2017 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์โดยที่ดูเตอร์เตพูดได้อย่างมากก็แค่ว่าเขาทำดีที่สุดแล้ว[4]

การแต่งตั้งบราวเนอร์เป็นผู้บัญชาการทหารบกเกี่ยวข้องกับสิ่งที่บทความนี้ต้องการจะอธิบายเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพฟิลิปปินส์ กล่าวคือ การปฏิบัติการมาราวีและการสังหารผู้นำกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับรัฐอิสลามและฝ่ายคอมมิวนิสต์ เป็นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับภัยความมั่นคงภายใน ซึ่งนักวิเคราะห์ทั่วไปมีแนวโน้มจะเชื่อว่าเป็นภารกิจที่เสริมบทบาททางการเมืองของกองทัพ ประกอบกับบทบาทของผู้นำทางการเมืองฝ่ายพลเรือนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทัพฟิลิปปินส์มีอิทธิพลและบทบาทในการเมืองมาโดยตลอด โดยต้องการชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและฝ่ายการเมืองนั้นไม่ได้นอนนิ่งอยู่ในหลักการพลเรือนเป็นใหญ่ (civilian supremacy) เหมือนต้นแบบที่สหรัฐฯ ได้สร้างเอาไว้เมื่อกลางศตวรรษที่ 20 แต่อย่างใด

 กองทัพไม่ได้สร้างชาติ

กองทัพฟิลิปปินส์นั้นแตกต่างจากกองทัพอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม และไทย ตรงที่แทบจะไม่มีส่วนร่วมในการกระบวนการปลดปล่อยหรือสร้างชาติเอาเสียเลย แน่นอนฟิลิปปินส์เคยตกเป็นอาณานิคมของสเปน (1565-1898) และอยู่ในภาพกึ่งอาณานิคมของสหรัฐฯ (1989-1946) แต่กองทัพฟิลิปปินส์ยุคปัจจุบันถูกตั้งขึ้นโดยสหรัฐฯ ภายใต้การกำกับของนายพล ดักลาส แมคอาร์เธอร์ เมื่อปี 1941 ไม่อาจจะกล่าวอ้างได้เลยว่าก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเองและเป็นหัวหอกในการปลดปล่อยประเทศจากอาณานิคม กองทัพฟิลิปปินส์รับเอารูปแบบ โครงสร้าง บุคลิกลักษณะ อุดมการณ์และหลักนิยมจากสหรัฐฯ ทั้งหมด

รัฐธรรมนูญปี 1935 บัญญัติเอาไว้ชัดเจนว่าประธานาธิบดีคือผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีอำนาจในการระดมพลเมื่อมีศึกสงคราม รักษาความสงบและปราบกบฏ มีอำนาจในการโยกย้ายแต่งตั้งระดับนายพันขึ้นไป ทหารฟิลิปปินส์ต้องสาบานตนว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองไม่ว่าทางตรงทางอ้อม ห้ามทหารยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งยกเว้นใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเท่านั้น

กองทัพฟิลิปปินส์หลังได้เอกราชใหม่ๆ นั้นมีขนาดเล็กและอ่อนแอเกินกว่าจะปกป้องประเทศชาติจากภัยคุกคามภายนอกได้ อีกทั้งภัยคุกคามต่อรัฐบาลในยุคหลังได้เอกราชนั้นคือกองกำลังติดอาวุธที่อยู่ภายในประเทศ กองทัพฟิลิปปินส์จึงได้รับมอบหมายให้ปกป้องรัฐบาลจากกองกำลังชาวนาอย่าง Hukbalahap เป็นหลัก และนั่นส่งผลให้รัฐมนตรีกลาโหมที่กำกับดูแลกองทัพอย่าง รามอน แม๊กไซไซ ผู้ซึ่งด้านหนึ่งก็ใช้กองทัพปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ แต่อีกด้านหนึ่งก็แจกข้าวปลาอาหารให้ชาวนาเพื่อเอาชนะใจมวลชน จนทำให้เขากลายเป็นคนที่ได้รับความนิยมและได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 1953 แต่การนำของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเข้มแข็งอยู่จนถึงปี 1957 เมื่อแม๊กไซไซเสียชีวิตเพราะเครื่องบินตก รัฐบาลหลังจากนั้นภายใต้นำของ คาร์ลอส กาเซีย และ ดิออสดาโด มากาปากาว ไม่เข้มแข็งเท่ากับแม๊กไซไซ แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้หลักการพลเรือนเป็นใหญ่เสียหาย จนกระทั่ง เฟอร์ดินาน มาร์กอส ขึ้นสู่ตำแหน่งในปี 1965 แน่นอนแม้ว่าผู้นำจอมเผด็จการคนดังของฟิลิปปินส์จะขึ้นสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งอย่างชอบธรรม แต่การบริหารประเทศของเขาระหว่างที่อยู่ในอำนาจก่อนที่จะถูกโค่นล้มโดยการลุกฮือของประชาชนในปี 1986 นั้นถือได้ว่านำกองทัพเข้าสู่การเมืองเต็มตัว เขาอาศัยอำนาจทางกฎหมายของประธานาธิบดีและอำนาจทางกำลังอาวุธของกองทัพค้ำจุนระบอบเผด็จการอันฉ้อฉลของเขาให้ยืนยาวได้ถึง 21 ปี   

รัฐบาลมาร์กอสเหมือนกับรัฐบาลอื่นๆ ก่อนหน้าคือ เผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากกองกำลังติดอาวุธ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์และกองกำลังของมุสลิมโมโร (Muslim Moro National Liberation Front – MNLF) ทำให้เขาหนีไม่พ้นที่ต้องพึ่งพิงกองทัพในการจัดการกับภัยคุกคามดังกล่าว แต่สิ่งมาร์กอสทำนั้นจัดได้ว่าเป็นสิ่งที่บิดเบือนอำนาจเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญและแทรกแซงกองทัพ ด้วยการรักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมเสียเอง ใช้อำนาจโยกย้ายแต่งตั้งนายทหารที่มีถิ่นฐานบ้านเกิดเดียวกับเขาคือ Ilocos ให้คุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพที่ต้องใกล้ชิดกับเขา เช่น กองพันพิทักษ์ประธานาธิบดี ข่าวกรอง และตำรวจในมะนิลา (ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพ) ใช้กำลังพลเพื่อประโยชน์ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1969 ซึ่งนั่นนำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชนจนเกิดการลุกฮือและเขาก็ตอบโต้ด้วยกำลังทหาร แล้วกลายเป็นข้ออ้างให้เขาประกาศกฎอัยการศึกในปี 1972 และทำให้ฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้สภาพนั้นจนถึงปี 1981 ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิของรัฐธรรมนูญลงโดยสิ้นเชิง เมื่อไม่มีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญเหลืออยู่ อำนาจอาวุธของกองทัพจึงกลายเป็นเครื่องมืออย่างเดียวที่ค้ำจุนบัลลังก์มาร์กอส

มาร์กอสตอบแทนกองทัพและผู้นำทางทหารด้วยการมอบให้ทำโครงการพัฒนาในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์และมุสลิมโมโร ขยายบทบาทของกองทัพเข้าในภาคธุรกิจ เช่น ควบคุมโรงงานผลิตเหล็กและน้ำตาล และสร้างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการความมั่นคง พร้อมทั้งเพิ่มกำลังทหารขึ้นอย่างมากจาก 51,500 คนในปี 1965 เป็น 165,000 คนในปี 1986

เมื่อเขาลงจากอำนาจ นายทหารได้รับการต่ออายุราชการ หลายคนได้รับตำแหน่งในรัฐบาลเมื่อเกษียณอายุ เช่น ให้ไปเป็นทูต ผู้ว่าการเขตปกครองท้องถิ่น หรือเป็นผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาในท้องถิ่น สภาพเช่นนั้นถึงไม่อาจจะเรียกว่าเป็นสาธารณรัฐเสนาธิปัตย์ (praetorian republic) ได้เต็มปาก แต่สถานะของฟิลิปปินส์ตอนนั้นก็ใกล้เคียงมาก เพราะกฎอัยการศึกทำให้มีกระบวนการ militarization ในหลายมิติ เช่น ใช้กำลังทหารในการจับกุมและดำเนินคดีฝ่ายต่อต้าน สร้างกองกำลังป้องกันตนเองทำการฝึกและติดอาวุธให้พลเรือนหลายหมื่นคน

ที่น่าสนใจคือ มาร์กอสให้กำลังทหารเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองจนทำให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า politicization ในกองทัพ เมื่อนายทหารกลุ่มหนึ่งที่จบโรงเรียนนายร้อยฟิลิปปินส์ ตั้งกลุ่มที่มีลักษณะทางการเมืองขึ้นเรียกตัวเองว่า ‘ขบวนการปฏิรูปกองทัพฟิลิปปินส์’ (Reform the Armed Forces of the Philippines Movement – RAM) นำโดยพันเอก เกรอกอริโอ โฮนาซาน (Gregorio Honasan) ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะนำกองทัพออกนอกเครือข่ายมาร์กอสไปสู่ความเป็นทหารมืออาชีพ[5] และกลายเป็นกลุ่มนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มมาร์กอสในเวลาต่อมา

            การปฏิรูปที่ถูกลืม

การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1986 นำพาให้คอราซอน อาควิโน ภรรยาหม้ายของอดีตวุฒิสมาชิกเบนนิโญ อาควิโน ได้ตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างไม่ขาวสะอาดเท่าใดนัก เพราะผลการเลือกตั้งค่อนข้างคลุมเครือ ทั้งมาร์กอสและอาควิโนต่างอ้างว่าตัวเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง มวลชนของกลุ่มพลังประชาชน (People’s Power) พากันสวมใส่เสื้อเหลืองออกประท้วงขับไล่มาร์กอสและสนับสนุนอาควิโนให้เป็นประธานาธิบดี แต่ปัจจัยชี้ขาดไม่ได้อยู่ที่มวลชน หากแต่นายทหารที่อยู่นอกเครือข่ายมาร์กอสอย่างเช่นกลุ่มขบวนการปฏิรูปกองทัพฟิลิปปินส์ ร่วมมือกับรัฐมนตรีกลาโหม ฮวน โพนเซ่ เอนรีล (Juan Ponce Enrile) และรองเสนาธิการกองทัพ ฟิเดล รามอส พากันแตกแถวออกมาสนับสนุนอาควิโนและขบวนการพลังประชาชน เมื่อกองทัพไม่เล่นด้วย มาร์กอสก็หมดทางเลือกจำต้องบินหนีออกประเทศไป

สิ่งที่ประธานาธิบดีอาควิโนทำตลอดสมัยของเธอ (1986-1992) คือความพยายามในการพาการเมืองฟิลิปปินส์กลับไปสู่สถานะก่อนยุคกฎอัยการศึกของมาร์กอส เริ่มต้นจากการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 1987 เพื่อตอกย้ำหลักการพลเรือนเป็นใหญ่ (Civilian Supremacy) และสร้างกลไกในการควบคุมกองทัพ เช่น กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้อนุมัติงบประมาณกองทัพและยืนยัน (confirm) การโยกย้ายแต่งตั้งนายทหารและแยกตำรวจออกจากสังกัดกองทัพ[6] แต่อาจจะกล่าวได้ว่าการปฏิรูปในสมัยของเธอไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ชั่วระยะไม่กี่เดือนหลังรับตำแหน่งอาควิโนก็เจอกับความพยายามในการทำรัฐประหารครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 1986 จากกลุ่มนายทหารที่ภักดีต่อมาร์กอส และที่น่าประหลาดใจคือกลุ่มทหารปฏิรูปก็ให้การสนับสนุนการพยายามรัฐประหารครั้งนี้ด้วย

จากนั้นก็มีความพยายามที่จะยึดอำนาจตลอดสมัยของอาควิโน รัฐบาลของเธอเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ 7 ครั้ง แต่เหตุที่ทำให้รัฐบาลอาควิโนอยู่รอดได้ตลอดสมัย เพราะทหารที่พยายามทำรัฐประหารส่วนใหญ่เป็นนายทหารระดับล่าง มีจำนวนน้อย แต่ก็ควรพิจารณาด้วยว่าสาเหตุที่ทำให้อาควิโนเผชิญหน้ากับการท้าทายจากกองทัพนั้นเกิดจาก ประการแรก กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าทหารปฏิรูปนั้นก็ไม่ได้เชื่อมั่นในหลักการพลเรือนเป็นใหญ่เสียทั้งหมด และมีจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่ากองทัพควรมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศเท่าๆ กับนักการเมืองพลเรือน หรือหลายคนอาจจะเห็นว่าทหารมีความสามารถเหนือนักการเมืองด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของความมั่นคงอันเกิดจากภัยคอมมิวนิสต์และมุสลิมโมโร ที่ฝ่ายทหารเห็นว่าการใช้กำลังเข้าปราบปรามเป็นแนวทางที่ได้ผลกว่าแนวทางสันติของรัฐบาล ประการที่สอง รัฐบาลอาควิโนไม่เข้มแข็งพอที่จะบังคับบัญชากองทัพได้ จะสังเกตุได้ว่าแม้รัฐบาลของเธอจะสยบความพยายามในการรัฐประหารได้ แต่ไม่มีทหารคนใดโดนลงโทษ เพราะเธอเกรงว่าหากทำอะไรรุนแรงเกินไป กองทัพโดยรวมอาจจะร่วมกันต่อต้านเธอ

รัฐบาลพลเรือนสามารถควบคุมกองทัพได้จริงเกิดขึ้นในสมัยของรามอส ซึ่งชนะการเลือกตั้งขึ้นสู่ตำแหน่งในปี 1992 แต่นั่นเพราะเขาเคยเป็นนายทหารระดับสูงในกองทัพ มีบทบาทและบารมีเหนือทหารในกองทัพมาก เฉพาะอย่างยิ่งในสายปฏิรูปที่ดูเหมือนจะเชื่อถือและเชื่อฟังเขามากกว่าคนอื่น แม้ว่ารามอสจะจบวิชาทหารชั้นสูงจากเวสปอยต์ในสหรัฐฯ ไม่ใช่โรงเรียนนายร้อยฟิลิปปินส์ แต่เขาก็ได้รับความเคารพนับถือจากนายทหารที่จบโรงเรียนนายร้อยมาก แม้ไม่มีข่าวความพยายามทำรัฐประหารตลอดสมัยของรามอส แต่เอาเข้าจริงเขาก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการสลายฝักฝ่ายทำให้กองทัพมีเอกภาพได้แต่อย่างใด

ความถดถอยทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997-1998 ที่ติดเชื้อจากประเทศไทย ประกอบกับการทุจริตฉ้อฉลและเห็นแก่พวกพ้องของรัฐบาลอดีตดาราใหญ่ โจเซฟ เอสตราดา เปิดโอกาสให้กองทัพสามารถสร้างอิทธิพลในการเมืองได้อีก เมื่อเอสตราด้าโดนกระบวนการถอดถอนในรัฐสภาเพราะข้อหาทุจริตรับสินบน กอเรีย อาโรโย ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีของเขาเองก็เคลื่อนไหวสมทบกับการประท้วงตามท้องถนนและกระบวนการทางรัฐสภาเพื่อโค่นเขาลงจากตำแหน่ง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เอสตราดาตัดสินใจลงจากตำแหน่งเป็นเพราะพลเอกแองเจโล เรเยส เสนาธิการทหาร ออกมาประกาศเมื่อกระแสการต่อต้านเอสตราดาขึ้นสูงว่า กองทัพไม่สนับสนุนเอสตราดาอีกต่อไป[7]

อาร์โรโยเข้ารับตำแหน่งแทน อยู่ในตำแหน่งจนหมดวาระและได้รับเลือกตั้งเข้าไปใหม่ในปี 2004 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นสร้างปัญหาและแผ้วถางให้กองทัพมีอิทธิพลทางการเมืองมากกว่าเดิม เพราะอาร์โรโยได้คะแนนจากการเลือกตั้งแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ฐานะของเธอไม่เข้มแข็งมากนัก คู่แข่งในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีร้องเรียนว่าเธอโกงการเลือกตั้ง มีการฟ้องร้องและถึงขั้นเตรียมการถอดถอนเธอเลยทีเดียว แม้ว่าการถอดถอนไม่เกิดขึ้นแต่ก็ทำลายความชอบธรรมของอาร์โรโยไปได้มาก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาร์โรโยขึ้นสู่อำนาจได้เพราะการสนับสนุนของนายทหารในกองทัพ แต่ความพยายามในการยึดอำนาจจากนายทหารระดับล่างในปี 2003 ทำให้อาร์โรโยจำต้องคิดถึงการปฏิรูปปรับโครงสร้างกองทัพอีกครั้ง แต่ก็คล้ายๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยอาควิโน กล่าวคือมาตรการในการปฏิรูปนั้นไม่ถึงรากถึงโคนและไม่ได้ผล

อาร์โรโยลงโทษนายทหารที่ร่วมกันยึดอาคารศูนย์การค้า Oakwood ในย่านธุรกิจมากาตี ด้วยการจับกุม ปลดจากกองทัพ และให้อภัยโทษในตอนหลัง ในเวลาเดียวกันเธอสร้างตำแหน่งใหม่ๆ เช่น undersecretary (เทียบเท่ารัฐมนตรีช่วย) ขึ้นในกระทรวงกลาโหมเพื่อช่วยการควบคุมภายใน และตั้งที่ปรึกษาพิเศษของประธานาธิบดี เพื่อดูแลการปรับโครงสร้างกองทัพ และตั้งพลเรือนเป็นรัฐมนตรีกลาโหมแทนที่จะให้นายทหารเกษียณเหมือนที่ผ่านมา

นอกจากนั้นก็ดูแลในเรื่องสวัสดิการกำลังพล และร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อดูแลเรื่องการทุจริตในกองทัพ แต่ก็ด้วยความที่มาตรการปฏิรูปเหล่านั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง ภาคประชาสังคมและอื่นๆ ทำให้การปฏิบัติไม่เป็นผล และที่สำคัญทหารในกองทัพเห็นว่ามาตรการเหล่านี้เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในกองทัพและสายการบังคับบัญชา อีกทั้งรัฐบาลอาร์โรโยก็ดูอ่อนแอเกินกว่าจะทำให้กองทัพเชื่อฟัง ในขณะที่นายทหารระดับสูงยินดีที่มีการปลดทหารที่เกี่ยวข้องแผนการยึดอำนาจในปี 2003 และแผนการปฏิรูปของอาร์โรโยไปไม่ถึงไหน นายทหารระดับล่างกลับไม่พอใจและก่อหวอดการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มอาร์โรโยอีกในปี 2006 และ 2007 แต่ล้มเหลวทั้งสองครั้งเพราะนายทหารระดับสูงยังให้การสนับสนุนอาร์โรโยอยู่ต่อไป

            หุ้นส่วนทางอำนาจ

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้กองทัพฟิลิปปินส์สามารถคงบทบาทในการเมืองได้ตลอดมาคือ ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แม้ว่าสหรัฐฯ จะถอนฐานทัพจากฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 1992 แต่สงครามต่อต้านการก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านความมั่นคงระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์มากขึ้น เริ่มจากรัฐบาลจอร์จ บุชและอาร์โรโยมีความร่วมมือใกล้ชิดกันมากขึ้นในการปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายก่อการร้ายสากลที่หลบซ่อนตัวหรือใช้พื้นที่ของกองกำลังติดอาวุธทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ เช่น กลุ่มอาบูซายาป (Abu Sayyaf Group) และมุสลิมโมโรในการฝึกและระดมนักรบจีฮาดไปปฏิบัติการทั่วโลก[8]  

รัฐบาลทั้งสองมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพฟิลิปปินส์ทั้งทางด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ให้มีขีดความสามารถในการรับมือสิ่งถือว่าเป็นภัยคุกคาม ไม่เฉพาะฟิลิปปินส์เท่านั้นหากแต่เป็นภัยต่อภูมิภาคและต่อโลกด้วย โดยแบ่งแผนการออกเป็น 3 ระยะด้วยกันคือ ระยะแรก 2006-2011 ปรับปรุงทางด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและกำลังรบของกองทัพ ระยะที่สอง 2012-2018 ปรับเปลี่ยนภารกิจจากการเน้นภัยคุกคามภายในเป็นการป้องกันประเทศให้มากขึ้น ระยะที่สาม 2019-2024 ปรับจากภารกิจป้องกันประเทศไปเน้นการรักษาสันติภาพ

แม้ว่าในแผนการปฏิรูปดังกล่าวจะมีเป้าหมายเพื่อปรับโฟกัสให้กองทัพลดบทบาททางการเมืองในที่สุด และรัฐบาลพลเรือนตั้งแต่สมัยอาร์โรโย ต่อด้วยสมัยเบนนิกโญ อาควิโน ที่สาม กระทั่งถึงดูเตอร์เตในปัจจุบัน พยายามใช้แนวทางการเจรจากับกลุ่มมุสลิมโมโรเพื่อยุติปัญหาโดยสันติ แต่ปฏิบัติการทางทหารต่อกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ต้องการเจรจาหรือเจรจาไม่เป็นผลเช่น กลุ่มคอมมิวนิสต์และอาบูซายาป ดูเหมือนจะทำให้กองทัพมีบทบาทในการตัดสินใจในเชิงนโยบายมากขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์กับรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งในสมัยปัจจุบันจัดได้ว่าไม่สู้ดีนัก ประธานาธิบดีดูเตอร์เตนั้นดูเป็นเผด็จการก็ด้วยความที่ปากไม่ดี ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามยาเสพติด และละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าจะเป็นโดยสภาพพื้นฐานทางการเมืองเหมือนมาร์กอส เขามาจากชนชั้นนำบ้านนอกทางภาคใต้ไม่ใช่พวกไฮโซในมะนิลา เขาเติบโตและไต่เต้าทางการเมืองอยู่ในดาวาว มินดาเนา ตลอดช่วงทศวรรษ 1980-1990 เขาประสบความสำเร็จในการควบคุมความรุนแรงในพื้นที่ได้ด้วยการแสวงหาความร่วมมือกับฝ่ายคอมมิวนิสต์และเชื้อเชิญการลงทุนจากญี่ปุ่นและจีนเข้าไปพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ของฟิลิปปินส์ นั่นเป็นพื้นฐานให้เขาสามารถก้าวไปสู่ศูนย์กลางอำนาจทำเนียบมาลากันญังในการเลือกตั้งปี 2016 แต่ก็มาพร้อมกับความห่างเหินจากสหรัฐฯ และไม่ได้รับการยอมรับจากผู้นำทางทหารของกองทัพฟิลิปปินส์

นโยบายของดูเตอร์เตที่ผ่อนปรนและรอมชอมกับจีนในกรณีพิพาทเหนือทะเลจีนใต้ ทำให้ผู้นำเหล่าทัพและสหรัฐฯ ไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่ยึดถือความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มายาวนาน อีกทั้งกองทัพฟิลิปปินส์รู้สึกหวาดหวั่นว่าการที่จีนสร้างฐานที่มั่นทางทหารบนเกาะหลายแห่งในทะเลจีนใต้จะต้องกระทบอำนาจอธิปไตยของฟิลิปปินส์ ดังนั้นในบางกรณีเช่น ยุทธการมาลาวีในปี 2017 จึงมีรายงานว่า ผู้นำทหารฟิลิปปินส์เพิกเฉยต่อคำสั่งประธานาธิบดีและขอรับความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ โดยไม่ได้แจ้งให้ประธานาธิบดีทราบก่อน

นอกจากนี้กองทัพฟิลิปปินส์ปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในสงครามปราบปรามยาเสพติดที่ฉาวโฉ่ของประธานาธิบดีตูเตอร์เต ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการดำเนินการเรื่องนี้ภายใต้คำสั่งจากทำเนียบมาลากันญัง[9] ความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีและกองทัพเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ สมัยดูเตอร์เต เขาถึงกับเคยประกาศท้าทายให้กองทัพยึดอำนาจถ้าหากไม่พอใจการทำหน้าที่ของเขา หลังจากที่ดูเตอร์เตประกาศให้การนิรโทษกรรมวุฒิสมาชิกอันโตนีโอ ทริลลาเนส ที่สี่ อดีตนายทหารเรือที่เคยก่อกบฏเพื่อยึดอำนาจรัฐบาลอาร์โรโยถึงสองครั้งสองครานั้นเป็นโมฆะ เพื่อจะได้มีโอกาสจับกุมวุฒิสมาชิกซึ่งในขณะนั้นเป็นประธานวุฒิสภาอยู่ด้วย[10]

อย่างไรก็ตามความขัดแย้งดังกล่าวดูเหมือนจะยังไม่ทำให้ความสัมพันธ์โดยรวมเสียหายมากนัก กองทัพได้แสดงต่อสาธารณะว่ารัฐบาลดูเตอร์เตไม่ได้ละทิ้งพวกเขา ตรงกันข้ามกลับให้การสนับสนุนการปรับปรุงสมรรถภาพกองทัพทั้งทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และสวัสดิการกำลังพล โครงการต่างๆ ของกองทัพประสบความสำเร็จมากมายในสมัยของดูเตอร์เต เช่น เรือฟรีเกตติดขีปนาวุธ 2 ลำ เครื่องบินรบขนาดเบา รวมตลอดถึงเฮลิคอปเตอร์ต่อต้านเรือดำน้ำ และเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กก็จัดหามาได้สมัยดูเตอร์เต และประธานาธิบดีได้มีคำสั่งปรับเงินเดือนครั้งใหญ่ให้กำลังพลในปี 2018 ทำให้ทหารประจำการของฟิลิปปินส์ได้รับเงินเดือนเพิ่มเฉลี่ยถึง 58.7 เปอร์เซ็นต์[11]

สรุป

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว กองทัพฟิลิปปินส์น่าจะเป็นกองทัพที่ถูกจัดวางเอาไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกับอุดมคติหลักการพลเรือนเป็นใหญ่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าหากเปรียบเทียบกับประเทศที่ทหารออกมาแสดงบทบาททางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง อย่างพม่า อินโดนีเซีย และไทย ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า กองทัพฟิลิปปินส์สมัยใหม่ถูกจัดตั้งโดยสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของระบบพลเรือนเป็นใหญ่ ภายใต้หลักการดังกล่าวทหารจะถูกบังคับให้ยอมรับว่า กองทัพเป็นเพียงกลไกสำคัญในการป้องกันประเทศเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ในการบริหารหรือพัฒนาประเทศแต่อย่างใด

ฟิลิปปินส์โชคดี อย่างน้อยในประวัติศาสตร์ระยะสั้นถึงปัจจุบันนี้ที่กองทัพไม่เคยประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจเลยสักครั้ง ทหารฟิลิปปินส์จึงไม่มีประสบการณ์ในการควบคุมการเมือง การศึกษาเรื่องบทบาททางการเมืองของกองทัพฟิลิปปินส์จึงมองแต่เพียงว่าระดับความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างกองทัพและรัฐบาลพลเรือน (ที่มาจากการเลือกตั้ง) เป็นอย่างไร

ประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์บอกให้รู้ว่าปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่มีส่วนกำหนดให้กองทัพมีบทบาททางการเมืองมากหรือน้อยคือ ประการแรก บุคลิกลักษณะของผู้นำการเมืองฝ่ายพลเรือน จะเห็นได้ว่า นับแต่สมัยมาร์กอสนั้นบิดเบือนอำนาจตามรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดี เพื่อนำกองทัพมาค้ำจุนอำนาจทางการเมืองของตนเอง สร้างระบอบเผด็จการพลเรือนขึ้นมาและด้วยความที่มาร์กอสอยู่ในอำนาจนาน กองทัพถูกทำให้เป็นการเมืองและคุ้นชินกับการใช้อำนาจทางการเมืองในการแสวงหาผลประโยชน์ จนยากที่จะแยกตัวออกมาจากการเมืองได้ แม้ว่ามีการปฏิรูปทางการเมืองและกองทัพครั้งสำคัญในยุคหลังมาร์กอส แต่ยังไม่มีประธานาธิบดีที่มีพื้นฐานมาจากพลเรือนคนใดของฟิลิปปินส์หลังจากนั้นสามารถแสดงอำนาจเหนือและบังคับบัญชากองทัพได้โดยแท้จริง

นอกจากนี้ ผู้นำทางเมืองฝ่ายพลเรือนของฟิลิปปินส์หลายคนขึ้นและลงจากอำนาจเพราะการชี้ขาดของกองทัพ เช่น อาควิโน เอสตราดา และอาร์โรโย และบางคนเช่น อาร์โรโยใช้กองทัพในการชี้นำการเลือกตั้ง ทำให้การได้อาณัติจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งไม่สู้จะชอบธรรมนัก จึงทำให้กองทัพยังอยู่ในฐานะที่จะใช้อำนาจทางทหารต่อรองกับประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งได้ แม้แต่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตซึ่งดูเป็นคนมีบุคลิกแข็งกร้าวและมีท่าทีเหมือนเผด็จการมาก แต่เขาก็ยังไม่สามาถบังคับบัญชากองทัพได้ตามหลักการพลเรือนเป็นใหญ่จริง

ประการที่สอง ภัยคุกคาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภัยคุกคามจากภายใน เช่น ขบวนการคอมมิวนิสต์ กลุ่มมุสลิมโมโร ซึ่งเอาเข้าจริงภัยเช่นนี้ไม่ได้คุกคามต่อความอยู่รอดของฟิลิปปินส์มากไปกว่าคุกคามต่อความอยู่รอดของระบอบการปกครองและรัฐบาล ในกรณีนี้ทำให้รัฐบาลต้องการความคุ้มครองจากกองทัพเพื่อปกป้องตัวเองมากกว่าจะปกป้องประเทศ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกองทัพจะเกิดขึ้นเมื่อแนวทางในการรับมือกับภัยชนิดนี้แตกต่างกัน

โดยทั่วไปรัฐบาลพลเรือนมักจะแสวงหาการเจรจาสงบศึกและใช้แนวทางการเมืองในการแก้ไขปัญหา ซึ่งมักจะขัดแย้งกับกองทัพที่มีความชำนาญในการใช้กำลังอาวุธจัดการกับความรุนแรงและมองว่าการเจรจาเป็นวิธีการของคนอ่อนแอ การศึกษาทหารในสายคลาสสิกมักจะเห็นว่า กองทัพที่เน้นภารกิจในการรักษาความมั่นคงภายในมักมีแนวโน้มที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับแนวนโยบายในระดับการเมืองมากกว่ากองทัพที่ทำหน้าที่ในการป้องกันประเทศจากภัยคุกคามจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว

ในกรณีของฟิลิปปินส์จะตอกย้ำแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะกองทัพฟิลิปปินส์ในยุคแรกๆ มีขนาดเล็กและอ่อนแอเกินกว่าจะต้านทานภัยจากภายนอกแบบดั้งเดิมได้ ส่วนใหญ่มอบภารกิจนี้ให้สหรัฐฯ กองทัพฟิลิปปินส์จึงทำหน้าที่ในการปกป้องรัฐบาลจากกองกำลังภายในประเทศเป็นหลัก จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องทำให้รัฐบาลพลเรือนยอมโอนอ่อนตามแนวทางของกองทัพในการดูแลความมั่นคง

ประการที่สาม ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เป็นตัวแปรสำคัญประการหนึ่งที่กำหนดบทบาททางการเมืองของกองทัพ ดังที่ปรากฏในสมัยอาร์โรโยและเฉพาะอย่างยิ่งสมัยดูเตอร์เตในปัจจุบัน ที่รัฐบาลมีความโน้มเอียงไปทางจีนมาก ทำให้สหรัฐฯ เข้าหากองทัพฟิลิปปินส์มากกว่าจะผ่านรัฐบาลของดูเตอร์เต ในทำนองเดียวกัน กองทัพก็มักจะเพิกเฉยหรือต่อต้านนโยบายโปรจีนของดูเตอร์เต ด้วยเกรงว่าจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และก็ไม่ได้ไว้ใจจีนซึ่งถือว่าเป็นศัตรูมากกว่าจะเป็นพันธมิตรทางด้านความมั่นคง


[1] “Marawi siege veteran Brawner is new army chief” ABS&CBN News 7 December 2021 (https://news.abs-cbn.com/news/12/07/21/romeo-brawner-is-new-army-chief)

[2] Azer Parrocha and Priam Nepomuceno “Duterte names Brawner as army chief” Philippines News Agency 7 December 2021 (https://www.pna.gov.ph/articles/1162113)

[3] Ashley Westerman “Over 120,000 people remain displaced 3 years after Philippines’s Marawi battle”  NPR 23 October 2020 (https://www.npr.org/2020/10/23/925316298/over-120-000-people-remain-displaced-3-years-after-philippines-marawi-battle)

[4] Neil Arwin Mercado “Duterte admits: Marawi rehabilitation still not complete The Philippines Inquirer 26 July 2021 (https://newsinfo.inquirer.net/1464791/duterte-admits-marawi-rehabilitation-still-not-complete)

[5] Jongseok Woo. Security Challenges and Military Politics in East Asia (London:  Continuum, 2011) p.86

[6] Aries A. Arugay. The military in Philippines Politics: Still politicized and increasingly autonomous. In Marcus Mietzner (ed) The Political Resurgence of the Military in Southeast Asia. (London, New York: Routledge, 2011) p.89

[7] Jongseok Woo. Ibid p.170

[8] Renato Cruz De Castro “The twenty-first century armed forces of the Philippines: orphan of counter insurgency or military geared for the long war of the century” Contemporary Politics Vol.16 No.2 June 2010. P.153-171

[9] Mesrob Vartavarian “Praetorian network politics in the Philippines” The Study newsletter No.84 Autumn 2019 p.15

[10] “Duterte dares AFP: You want another President? Fine” Rappler.com 11 September 2018 (https://www.rappler.com/nation/211745-duterte-dares-afp-about-wanting-another-president/)

[11] Priam Nepomuceno “Strong support for AFP, one of Duterte’s legacies” Philippines News Agency 19 July 2021 (https://www.pna.gov.ph/articles/1147525)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save