fbpx
70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน กับ อาร์ม ตั้งนิรันดร

70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน กับ อาร์ม ตั้งนิรันดร

70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน

1 ตุลาคม 2019 สาธารณรัฐประชาชนจีนฉลองวันชาติครั้งที่ 70 และถือนับเป็นวันเกิดครบรอบ 70 ปีของวันสถาปนา “สาธารณรัฐ” ด้วย

ทั่วโลกต่างจับตามองการเฉลิมฉลองใหญ่ครั้งนี้ เพราะเป็นการฉลองภายความท้าทายของการเมืองภายในจีน และความผันผวนของระเบียบโลกที่อาจกลายเป็นสงครามเย็น 2.0

อ่านจีน เข้าใจโลกผ่าน ผ่านประวัติศาสตร์และอนาคตของสาธารณรัฐประชาชนจีน กับ อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรายการ 101 One-on-One

:: พัฒนาการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ::

อาร์ม ตั้งนิรันดร

อะไรคือสูตรสำเร็จที่เราพอจะวิเคราะห์ได้บ้าง ที่ทำให้จีนลุกขึ้นมาพัฒนาถึงขนาดนี้ ?

เริ่มตั้งแต่ปี 1949 ของเหมาเจ๋อตง เราอาจแบ่งพัฒนาการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็น 3 ช่วง คือ 30-30-30 ปี สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเราให้ความสำคัญได้คือ พรรคคอมมิวนิสต์ไม่เหมือนเดิม มีการเปลี่ยนแปลงตลอด มีพลวัตสูงมาก พรรคคอมมิวนิสต์สมัยเหมาเจ๋อตงกับตอนนี้เป็นพรรคที่แตกต่างกันมาก

ช่วงเริ่มต้น พรรคคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคลัทธินิยม คือเป็นคอมมิวนิสต์แบบที่เราเรียนกันในตำรารัฐศาสตร์ว่าเป็นระบบวางแผน ระบบคอมมูน หารเฉลี่ยเท่ากันทั้งหมด ไม่มีคนรวย ไม่มีคนจน แต่คนก็ล้อกันว่าจนทั้งประเทศ เขาก็บอกกันว่า ความชอบธรรมของพรรคเหมาเจ๋อตงอยู่ที่การตอบสนองลัทธินิยม คือสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการขูดรีดในสมัยการปกครองของพรรคก๊กมินตั๋ง

ยุคที่สอง พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นพรรคเศรษฐกิจนิยม เติ้งเสี่ยวผิงบอกว่าความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์คือทำให้คนจีนอยู่ดีกินดี ทำให้เศรษฐกิจเติบโตปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ เขาใช้คำว่าปลดปล่อยพลังการผลิต และปลดปล่อยพลังการสร้างสรรค์ ก็คือทำให้ชีวิตการเป็นอยู่ดีขึ้น

ยุคที่สาม ในการนำของสีจิ้นผิง พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นพรรคชาตินิยม ถ้าเราดูสุนทรพจน์ของสีจิ้นผิง เราจะเห็นว่า เขามองว่าความชอบธรรมของเขาคือการเป็นตัวแทนอารยธรรมจีน ตัวแทนชาติจีน เป็นตัวแทนของการพาจีนกลับมาแข็งแกร่งยิ่งใหญ่อีกครั้ง อันนี้กลายเป็นความชอบธรรมสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ในปัจจุบัน

สมัยประธานเหมา ประธานเหมามีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด แต่เติ้งเสี่ยวผิงบอกว่าระบบนั้นทำให้มีความผิดพลาดในการดำเนินนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรม หรือนโยบายเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเติ้งเสี่ยวผิงก็เลยใช้ระบบการนำเป็นทีม คือมีคณะผู้นำ ไม่ใช่มีใครมีอำนาจคนเดียว แล้วพรรคคอมมิวนิสต์ปรับตัวเองเป็นระบบรัฐราชการขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่าพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ใช่เผด็จการทหาร ไม่ใช่เผด็จการแบบเกาหลีเหนือที่มีผู้นำคนเดียว แต่เป็นระบบรัฐราชการขนาดใหญ่

พรรคคอมมิวนิสต์ต้องคิดตลอดว่าต้องทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด เพราะฉะนั้นตั้งแต่สมัยเติ้งเสี่ยวผิง ทำไมเขาถึงเปิดประเทศ ทำไมเขาถึงปฏิรูประบบเศรษฐกิจกลไกตลาด เพราะเติ้งเสี่ยวผิงบอกว่าอยู่แบบเดิมไม่น่าจะอยู่ได้ หรือสิ่งที่สีจิ้นผิงทำ ก็คือปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอด ผมคิดว่าพลวัตเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากความรู้สึกว่าถ้าไม่ปรับ ก็อาจจะไม่รอดเหมือนกัน

:: สีจิ้นผิงอยู่ยาว ? ::

อาร์ม ตั้งนิรันดร

ทำไมสีจิ้นผิงจึงเปลี่ยนนโยบายให้ตัวเองอยู่ยาว เกี่ยวข้องกับพลวัตด้วยหรือเปล่า ?

จุดนี้เป็นพัฒนาการการเมืองจีนที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เป็นพัฒนาการที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา เหมือนเป็นการไปพลิกกระแสที่เติ้งเสี่ยวผิงเคยวางไว้ เพราะเติ้งเสี่ยวผิงบอกว่าต้องบริหารเป็นทีม ผู้นำต้องมีวาระเกษียณ

เขามองว่านี่เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปของสีจิ้นผิงให้เกิดขึ้นจริงคือ การปราบคอร์รัปชัน และการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งทางการก็ให้เหตุผลไว้ว่า

เหตุผลที่หนึ่ง การปฏิรูปนี้จำเป็นต้องใช้การรวมศูนย์มากกว่าเดิม ต้องใช้ผู้นำที่แข็งแกร่ง เอาจริง แล้วต้องต่อเนื่อง เพราะสมมติว่าทำมา 10 ปี แล้วคนอื่นมีแนวทางใหม่ก็จะปฏิรูปไม่สำเร็จ

เหตุผลที่สอง เขามองกันว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีภัยคุกคามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภัยจากต่างประเทศ รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็ยิ่งต้องการผู้นำที่แข็งแกร่ง ที่สามารถขับเคลื่อนผลักดันนโยบายได้

ส่วนเหตุผลที่อาจจะไม่เป็นทางการ อันนี้ก็แล้วแต่ที่เราจะวิเคราะห์ บางคนก็บอกว่าสีจิ้นผิงอาจจะลงจากหลังเสือไม่ได้ เพราะว่าปราบคอร์รัปชัน ถ้าลงจากหลังเสือแล้ว ศัตรูน่าจะเยอะ บางคนก็บอกว่า มองไม่เห็นผู้นำรุ่นถัดไปที่จะแข็งแกร่ง หรือคุมอยู่เหมือนสีจิ้ผิง อันนี้ก็แล้วแต่จะมอง

ทีนี้ถ้าเรามาพูดถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น มองมุมหนึ่งก็ดูชัดเจนดีว่าการเมืองมีเสถียรภาพมากเลยนะ เพราะเราเห็นชัดเจนเลยว่ามันไม่เปลี่ยน แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง มันก็ทำให้ไม่มีเสถียรภาพเหมือนกัน เพราะเราก็ไม่รู้ชัดเจนว่าใครจะขึ้นมาเป็นคนต่อไป แล้วคนที่อยากขึ้นมา ก็อาจจะต้องใช้วิธีที่ไม่ปกติ อาจมีความวุ่นวายเกิดขึ้น ก็มีความเสี่ยงตรงนั้นอยู่

:: ก้าวสู่มหาอำนาจโลก ::

อาร์ม ตั้งนิรันดร

จีนพร้อมไหมที่จะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ หรือจีนพร้อมตลอดเวลาอยู่แล้วสำหรับตำแหน่งนี้?

ถ้าเราดูช่วงเวลาที่จีนเร่ิมประกาศนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการออกมาข้างนอก นโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ในศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative : BRI) จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการเงินของสหรัฐอเมริกา ประมาณปี 2009 จึงเป็นจุดที่ทำให้จีนมั่นใจมากขึ้นกับระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจของตัวเอง

แต่ตอนนี้มาย้อนกลับไปดู หลายคนในจีนหรือในต่างประเทศก็คงจะกลับไปตั้งคำถามว่ามันเป็นการเดินเกมที่ชาญฉลาดรึเปล่า เพราะว่าถึงคุณอยากจะโชว์คนในประเทศ แต่คนข้างนอกเขากลััวหมดเลย ถึงคุณบอกว่า อเมริกาเจ๊งไปแล้ว แต่อเมริกาก็กลับมาได้ แล้วก็ค่อนข้างขัดแย้งกับที่เติ้งเสี่ยวผิงเคยพูดไว้ว่า เราจะต้อง keep low profile คือเราอย่ามาทำกร่าง อย่าเทียวเล่นบทบาทนำที่ไหน เพราะเราเองก็มีปัญหาภายในที่ต้องแก้ไขจัดการอยู่มาก เพราะฉะนั้นต้องรีบพัฒนาตัวเองขึ้นมาก่อน

พอจีนจะต้องเล่นบทบาทนำมากขึ้น กลายเป็นว่าทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือความหวาดระแวง แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าที่กลับมาเป็นตัวขัดขาการพัฒนาของจีนให้สะดุดลง

ถ้าถามว่าจีนพร้อมไหม ผมคิดว่าทั้งพร้อมและไม่พร้อม เราก็ต้องยอมรับว่าไม่ว่าจีนจะประกาศว่าเป็นมหาอำนาจหรือไม่เป็น ข้อเท็จจริงก็คือวันนี้จีนเป็นชาติที่สำคัญในเวทีโลก ถ้าเราวัดกันตามกำลังซื้อ เศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบและบทบาทร่วมในการกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ต้องมากับขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นในระดับนี้อยู่แล้ว

แต่ถ้าถามว่าตอนนี้จีนแข็งแกร่งพอจะมาแทนที่สหรัฐอเมริกามั้ย ก็ตอบว่า ไม่ จีนไม่สามารถที่จะขึ้นมามีความสามารถในระดับเดียวกันกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเรื่องทหาร เทคโนโลยี การศึกษา หรือแม้กระทั่งเรื่องค่านิยม คุณค่าที่เป็นสากล แต่รัฐบาลจีนก็พูดตลอดว่าไม่ได้มีความคิดจะแผ่ขยายลัทธิการเมืองจีนไปนอกประเทศ จุดยืนของรัฐบาลจีนคือไม่ต้องการสากลนิยม เพราะเขาคิดว่าไม่ได้มีโมเดลเดียวสำหรับทุกประเทศ แต่ละประเทศไปหาโมเดลของตัวเอง ความหมายของจีนคืออย่ายุ่งกับฉัน ฉันจะมีการปกครองในแบบที่ฉันคิดว่าควรจะปกครอง นี่คือจุดยืนของจีนเรื่องนี้ ซึ่งพอเป็นแบบนี้ จีนก็ไม่ได้เป็นมหาอำนาจในแบบที่สหรัฐฯ เป็น

:: จีนไฮเทค ::

อาร์ม ตั้งนิรันดร

เดือนมีนาคม ปี 2000 เป็นช่วงของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ตอนนั้นเอ็นจีโอในสหรัฐฯ ก็ถามทุกวันว่า คลินตันยอมให้จีนเข้า WTO ได้อย่างไร ยอมคบค้ากับจีนได้อย่างไรในเมื่อจีนเป็นคอมมิวนิสต์ คลินตันพูดสุนทรพจน์ที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่า คิดอะไรมาก เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่อินเทอร์เน็ตเข้าไปในเมืองจีน พรรคคอมมิวนิสต์รอวันถอยหลังได้เลย อยู่ไม่ได้หรอก เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นโลกเสรี พรรคคอมมิวนิสต์คิดจะควบคุมอินเทอร์เน็ตเหรอ ขอให้โชคดีนะ

คลินตันเปรียบเทียบว่าเหมือนการเอาตะปูปักเยลลี่ ก็คือมันปักไม่ได้ ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าจีนจะทำได้ แต่ทุกวันนี้ถ้าถามว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือใคร ก็คือคนที่เอาตะปูปักเยลลี่อยู่ คือประสบความสำเร็จในการควบคุมอินเทอร์เน็ต ในความหมายว่าไม่ได้ห้ามให้มีอินเทอร์เน็ตแบบเกาหลีเหนือ ไม่ได้ห้ามคนแสดงความคิดเห็น แต่อินเทอร์เน็ตในเมืองจีนคึกคักมาก เขาควบคุมได้ว่า คุณจะไปแสดงความเห็นที่ผิดกฎหมาย เช่น จะไปล้มพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ได้ คือเขาสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโลกที่เสรีระดับหนึ่งเหมือนกัน ในจีนมีความยอกย้อนอยู่ ไม่ได้สุดขั้วอย่างที่เรามักจะเข้าใจ เพราะฉะนั้นคนจีนก็บอกว่าเขาก็มีเสรีภาพนี่ เขาจะด่ารัฐบาลเขาก็ด่าได้น

ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจะบอกว่า ตอนแรกจีนมองว่าอินเทอร์เน็ตก็คือแพลตฟอร์ม คือเรื่องความมั่นคงของรัฐบาลจีน วันนี้นักวิเคราะห์ฝรั่งบางคนก็พูดติดตลกว่า เราผิดหวังกันมากเลยว่าจีนไม่เหมือนเรา แต่ตอนนี้เราเร่ิมเหมือนจีนแล้ว สหรัฐฯ เร่ิมระแวงเหมือนกันว่าอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์ม 5G สมาร์ตโฟนต่างๆ เป็นเรื่องความมั่นคง วันนี้คนที่พารานอยด์คือสหรัฐฯ

ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าเรื่องเทคโนโลยีมีมิติเรื่องความมั่นคงทั้งในมุมของจีนและในมุมของสหรัฐฯ มีเหตุผลที่จีนควบคุมอินเทอร์เน็ต ที่พัฒนาบริษัทเทคโนโลยีของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Huawei Alibaba โซเชียลมีเดียของตัวเอง เหล่านี้จีนมองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงตั้งแต่ต้น

:: อาเซียนอยู่อย่างไร ::

อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาเซียนควรจะทำอย่างไรกับขั้วอำนาจของสหรัฐฯ – จีน ?

เป็นโอกาสอย่างมากกับประเทศเล็กๆ ที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ถ้าเล่นเกมและเล่นตัวเป็น จะสามารถต่อรองได้ทั้งสหรัฐฯ และจีน นึกถึงว่าเราเป็นหญิงสาวที่มีสองหนุ่มอยากจะมาจีบ การเล่นตัวอย่างมีกลยุทธ์ อย่างเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก สำคัญมาก

ตอนนี้อาเซียนมีสิ่งที่เรียกว่า ASEAN Outlook on the Indo-Pacific คำว่า Indo-Pacific เป็นคำของสหรัฐฯ ก็คือสหรัฐฯ อยากจะมีบทบาทในนี้ เพราะฉะนั้นก็ชัดเจนว่าอาเซียนก็ต้องการเอาสหรัฐฯ มาบาลานซ์กับจีน แน่นอนว่าก็ต้องการเอาจีนมาบาลานซ์กับสหรัฐฯ ด้วย

ถามว่าตอนนี้อะไรเป็นเทรนด์ที่สำคัญที่สุด ก็คือการที่จากเดิมโลกเป็นโลกาภิวัตน์ เป็นโลกเดียวที่เชื่อมเข้าด้วยกัน ตอนนี้มันจะค่อยๆ แตกเป็นสองห่วงโซ่ ก็คือวิธีการที่สหรัฐฯ ค่อยๆ แยกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกจากเศรษฐกิจจีน เพราะฉะนั้นระยะยาวก็จะค่อยๆ แยกเศรษฐกิจของสองประเทศ

สงครามการค้าที่สำคัญคือจีนจะต้องการแหล่งผู้บริโภคใหม่ หาแหล่งผลิตใหม่ อาเซียนก็จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับจีน เพราะฉะนั้นการลงทุนก็จะมีแนวโน้มที่มากขึ้น

เราจะต้องคิดว่าจะเข้าไปอยู่ในสองห่วงอย่างไร อยู่ในห่วงไหน แล้วเราได้จะประโยชน์จากการต่อรองกับห่วงไหนมากกว่า แต่ละธุรกิจก็จะต้องมองภาพให้เห็นว่าห่วงโซ่การผลิตกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วตรงไหนที่เป็นโอกาสที่เราจะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่นั้นได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save