fbpx
ม็อบ มีมและการเมืองคนรุ่นใหม่ กับ อาจินต์ ทองอยู่คง

ม็อบ มีมและการเมืองคนรุ่นใหม่ กับ อาจินต์ ทองอยู่คง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

“#ถ้าการเมืองดี…บัตรคอนเสิร์ตศิลปินเคป็อปจะถูกลง” “#ถ้าการเมืองดี…รถจะไม่ติด น้ำจะไม่ท่วม”  

“CIA มาแล้ว”

“โอเค นัมเบอร์วัน มาเลย!!”

“ใครสั่งมอคค่า”

ฯลฯ

ประโยคเหล่านี้ เมื่อพูดขึ้นมา ผู้ชุมนุมประท้วงในขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ก็รู้ทันทีว่าหมายถึงอะไร สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็น ‘มีม’ ที่เราเห็นได้จากการชุมนุมประท้วงหลายครั้งทั้งในโลกออนไลน์และท้องถนน รวมทั้งยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้ชุมนุมอย่างมาก

คำถามสำคัญคือ มีมทำหน้าที่อย่างไรในทางการเมืองกันแน่ ทำไมมีมจึงกลายเป็นเครื่องมือยอดฮิตในการประท้วง อะไรคือควาทรงพลังของมีม แล้ว pop culture เกี่ยวอะไรกับการประท้วง?

101 สนทนากับ อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อตอบคำถามข้างต้นและทำความเข้าใจมีมให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้น

เรียบเรียงจาก 101 One-On-One Ep.189 : ม็อบ มีมและการเมือง กับ อาจินต์ ทองอยู่คง เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 23 ต.ค. 2563

 

มีมคืออะไรกันแน่?

 

ในปัจจุบัน คนส่วนมากน่าจะคุ้นเคยกับ ‘อินเทอร์เน็ตมีม’ โดยเฉพาะที่เป็นภาพกราฟฟิกต่างๆ แต่ที่จริงแล้ว แนวคิดเรื่อง ‘มีม’ ถูกเสนอมานานพอสมควรก่อนที่อินเทอร์เน็ตมีมจะแพร่หลาย และไม่ได้จำกัดแต่เพียงว่าต้องเป็นรูปภาพเท่านั้น

คำว่า ‘มีม’ คิดขึ้นโดยนักชีววิทยา ริชาร์ด ดอว์กิน (Richard Dawkins) เขาพยายามใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการแบบดาร์วินอธิบายลักษณะทางวัฒนธรรมที่ถูกเผยแพร่ รับรู้ ส่งต่อและทำซ้ำ คำว่ามีมตั้งขึ้นมาล้อกับคำว่า ‘ยีน’ ที่หมายถึงรหัสทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ซึ่งก็สามารถลอกเลียนและส่งต่อได้เช่นกัน ดอว์กินจึงเอามาปรับใช้เป็นคำว่ามีม ในแง่ที่ว่ามีมคือรหัสทางวัฒนธรรม (cultural code) ที่ถูกส่งต่อภายในกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่งๆ รับรู้และใช้ร่วมกัน

หากถามว่าอะไรบ้างที่นับว่าเป็นมีม อธิบายอย่างกว้างที่สุด มีมคือรหัสหรือสัญญะที่สรุปใจความสำคัญของไอเดีย หรือความคิดแบบใดแบบหนึ่งภายใต้ฟอร์มที่รับฟังแล้วเข้าใจตรงกันว่า สารที่แฝงมาพร้อมกับสัญญะนั้นกำลังสื่อสารอะไรอยู่ รวมทั้งยังถูกดัดแปลงได้ง่ายและส่งต่อด้วยแก่นความคิดแบบเดียวกัน โดยผู้ใช้งานสามารถดัดแปลงมีมโดยการเพิ่มสารต่างๆ ที่ตัวเองอยากสอดแทรกและนำเสนอภายใต้โครงสร้างหรือสัญญะแบบเดิมได้ ดังนั้น มีมจึงมีได้หลายลักษณะ หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทำนองเพลง คำติดปากต่างๆ หรือกราฟฟิกมีมในอินเทอร์เน็ต ซึ่งที่เราเห็นบ่อยๆ ส่วนมากจะเป็นรูปภาพแบบใดแบบหนึ่ง ประกอบด้วยข้อความ เมื่อผู้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมมีมนั้นๆ เห็นภาพและข้อความ จะเข้าใจทันทีว่ามีมกำลังสื่อสารประเด็นไหน โดยที่ตัวข้อความไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวโดยตรง

 

การมีมและการเมือง

 

การใช้มีมทางการเมืองเริ่มเติบโตและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายพร้อมๆ กับเริ่มการใช้โซเชียลมีเดียเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะอินเทอร์เน็ตช่วยให้การผลิตซ้ำและเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปได้ง่ายขึ้น โลกยุคอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลไหลเวียนได้อย่างรวดเร็วยิ่งไปสอดคล้องกับลักษณะของมีมที่ดัดแปลงและส่งต่อแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งได้ง่าย มีมจึงทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองและเผยแพร่ความคิดทางการเมืองได้อย่างดี

หากถามว่ามีมมีฟังก์ชันอะไรในการเคลื่อนไหวทางการเมือง หลักๆ คือ มีมทำให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตมีม เราจะเห็นว่าในยุคแรกๆ ที่อินเทอร์เน็ตมีมเริ่มแพร่หลาย ชาวเน็ตฮิตเล่นกราฟฟิกมีมมาก สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ชาวเน็ตสามารถผลิตและเผยแพร่มีมได้ง่ายขึ้นคือ meme generator หรือเว็บไซต์สร้างกราฟฟิกมีมกึ่งสำเร็จรูป โดยผู้ใช้สามารถเลือกได้เลยว่าจะใช้ภาพไหนเป็นแบ็คกราวน์ของมีม พิมพ์ข้อความลงไป และสามารถแชร์ต่อได้ทันที

ยิ่งเมื่อกราฟฟิกมีมเป็นข้อมูลดิจิทัล การผลิตซ้ำและเผยแพร่ความคิดทางการเมืองด้วยอินเทอร์เน็ตมีมยิ่งทำได้ง่ายขึ้นไปอีก เพราะแทบไม่มีต้นทุนทางกายภาพในการเผยแพร่ความคิดเลยเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ต้องพิมพ์ใบปลิว พิมพ์หนังสือออกมา มีมในยุคอินเทอร์เน็ตจึงช่วยให้คนจำนวนมากสามารถมีส่วนร่วมในการเผยแพร่หรือแสดงความคิดทางการเมืองของตนเองได้ และไม่ได้จำกัดด้วยว่าจะต้องเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เราจะพบว่าแต่ละขั้วการเมืองต่างก็ใช้มีมในการเคลื่อนไหวทั้งนั้น

อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ แม้ว่ามีมไม่จำเป็นจะต้องตลกก็ได้ แต่มีมส่วนมากที่เราเห็นและรู้จักมักแฝงไปด้วยอารมณ์ขันเสมอ มีมีมจำนวนน้อยมากที่ไม่ตลกเลย เพราะฉะนั้น ความตลกขบขันของมีมจึงช่วยลดความซีเรียส ความจริงจังเคร่งขรึมในพูดเรื่องการเมือง ช่วยให้คนกล้าแสดงออกทางการเมืองได้ง่ายและสะดวกใจขึ้น เสมือนกับว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องตลกอยู่ แต่ที่จริงแล้ว กำลังสื่อสารทางการเมือง แฝงประเด็นการเมืองที่เข้มข้นและจริงจัง ความตลกขบขันของมีมจึงช่วยดึงให้คนมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ง่ายขึ้น

การแสดงออกทางการเมืองผ่านสัญญะที่ตัดบริบทออกหมดเช่นนี้ ยังช่วยให้คนแสดงออกทางการเมืองว่าสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนอะไรได้ง่ายมากขึ้น เพียงแค่โพสภาพและข้อความสั้นๆ ที่มองเห็นแล้วเข้าใจได้ทันที ก็สามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองได้ ไม่จำเป็นจะต้องเขียนข้อความยาวๆ หรือเขียนเป็นแถลงการณ์อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ความเป็นสัญญะของมีมยังช่วยให้คนพูดเรื่องที่พูดยากออกมาได้ง่ายขึ้น ในแง่หนึ่ง การเมืองมักเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยสะดวกใจจะพูดกันเท่าไหร่ อย่างในไทย ประเด็นทางการเมืองบางประเด็นเป็นเรื่องอ่อนไหว หรือมีข้อห้ามบางอย่างทางกฎหมายหรือวัฒนธรรม อย่างก่อนหน้าที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจะขยับเพดานการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะก็ยังเป็นเรื่องต้องห้าม รวมทั้งยังมีกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่สร้างข้อจำกัดในการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ แต่เราสามารถใช้สัญญะของมีมพูดแทนได้ ในเมื่อมีมคือระบบสัญญะที่ผู้รับสารจำเป็นต้องมีความเข้าใจรหัสทางวัฒนธรรม มีมจึง ‘ซ่อน’ ความตรงไปตรงมาของการเสนอไอเดียทางการเมือง และค่อยๆ ช่วยดันเพดานเรื่องที่พูดได้ยากให้กลายเป็นเรื่องพูดได้ง่าย รวมทั้งพูดได้เป็นวงกว้างมากขึ้นอีกด้วย

 

ร่องรอยของ ‘มีม’ ในการเมืองไทย : เคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม

 

บอกได้ยากมากว่า เริ่มมีการใช้มีมในการเมืองไทยครั้งแรกเมื่อไหร่ เพราะไม่ว่าจะเป็นคำรณรงค์ต่างๆ ในการชุมนุม การใส่เสื้อสีเหลืองของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย หรือการใส่เสื้อสีแดงของกลุ่มนปช. ก็นับว่าเป็นมีมเหมือนกัน การเลือกสวมใส่เสื้อสีต่างๆ ก็คือสัญญะที่สวมใส่ลงไปบนตัวว่า มีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร และนิยามตนเองเข้ากับกลุ่มทางการเมืองที่มีข้อเสนอทางการเมืองแบบไหน

ส่วนอินเทอร์เน็ตมีม น่าจะเริ่มมีอิทธิพลต่อขบวนการเคลื่อนไหวไทยช่วงที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมระยะแรกก่อนจะกลายเป็นขบวนการ กปปส. อย่างเต็มรูปแบบ มีมที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยเป็นอย่างมากคือ ‘ป้ายดำคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม’ ซึ่งเป็นภาพกราฟฟิกป้ายสี่เหลี่ยมขนมเปีกยปูนสีดำ มีข้อความตัวอักษรสีขาวประมาณ 3 บรรทัด รณรงค์ให้คนต่อต้านการผ่าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กเพื่อแสดงออกว่าคิดเห็นกับสถานการณ์ทางการเมือง ณ ตอนนั้นอย่างไร รวมทั้งแทนความคิดทางการเมือง ซึ่งในช่วงปี 2556-2557 จะเห็นว่ามีชาวเน็ตจำนวนมากเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นป้ายคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเพื่อประท้วงรัฐบาล

 

มีม ‘ป้ายดำคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม’ เป็นที่นิยมในหมู่ชาวเน็ตในช่วงปี 2556-2557

 

ต่อมา มีม ‘ป้ายดำคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม’ ได้รับความนิยมอย่างมากและถูกดัดแปลงไปต่างๆ นานา หลายรูปแบบ ระยะหลังจะพบว่ามีคนปรับเปลี่ยนข้อความบนป้าย จากเดิมที่เขียนแค่ว่า คัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ก็เปลี่ยนให้เป็น ‘กลุ่ม xxx (ชื่อกลุ่มสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงาน) คัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม’ แทรกอัตลักษณ์ของกลุ่มลงไปเพื่อแสดงออกให้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งมีการเพิ่งอารมณ์ขันลงไปในมีมป้ายคัดค้านฯ อย่างเช่น เปลี่ยนจากกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแบบเดิมไปเป็นกรอบรูปคิตตี้ หรือยิ่งไปกว่านั้น พอข้อความในป้ายมีคำว่า พ.ร.บ. ชาวเน็ตก็เปลี่ยนข้อความบนป้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนจาก ‘คัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม’ ไปเป็น ‘รับทำ พ.ร.บ. ประกันภัยรถยนต์’ ล้อกันไปกับข้อความต้นฉบับ

 

มีมล้อป้ายดำคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ‘รับทำ พ.ร.บ. ประกันภัยรถยนต์’

 

ไม่เพียงแค่ฝ่ายต่อต้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรมเท่านั้นที่นำป้ายดังกล่าวไปทำซ้ำและดัดแปลง แต่ฝ่ายที่ต่อต้านการคัดค้านก็นำป้ายไปเปลี่ยนข้อความ ใส่ข้อความแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ต้องการจะสื่อสารออกไปในเชิงตั้งคำถามต่อขบวนการ เช่นว่า ‘คัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม แต่ว่าฉบับไหนล่ะ แล้วจะย้อนกลับไปถึงปีไหนล่ะ’ เป็นต้น

 

มีมในกระแสการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่

 

ลักษณะในการนำมีมมาใช้ในการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ช่วงนี้ อย่างแรกที่เห็นคือ มีมช่วยให้พวกเขาสามารถแสดงออกจุดยืนทางการเมืองได้ง่ายขึ้น และเริ่มมีคนแสดงออกมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากนักศึกษาหลายคนที่ผมสอนเริ่มแสดงจุดยืนทางการเมืองเพิ่มขึ้นเยอะมาก จากที่แต่ก่อนแทบจะไม่ค่อยแสดงออก หรือแสดงออกน้อยมาก ซึ่งหลายคนก็เลือกที่จะแสดงออกผ่านมีม กลายเป็นว่าการเมืองที่เคยเป็นเรื่องที่พูดยาก ลำบากใจที่จะพูด กลายเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากรู้สึกว่าพูดง่ายขึ้น กล้ากล่าวถึงมากขึ้น

ที่สำคัญ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในประเด็นที่ขบวนการเคลื่อนไหวผลักดันคือ ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ว่าการผลักเพดานการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะครั้งแรกจะเกิดขึ้นบนเวทีชุมนุม แต่ในหมู่มวลชน มีมก็นับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยผลักเพดาน ท้าทายลิมิตในการพูดเรื่องซึ่งเคยเป็นประเด็นที่แหลมคม และเคยเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทยได้เช่นกัน กลายเป็นว่าประเด็นสถาบันกษัตริย์เริ่มกลายเป็นเรื่องที่คนรู้สึกว่าลำบากใจน้อยลงที่จะออกมากล่าวถึง

 

 

อีกลักษณะหนึ่งที่เห็นได้ชัดและต่างออกไปจากการเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียยุคก่อนหน้านี้คือ ในสมัยกปปส. การเคลื่อนไหวมักจะเกิดขึ้นในเฟซบุ๊คเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน ผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนมากซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มีฐานตั้งมั่นอยู่ในทวิตเตอร์

จุดเด่นของทวิตเตอร์อย่างหนึ่งคือ แฟลตฟอร์มกำหนดเอาไว้ว่าเขียนข้อความได้ไม่เกิน 240 ตัวอักษร เมื่อแพลตฟอร์มจำกัดให้ให้ผู้ใช้เขียนข้อความได้แค่สั้นๆ ผู้ใช้จึงต้องพยายามรวบยอดความคิดของตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การใช้ #แฮชแท็ก ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นมีมชนิดหนึ่ง จึงช่วยให้คนในแพลตฟอร์มเข้าใจทวีตนั้นๆ ได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการเกริ่นยาวๆ หรือใส่บริบทว่ากำลังทวีตเกี่ยวกับประเด็นอะไรอยู่ การนำเสนอและส่งต่อความคิดในทวิตเตอร์จึงเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อใส่แฮชแท็ก

สิ่งที่ตามมาจากการใช้ทวิตเตอร์คือ มีมที่ใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มเปลี่ยนจากกราฟฟิกมีมไปเป็นมีมข้อความหรือชุดคำมากขึ้น

นอกจากจะอยู่ในทวิตเตอร์แล้ว การใช้มีมข้อความยังปรากฏให้เห็นในพื้นที่ชุมนุมการประท้วงผ่านป้ายข้อความประท้วงต่างๆ ซึ่งมีรหัสทางวัฒนธรรมบางอย่าง ซึ่งถ้าเข้าใจวัฒนธรรมนั้นๆ อยู่แล้ว เมื่อเห็นก็จะเข้าใจได้เลยทันทีว่าป้ายข้อความนั้นกำลังพยายามจะบอกอะไรอยู่

 

มีม ‘ปังมาก เป๊ะมาก ขอบใจ’ จากม็อบตุ้งติ้ง 2

 

อีกลักษณะหนึ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ต่างออกไปจากยุคก่อนๆ คือ การใช้มีมสร้างอัตลักษณ์ร่วมระหว่างผู้ชุมนุมในขบวนการ อย่างที่ผู้ชุมนุมในอดีตใส่เสื้อสีหรือห้อยนกหวีดลายธงชาติเพื่อเป็นสัญญะบอกว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มตนคืออะไรนั้น ไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป เพราะจุดเน้นของขบวนการคนรุ่นใหม่รอบนี้อยู่ที่การนำเสนอประเด็นปัญหาที่หลากหลายของกลุ่มเคลื่อนไหวย่อยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองเรื่องการศึกษา ความหลากหลายทางเพศ ศิลปะ ฯลฯ ผู้ชุมนุมแต่ละคนต่างมีประเด็นที่ตนเองอยากเรียกร้องต่างกันไป

แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าขบวนการไม่มีข้อเสนอร่วม เพราะอย่างน้อย จุดร่วมขอทุกข้อเสนอ รวมทั้งข้อเสนอหลัก 3 ข้อคือการท้าทายต่อ status quo ที่ไม่เอื้อให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง อาจกล่าวได้ว่าความแหลมคมของการเคลื่อนไหวครั้งที่อยู่ที่ประเด็นต่างๆ มากกว่าที่จะสร้างอัตลักษณ์ร่วมผ่านสัญญะที่บ่งบอกถึงข้อเสนอกว้างๆ

 

มีม : การประท้วงที่เรียกร้อง ‘ความเข้าใจ’

 

ในเมื่อมีมเป็นรหัสทางวัฒนธรรม จะเข้าใจมีมได้ ต้องอาศัยความเข้าใจรหัสทางวัฒนธรรมร่วมกันในวัฒนธรรมเฉพาะนั้นๆ การนำมีมมาประท้วงจึงมีข้อจำกัดในการสื่อสาร เพราะมีความเฉพาะเจาะจง (exclusive) สื่อสารข้อเรียกร้องออกไปได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น หากไม่เข้าใจวัฒนธรรมที่นำมาผสมลงในมีม โดยเฉพาะยิ่งในสมัยนี้ที่วัฒนธรรมกลุ่มมีความหลากหลายและล่องลอยอยู่ในอินเทอร์เน็ต (เช่น วัฒนธรรมแฟนคลับเกาหลี วัฒนธรรมจากภาพยนตร์หรือการ์ตูน วัฒนธรรมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ) ก็อาจกีดกันคนที่ไม่เข้าใจออกไป และจำกัดกลุ่มผู้รับสารได้เช่นกัน

อย่างในปัจจุบันที่ผู้ประท้วงใช้มีมข้อความมากขึ้น มีมภาษาที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองหยิบยกขึ้นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น ‘มินเนี่ยน’ ‘แกง’ ‘ซีไอเอ’ ‘ม็อคค่า’ ‘โอเลี้ยง’ หรือ ‘นาตาชา โรมานอฟ’ ล้วนเรียกร้องความเข้าใจทางวัฒนธรรมจากผู้รับสารที่ค่อนข้างสูงทั้งนั้น โดยเฉพาะจากคนรุ่นก่อน ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในสังคมและอาจเรียกได้ว่าเป็นคู่ตรงข้ามของความขัดแย้ง ปรากฏการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มีโลกอีกใบ มีสัญญะในแบบของตัวเองในการแสดงออกว่า ต้องการอะไร เรียกร้องอะไร คาดหวังการเมืองและสังคมแบบไหน ซึ่งเป็นการแสดงออกที่คนรุ่นเก่าอาจไม่เข้าใจ และต้องพยายามทำความเข้าใจ

 

มีมจากแฟลชม็อบในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2663 ภาพจาก เพจเยาวชนปลดแอก

 

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการส่งสารของมีมอาจไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ ผมเริ่มสังเกตเห็นว่าคนรุ่นก่อนและสังคมเริ่มพยายามตีความ แปลมีมต่างๆ อย่างที่เราเห็นว่าหลายสำนักข่าวพยายามแปลคำศัพท์ของผู้ร่วมชุมนุมเพื่อพยายามทำความเข้าใจโลก เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่ แม้ว่ามีมเหล่านี้อาจมีอายุไม่ค่อยยืนก็ตาม และในหมู่ผู้ชุมนุมก็มีการผลิตมีมใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ จนสังคมอาจตามไม่ทัน แต่อย่างน้อย เราเห็นสัญญาณในทิศทางที่ดีว่า คนรุ่นก่อนเริ่มมีความพยายามในการทำความเข้าใจสัญญะต่างๆ เหล่านี้ไม่มากก็น้อย

 

#ถ้าการเมืองดี…  มีมแฮชแท็กแห่งยุคสมัย

 

ตัวอย่างมีมข้อความที่น่าสนใจและน่าจะมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันมากที่สุดคือ ‘แฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี’ ซึ่งมักจะตามมาด้วยข้อความที่แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้แฮชแท็กต้องการอนาคตแบบไหน เรียกร้องประเด็นสาธารณะอะไร เช่น #ถ้าการเมืองดี เราจะไม่ต้องยืนรอรถเมล์ครั้งละห้าสิบนาที หรือ #ถ้าการเมืองดี เราไม่ต้องขึ้นรถไฟฟ้าที่ค่าโดยสารหนึ่งเที่ยวเกือบเท่ากับหนึ่งในสามของค่าแรงขั้นต่ำ และอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องขนส่งสาธารณะ

ไม่แน่ใจว่าที่มาที่ไปของแฮชแท็กนี้เป็นอย่างไร แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำที่จะบอกว่าใครเป็นผู้เริ่มใช้แฮชแท็กนี้ แต่จุดที่น่าสนใจของแฮชแท็กนี้คือ มันสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มีความเข้าใจเรื่องการเมืองที่เปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อนพอสมควร

หากมองผ่านมิติทางสังคมวิทยา แฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี สะท้อนให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือชะตากรรมของปัจเจกบุคคลทั้งนั้น ต่างไปจากก่อนหน้านี้ที่หลายคนมักมีทัศนคติ ความคิด ความเชื่อแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) เชื่อว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่คนๆ หนึ่งประสบในชีวิตขึ้นอยู่กับการกระทำปัจเจกเท่านั้น กล่าวง่ายๆ คือ ความคิดที่ว่า “ถ้าขยัน ถ้าพยายาม ถ้าเก่ง ก็จะประสบความสำเร็จได้ มีชีวิตที่ดีได้” เริ่มไม่ใช่วิธีมองโลกของคนรุ่นใหม่แล้ว แต่เขามองและเข้าใจโลกว่าถ้าโครงสร้างทางการเมืองเปลี่ยน ชีวิตของเขาก็จะเปลี่ยนไปด้วย ไม่ได้อาศัยแต่เพียงน้ำพักน้ำแรงของตนเองเท่านั้น หรือหากเจออะไรแย่ๆ ก็ไม่ใช่ความซวยส่วนบุคคลอย่างเดียว

หนึ่งในตัวอย่างจากแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี ที่ส่วนตัวชอบมากๆ คือ ‘#ถ้าการเมืองดี บัตรคอนเสิร์ตเกาหลีราคา 5,000 บาทจะไม่ใช่ของแพงอีกต่อไป’ จากการประท้วงของกลุ่มเยาวชนศรีสะเกษต้านเผด็จการ มันสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากว่า คนรุ่นใหม่มองเห็นแม้แต่การเสพสื่อบันเทิงที่เป็นเพียงการใช้เวลาว่างว่า ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองด้วย เพราะถ้าการเมืองดีขึ้นจริงๆ ในอนาคต ค่าแรงจะสูงขึ้น และเมื่อค่าแรงสูงขึ้น ก็จะมีกำลังในการบริโภคมากขึ้น สามารถบริโภคสื่อบันเทิงได้ง่ายขึ้น

ในขณะที่ทุกวันนี้ คนไทยต้องทำงานหนักมากเพื่อให้ได้ค่าแรงที่เหลือพอจะบริโภคสื่อบันเทิงต่างๆ และยิ่งเมื่อเป็นสื่อบันเทิงข้ามชาติอย่างคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลี สมมติว่าเราซื้อบัตรคอนเสิร์ตราคามาตรฐานการครองชีพแบบเกาหลีด้วยกำลังซื้อมาตรฐานค่าแรงแบบไทย ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน แค่นี้ก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าคนไทยต้องทำงานเป็นเวลานานมากจึงกว่าจะมีกำลังซื้อบัตรคอนเสิร์ต 1 ใบ เพราะฉะนั้น นี่ไม่ใช่การบอกแค่ว่า #ถ้าการเมืองดี บัตรคอนเสิร์ตเกาหลีจะไม่ใช่ของแพงอีกต่อไปเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า การถ้าเมืองดี โครงสร้างค่าแรงจะเปลี่ยนและยกระดับคุณภาพชีวิตได้

ไม่มากก็น้อย เชื่อว่าแฮชแท็กนี้ช่วยเผยแพร่และส่งต่อความเข้าใจเรื่องโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่ส่งผลต่อชีวิตปัจเจกในหมู่คนที่มากขึ้น

โดยปกติ มีมจะเกิดขึ้นเร็ว แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และหายไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน แต่มีมแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี มีชีวิตอยู่ในอินเทอร์เน็ตนานมาก และยังถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย อยู่ในพื้นที่การถกเถียงสาธารณะจนถึงทุกวันนี้

ยิ่งไปกว่านั้น แฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี ได้ข้ามพรมแดนไปยังลาว ปลุกกระแสการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์แล้วเช่นกัน ล่าสุดเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พลเมืองชาวเน็ตในลาวนำแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี ไปแปลงเป็น #ຖ້າການເມືອງລາວດີ (#ถ้าการเมืองลาวดี) เพื่อแสดงความหวังต่ออนาคตของการเมืองลาวและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการเมืองต่างๆ อย่างปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือปัญหาคอร์รัปชัน เป็นต้น และชาวเน็ตลาวยังทวีตด้วยแฮชแท็กนี้จนติดเทรนด์อันดับหนึ่งในลาวด้วย

 

หนึ่งในทวีตจาก #ถ้าการเมืองลาวดี ระบุว่า ดีใจที่ในที่สุดชาวลาวคนกล้าที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ

 

วัฒนธรรมแฟนคลับ: ต้นทางของสำนึกทางการเมือง

 

หากมองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อย่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ วัฒนธรรมแฟนคลับที่เติบโตมาจาก pop culture เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในการเคลื่อนไหวทางการเมืองค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีที่รวมตัวกันเป็น ‘แฟนด้อม’ หรือ ‘บ้านเบส’

กลุ่ม ‘ด้อม’ ศิลปินเกาหลีเหล่านี้ มีบทบบาทในการระดมทุนบริจาคสนับสนุนการเคลื่อนไหว ซึ่งรวมหลายๆ ด้อมแล้ว กลุ่มแฟนคลับศิลปินอาจบริจาคเงินให้กับการเคลื่อนไหวมากถึงหลักล้าน เรียกว่าเป็นหนึ่งในท่อน้ำเลี้ยงของขบวนการก็ว่าได้

 

สรุปยอดบริจาคจากกลุ่มแฟนคลับศิลปิน ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2563 ภาพจาก @charoenpura

 

ถ้าถามว่าทำไมกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีถึงสามารถเคลื่อนไหวระดมทุนได้จำนวนมหาศาลในเวลาสั้นๆ และสามารถจัดการบริหารภายในพื้นที่ชุมนุมได้ดีขนาดนี้ คำตอบอยู่ที่วัฒนธรรมของกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีอีกเช่นกัน โดยเฉพาะวัฒนธรรมในการจัด ‘แฟนโปรเจกต์’ ให้กับศิลปินของแฟนคลับไทย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งของนักศึกษาที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. อธิบายว่า แฟนคลับศิลปินเกาหลีในไทยถูกขนานนามให้เป็น ‘เจ้าแม่โปรเจกต์’ เพราะจัดแฟนโปรเจกต์ให้ศิลปินเกาหลีกันอย่างจริงจังและอลังการมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำเซอร์ไพรส์ศิลปิน การชูป้ายไฟในวันแสดงคอนเสิร์ต การติดป้ายอวยพรวันเกิดตามป้ายโฆษณารถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อสร้างความประทับใจให้กับศิลปิน ทนแทนกับกำลังซื้อที่สู้กลุ่มแฟนคลับประเทศอื่นไม่ได้

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า กว่าจะจัดออกมาเป็นแฟนโปรเจกต์ได้ ต้องผ่านกระบวนการวางแผน เขียนแผน proposal อย่างละเอียด เสนอไอเดียในหมู่แฟนคลับกันเองออกมาเป็น flow chart ว่าจะจัดโปรเจกต์ออกมาอย่างไร เพราะอะไร เพื่อให้โปรเจกต์มีความน่าเชื่อถือว่าจะเกิดขึ้นจริง และชักชวนให้เกิดการระดมทุนบริจาคในหมู่แฟนคลับได้ แฟนคลับบางคนที่ไม่สะดวกบริจาค ก็มีส่วนร่วมในการจัดแฟนโปรเจกต์โดยการอาสาลงแรงจัดโปรเจกต์แทนในวันคอนเสิร์ต หรือบางคนลงเงินแล้ว ก็ยังช่วยลงแรงด้วยอีก

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าทักษะต่างๆ ที่วัยรุ่นได้ติดตัวมาจากการจัดแฟนโปรเจกต์ คือทักษะการ mobilize ซึ่งเป็นเดียวกันกับทักษะในการจัดการม็อบ เพราะในการเคลื่อนไหวทางการเมือง mobilization หรือการระดมทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นทุน กำลังคน หรือความรู้ความคิดต่างๆ นั้น ล้วนสำคัญต่อการจัดม็อบ วัฒนธรรมแฟนคลับศิลปินเกาหลีจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายได้ว่า ทำไมคนรุ่นใหม่จึงมีทักษะในการจัดการชุมนุม บริหารพื้นที่การชุมนุมให้เป็นไปได้อย่างราบรื่นได้

วัฒนธรรมแฟนคลับอีกอย่างที่มีอิทธิพลต่อสำนึกทางการเมืองคือ จิตวิญญาณในการวิพากษ์วิจารณ์ โดยปกติ ความชอบในศิลปิน ภาพยนตร์ ซีรีส์หรือการ์ตูนคือจุดร่วมที่พาแฟนคลับจำนวนมากมารวมตัวกันจนเกิดกลายเป็นกลุ่มแฟนคลับ เมื่อถึงจุดหนึ่ง กลุ่มแฟนคลับมักจะมีความคาดหวังต่อศิลปินหรือทิศทางของภาพยนตร์ สร้างชุดตรรกะว่าศิลปินควรหรือไม่ควรจะปฏิบัติอย่างไร เพราะฉะนั้น หลายครั้งที่ศิลปินทำอะไรบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามที่แฟนคลับคาดหวัง ก็มักจะเกิดการประท้วง หรือออกมาแสดงจุดยืนของแฟนคลับ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากในยุคนี้เลยคือ ‘กระแส #แบนแทกุกไลน์’ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาในทวิตเตอร์ เพราะคนไทยที่ไปเดบิวต์เป็นศิลปินเกาหลีไม่ยอมออกมา call out เป็นกระบอกเสียงประณามความรุนแรงที่รัฐใช้ในการกดปราบผู้ชุมนุมประท้วง กลุ่มแฟนคลับจึงประท้วงศิลปินด้วยการตัดใจเลิกสนับสนุน เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมแฟนคลับสร้างจิตสำนึกในการวิพากษ์อยู่พอสมควร และอาจเป็นส่วนที่เสริมให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าการวิพากษ์เรื่องต่างๆ เป็นไปได้ ลามมาจนถึงเรื่องการเมือง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save