fbpx
‘เด็กติดเกม’ ผู้อัพเลเวลสู่ ‘สตรีมเมอร์’ มืออาชีพ : Arifeenz แห่ง DossierChannel

‘เด็กติดเกม’ ผู้อัพเลเวลสู่ ‘สตรีมเมอร์’ มืออาชีพ : Arifeenz แห่ง DossierChannel

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หากเรามีชีวิตอยู่ในเกม เพียงแค่หมั่นเล่น เก็บของ ตีบอส ลงแรงค์ ไม่นานเลเวลของเราจะค่อยๆ ขึ้นอย่างตรงไปตรงมา กลับกันหากเกมกลายมาเป็นชีวิตและอาชีพ หนทางการอัพเลเวลอาจไม่ง่ายเช่นนั้น

สำหรับผู้ที่พอจะคลุกคลีกับเกมอยู่บ้าง จะพอได้เห็นว่า ในยุคปัจจุบันวงการเกมในประเทศไทยเริ่มพัฒนาขึ้น เรามีทั้งมหาวิทยาลัยที่เปิดคณะ E-sport มีทีมและนักกีฬาที่คอยฝึกซ้อมเพื่อแข่งเกมอย่างเข้มข้น และยังมีการเกิดขึ้นของอาชีพสตรีมเมอร์ หรือ นักแคสต์เกม ที่ถ่ายทอดวิดีโอขณะเล่นเกมให้ผู้คนดู จนได้รับความนิยม และเข้าถึงผู้คนวงนอกมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ภาพจำแบบ ‘เด็กติดเกม’ ก็ยังคงทำงานและวนเวียนอยู่ในสังคมพร้อมๆ กับความก้าวหน้านี้ด้วย จนอาจบดบังข้อเท็จจริงที่ว่า เกมกลายมาเป็นอาชีพและช่องทางทำเงินให้กับคนรักเกมเหล่านี้ได้แล้ว

ในเว็บไซต์ Twitch เว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวมของสตรีมเมอร์และคนรักเกม สตรีมเมอร์หลายคนถ่ายทอดสดการเล่นเกมของพวกเขา จนหลายคนมีผู้ติดตามที่ยินดีจ่ายเงินค่า subscribe หรือโดเนทเงินให้ เพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณที่สตรีมเมอร์สร้างความสุขและเสียงหัวเราะให้

‘เด็กติดเกม’ ในมุมมองของสังคม กลายเป็นส่วนเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนไม่น้อย และกลายเป็นมืออาชีพที่ผู้ชมยอมรับอย่างแท้จริง

Arifeenz จากช่อง DossierChannel เป็นชื่อหนึ่งที่คนรักเกมรู้จักและชื่นชอบในฐานะสตรีมเมอร์ ขณะที่หลายคนคุ้นเคยกับเขาในฐานะนักพากย์การแข่งขันเกม – อารีฟีน จาราแว คือชื่อจริงของเขา ชายวัย 29 ที่เล่นเกมมามากกว่า 10 ปี และอัพเลเวลจากเด็กติดเกม มาเป็น Arifeenz สตรีมเมอร์ที่ใครๆ ต่างยอมรับ

เรื่องราวของเขาต่อไปนี้ จะช่วยขยายภาพจำของเกมเมอร์ และบอกเล่าหนทางในสายอาชีพอย่างเจาะลึกว่า หากเปรียบเป็นเกม เขาต้องผ่านด่านอะไรมาบ้าง

 

 

ปัจจุบันมีอาชีพสำหรับคนรักเกมหลายแบบมาก ทั้งสตรีมเมอร์ หรือ นักแคสต์เกม ที่ถ่ายทอดสดเกมให้คนชม, Pro Player หรือนักแข่งเกมอาชีพ, Game Developer หรือ นักพัฒนาเกม ฯลฯ แล้วอารีฟีนนิยามตัวเองว่าเป็นใคร เริ่มต้นในวงการนี้ยังไง

เริ่มด้วยการเป็น gamer แหละครับ เป็นคนเล่นเกมทั่วไป คิดว่าหลายคนก็น่าจะเริ่มจากตรงนี้ก่อนเหมือนกัน คือได้สัมผัส ได้สนุกกับเกมก่อน หลังจากนั้นจะแตกเป็นอะไรก็แล้วแต่ความชอบ อย่างผมก็เริ่มเป็นสตรีมเมอร์ เริ่มทำคลิปเล่นเกมให้คนดูบ้าง ถ่ายทอดสดบ้าง แล้วผมก็ไปพากย์เกมด้วย เริ่มจากพากย์เองแบบไม่มีสังกัดก่อน ทำไปเพราะอยากพากย์การแข่งขันเกม Dota2 แล้วก็เอาวิดีโอที่พากย์ไปลงในกลุ่มคนรักเกมในเฟซบุ๊ก จนมีรุ่นพี่ที่เป็นนักพากย์ในสังกัด TGPL มาเห็น เขาก็เลยชวนไปทำงานร่วมกัน (TGPL เป็นโปรเจ็กต์ที่ต่อยอดมาจากบริษัทสื่อที่ผลิตเนื้อหาเรื่องเกมแห่งหนึ่ง เป็นบริษัทที่มีผลงานด้านข่าววงการเกมมายาวนาน)

 

ก่อนจะกลายเป็นสตรีมเมอร์ เล่นเกมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ตอนไหนที่เริ่มติดเกม

น่าจะเริ่มตั้งแต่สมัยประถมครับ ช่วงนั้นครอบครัวไม่ได้มีฐานะมาก ผมยังจำได้ว่าต้องไปเล่นเกมจากบ้านญาติ เพราะที่บ้านไม่มีคอมพิวเตอร์ เล่นจนครอบครัวญาติบอกว่า อย่ามาเล่นบ่อย ตอนนั้นเราก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องมากีดกัน แต่โตมาก็เพิ่งรู้ว่า มันอาจจะรบกวนเขามากเกินไป เพราะเราไปเล่นแทบจะทุกวัน ชนิดที่ว่าตื่นมากินข้าวเสร็จก็ไปเล่นเลย

ช่วงที่ผมเริ่มติดเกมจริงๆ น่าจะเป็นตอน ม.2 – ม.3 ก่อนหน้านั้นผมยังเรียนดี ยังได้คะแนนท็อปแทบทุกวิชา จนไปสนิทกับเพื่อนที่ชอบไปร้านเกม ตอนนั้นมันจะมีเกมดัง ชื่อ Half-Life เป็นเกมยิงกันที่มันมาก จากที่เล่นแค่ชั่วโมงสองชั่วโมง ก็เริ่มเล่นกับเพื่อนแบบลากยาว ผลการเรียนก็เริ่มตกลง แต่ผมคิดว่า สุดท้ายจะเล่นเกมหรือไม่ เกรดก็น่าจะลดลงเหมือนกันครับ (หัวเราะ) เพราะเนื้อหายากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ช่วงนั้นพ่อกับแม่ก็เริ่มจำกัดเวลา ให้เล่นแค่ 2 ชั่วโมงแล้วต้องกลับบ้าน

พอขึ้น ม.ปลาย ผมต้องอยู่หอ ซึ่งหอไม่ได้มีคอมในห้อง และวันธรรมดาจะไม่สามารถออกไปไหนได้เลย ออกได้แค่เสาร์อาทิตย์เท่านั้น กลายเป็นว่า ผมอยากเล่นเกมมาก แต่เล่นได้ไม่สมใจ เวลากลับบ้านทีก็เลยเล่นเกมแบบไม่หลับไม่นอน บางครั้งไม่นอน 2 คืนติด จนที่บ้านเริ่มเป็นห่วง

เขาจะมีวิธีการจัดการกับเรา เช่น พี่ชายเอา ram ในคอมฯ ออก เพราะถ้าไม่มี ram ก็จะเปิดคอมฯ ไม่ติด จะดัง ติ๊ดๆ อย่างเดียว เราก็งงว่าคอมฯ เป็นอะไร เลยไปเสิร์ชในกูเกิลว่าอาการอย่างนี้คืออะไร แล้วก็เริ่มเข้าใจระบบคอมฯ ลองเปิดเครื่องดูเองก็เห็นว่า ram มันหายไป จากเหตุการณ์นี้ กลายเป็นว่าผมมีความรู้เรื่องคอมฯ ไปโดยปริยาย ยังขอบคุณพี่ชายอยู่จนทุกวันนี้ พูดถึงกี่ทีพี่ก็ขำ

 

การเล่นเกมกลายเป็นปัญหาหนักบ้างไหม ครอบครัวเคยไม่เข้าใจจนมีปัญหากันบ้างหรือเปล่า

ถ้าเป็นช่วงที่มีปัญหาหนักๆ คงเป็นช่วงมหาวิทยาลัย ด้วยความที่ครอบครัวไม่ได้มีฐานะ ดังนั้น ถ้าผมอยากมีคอมฯ เป็นของตัวเองก็ต้องหาเงินเอง ผมก็เลยพยายามหาทางว่า ทำยังไงให้เกมที่เราชอบเล่น ทำเงินให้เราได้ด้วย ตอนนั้นผมได้คอมฯ ที่ไม่ได้ใช้งานจากพี่ชายมาพอดี ก็เลยตัดสินใจทำเงินด้วยการขายของในเกมออนไลน์

ช่วงนั้นผมไม่ได้ไปเรียนเลย แต่เกรดก็ไม่ได้แย่นะครับ คือไม่ได้ติดไทร์ รักษาระดับให้มันผ่าน แล้วคุณพ่อผมเป็นอาจารย์ ที่บังเอิญมีลูกศิษย์คนนึงเป็นอาจารย์สอนผมด้วย อาจารย์เขาเป็นห่วงที่ผมไม่ไปเรียน ก็เลยโทรไปบอกพ่อ พ่อก็งง ลูกผมเนี่ยนะไม่ไปเรียน อย่ามาโกหกเลย เขาเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง และตัดสินใจขับรถมาหาผมถึงที่หอ ตอนนั้นผมตกใจมาก คือกำลังนั่งฟาร์ม (การทำภารกิจในเกมเพื่อเก็บเลเวล เก็บเงิน หรือเก็บของ) อยู่เลย อยู่ดีๆ พ่อก็มา ตอนนั้นทะเลาะกันหนักพอสมควร ประโยคหนึ่งที่พ่อพูดแล้วผมร้องไห้คือ เงินในบัญชีพ่อมีเท่านี้ จะเอาของพ่อไปซื้อคอมฯ ไหม ได้ยินก็น้ำตาไหลเลย

 

จากสถานการณ์นั้น ทำยังไงให้ได้เล่นเกมต่อไป

ผมก็เริ่มกลับมาเรียนมากขึ้น พยายามพิสูจน์ตัวเองว่า ด้านเรียนเราก็ไม่ได้เสีย และเราอยากจะให้เขาเข้าใจว่า เราชอบทางนี้แล้ว เดินมาไกลจนเห็นเส้นทางที่อาจจะเป็นอาชีพหรือทำให้เราดูแลตัวเองได้ในอนาคตแล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมเริ่มแอบพากย์การแข่งขันเกมแล้วด้วย กลายเป็นว่าพ่อเริ่มไปแอบดูผมพากย์ และเริ่มเห็นพัฒนาการ

ผมไม่รู้ว่าพ่อไปได้ช่องทางพากย์ของผมยังไงเหมือนกันนะ เพราะผมไม่ได้บอกให้ฟังว่าตัวเองทำอะไร แถมยังใช้นามแฝงตอนพากย์ว่า ‘เอส’ เพราะกลัวใช้ชื่อจริงแล้วคุณพ่อจะรู้ เดี๋ยวงานเข้า แต่สุดท้ายแล้วพ่อก็รู้ครับ (หัวเราะ) กลายเป็นว่า ในเมื่อเขาห้ามไม่ได้แล้ว เขาก็ขอคอยดูละกันว่าทางที่ลูกเลือกจะเป็นยังไง ผมก็เริ่มคุยว่า จะไม่รบกวนเงินจากพ่อแล้วนะ จะลองดูว่าจริงๆ แล้วมันเลี้ยงตัวเองได้อย่างที่ผมคุยไว้หรือเปล่า

สุดท้ายก็ทำได้ ก็ไม่ได้รบกวนเงินพ่อ และเริ่มมีเงินไปช่วยทางบ้านกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บ้าง เช่น ค่าของใช้หรือค่าไฟ ครอบครัวก็ค่อยๆ เปิดใจมากขึ้น

 

ตอนที่ขายของในเกม มันอันตรายหรือเปล่า ความสัมพันธ์หรือธุรกิจที่เกิดขึ้นในเกมมีอะไรน่าเป็นห่วงไหม

จริงๆ ผมว่าเรื่องแบบนี้ มองโลกในแง่ร้ายสักนิดก็ดีนะครับ เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ตอนที่ผมซื้อขายของแลกด้วยเงินจริงๆ บางครั้งถ้าราคามันไม่สูงมาก เช่น หลักร้อย ก็ไม่ต้องไปเจอกันนอกเกม แต่พอราคาเป็นหมื่น ต่างคนก็ต่างไม่เชื่อใจกัน คนซื้อกลัวว่าโอนแล้วจะได้ของหรือเปล่า สุดท้ายแก้ปัญหาด้วยการนัดเจอ ตอนนัดซื้อขายครั้งแรก ผมก็เตรียมตัวไว้หลายอย่างเลยครับ กังวลว่าเงินเป็นหมื่นๆ เขาจะทำอะไรเราหรือเปล่าวะ ก็เลยให้เพื่อนไปด้วย แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่มีอะไรเลยครับ คนซื้อเขาก็อยากได้ของจริงๆ เขาแค่ไม่มั่นใจว่าน้องคนนี้มันจะเชื่อได้ไหม เลยอยากมาเจอหน้าเฉยๆ

 

คนที่ซื้อขายของในเกมเป็นใคร เป็นเด็กๆ เหมือนคุณในตอนนั้นไหม

ไม่เลยครับ ลูกค้าตอนนั้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่เขาไม่มีเวลาจะหาของ หลังจากไปเจอตัวจริงเราก็เลยกลายเป็นหน่วยหาของที่เขาต้องการแทน ได้ลูกค้าเพิ่มไปเลย

 

การซื้อขายของในเกม ถ้าพูดกันแบบโหดๆ เรากำลังพูดถึงเงินจำนวนเท่าไหร่

ถ้าของผมแค่หลักหมื่นต่อครั้งครับ ไม่เคยเกินนี้ แต่ที่เมืองนอกของชิ้นนึงจะมีการจำกัดราคาในตลาดอยู่ครับ เช่น ตั้งราคาได้ไม่เกิน 250 ดอลลาร์ต่อชิ้น ที่ผมขายอาจจะให้ภาพไม่เหมือนในหนังเรื่องเถ้าแก่น้อยที่ทำเป็นธุรกิจนะครับ ไม่ขนาดนั้น แต่ก็ถือว่าเล่นหนักจนแทบไม่ได้สนใจเรียนเลยแหละ เพราะของหายากในเกมบางชิ้นต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ แล้วเราก็ตั้งเป้าว่า เราอยากหาเงิน อยากได้คอมฯ ที่ดีกว่านี้ จนสุดท้ายก็ได้คอมฯ ดีๆ มาเล่นจริงๆ ครับ

 

เริ่มหาเงินจากเกมออนไลน์ช่วงมหาวิทยาลัย ช่วงนั้นมีสัญญาณอะไรที่บอกว่าเกมจะกลายเป็นอาชีพ และหาเงินดูแลตัวเองได้จริงบ้างไหม

ช่วงหนึ่งเกมชื่อ Diablo เป็นหนทางหาเงิน ตอบโจทย์เหมือนกัน เพราะเราไม่ต้องทำอะไรเลย วางของขายในในแพลตฟอร์มของเกม ระบบจะคอยบอกว่าชิ้นนี้ขายออกแล้ว เราก็รอเงิน ช่วงนั้นกลายเป็นคนที่ติดซื้อขายด้วยเงินดอลลาร์ไปเลยครับ เพราะว่ามันมีราคามากกว่าเงินบาทไทย ทำให้ผมกลายเป็นคนมีเงินเดือนขึ้นมาเลย ถ้าถามว่ามีสัญญาณอะไรไหม แพลตฟอร์มนี้ก็น่าจะเข้าข่ายอยู่ครับ

แต่ด้วยความที่ช่วงนั้นเริ่มมีบอทโกง (การสร้างแอคเคาท์ปลอม) และการซื้อขายก็มีช่องโหว่อยู่ มีคนเริ่มขายเงินในเกมแลกกับเงินจริง สุดท้ายทางบริษัทเขาก็โละเอาระบบขายของในเกมออกไป

หลังจากนั้นก็เคว้งเหมือนกัน เหมือนเรามีงานประจำแล้วโดนเด้งออก ก็เลยผันตัวจากเกมเมอร์มาเริ่มเป็นสตรีมเมอร์แทน เพราะตอนเรียนเราชอบสอนคนอื่นว่าแบบฝึกหัดข้อนี้ทำยังไง โจทย์นี้ทำยังไง เวลาเล่นเกมก็เหมือนกัน เกมก็จะมีระบบเยอะแยะมากมาย ยิ่งเกมมาใหม่ๆ ใครที่เพิ่งไปเล่นก็จะงง เราเลยเปลี่ยนจากเกมเมอร์ไปเป็นสตรีมเมอร์ ทำคลิปและถ่ายทอดสดเล่นเกมให้คนดู เพื่อให้มันไปตอบโจทย์คนที่สงสัยเกี่ยวกับเกม ซึ่งตอนนี้ความสงสัยเหล่านั้นก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ นะครับ หลายๆ เกมคนก็ยังงงกับระบบ

 

 

จริงๆ แล้วการเป็นเกมเมอร์สามารถเป็นอาชีพ หรือเป็นช่องทางหาเลี้ยงตัวเองอย่างไรได้บ้าง

วิธีหาเงินจากเกมเนี่ยมันมีหลายอย่าง แต่ผมจะสรุปแบบง่ายๆ ว่า มี 3 ทางแล้วกันนะครับ อย่างแรก ถ้าติดเกมแล้วคุณเล่นเก่ง ก็ทำทีมเลยครับ ทำทีมลงแข่ง ถ้าเก่งจริงก็จะมีสปอนเซอร์ หรือมีสังกัดทีม นอกจากจะได้เงินแล้วยังฝึกระเบียบวินัยของคุณด้วย เพราะว่าทีมสังกัดจะจริงจัง ต้องซ้อม ต้องมีผลการแข่งขันที่พิสูจน์ให้สังกัดเห็น

อย่างที่สอง หากพยายามจะแข่งแต่ไม่ไหวหรือไม่ใช่ทางจริงๆ ก็มาทำหลังบ้านการแข่งขันแทน ไม่ว่าจะเป็นนักพากย์ คนสรุปเกม เจาะลึกว่าแผนการเล่นเกมแบบนี้มีข้อดีข้อเสียยังไง หรือเป็นโค้ชก็ได้ แต่ตอนนี้อาชีพโค้ชในไทยยังไม่ได้เปิดมากนัก ประเทศเรายังจ้างโค้ชจากเมืองนอกอยู่นะครับ ถ้าจะมาทางนี้อาจจะต้องเริ่มจากเป็นนักแข่งหรือเป็นคนที่คลุกคลีในวงการแข่งด้วยตัวเองก่อน เพื่อมีชื่อเสียงขึ้นมาให้คนเห็นว่า เฮ้ย ตอนแข่งเก่งจัง จ้างมาเป็นโค้ชแล้วกัน

และอีกทางเลือกนึงที่กลางๆ บ้านๆ อืม…ใช้คำว่ากลางๆ บ้านๆ อาจจะมีคนมาบอกว่าไม่ง่ายนะโว้ย (หัวเราะ) ทางนี้คือการเป็นสตรีมเมอร์ ถ้าว่างหลังจากทำงาน หรือหลังจากเรียน ก็มาเปิดสตรีม ถ่ายทอด อัพวิดีโอ จะดังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคุณเองทำได้ดีแค่ไหน ทางนี้เราสามารถใช้การเรียนในรั้วโรงเรียนหรือมหา’ลัยช่วยได้ครับ เช่นไปเลือกเรียนแนวการตลาด สื่อโฆษณา เพื่อพัฒนาการทำช่อง แนวทางนี้จะมีแพลตฟอร์มช่วยในการทำเงิน เช่น Twitch จะมีระบบค่า subscribe และคนดูก็สามารถโดเนทเงินให้สตรีมเมอร์ได้ หรือทำผ่านแพลตฟอร์ม YouTube ก็จะต้องมียอดผู้ติดตาม หรือมีคนดูให้ได้ระดับหนึ่งก่อน ถึงจะสามารถรับเงินจากโฆษณาที่ขึ้นระหว่างคลิปได้

 

สตรีมเมอร์ในไทยมีมานานหรือยัง

ผมว่าเมื่อก่อนการสตรีมในเมืองไทยมันยาก เพราะว่าอินเทอร์เน็ตไม่เอื้อครับ ตอนนั้นถ้าดู live เน็ตก็จะกระตุก ทำอะไรไม่ได้ เลยน่าจะยังไม่มีคำว่าสตรีมเมอร์ในประเทศไทยเท่าไหร่ แต่เมืองนอกมีอยู่นานแล้วครับ เมื่อก่อนคนต่างชาติเขารวมตัวกันอยู่ที่ Twitch แต่ถ้าเป็นที่ไทยเราส่วนใหญ่จะเป็น YouTube ที่เข้าถึงง่าย แต่ก็มี Twitch เป็นแหล่งรวมตัวของคนรักเกมแล้วเหมือนกัน

 

คุณเป็นคนแรกๆ ที่ใช้แพลตฟอร์ม Twitch ไปรู้จักช่องทางนี้ได้ยังไง

หลังจากขายของในเกมไม่ได้แล้ว การสตรีมก็น่าจะเป็นคำตอบเดียวที่จะหาเงินได้ เพราะว่าเรายังเรียนอยู่ ช่วงแรกแพลตฟอร์มที่คนเล่มเกมใช้สตรีมมีชื่อว่า OWN3D ครับ แต่มันก็กระตุกจนสตรีมลำบาก เลยย้ายมาที่ Twitch เพราะมันไม่ได้มีช่องทางอื่นมากนัก

การสตรีมในไทยตอนนั้นมีปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก มันต้องใช้ bit rate หรือถ้าเรียกตามภาษาบ้านๆ คือ ความชัด ถ้าเราทำให้วิดีโอชัดได้คนดูก็จะได้เห็นชัดเหมือนกับเล่นเอง

ผมเคยต้องไปคุยกับหอพักที่มหา’ลัยว่า เราต้องการเน็ตฝั่ง upload เพิ่ม ปกติอินเทอร์เน็ตจะใช้ฝั่ง download นำ เราเริ่มคุยกับเจ้าของหอว่า เราทำงานด้านนี้อยู่ ขอให้ช่วยเพิ่มเน็ตฝั่ง upload หน่อย เขาก็งงว่า ทำอะไรของเอ็งวะ ไม่เห็นคนอื่นมาขอแบบนี้เลย เขากลัวว่าเราจะโกงหรือทำอะไรไม่ดี เพราะช่วงนั้นมันมีการ upload โฆษณาแฝงในเว็บเยอะ เราก็บอกว่า ไม่ใช่ครับ แล้วก็เปิดช่องเปิดเว็บให้เขาเชื่อใจว่าเราทำ live stream อยู่จริงๆ สุดท้ายเราก็ได้เน็ตเพิ่มมา ก็เลยเริ่มสตรีม ที่ Twitch เป็นหลัก ช่วงแรกคนดูไม่ได้เยอะมากหรอกครับ

 

คิดว่าทำไมคนถึงชอบดูคนเล่นเกม ทำไมบางคนดูสตรีมเมอร์ได้หลายต่อหลายชั่วโมง 

น่าจะเป็นเพราะว่าเขาหลงใหลในสตรีมเมอร์คนนั้นๆ ด้วยครับ เกมอาจจะมีผลนิดนึงที่มันทำให้สนุกขึ้น ทำให้น่าติดตามขึ้น เพราะเกมแต่ละเกมก็มีเนื้อเรื่องแตกต่างกัน แต่ว่าก็ชอบที่จะดูคนคนนี้เล่นเกมด้วย

ถ้าดูสตรีมเมอร์ดังๆ จะเห็นว่ามีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้คนชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นความสม่ำเสมอของเขา เหมือนเราติดตามรายการประจำในทีวี เราดูเสาร์แรกแล้วชอบมาก เสาร์ต่อไปเราก็จะรอดู หรือการที่ตัวสตรีมเมอร์ทำการบ้านมาดีว่าจะทำยังไงให้คนดูเขามีความสุขตอนดูเราเล่นเกม ซึ่งถ้าเราเป็นคนชอบเล่นเกมอยู่แล้ว บรรยากาศสนุกๆ หรือความมันในการเล่นก็จะออกมาจากภายในของสตรีมเมอร์เองครับ

จริงๆ การดูสตรีม ก็เหมือนดู  youtuber แค่เปลี่ยนจากเนื้อหาท่องเที่ยว แต่งหน้า เป็นเล่นเกม ในบางครั้งคนดูไม่ได้มีเวลามาเล่นเกม แต่สตรีมเมอร์ทำให้คนดูสนุกเหมือนได้เล่นเอง หรือเหมือนไปนั่งดูข้างๆ เขา คนก็เลยรู้สึกอิน

คนที่ไม่ดูสตรีมเมอร์อาจไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเสียเงินเพื่อติดตาม จริงๆ แล้วผู้ชมของสตรีมเมอร์เป็นยังไง พร้อมที่จะสนับสนุนอยู่แล้วไหม

ผมว่าคนกลุ่มแรกๆ ที่มาสนับสนุน คือคนที่ทำงานแล้ว เขาสนับสนุนเพราะชอบที่เราสตรีมหรือพากย์ และเราก็อธิบายกับผู้ชมตลอดว่า เราสามารถที่จะเอาเงินไปพัฒนาตัวเอง พัฒนาอุปกรณ์ที่เราใช้ ถ้าผมไม่ได้คนกลุ่มนี้ ผมก็คงไม่มีจอมอนิเตอร์อีกจอเพื่อใช้สตรีม ไม่มีการอัพเกรดคอมฯ ใหม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นสำหรับผม ถ้าคุณแสดงความจริงใจและความพยายามให้คนดูเห็น อย่างน้อยๆ คนในวัยทำงานที่เขาพร้อมก็จะอยากสนับสนุนแน่นอน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจำเป็นต้องสนับสนุนด้วยเงินอย่างเดียวนะครับ

 

 

ปัจจุบันนักพากย์ใน Twitch จะมีการเซ็นสัญญากับเว็บไซต์ด้วย สัญญามีประโยช์กับสตรีมเมอร์หน้าใหม่ หรือคนที่อยากทำอาชีพนี้อย่างไรบ้าง

ในไทยมันอาจจะเพิ่งมีเพราะว่าเพิ่งมีคนดูแล หรือเพิ่งตั้งเป็นองค์กรขึ้นมา แต่เมืองนอกมันมีนานแล้วครับ เมื่อก่อนจะมีสัญญากับ Twitch ได้ ก็ต้องมีโปร์ไฟล์ระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้จะมีสัญญาย่อย เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ถ้าเทียบกับชีวิตการงานทั่วไปก็คงเป็นสัญญาฝึกงาน หรือลูกจ้างไม่ประจำ

ถ้าเราเป็นสมาชิก มีสัญญากับ Twitch คนดูในช่องของเราจะสามารถเลือกความชัดของวิดีโอหรือการถ่ายทอดที่ดีขึ้นได้ และจากที่เคยได้เงินผ่านการสตรีม เช่น การ subscribe หรือจากที่คนมา donate เท่านั้น ก็เริ่มปรับมามีระบบคล้ายเงินเดือน ถึงแม้ว่าเดือนนี้คุณไม่มีเวลาเลย คุณติดเรียนหรือไม่ว่างจริงๆ แต่ถ้าเฉลี่ยแล้วยังสตรีมวันละชั่วโมงได้ คุณก็ยังถือว่าเป็นพนักงานอยู่ และจะได้เงินอยู่ดีในเดือนนั้น

 

นอกจากพากย์เกมแล้ว คุณยังจัดการแข่งขันเกมหรือ Tournament  ด้วย ทำไมถึงหันมาเริ่มจัด การแข่งขันมันสำคัญยังไง

การมี Tournament ทำให้เกิดการรวมตัวกัน ยกตัวอย่างเป็นบอลโลกก็ได้ ถ้าเป็นบอลธรรมดาเราอาจจะไม่นั่งดูกับพ่อแม่ที่บ้าน แต่พอเป็นบอลโลกปุ๊บ แม่ที่ไม่เคยดูบอลก็มาดู แต่ละคนเชียร์ทีมที่ชอบ เหมือนเชียร์ทีมชาติ คือจากเดิมมันก็พอมีการรวมตัวอยู่บ้าง แต่การแข่งมันก็เป็นเวลาที่คนได้มาดู มาลุ้น มาเชียร์ เกิดเป็นคอมมูนิตี้ขึ้นมาเป็นผลพลอยได้

แล้วอย่างผม ด้วยความที่สนิทกับทีมแข่งบ้าง บางครั้งจะมีนักแข่งมาบอกหลังไมค์ว่า เฮ้ย อยากแข่งจังพี่ ทำไงดี ผมก็เลยตัดสินใจว่า จะจัดการแข่งขันเพื่อรักษาความเหนียวแน่นกับทีมแข่ง และได้สนุกไปด้วยกันด้วย แต่แต่เงินรางวัลแบบจัดเองก็สู้กับการแข่งที่มีสปอนเซอร์ไม่ได้อยู่แล้ว

 

Tournament ในไทยที่ได้รับการสนับสนุนมีเยอะไหม

ผมว่าในไทยจะมี Tournament หรือไม่มี สปอนเซอร์เป็นส่วนสำคัญ ปัจจุบันก็มีมากขึ้นแล้วครับถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ต้องขอบคุณสื่อด้วย ถ้าไม่มีสื่อ ทางสปอนเซอร์หลักๆ ก็คงไม่หันมา

เทียบกับเมืองนอก สปอนเซอร์เขามีเยอะมาก และเยอะขึ้นเรื่อยๆ อย่างล่าสุด Benz ก็มาสปอนเซอร์การแข่งเกมแล้วครับ ส่วนที่ไทยเราตอนนี้เริ่มมีค่ายโทรศัพท์มือถือมาสนับสนุน เพราะอินเทอร์เน็ตมันเกี่ยวข้องกับเกมมือถือ และที่มาสนับสนุนบ่อยๆ เลยคือ Gaming Gear เป็นบริษัทอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์โดยตรง

 

มันยังอยู่ในจุดที่เรียกว่าต้องดิ้นรนอยู่ไหม  เช่น ยังมีเข้าเนื้อคนจัดการแข่งขัน หรือในวงการเกมเองไหม 

ถ้าผมจัดเองนี่ก็เข้าเนื้อทุกทัวร์ครับ (ขำแห้ง) แต่ถ้าเราไม่จัดเลยมันก็ทำให้คอมมูนิตี้เกมไม่โต

ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่อยากให้เด็กเล่นเกม โดยให้เหตุผลว่ามันรุนแรง ทำให้เสียการเรียน ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ คุณมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

อย่างตัวเราเองก็ยอมรับว่า เคยเล่นเกมจนการเรียนเริ่มมีปัญหา ในห้องเรียนนี่ถ้าตั้งแก๊งคุยกัน 3-4 คน ก็คุยแต่เรื่องเกม ไม่ได้คุยเรื่องเรียนอะไรกันเลยครับ สำหรับคนวงนอก แน่นอน เขาคงมองว่าเราติดเกมมากเกินไป บางครั้งก็มีสื่อรายงานข่าวไม่ดีจากเกมด้วย แต่ผมคิดว่าช่วงวัยเด็ก ทุกคนก็มักจะหาความสนุกในรูปแบบต่างๆ บางคนไปเที่ยว บางคนขับรถ บางคนออกไปสังสรรค์ เราก็เป็นอีกแนวนึงเท่านั้นเอง คือไปนั่งร้านเล่นเกมแทน และหากควบคุมกันดีๆ มีการตกลงกันระหว่างพ่อแม่ลูก ปัญหาก็อาจจะน้อยลงได้ เช่น บางบ้านมีโควต้าเล่นเกมสองชั่วโมง ถ้าเทอมนี้เรียนได้เกรดดี พ่อแม่ก็จะเพิ่มเวลาให้

ส่วนเรื่องความรุนแรง ยกตัวอย่างผมเอง เราเป็นคนธรรมดา ไม่ได้บ้าบิ่นไปต่อยตีใคร แต่ก็ไม่ใช่คนเรียบร้อยจนเกินไป มีแกล้งเพื่อนบ้างบางครั้ง แต่ไอ้พฤติกรรมพวกนี้ไม่ได้มาจากในเกม ผมไม่ได้หยิบจับอะไรมาเลียนแบบเลย ผมว่าคนที่มีพฤติกรรมขั้นร้ายแรงจริงๆ อาจจะมีสาเหตุหลายๆ อย่าง หรือมีปัญหาแวดล้อมอื่นๆ เช่น ถ้ามีเงินไม่พอที่จะไปเล่น บางคนอาจจะระงับตัวเองได้ เลิกเล่น เพราะเราไม่มีเงิน แต่บางคนอาจจะเลือกไปขโมยเงิน ไปหลอกเพื่อน ผมเลยคิดว่าพฤติกรรมรุนแรงเป็นเรื่องแล้วแต่คน

แต่สุดท้ายแล้ว บางเกมก็อาจจะมีภาพที่อันตรายจริงๆ หรือมีเกมที่เป็นการ role play ชีวิต สร้างตัวตนที่เป็นเราจริงๆ ในเกม มีการทำงานจริง มีอาชีพหลากหลาย จะเห็นว่าบางคนเลือกทำอาชีพสุจริต แต่บางคนเมื่ออยากจะได้รถ อยากได้ของใช้ อยากมีปืนที่ต้องใช้เงินซื้อ แต่เงินไม่พอ ก็เลือกไปทำอาชีพทุจริตในเกม ผมว่าในอีกแง่หนึ่งเกมก็สะท้อนพฤติกรรมจากโลกความจริงได้เหมือนกัน

 

การเป็นเกมเมอร์ให้อะไรกับคุณบ้าง

ให้อาชีพครับ จากที่ไม่เคยคิดว่าน่าจะทำได้ ก็กลายเป็นอาชีพหลักไปแล้ว จากที่เคยเป็นแค่งานอดิเรก ก็กลายเป็นสิ่งที่เลี้ยงดูตัวเอง ได้เงินจากมันมาด้วย และมันก็เป็นอาชีพที่ทำให้เราได้เรียนรู้เหมือนกับการทำงานทั่วไป เวลาเจออุปสรรค ก็ได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหา เรียนรู้การใช้คนช่วยให้ถูกจุด ได้ลองปรับตัว จนถึงขยับขยายหาทีมมาช่วยทำ

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save