กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง
เมธิชัย เตียวนะ ภาพ
เมื่อวันหยุดยาวหรือช่วงวันหยุดเทศกาลมาถึง ภาพที่เราเห็นกันจนชินตาคงหนีไม่พ้นภาพรถติดยาวเหยียด หรือสถานีขนส่งที่ล้นไปด้วยผู้คนจำนวนมหาศาลที่ต่างมุ่งหน้ากลับภูมิลำเนาของตนเอง พักกายพักใจจากการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่ชวนให้เหนื่อยล้า ก่อนที่จะกลับเข้ามาอีกครั้งเมื่อวันหยุดสิ้นสุดลง
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เราทุกคนต่างรู้กันดีว่า ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่เพราะความเป็นเมืองใหญ่ถูกนิยามว่าเทียบเท่าการเป็นเมืองแห่งโอกาส ทำให้คนจำนวนมากยอม ‘ย้ายถิ่น’ จากบ้านมาแสวงหาโอกาสและชีวิตที่พวกเขามองว่าดีกว่า โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และในทางกลับกัน การย้ายถิ่นก็ถือเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยมาตลอดเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงการย้ายถิ่น นอกจากประเด็นสำคัญที่คาราคาซังมานานอย่างเรื่องความเจริญที่กระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ อีกเรื่องที่อาจยังไม่ค่อยถูกพูดถึงคือ ‘ความอยู่ดีมีสุข’ ของเด็กไทยที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ต้องย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น เรามักคุ้นชินกับภาพของปู่ ย่า ตา ยาย ที่คอยเลี้ยงหลานที่ต่างจังหวัด เพื่อให้พ่อแม่เด็กที่อยู่ในวัยแรงงานได้ทำงานอย่างเต็มที่และส่งเงินกลับไปที่บ้าน มองมุมหนึ่ง นี่อาจแสดงถึงสายสัมพันธ์ของครอบครัวที่แน่นแฟ้น รวมถึงความรัก ความเสียสละของพ่อแม่ที่มีต่อลูกและครอบครัว แต่มองอีกมุมหนึ่ง คำถามสำคัญที่ชวนขบคิดคือ การที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่จะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะเด็กที่กำลังอยู่ในระยะสำคัญที่สุดของชีวิตอย่างช่วงปฐมวัย และเรื่องนี้สะท้อนโครงสร้างหรือค่านิยมอะไรของสังคมไทยบ้างไหม
รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย เป็นผู้หนึ่งที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความอยู่ดีมีสุขของเด็กไทยในยามที่พ่อแม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น ในงานวิจัย ‘ผลกระทบของการย้ายถิ่นภายในประเทศที่มีต่อสุขภาวะและพัฒนาการเด็กปฐมวัย: ผลการสำรวจเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ’ โดยอารีและคณะ ฉายภาพสถิติและข้อมูลเชิงลึกในครอบครัวที่มีการย้ายถิ่นได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเรื่องพัฒนาการของเด็ก ไปจนถึงเรื่องการสร้างวินัยและการลงโทษเด็ก รวมถึงข้อเสนอแนะที่ผู้กำหนดนโยบายอาจนำไปปรับใช้ได้ต่อไป
101 สนทนากับ รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ไล่เรียงตั้งแต่ภาพรวมสถานการณ์การย้ายถิ่นของพ่อแม่ที่กระทบกับครอบครัวไทยและพัฒนาการของเด็ก ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เรื่องการใช้ความรุนแรงและการลงโทษเด็กในครอบครัว รวมถึงโจทย์ใหญ่และโอกาสที่เกิดขึ้นในช่วงโรคระบาด
ถ้ามองในภาพรวม ตอนนี้สถานการณ์การย้ายถิ่นฐานของไทยเป็นอย่างไร และการย้ายถิ่นฐานจะส่งผลกระทบกับครอบครัวไทยอย่างไรบ้าง
ประเทศไทยมีการย้ายถิ่นทั้งในและนอกประเทศ ประเด็นที่เราสนใจคือ การที่พ่อแม่ย้ายถิ่นภายในประเทศโดยที่ลูกไม่ได้ย้ายไปด้วย แต่ต้องอยู่กับคนดูแลที่บ้าน ซึ่งส่วนมากจะเป็นปู่ ย่า ตา หรือยาย ซึ่งในบ้านเรา ยายจะเป็นผู้ดูแลเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ในสัดส่วนสูงสุด ถ้ามองภาพรวมของทั้งประเทศ มีงานของ UNICEF ที่ทำร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในไทยประมาณ 21% หรือมากกว่า 1 ใน 5 เติบโตขึ้นมาโดยที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ทั้งที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนใหญ่เป็นเพราะพ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น ตัวเลขนี้ถ้าเทียบกับประเทศอื่นเราพบว่าสูงกว่ามาก เช่น ลาว มีเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ไม่ถึง 5% ส่วนในเวียดนามหรือคอสตาริกา ตัวเลขนี้ก็มีไม่ถึง 10%
แน่นอนว่า เมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ด้วยต้องส่งผลกระทบกับครอบครัวอยู่แล้ว ที่แน่ๆ คือ ครอบครัวต้องมีการจัดการว่า ถ้าพ่อแม่ไม่อยู่ โดยเฉพาะแม่ แล้วใครจะดูแลเด็ก ตรงนี้เป็นประเด็นที่เราสนใจศึกษาเพื่อเปรียบเทียบความอยู่ดีมีสุข ทั้งพัฒนาการ และสุขภาวะด้านอื่นๆ ของเด็กที่อยู่กับพ่อแม่และเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ว่ามีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
เมื่อพิจารณากลุ่มเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อาจารย์เจอข้อค้นพบอะไรบ้าง
ถ้าไปดูงานวิจัยที่ผ่านมาเราจะพบว่า ข้อค้นพบมีทั้ง 2 แบบ คือ มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า การไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความอยู่ดีมีสุขของเด็ก ซึ่งขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่นักวิจัยเลือกศึกษา กับอีกกลุ่มงานวิจัยที่บอกว่า จริงๆ แล้ว เด็กสองกลุ่มนี้ไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย บางงานวิจัยเหมือนจะมองเห็นในเชิงบวกด้วย เพราะเวลาเราไปสัมภาษณ์พ่อแม่ที่ย้ายถิ่น เขาก็จะบอกว่า ที่ต้องไปทำงานต่างถิ่นก็เพื่อลูกและครอบครัว โดยเฉพาะเพื่อการศึกษาของลูก ซึ่งพวกเขาก็จะส่งเงินกลับมาให้ เพราะอยู่ในพื้นที่เดิมอาจจะไม่มีงานทำ หรือมีงานทำแต่ได้รายได้น้อยกว่า
งานวิจัยเรื่องหนึ่งที่เราทำเป็นงานที่ต่อยอดมาจากงานวิจัยที่ร่วมมือกับ UNICEF ประเทศไทย โดยเก็บข้อมูลที่จังหวัดพิษณุโลกและขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราการย้ายถิ่นฐานภายในประเทศสูง เราเปรียบเทียบเด็กแรกเกิดถึงอายุ 3 ขวบ ระหว่างเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อหรือแม่ และเด็กที่ไม่ได้อยู่กับทั้งพ่อและแม่ ว่าพัฒนาการของเด็กแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร มีพัฒนาการอย่างที่ควรจะเป็นไหม แต่กลุ่มที่เราหาข้อมูลไม่ได้ครบตามที่ต้องการคือ เด็กที่แม่ไปทำงานและต้องอยู่กับพ่อคนเดียว
ผลที่ได้คือ เด็กที่ไม่ได้อยู่กับแม่มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กที่อยู่กับแม่ ซึ่งคำว่าอยู่กับแม่ในที่นี้คือ มีแม่อยู่ในบ้าน แต่คนที่เลี้ยงดูเด็กเป็นหลักอาจจะไม่ใช่แม่ก็ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เพียงแค่มีแม่อยู่ในบ้านด้วยกันก็มีความสำคัญกับพัฒนาการของเด็กแล้ว
ที่บอกว่าเราเจอเด็กที่อยู่กับพ่อคนเดียวน้อยที่สุดเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยหรือเกี่ยวพันกับค่านิยมของสังคมไทยด้วยหรือไม่ที่มองว่าแม่จะเป็นผู้ดูแลลูก ส่วนพ่อมีหน้าที่หลักในการทำงานหาเงินเข้าบ้าน
มีงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่เราเคยศึกษาการย้ายถิ่นไปต่างประเทศของพ่อแม่กับสุขภาพของลูก เปรียบเทียบใน 4 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ปรากฏว่าทั้ง 3 ประเทศหลังได้ข้อมูลครอบครัวเด็กที่อยู่กับพ่อคนเดียวโดยที่แม่ไปทำงานที่อื่นครบตามจำนวนที่เป็นเป้าหมาย แต่ของไทยเก็บข้อมูลในกลุ่มนี้ได้น้อยมาก คือได้ไม่เป็นไปตามเป้า เราคิดว่าตรงนี้สะท้อนลักษณะการย้ายถิ่นของไทยกับประเทศอื่นว่าไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ตรงนี้ก็ขึ้นกับลักษณะตลาดแรงงานที่ประเทศปลายทางต้องการด้วย อย่างฟิลิปปินส์จะมีผู้หญิงย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศค่อนข้างเยอะ หรือคนอินโดนีเซียก็มักจะไปทำงานเป็นแม่บ้านที่แถบตะวันออกกลาง จึงพบว่าเด็กอยู่กับพ่อ ส่วนแม่ไปทำงานที่อื่นค่อนข้างมาก
ถามว่าเกี่ยวกับค่านิยมของไทยไหม ตรงนี้คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ปกติเราจะมองว่า แม่เป็นคนดูแลในครอบครัว และข้อมูลที่ได้ก็ค่อนข้างสนับสนุนไปในทางที่ว่าแม่มีความสำคัญกับลูก จริงๆ จะบอกว่ามากกว่าพ่อก็พอได้ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ ที่กำลังเติบโตควรจะมีแม่อยู่เป็นหลัก ข้อค้นพบจากงานวิจัยบอกว่าเด็กที่พ่อที่ไปทำงานที่อื่นและส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว ส่วนแม่อยู่กับลูก ไม่มีความแตกต่างอะไรจากเด็กที่อยู่กับทั้งพ่อและแม่เลย
จริงๆ คนทั่วไปมักจะคิดว่า การที่แม่อยู่กับลูกเป็นเรื่องสำคัญมากอยู่แล้ว แต่เราอธิบายเป็นรูปธรรมได้ไหมว่า ทำไมการที่แม่อยู่กับลูกถึงสำคัญกว่า
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะพูดได้หรือไม่ว่าเป็นเพราะแม่คือแม่ อย่างทฤษฎีความผูกพัน (attachment theory) ก็พูดถึงความสำคัญของผู้ดูแล โดยเฉพาะในกรณีเด็กเล็กที่ผู้ดูแลเปรียบเหมือนโลกทั้งใบ เด็กจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้ดูแล แน่นอนว่าเมื่อเป็นสายใยของแม่กับลูกย่อมมั่นคงมากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว ต่อให้มีคนอื่นทดแทนและให้ความรักเหมือนแม่จริงๆ ซึ่งก็อาจจะโอเคนะ แต่การที่มีแม่อยู่ก็สำคัญอยู่ดี
ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมขึ้น ในงานวิจัยเรามีข้อมูลเรื่องการทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ถ้าเทียบระหว่างผู้ดูแลเด็กที่เป็นแม่ กับผู้ดูแลเด็กที่เป็นปู่ ย่า ตา ยาย เราจะเห็นค่อนข้างชัดว่าแม่ทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการมากกว่า แต่จริงๆ แล้ว เรื่องราวอาจจะซับซ้อนกว่านั้น เพราะการทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการกับเด็กอาจจะเกี่ยวข้องกับวัยของผู้ดูแลด้วย เพราะปู่ ย่า ตา ยาย ส่วนมากก็พ้นวัยที่จะต้องมาดูแลเด็กเล็กไปแล้ว จะมานั่งอ่านหนังสือหรือร้องเพลงกับเด็กคงน้อยกว่าที่แม่จะทำให้ ตรงนี้ก็อาจจะส่งผลต่อความแตกต่างของพัฒนาการเด็กเหมือนกัน แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้ถกเถียงและอธิบายอยู่
สำหรับเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เพราะพ่อแม่ต้องย้ายถิ่น อะไรคือประเด็นที่น่ากังวลที่สุด
จากข้อมูลคือเรื่องของพัฒนาการ เพราะเด็กที่ไม่ได้อยู่กับแม่มีความเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กที่อยู่กับแม่ แต่ถ้าไม่ได้อยู่กับพ่อ เรายังไม่เจอข้อมูลมากนักว่าจะส่งผลกับเด็กมากน้อยแค่ไหน หรือถ้าให้พูดจริงๆ แล้ว เรายังไม่พบความแตกต่างอย่างที่บอกไปข้างต้น
เมื่อเด็กมีปัญหาเรื่องพัฒนาการช้าก็จะส่งผลไปถึงตอนโต ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กจึงบอกว่าพัฒนาการเด็กในช่วง 3 ขวบแรกเป็นเรื่องสำคัญมากๆ และถ้าเรามองภาพต่อไป เมื่อเด็กไทย 1 ใน 5 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการล่าช้า ก็น่าคิดนะว่า อีก 10-20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นยังไง ตอนนี้เราบอกว่าคนมีลูกน้อยลง การที่เด็กน้อยลงน่าจะเป็นโอกาสที่เราทำให้เด็กที่เกิดมามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่เรากลับเจอปรากฏการณ์แบบนี้แทน และคนทั่วไปก็มองว่ายังเป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่ ซึ่งถ้าเราไม่ให้ความสำคัญตรงนี้อย่างจริงจัง อนาคตเราอาจจะเจอปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้ใหญ่ก็ได้
ในฐานะคนที่ศึกษาเรื่องนี้ เราพูดได้ไหมว่า การย้ายถิ่นมักจะก่อให้เกิดผลกระทบกับเด็กส่วนใหญ่
ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองมุมไหนมากกว่า ถ้าเรามองว่า พ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานและส่งเงินกลับมาทำให้ลูกได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น นั่นก็คือมุมดีของการย้ายถิ่น ที่สำคัญคือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ผ่านมามีการย้ายถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
ส่วนตัวไม่ได้มองว่า การย้ายถิ่นเป็นเรื่องผิดหรือต้องไม่มีการย้ายถิ่นเลย แต่เราต้องมาดูว่าจะทำยังไงให้การย้ายถิ่นไปทำงานของพ่อแม่ส่งผลกระทบในทางลบกับลูกน้อยที่สุด และให้ประโยชน์แก่ลูกกับครอบครัวมากที่สุด ถ้าพ่อแม่คิดจะไปทำงานที่อื่น เราอยากให้เขาคิดและพิจารณาผลกระทบให้รอบคอบ และเตรียมตัวให้พร้อมด้วย บางทีเราเจอว่า ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ต้องมาดูแลหลานอายุยังไม่เยอะ คืออยู่ในช่วง 50 ต้นๆ หรือไม่ถึง 50 ด้วยซ้ำ บางทีเขายังทำงานอยู่ก็ต้องมาดูแลหลาน ตรงนี้หมายความว่าเขามีภาระเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะทำงานก็น้อยลง ยิ่งบางทีพ่อแม่เด็กไม่ได้ส่งเงินมา หรือส่งมาแต่ไม่พอใช้ ก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวพันกันไปหมด
ครัวเรือนที่อาจารย์พูดคุยด้วยมองเรื่องการย้ายถิ่นอย่างไร
อยู่ที่ว่าเราไปคุยกับใคร ถ้าเราคุยกับครอบครัวที่คนในบ้านมีการย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น เขาจะมองว่านี่คือความจำเป็น คือทางเลือกที่ดีที่สุด คือสิ่งที่เขาต้องเลือกว่าจะอยู่กับรายได้น้อยๆ ที่ไม่เพียงพอ หรือจะให้คนอื่นเลี้ยงลูกแล้วส่งเงินกลับมาให้ อีกอย่าง พ่อแม่ที่ตัดสินใจย้ายถิ่นมองว่า ปู่ ย่า ตา ยาย คือผู้เลี้ยงลูกที่ดีที่สุด เพราะพวกเขาก็เคยเลี้ยงพ่อแม่มา พ่อแม่อาจจะมองว่า ปู่ ย่า ตา ยาย เลี้ยงเด็กดีกว่าตนเองด้วยซ้ำ อีกอย่าง จะให้เขาพาลูกไปทำงานในถิ่นปลายทางด้วยก็ยากมาก เพราะคนส่วนใหญ่มาทำงานโรงงานหรือทำงานก่อสร้าง จะฝากเนอสเซอรี่ก็ตัดทิ้งไปได้เลยเพราะที่ดีๆ ก็ราคาสูง เขาเลยเลือกจะให้คนที่บ้านเลี้ยงด้วยความรักและส่งเงินกลับไปให้ดีกว่า
แต่ถ้าถามคนที่ไม่ได้ย้ายถิ่น ซึ่งอาจจะเป็นคนที่มีทางเลือกมากกว่า ก็จะมองในแง่ความเป็นห่วงเหมือนกับที่คนนอกมองคือ มองว่าเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่จะมีปัญหาอะไรไหม
การที่พ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานและฝากลูกไว้กับปู่ ย่า ตา ยาย ที่บ้าน เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมวัฒนธรรมไทยหรือไม่
จะบอกว่าลักษณะเฉพาะก็ไม่เชิง เพราะที่อื่นก็พบเหมือนกัน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับข้อมูลในประเทศที่อยู่ในงานวิจัยที่เล่าให้ฟังไปแล้ว ประเทศเขาจะเจอแบบนี้น้อยกว่านะ ในไทยถ้าพ่อแม่ไม่อยู่ คนที่เลี้ยงดูลูกคือ ปู่ ย่า ตา ยาย ประมาณ 90% เลย แต่ที่อื่นอาจจะเจอว่า พ่อหรือแม่ไปคนเดียวมากกว่า ซึ่งก็เป็น common practice ที่เห็นในประเทศอื่นชัดกว่าบ้านเรา
ถ้าบอกว่าการย้ายถิ่นส่งผลกระทบกับเด็ก แล้วในกรณีของผู้ดูแลเด็ก การย้ายถิ่นของพ่อแม่จะส่งผลกระทบอะไรกับพวกเขาบ้างไหม
นอกจากเรื่องที่ว่า ผู้ดูแลอาจจะยังอยู่ในวัยทำงาน การต้องรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลเด็กทำให้ต้องสูญเสียโอกาสนั้นไป หรือลดโอกาสลง และต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอย่างที่บอกไปแล้ว เราเจออีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องสุขภาพจิต โดยได้เปรียบเทียบสุขภาพจิตของผู้ดูแลในครัวเรือนที่พ่อแม่ไปทำงานที่อื่น กับครัวเรือนที่มีพ่อแม่ของเด็กอยู่ด้วยกัน ปรากฏว่ากลุ่มแรกมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอันนี้เป็นผลจากการวิเคราะห์ทางสถิติด้วย
แต่ถ้าดูข้อมูลเชิงคุณภาพ หรือการพูดคุยในเชิงลึก เราพบว่า ปู่ ย่า ตา ยาย มีความเต็มใจที่จะดูแลหลานให้ลูกที่ไปทำงานที่อื่น เพราะเขารู้สึกว่าเขามีความสำคัญในแง่ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้ลูกที่อยู่ในวัยแรงงานได้ออกไปทำงานแบบไม่ต้องกังวล เขาอยากมีส่วนสนับสนุนตรงนี้ เป็นการเติมเต็มในแง่ว่าผู้สูงอายุได้ทำอะไรให้กับครอบครัว แต่ภาระที่ต้องดูแลเด็กเล็กในวัยสูงอายุสำหรับบางคนก็มีความเสี่ยงบ้างแหละ เพราะมันพ้นวัยที่เขาต้องมาดูแลเด็กแล้ว
ที่น่าสนใจคือ สถานการณ์แบบนี้ในบ้านเราคล้ายกับเป็นวงจร อย่างพ่อแม่ที่ไปทำงานตามเมืองใหญ่ตอนนี้ ถ้าย้อนไปดูตอนเขาเด็กๆ จะพบว่า พ่อแม่เขาก็เคยไปทำงานที่อื่นและฝากลูกไว้กับปู่ ย่า ตา ยาย ในตอนนั้นเหมือนกัน พอมีลูกก็เลยทำแบบเดียวกัน วนเวียนไปมาแบบนี้กลายเป็นวัฏจักรที่ยังไม่สิ้นสุด
เราจะได้ยินว่า ผู้สูงอายุในช่วงวัยหนึ่งจะมีชุดความเชื่อบางอย่างในการเลี้ยงเด็ก ซึ่งหลายครั้งที่ชุดความเชื่อนั้นไม่ถูกหลักการทางการแพทย์ อาจารย์มองว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนความเชื่อตรงนี้ไปบ้างได้ไหม
เป็นเรื่องที่น่าสนใจนะ คือความรู้ความเข้าใจอาจจะขึ้นกับอายุของปู่ ย่า ตา ยาย ด้วย และอายุก็ไปเกี่ยวพันกับการศึกษาอีก คือกลุ่มที่อายุน้อยกว่าอาจจะมีการศึกษาดีกว่า และถ้าผู้ดูแลมีการศึกษาดีก็จะมีความรู้ที่อัปเดตมากขึ้นในการดูแลเด็ก
อย่างไรก็ดี ถ้าพ่อแม่อยู่ในเมืองใหญ่และฝากลูกไว้กับปู่ ย่า ตา ยาย ที่ต่างจังหวัด เขาสื่อสารกันเป็นประจำอยู่แล้ว เรียกได้ว่าคุยกันทุกวัน บางเรื่องพ่อแม่ก็ให้ความรู้ได้ แต่บางอย่างก็อาจจะต้องยังฟังปู่ ย่า ตา ยาย อยู่ ส่วนหนึ่งก็เพราะความเกรงใจด้วย คืออาจรู้สึกเหมือนว่าเราผลักภาระไปให้เขา
สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว และถ้าเรามองไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า ถ้าเด็กเกิดน้อยมากๆ อาจารย์คิดว่า รูปแบบของการย้ายถิ่นจะเปลี่ยนแปลงไปไหม
คิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยนไปเยอะ เพราะถ้าเราไปถามเขาว่า ทำไมถึงย้ายถิ่น เหตุผลที่ทุกคนก็รู้กันคือ ย้ายไปเพื่อโอกาสการทำงานที่ดีกว่า เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีความแตกต่างเรื่องโอกาสในการทำงานหรือการหารายได้ ก็จะต้องมีการเคลื่อนย้ายพื้นที่อยู่แล้ว เพราะตัวแปรเป็นเรื่องการทำมาหากินมากกว่าเรื่องจำนวนคน
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ เราน่าจะตระหนักถึงศักยภาพของผู้สูงอายุให้มากที่สุด และอย่างที่บอกไปว่า สังคมเรามีลูกน้อย ตอนนี้ผู้หญิงแต่ละคนมีลูกกันประมาณ 1 คนกว่าๆ ถึงจะมีแนวคิดกระตุ้นให้คนอยากมีลูกมากขึ้น ก็ไม่ค่อยจะมีใครอยากมีลูกเพราะการดูแลเด็กและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ผู้สูงอายุปัจจุบันมีศักยภาพ สุขภาพดี ยังทำงานได้ เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงหลานกันตามมีตามเกิด ก็น่าจะให้การสนับสนุนและเตรียมความพร้อม เช่น ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เราอาจจะใช้ตรงนี้เสริมความรู้ให้ผู้ดูแลเด็กที่เป็นผู้สูงอายุในเรื่องการสร้างเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบางเรื่องอาจจะนำความรู้เก่าก่อนมาใช้ไม่ได้ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่สังคมอาจจัดเตรียมความพร้อมได้ด้วย
ทราบว่าอาจารย์ได้พูดคุยกับครัวเรือนเดิมอีกครั้งในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เราเห็นผลอะไรที่น่าสนใจบ้างไหม
ตอนที่ทำวิจัยช่วงที่มีการระบาดของโควิด เราต้องใช้วิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แทนการสัมภาษณ์แบบพบหน้า โดยเราตามสัมภาษณ์ครัวเรือนเดิมที่เคยสัมภาษณ์เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ได้เกือบ 80% ถือว่าค่อนข้างสูง คำถามจะเกี่ยวกับผลกระทบของโควิดด้านเศรษฐกิจต่อครอบครัว แต่ไม่ได้ถามเรื่องพัฒนาการของเด็กโดยตรงเพราะการถามเรื่องนั้นมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะถามทางโทรศัพท์ได้
ผลที่ได้ก็คือ ในแง่มุมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าเด็กจะอยู่หรือไม่อยู่กับพ่อแม่ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ครัวเรือน 90% บอกว่ารายได้ลดลง และอีก 30-40% มีหนี้สิน พูดง่ายๆ คือไม่ค่อยต่างกันเลย และยิ่งถ้าเป็นเรื่องของการเรียนออนไลน์ ครัวเรือนกว่า 60% บอกว่าไม่พร้อมให้เด็กเรียนออนไลน์ เพราะไม่มีอุปกรณ์
อีกเรื่องที่น่าตกใจคือความรุนแรงในครอบครัว ผู้ใหญ่ในครอบครัวของเด็กทั้งที่อยู่และไม่อยู่กับพ่อแม่บอกว่า คนในครอบครัว ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่ผู้ดูแล แต่เป็นคนอื่นด้วย ใช้ความรุนแรงกับเด็กในสัดส่วนที่สูง เช่น ตีเด็กเวลาที่ทำผิด แสดงว่าการอยู่กับพ่อแม่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่จะปกป้องเด็กในแง่การใช้ความรุนแรงในการลงโทษหรืออบรมสั่งสอนได้
เมื่อพูดเรื่องการลงโทษเด็ก เราเห็นเด็กจำนวนมากถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางกาย หรือถูกดุด่าด้วยคำพูดรุนแรง อาจารย์คิดว่า การลงโทษแบบนี้สะท้อนให้เห็นโครงสร้างแบบไหนในสังคมไทย
ต้องบอกก่อนว่า เมื่อพูดถึงการลงโทษเพื่อสร้างวินัยให้กับเด็ก หรือเพื่อการอบรมสั่งสอน ผู้เชี่ยวชาญจัดกลุ่มการลงโทษเป็น 3 แบบ แบบแรกคือการไม่ใช้ความรุนแรง เช่น การอธิบาย ดึงความสนใจ หรือตัดสิทธิบางอย่างที่เด็กเคยได้รับหรือเคยทำได้ แบบที่สองคือการใช้ความรุนแรงด้วยการทำร้ายจิตใจ เช่น เรียกเด็กด้วยถ้อยคำที่เขาไม่ชอบและเหมือนไปตีตราเด็ก เช่น ด่าว่าโง่ ขี้เกียจสันหลังยาว แบบสุดท้ายคือความรุนแรงทางกาย เช่น การตีด้วยมือหรือใช้วัตถุอื่นๆ
คำถามคือ ทำไมการใช้ความรุนแรงด้วยการทำร้ายจิตใจ หรือความรุนแรงทางกายถึงสูง ตรงนี้ก็อาจจะระบุชัดไม่ได้ แต่คิดว่าส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” และถ้าเราไปถามต่อว่า ยอมรับการลงโทษหรืออบรมสั่งสอนเด็กด้วยการตีไหม ในงานวิจัยหนึ่งของเราพบว่าคนเกือบครึ่งยอมรับได้ คือคิดว่าการตีเพื่ออบรมสั่งสอนเด็กเป็นวิธีที่เหมาะสม ตรงนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า คนอาจจะคุ้นชินกับวิธีการแบบนี้ และคิดว่าไม่ได้เสียหายอะไร
ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรม การลงโทษด้วยความรุนแรงจะส่งผลเสียอะไรบ้าง
ส่งผลเสียแน่นอน แล้วเราไม่รู้ด้วยว่าการตีคือตีแรงหรือไม่ ใช้อารมณ์หรือเปล่าตอนตี เพราะบางทีตีไปแล้วก็ควบคุมอารมณ์ไม่ได้อีก ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กให้ความเห็นว่า การลงโทษเด็กไม่ได้ทำให้เราได้เด็กที่มีพฤติกรรมแบบที่เราต้องการ แต่กลับได้เด็กดื้อ เด็กที่ขาดความมั่นใจ ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง หรือมองตัวเองในแง่ลบ ส่วนงานต่างประเทศที่มีการศึกษาและติดตามเด็กในระยะยาวพบว่า คนที่ตอนเด็กถูกลงโทษด้วยการตี โดยเฉพาะตีบ่อยๆ หรือตีแรงๆ ด้วยอารมณ์ จะมีความเสี่ยงในการติดแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดมากกว่า และมีความคิดในการฆ่าตัวตายมากกว่าด้วย
เราไม่อยากบอกนะว่าการตีเด็กดีหรือไม่ดี แต่อยากให้มองว่ามีทางเลือกอื่นที่เขารับรองว่ามันดีกว่าการตี ทำไมเราไม่ใช้วิธีแบบนั้นดู อีกอย่างคือการที่คนเกือบครึ่งยอมรับเรื่องการตีย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงกับพฤติกรรมเด็ก หรือเสี่ยงกับการที่เด็กจะไปเจอความรุนแรง และยังเสี่ยงต่อบุคลิกภาพของเด็กในอนาคต เพราะฉะนั้น เราพยายามหลีกเลี่ยงหรือปรับทัศนคติตรงนี้ได้ไหม
เรามองได้ไหมว่า การที่พ่อแม่ลงโทษด้วยความรุนแรงสะท้อนว่าพ่อแม่มีอำนาจเหนือลูก และนี่ก็สะท้อนภาพโครงสร้างใหญ่ของสังคมที่ผู้ใหญ่อาจจะลงโทษผู้น้อยกว่าด้วยความรุนแรงหรือการดุด่า
เป็นไปได้ นี่ก็มีเหตุผลเหมือนกัน คือผู้ใหญ่อาจจะมองว่าลูกหลานอยู่ในการควบคุมของเขา เขาจึงจะทำอะไรก็ได้ อีกอย่างหนึ่งคือการลงโทษด้วยการตีมันง่ายนะ มันใกล้ตัวที่สุด พอมีอารมณ์โกรธก็ตีเลย แต่วิธีที่จะไม่ใช้ความรุนแรงต้องผ่านการคิดและการสร้างสรรค์นิดหนึ่งว่าจะทำอย่างไรให้เด็กรู้ผิดถูกโดยไม่ต้องตี ตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องมานั่งถกกันอีก
ดังนั้น การตีเลยสะท้อนอย่างหนึ่งว่า ผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือกว่าเด็ก เด็กโต้ผู้ใหญ่ไม่ได้เพราะเขายังเด็ก ตรงนี้ก็สะท้อนความคิดระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กได้เหมือนกัน เราเคยดูงานที่ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลในหลายๆ ประเทศ ซึ่งจากการสำรวจนี้พบว่า ค่าเฉลี่ยของคนไทยที่ใช้ความรุนแรงในเด็กสูงกว่าประเทศอื่นในหลายเรื่องอย่างน่ากังวล ตรงนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมหรือว่าอย่างไรกันแน่
แล้วการลงโทษที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญเขามีคำแนะนำ เช่น ให้เด็กทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ อย่างการทำงานบ้าน หรือกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ หรืออาจจะใช้วิธีตัดสิทธิบางอย่างที่เด็กเคยได้รับ เช่น หักค่าขนม หรือจำกัดเวลาเล่นเกม
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันคิดด้วย ช่วยกันแบ่งปันว่าในครอบครัวควรจะใช้วิธีการไหนที่ได้ผลและไม่ทำร้ายจิตใจเด็ก เพราะการตีไม่ได้สร้างแค่ความเจ็บปวดทางกาย แต่มันสร้างความเจ็บที่ใจด้วย และอาจเป็นแผลเป็นที่อยู่ติดตัวติดใจไปได้อีกนาน
ถ้าเราบอกว่าการตีเป็นการกระทำที่ง่ายและใกล้ตัวที่สุด แบบนี้สะท้อนได้ไหมว่า เราไม่ได้รับการปลูกฝังให้คิดอย่างมีเหตุหรือคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) มากนัก พอคิดอะไรไม่ออกก็ตีโดยลืมคิดถึงผลที่อาจจะตามมาอย่างรอบด้าน
ก็อาจจะเป็นแบบนั้นได้ด้วย อีกอย่างหนึ่งเรามองว่าที่คนไทยยอมรับเรื่องการตีเพราะคนส่วนหนึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว จะเลี้ยงลูกยังไงคนอื่นก็อย่ามาก้าวก่าย เหมือนกับความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงหรือความรุนแรงอื่นๆ ในครอบครัวด้วย ซึ่งไม่น่าจะใช่
สิ่งที่เราต้องทำคือพยายามสร้างสมดุลระหว่างเรื่องส่วนตัว การมีอิสระในกรอบของตัวเอง และการคิดถึงผลกระทบต่อส่วนรวม ตรงนี้ต้องมองด้วยว่าการกระทำในครอบครัวส่งผลกระทบกับสังคมในภาพรวม ถ้าเราบอกว่าใช้การตีลงโทษเด็ก คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับ เป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ ใครๆ ก็ทำกัน และมองว่าสมัยก่อนทำกันแบบนี้ เด็กก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ทำไมไม่ลองคิดในมุมกลับว่า ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ ไม่ใช้ความรุนแรงในเลี้ยงดูเด็ก เราอาจจะได้เด็กที่ดีกว่านี้ก็ได้ ก็น่าจะมองมุมนี้ด้วย
มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนไหมว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องส่วนตัวในครอบครัว เรื่องไหนเป็นเรื่องที่รัฐ ภาคสังคม หรือคนอื่นๆ ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยจัดการ
เราว่าตรงนี้ยังไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน แต่คนที่เลี้ยงดูเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือใครก็ตาม ควรจะเข้าใจว่า เขาไม่สามารถใช้วิธีการตีหรือการลงโทษที่รุนแรงได้ แต่ถ้าเขาเลือกใช้วิธีรุนแรง คนอื่นก็มีสิทธิจะยื่นมือมาเข้ามาแทรกแซงได้ แต่การเลือกวิธีลงโทษที่ไม่รุนแรงย่อมเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละครอบครัวที่จะปรับให้เข้ากับบริบทครอบครัวของตัวเอง แต่จะมาบอกว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเลือกวิธีการรุนแรง หรือไม่รุนแรงนะ คุณอย่ามายุ่ง แบบนี้ไม่ควรจะทำได้
ถ้าพูดให้ชัดขึ้น สังคมควรจะมีเส้นแบ่งชัดเจนว่าแบบนี้โอเค เป็นเรื่องในครอบครัว ส่วนเรื่องนี้สังคมเข้ามาเกี่ยวข้องได้ อย่างการจะบอกว่าสามีภรรยาจะทำอะไรอีกฝ่ายก็ได้ แบบนี้ไม่ใช่ ไม่ควรปล่อยให้เป็นแบบนั้น เรื่องการเลี้ยงลูกก็เช่นกัน
ตอนนี้ถือว่า สังคมมีความตระหนัก (awareness) เรื่องนี้เพิ่มขึ้นไหม เพราะเราเริ่มเห็นการขุดค่านิยมเก่าๆ ขึ้นมาตั้งคำถามแล้ว อย่างคำพูดที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” บางคนก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า ทำไมต้องตี เราไม่มีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้แล้วหรือ
เข้าใจว่าความตระหนักน่าจะมากขึ้น เราเริ่มเห็นกลุ่มคนออกมาพูดชักชวน เชิญชวน หรือรณรงค์ในเรื่องนี้กันแล้ว ซึ่งจริงๆ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก การตีเด็กถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และไทยก็ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวด้วย เราเห็นกลุ่มที่ทำเรื่องเด็กปฐมวัยเริ่มหาวิธีที่จะทำให้คนมองว่า การตีไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด แต่ยังมีทางอื่นอยู่
แต่ในสื่อออนไลน์ สื่อภาครัฐ หรือในโทรทัศน์ เรากลับยังไม่ค่อยเห็นความพยายามรณรงค์ในการเปลี่ยนทัศนคติคน หรือทำให้คนไม่ยอมรับว่าการตีเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเราควรจะพยายามทำทุกอย่างมากกว่านี้ บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นสิทธิของพ่อแม่ในการดูแลลูก แต่มันไม่ได้ไง เพราะอย่างที่บอกไปว่า เมื่อเด็กออกมาจากครอบครัว เขาจะต้องมาอยู่ในสังคมและมีผลกระทบต่อคนอื่นด้วย พฤติกรรมของเขาไม่ได้อยู่แต่ในครอบครัว และถ้าเด็กเคยชินและยอมรับการใช้ความรุนแรง เขาอาจจะใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงลูกตัวเองต่อไป และอาจใช้ความรุนแรงกับคนอื่นๆ ที่เขามีปฏิสัมพันธ์ด้วย ตรงนี้ก็จะวนเวียนไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
อาจารย์คิดว่า รัฐไทยลงทุนในมนุษย์และสถาบันครอบครัวเพียงพอหรือไม่ หรือภาครัฐสามารถทำอะไรเพิ่มเติมได้ไหม
ถ้าดูตามแผนของภาครัฐ เราเห็นความพยายามให้คนเป็นศูนย์กลางมากขึ้นและเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งก็เห็นนโยบายบางอย่าง เช่น อุดหนุนเด็กแรกเกิด ตรงนี้ก็มีมากขึ้นกว่าเดิมไปและไปในทิศทางที่ควรจะเป็น แต่ภาครัฐก็อาจจะทำได้ดีกว่านี้อีก
ส่วนเรื่องข้อเสนอแนะ เราว่าต้องมองในภาพรวม เพราะถ้ามองว่าสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดน้อย สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ทำยังไงให้เด็กที่เกิดน้อยมีคุณภาพ เพราะตอนนี้เหมือนกับเด็กเกิดน้อยแต่เรื่องคุณภาพยังมีคำถามอยู่ และการตัดสินใจทำอะไรของภาครัฐต้องอยู่บนฐานข้อมูลด้วย ถ้ามองในมุมนักวิจัย ก็อยากให้มีการลงทุนในการทำวิจัยด้านสังคมในประเด็นการสร้างเด็กอย่างมีคุณภาพให้มากขึ้น
แล้วถ้าเป็นเรื่องการย้ายถิ่นฐาน เป็นที่น่าสังเกตว่าการย้ายถิ่นฐานสัมพันธ์กับปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย เช่น การที่งานและความเจริญกระจุกตัวอยู่แต่ในหัวเมืองใหญ่ ทำให้พ่อแม่ต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อทำงานหาเงิน ในฐานะนักวิจัย อาจารย์มีข้อเสนอแนะอะไรในประเด็นนี้ไหม
รัฐก็พยายามทำมาตลอดในแง่ความพยายามลดความแตกต่างของเมืองใหญ่กับนอกเมืองใหญ่ แต่ก็ยังทำไม่ได้ ความเจริญยังอยู่แต่ในเมืองอยู่ดี ซึ่งต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การสร้างความเท่าเทียมระหว่างในเมืองกับนอกเมืองเป็นเรื่องยาก และแม้เราจะพยายามสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้อยู่นอกกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ คนก็ยังอยากเข้ามาในเมืองอยู่ดี เพราะนอกจากเรื่องการศึกษาหรือโอกาสการทำงานแล้ว ยังมีเรื่องของจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้อง บางทีคนเราอยากย้ายพื้นที่ อยากอยู่ในโอกาส เปลี่ยนแปลงสถานที่ที่อยู่เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองด้วย
นอกจากเรื่องการย้ายถิ่นฐาน โควิด-19 ก่อให้เกิดความท้าทายหรือคำถามใหม่ๆ ในทางประชากรศาสตร์อีกไหม
ประชากรศาสตร์สนใจอยู่ 3 เรื่อง คือ การเกิด ตาย และย้ายถิ่น
ถ้าเป็นเรื่องการเกิด ยังไม่ค่อยมีคนทำวิจัยว่าพอมีโควิดคนจะอยากมีลูกเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง แต่ถ้าลองเดาก็คงตอบได้ว่า คนอยากมีลูกน้อยลง เพราะความยากลำบากและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจรวมถึงอนาคตข้างหน้า มีการศึกษาในต่างประเทศที่พยายามคาดประมาณว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยไปถามคนที่มีแพลนจะมีลูกว่าแพลนของพวกเขาเปลี่ยนไปบ้างไหมหลังโควิด เขาศึกษาในโซนยุโรป พวกอิตาลี เยอรมนี และสเปน ซึ่งพบว่า ถ้าเป็นในเยอรมนีที่เศรษฐกิจค่อนข้างมั่นคง แพลนเปลี่ยนนะ คือคนอยากมีลูกน้อยลง ส่วนอิตาลีก็เปลี่ยนแต่ไม่เยอะเท่า เท่ากับว่าในบริเวณหรือโซนเดียวกันก็ยังมีความแตกต่างกัน ส่วนในไทยยังไม่พบข้อมูลจากงานวิจัยในประเด็นนี้ แต่เรื่องพวกนี้ก็ต้องดูกันยาวๆ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจและใช้เวลาพอสมควร
ส่วนเรื่องการย้ายถิ่นคือกระทบแน่นอน เราจะเห็นการเดินทางข้ามประเทศน้อยลง ส่วนในประเทศยังมีอยู่บ้าง แม้จะลดลง เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไงต่อ ถ้าเป็นเรื่องการตาย ตอนนี้จำนวนผู้เสียชีวิตในไทยถือว่ายังน้อยอยู่ เราเลยมองได้ไม่ชัดว่าโควิดกระทบกับการเสียชีวิตของคนไทยอย่างไร แต่ถ้าในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตเยอะๆ เขาก็จะมีการคาดประมาณเหมือนกันว่า ถ้ามีอัตราการติดเชื้อเท่านี้จะทำให้อายุขัยลดลงเท่าไหร่ แต่ว่าแต่ละประเทศหรือแต่ละโซนก็จะคาดประมาณต่างกันไปอีก ตรงนี้ก็ต้องดูว่า สถานการณ์โควิดจะเป็นยังไงต่อไป
เราเห็นโอกาสอะไรในสังคมไทยจากการเกิดโควิดครั้งนี้ไหม
โอกาสต้องเชื่อมมาจากสิ่งที่เข้ามากระทบเรา ตอนนี้คือโควิด-19 ซึ่งเป็นเหมือนการเปิดให้เรายิ่งเห็นความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำของคน จากแต่เดิมที่มีอยู่แล้ว โควิดก็ยิ่งทำให้เห็นตรงนี้ชัดขึ้น เพราะแม้โควิดจะกระทบคนทุกคน แต่คนแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน คนมีทุนมากกว่า ทรัพยากรมากกว่า ก็สามารถปรับตัวและได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนที่มีทุนน้อย
ถ้าถามว่ามีโอกาสอะไร เรามองว่า นี่น่าจะเป็นแรงกระตุ้น เป็นสิ่งเร้าที่เป็นรูปธรรมมากๆ ให้ทุกคนร่วมมือกันเพื่อพยายามลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพราะนี่แหละน่าจะเป็นทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด ไม่ว่าในอนาคตข้างหน้า โลกจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบไหนอีกก็ตาม
หมายเหตุ: ผู้ที่สนใจเรื่องประชากรและการพัฒนา สามารถติดตามข่าวสารและเรื่องอื่นๆ ได้ที่ Facebook Page: The Prachakorn