fbpx
เมื่อเฟซบุ๊กมีคนตายมากกว่าคนเป็น

เมื่อเฟซบุ๊กมีคนตายมากกว่าคนเป็น

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

shin egkantrong ภาพประกอบ

 

ในหนังสือเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวล มีอยู่ตอนหนึ่งที่บอกว่า “พรรคของเราควบคุมบันทึกทุกอย่าง และเราควบคุมความทรงจำทั้งปวง ดังนั้น เราจึงควบคุมอดีตด้วย”

คำถามก็คือ ในอนาคต เมื่อผู้คนล้มตายลงแล้ว โปรไฟล์ ข้อมูล รูปถ่าย บทสนทนา การหยอกเย้า ทะเลาะเบาะแว้ง ทุ่มเถียง ชื่นชม เยินยอ ด่าทอ ที่ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ จะเป็นอย่างไรต่อไปกันแน่?

ตอนนี้เราอาจยังไม่คิดเรื่องนี้มากเท่าไหร่ เพราะการเติบโตของ user ในโซเชียลมีเดียยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วน user ที่ล้มหายตายจากไปจากโลกจริงๆ ยังมีสัดส่วนน้อยอยู่ แต่ลองคิดถึงอนาคตดูสิครับ อนาคตในอีกห้าสิบปีหรือร้อยปีข้างหน้า เมื่อคนอาจผละจากเฟซบุ๊กหันไปใช้แพลตฟอร์ม (หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ) อื่น และคนที่เคยใช้เฟซบุ๊กก็ค่อยๆ ทยอยล้มหายตายจากไป

สิ่งที่เหลืออยู่ในเฟซบุ๊กจะคืออะไร?

นี่คือคำถามที่คาร์ล เจ. โอแมน (Carl J. Ohman) และเดวิด วัตสัน (David Watson) จาก Oxford Internet Institute คิดไว้เมื่อพวกเขาเริ่มลงมือศึกษาว่า เมื่อไหร่กันที่ ‘คนตาย’ ในเฟซบุ๊ก จะมีมากกว่า ‘คนเป็น’

งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Big Data & Society โดยมีการคำนวณอัตราการเติบโตของประชากร อัตราการตาย อัตราการสมัครสมาชิกเฟซบุ๊กรายใหม่ๆ โดยใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง รวมถึงตัวเลขจากสหประชาชาติและจากเฟซบุ๊กเอง

การคำนวณนี้มีสมมติฐานว่า หลังปี 2018 ไปแล้ว อัตราการเติบโตของผู้ใช้เฟซบุ๊กจะหยุดลง นั่นคือยังมีคนหน้าใหม่สมัครเฟซบุ๊กเข้ามาอยู่นั่นแหละครับ แต่ไม่ใช่ในอัตราที่เพิ่มขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าหากคำนวณด้วยฐานคิดแบบนี้ ในราวๆ ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 22 ก็เป็นไปได้ที่ในเฟซบุ๊กจะมีคนเป็นอยู่น้อยกว่าคนตาย

หลายคนอาจรู้สึกว่า นี่เป็นเรื่องไกลตัว ยังอีกตั้งหลายสิบปีกว่าจะเกิดขึ้น และหลายคนก็อาจมองข้ามความสำคัญของเรื่องนี้ไป ก็คนเราตายไปแล้ว จะให้ทำอย่างไรได้เล่า

แต่ลองนึกถึงทุกวันนี้ดูสิครับ ว่าถ้าใครอยากตามหาสาแหรกตระกูลของตัวเอง อยากรู้ว่าย่ายายปู่ทวดของตัวเองเป็นใคร เคยอยู่ในเมืองไหนมาก่อน เคยทำอาชีพอะไร อพยพมาจากไหน ถ้าเป็นคนไทยอาจจะหาไม่ได้เลยเพราะไม่มี ‘บันทึก’ อะไรเอาไว้ ส่วนของฝรั่งอาจต้องไปค้นหาตามทะเบียนราษฎร์หรือทะเบียนอื่นๆ​ (เช่นการเกณฑ์ทหาร ฯลฯ) ที่อาจย้อนหลังไปได้ราวสองสามร้อยปี แต่ส่วนใหญ่ไม่เกินนั้น

ในอนาคต เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กล้มตายหายสูญไปหมดแล้ว พวกเขาอาจจากไป แต่สิ่งที่ ‘ถูกทิ้ง’ เอาไว้ ก็คือข้อมูลมหาศาลที่บันทึกเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยมีชีวิตอยู่ และเป็นบันทึกที่ไม่ใช่คนอื่นบันทึกให้ แต่เป็นตัวเองบันทึกเอง รวมทั้งยังลงลึกละเอียดไปถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกี่ยวพันไปถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย เช่น ความโกรธเกรี้ยวที่ต้องเจอกับรัฐประหารครั้งใหม่ ความเบื่อหน่ายที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง บทสนทนาว่าด้วยร้านนวดเท้า ร้านกาแฟ นาฬิกาที่ยืมเพื่อนมา การโกงการเลือกตั้ง และอื่นๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ของประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกบันทึกเอาไว้ด้วยตัวของผู้บันทึกเอง และไม่ใช่ข้อมูลน้อยๆ ด้วย แต่ชั่วชีวิตคนคนหนึ่งนั้น ต้องบอกว่ามหาศาล แล้วถ้านับรวมคนมากมายเข้าด้วยกัน ก็ยิ่งต้องเรียกว่าเป็นอภิมหาบิ๊กดาต้า ที่ใช้ศึกษาสังคมมนุษย์ในยุคสมัยหนึ่งๆ (คือยุคสมัยแห่งเฟซบุ๊ก) ได้แบบแทบไม่รู้จบ

และดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้จึงทรงคุณค่ามหาศาล มันไม่ใช่แค่บันทึกของคน แต่บันทึก ‘คลื่นอารมณ์ความรู้สึก’ ของสังคมในแต่ละช่วงเวลาเอาไว้ด้วย

คำถามก็คือ แล้วตอนนี้ โซเชียลมีเดียทั้งหลาย ‘เก็บ’ ข้อมูลพวกนี้อย่างไร

เฟซบุ๊กบอกว่า เฟซบุ๊กมีความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตของมนุษย์ และตระหนักถึงบทบาทของตัวเองในอันที่จะรักษาและสร้างมรดกในยุคดิจิทัลนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นจึงมีมาตรการหลายอย่างในการรับมือกับความตายของยูสเซอร์

เวลาที่มีใครตายลง ถ้าเพื่อนหรือครอบครัวติดต่อเฟซบุ๊ก แอคเคานต์ของคนคนนั้นก็จะกลายเป็นเพจที่มีสไตล์แบบ special memorial คือเป็นเพจที่เอาไว้ทรงจำรำลึกถึง ซึ่งตอนนี้มีอยู่หลายแสนบัญชีแล้ว

หลายคนอาจรู้สึกขนลุกเวลาเห็นหน้าเฟซบุ๊กของคนที่เสียชีวิตไปแล้วยังมีความเคลื่อนไหว เช่น มีการแนะนำให้เป็นเพื่อน หรือส่งคำเชิญอีเวนต์ต่างๆ มาให้ นั่นทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้เหมือนกันว่าจะตั้งค่าเอาไว้ว่าให้ลบบัญชีของตัวเองหากเสียชีวิตหรือเปล่า แต่ถ้าเสียชีวิตขณะเป็นผู้เยาว์ ก็ต้องให้พ่อแม่ผู้ปกครองส่งคำร้องไปยังเฟซบุ๊กแทน แต่ถ้ายังอยากให้เก็บรักษาบัญชีเอาไว้ ก็ต้องส่งเอกสารไปยืนยันเพื่อให้ทางเฟซบุ๊กรู้ว่าคนคนนั้นไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว เช่น มีลิงก์ไปยังคำไว้อาลัยต่างๆ หรือภาพงานศพ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งกัน เพราะฉะนั้น โดยรวมๆ เฟซบุ๊กก็จะมีทั้งการลบบัญชีและการเก็บรักษาบัญชีนั้นไว้ในรูปแบบพิเศษ

ส่วนอินสตาแกรมนั้นไม่เหมือนเฟซบุ๊ก เพราะถ้าผู้ใช้งานเสียชีวิต บัญชีก็จะถูกแช่แข็งเอาไว้ คือไม่มีใครล็อกอินเข้าไปได้ และบัญชีนั้นๆ จะไม่ปรากฏเวลามีการค้นหา แต่ว่าถ้าพิมพ์ชื่อก็จะเข้าไปยังบัญชีนั้นๆ ได้ โดยการตั้งค่าต่างๆ จะยังคงเดิม ส่วนทวิตเตอร์จะอนุญาตให้เฉพาะสมาชิกในครอบครัวเท่านั้นเป็นผู้ส่งคำขอลบบัญชีรายชื่อที่เสียชีวิตไปแล้ว

แต่คำถามก็คือ ทั้งหมดนี้คือ ‘ข้อมูล’ มหาศาลที่จะกองกันอยู่ในยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับมาจากอนาคตแล้ว เราจะเห็นได้เลยว่าทรงคุณค่าในทางการศึกษามากมายขนาดไหน

ที่สำคัญก็คือ ถ้าโซเชียลมีเดียสามารถควบคุมข้อมูลเหล่านี้ได้ ก็เท่ากับโซเชียลมีเดียต่างๆ กำลัง ‘ควบคุมอดีต’ (แบบเดียวกับในหนังสือ 1984) คืออาจยอมให้มีการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้อย่างจำกัด หรือในบางกรณีที่อ่อนไหวก็อาจปิดการเข้าถึงได้เลย นั่นทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์อาจผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปได้ การ ‘มอบอำนาจ’ ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งควบคุมดูแล ‘อดีต’ ของสังคมส่วนใหญ่ คือประเด็นสำคัญที่งานวิจัยนี้ตั้งคำถามขึ้นมา อาจเป็นคำถามที่มาก่อนกาลสักหน่อย แต่ก็น่าเป็นห่วงจริงๆ ในอนาคต

ข้อเสนอของผู้วิจัยก็คือ เป็นไปได้ไหมที่เราจะต้องสร้าง ‘สถาบัน’ บางอย่างที่เหมาะสมขึ้นมา เพื่อให้มีการเก็บข้อมูลผู้ตายเหล่านี้อย่างเป็นระบบ และทำให้การ ‘เข้าถึงอดีต’ เป็นเรื่องที่ทำได้โดยไม่ต้องผ่านบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่า แพลตฟอร์มต่างๆ ย่อมมีวัฏจักรของมัน มีวันที่รุ่งเรือง และมีวันที่ร่วงโรย เช่นเดียวกับชีวิตมนุษย์ที่จะไม่อยู่ยั้งยืนยงไปจนตลอดกาล ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่ในโซเชียลมีเดียต่างๆ จะเต็มไปด้วยผู้ที่เคยมีชีวิตอยู่ — จึงมีอยู่สูงมาก

ใครจะเป็นผู้ควบคุมอดีต จึงคือคำถามสำคัญที่ดังขึ้นจากอนาคต

และไม่ใช่อนาคตอันไกลโพ้นเสียด้วย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save