fbpx

คนไทยไม่อดทน?

มีบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยอยุธยาหลายคนระบุว่า คนไทยเป็นพวกรักสบาย ไม่สู้งาน หนักไม่เอาเบาไม่สู้เสียเท่าไหร่ 

คนไทยเป็นแบบนั้นจริงหรือ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน

มีรายงานชิ้นหนึ่งน่าสนใจดีครับ ชื่อว่า Global Evidence on Economic Preferences จัดทำโดยความร่วมมือของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจากหลายประเทศและตีพิมพ์ออกมาในช่วงกลางปี 2018 งานวิจัยนี้ศึกษาคุณลักษณะและอุปนิสัยของคนในชาติต่างๆ ก่อนจะนำมาเปรียบเทียบกัน ลักษณะที่ศึกษาก็มีทั้งเรื่องความอดทน การรับมือความเสี่ยง ความถ้อยทีถ้อยอาศัยและการตอบแทน ความเอื้อเฟื้อ ไปจนความเชื่อใจ 

คณะนักวิจัยรวบรวมข้อมูลด้วยการสำรวจผู้คนราว 80,000 คนจาก 76 ประเทศ ภายใต้กรอบการทำงานเรื่อง “กัลลัปเวิลด์โพล 2012 (2012 Gallup World Poll)” โดยการสำรวจนี้จะใช้ตัวแทนจากกลุ่มประชากร และถามคำถามที่เกี่ยวกับหัวเรื่องทางสังคมและเศรษฐกิจในคาบปีนั้นๆ เป็นหลัก 

จะศึกษาอะไรก็ต้องกำหนดขอบเขตนะครับ เพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน  

การศึกษาดังกล่าวให้คำจำกัดความคำว่า ‘ความอดทน (patience)’ ไว้ว่า เป็น ‘ความปรารถนาจะเลิกทำบางอย่างที่ให้ประโยชน์ในวันนี้ เพื่อที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าในอนาคต’ จะเห็นว่าชัดเจนมากสำหรับการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ เพราะสามารถตรวจวัดเป็นจำนวนได้ แต่อันที่จริงการสำรวจนี้ก็พอจะสามารถวัดในเชิงปริมาณได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับคำถามที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ หากเป็นการวัดเชิงปริมาณก็จะเป็นแนวคำถามเช่น อาสาสมัครจะรับเงินค่าจ้างจำนวนหนึ่งวันนี้ หรือรับค่าจ้างที่มากกว่าในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่วนการวัดเชิงคุณภาพ อาสาสมัครต้องตอบคำถามจำพวก “คุณเต็มใจเพียงใดที่จะยกเลิกสิ่งที่ได้รับประโยชน์ในวันนี้เพื่อที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าในอนาคต” เป็นต้น  

โดยผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เราเห็นอะไรหลายอย่างเลยนะครับ ต้องชื่นชมนักวิจัยที่ออกแบบคำถามไว้ดี จึงช่วยทำให้เห็นถึง ‘แรงจูงใจที่ทำให้อยากทำเช่นนั้น’ ได้อย่างชัดเจนเช่น ในการวัดเรื่องความอดทน นักวิจัยถามอาสาสมัครเกี่ยวกับความปรารถนาที่จะเลื่อนการรับรางวัลสมมติที่ตั้งขึ้น โดยมีคำถามและตัวเลือกที่จำเพาะเจาะจงมากจนสามารถระบุแรงจูงใจในการทำให้ตัดสินใจเลื่อนการรับรางวัลได้จริงๆ

ใครสนใจอยากอ่านตัวคำถามหรือข้อมูลต่างๆ ลองหาอ่านดูได้ที่ Global Preferences Survey เลยครับ

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว นักวิจัยก็นำมาทำเป็นกราฟ ก่อนแปลงกราฟให้เป็นแผนที่แยกแยะตามประเทศ โดยใช้สีเข้มแทนประเทศที่ประชากรมีความอดทนสูง

สำหรับหน่วยที่ใช้ในภาพแผนที่ดังกล่าว กำหนดให้ค่าเฉลี่ยมาตรฐานทั้งโลกอยู่ที่ 0 ซึ่งหมายความว่า หากค่าที่ได้เป็นบวก ก็สะท้อนให้เห็นว่ามีความอดทนมากกว่าค่าเฉลี่ย ในทางกลับกัน หากค่าที่ได้เป็นลบก็สะท้อนให้เห็นว่ามีความอดทนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย  

จากในภาพจะเห็นได้ว่า ประเทศที่ผู้คนมีแนวโน้มจะอดทนอดกลั้นมากที่สุดได้แก่ สวีเดน ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศที่ผู้คนมีแนวโน้มจะอดทนน้อยที่สุดได้แก่ นิคารากัว ตามมาด้วยรวันดา และจอร์เจีย 

คณะนักวิจัยชี้ไว้ในเปเปอร์ว่า ประชากรที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวยุโรปมีแนวโน้มจะมีความอดทนมากกว่าค่าเฉลี่ย อันที่จริงแล้ว 10 ประเทศแรกที่ประชากรได้ค่าความอดทนสูงต่างอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก หรือประเทศที่ผู้คนจากที่นั่นย้ายไปอยู่ และเป็นพวกที่พูดภาษาอังกฤษ โดย ‘กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย’ มีคะแนนความอดทนกระโดดออกมาสูงเป็นพิเศษ

ที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ พวกที่มีความอดทนสูงนี่ ล้วนอยู่ในประเทศที่รายได้เฉลี่ยสูงอีกด้วย 

สำหรับกลุ่มอาสาสมัครจากประเทศไทยทำคะแนนได้ไม่ดีเท่าไหร่นะครับ หากเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งโลก คืออยู่ในกลุ่มคะแนน 0 ถึง – 2.5 ถือว่าไม่ค่อยจะอดทนสักเท่าไหร่ ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับที่ชาวตะวันตกที่เคยมาเยือนไทยในอดีตเคยตั้งข้อสังเกตไว้ และผลจากการสำรวจชุดนี้ชี้ว่าปัจจุบันก็ยังอาจเป็นอยู่นะครับ    

สำหรับความแตกต่างเรื่องความอดทนอันเนื่องมาจากการตัดสินใจสำคัญๆ ในชีวิตนั้น ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาในการได้รางวัล โดยเฉพาะการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการต้องแลกด้วยต้นทุนในปัจจุบันเพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์ในอนาคต ฉะนั้นประเทศที่มีระดับความอดทนสูงกว่า อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้คนมีความต้องการเสียสละรางวัลระยะสั้น เพื่อรางวัลที่ใหญ่กว่าในระยะยาว

ข้อสรุปอื่นๆ ก็น่าสนใจเช่นกัน แต่ต้องบอกก่อนว่าค่าที่เห็นเป็นแค่ค่าเฉลี่ยจากกลุ่มตัวอย่าง ยังมีความหลากหลายของแนวโน้มในแต่ละประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ ยังสังเกตพบว่าความหลากหลายของแนวโน้มเปลี่ยนไปตามอายุ เพศ และระดับสติปัญญาอีกด้วย 

หากเจาะไปที่แต่ละประเทศ ยังพบความแตกต่างของแนวโน้มในกลุ่มอาชีพและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันตามประเทศนั้นๆ เช่น ผลลัพธ์ในกลุ่มเกษตรกร กลุ่มที่ใช้ภาษาเดียวกัน หรือนับถือศาสนาเดียวกัน อาจมีแนวโน้มต่างไปจากกลุ่มอื่นทั้งสิ้น

และเมื่อเจาะลึกลงไปถึงระดับปัจเจกชน ก็ยังพบความแตกต่างของแนวโน้ม เนื่องจากการตัดสินใจเรื่องการออม ลักษณะการทำงานว่าอยู่ในตลาดแรงงานหรือไม่ และพฤติกรรมส่วนตัวเข้ากันกับสังคมได้ดีเพียงใด

ความหลากหลายที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ในแต่ละประเทศก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปอีกด้วย  

น่าสนใจว่า ข้อสรุปเรื่องความอดทนทางเศรษฐศาสตร์แบบนี้จะสามารถยืดขยายไปยังเรื่องความอดทนในแบบอื่นๆ ได้หรือไม่ เช่น ความอดทนในทางการเมือง ผู้คนสามารถอดทนรอการเปลี่ยนแปลงอย่างถูกทำนองคลองธรรม ไม่ใช้กำลังเข้าแทรกแซงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนเกิดความบิดเบี้ยวในการแก้ปัญหา ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องในอนาคต วนเป็นลูปกันต่อๆ ไป

จึงเกิดเป็นภาพย้อนแย้งว่า แม้คนไทยจะทนอยู่ภายใต้การปกครองของผู้มีปืนในมือได้เป็นเวลานาน  7 – 8 ปี แต่หากลงไปดูที่เนื้อแท้ เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะลึกๆ แล้วคนไทยจำนวนหนึ่งไม่อดทนรอการเปลี่ยนแปลงไปตามครรลองประชาธิปไตย

และอยากจะ ‘ลัด’ เส้นทางอย่างไร้ความอดทนต่างหาก     

ปรากฏการณ์ที่เห็นตรงหน้าจึงสอดคล้องกับผลการสำรวจเรื่องความอดทนที่เล่ามานี้ว่า คนไทยอาจจะมีความอดทนต่ำกว่าค่าความอดทนเฉลี่ยของคนทั่วโลก และไม่อาจอดทนไม่หวังผลประโยชน์เฉพาะหน้าเหนือผลประโยชน์ระยาวได้ดีนัก! 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save