fbpx
เกาะพลาสติกกับภารกิจของ Arctic Sunrise

เกาะพลาสติกกับภารกิจของ Arctic Sunrise

กรณิศ ตันอังสนากุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หากได้ติดตามเรื่องเล่าจากฮาวายตอนที่แล้วของผู้เขียน คงจะพอทราบว่า เกาะสวรรค์ที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากแผ่นดินใหญ่ถึง 4,000 กิโลเมตรแห่งนี้ พึ่งพาการนำเข้าทรัพยากรสูงถึง 80% ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค รวมถึงพลังงาน แต่มีอีกอย่างหนึ่งที่ถูกพัดพามาสู่เกาะแห่งนี้โดยไม่มีใครร้องขอ และทำให้ Paradise Island แห่งนี้ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นั่นคือพลาสติก

ต่างจากหาดสวยๆ ที่เราจินตนาการถึง ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของ Big Island เกาะใหญ่ของฮาวาย เป็นที่ตั้งของหาด Kamilo เกาะที่ได้ชื่อว่าสกปรกมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และถ้าหากได้ไปเยือนหาดแห่งนี้หรือเพียงเห็นภาพที่หาได้ไม่ยากนักบนอินเทอร์เน็ต เชื่อว่าทุกคนคงจะไร้ข้อกังขาที่ว่าเหตุใดหาด Kamilo ถึงมีชื่อเล่นที่ไม่น่าพิสมัยเอาเสียเลยว่า ‘หาดพลาสติก’

ณ หาดแห่งนี้คุณจะพบกับแปรงหวีผม ขวดน้ำพลาสติก ไฟแช็ค อวนประมง หลอดดูดน้ำ ขวดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ที่ถูกน้ำพัดพามาเกยหาดในทุกวัน ฉลากปรากฏภาษาต่างๆ ที่บ่งชี้ว่าขยะบางชิ้นถูกพัดพามาไกลจากญี่ปุ่นหรือรัสเซียเลยทีเดียว (เป็นไปได้เหมือนกันที่ขยะนานาสัญชาติบางส่วนถูกทิ้งจากแถวๆเกาะนี่แหละ)

ห่างไปเกือบ 2,000 กิโลเมตรทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือจากเกาะหลักของฮาวาย จะพบกับอะทอลล์ (Atoll – แนวปะการังที่มีลักษณะเป็นรูปวงแหวนหรือเกือกม้า) Northwestern Hawaiian Islands ซึ่งเป็นกลุ่มของเกาะเล็กๆ อันห่างไกลที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่

ในบริเวณนี้มักพบอวนจับปลาลอย ทุ่นโฟม ทุ่นเศษพลาสติก ขวดพลาสติก ฝาขวด ไฟแช็ค บุหรี่ รองเท้าและแปรงสีฟัน ขยะทะเลเป็นภัยคุกคามไม่เพียงต่อสัตว์และที่อยู่อาศัยของพวกมัน แต่สามารถสร้างปัญหาด้านความปลอดภัยในการขนส่ง สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสุขภาพอีกด้วย

บนเกาะอื่นๆ ในเขตฮาวายและบริเวณใกล้เคียงก็มีสภาพไม่แตกต่างกันนัก เหตุผลสำคัญที่ทำให้หาดแห่งนี้ปนเปื้อนไปด้วยขยะพลาสติกจำนวนมากก็คือระยะที่ไม่ห่างนักจาก The Great Pacific Garbage Patch แพขยะขนาดใหญ่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งแท้จริงแล้วมีลักษณะเหมือนซุปพลาสติกเสียมากกว่า กระแสน้ำและลมได้นำพาขยะจำนวนมหาศาลมาสู่หาดแห่งนี้ในทุกๆ ปี

 

แผนภาพแสดงกระแสน้ำในมหาสมุทรและพื้นที่ที่มีการสะสมของขยะทะเลและที่ตั้งของแพขยะขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกในแต่ละปี มีปัจจัยมากมายที่ส่งผลกระทบต่อที่ตั้ง ขนาด และความรุนแรงของกระแสน้ำ ซึ่งรวมรวมถึงการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล และปรากรฏการณ์ El Niño / La Niña ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ Big Island นับว่าตั้งอยู่ใกล้กับ แพขยะ the eastern Pacific garbage patch ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ the Great Pacific Garbage Patch ซึ่งทางตะวันออกของแพขยะนี้อยู่ระหว่างแคลิฟอเนียร์และชายฝั่งด้านตะวันออกของฮาวาย ที่มา: NOAA Marine Debris Program

 

ปัญหาขยะพลาสติกที่ฮาวายนับว่าหนักหนาสาหัส เรือ Arctic Sunrise ของ Greenpeace เดินทางมาถึงโฮโนลูลูเมืองหลวงของฮาวาย เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2018 หลังเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนแพขยะ the Great Pacific Garbage Patch การเทียบท่าที่ฮาวายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปฏิบัติภารกิจส่งสารเรื่องมลภาวะจากขยะพลาสติกในทะเล

ภารกิจตลอดหนึ่งเดือนที่ฮาวาย นอกจากจะเปิดเรือให้บุคคลทั่วไปและนักท่องเที่ยวได้เข้าไปเยี่ยมชมแล้ว ยังประกอบด้วยภารกิจหลักในการไปเยือนและเก็บขยะที่ Kaho’olawe เพื่อส่งเสริมความตระหนักเรื่องผลกระทบจากขยะพลาสติก

Kate Melges เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านทะเล (Ocean Campaigner) ของ Greenpeace กล่าวว่า “ที่เรือ Arctic Sunrise อยู่ในฮาวายนั้นเป็นเพราะภัยคุกคามเร่งด่วนจากมลพิษพลาสติกที่ส่งผลต่อมหาสมุทร แหล่งน้ำ และชุมชนของเรา”

 

เรือ Arctic Sunrise ที่มา: Greenpeace

 

 

เกาะ Kaho’olawe เป็นเกาะศักดิ์สิทธิ์ที่พื้นที่และผืนน้ำได้รับการคุ้มครองเพื่อวัตถุประสงค์ทางวัฒนธรรม จิตวิญญาณและความเชื่อ รวมถึงการดำรงชีวิตของชาวฮาวายพื้นเมือง แม้จะไม่มีผู้คนอาศัยอยู่และมีข้อห้ามในการใช้ประโยชน์ที่ดินในเชิงพาณิชย์ แต่บรรจุภัณฑ์อันเป็นผลจากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ต่างๆ ของมนุษย์ก็ไปถึงชายฝั่งได้ในที่สุด

“ที่นี่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ปลอดจากการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ และได้รับการรักษาเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนาและวัฒนธรรม แต่กระนั้นรอยเท้าพลาสติกจากบริษัทชื่อดังก็ยังพบได้ไม่ยาก มันไม่ควรเป็นชาวฮาวายที่ต้องรับผิดชอบจัดการกับความยุ่งเหยิงนี้” Kate Melges กล่าวเสริม

บริษัทและแบรนด์ระดับโลกควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบปัญหาจากขยะพลาสติก ด้วยเหตุนี้พันธกิจของ Greenpeace จึงไม่จำกัดอยู่แค่การส่งเสริมการความตระหนักรู้และการเปลี่ยนพฤติกรรมจากฝั่งผู้บริโภคเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับการเรียกร้องให้ภาคธุรกิจผู้ผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) ร่วมรับผิดชอบด้วย

ด้วยความร่วมมือของ Greenpeace กับองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติท้องถิ่น Protect Kaho‘olawe ‘Ohana และ Kaho‘olawe Island Reserve Commission จัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดและสำรวจ ‘Brand audits’[1] เพื่อระบุบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีส่วนกับขยะ ให้ต้องรับผิดชอบขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในบริเวณนี้

ภารกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ Greenpeace และพันธมิตร ได้ดำเนินการทำความสะอาดชายหาดและการตรวจสอบแบรนด์ใน 239 หาดใน  42 ประเทศ 6 ทวีป ซึ่งใช้อาสาสมัครทั้งสิ้นกว่า 10,000 คน รวบรวมขยะกว่า 187,851 ชิ้น

การสำรวจสามารถระบุแบรนด์ดังอย่างครบครันรวมถึง Unilever, PepsiCo, Procter & Gamble, Colgate-Palmolive และ Johnson & Johnson จากขยะบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ รวมถึง ขวดเครื่องดื่ม ฝาขวด แปรงสีฟัน ขวดสบู่และยาสระผม และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด รายงานของปี 2018 ระบุว่า Coca-Cola, PepsiCo และ Nestlé เป็นแบรนด์ที่พบบ่อยที่สุดจากขยะชายหาด รวมกันคิดเป็น 14% ของขยะพลาสติกที่ระบุผู้ผลิตได้

นอกจากขยะพลาสติกจากแบรนด์ดังแล้ว การสำรวจยังให้ข้อมูลสำคัญอีก 2 ประการ คือขยะพลาสติกนานาประเภทจากกิจกรรมประมงพาณิชย์ ทั้งเครื่องมือจับสัตว์น้ำหรือเครื่องมืออื่นๆ ที่ถูกทิ้งไว้กลางทะเลเป็นจำนวนมาก เช่น ลังพลาสติก ทุ่นลอย กับดักปลา อวน และพลาสติกจำนวนมากที่พบ เช่นที่ Kaho‘olawe เป็นไมโครพลาสติกที่ไม่สามารถเก็บกวาดได้โดยง่าย

 

ขยะพลาสติกที่ Kaho‘olawe  ที่มา: Greenpeace

 

ภารกิจทั้งที่ Great Pacific Garbage Patch และที่ Kaho‘olawe น่าจะเพียงพอที่จะเตือนใจทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจว่า “plastic can never really be thrown away”  พลาสติกไม่เคยหายไปไหน เรารู้ว่ามันกลายเป็นเศษเล็กเศษน้อยกลางมหาสมุทรหรือถูกชะล้างและปนเปื้อนบนชายหาดในสถานที่ต่างๆ เช่น ฮาวาย ถึงเวลาแล้วที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกต้องมีบทบาทยับยั้งหายนะจากขยะพลาสติกที่กำลังคุกคามทะเลของเราในปัจจุบัน

ในระยะหลัง ฮาวายเป็นรัฐที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ มีการบังคับใช้พลังงานหมุนเวียน และห้ามใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อปะการัง ตอนนี้ยังมีการยื่นร่างกฎหมายห้ามใช้ขวดเครื่องดื่ม ช้อน ส้อม ที่คนกาแฟ ถุงและหลอดที่ทำจากพลาสติก ทั้งในร้านอาหารจานด่วนและร้านอาหารแบบเต็มรูปแบบด้วย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของฮาวายจะทำให้เป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกาที่ห้ามใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งทั้งหมดภายในร้านอาหาร นับว่าเข้มงวดกว่าที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเป็นรัฐแรกที่ห้ามร้านอาหารที่มีพนักงานเสิร์ฟให้หลอดพลาสติกลูกค้าโดยที่ลูกค้าไม่ได้ขอ แม้แต่สมาคมอุตสาหกรรมอาหารฮาวายซึ่งมีร้านซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดของรัฐเป็นสมาชิก เคยคัดค้านการห้ามใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมในตอนแรก แต่ตอนนี้หันมาสนับสนุนมาตรการนี้แล้ว

นโยบายดังกล่าวน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับเมืองท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เช่นภูเก็ต เกาะสมุย หรือหัวหิน ในการนำนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัดมาใช้เพื่อปกป้องธรรมชาติในพื้นที่และลดค่าใช้จ่ายในการจัดการสิ่งแวดล้อม

 

[box]

กิจกรรมที่ผ่านมาของเรือ Arctic Sunrise 

  • ในปี 2013 รัฐบาลรัสเซียยึดเรือ Arctic Sunrise และนักเคลื่อนไหว 30 คน จากกรณีที่กรีนพีซประท้วงการขุดเจาะน้ำมันในเขตอาร์กติกโดย บริษัท Gazprom ของรัสเซีย
  • Arctic Sunrise เป็นเรือลำแรกที่แล่นเรือรอบเกาะเจมส์รอสในแอนตาร์กติก
  • Arctic Sunrise ได้ดำเนินการเพื่อหยุดความพยายามในกิจกรรมล่าปลาวาฬเพื่อการศึกษาของญี่ปุ่น
  • ไล่ล่าเรื่องประมงผิดกฎหมายในคองโกและอเมซอน
  • ทำการประเมินผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหลในเหตุการณ์ BP Deepwater Horizon ในอ่าวเม็กซิโก
  • ต้นปี 2018 Arctic Sunrise ดำเนินโครงการวิจัยในทวีปแอนตาร์กติกาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกในมหาสมุทรตอนใต้ [/box]

 

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

https://www.huffpost.com/entry/kamilo-beach-hawaii-dirtiest-beach-america_n_58e99a38e4b05413bfe3792d

https://www.thisisinsider.com/dirtiest-polluted-beaches-2018-6

https://www.greenpeace.org/usa/news/historic-greenpeace-ship-the-arctic-sunrise-arrives-in-honolulu/

https://www.fisheries.noaa.gov/pacific-islands/marine-debris-research-and-removal-northwestern-hawaiian-islands#what-marine-debris-do-we-find?

https://www.breakfreefromplastic.org/globalbrandauditreport2018/

https://response.restoration.noaa.gov/about/media/where-are-pacific-garbage-patches.html

 

เชิงอรรถ

[1] Brand audits หมายถึง การระบุชื่อ นับจำนวน และบันทึกข้อมูลแบรนด์ที่พบบนพลาสติกและขยะบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เพื่อช่วยระบุบริษัทที่ควรรับผิดชอบต่อมลภาวะจากพลาสติกที่เกิดขึ้น

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save