fbpx

อาร์กติก 2030: พื้นที่แห่งความร่วมมือ ความขัดแย้ง และโอกาสแห่งอนาคต

‘ภูมิภาคอาร์กติก’ ถูกแปรสภาพไปสู่การเป็นสมรภูมิแห่งใหม่ของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เมื่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย พื้นที่ที่เคยถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งกลายเป็นแผ่นดินที่ ‘รัฐอาร์กติก’ แข่งกันอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดน เส้นทางการค้าทางทะเลและขนส่งสินค้าใหม่ผ่านทางมหาสมุทรอาร์กติกเริ่มปรากฏขึ้น เช่นเดียวกับทรัพยากรธรรมชาติ อย่าง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุต่างๆ ทั่วภูมิภาค

ในบทความตอนแรก ผู้เขียนได้ฉายให้เห็นถึงพัฒนาการและภาพกว้างของภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอาร์กติกจากยุคแรกเริ่มการสำรวจจนถึงยุคปัจจุบัน ในตอนที่สองนี้ ผู้เขียนจะเจาะลึกในประเด็นต่างๆ ที่ขับเคลื่อนพลวัตการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอาร์กติกปัจจุบัน และเป็นปัจจัยกำหนดอนาคตของภูมิภาคอาร์กติกเช่นกัน

โอกาสทางการเมืองและเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยดึงดูดให้ตัวแสดงอื่นๆ นอกภูมิภาค (non-Arctic actors) เช่น ประเทศจีน อินเดีย สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหภาพยุโรป เข้ามาสร้างสัมพันธ์และหรือทำให้ความสัมพันธ์กับรัฐอาร์กติกทั้ง 8 ประเทศให้แน่นแฟ้นมากขึ้น เพื่อหาลู่ทางในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคอาร์กติก ตลอดทั้งบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติของตนเอง มากไปกว่านั้น ตัวแสดงนอกภูมิภาคยังอ้างความเกี่ยวโยงระหว่างสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในภูมิภาคอาร์กติกกับความมั่นคงของประเทศตนเองเพื่อสร้างความชอบธรรมในการสานสัมพันธ์กับรัฐอาร์กติก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ สิงคโปร์ที่อ้างว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอาร์กติกเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของประเทศในระยะยาว ซึ่งผลักให้สิงคโปร์ต้องเข้าสานสัมพันธ์กับรัฐอาร์กติกเพื่อร่วมหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ สามารถกล่าวได้ว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 21 สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในภูมิภาคอาร์กติกซึ่งดึงดูดตัวแสดงนอกภูมิภาคเข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศอาร์กติกทั้ง 8 ประเทศและกอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรในภูมิภาคเริ่มท้าทาย ‘เอกลักษณ์ของภูมิภาคอาร์กติก’ (Arctic exceptionalism) หรือสภาวะสันติภายในภูมิภาคหลังสงครามเย็นสิ้นสุด และทำให้การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอาร์กติกเข้มข้นขึ้นโดยภาพรวม

การเข้ามาปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาคอาร์กติกของตัวแสดงนอกภูมิภาคเหล่านี้ โดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างจีนซึ่งตั้งตัวเป็น ‘รัฐที่อยู่ใกล้อาร์กติก’ (near-Arctic state) ทำให้ฉากทัศน์ของการแข่งขันทางอำนาจในภูมิภาคอาร์กติกพัฒนาจากการแข่งขันระหว่างสองขั้วอำนาจสหรัฐฯ กับรัสเซีย (อดีตสหภาพโซเวียต) ในครั้งสงครามเย็นเป็นสภาวะสามขั้วอำนาจอันประกอบด้วย สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน ซึ่งรวมเรียกความสัมพันธ์นี้ว่า ‘สามเหลี่ยมยุทธศาสตร์’ (strategic triangle) การแปรเปลี่ยนของดุลอำนาจในภูมิภาคทำให้ประชาคมระหว่างประเทศกังวลว่า การแข่งขันระหว่างสามขั้วอำนาจดังกล่าวจะก่อให้เกิดความตึงเครียดและบั่นทอนเสถียรภาพภายในภูมิภาคอาร์กติกในอนาคต

เมื่อพิจารณาภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอาร์กติกในระดับที่ย่อยลงมา วาระหรือประเด็นในภูมิภาคที่ขับเคลื่อนอยู่ภายใต้ฉากทัศน์ภูมิรัฐศาสตร์ของอาร์กติกนี้แบ่งได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย (1) การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) การสำรวจและขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติ และ (3) การพัฒนาเส้นทางการค้าการเดินเรือทางทะเลในภูมิภาคอาร์กติก ตามลำดับ

การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน: พื้นที่แห่งความร่วมมือเพื่ออาร์กติกที่ยั่งยืน

แม้ประเด็นการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะกลายมาเป็นเหตุผลในการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวแสดงต่างๆ นอกภูมิภาคเข้ามาขยายอิทธิพลในอาร์กติกมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นนี้ก็เปิดโอกาสให้ตัวแสดงทั้งในและนอกภูมิภาคร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นคงร่วมกันและก่อให้เกิดเสถียรภาพในภูมิภาคอาร์กติก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบั่นทอนระบบนิเวศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศอาร์กติก โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบางอย่างชาวพื้นถิ่นอย่างรุนแรง ผลกระทบที่เห็นได้ชัด เช่น ภาวะขาดแคลนน้ำสะอาดซึ่งมีสาเหตุมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล เช่นเดียวกับการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ยากขึ้นของชาวพื้นถิ่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้แหล่งอาหารของชาวพื้นถิ่นบางแหล่งถูกทำลาย เป็นต้น ทั้งสองผลกระทบทำให้กลุ่มเปราะบางในประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงในระยะยาว

นอกจากนี้ ประเทศนอกภูมิภาคต่างก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอาร์กติก เช่นกัน จะเห็นได้ว่างานวิจัยของ Zhang et al. (2006) ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็งในสี่พื้นที่ในมหาสมุทรอาร์กติก และพบว่าการละลายของน้ำแข็งในพื้นที่ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความรุนแรงและความถี่ของพายุทรายทางตอนเหนือของจีน เช่นเดียวกับทความวิจัยของ Chuffart et al. (2021) ที่ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในภูมิภาคอาร์กติกเป็นสาเหตุของการพังทลายและน้ำท่วมชายฝั่งทะเลของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป รวมทั้งสิงคโปร์ยังกล่าวว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็งในภูมิภาคอาร์กติกเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของประเทศในระยะยาว

ด้วยเหตุนี้ ประเทศอาร์กติกและประเทศนอกภูมิภาคจึงร่วมมือกันเพื่อบรรเทาและป้องกันการเกิดขึ้นของผลกระทบดังกล่าวผ่านกลไกพหุภาคีในภูมิภาคอย่างสภาอาร์กติก (Arctic Council) ส่งเสริมการร่วมมือกันในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคอาร์กติก (Polar research) ตลอดจนผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค ดังจะเห็นได้ว่า สถานีวิจัยอาร์กติก (Arctic research station) ถูกตั้งกระจายอยู่ในหลายประเทศอาร์กติกเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพัฒนาแนวทางการชะลอผลกระทบ ซึ่งหนึ่งในสถานีวิจัยที่สำคัญ คือสถานีวิจัยอาร์กติกที่ตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างประเทศนอร์เวย์และจีนผ่านสนธิสัญญา Svalbard ในปี 1925 เป็นต้น

นอกจากนี้ ความพยายามที่จะบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังปรากฏในรูปของปฏิบัติการวิจัยทางทะเลและการตั้งเครือข่ายหรือกองทุนเพื่อสนับสนุนงบประมาณการวิจัยสภาพภูมิอากาศในอาร์กติก กรณีแรกสามารถเห็นได้จากการปฏิบัติการวิจัยทางทะเลร่วมกันระหว่างจีนกับรัสเซีย (joint expedition) เหนือน่านน้ำในมหาสมุทรอาร์กติกในไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยที่จีนเองก็มีประวัติของการปฏิบัติการวิจัยทางทะเลในอาร์กติกมาอย่างยาวนานผ่านการใช้เรือตัดน้ำแข็ง (icebreaker) ชื่อว่า Xuelong-1 และ Xuelong-2 ของตนเอง ในขณะที่กรณีที่สองเห็นได้จากสหภาพยุโรปริเริ่มก่อตั้งเครือข่าย PolarNet-1 และ PolarNet-2 เพื่อสนับสนุนงบประมาณให้กับการวิจัยทางสภาพภูมิอากาศในอาร์กติก

เรือตัดน้ำแข็ง Xuelong-1 ของประเทศจีน | ภาพโดย Bahnfrend
เรือตัดน้ำแข็ง Xuelong-1 ของประเทศจีน | ภาพโดย Timo Palo

มากไปกว่านั้น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ ในอาร์กติก กล่าวคือ การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกทำให้ผืนดินที่เคยปกคลุมด้วยน้ำแข็งกลายเป็นแผ่นดินแห่งใหม่เช่นเดียวกับแผ่นดินในทะเล อาทิ บริเวณไหล่ทวีป (continental shelf) เป็นต้น ข้อพิพาททางดินแดนในภูมิภาคอาร์กติกที่สำคัญ ได้แก่ ข้อพิพาทการอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตทางทะเลในทะเลแบเรนส์ระหว่างประเทศนอร์เวย์และรัสเซีย ข้อพิพาทการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะฮันส์ระหว่างประเทศนอร์เวย์และเกาะกรีนแลนด์ และข้อพิพาทการจำกัดความยาวของพื้นที่ไหล่ทวีประหว่างประเทศแคนาดา นอร์เวย์ และรัสเซีย แม้ข้อพิพาทแรกจะได้รับการแก้ไขแล้ว ทว่าข้อพิพาทที่ตามมาทั้งสองยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ดังเช่น การที่ประเทศรัสเซีย แคนาดา และนอร์เวย์ต่างยังยื่นคำร้องให้กรรมาธิการขอบเขตไหล่ทวีป (Commission on the Limits of the Continental Shelf) ซึ่งอยู่ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982 เป็นผู้ตัดสินข้อพิพาท เป็นต้น

จากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นประเด็นหลักที่ขับเคลื่อนอยู่ภายใต้การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคอาร์กติก และจะเป็นประเด็นหลักในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอาร์กติกต่อไปในอนาคต เนื่องด้วยความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี

ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในอาร์กติก: ตัวเร่งการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค

ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุที่มีความจำเป็นในการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว เช่น กลุ่มแร่หายาก (rare earth) และไฮโดรคาร์บอน (hydrocarbon) ถือเป็นปัจจัยดึงดูดให้นานาประเทศเข้ามาลงทุนและกอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรในภูมิภาคอาร์กติกตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แบบสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (U.S. Geological Survey: USGS) ปี 2008 คาดการณ์ว่า ภูมิภาคอาร์กติกอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันมากถึง 90 พันล้านบาร์เรล อีกทั้งยังมีจำนวนก๊าซธรรมชาติแบบเหลวมากถึง 44 พันล้านบาร์เรล ตลอดทั้งยังประเมินว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคอาร์กติกนี้อาจมีมากถึงหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับรวมทรัพยากรอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกค้นพบในภูมิภาคด้วย เพื่อประกันการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่กระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ในอาร์กติก นานาประเทศเหล่านี้ใช้วิธีการสานและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มประเทศอาร์กติกทั้ง 8 ประเทศ ตลอดจนทำสัญญาเพื่อส่งออกทรัพยากรธรรมชาติมาที่ประเทศของตนเอง

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศจีน นับตั้งแต่จีนได้สถานะผู้สังเกตการณ์ (Observer status) จากสภาอาร์กติกในปี 2013 แล้ว จีนเริ่มกระจายการลงทุนของตนเองทั้งในการสำรวจและพัฒนาทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ทองแดง เหล็ก และกลุ่มแร่หายากที่มีอยู่ทางตอนใต้ของเกาะกรีนแลนด์ ดังจะเห็นได้ว่า จีนกับรัสเซียผสานความร่วมมือผ่าน Novatek บริษัทด้านพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย และ China National Petroleum Corporation (CNPC) บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน เพื่อพัฒนาโครงการก๊าซธรรมชาติ Yamal-LNG project ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Sabetta บนคาบสมุทรยามาล (Yamal peninsula) ประเทศรัสเซีย มีการคาดการณ์ว่า โครงการนี้จะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งออกได้กว่า 20 ล้านเมตริกตันต่อปี (metric tonnes) ซึ่งจีนก็เป็นหนึ่งในปลายทางหลักของการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียนี้ ดังเช่นในปี 2017 ที่รัสเซียส่งออกก๊าซธรรมชาติไปให้จีนในปริมาณกว่า 6 ล้านเมริกตัน โดยใช้เส้นทางการส่งสินค้าผ่านมหาสมุทรอาร์กติก เป็นต้น นอกจากนี้ ตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมา จีนเข้าสานสัมพันธ์กับกรีนแลนด์และ ในปี 2016 หนึ่งในบริษัทเอกชนผู้ผลิตกลุ่มแร่หายากรายใหญ่ของจีนอย่าง ShengHe Resources Co. Ltd. ลงนามในความตกลงกับบริษัทด้านพลังงานของกรีนแลนด์ Greenland Minerals Ltd. เพื่อร่วมกันพัฒนาเหมืองกลุ่มแร่หายากที่เมือง Kvanefjeld หรือ Kuannersuit ทางตอนใต้ของเกาะกรีนแลนด์ การจดทะเบียนร่วมกันนี้ทำให้จีนได้หลักประกันในการสกัดกลุ่มแร่หายากและควบคุมการส่งออกกลุ่มแร่หายากจากเหมืองดังกล่าว

ทั้งสองกรณีข้างต้นทำให้สหรัฐฯ รัฐสมาชิกในสหภาพยุโรป และประเทศนอกภูมิภาคอื่นๆ ต่างพยายามตอบโต้การประกันการเข้าถึงทรัพยากรและถ่วงดุลความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซียในโครงการดังกล่าว อาทิ การที่สหภาพยุโรปพยายามให้รัฐบาลเดนมาร์กเข้าไปมีส่วนร่วมในการโน้มน้าวรัฐบาลของกรีนแลนด์มากขึ้นเพื่อยับยั้งการลงทุนของจีนในโครงการเหมืองกลุ่มแร่หายากในกรีนแลนด์ เนื่องด้วยเหตุผลหลักคือ สหภาพยุโรปพึ่งพาการนำเข้ากลุ่มแร่หายากจากจีนเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น สหภาพยุโรปจึงวิตกว่าจีนอาจใช้การพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานกลุ่มแร่เหล่านี้เพื่อเป็นอาวุธ (weaponization) ตอบโต้สหภาพยุโรปในข้อพิพาทที่สหภาพยุโรปมีส่วนร่วมซึ่งจีนเคยกระทำการดังกล่าวมาแล้วกับญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ในความขัดแย้งเหนือเกาะเซงคะคุ หรือที่จีนเรียกว่าเตียวหยูในทะเลจีนตะวันออก (East China Sea)

กรณีของจีนที่กล่าวไปเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่แฝงอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคอาร์กติกเท่านั้น ทว่ายังมีกรณีความขัดแย้งอื่นๆ ที่สั่นคลอนเสถียรภาพของภูมิภาคอาร์กติกเช่นกัน อาทิ การแย่งชิงทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วมหาสมุทรอาร์กติก เช่น ทะเลแบริง ทะเลแบเรนส์ และทะเลแอตแลนติกเหนือ ตลอดจนปัญหาการแบ่งเขตการประมงที่ทับซ้อนกัน เป็นต้น ซึ่งนักวิชาการที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคอาร์กติกหลายท่านชี้ว่า ความขัดแย้งดังกล่าวมีแนวโน้มอย่างมากที่จะยกระดับไปเป็นความขัดแย้งในระดับภูมิภาคได้มากกว่าความขัดแย้งด้านการทหารที่ประชาคมโลกวิตก Evans and Østhagen (2021) ขยายความประเด็นนี้โดยชี้ว่า อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้สัตว์น้ำอพยพเข้ามากระจายทั่วพื้นที่ของมหาสมุทรอาร์กติก

อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของจำนวนปลาในมหาสมุทรอาร์กติกนี้กลายมาเป็นชนวนของความขัดแย้งระหว่างรัฐอาร์กติกทั้ง 8 ประเทศ ตัวอย่างที่สำคัญคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียในประเด็นการประมงทับซ้อนในทะเลแบริง และข้อพิพาทระหว่างนอร์เวย์กับไอซ์แลนด์เรื่องการกำหนดโควตาการจับปลาแมคเคอเรลในทะเลเหนือและทะเลแอตแลนติกเหนือ ซึ่งข้อพิพาททั้งสองนี้ยังคงเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน

เส้นทางการค้าการเดินเรือผ่านมหาสมุทรอาร์กติก: พื้นที่แห่งโอกาสและความขัดแย้งในอนาคต

เส้นทางการเดินเรือและขนส่งสินค้าทางทะเลแห่งใหม่ผ่านมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งเป็นพลพวงจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกนั้นกลายมาเป็นทางเลือกใหม่ของนานาประเทศเพื่อย่นระยะเวลาการส่งสินค้าจากทวีปยุโรปไปทวีปเอเชีย ลดต้นทุนของการส่งสินค้า รวมทั้งที่สำคัญที่สุดคือ ลดการพึ่งพาการส่งสินค้าผ่านเส้นทางช่องแคบมะละกาและคลองสุเอซ แน่นอนว่า เส้นทางการส่งสินค้าใหม่นี้กลายมาเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของแต่ละประเทศ เช่น การพัฒนาเส้นทางเดินเรือผ่านมหาสมุทรอาร์กติกสร้างโอกาสให้จีนลดการพึ่งพิงการขนส่งน้ำมันจากภูมิภาคตะวันออกกลางผ่านเส้นทางช่องแคบมะละกาซึ่งมีกองเรือลาดตระเวนของสหรัฐฯ ประจำการอยู่ ในขณะเดียวกัน การพัฒนาเส้นทางเหล่านี้กลับสร้างข้อจำกัดแก่สิงคโปร์ซึ่งสร้างรายได้หลักของประเทศมาจากผลกำไรที่ได้จากเรือขนส่งสินค้าที่เดินทางผ่านเส้นทางช่องแคบมะละกา เป็นต้น

เส้นทางการเดินเรือและขนส่งสินค้าใหม่ที่ปรากฏขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกแบ่งออกเป็น 3 เส้นทาง ซึ่งทุกเส้นทางผ่านมหาสมุทรอาร์กติก ได้แก่ เส้นทางตะวันตกเฉียงเหนือ (North-West Passage) เส้นทางทะเลทรานส์โพลาร์ (Transpolar Sea Route) และเส้นทางทะเลเหนือ (Northern Sea Route: NSR) ทว่าสองเส้นทางแรกยังคงต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย เช่น สภาพอากาศที่แปรปรวน และความเสี่ยงจากภูเขาน้ำแข็ง ส่งผลให้เส้นทางที่สามารถเดินเรือได้มีเพียงเส้นทางทะเลเหนือเท่านั้น โดยเส้นทางทะเลเหนือนีกินอาณาเขตตั้งแต่ทะเลแบรนส์โดยเลาะไปตามชายฝั่งตอนเหนือของประเทศรัสเซียไปถึงช่องแคบแบริงซึ่งจะเชื่อมออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นเส้นทางนี้จึงเชื่อมระหว่างทวีปเอเชียและทวีปยุโรปเข้าด้วยกัน มากไปกว่านั้น งานวิจัยของ Sur and Kim (2020) ชี้ให้เห็นว่า เส้นทางทะเลเหนือนี้ช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้าจากยุโรปเหนือไปยังทวีปเอเชีย ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ตลอดทั้งเพิ่มปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างทวีปเอเชียและยุโรปด้วย นอกจากนี้ บทความวิจัยของ Biedermann (2021) ประเมินไว้เช่นกันว่า การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางนี้จะช่วยประหยัดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงและระยะเวลาได้กว่าร้อยละ 40

เส้นทางการเดินเรือในมหาสมุทรอาร์กติก | ภาพจาก The Arctic Institute

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอาร์กติกหรือประเทศนอกภูมิภาคต่างแสดงความสนใจในการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางนี้ ดังจะเห็นได้ว่าตลอดสิบปีที่ผ่านมา ปริมาณของเรือขนส่งสินค้าที่เดินทางผ่านเส้นทางนี้เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า และคาดการณ์ว่าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่ถูกขนส่งผ่านเส้นทางนี้จะมีปริมาณกว่า 40 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 โดยประเทศที่เป็นหัวหอกหลักในการผลักดันเส้นทางทะเลเหนือนอกจากรัสเซีย คือ จีน โดยจีนออกแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจอาร์กติก (Arctic Blue Economic Corridor: ABEC) เพื่อแสดงความตั้งใจที่จะพัฒนาเส้นทางทะเลเหนือและเส้นทางอื่น ๆ ผ่านมหาสมุทรอาร์กติกในอนาคต

มากไปกว่านั้น แผน ABEC นี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เส้นทางสายไหมขั้วโลก’ (Polar Silk Road) และเป็นหนึ่งในเสาหลักของ Arctic Policy white paper ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนในภูมิภาคอาร์กติกซึ่งเผยแพร่ออกมาในปี 2018 ตัวอย่างโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการคือ โครงการสร้างท่าเรือที่เมือง Kirkenes ประเทศนอร์เวย์ รวมถึงเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างเมือง Kirkenes และเมือง Rovaniemi ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเงินทุนที่มาสนับสนุนโครงการทั้งสองโครงการมาจาก China Ocean Shipping Company (COSCO) ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจด้านการขนส่งทางทะเลของจีน นอกจากนี้ สหภาพยุโรปก็ประกาศแผนที่จะให้งบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของสองโครงการนี้ด้วยเช่นกันผ่านกลไก Interreg Northern Periphery and Arctic (NPA) ที่เพิ่งริเริ่มขึ้นในปี 2021

ในอีกด้านหนึ่ง การเติบโตขึ้นของเส้นทางทะเลเหนือกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อประเทศที่พึ่งพิงรายได้จากเรือขนส่งสินค้าในเส้นทางเดิมอย่างเส้นทางช่องแคบมะละกา ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สิงคโปร์ เนื่องด้วยสิงคโปร์เป็นประเทศที่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขึ้นอยู่กับปริมาณการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา เพราะฉะนั้น ข้อดีของเส้นทางทะเลเหนือที่ทำให้การส่งสินค้าข้ามทวีปเอเชียและยุโรปมีระยะเวลาสั้นลง และต้นทุนการขนส่งก็น้อยลง อาจทำให้ประเทศต่างๆ เลือกที่จะหันไปใช้เส้นทางการเดินเรือผ่านทะเลเหนือมากขึ้น ทำให้ผลกำไรที่สิงคโปร์ได้จากเรือขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาลดลง ด้วยเหตุนี้ สิงคโปร์จึงเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในสภาอาร์กติก และพยายามเข้าร่วมการประชุมระหว่างรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเส้นทางทะเลเหนือทุกการประชุม ซึ่งล่าสุดในปี 2021 สิงคโปร์ก็ได้หารือกับรัสเซียเพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกับรัสเซียในการพัฒนาเส้นทางทะเลเหนือนี้ ด้วยการพัฒนาเส้นทางทะเลเหนือเป็นโครงการในระยะยาว สิงคโปร์ก็จะยังคงบทบาทของตนเองในการเฝ้าติดตามและสอดส่องการดำเนินงานต่างๆ ของโครงการนี้ต่อในอีกทศวรรษข้างหน้า

อย่างไรก็ดี การพัฒนาเส้นทางทะเลเหนือยังเผชิญข้อจำกัดหลายประการ นักวิชาการหลายท่านประเมินว่า ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จากการใช้งานเส้นทางทะเลเหนือได้ รวมถึงแม้ว่าปริมาณการเดินเรือผ่านเส้นทางนี้จะเพิ่มขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเดินเรือผ่านเส้นทางนี้ยังมีอุปสรรคหลายประการ อาทิ สภาพอากาศแปรปรวน ภูเขาน้ำแข็งและน้ำแข็งทะเล (sea ice) ที่ยังคงกระจายตัวอยู่แถบขั้วโลก มากไปกว่านั้น ภายหลังรัสเซียประกาศสงครามกับยูเครนในปี 2022 ซึ่งนำมาสู่การคว่ำบาตร (sanctions) รัสเซียโดยประชาคมระหว่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทต่างชาติถอนทุนสนับสนุนจำนวนมากออกจากโครงการการพัฒนาเส้นทางทะเลเหนือ หรือแม้แต่บริษัทขนส่งทางทะเลรายใหญ่ของจีน อย่าง COSCO ยังไม่ส่งเรือเดินสินค้าผ่านทางเส้นนี้ภายหลังจากการปะทุขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครนดังกล่าว เรือที่เดินทางผ่านเส้นทางนี้มีเพียงเรือลำเลียงแก๊สธรรมชาติของโครงการ Yamal LNG เพียงเท่านั้น นั่นทำให้รัสเซียเป็นเพียงหัวหอกหลักสำคัญของการพัฒนาเส้นทางนี้ในปัจจุบัน ซึ่งในเดือนสิงหาคม ปี 2022 รัสเซียก็ประกาศแผนสนับสนุนโครงการฉบับใหม่ โดยมุ่งสนับสนุนงบประมาณกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2035 เพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึก (deep sea port) เรือตัดน้ำแข็ง และเรือขนส่งสินค้า เป็นต้น

เหตุผลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาเส้นทางทะเลเหนือขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายระดับ โดยเฉพาะการสนับสนุนทุนจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งการให้เงินสนับสนุนเหล่านี้ก็ยังอิงกับพฤติกรรมของรัสเซียในเวทีการเมืองโลก ในอีกด้านหนึ่ง โครงการพัฒนาเส้นทางทะเลเหนืออาจใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสามารถดึงดูดประชาคมระหว่างประเทศให้หันเหเส้นทางการเดินเรือจากเส้นทางมะละกา-คลองสุเอซมาเป็นเส้นทางทะเลเหนือ จนกล่าวได้ว่า เส้นทางการเดินเรือสายนี้อาจยังไม่สามารถสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเดินเรือของโลกได้ในอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้าเนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆ ข้างต้น

กล่าวโดยสรุป ภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง ภูมิภาคอาร์กติกได้แปรสภาพมาเป็นสมรภูมิการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเต็มตัว เนื่องด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งเปิดโอกาสให้ตัวแสดงนอกภูมิภาคเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับประเทศอาร์กติก 8 ประเทศมากขึ้น โดยความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงทั้งในและนอกภูมิภาคอาร์กติกต่างถูกขับเคลื่อนด้วยสามประเด็นหลักดังที่นำเสนอไป นอกจากที่ประเด็นเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ส่งอิทธิพลต่อการแข่งขันระหว่างสามขั้วอำนาจ สหรัฐฯ จีน และรัสเซียแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่จะกำหนดอนาคตของภูมิภาคอาร์กติกในหนึ่งทศวรรษข้างหน้าด้วย ท้ายที่สุด ฉากทัศน์ของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอาร์กติกในอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save