fbpx
สถาปัตย์ฯ ต้องรอด! : “สถาปัตยกรรมศาสตร์ ต้องไม่แยกขาดจากสังคม” ต้นข้าว ปาณินท์

สถาปัตย์ฯ ต้องรอด! : “สถาปัตยกรรมศาสตร์ ต้องไม่แยกขาดจากสังคม” ต้นข้าว ปาณินท์

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์, กมลวรรณ ลาภบุญอุดม ภาพประกอบ

 

ถ้าจะมีสิ่งประดิษฐ์สักอย่างที่อยู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนานที่สุดอย่างหนึ่ง สิ่งนั้นน่าจะเป็น ‘ที่อยู่อาศัย’

มนุษย์เคยอยู่ในถ้ำ ปลูกเพิง ใช้ไม้และหญ้ามาเป็นที่กันแดดกันฝน จนถึงวันที่มนุษย์สร้างอาคารสูงเสียดฟ้าจนคนบนนั้นสบตากับดวงจันทร์ได้ใกล้ชิด – เราคุ้นชินกับอาคารบ้านเรือนที่อยู่รอบตัว จนบางครั้งก็เผลอลืมไปว่าสถาปัตยกรรมศาสตร์ คือศาสตร์วิชาที่หล่อเลี้ยงความเป็นไปเหล่านี้มาอย่างยาวนาน

ก็เหมือนกับทุกศาสตร์ สถาปัตยกรรมมีการผลัดใบองค์ความรู้เรื่อยมาตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เวลาหลายพันปีตั้งแต่มนุษย์รู้จักการออกแบบที่อยู่อาศัยจนถึงวันนี้ ก็มีหลายคำถามว่าหรือบางทีเราอาจมาถึงทางตัน เมื่อคอมพิวเตอร์สามารถวาดแบบบ้านออกมาได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย โดยที่มนุษย์แทบไม่ต้องทำอะไรเลย

การเรียนสถาปัตย์ฯ ในมหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่ไหม? คือหนึ่งในคำถามที่ท้าทายในโลกยุคปัจจุบัน เพราะในโลกที่ข้อมูลความรู้มหาศาลลอยอยู่ในอินเทอร์เน็ต และการพัฒนาตัวเองก็ทำได้โดยการลงมือทำงานจริง แล้วการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยยังตอบโจทย์อะไรอยู่บ้าง

101 ชวน รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เคยมีผลงานด้านการออกแบบ งานวิชาการ และงานแปลเกี่ยวกับทฤษฎีสถาปัตยกรรม ที่มองสถาปัตยกรรมในสายตาวิพากษ์ ทั้งยังสนใจเรื่องการเชื่อมโยงสถาปัตยกรรมเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ในห้องที่เปิดหน้าต่างให้ลมไหลผ่านทั้งสองด้าน และเงาสีเขียวของต้นไม้ทอดลงมากระทบหางตา เราคุยกันด้วยเรื่องความเป็นมา ความเป็นไป และความอยู่รอดของสถาปัตยกรรมศาสตร์

อะไรคือหัวใจของสถาปัตยกรรมศาสตร์ อะไรคือฝีมือของสถาปนิก และศาสตร์นี้ต้องเปลี่ยนตัวเองอย่างไรในทะเลความเปลี่ยนแปลงที่คลื่นลมแรงเช่นนี้

 

 

ภาพรวมการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยไทย เป็นอย่างไรบ้างในปัจจุบัน

ยังมีพื้นฐานความคิดอยู่บนจุดเริ่มต้นเดิม แน่นอนการเรียนการสอนทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป แต่การเรียนการสอนสถาปัตยกรรมในเมืองไทยย่อมต่างจากที่อื่น ต้องย้อนไปก่อนว่า ยุคแรกๆ ที่มีวิชาชีพสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นในประเทศไทยก็เป็นสถาปนิกต่างชาติที่มาทำงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกเยอรมัน สถาปนิกอิตาเลียน เรายังไม่มีโรงเรียนสถาปัตยกรรม หลังจากนั้น พอเราจำเป็นจะต้องถ่ายทอดศาสตร์เหล่านั้นและต้องผลิตสถาปนิกในประเทศไทย เราจึงจำเป็นต้องมีโรงเรียนและมีการศึกษาสถาปัตยกรรมอย่างเป็นระบบ

แต่แน่นอนว่า เมืองไทยมีงานสถาปัตยกรรม มีช่างผู้ชำนาญการมาช้านานแล้ว งานสถาปัตยกรรมไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ สร้างสรรค์โดยช่างที่มีความรู้ความชำนาญในการปฏิบัติ ซึ่งก็ทั้งเหมือนและต่างจากสถาปนิกที่ผ่านการเรียนอย่างเป็นระบบ เพราะโรงเรียนสถาปัตยกรรมที่สอนในหลายๆ ด้าน ทั้งประวัติศาสตร์ ปรัชญา สังคมวัฒนธรรม มีส่วนทำให้สถาปนิกต่างจากช่าง สถาปนิกจึงเป็นผู้โยงความสัมพันธ์ระหว่างงานสถาปัตยกรรมกับสังคมวัฒนธรรมรอบตัว แต่จะบอกว่าช่างไม่ได้มองรอบตัวก็ไม่ใช่ คือช่างจะมีความสามารถเฉพาะทางในการลงมือทำจริงมากกว่า เราจึงจำเป็นต้องมีโรงเรียนสถาปัตยกรรม เพื่อผลิตสถาปนิกขึ้นมาทำงานร่วมกับช่างฝีมือที่เรามี

หลักสูตรสถาปัตยกรรมที่เรามีในยุคแรกจึงเน้นให้ผู้เรียนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นในการเรียน 5 ปี ก็จะเน้น know how คือทำอย่างไร ทำให้เป็น เพราะสถาปนิกต้องทำหลายอย่าง ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ของงานกับสังคมวัฒนธรรม ต้องร่วมงานกับผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร ศิลปิน รวมทั้งเจ้าของงานทุกงาน การเรียน 5 ปี จึงเน้นทั้งการรู้รอบด้าน และการทำให้เป็น

ดังนั้นการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมในเมืองไทย ในยุคแรกจึงจำเป็นต้องเน้นการทำให้เป็นจริงๆ ซึ่งมีประโยชน์ในแบบที่จับต้องได้ชัดเจน แต่ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ที่หลายๆ โรงเรียนเน้นระบบความคิดมากขึ้น เราก็ยังจำเป็นต้องทำเป็นอยู่ ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เชิงทฤษฎีกับความรู้เชิงปฏิบัติจึงสำคัญมาทุกยุคทุกสมัย โรงเรียนต้องสอนให้รู้เหตุผลว่าการที่เราจะออกแบบบ้านขึ้นมาหลังหนึ่ง ทำไมห้องจึงมีลักษณะแบบนี้ สอนให้เข้าใจพื้นฐานของสัญชาตญาณคน สอนให้เข้าใจพื้นฐานความสัมพันธ์ของคนกับระบบสังคมว่าแต่ละสังคมต้องการสถาปัตยกรรมไม่เหมือนกัน

แต่เวลาก็น้อยมากสำหรับการเรียน เพราะในช่วง 5 ปี เราเรียนวิธีการทำงานตั้งแต่อาคารขนาดเล็ก ไปจนถึงอาคารขนาดใหญ่ รวมถึงชุมชนเมือง ก็หมดเวลาแล้ว จึงยากมากที่โรงเรียนสถาปัตยกรรมจะสอนให้เก่งทั้งทฤษฎี วิธีคิด และปฏิบัติเท่าๆ กัน ระบบการเรียนการสอนในเมืองไทยจึงมักเน้นปฏิบัติ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี ทำให้สถาปนิกไทยมีความสามารถเชิงทักษะสูง แต่เราอาจจะไม่เน้นทฤษฎีมากเท่าหลายๆ โรงเรียนในต่างประเทศ สถาปนิกไทยก็จะฝึกฝนกันเอง ใครสนใจก็หาหนังสืออ่าน ต่อยอดไปตามที่ตัวเองสนใจ จนสร้างวิธีคิดของตัวเองขึ้นมา ลักษณะการเรียนการสอนแบบนี้ก็มีความคล้ายคลึงกับการเรียนการสอนในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย

 

วิธีคิดที่อาจารย์พูดถึงคืออะไร

คือความเข้าใจที่มาของงานออกแบบ เช่นถ้าเราเอาห้องในบ้านมาเรียงกันตามระบบที่เราเคยเห็น เรารู้มั้ยว่าทำไมบ้านต้องเป็นแบบนั้น แล้วมีแบบอื่นได้อย่างไรบ้าง ถ้าเราไม่รู้ว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น เราออกแบบมาทุกครั้งบ้านก็จะเป็นเหมือนที่เราเคยเห็น ยกตัวอย่างบ้านจัดสรร ทำไมมีแปลนหมือนๆ กัน ถ้าเราไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเหมือนกัน บางทีทางออกของเราก็จะเป็นไปในสองทางคือ เราก็ทำเหมือนที่เขาเคยทำมา หรือเราก็พยายามจะดิ้นออกไปจากรูปแบบเดิมที่คนอื่นทำมา โดยที่เราไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่

ดังนั้นวิธีคิดก็คือถ้าเราจะตอบโจทย์วิถีชีวิตคน เราจะตอบยังไง บ้านหลังนี้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกไม่เหมือนบ้านหลังอื่น เราควรออกแบบในทิศทางไหน พอเราไม่รู้ว่าจะตอบโจทย์ยังไง เราก็เอากรอบอื่นมาครอบลงบนสิ่งที่เรากำลังพยายามจะทำ คำถาม know how เราตอบได้ แต่ know why บางทีเราตอบไม่ได้ หรือเราไม่มีเวลาจะตอบว่าทำไปทำไม เช่น ทำไมเราต้องยกพื้นบ้านขึ้นมา หรือทำไมเราจึงเอาพื้นบ้านติดดิน เหตุผลของแต่ละสถานการณ์ไม่เหมือนกัน

 

พอเป็นแบบนี้ หลักสูตรควรจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

จริงๆ หลักสูตรในเมืองไทยปรับตัวมามากแล้วและยังปรับตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีหลัง เมื่อหลายสิบปีก่อน คณะสถาปัตย์ฯ มีอยู่ 3 ที่ คือ จุฬาฯ ศิลปากร ลาดกระบัง แต่ปัจจุบันมีคณะสถาปัตย์ฯ เพิ่มขึ้นมากมาย ดังนั้นหลักสูตรใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาก็ย่อมพยายามปรับตัวรับกับสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปมาก รวมทั้งหลักสูตรเดิมที่จุฬาฯ ศิลปากร ลาดกระบัง ก็พยายามปรับตัว เราเข้าใจว่าการแข่งขันมากขึ้น แล้วความต้องการก็เปลี่ยนไป หน้าที่ของสถาปนิกในสังคมก็เปลี่ยนไป หลักสูตรค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ

แต่ในทางปฏิบัติ จริงๆ แล้ว มีกฎเกณฑ์ของ สกอ. ว่าทุกหลักสูตรต้องปรับทุก 5 ปี ดังนั้นทุก 5 ปี เราก็จะต้องประเมินหลักสูตรอยู่แล้วว่าการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 1-5 ความสัมพันธ์เป็นยังไง 5 ปีผ่านไป โลกเปลี่ยนไปขนาดไหน เราต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดมากน้อยแค่ไหน จริงๆ ทุกหลักสูตรในประเทศก็ต้องทำเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะหลักสูตรสถาปัตยกรรมเท่านั้น

อีกอย่างหนึ่งคือ ปัจจุบันนี้อาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยตอนนี้ จำนวนมาก เป็นอาจารย์ที่เรียกได้ว่าอาจารย์รุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นเป็นเจเนอเรชันที่สัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่ได้ง่าย คืออาจารย์โตมากับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโลกพร้อมๆ กับเด็ก ดังนั้นเขาเข้าใจว่าหลักสูตรต้องเปลี่ยนแปลงหรือตอบโจทย์อย่างไร เด็กที่มาเรียนมองอาชีพสถาปนิกอย่างไร จบไปอยากทำอะไร พอมีการผสมของอาจารย์หลายๆ รุ่นในมหาวิทยาลัย ก็ช่วยเยอะมาก

 

 

ในหลายๆ วงการโดนผลกระทบจากการ disruption ของยุคสมัยหมดเลย แล้วในส่วนของสถาปัตยกรรมศาสตร์เองโดนด้วยไหม และได้รับผลกระทบด้านใดบ้าง

ไม่อยากใช้คำว่าดิสรัปต์เลย เพราะดิสรัปต์เหมือนอะไรที่เกิดขึ้นเร็ว แต่จริงๆ มันค่อยๆ เปลี่ยน 20 ปีที่ผ่านมา ในสมัยที่สถาปนิกไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ เราไม่สามารถจะ visualize อะไรภายในชั่วโมงเดียวได้ เราต้องวาดภาพ ต้องตัดโมเดล ใช้เวลาเยอะมาก แต่ปัจจุบันมีคอมพิวเตอร์เข้ามา มีส่วนทำให้การคิดงานเร็วขึ้นมาก แต่ก็ทำให้วิธีการคิดเปลี่ยนไปด้วย

วิธีการคิดจากคอมพิวเตอร์และวิธีการสเก็ตช์ต่างกันมาก เวลาสเก็ตช์ความคิดเราเป็นอิสระ คือเราจะขีดเส้นอะไรก็ได้ แต่ด้วยความที่สถาปัตยกรรมเป็นศาสตร์ที่มีความเป็นสามมิติมาก การจะสเก็ตช์ให้เป็นสามมิติต้องสเก็ตช์เก่ง ต้องเป็นคนที่สามารถ visualize สามมิติกับสองมิติที่ตัวเองสเก็ตช์ได้ ซึ่งในคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเป็นสามมิติเลย แต่คอมพิวเตอร์ก็มีกฎเกณฑ์คือไม่สามารถจะปั้นได้เหมือนที่ใจเราอยากให้เป็น สมมติเราจะปั้นฟอร์มที่ไม่มีรูปร่างเรขาคณิต คอมพิวเตอร์ก็ทำยาก

ดังนั้นข้อจำกัดของคอมพิวเตอร์ก็มีอยู่ บางทีคนที่ยังใช้ไม่เก่ง ทำให้ความคิดไม่เป็นอิสระเท่ากับทำด้วยมือเรา อันนี้คือข้อจำกัดของเด็กในยุคนี้ แต่ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็เปิดประตูทางความคิดหลายๆ อย่าง ทำให้รูปทรงที่เราไม่สามารถทำได้ในสมัยก่อน ทำได้ในปัจจุบัน

 

ในปัจจุบันมีแบบบ้านสำเร็จรูปจำนวนมาก และผู้คนก็นิยมสร้างบ้านตามแบบนั้น ปรากฏการณ์นี้ส่งผลต่ออาชีพสถาปนิกในปัจจุบันไหม

สถาปัตยกรรมมีหลายความต้องการ เหมือนเสื้อผ้า เรามีทั้งเสื้อผ้าแบบ tailor made คือเราไปหาช่างตัดเสื้อให้ตัดพอดีกับตัวเรา กับเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ตัดมา 5 ล้านตัว ก็มีความต้องการในสถานการณ์แตกต่างกัน ก็เหมือนกันที่ในบางสถานการณ์เราก็ยังต้องการสถาปนิก คือใช้สูตรสำเร็จไม่ได้

แน่นอนเรื่องราคามีผลมากในการตัดสินใจสร้างบ้านหลังหนึ่ง เมื่ออยากปลูกบ้าน ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกว่าสามารถวิ่งไปหาสถาปนิกได้ เพราะบางคนรู้สึกว่าการไปหาสถาปนิกน่ากลัว ฟุ่มเฟือย แล้วบางทีไม่รู้ว่าต้องจ่ายค่าออกแบบอีกเท่าไหร่ การที่เราเลือกบ้านสำเร็จรูป หรือซื้อบ้านจัดสรรมันรวดเร็ว แล้วไม่ต้องมีปัญหากับการที่ต้องสื่อสารกับสถาปนิกหรือต้องหาช่างมาสร้างเอง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็จะมีคนแยกเป็น 2 กลุ่ม คือคนที่พร้อมจะเดินไปตามกระบวนการนี้ คือมาคุยกับสถาปนิก แล้วก็ tailor made สร้างเป็นบ้านของตัวเองขึ้นมา กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่าเอื้อมไม่ถึง ก็เลยเกิดมีบ้านจัดสรร ขึ้นมา แต่จะบอกว่า ทั้งสองอย่างจำเป็นมั้ย ก็จำเป็นทั้งคู่สำหรับทุกสังคมวัฒนธรรม คือจะให้ทุกคนซื้อที่ ปลูกบ้าน เป็นไปไม่ได้แน่ๆ แต่จะบอกว่า คอนโดฯ ที่สร้างมาเยอะๆ ผิดมั้ย ก็ไม่ผิด เพราะตอบโจทย์แบบหนึ่ง แน่นอนทุกสังคมมีคนที่ต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองในราคาเข้าถึงได้

ของเหล่านี้มากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จากการที่เมื่อก่อนการสร้างบ้านต้องไปหาสถาปนิก หรือสร้างบ้านขึ้นมาเองโดยอาจจะไม่มีสถาปนิกก็ได้ แต่ว่าพอโลกเปลี่ยนไป ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 mass production ทำของได้เร็วขึ้นมาก เช่นผนังสำเร็จรูป ประตู หน้าต่าง มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว โลกเปลี่ยนไป ก็ทำให้ศาสตร์ของสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไปด้วย

 

 

เราพูดได้มั้ยว่า คนที่มีเงินน้อยอาจจะไม่สามารถเข้าถึงความงามของสถาปัตยกรรมได้ หรือไม่สามารถเข้าถึงบ้านที่ออกแบบขึ้นใหม่เฉพาะบุคคลได้

อันนี้เป็นความเข้าใจผิด เพราะมีสถาปนิกจำนวนมากที่พร้อมจะทำงานในสเกลเล็กๆ การเป็นสถาปนิกในอุดมคติ คือการที่เราทำให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงดีไซน์ได้ และทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของงานสถาปัตยกรรมที่ดีได้

อุดมคติที่อยากจะให้เป็นก็คือ ทุกคนสามารถเดินมาหาสถาปนิกได้ นี่คือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในเมืองไทย เหมือนที่เราเห็นในบางประเทศ อย่างญี่ปุ่น บ้านหลังเล็กนิดเดียว หน้ากว้าง 3 เมตร เขาก็ไปหาสถาปนิก อยากจะให้เมืองไทยเป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะมีงบเท่าไหร่ก็ตาม สามารถเดินมาหาสถาปนิกได้

 

นอกจากเรื่องบ้านสำเร็จรูปแล้ว เรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อศาสตร์วิชาสถาปัตย์ฯ อย่างไร

ในศาสตร์ทางสถาปัตยกรรม มีศัพท์อยู่คำหนึ่งคือ ‘ภาวะน่าสบาย’ หมายถึงภาวะที่เราอยู่ได้โดยที่อุณหภูมิไม่สูงหรือต่ำมากนัก จำได้ว่าสมัยเด็กๆ เราไม่ต้องอยู่ห้องแอร์ ทำไมเราอยู่ได้ แต่พออุณหภูมิเปลี่ยนไป แน่นอนวิธีการออกแบบเปลี่ยนแน่ๆ คือทำยังไงให้อยู่ได้สบายโดยที่ไม่ต้องเปิดแอร์ เช่น ออกแบบหน้าต่างให้ลมพัดเข้ามาได้ทั้งสองด้าน

ในเมืองไทยหรือในเขตร้อนทั่วๆ ไป เมื่อนานมาแล้วการระบายอากาศสำคัญ แต่พอในยุคหนึ่ง เราออกแบบบ้านโดยใช้แอร์มากขึ้น ทุกคนก็ใช้แอร์กันหมด แล้วบ้านก็เหมือนตู้เย็นคือปิด ไม่เปิดรับอากาศบริสุทธิ์ แต่พอโลกเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้คนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เข้าใจว่าการใช้พลังงานจากแอร์ก็มีผลกระทบกับโลก สถาปนิกก็อยากจะมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งเจ้าของบ้านเองด้วย ตอนนี้เจ้าของบ้านคือคนรุ่นใหม่อายุยี่สิบกว่าหรือสามสิบต้นๆ ทุกคนที่มาจะบอกว่าไม่อยากใช้แอร์มากนัก อันนี้คือสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คืออยากให้ออกแบบในสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป แต่ยังอยู่ได้

สถาปนิกก็ต้องคิดวิธีการ หรือการเรียนการสอนก็ต้องเน้นเรื่องเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันการเรียนการสอนก็เน้นเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ในช่วง 5-10 ปีหลัง เรื่องสภาพแวดล้อมที่สัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมเข้ามามีบทบาทกับการออกแบบมากขึ้น ในยุคหนึ่งเราอาจไม่ได้นึกถึงมาก คำว่าโลกร้อนไม่ได้ใกล้ตัวขนาดนั้น พอปัจจุบันใกล้มาก สถาปัตยกรรมก็ต้องเปลี่ยนไปเหมือนกัน รวมทั้งวัสดุที่ใช้ด้วย เช่น กระบวนการผลิตต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่วัสดุบางทีมองไม่เห็น ถูกฉาบ ถูกทาสี แต่ในกระบวนการก่อสร้างทั้งหมด รวมทั้งชีวิตหลังการใช้งานอาคารก็อยากให้เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม มั่นใจว่าตอนนี้สถาปนิกทุกคนคิดมากขึ้น

 

ถ้าเราขยับไปในวงการสถาปัตยกรรมระดับโลก เขากำลังถกเถียงหรือกังวลเรื่องอะไรกันอยู่ 

บอกยาก เพราะเราจะบอกได้ว่าวงการสถาปัตยกรรมโลกในแต่ละยุคพูดถึงอะไรก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว ต้องมองย้อนกลับไปถึงจะเห็น

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ข้อกังวลเรื่องหนึ่งในจำนวนหลายๆ เรื่องคือเรื่องเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิด เช่น คอมพิวเตอร์ โปรแกรมต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อ 20 ปีที่แล้วกับตอนนี้ก็ไม่เหมือนกัน

ในโรงเรียนสถาปัตยกรรม ก็มีการถกเถียงกันมา 10-20 ปีว่าเทคโนโลยีมีผลกับงานสถาปัตยกรรมอย่างไร เช่น เทคโนโลยีที่ทำให้เรา visualize หรือทำให้เรามองเห็นสิ่งที่ออกแบบได้เร็วขึ้น มันส่งผลกระทบต่อระบบการคิดหรือระบบการมีอยู่ของคนจริงๆ ไหม ความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีก็ยังเป็นข้อกังวลหลักของสถาปัตยกรรมอยู่ อีกเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญในยุคนี้ก็คือความรับผิดชอบของสถาปนิกต่อสิ่งแวดล้อม ก็คิดกันว่าควรมีมากน้อยแค่ไหน

และอีกหนึ่งประเด็นคือเรื่องการเปลี่ยนของระบบสังคมและวัฒนธรรม ตอนนี้เทคโนโลยีเข้ามา ทุกอย่างมีผลกับเรา แล้วระบบสังคมเปลี่ยน ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวไม่เหมือนเดิม คำถามก็คือ ความสัมพันธ์ของระบบสังคมและวัฒนธรรมควรจะเข้ามามีผลกับระบบการเรียนการสอนไหม สถาปัตยกรรมเป็นศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นเอกเทศน์ คือเรียน technical know how ของตัวเอง แล้วควรจะคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมมากน้อยแค่ไหน ควรศึกษามากแค่ไหน เพราะถ้าน้อยเกินไป เราอาจจะกลายเป็นศิลปะ ไม่ใช่สถาปัตยกรรมอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเราไม่ใช่ทั้งศิลปะและไม่ใช่ทั้งวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ เราอยู่ก้ำกึ่งระหว่างกลาง

แต่ไม่ได้บอกว่าศิลปินหรือศิลปะอยู่ในโลกปิด แค่ว่าการทำงานศิลปะอาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากสังคมมากขนาดนั้น แต่บางแง่ของสถาปัตยกรรมก็เป็นศิลปะ เพราะฉะนั้นเส้นแบ่งอันนี้ยากที่จะมองตัวเองว่าเราเป็นศิลปิน ณ ตรงไหน เราใช้สิทธิ์ของตัวเองในการออกแบบตรงไหน ในขณะเดียวกันเราแบกรับภาระทางสังคมมากน้อยแค่ไหน ถ้าสมดุลอันนี้ไม่ได้ การออกแบบก็จะไม่เป็นตัวเรา ก็จะหนักไปทางทำรองรับสาธารณะ แต่ถ้าหนักไปอีกทางหนึ่งเราก็จะเป็นงานศิลปะ ปัจจุบันนี้โลกสถาปัตยกรรมต้องหาสมดุลนี้ให้ได้ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สถาปนิกทุกคนกำลังพยายามทำอยู่ แต่ไม่ง่าย

 

 

เป้าหมายหรือคุณค่าของอาชีพสถาปนิกคืออะไร

เป้าหมายของสถาปนิกคือการออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่ดี แต่ยากตรงที่คำจำกัดความของงานสถาปัตยกรรมที่ดีคืออะไร เพราะงานสถาปัตยกรรมที่ดีของแต่ละคน หรือแต่ละสถานการณ์ไม่เหมือนกัน

สมมติเราบอกว่างานสถาปัตยกรรมที่ดี คืองานสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์สภาพแวดล้อม แต่ก็มีงานสถาปัตยกรรมหลายประเภท เช่น ห้างสรรพสินค้า ที่จะมีเรื่องอื่นให้ตอบโจทย์อีกมากมาย ต้องมีเรื่องการขายเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นงานสถาปัตยกรรมที่ดีควรจะสมดุลด้านต่างๆ ควรจะตอบโจทย์หลายอย่างในเวลาเดียวกันได้

คิดว่าอุดมคติสำหรับสถาปนิกทุกคน คือการสร้างสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์ได้หลากหลาย ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง หรือละเลยโจทย์ในอีกทางใดทางหนึ่ง สมมติเราสร้างงานสถาปัตยกรรมที่คิดว่าดี รับผิดชอบต่อสังคม สร้างพื้นที่สาธารณะ รักสภาพแวดล้อม แต่เจ้าของขายไม่ได้ เขาเจ๊ง ก็ไม่ใช่ ในขณะเดียวกัน ถ้าขายได้อย่างเดียว แต่ไม่ตอบโจทย์อื่นเลย คำถามคือแล้วหน้าที่เราคืออะไร เราตอบนายทุนอย่างเดียวไหม ก็ต้องมีสมดุลตรงนี้อยู่

หน้าที่ของสถาปนิกอีกอันหนึ่งคือให้ความรู้ความเข้าใจแก่คนที่ทำงานกับเรา เพราะเจ้าของงานก็อาจจะมองไม่เห็นภาพว่าสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นมานั้นทำอะไรกับโลกบ้าง ไม่ได้แค่ตั้งขึ้นมาเฉยๆ แต่กระทบทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในโลก คือถ้าสถาปนิกอธิบายข้อนี้ให้เจ้าของงานเห็นได้ เขาจะเข้าใจทันทีว่างานเขาสามารถจะทำอะไรให้โลกได้บ้าง ไม่ได้บอกว่าสถาปัตยกรรมต้องเซฟโลกหรือกู้โลกนะ แต่ถ้าคนมองเห็นภาพใหญ่มากขึ้นจะเข้าใจหน้าที่ของตัวเองมากขึ้นว่าตึกของเรามีหน้าที่อะไร

ยกตัวอย่างเช่น เราจะปลูกบ้านสองชั้น เราจะเปิดหน้าต่าง มีกฎหมายอยู่ว่าต้องเว้นตัวบ้านมาอย่างน้อย 2 เมตรจากกำแพง เพราะว่าเราจะต้องไม่รบกวนเพื่อนบ้าน แต่ในบางบ้าน เจ้าของบ้านมองว่า ถ้าเราเว้นมาเยอะกว่านี้ เราก็ให้อะไรกับคนอื่นได้มากกว่านี้ เราปลูกต้นไม้ ข้างบ้านก็เห็นต้นไม้กับเราด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเว้นไป 10 เมตรจนไปเบียดตัวเอง สถาปนิกจำเป็นต้องทำความเข้าใจสมดุลนี้กับเจ้าของงานด้วย

หรืออย่างในญี่ปุ่นจะเห็นว่า ทำไมตึกถึงถอยตัวเองออกมาจากถนน สร้างเป็น public space ขึ้นมา แต่ในเมืองไทยปัจจุบันก็มีอาคารที่พยายามจะสร้าง public space แบบนั้น แน่นอนพอเราถอยตัวเองออกมาจากถนน เราก็เสียพื้นที่ไป แต่ว่าเราให้อะไรกับเมือง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง บรรยากาศของเราก็ดีไปด้วยเอง ถ้าสถาปนิกสามารถ educate ให้คนเข้าใจได้ โลกก็จะดี อันนี้เป็นภาพในอุดมคติ

 

อุดมคติสำหรับสถาปนิกทุกคน คือการสร้างสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์ได้หลากหลาย ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง หรือละเลยโจทย์ในอีกทางใดทางหนึ่ง

 

แต่ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยก็ยังมีชุมชนแออัด ที่คนอยู่อาศัยอาจจะไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะต้องสร้างบ้านห่างกำแพงออกมา 2 เมตร เพราะว่าต้องใช้กำแพงเดียวกันอยู่ สถาปัตยกรรมเข้าไปทำอะไรกับเรื่องเหล่านี้ได้บ้าง

มีสถาปนิกเยอะมากในโลกที่พยายามจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี educate คนในชุมชนแออัดว่าทำอย่างไรได้บ้าง แต่ปัญหาหนึ่งในชุมชนแออัดก็คือปัญหาทางกฎหมาย คือที่ดินไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเขา พอไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมาย เลยไม่มีใครมากำหนดว่าเขาจะต้องห่างจากกำแพงบ้านเท่าไหร่ ก็เป็นคำถามที่ยังรอการตอบหรือการแก้ปัญหา

ชุมชนแออัดบางที่เขาก็มีการจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา เรียกว่าเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมือง ดังนั้นการจัดการโดยการไปลบเขาออกเลยก็ยาก ปัจจุบันก็มีสถาปนิกที่พยายามจะทำงานกับชุมชนแออัด พยายามให้ความรู้ จัดระเบียบ ปรับปรุง หรือบางทีรัฐบาลก็มีโครงการ แต่อย่างที่เรารู้ว่าโครงการของรัฐก็มีข้อจำกัด แต่ปัจจุบันชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ ก็ มีการจัดระเบียบมากขึ้นในรูปแบบต่างๆ

คำถามคือจะทำอย่างไรถึงจะจัดระบบของเดิมแล้วสมดุลได้ คือยังคงความเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมืองที่ไม่รุกล้ำสิทธิ์ส่วนรวม ในขณะเดียวกันก็ทำประโยชน์ให้เมืองด้วย อันนี้คงไม่มีใครตอบโจทย์ได้ เข้าใจว่ากลุ่มสถาปนิกชุมชนพยายามทำอยู่ แต่เป็นโจทย์ที่ยากมาก

 

 

ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นทางหน่อย ตั้งแต่มนุษย์มีศาสตร์ทางสถาปัตยกรรมขึ้นมาจนถึงตอนนี้ มนุษย์มีเป้าหมายในการสร้างที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปมั้ย

ทั้งเปลี่ยนและไม่เปลี่ยน อย่างแรก มนุษย์ไม่เปลี่ยนไป ยังยืนตั้งฉากกับโลก สถาปัตยกรรมตอบโจทย์การอยู่อาศัยของมนุษย์ มนุษย์เดิน โลกมีแรงโน้มถ่วง ดังนั้นพื้นฐานจริงๆ ไม่เปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น โต๊ะเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ก็เป็นรูปร่างแบบนี้ เพราะเรานั่งแบบนี้ เก้าอี้ก็เป็นรูปร่างนี้ ถึงแม้ว่ารายละเอียดการออกแบบจะเปลี่ยนไป เช่น วัสดุเก้าอี้ปัจจุบันอาจจะเป็นไฟเบอร์ หรือเป็นวัสดุได้สารพัด แต่รูปร่างเหมือนเดิม

core idea ของสถาปัตยกรรมไม่เปลี่ยน แต่รายละเอียดเปลี่ยนแน่นอน อย่างแรกคือรูปแบบตามยุคสมัยเปลี่ยนเพราะระบบสังคมเปลี่ยน พอระบบสังคมเปลี่ยน ความต้องการเปลี่ยน สภาพอากาศเปลี่ยน ก็ทำให้รายละเอียดของสถาปัตยกรรมเปลี่ยนแน่ๆ

งานสถาปัตยกรรมมี 2 อย่าง คือตอบสัญชาตญาณและธรรมชาติการใช้ชีวิตของคน ตราบใดที่มีคนในโลก core idea ของสถาปัตยกรรมก็ยังเป็นแบบนั้น แต่ว่าอีกอย่างก็คือโลกเปลี่ยนแปลง ยุคสมัยเปลี่ยนไป สิ่งที่เราเรียกว่า สไตล์ในแต่ละยุคสมัย คือกรีก โรมัน เรเนอซองส์ มาจนถึงปัจจุบัน รูปแบบเปลี่ยนแน่ๆ เพราะคนแต่ละยุคมองอุดมคติของภาพพจน์งานสถาปัตยกรรมไม่เหมือนกัน แต่ก็จะมีของที่ไม่เปลี่ยนแน่ๆ เช่น อย่างไรเราก็ยังต้องการหลังคาปกป้องเรา เพราะเราไม่ต้องการโดนแดดฝน แต่รูปทรงของหลังคาจะเป็นยังไง เป็นการเปลี่ยนแปลงของศาสตร์ทางสถาปัตยกรรม

 

แล้วถ้าจะให้นิยามว่าสถาปนิกคืออะไร อาจารย์จะนิยามอย่างไร

สถาปนิกคือนักคิดและนักทำในเวลาเดียวกัน และเราไม่ใช่ศาสตร์ที่รู้เฉพาะทางทางใดทางหนึ่ง แต่เรารู้เหมือนเป็ด

ขอเท้าความนิดนึง ตำราทฤษฎีสถาปัตยกรรมแรกของโลกเขียนมาเมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้ว วิทรูเวียส สถาปนิกโรมัน เขียนไว้ดีมากเลย เขาอธิบายว่าสถาปนิกควรจะเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ควรเรียนรู้หมดทุกอย่างเลย เรียนรู้แม้กระทั่งเรื่องการแพทย์ เพราะเราควรจะรู้ว่าสุขอนามัยที่ดีของคนเป็นยังไง ควรจะเรียนรู้เกี่ยวกับดวงดาวต่างๆ ควรจะเรียนรู้เกี่ยวกับกลางวันกลางคืน น้ำขึ้นน้ำลง ควรจะรู้ตั้งแต่ปรัชญาจนถึงเรื่องทางเทคนิค แต่ว่ารู้นิดๆ รู้ลึกคงไม่ได้เพราะคงใช้เวลานาน

การที่เราออกแบบที่อยู่อาศัยให้คน เราต้องเข้าใจคน เราต้องเข้าใจว่าคนเกิดขึ้นมาในโลก มีศาสตร์อะไรบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเขา สถาปนิกจำเป็นต้องเข้าใจทั้งหมดนี้ ดังนั้นสถาปนิกคือเป็ดที่ต้องเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างนี้ และสังเคราะห์ออกมาให้ได้

 

เราออกแบบที่อยู่อาศัยให้คน เราต้องเข้าใจคน

 

สมมติเด็ก ม.6 คนหนึ่งอยากจะเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สิ่งแรกที่เขาจะได้เจอคืออะไร

เตรียมตัวอดนอนก่อน (หัวเราะ) เพราะเรียนหนักมาก โดยเฉพาะปี 1 ที่ต้องปรับตัว เพราะเขาอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างมัธยมกับมหาวิทยาลัย ยังต้องเรียนวิชาพื้นฐาน ยังต้องเรียนเลข ภาษาอังกฤษ หรือวิชาทางสังคมศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนวิชาเฉพาะสำหรับสถาปัตยกรรม และถ้าเราไม่เรียนในปี 1 มันก็จะช้าไป ดังนั้นการเข้ามาเรียน ก็จะต้องพบกับอะไรใหม่ๆ ที่อาจจะทำให้ต้องปรับตัวมาก

ไม่รู้ว่าที่อื่นเขาต้องการใบปริญญาเหมือนเราขนาดนี้มั้ย แต่เราอยู่ในโลกที่ปริญญาสำคัญ ก็เข้าใจพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือเข้าใจตัวเด็กเองด้วย แต่ปัจจุบันนี้ช่องทางต่างๆ เยอะขึ้น เด็กเริ่มมองเห็นช่องทางที่จะทำอะไร โดยไม่ได้ผูกอยู่กับปริญญาของตัวเองเยอะขึ้น คือเราเรียนเพื่อหล่อหลอมให้เราเป็นคนรู้กว้าง แล้วเราเอาความรู้ไปใช้อย่างอื่น คิดว่าเมืองไทยก้าวไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว คือเด็กไม่ได้รู้สึกว่าเรียนจบสถาปัตย์ฯ มาก็ต้องเป็นสถาปนิก คือเข้าใจว่าปริญญาตรีเป็นแค่พื้นฐานให้เรากระโดดไปทำอย่างอื่น แต่บางทีผู้ปกครองก็ยังไม่เข้าใจ ยังเข้าใจว่าถ้าเรียนอันนี้มาต้องทำสิ่งนี้ ซึ่งบางทีก็อาจจะฝืนใจสำหรับเด็กๆ

 

 

เด็กที่เรียนอยู่ตอนนี้ เขาคาดหวังว่าจะได้อะไรจากการมาเรียนสถาปัตย์ฯ

เด็กคาดหวังว่าจะสนุก และเท่ แต่การเรียนบางทีก็ผสมกันระหว่างสิ่งที่สนุก และสิ่งที่เราไม่ถนัด และในความเป็นจริงอาจจะไม่เท่เพราะพอเข้ามาเรียนจริงๆ มีอะไรต้องทำเยอะจนลืมที่จะเท่ไปแล้ว

การเรียนสถาปัตย์ฯ ต้องใช้ความอดทน และมีความต่างจากการเรียนศิลปะและการเรียนสายวิทยาศาสตร์ บางทีเด็กๆ คิดว่าชอบวาดรูป จึงมาเรียนสถาปัตย์ฯ แต่ในความเป็นจริงมีอะไรต้องเรียนมากมาย อันนี้คือความคาดหวังซึ่งเด็กไม่ได้คิดว่าจะมาเจอแบบนี้ คิดว่าจะสนุก เฮฮา แต่สถาปัตยกรรมก็เหมือนศาสตร์อื่นๆ คือมีทั้งความเฮฮา และความจริงจัง

หรือบางทีคนคิดว่าสถาปนิกต้องแต่งตัวเนี้ยบๆ นั่งโต๊ะเรียบๆ ถ้าในหนัง โต๊ะพระเอกที่เป็นสถาปนิกก็จะเนี้ยบ แต่จริงๆ คือยังไม่เคยเห็นโต๊ะสถาปนิกที่ไหนสะอาดเนี้ยบตลอดเวลาเลย แล้วการทำงานก็ต้องทำงานกับเดดไลน์ตลอดเวลา ความรับผิดชอบสูง คือตึกจะสร้างขึ้นมา ทุกอย่างต้องมาที่สถาปนิก เด็กน่าจะมองเห็นสิ่งเหล่านี้เอาไว้บ้าง

 

แล้วถ้าจะเป็นสถาปนิกในยุคนี้ต้องมีอะไรบ้าง

สถาปนิกในยุคนี้ต้องหูตากว้าง ซึ่งที่จริงก็เป็นมาทุกยุคทุกสมัย อย่างที่บอกคือตั้งแต่ 2,000 ปีที่แล้วที่วิทรูเวียสเขียนตำราขึ้นมา เราจะเห็นว่าเราอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ ถ้าเราโลกแคบ เราก็จะไม่เข้าใจคนอื่นเลย เราก็จะเอาตัวเองไปบงการชีวิตคนอื่น

ความยากของวิชาชีพสถาปนิกก็คือเวลาออกแบบอะไรมา เป็นการกำหนดชีวิตคนว่าควรจะหันซ้ายหรือหันขวา ควรจะนอนอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร ถ้าเราไม่เข้าใจคนอื่น เราก็จะเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน แล้วก็จะไปบังคับให้คนอื่นเป็นตามเราหมด แต่ถ้าสถาปนิกหูตากว้างไกล เข้าใจว่าคนอื่นเป็นอย่างไร ระบบสังคมในระดับย่อยเป็นอย่างไร ระบบสังคมประเทศเป็นอย่างไร ระบบสังคมโลกเป็นอย่างไร โลกเขากังวลเรื่องอะไร ก็จะทำให้งานเราเซนซิทีฟ และมีที่อยู่ของงานเราในโลกนี้จริงๆ

 

 

เปิดกระเป๋าสถาปนิก

อะไรที่ควรศึกษา พก อ่าน ดู ฟัง ฯลฯ

 

 

ของชิ้นที่ 1 ‘หนังสือ’

อ่านหนังสือที่ว่าด้วยความพยายามของคนหนุ่มสาว Letters to a Young Poet ของ Rainer Maria Rilke

 

“หนังสือเล่มนี้เขียนโดยกวีชาวออสเตรีย ชอบมาก อยากให้อ่าน เป็นจดหมายที่เขียนตอบโต้กันระหว่างกวีอาวุโสที่มีชื่อเสียงแล้วคือ Rainer Maria Rilke กับทหารที่อยากเป็นกวี เพราะเขาเบื่อกับชีวิตการเป็นทหารมาก เลยเขียนจดหมายมาคุยกับ Rilke ว่าทำยังไงถึงจะเขียนงานออกมาได้ดี ซึ่งก็น่าประหลาดใจมาก เพราะ Rilke คงงานเยอะมาก แต่ใช้เวลาในการเขียนอธิบาย เล่าเรื่องต่างๆ เพื่อให้กำลังใจทหารคนนี้ แล้วก็ไม่ได้โลกสวยอย่างเดียว เขาวิจารณ์งานที่ทหารคนนี้ส่งมาอย่างตรงไปตรงมาด้วย

“อ่านแล้วจะเห็นสมดุลของคนสองคนที่แตกต่างกันมาก แต่ก็มีความรักในกวีร่วมกัน รู้สึกดีมาก อ่านได้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่อยากจะเป็นกวี แต่อาจอยากทำอะไรสักอย่างเหมือนที่ในหนังสืออธิบายให้เห็นว่ากระบวนการพัฒนาของคนที่มีความอยาก ไปสู่คนที่ประสบความสำเร็จได้ หรือได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักมีกระบวนการอย่างไรบ้าง ไม่ว่าอาชีพอะไรก็น่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ได้”

 

 

ของชิ้นที่ 2 ‘สารคดีสำรวจโลก’

รู้จักชีวิตแบบอื่นผ่านสารคดี Planet Earth

“ไม่ว่าอาชีพอะไรก็น่าจะดูสารคดีเรื่อง Planet Earth เพราะมันทำให้รู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก นอกจากคนแล้วยังมีสิ่งอื่นๆ อีก ทำให้เราละเอียดอ่อนกับเรื่องนี้ ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตอื่นในโลกมีระบบสังคม มีลักษณะเฉพาะตัว ถ้าเราเข้าใจภาพนี้ เข้าใจปรัชญาของการสร้างสารคดีเรื่องนี้ขึ้นมา เราก็มั่นใจว่าเราเป็นสถาปนิกที่ดีได้”

 

 

ของชิ้นที่ 3 ‘สมุดพก และดินสอคู่ใจ’

ดินสอหัวใหญ่ ยางลบ ปากกาหลายสี และสมุดพกเล่มเล็ก

“สถาปนิกน่าจะใช้ดินสอหัวใหญ่ๆ เพราะดินสอแบบนี้ให้อิสระในการที่เราจะเขียนอะไรสักอย่าง น้ำหนักสำคัญมาก จะบอกเด็กเสมอว่าอย่าใช้ดินสอหัวเล็กเป็นอันขาด คือการเป็นสถาปนิกต้องขีดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเกิดเป็นฟอร์ม หรือเกิดเป็นระบบพื้นที่ขึ้นมา ถ้าเราใช้ดินสอหัวเล็กๆ ขีดทีไรก็หัก เราไม่มีความมั่นใจ เส้นต้องมั่นใจ เพราะฉะนั้นใช้ดินสอหัวใหญ่ได้เท่าไหร่ยิ่งดี

“มีดินสอแล้ว ก็ต้องมียางลบ พกติดตัวตลอด ยางลบธรรมดาๆ ลบได้หมด แล้วก็ปากกาหลายสี บางทีเวลาเราจดงาน แล้วคนละความคิดกัน เราก็เปลี่ยนสีปากกา ถ้าดูที่จดไว้เร็วๆ ก็จะเด้งออกมาเลย ถ้าเขียนสีเดียวจะหาไม่เจอ อีกอย่างก็สมุดเล่มเล็กๆ พกง่าย ติดตัวใส่กระเป๋าเสื้อไว้”

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save