fbpx
7 เรื่อง 7 รอบ อรัญ ธรรมโน : คนที่มีประโยชน์ต่อแผ่นดินมากพอสมควร

7 เรื่อง 7 รอบ อรัญ ธรรมโน : คนที่มีประโยชน์ต่อแผ่นดินมากพอสมควร

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดร.อรัญ ธรรมโน กรุณาโทรศัพท์มาหาผมว่าปีนี้อายุครบ 84 ปีบริบูรณ์ และจะพิมพ์หนังสือที่ระลึกขึ้นเล่มหนึ่ง โดยตั้งชื่อหนังสือเลียนแบบชื่อบทความชิ้นหนึ่งที่ผมเขียนถึงอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือ “101 ปี 101 เรื่อง ป๋วย 101” ที่เผยแพร่ครั้งแรกที่นี่ ก่อนจะนำไปรวมพิมพ์ในเล่ม คนทุกคนจะถูกลืม (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมได้รับหนังสือดังกล่าว ซึ่งมีตอนหนึ่งในคำนำว่า “เกิดไปเห็นหนังสือเรื่อง คนทุกคนจะถูกลืม ของคุณกษิดิศ อนันทนาธร ที่เคยส่งมาให้ มีบทแรกๆ เกี่ยวกับอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณกษิดิศฯ ตั้งชื่อเสียเก๋ไก๋ว่า “101 ปี 101 เรื่อง ป๋วย 101” เลยตกลงจะตั้งคำถามกัน 84 ข้อ และเรียนคุณกษิดิศฯ ผ่านทางคำนำนี้ว่าขออนุญาตเลียนแบบ โดยตั้งชื่อหนังสือนี้ว่า 84 ลูกถาม 84 พ่อตอบ 84 ปี ดร.อรัญ ธรรมโน

เมื่ออ่านจบแล้ว ผมจึงอยากนำเสนอบางเรื่องเกี่ยวกับ ดร.อรัญ ทั้งจากในหนังสือเล่มนี้ และจากประสบการณ์ส่วนตัว โดยขอตั้งชื่อที่คิดว่าจะเก๋ไก๋อีกทีว่า “7 เรื่อง 7 รอบ อรัญ ธรรมโน: คนที่มีประโยชน์ต่อแผ่นดินมากพอสมควร”

อรัญ กับเรวดี ธรรมโน คู่ชีวิต หน้ารถไฟขบวนพิเศษ Shiki-shima ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสฉลองแต่งงานครบ 55 ปี (17 พฤษภาคม 2561)
อรัญ กับเรวดี ธรรมโน คู่ชีวิต หน้ารถไฟขบวนพิเศษ Shiki-shima ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสฉลองแต่งงานครบ 55 ปี (17 พฤษภาคม 2561)

เด็กบ้านนอก

อรัญ ธรรมโน เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2478 ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา บิดาเป็นพลตำรวจเกณฑ์ ส่วนมารดาทำขนมขายเป็นรายได้เสริม หลังจากนั้นย้ายมาสงขลา บิดาเป็นคนขับรถประจำทาง มารดาก็รับเสื้อโหลมาเย็บที่บ้าน

ตอนอายุ 7- 8 ขวบ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อรัญจำได้ว่าทหารญี่ปุ่นซึ่งมาตั้งค่ายอยู่ที่ “วิกเก้าห้อง” เป็นคนรักเด็ก มักจะเอาขนมมาให้ และยังมีมนุษยธรรมพอสมควร กล่าวคือเวลานั้นญี่ปุ่นใช้แรงงานเชลยศึกฝรั่งทำงานโยธา ใส่เสื้อผ้าขาดวิ่น ไม่ค่อยมีอาหารกิน แต่ก็ไม่ว่าอะไรเมื่อเห็นเด็กอย่างอรัญเอากระทงอาหารไปให้เหล่าเชลย ซึ่งอรัญจำได้แม่นว่า ตนไปกวาดเก็บข้าวสารที่รั่วลงพื้นจากการแทงตรวจสอบคุณภาพแถวโรงสีใกล้บ้าน และไปขอปลาตัวเล็กๆ ที่ชาวประมงขายไม่ออก มาให้แม่ช่วยหุงต้มและใส่กระทงใบตองไปให้เชลยกิน

แม้ฐานะจะไม่ดีนัก แต่ก็เป็นชีวิตที่จนอย่างมีความสุขและอบอุ่น พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ และพี่น้องรวม 5 คน จนวันที่ 17 สิงหาคม 2488 บิดาของเขาถูกกระสุนปืนหนักเข้าที่หน้าอกซ้ายจนเสียชีวิตจากการยิงโดยเครื่องบินสี่เครื่องยนต์ของฝ่ายสัมพันธมิตร  เมื่อขาดเสาหลักของครอบครัวชีวิตก็ลำบากขึ้น ต้องขายบ้าน พี่น้องระหกระเหเร่ร่อนกัน

เด็กวัด

หลังจากที่ฐานะทางบ้านลำบากมากขึ้น น้องชาย 2 คนของเขาย้ายไปอยู่กับเพื่อนของบิดาที่กรุงเทพฯ น้องสาว 2 คนยังคงอยู่กับแม่ ส่วนตัวเขาเองเดิมอาศัยอยู่กับผู้ใหญ่ที่นับถือซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้โรงเรียนมหาวชิราวุธที่เขาเรียนอยู่

แต่แล้วก็มีปัญหาเรื่องการไปโรงเรียนและการหาเวลาอ่านหนังสือยาก อรัญในวัยหนุ่มจึงตัดสินใจออกมาเผชิญโลกตามลำพัง โดยญาติฝั่งพี่เขยของแม่เป็นผู้พาไปฝากกับ พระอธิการปลอด คันธวโร เจ้าอาวาสวัดโรงวาส อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งไม่ลังเลที่จะรับเด็กวัดเพิ่มเติมเลย แม้นั่นจะทำให้ท่านแบกภาระต้องบิณฑบาตมาเลี้ยงเด็กอนาถาเพิ่มอีกคนหนึ่ง

อรัญกล่าวยกย่องพ่อท่านปลอดว่า “ถ้าไม่มีท่าน ก็ไม่น่าจะมีผมในฐานะนี้วันนี้ ” เพราะ “ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันที่ท่านสิ้นบุญ ท่านก็ได้ทำหน้าที่เลี้ยงดูอย่างดีเลิศ เท่าที่ท่านจะทำได้ เป็นทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลความประพฤติ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการ”

ถึงกระนั้น อรัญก็ยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกขาดความอบอุ่นเกี่ยวกับครอบครัว ความคิดถึงครอบครัว คิดถึงอนาคตของตัวเอง ทำให้หลายครั้งเขาน้ำตาซึมอยู่คนเดียว ท่านปลอดจึงให้ข้อคิดว่า “ต่อไปมึงจะเป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน ต้องไม่อ่อนแอ อย่าร้องไห้ขี้แย” ซึ่งเขายึดถือเป็นหลักในการครองชีวิตสืบมา

พระ

อรัญ ธรรมโน
สักการะพระอธิการปลอด คันธวโร ที่วัดโรงวาส (ภาพจาก FB อภิณี ธรรมโน)

นักศึกษาธรรมศาสตร์

อรัญออกจากวัดโรงวาส เมื่อเดือนพฤษภาคม 2495 หลังจากสอบเทียบระดับเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 (แผนกอักษรศาสตร์) ได้แล้ว เพราะตั้งใจมาหางานทำในกรุงเทพฯ พร้อมกับสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมษายน 2496 อรัญเริ่มทำงานเป็นลูกจ้างรายวันที่กองชลประทานราษฎร์ กรมชลประทาน สามเสน  โดยเขาเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์แล้วจึงไปทำงาน ทำงานเสร็จก็กลับมาเรียนที่ธรรมศาสตร์ต่อ ต่อมาในในเดือนสิงหาคมปีนั้น ก็สอบเป็นข้าราชการประจำตำแหน่งเสมียนพนักงาน กองตลาดการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และสามารถไปเรียนได้สะดวกขึ้น ทั้งการเดินทาง และความเห็นใจจากผู้บังคับบัญชา

ปลายปี 2496 อรัญสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมดี) โดยใช้เวลาเพียง 2 ปี และสอบเป็นข้าราชการได้ที่สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ทำงานอยู่ที่นี่จนสอบชิงทุน ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ได้เรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาในปี 2499 โดยที่ระหว่างนั้นก็เรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์อยู่ด้วย แต่ยังไม่ทันได้สอบวิทยานิพนธ์

อรัญร่วมอภิปรายในงานฉลอง 100 ปีชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559 ในฐานะที่เคยเป็นทั้งลูกศิษย์และลูกน้องของอาจารย์ป๋วย “ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต” ของอรัญ
อรัญร่วมอภิปรายในงานฉลอง 100 ปีชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559 ในฐานะที่เคยเป็นทั้งลูกศิษย์และลูกน้องของอาจารย์ป๋วย “ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต” ของอรัญ

สามีของภรรยา พ่อของลูก

อรัญพบ เรวดี ประดิษฐ์ทัศนีย์ คู่ชีวิตของเขาครั้งแรกปลายเดือนพฤษภาคม 2498 ที่ห้องเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ปีที่ 1 เวลานั้นเขาเป็นหัวหน้านักศึกษาของคณะ ส่วนหญิงสาวเพิ่งเข้ามาเป็น “เพื่อนใหม่” แม้ในครั้งนั้นจะไม่ได้พูดคุยอะไรกันมากนัก แต่หลังจากที่อรัญแอบมองอยู่นาน ก็มีโอกาสได้ทำกิจกรรมนักศึกษาร่วมกัน เมื่อหญิงสาวได้รับเลือกเป็นผู้แทนนักศึกษาปีที่ 1

อรัญฟื้นความหลังว่า ไม่แน่ใจนักว่าปิ๊งหญิงสาวผู้นี้แต่แรกพบหรือไม่ แต่แน่ใจว่าหลังจากได้พบกัน 2-3 ครั้ง ก็มั่นใจอยู่ข้างเดียวว่า “อยากได้หญิงสาวคนนี้มาเป็นคู่คิดสร้างครอบครัวที่อบอุ่น” ความรักทำให้ในบางเสาร์อาทิตย์ อรัญอุตส่าห์นั่งรถเมล์ไปแถวสะพานดำเพื่อขอให้ได้เห็นหน้าหรือแม้แต่เห็นแค่บ้านของหญิงสาวก็เป็นสุขแล้ว แม้หญิงสาวจะไม่เคยทราบเลยก็ตาม

หลังจากพบกันได้ราว 9 เดือน อรัญก็ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกานานกว่า 5 ปี และติดต่อเธอผ่านจดหมายที่เขียนถึงกันแทบทุกสัปดาห์ แม้จะไม่เคยมีคำมั่นสัญญาต่อกัน แต่ทั้งคู่ก็เข้าใจกัน ระหว่างนั้นหญิงสาวรับภาระติดตามดูแลทุกข์สุขแม่ของอรัญอยู่เสมอ ข้างอรัญเองก็มั่นคงไม่เปลี่ยนใจ เมื่อ ดร.อรัญ กลับมาเมืองไทยในเดือนมิถุนายน 2504 จึงได้กลับมาพบหญิงสาวของเขา ที่ยังรักกันไม่เสื่อมคลาย

เมื่อทั้งคู่พร้อมแล้ว จึงได้ขอให้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นอาจารย์ของทั้งสอง มาเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานให้ อรัญบอกว่าเลือกวันที่ 17 พฤษภาคม ในปี 2506 เพราะเห็นว่าตรงกับวันเปิดภาคเรียน จำได้ง่ายดีว่าวันครบรอบแต่งงานจะตรงกับวันแรกที่พาลูกไปส่งที่โรงเรียน

ที่จริงในวันนั้น ป๋วยมีภารกิจต้องไปทำพิธีวางศิลาฤกษ์ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ แต่ป๋วยมอบหมายให้รองผู้ว่าการฯ พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ ไปแทน โดยให้เหตุผลว่า การวางรากฐานชีวิตสำคัญกว่าการวางรากฐานตึก

อรัญกล่าวด้วยว่าความสุขในครอบครัวเป็นยอดปรารถนาของตน และยินดีทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นในครอบครัว และให้หลักคิดเกี่ยวกับการแต่งงานไว้ว่า “การแต่งงานอยู่ร่วมชีวิตกันของคนสองคนไม่ควรเป็นไปตามบุญตามกรรม แต่ควรจะครองคู่กันด้วยความอุทิศตน” รวมถึง “การมีชีวิตคู่ที่มั่นคงอบอุ่นเป็นยอดของความปรารถนาทั้งมวล”

อรัญยังกล่าวด้วยว่า “ความรักความห่วงใยเอื้ออาทรที่พ่อมีต่อแม่และลูกทุกคน แม้จะไม่ชั่วนิรันดร์ (เพราะเป็นไปไม่ได้) ก็เป็นชั่วชีวิต (นอกจากโรคสมองเสื่อมไปเสียก่อน) เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบของผู้เป็นสามีและเป็นพ่อ”

วันมงคลสมรส 17 พฤษภาคม 2506 (ภาพจาก FB อภิณี ธรรมโน)
วันมงคลสมรส 17 พฤษภาคม 2506 (ภาพจาก FB อภิณี ธรรมโน)
วันมงคลสมรส 17 พฤษภาคม 2506 (ภาพจาก FB อภิณี ธรรมโน)
วันมงคลสมรส 17 พฤษภาคม 2506 (ภาพจาก FB อภิณี ธรรมโน)
วันมงคลสมรส 17 พฤษภาคม 2506 (ภาพจาก FB อภิณี ธรรมโน)
วันมงคลสมรส 17 พฤษภาคม 2506 (ภาพจาก FB อภิณี ธรรมโน)

คนที่มีประโยชน์ต่อแผ่นดินมากพอสมควร

อรัญนึกถึงบุญคุณของพระอธิการปลอดอยู่เสมอว่าท่านเป็น “ผู้ให้ที่แท้จริง ให้ที่กินอยู่อาศัยแก่เด็กซึ่งเกือบจะต้องเป็นเด็กพเนจร ให้สติให้ความอบอุ่นจนเด็กตนนั้นสามารถเป็นคนที่มีประโยชน์ต่อแผ่นดินมากพอสมควร

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกากลับมารับราชการในกระทรวงการคลังแล้ว อรัญเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ย้ายไปเป็นผู้ควบคุมโรงงานเอก กองการสามิต กรมสรรพสามิต ในเดือนตุลาคม 2510 จนได้เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต เมื่อเดือนตุลาคม 2525

จากนั้นย้ายไปเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ ในเดือนตุลาคม 2528  ปีถัดมาย้ายกลับมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จนถึงเดือนกันยายน 2533 ย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร และตำแหน่งสุดท้ายคือปลัดกระทรวงการคลัง ตั้งแต่กรกฎาคม 2536 จนเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2538

แม้อรัญจะไม่เคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังตามที่เคยได้รับการทาบทาม แต่ก็เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ คือ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาต (2516-1518) ที่ปรึกษาในคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (2523-2529) สมาชิกวุฒิสภา (2539-2543) และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

นอกจากนี้อรัญยังเคยเป็นประธานกรรมการในหลายองค์กร เช่น ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)  ประธานกรรมการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ประธานกรรมการบริษัทไทยวิจัยและฝึกอบรม จำกัด นายกสภาสถาบันราชภัฏสงขลา และนายกสภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ รวมถึงเป็นกรรมการในองค์กรต่างๆ เช่น กรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาเยี่ยม อรัญ ที่กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2537
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาเยี่ยม อรัญ ที่กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2537

 

ผู้ใหญ่ใจดี

แม้ผ่านตำแหน่งใหญ่โตมาแล้ว แต่อรัญก็ยังเป็นคนเรียบง่าย สมถะ ไม่ยึดติดกับหัวโขน เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่เมตตาต่อผู้น้อย คราวหนึ่งในปี 2558 บัณฑิตหนุ่มจากธรรมศาสตร์ที่มาทำงานฉลอง 100 ปีชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดต่อขอสัมภาษณ์อรัญ เพื่อนำไปจัดทำสารคดีสั้นเกี่ยวกับอาจารย์ป๋วย เขานัดไปสัมภาษณ์อรัญในตอนเช้าที่บ้านพักย่านลาดพร้าว และนัดสัมภาษณ์อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ในตอนสายที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อรัญก็ตอบรับด้วยความยินดี

ก่อนถึงวันนัดสัมภาษณ์ อรัญอุตส่าห์โทรมาหาเด็กหนุ่มคนนั้นด้วยตนเอง ขอเปลี่ยนสถานที่มาให้สัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์แทน โดยให้เหตุผลว่า “คุณกษิดิศจะได้ไม่ต้องลำบากเดินทางหลายที่ ผมจะไปหาที่มหาวิทยาลัยเอง” นับเป็นความน่ารักอย่างมากของผู้ใหญ่ที่ใจดี

 

อรัญให้สัมภาษณ์เรื่องอาจารย์ป๋วย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 (ภาพจาก FB บุญสม อัครธรรมกุล)
อรัญให้สัมภาษณ์เรื่องอาจารย์ป๋วย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 (ภาพจาก FB บุญสม อัครธรรมกุล)
อรัญให้สัมภาษณ์เรื่องอาจารย์ป๋วย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 (ภาพจาก FB บุญสม อัครธรรมกุล)
อรัญให้สัมภาษณ์เรื่องอาจารย์ป๋วย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 (ภาพจาก FB บุญสม อัครธรรมกุล)

 คนที่ยังมีหวัง

แม้อายุครบ 7 รอบนักษัตรแล้ว แต่อรัญก็ยังเอาใจใส่ความเป็นไปของบ้านเมือง ดังเขาเขียนในหนังสือว่า “ทำใจไม่ค่อยได้ คือทุกข์เมื่อคิดถึงอนาคตของบ้านเมือง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเราเป็นคนแก่แล้ว ไม่มีปัญญาจะไปช่วยแก้ไขอะไรได้ แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า เราเป็นคนแก่ก็จริง แต่เราก็เป็นเจ้าของประเทศคนหนึ่งด้วย (หลงไปหรือเปล่าก็ไม่รู้)”

ทั้งยังลุ้นกับการเลือกตั้งด้วยเพราะ “คสช. ก็ได้บริหารประเทศมาจนครบวาระแล้ว แต่ยังไม่แสดงท่าทีเต็มอกเต็มใจที่จะให้มีการเลือกตั้งจริงๆ เงื่อนไขก่อนการเลือกตั้งยังมีมากมาย ในฐานะประชาชนก็อยากมีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งที่ตัวเองเห็นเหมาะสมบ้าง ไม่ใช่ให้คนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้วิเศษเพียงใดก็ตามเลือกสิ่งที่เหมาะสมให้กับเราตลอดเวลา”

และขยายความว่า “สำหรับคนไทยขณะนี้ การเลือกผิดเลือกถูกไม่สำคัญ ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศต้นแบบประเทศหนึ่งในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยยังเลือกผิด (ในสายตาพ่อ-อรัญ) และที่คนอื่นเลือกให้ไว้ก็ไม่ใช่จะถูก”

ก็เพราะการศึกษานี่เองที่ทำให้มนุษย์เราเชื่อมั่นในศักยภาพของตน อรัญให้ข้อคิดจากชีวิตที่ผ่านมาว่า “เมื่อโตขึ้นเป็นหนุ่มมีการศึกษา ชักเชื่อในความสามารถของตนเอง เชื่อในโอกาส และเชื่อมั่นในปัญญาของตัวเองว่าจะกำหนดอนาคตของตนได้ ไม่เชื่อว่าใครจะมากำหนดชะตาชีวิตของเราได้”

ด้วยเหตุนี้ อรัญจึงพอใจที่เห็นความสำเร็จทางการศึกษาของอนุชน เขากล่าวว่า “การที่โลกจะก้าวไปข้างหน้า คนรุ่นหลังจะต้องมีความสามารถรอบรู้มากกว่าคนรุ่นก่อน ดังนั้น ถ้าคนรุ่นหลังมีความสำเร็จทางการศึกษาสูง ก็จะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับอนาคตที่สดใสของโลก”

ส่งท้าย

อรัญเป็น “คนช่างฝัน” เพราะถือว่าความฝันเป็นอาหารพิเศษที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้มีพลังสู้เพื่ออนาคตได้ ในโอกาสอายุครบ 7 รอบนักษัตร เขายังคงหวังว่า “อยากจะเห็นลูกๆ ลูกเขย ลูกสะใภ้ และหลานสาวคนเดียวมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ความอบอุ่น และความสำเร็จ เป็นคนที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมตามสมควร อยากให้เขามีชีวิตภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยจริงเสียทีหลังจากที่รอกันมานาน สำหรับพ่อกับแม่ เราก็ยังอยากจะมีอายุยืนยาวไปอีกหน่อย ให้มีสุขภาพแข็งแรง ยังเป็นคนแก่ที่สมาร์ต ไม่เป็นโรคสมองเสื่อม  ถ้าตายเมื่อไรก็ขอให้ได้ตายอย่างไม่ทรมานเกินสมควร  คนแก่เริ่มฝันเห็นแก่ตัวขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่จะตายยังอยากตายอย่างดี”

อรัญยึดหลักว่า “จะเกิดมาจนหรือรวยไม่สำคัญ เกิดมาประสบความสำเร็จหรือผิดหวังไม่สำคัญ เกิดมาสวยหรือไม่สวยไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าเราเกิดมาแล้ว เราได้ทำอะไรไว้ในโลกก่อนจากไปบ้าง”

คงจะไม่เกินไปนัก ถ้าจะสรุปจากชีวิตที่ผ่านมาว่า อรัญ ธรรมโน เป็น “คนที่มีประโยชน์ต่อแผ่นดินมากพอสมควร”

บรรณานุกรม

อรัญ ธรรมโน. 84 ลูกถาม 84 พ่อตอบ 84 ปี ดร.อรัญ ธรรมโน (จัดพิมพ์โดย อภิณี ภาวิกา อาริต ธรรมโน, ๒๕๖๒).

กษิดิศ อนันทนาธร. ฟัง คิด ถาม เรื่องป๋วย (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๙).

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save