fbpx
แอปเปิล อาร์เซ็ป และอินเดีย

แอปเปิล อาร์เซ็ป และอินเดีย

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ว่ากันว่ามีแอปเปิลอยู่ 3 ลูกที่เปลี่ยนแปลงโลกนี้ไปตลอดกาล ลูกแรกคือแอปเปิลในสวนอีเดนที่อาดัมกับเอวาขัดขืนคำสั่งของพระเจ้า แอบกัดกินแอปเปิลผลนั้นและทำให้เกิดการสืบเผ่าพันธุ์มนุษยชาติที่แลกมาด้วยการต้องทำงานหนักไปตลอดทั้งชีวิต รวมทั้งการเจ็บปวดแสนสาหัสจากการอุ้มท้องและการคลอด

แอปเปิลลูกที่ 3 คือ แอปเปิลของ Steve Jobs ชายผู้ใช้ศิลปะควบคู่กับเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษยชาติเปลี่ยนแปลงการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือไปตลอดกาลเช่นกัน

แต่ผมจะพูดถึงแอปเปิลลูกที่ 2 ซึ่งปัจจุบันแอปเปิลต้นนี้ยังยืนต้นอยู่ สามารถไปดูได้ที่ Trinity College มหาวิทยาลัย Cambridge

ถูกแล้วครับ ผมกำลังพูดถึงแอปเปิลผลที่ตกลงมาและทำให้ไอแซก นิวตัน เกิดความคิดที่พัฒนาต่อยอดจนกลายเป็น กฎว่าด้วยแรงโน้มถ่วงของนิวตัน (Newton’s law of universal gravitation) และกฎว่าด้วยการเคลื่อนที่ของนิวตัน (Newton’s Laws of Motion) แน่นอนครับ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเราเรียนเรื่องพวกนี้แล้วในสมัย ม.ปลาย ถึงแม้ว่าหลายๆ คน (ที่ไม่ได้ทำงานหรือเรียนต่อในสายวิทยาศาสตร์) อาจจะมองว่า เรียนไปทำไมกัน ไม่เห็นจะได้ใช้งานเลย แต่ผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ จะขอนำเอาทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่สำคัญมากที่สุดกฎหนึ่ง มาใช้อธิบายพัฒนาการของเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือ RCEP ให้ทุกคนได้รับรู้รับทราบกัน

กฎความโน้มถ่วงสากลของนิวตัน ระบุว่า แต่ละจุดมวลในเอกภพจะดึงดูดจุดมวลอื่นๆ ด้วยแรงที่มีขนาดเป็นสัดส่วนโดยตรงกับผลคูณของมวลทั้งสอง และเป็นสัดส่วนผกผันกับค่ากำลังสองของระยะห่างระหว่างกัน

กฎการเคลื่อนที่ข้อที่ 1 วัตถุที่หยุดนิ่งจะหยุดนิ่งต่อไปเรื่อยๆ เว้นแต่จะมีแรงภายนอกมากระทำ และวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่จะไม่เปลี่ยนแปลงความเร็ว เว้นแต่จะมีแรงภายนอกมากระทำเช่นกัน

RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมสมาชิก 16 ประเทศ อันได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ คลอบคลุมจำนวนประชากรมากกว่า 3,589 ล้านคน หรือกว่า 48% ของประชากรโลก และถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดโลกอีกด้วย เพราะมีมูลค่า GDP รวมกันสูงถึงกว่า 27.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ใน 3 ของมูลค่าผลผลิตของทั้งโลก

RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนี้ เริ่มต้นกล่าวถึงอย่างเป็นทางการในระดับผู้นำประเทศในปี 2012 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และเริ่มต้นปฏิญญาซึ่งนำไปสู่การเริ่มต้นการเจรจาในปี 2013 เดิมเคยกำหนดให้ต้องสรุปการเจรจาให้ได้ในปี 2015 มวลขนาดใหญ่ที่มีแรงดึงดูดเข้าหากันด้วยการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศน่าจะสร้างโอกาสมหาศาลให้กับประเทศที่อยู่ใกล้กัน ในภูมิภาคเดียวกัน นั่นก็คือภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เหมือนกับที่นิวตันกล่าวไว้ในเรื่องแรงโน้มถ่วง

แต่แล้ววัตถุหรือมวลขนาดใหญ่เหล่านี้กลับหยุดนิ่งชะงักงันไม่สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าและดึงดูดซึ่งกันและกันได้ จนไม่สามารถสรุปผลการเจรจาได้ในปี 2015 ดังที่วางแผนไว้

เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้การเจรจาชะงักงันก็เนื่องมาจาก 2 เหตุผล นั่นคือ

1. เนื่องจากประเทศสมาชิกมีความแตกต่างกันอย่างยิ่งในหลากหลายมิติ อาทิ RCEP มีประเทศสมาชิกที่มีระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจระดับพัฒนาแล้วอย่าง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ควบคู่ไปกับประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อาทิ สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา RCEP มีประเทศที่มีขนาดประชากรระดับเกินพันล้านคนอาทิ จีน และอินเดีย และในขณะเดียวกันก็มีประเทศอย่างบรูไนที่มีประชากรไม่ถึง 5 แสนคน

2. ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ASEAN-China FTA, ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership, ASEAN-ROK FTA, ASEAN-Australia-New Zealand FTA และASEAN-India FTA แต่ระหว่างประเทศคู่เจรจา นี่คือการเปิดเจรจาการค้าเสรีครั้งแรกระหว่าง จีนกับญี่ปุ่น และจีนกับอินเดีย ที่ไม่เคยมีข้อตกลงการค้าระหว่างกัน ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นกับนิวซีแลนด์ ซึ่งไม่เคยมี FTA ระหว่างกัน เช่นเดียวกับที่อินเดียก็ไม่เคยมีการเจรจาการค้าเสรีกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มาก่อน ดังนั้นการเปิดเสรีของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีความต้องการและมีมาตรฐานการเจรจาการค้าที่หลากหลาย รวมทั้งหลายๆ คู่ยังเคยมีปมขัดแย้งทางประวัติศาสตร์กันมาก่อน เหล่านี้ล้วนทำให้มวลก้อนใหญ่ภายใต้ชื่อ RCEP อยู่ในภาวะหยุดนิ่ง การจะผลักให้ RCEP เดินหน้าการเจรจาต้องใช้แรงมหาศาล และผู้ที่ทำงานหนัก เสียทั้งหยาดเหงื่อแรงงาน สติปัญญา และน้ำตา เพื่อลงแรงให้มวลก้อนนี้สามารถเดินหน้าบรรลุการสรุปข้อตกลงได้ในปีนี้สำเร็จก็คือ ประเทศไทย โดยมีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นแกนหลัก

ไม่เกินไปที่เราจะบอกว่าไทยคือผู้ที่ออกแรงต้านแรงเฉื่อย ผลักดันจนทำให้ RCEP เกิดขึ้นได้จริง เพราะตั้งแต่เรารับไม้การเป็นประธานมาในช่วงต้นปี 2019 เราคือผู้เปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมการเจรจา จากเดิมที่คณะกรรมการเจรจาการค้า (Trade Negotiating Committee: TNC) จะประชุมกันปีละ 2-3 ครั้ง ไทยเริ่มกำหนดตารางเวลาให้ TNC ต้องเจรจากันทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และไทยได้วาง Roadmap ไว้ด้วยว่าในแต่ละเดือนจะต้องมีอะไรก้าวหน้าบ้าง นั่นทำให้ตลอดปี 2019 มีการประชุมระดับคณะทำงาน 12 ครั้ง และ 6 ครั้งเกิดขึ้นในประเทศไทย ในขณะที่การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการตัดสินใจ เดิมจะประชุมกันปีละครั้ง บางปีอาจจะ 2 ครั้ง แต่พอถึงรอบของประเทศไทย เราจัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการจำนวน 7 ครั้ง ในปี 2019 ที่ผ่านมา โดย 5 ครั้งจัดในประเทศไทย และครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2019 ที่เริ่มประชุมกันตั้งแต่บ่าย และยาวไปจนรัฐมนตรีทั้ง 16 ประเทศไม่ได้ไปร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำแบบ Gala Dinner และเมื่อเสร็จจากงานเลี้ยงอาหารค่ำ ผู้นำ 16 ประเทศที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอีก 15 ประเทศก็ขอตัวจากงานเลี้ยงไปนั่งประชุมร่วมกับรัฐมนตรี จนในที่สุดประชุมกันจนถึง 23.45 น. ของคืนวันนั้น

จนในที่สุดเราได้ข้อสรุป RCEP ที่ว่า “สมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศ สามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ ซึ่งสมาชิกอาร์เซ็ปจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป”

กฎการเคลื่อนที่ข้อที่ 2 ของนิวตันระบุว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงโมเมนตัมของวัตถุเป็นสัดส่วนโดยตรงกับแรงกระทำและการเปลี่ยนแปลงโมเมนตัมนี้เกิดขึ้นในทิศทางเดียวกับแรงที่มากระทำต่อวัตถุนั้น เมื่อ F คือ แรงลัพธ์ที่มากระทำต่อวัตถุ p คือโมเมนตัมของวัตถุ m คือ มวลของวัตถุ และ v คือ ความเร็วของวัตถุ

เมื่อ แรง (F) คือสิ่งที่จะผลักให้มวลของเรา ซึ่งในที่นี้คือ RCEP ก้าวหน้าไปได้ไกล เราก็ต้องการอัตราการเปลี่ยนแปลงของโมเมนตัม (p) ที่สูง ซึ่งแน่นอนว่า โมเมนตัมที่สูงจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจาก มวล (m) ที่มีขนาดใหญ่ คูณกับ ความเร็ว (v) ที่มีความเร็วสูง

ต้องยอมรับว่า RCEP คือมวลขนาดใหญ่ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่หากสมาชิกยังไม่สามารถหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียได้ โมเมนตัมของ RCEP 15 ประเทศที่ขาดอินเดียก็คงไม่มากเท่า RCEP ที่สมบูรณ์พร้อมทั้ง 16 ประเทศ เพราะต้องไม่ลืมว่าอินเดียคือหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดในโลกตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา หากเริ่มนับจากวันที่อินเดียเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1991 จนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจอินเดียเติบโตด้วยอัตราการขยายตัวของ GDP ในราว 6-10% ต่อปีอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มวลของอินเดียที่มีขนาดใหญ่จากประชากรราว 1.35 พันล้านคน กลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก

หากพิจารณาค่า GDPPPP หรือ GDP ที่ปรับค่าของเงินตามอำนาจซื้อของทุกประเทศแล้ว โดยปัจจุบัน GDP ของอินเดียอยู่ที่ระดับ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นหากขาดอินเดียไปจำนวนประชากรของ RCEP จะลดลง 37.2% และมูลค่าทางเศรษฐกิจจะหายไป 10% และยิ่งหากพิจารณาร่วมกับปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจด้วยแล้ว อินเดียคือผู้ยิ่งใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่มหาอำนาจทั่วโลกยกให้เป็นยุทธศาสตร์หลักของตนในปัจจุบัน

ความเป็นสมาชิกที่ร่วมลงนามของอินเดียในกรอบ RCEP จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ RCEP มีโมเมนตัม (= มวล x ความเร็ว = GDP x GDP Growth) สูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป นั่นคือการเพิ่มค่า dp/dt และนั่นทำให้ แรง (F) ในการที่จะขับเคลื่อน RCEP ให้เดินหน้ากลายเป็นข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมในการยืนยันว่าทั้ง 16 ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สนับสนุนการค้าเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งเป็นการยืนยันตำแหน่งแห่งที่ของทั้ง 16 ประเทศในจุดศูนย์กลางของห่วงโซ่มูลค่าการผลิตระดับโลก (Global Value Chains: GVCs)

คำถามที่สำคัญคือ แล้วประเด็นคงค้างของอินเดียคืออะไร นั่นทำให้เราต้องไปทำความเข้าใจกับ กฎการเคลื่อนที่ข้อที่ 3 ของนิวตัน

กฎการเคลื่อนที่ข้อที่ 3 ของนิวตันระบุว่า สำหรับการกระทำใดๆ จะมีการกระทำตรงกันข้ามที่เท่ากันเสมอ หรือก็คือ การกระทำระหว่างวัตถุ 2 ชิ้นใดๆ ต่อกันและกันมีขนาดเท่ากันเสมอ และกระทำต่อส่วนที่ตรงกันข้ามกัน หรือที่เรามักจะกล่าวกันอย่างง่ายๆ ว่า action = re-action เสมอ นั่นเอง

RCEP เริ่มต้นการเจรจาในปี 2013 ด้วยกระบวนการแบบ FTA อื่นๆ ที่ทำการเจรจากันมาแล้วในอดีต นั่นคือให้คณะกรรมการเจรจา (Trade Negotiating Committee: TNC) เป็นผู้เจรจา และหากสามารถหาข้อสรุปได้ก็ให้หัวหน้าคณะกรรมการเจรจาของแต่ละประเทศเป็นผู้ลงนาม แต่หลังจากเจรจาไป 3 ปี จนถึงกำหนดเวลาหาข้อสรุปในปี 2015 การเจรจาก็ยังไม่ไปถึงไหน ทีมเจรจาในเวลานั้นจึงปรับกระบวนการเจรจาใหม่ โดยให้มีการดึงเอาระดับรัฐมนตรีลงมาเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจในกระบวนการเจรจา เกิดการประชุม RCEP Ministerial Meeting ซึ่งแน่นอนว่า Action นี้ทำให้กระบวนการตัดสินใจเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

แต่ก็เช่นเดียวกับที่นิวตันบอกเราไว้ เมื่อมี action ก็ย่อมต้องมี re-action และ re-action จากการถึงรัฐมนตรี ซึ่งเป็นภาคการเมืองเข้ามา (จากเดิมที่เป็น TNC ซึ่งเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ) นั่นเท่ากับเป็นการดึงเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) เข้ามาด้วย เพราะทุกภาคการเมืองย่อมมีนักธุรกิจและภาคประชาชนที่ทั้งสนับสนุน เห็นด้วย คัดค้าน และต่อต้านเสมอๆ

แน่นอนว่าประเทศที่มีมวลขนาดใหญ่เป็นพี่เบิ้มอย่างจีน ไม่มีปัญหาเพราะระบบพรรคของจีนที่มีลักษณะค่อนไปทางอำนาจนิยมทำให้สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ในระดับหนึ่ง แต่กับมวลขนาดใหญ่อีกก้อน อย่างอินเดีย ที่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก การเมืองท้องถิ่นหรือการเมืองภายในประเทศ คือประเด็นคงค้างที่ทำให้อินเดีย (ที่ถึงแม้ในรอบท้ายๆ จะเห็นด้วยแล้วกับทั้ง 20 ข้อบทของ RCEP) ไม่สามารถยอมรับและลงนามข้อตกลง RCEP ได้ในนาทีสุดท้าย

10 ประเด็นคงค้างของประเทศอินเดีย ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสรวบรวมจากการพบปะพูดคุยหารือกับนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของฝ่ายอินเดียจากหลากหลายสถาบัน และหลากหลายโอกาส สามารถสรุปรวมได้ดังนี้

1. ปีเริ่มต้น (base year) RCEP ริเริ่มในปี 2012 และการเจรจากรอบการค้าเสรี RCEP เริ่มต้นในปี 2013 และตั้งเป้าหมายการลดภาษีเป็น 0 ในเวลา 15 ปี ซึ่งนั่นหมายถึงปี 2028 และประเทศสมาชิกเห็นว่าในการลดภาษีควรเริ่มต้นโดยการลดอัตราภาษีจากอัตราภาษีที่แต่ละประเทศจัดเก็บในปี 2013 แต่อินเดียภายหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี Narendra Modi และคณะรัฐบาลในปี 2014 ได้มีการปฏิรูประบบภาษีและมีการปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรการนำเข้าสินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะในรายการสินค้าที่อินเดียพิจารณาว่ามีความอ่อนไหว อาทิ สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ดังนั้นอินเดียจึงอยากให้ใช้ปีเริ่มต้นในการลดภาษีจากปีที่มีการลงนามในการเจรจา (นั่นคือปี 2019) ไม่ใช่ปี 2013 และหากลงนามในปี 2020 กว่าจะมีการให้สัตยาบันของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ อาจต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี นั่นหมายความว่า หากยังยืนยันกรอบเวลาเดิม และต้องลดภาษีเป็น 0 ในปี 2028 ในขณะที่ข้อตกลงเพิ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2021/2022 นั่นเท่ากับ อินเดียจะมีเวลาน้อยมากในการปรับตัวเพื่อรับกับการค้าที่ไม่มีภาษีศุลกากร

2. โดยปกติประเทศในข้อตกลงการค้าต่างๆ สามารถขึ้นภาษีนำเข้าได้หากสามารถพิสูจน์ได้ว่า การเปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศได้รับผลกระทบ โดยต้องพิสจูน์ให้ได้ว่าเป็นเพราะข้อตกลงการค้านั้นๆ จริง และผลกระทบที่เกิดขึ้นมีนัยสำคัญ (material injuries) โดยการใช้มาตรการลักษณะนี้เรียกว่า safeguard แต่สิ่งที่อินเดียต้องการคือ auto-trigger safeguard นั่นคือ หากตรวจพบว่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิก RCEP ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ อินเดียต้องสามารถปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าได้โดยอัตโนมัติเพื่อปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศโดยไม่ต้องมีกระบวนการพิสูจน์

3. อินเดียไม่ต้องการ ratchet obligations ซึ่งคือหลักการที่ว่าภายหลังจากมีการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าไปแล้ว มาตรการทางภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ทั้งที่เคยใช้อยู่แล้ว หรือที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ จะไม่สามารถนำกลับบังคับใช้กับประเทศคู่เจรจาได้อีก ซึ่งอินเดียบอกว่าเขาไม่ขอยอมรับหลักการนี้ได้หรือไม่

4. Data localisation ภายใต้ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) data localisation หมายถึงการเก็บข้อมูลของผู้ขาย ผู้ซื้อ ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ บนโลกออนไลน์ไว้ในประเทศที่ธุรกรรมต่างๆ เกิดขึ้น คำถามที่อินเดียกังวลก็คือ ข้อมูลเหล่านี้ที่ต้องถูกนำไปจัดเก็บในบางประเทศ หากแนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (private property) ของการเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีหลักการในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ข้อมูลที่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของคน และ/หรือประเทศอินเดีย อาจจะถูกประเทศอื่นๆ เข้าถึงได้ และนั่นหมายถึงประเด็นท้าทายทางด้านความมั่นคง

5. ประเด็นการขาดดุลการค้าที่จะขาดดุลเพิ่มขึ้น ปี 2018 อินเดียขาดดุลการค้ากับ 10 ประเทศคู่เจรจา RCEP คิดเป็นมูลค่ารวม 104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่ากับ 64% ของมูลค่าการขาดดุลการค้าทั้งหมดของอินเดีย) และใน 10 ประเทศนี้ อินเดียขาดดุลการค้าให้กับจีนกว่า 53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศที่ 87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับอินเดีย จีนคือหนึ่งในคู่ค้าที่ทั้งสำคัญที่สุดและขาดดุลมากที่สุด โดย 13.6% ของมูลค่าสินค้านำเข้าที่เข้ามาในอินเดียทั้งหมดมาจากประเทศจีน และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอินเดียจะทะลุ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอินเดียมองว่ากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของ RCEP อาจจะทำให้สินค้าจากจีนใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP ในการเข้าสู่ตลาดอินเดีย โดยอินเดียไม่สามารถควบคุมได้

RCEP กำหนดให้อินเดียต้องเปิดตลาด ลดภาษี ลดมาตรการกีดกันทางการค้า กับประเทศสมาชิก RCEP ที่ 92% ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างประเทศ แต่อินเดียสามารถเปิดเสรีให้ได้ที่ระดับ 86% ของรายการสินค้าที่มีการค้าขายกับอาเซียน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และเปิดเสรีให้ได้ที่ระดับ 74% ของรายการสินค้าที่มีการค้าขายกับจีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับ 90% และ 86% รายการสินค้าที่มีการค้าขายกับทั้ง 2 กลุ่มประเทศตามลำดับ) โดยสินค้าอ่อนไหวที่อินเดียยังไม่ยอมเปิดตลาดให้กับ RCEP คือ นมและผลิตภัณฑ์นม เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม

6. นมและผลิตภัณฑ์นม ในหมู่รายการสินค้าที่อินเดียถือว่าอ่อนไหวและยังไม่ต้องการเปิดตลาด นมและผลิตภัณฑ์นม คือสินค้าที่เป็นสินค้าการเมืองและอ่อนไหวมากที่สุด ทั้งนี้เพราะ

1) แม้อินเดียจะเป็นผู้ผลิตน้ำนมรายใหญ่ที่สุดของโลก (ปีละมากกว่า 167 ล้านตัน) แต่การผลิตส่วนใหญ่ก็อยู่ในรูปแบบของเกษตรกรรายย่อย (ราว 50 ล้านราย) เป็นการผลิตแบบดั้งเดิม ดังนั้นคุณภาพของนมและผลิตภัณฑ์นมที่ได้อาจจะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้

2) เนื่องจากนมเป็นสินค้าการเมือง ดังนั้นนักธุรกิจรายใหญ่ อาทิ RS Sodhi ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย Amul ซึ่งแน่นอนว่ามีอิทธิพลต่อนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับรัฐบาลกลาง เริ่มออกมารณรงค์แล้วว่า ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีแผนการลับในการทำลายเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตน้ำนมและผลิตภัณฑ์ และจะทำให้อินเดียสูญเสียการพึ่งพาตนเองในการผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม (Hidden agenda to end India’s self-reliance in milk production)

3) เมื่อชาวอินเดียส่วนใหญ่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ดังนั้นแหล่งโปรตีนที่สำคัญที่สุดของคนอินเดียคือนมและผลิตภัณฑ์นม หากเปิดเสรีแล้วทำให้โครงสร้างราคานมและผลิตภัณฑ์นมเปลี่ยนไปในรูปแบบที่เกษตรกรรายย่อยไม่เหลืออยู่และอินเดียต้องพึ่งพานมและผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศที่มีราคาสูง จะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ โดยเฉพาะราคาอาหารจะสูงขึ้นมาก และย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาข้อเท็จจริง ในขณะที่อินเดียผลิตนมได้ปีละมากกว่า 167 ล้านตัน นิวซีแลนด์และออสเตรเลียผลิตน้ำนมได้เพียงปีละ 21.7 และ 21.3 ล้านตันเท่านั้น และเป็นนมและผลิตภัณฑ์นมที่มีราคาสูงกว่าของที่ผลิตได้ในอินเดียอย่างยิ่ง ในความเป็นจริงหากนมและผลิตภัณฑ์นมจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลียจะเข้ามาขายในตลาดอินเดียก็คงต้องขายให้กับผู้บริโภคในตลาดบนเท่านั้น

7. ยานยนต์และชิ้นส่วน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผ่าน Society of Indian Automobile Manufacturers (SIAM) และ Automotive Component Manufacturers Association of India (ACMA) พิจารณาว่า หากอินเดียไม่เข้มงวดในประเด็นกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด (Rules of Origin ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อบทที่มีความซับซ้อนและล่าช้าที่สุดในการเจรจา RCEP) RCEP จะเป็นการเปิดช่องให้สินค้าจากประเทศจีนซึ่งมีราคาต่ำกว่ามากไหลเข้ามาในประเทศอินเดียผ่านช่องทาง back-door entry route นั่นคือ การใช้มูลค่าเพิ่มร่วมกันของผลิตภัณฑ์จากจีนที่มีมูลค่าการผลิตร่วมกับประเทศอื่นใน RCEP (Cumulative Rules of Origin)

8. สิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม Confederation of Indian Textile Industry แสดงความกังวลเรื่องเส้นใย polyester ราคาถูกจากจีนและเวียดนามจะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไม่สามารถแข่งขันได้

9. สินค้าอื่นๆ นอกจากสิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่อินเดียเชื่อว่าตนเองจะไม่สามารถแข่งขันได้ ยังมีเหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก และสินค้าเกษตร ซึ่งอยู่ในข่ายเดียวกัน

10. ท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอินเดีย Piyush Goyal ประกาศในที่ประชุม US-India Strategic Partnership Forum เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2019 ว่า “Every interest of the domestic industry and people of India has to be protected before we execute any free-trade agreement. India will ensure that on services, on investments, in every aspect our national interest is protected.” ซึ่งการประกาศเช่นนี้สร้างความกังวลใจให้กับการเจรจา

ท้ายสุด ต่อคำถามที่ว่า แล้วตกลงอินเดียจะเข้าร่วมลงนามใน RCEP หรือไม่ ผมเชื่อว่าอินเดียน่าจะเขาร่วม เนื่องจาก 1. ผมได้รับข้อมูลจากหลายฝ่ายว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดียทั้งในกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงเศรษฐกิจ รวมทั้งนักวิชาการ ต่างก็มองว่าอินเดียไม่สามารถที่จะปิดประเทศแล้วพึ่งตนเอง ค้าขายแต่ในประเทศได้อีกต่อไปแล้ว ถ้าอินเดียจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ อินเดียก็ต้องยอมรับกฎกติกา ต้องยอมรับมาตรฐานสากล และ RCEP น่าจะเป็นตัวเริ่มต้นที่ดี เพราะ RCEP เองก็ให้แต้มต่อกับแต่ละประเทศจนแต่ละประเทศรู้สึกสบายใจ ในทางตรงกันข้าม หากอินเดียไม่เอา RCEP อินเดียจะไปค้าขายกับใคร เมื่อนี่คือข้อตกลงการค้าของประเทศที่อินเดียค้าขายด้วยมากที่สุด อินเดียไม่ต้องการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

2. อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่า action = re-action เมื่อการเมืองขับเคลื่อนไปข้างหน้า แต่การเมืองก็ทำให้เกิดประเด็นคงค้าง ก็ต้องไปแก้ปัญหาที่การเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดียเพิ่งจะได้รับฉันทามติจากประชาชนในการเลือกตั้งปี 2019 พรรค BJP ได้รับการสนับสนุนจนสามารถครองเสียงในรัฐสภาได้ถึง 303 ที่นั่ง จากจำนวนส.ส.ทั้งหมด 545 คน และรวมกับพรรครัฐบาลสร้างรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุน 340 เสียง นั่นทำให้นโยบายของโมดิซึ่งแม้จะมีแนวคิดแบบชาตินิยม (ค่อนข้างสุดโต่ง) แต่สำหรับเรื่องการค้าและการลงทุน รัฐบาลของโมดิมีแนวคิดเสรีนิยมและต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศอินเดียอย่างยิ่ง เห็นได้จากการ ปฏิรูประบบภาษีการค้า นโยบายส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เน้นให้แต่ละรัฐผ่อนคลายกฎระเบียบและออกมาตรการมาแข่งขันกันดึงเงินลงทุนเข้ารัฐของตนเอง

3. ปีหน้าเวียดนามจะเป็นประธานการประชุม และเวียดนามคือประเทศที่วางตำแหน่งของตนเองให้เป็นจุดศูนย์กลางของข้อตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆ ซึ่งทุกฉบับเวียดนามต้องเป็นสมาชิก เพื่อให้ทุกบริษัทที่จะนำเงินเข้ามาลงทุนในเวียดนามสามารถค้าขายกับทุกประเทศได้ด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากข้อตกลงต่างๆ เวียดนามเป็นสมาชิก CPTPP และมีข้อตกลงการค้าเสรีทั้งกับ ASEAN และ EU ดังนั้นการเกิดขึ้นของ RCEP โดยมีอินเดียจะยิ่งทำให้เวียดนามวางตำแหน่งตนเองในฐานะสะพานเชื่อม FTA ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ดังนั้นเวียดนามคงพยายามผลักดันและเร่งให้การลงนามเกิดขึ้นโดยมีอินเดียเข้าร่วม เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ตอนนี้ก็ออกมาผลักดันอย่างยิ่งที่จะให้อินเดียเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญของ RCEP

MOST READ

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save