fbpx

ว่าด้วยการเป็นประธานเอเปกของไทย: ในยุคสมัยที่วิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศพร่ามัว

รัฐบาลไทยประกาศว่าได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับการเป็นประธานความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าเอเปก (Asia Pacific Economic Cooperation – APEC) ในปี 2022 เอาไว้ทั้งสิ้น 3,283.10 ล้านบาท สำหรับจัดการประชุมระหว่างเดือนธันวาคม 2021-พฤศจิกายน 2022 รวมทั้งสิ้น 15 รายการ แบ่งเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส 5 ครั้ง ระดับรัฐมนตรี 9 ครั้ง และการประชุมระดับผู้นำอีก 1 ครั้ง

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศเมื่อรับหน้าที่ต่อจากนิวซีแลนด์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วว่า การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปกในปี 2022 นั้นถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้เปิดตัวและขับเคลื่อนการฟื้นประเทศจากโควิดไปสู่อนาคตและแสดงความพร้อมในการต้อนรับชาวต่างชาติ ตั้งแต่ผู้นำรัฐบาลของสมาชิกเอเปก นักธุรกิจชั้นแนวหน้าของโลก สื่อมวลชนชั้นนำ และผู้เกี่ยวข้องที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยตลอดทั้งปี

นายกรัฐมนตรีของไทยคนปัจจุบันซึ่งไม่ได้เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในด้านการต่างประเทศแจ่มชัดนักกล่าวในคราวเดียวกันนั้นว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ได้ร่วมผลักดันแนวคิดใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้ครอบคลุมและยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การสนับสนุนสตรีในระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การเป็นเจ้าภาพเอเปกจึงถือเป็นเกียรติและสะท้อนความเชื่อมั่นที่สมาชิกเอเปกมีต่อไทย

ในการนี้รัฐบาลได้จัดงบประมาณจำนวน 399 ล้านบาทสำหรับการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยและพ่วงผลงานสำคัญของรัฐบาลไปด้วย เพื่อให้ประชาชน “ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ และมีส่วนร่วม” ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกในครั้งนี้

บทความนี้ต้องการที่จะแสดงให้เห็นในเชิงโต้แย้งว่า โดยรวมแล้วประเทศไทยจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการเป็นเจ้าภาพอย่างที่รัฐบาลแถลงแสดงความคาดหวังเอาไว้ เนื่องจากสถานะของความร่วมมือเอเปกได้เปลี่ยนแปลงภารกิจไปอย่างมากในรอบกว่า 3 ทศวรรษหลังจากก่อตั้งมา และผู้นำรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันไม่มีแนวทางในการใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพดังกล่าวให้มีผลต่อการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ หากเพียงแต่จะฉวยใช้การประชุมและการชุมนุมของผู้นำระดับโลกเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเองเท่านั้น

ภารกิจที่แปรเปลี่ยนของเอเปก

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งในปี 1989 นั้นเกิดขึ้นเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดแล้วและความเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียกำลังเกิดขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่อย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง หรือที่รู้จักกันในเวลานั้นในนาม ‘สี่เสือแห่งเอเชีย’ อีกทั้งหลายประเทศที่พัฒนาไล่หลังกันมาอย่างไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างก็มองหาหนทางที่สร้างความจำเริญทางเศรษฐกิจเช่นกัน ดังนั้นจึงเห็นดีเห็นงามกับความริเริ่มของออสเตรเลียและญี่ปุ่นในอันที่จะจัดให้มีการประชุมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อใช้เป็นเวทีในการปรึกษาหารือเพื่อปรับนโยบายเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาให้สอดคล้องกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก

การประชุมรัฐมนตรีเอเปกเกิดขึ้นครั้งแรกเกิดขึ้นที่กรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย ในเดือนพฤศจิกายน 1989 โดยมีรัฐมนตรีจาก 12 ประเทศเข้าร่วมได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และสหรัฐฯ แต่การประชุมในครั้งนั้นยังเป็นไปในลักษณะที่ไม่เป็นทางการและหารือกันในเรื่องแนวโน้มของพัฒนาการเศรษฐกิจโลกทั่วๆ ไป การประชุมที่จริงจังมากขึ้นเกิดที่สิงคโปร์ในปี 1990 มีการกำหนด 7 โครงการที่เน้นเรื่อง การค้า การลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี โทรคมนาคม การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ประเด็นสำคัญที่จะต้องเน้นย้ำไว้ในที่นี้คือ เอเปกไม่ใช่การรวมกลุ่มกันทางการค้า (trade bloc) แต่ต้องการให้เป็นเวทีในการปรึกษาหารือ (consultative) ระดับภูมิภาคที่มุ่งเน้นเรื่องการมองออกไปข้างนอก (outward looking) และไม่มีการเลือกปฏิบัติ (Non-discriminatory) ต้องการให้เอเปกเป็นเสมือนองค์การร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development – OECD) หรือ โออีซีดีแห่งเอเชีย[1]

การประชุมที่สิงคโปร์มีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ได้กำหนดให้มีการขยายสมาชิก เพราะจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ต้องการที่จะเข้าร่วมเอเปกด้วยฐานะที่แตกต่างกันและในความเป็นจริงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน ฮ่องกงยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษตามสัญญาเช่า ส่วนไต้หวันถือตัวว่าเป็นประเทศเอกราชแยกจากจีน (แม้รัฐบาลปักกิ่งจะไม่ยอมรับแต่ก็ปกครองไต้หวันไม่ได้จริงๆ) นั่นจึงเป็นเหตุให้มีการเรียกสมาชิกเอเปกว่าเป็นเขตเศรษฐกิจไม่ใช่ประเทศ ผู้แทนของสมาชิกทั้ง 3 เขตเศรษฐกิจได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมเอเปกครั้งแรกในปี 1991 ที่เกาหลีใต้

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งแรกในเดือนกันยายน 1992 ในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีที่มีอาสา สารสิน รัฐมนตรีต่างประเทศ และอมเรศ ศิลาอ่อน รัฐมนตรีพาณิชย์ร่วมกันเป็นประธาน โดยมีการหารือกันในประเด็นสำคัญคือการค้าและการลงทุนในภูมิภาค การเจรจาการค้ารอบอุรุกกวัย แผนการทำงานและอนาคตของเอเปก[2] และที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการประกาศจัดตั้งสำนักเลขาธิการเอเปกให้มีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินงานของเอเปก[3]

การประชุมที่เรียกว่าเป็นการประชุมสุดยอดของเอเปกเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1993 ที่ซีแอตเติล สหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน และนายกรัฐมนตรีของไทยที่ไปร่วมประชุมในคราวนั้นคือชวน หลีกภัย โดยเนื้อหาสาระของการประชุมที่สำคัญคือสมาชิกเอเปกจะร่วมกันผลักดันให้การเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยประสบผลสำเร็จให้ได้ภายในเดือนธันวาคมปีนั้น[4]

การประชุมสุดยอดในปีถัดมาที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ก็จัดได้ว่าเป็นการประชุมที่มีความหมายมากต่อทิศทางเศรษฐกิจของโลก การประชุมเอเปกในคราวนั้นต้องการที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับการค้าพหุภาคีที่เปิดกว้าง เปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และขยายความร่วมมือในการพัฒนา ผลักดันการบังคับใช้ข้อตกลงในการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัย และสนับสนุนแนวทางการจัดระเบียบการค้าภายใต้องค์การการค้าโลกซึ่งจัดตั้งขึ้นสำเร็จในปี 1995 ที่สำคัญที่สุดคือ มีการกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่รู้จักกันในนามโบกอร์โกลด์ (Bogor goal) เพื่อเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนภายในปี 2020[5] การประชุมเอเปกทั้งในระดับรัฐมนตรีและระดับผู้นำในปีต่อๆ มาจนกระทั่งสิ้นศตวรรษที่ 20 ก็ล้วนแล้วแต่เน้นย้ำแนวทางการเปิดเสรีทางด้านการค้าและการลงทุน จำนวนสมาชิกที่สนใจจะร่วมเวทีเอเปกก็เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็น 21 เขตเศรษฐกิจ เมื่อเปรู รัสเซีย และเวียดนาม เข้าร่วมในปี 1998 ซึ่งมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ

เมื่อขึ้นสู่ศตวรรษที่ 21 โลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ เผชิญหน้ากับปัญหาอย่างใหม่นั่นคือการก่อการร้าย หลังจากเหตุการณ์ 9/11 ถล่มตึกเวิร์ดเทรดที่นครนิวยอร์กในปี 2001 การประชุมสุดยอดเอเปกที่เซียงไฮ้ในปีนั้นก็จำเป็นต้องออกแถลงการณ์ต่อต้านการก่อการร้ายตามกระแสของโลก และนับเป็นครั้งแรกที่เอเปกต้องตอบสนองต่อประเด็นปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ[6] แต่เอเปกก็ไม่ได้ละทิ้งประเด็นทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นหัวใจของความร่วมมือแต่อย่างใด เพราะในช่วงนั้นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว การประชุมสุดยอดในปีนั้นจึงได้เน้นความร่วมมือที่จะช่วยให้สมาชิกสามารถรับมือกับสภาพเศรษฐกิจในตอนนั้นและเน้นการป้องกันลัทธิกีดกันทางการค้าและใช้ประโยชน์จากองค์การการค้าโลกให้มากที่สุด[7] ผู้นำเอเปกอนุมัติ Shanghai Accord และ e-APEC strategy ซึ่งสนับสนุนให้สมาชิกออกนโยบายที่เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล

ประเทศไทยมีโอกาสเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอเปกครั้งแรกในปี 2003 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวแต่ยังเผชิญหน้ากับปัญหาความมั่นคงนอกแบบคือภัยก่อการร้ายและโรคระบาด SARS การประชุมเอเปกในปีนั้นกำหนดหัวข้อใหญ่ว่า ‘โลกแห่งความแตกต่าง: หุ้นส่วนสู่อนาคต’ มุ่งเน้นการส่งเสริมการเปิดเสรีทางด้านการค้าและการลงทุน ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบพหุนิยม ปฏิรูปภาคเกษตร เน้นการเข้าถึงตลาดสินค้าและบริการ[8] และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผู้นำเอเปกต้องพิจารณาประเด็นปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจคือเรื่องโรคระบาด และความร่วมมือในระบบสาธารณสุข มีการออกแผนปฏิบัติการว่าด้วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS Action Plan on Severe Acute Respiratory Syndrome)

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยสมัยนั้นใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพเอเปกในด้านอื่นๆ ด้วย กล่าวคือ มีการส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนผลิตสินค้าหรือที่รู้จักกันในนาม ‘หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์’ (One Tambon, One Product – OTOP) เช่น ไวน์ ผ้าไหม ชามเบญจรงค์ มาจำหน่าย โชว์ และแจกจ่ายให้ผู้นำและแขกต่างประเทศได้บริโภคและนำติดมือกลับบ้าน เพื่อเป็นการสนับสนุนสินค้าที่ออกแบบและผลิตในประเทศไทยให้ไปสู่ตลาดโลก ซึ่งนับได้ว่าเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประชุมระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการสร้างความประหลาดใจให้กับทั้งผู้นำต่างประเทศและประชาชนในประเทศด้วยการจัดแสดงขบวนเสด็จทางชลมารคในเวลากลางคืนอันเป็นสิ่งที่ผิดแผกจากจารีตประเพณีดั้งเดิมของไทยที่จะมีเพียงกษัตริย์เท่านั้นที่จะเดินทางโดยขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างมากในเวลานั้นถึงความเหมาะสม แต่ก็ทำให้ผู้คนจดจำการประชุมเอเปกได้จนบัดนี้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไปน้อยมากก็ตาม

เอเปก 2022

ประเทศไทยได้แจ้งความประสงค์ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกระหว่างที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปประชุมสุดยอดที่วลาดิวอสตอค รัสเซีย ปี 2012 คือ 10 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นเวลาที่ยิ่งลักษณ์คงไม่คิดว่าตัวเองจะได้อยู่เป็นประธานที่ประชุม ประยุทธ์อาจจะยังไม่คิดเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจะได้มีโอกาสจัดการประชุมนั้นเช่นกัน การเป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมผู้นำนานาชาติจึงเป็นเรื่องของประเทศโดยองค์รวมไม่ใช่กิจกรรมส่วนบุคคลของนักการเมืองคนใด

ในทำนองเดียวกันการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมก็เป็นสิ่งที่สมาชิกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่ตามความพร้อม ไม่ได้กำหนดเรียงตามตัวอักษรเหมือนการเป็นประธานกลุ่มอาเซียน ในบรรดาสมาชิกเอเปกด้วยกันนั้น 11 รายเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมาแล้ว 2 ครั้ง 7 รายเคยจัดเพียงครั้งเดียว มีเพียงฮ่องกง ไต้หวัน เท่านั้นที่ไม่เคยเป็นเจ้าภาพเอเปกเลยสักครั้งนับแต่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี อันเนื่องมาจากปัญหาความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเอาเข้าจริงเอเปกก็ข้ามไม่พ้นปัญหาทางการเมืองและเขตอำนาจอธิปไตย

รัฐบาลไทยในชุดปัจจุบันรับหน้าที่ในการจัดการประชุมในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะตกต่ำอันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งเกิดมาก่อนหน้า 3 ปีและสงครามที่เกิดจากสมาชิกเอเปกรายหนึ่งคือรัสเซียส่งกำลังทหารบุกยูเครนและผนวกดินแดนส่วนหนึ่งเอาไว้แล้ว จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องคิดค้นหาแนวทางที่จะใช้ที่ประชุมเอเปกให้ตอบสนองต่อกระแสความเปลี่ยนแปลง  

ธีมหรือหัวข้อหลักในการประชุมเอเปกในประเทศไทยปีนี้ คือ ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยง สู่สมดุล’ (Open Connect Balance) แต่ดูเหมือนการแปลความหมายของหัวข้อหลักนั้นจะยึดภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทยที่มุ่งแค่ความคล้องจองของถ้อยคำ กล่าวคือความจริงแล้วคำว่าเปิดกว้างหมายถึงการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน แต่รัฐบาลไทยต้องการให้เอเปกนั้นพูดถึงการเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน เพี่อส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

แต่นั่นก็เป็นการแปลความที่แตกต่างจากวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของเอเปกที่มุ่งหมายให้เอเปกเป็นเวทีปรึกษาหารือเรื่องการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ไม่ใช่เพื่อการรวมตัวหรือผนึกกันในทางเศรษฐกิจแบบประชาคมอาเซียน หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans Pacific Partnership – CPTPP)

นอกจากนี้แล้วคำว่าเชื่อมโยง รัฐบาลไทยต้องการให้เอเปกเชื่อมโยงทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย หลังจากที่สมาชิกทั้งหลายต่างต้องทำการล็อกดาวน์เพื่อรับมือกับโควิดซึ่งเป็นการขัดขวางการเชื่อมโยงทางกายภาพ แต่ในด้านหนึ่งมาตรการนั้นกลับช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงทางด้านดิจิทัล ตามที่รัฐบาลไทยอยากจะเห็นเช่นกัน การประชุมเอเปกในปีก่อนๆ นั้นทำกันผ่านออนไลน์ ปีนี้เป็นปีแรกหลังการระบาดของโควิดที่การประชุมเอเปกกลับมาทำกันแบบดั้งเดิม จนทำให้เกิดประเด็นปัญหาว่าผู้นำคนใดจะเดินทางมาประชุมในประเทศไทยกันบ้าง

อีกคำหนึ่งคือคำว่าสมดุล รัฐบาลไทยต้องการให้เอเปกพูดกันเรื่องการเจริญเติบโต (ทางเศรษฐกิจ) ที่เน้นเรื่องความสมดุลในทุกด้านมากกว่าการสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ซึ่งเป็นอุดมคติที่ขัดแย้งกับระบบทุนนิยมอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ประเทศไทยผลักดันแบบแผนทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ( Bio-Circular-Green Economy Model) เข้ามาเป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนประเด็นเข้าสู่การประชุมเอเปกในปีนี้ แต่เนื่องจากแบบแผนทางเศรษฐกิจ BCG นั้นก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเพียงแนวความคิดที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ผู้แทนไทยแม้แต่ในระดับเจ้าหน้าที่ (ไม่ต้องพูดถึงระดับผู้นำซึ่งน่าจะยังไม่เข้าใจแนวคิดนี้ถ่องแท้นัก) คงไม่สามารถนำเสนอให้สมาชิกเอเปกมองเห็นประเด็นสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจในแนวทางนี้ได้

แนวคิดทางเศรษฐกิจ BCG นี้พัฒนาโดยชุมชนวิชาการโดยหน่วยงานหลักที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้คือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้วผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนด้วยการตั้งขึ้นเป็นคณะกรรมการเรียกว่า คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (ซึ่งพอจะทำให้เห็นอนาคตแล้วว่าคงจะไปได้ไม่ถึงไหน) และหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนี้คือกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งก็ยังขับไปได้ไม่ถึงไหนอีกเช่นกัน เพราะนับแต่ได้รับมอบหมายตั้งแต่ปีที่แล้ว กระทรวงนี้เพิ่งจะทำแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อน BCG แล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นี่เอง นั่นหมายความว่าหากมีผู้แทนสมาชิกเอเปกคนใดถามหาความสำเร็จหรือต้นแบบของเศรษฐกิจแบบนี้ ผู้แทนไทยก็จะไม่มีอะไรแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนรัฐบาลไทยก็พยายามจะพูดถึงแนวคิดนี้ในการประชุมเอเปก วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวในการเปิดประชุมรัฐมนตรีป่าไม้เอเปกเมื่อเดือนสิงหาคมที่เชียงใหม่ว่า ประเทศไทยใช้เศรษฐกิจ BCG ในการเอาชนะปัญหาสิ่งแวดล้อม “แนวคิดนี้ยืนอยู่พื้นฐานของวิธีทางเศรษฐกิจ 3 แบบโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าและส่งเสริมแบบแผนทางธุรกิจที่ยั่งยืน”[9] แม้ว่ารัฐมนตรีของไทยจะไม่ได้ขยายความในรายละเอียดหรือได้แสดงความสำเร็จของโมเดลนี้ แต่แถลงการณ์ของประธานซึ่งเตรียมโดยเจ้าภาพเพื่อออกหลังการประชุมก็ปรากฎถ้อยคำที่ว่าเอเปก “สนับสนุนให้มีการประยุกต์ใช้แนวคิดที่มองภาพเป็นองค์รวม (holistic) เช่น BCG ในภาคป่าไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน”[10] อยู่ในย่อหน้าสุดท้ายของแถลงการณ์

เอกสารที่สำคัญฉบับหนึ่งที่สะท้อนหัวข้อหลักและโมเดลเศรษฐกิจที่ไทยต้องการผลักดันและสถานการณ์การระบาดของโควิดได้ค่อนข้างครบถ้วนคือแถลงการณ์ของประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกเมื่อเดือนพฤษภาคม กล่าวคือในเรื่องการเปิดกว้าง ที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญระบบการค้าแบบพหุภาคีที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบที่มีองค์การการค้าโลกเป็นแกนนำ เฉพาะอย่างยิ่งพิจารณาถึงการอำนวยความสะดวกให้กับการไหลเวียนของสินค้าจำเป็นในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิดและใช้ถ้อยแถลงของเอเปกว่าด้วยเรื่องวัคซีน และการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็นให้เกิดประโยชน์ต่อความร่วมมือในการต่อต้านโควิดให้มากที่สุด ในเรื่องการเชื่อมโยงนั้นที่ประชุมเห็นความจำเป็นของการเร่งเปิดรับการเดินทางข้ามแดนอย่างไร้รอยต่อโดยไม่ให้กระทบต่อการป้องกันโควิด และสนับสนุนการทำงานของ Safe Passage Taskforce ซึ่งเป็นคณะทำงานเฉพาะที่เอเปกตั้งขึ้นเพื่อหามาตรการที่ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างกันเกิดขึ้นได้อย่างไร้รอยต่อและปลอดภัย ในส่วนของการสร้างสมดุลนั้น ถ้อยแถลงของประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปกได้รวมเอาโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาไว้ด้วย โดยระบุว่า สนับสนุนให้ผู้นำเอเปก (ที่จะประชุมกันในเดือนพฤศจิกายน) ออกแถลงการณ์แยกต่างหากว่าด้วยการสนับสนุน BCG ว่าเป็นแนวทางที่จะใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดอย่างสมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน[11]

แต่เมื่อกล่าวถึงความมั่นคงทางอาหาร ถ้อยแถลงของประธานที่ประชุมรัฐมนตรีการค้า กลับพลาดโอกาสที่จะพูดว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ทั้งๆ ที่ประเด็นเรื่องสงครามเป็นผลให้การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกในกรุงเทพฯ คราวนี้ไม่สมบูรณ์ เพราะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แคทเธอรีน ไท พารัฐมนตรีจากแคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย เดินออกจากที่ประชุมเพื่อเป็นการประท้วงการบุกยูเครนของรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์[12]

บทส่งท้าย เพื่อต้อนรับการประชุมสุดยอดเอเปก

ดอน ปรมัตวินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศพูดที่นิวยอร์กระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติ เสนอให้ผู้นำของโลกที่เป็นสมาชิกเอเปกใช้เวทีการประชุมในประเทศไทยเป็นสถานที่ในการพบปะกันเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ของโลกคือสงครามรัสเซียบุกยูเครน เมื่อรู้ข่าวประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะไม่เดินทางมาร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ทั้งๆ ที่ผู้นำสหรัฐฯ ก็มีกำหนดการเดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อร่วมประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน อยู่แล้ว แต่กลับเห็นงานแต่งงานหลานสาวสำคัญกว่าการประชุมเอเปกในประเทศไทย

ความจริงการไม่ปรากฏตัวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการประชุมสุดยอดเอเปกก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ บารัค โอบามา ไม่ได้ร่วมเอเปกในปี 2013 โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ร่วมในปี 2018 ต่างส่งรัฐมนตรีต่างประเทศบ้าง รองประธานาธิบดีบ้างไปร่วมประชุมแทน แต่ไม่ได้หมายความว่าเอเปกไม่สำคัญกับสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ กำลังจะเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดเอเปกอีกครั้งในปี 2023 ก็จะทำให้กลายเป็นสมาชิกรายแรกที่จัดประชุมสุดยอดเอเปก 3 ครั้ง

แต่การไม่มาร่วมประชุมเอเปกในประเทศไทยทำให้ผู้นำไทยในฐานะเจ้าภาพรู้สึกผิดหวังอย่างแรง ที่ผู้นำของโลกไม่เห็นพวกเขาอยู่ในสายตา แต่การที่รัฐมนตรีต่างประเทศไทยพยายามจะจูงใจให้เขามาคุยกับผู้นำคนอื่น (ซึ่งยังไม่ได้ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะมาด้วยซ้ำไป) ด้วยเรื่องที่ไทยเองไม่เคยแสดงความกระตือรือร้นมาก่อนว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย กรณีจะผิดจากประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซีย ที่อาศัยฐานะประธานการประชุมกลุ่ม G20 เดินทางไปพบและเชิญทั้งวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย และโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้แห่งยูเครน ไปเยือนอินโดนีเซียระหว่างการประชุมกลุ่ม G20 ทั้งสองตกปากรับคำ ก็น่าจะเป็นเหตุให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เห็นโอกาสที่จะได้พบบุคคลทั้งสองที่อินโดนีเซีย ดังนั้นผู้นำรัฐบาลไทยจึงไม่ควรแสดงความคาดหวังผลกำไรจากกิจการที่ตัวเองไม่ได้ลงทุน

สิ่งที่สำคัญกว่าซึ่งผู้นำรัฐบาลไทยควรให้ความสนใจและลงทุนลงแรงคือการทำให้การประชุมเอเปกเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ ธุรกิจและประชาชนไทยให้เป็นรูปธรรม ให้คุ้มค่ากับเงินลงทุนกว่า 3 พันล้านบาทที่จะต้องเสียไป ซึ่งจะขอเสนอดังต่อไปนี้

ประการแรก พิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่นำเสนอในเอเปกนั้น เป็นสิ่งที่เป็นจริงได้ในประเทศไทย หากปรากฏว่ามีชุมชนใด จังหวัดใด โครงการใด นำเอาแนวคิดนี้ไปดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมได้บ้าง ก็สมควรจัดแสดงหรือพาแขกบ้านแขกเมืองไปชมให้เป็นบุญตา เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับท้องถิ่นของตัวสมความปรารถนาของเจ้าภาพผู้นำเสนอ

ประการที่สอง แสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อันเกี่ยวเนื่องกับหรือจะใช้ประโยชน์ตามแนวคิด BCG เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นใดที่วิจัยและพัฒนาในประเทศไทย ให้เวทีประชุมเอเปกมองเห็น อย่างน้อยที่สุด วัคซีนชนิดพ่นป้องกันโควิดที่ศูนย์ไบโอเทคของ สวทช. คนต้นคิด BCG กำลังพัฒนาอยู่ก็สมควรได้รับการโปรโมตในเอเปก เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศของคนเพ้อเจ้อพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ แต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศจริงๆ

ประการที่สาม ให้นำผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด BCG มาให้แขกและผู้นำต่างประเทศที่มาประชุมเอเปกใช้สอยหรือรับประทานระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม โฆษกรัฐบาลต้องอธิบายได้ว่า ผักออร์แกนิก (ประเทศไทยไม่น่าจะมีผักสังเคราะห์) ไก่ฟ้าโครงการหลวง กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต ไข่เป็ดไล่ทุ่งสุพรรณ เกลือเมืองเพชร กุ้งแม่น้ำอยุธยา ไก่ออร์แกนนิคนครปฐม (ดูเหมือนชาวนครปฐมไม่ได้ผลิตเนื้อไก่สังเคราะห์เช่นกัน) ไข่ปลากุเลาแดดเดียวปัตตานี ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา และ กาแฟเมืองน่าน ที่จะนำมาปรุงอาหารให้กับผู้นำเอเปกรับประทานในงานเลี้ยงอาหารค่ำนั้นผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  

แน่นอนรายการอาหารที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะขึ้นชื่อลือชาในประเทศไทย แต่มันไม่เข้ากับแนวคิดและหัวข้อหลักที่ประเทศไทยนำเสนอในที่ประชุมเอเปก ทำไมไม่เอาผ้าใยทุเรียนเปลือกที่ปลูกด้วยดินภูเขาไฟที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งสะท้อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะเป็นการนำเอาเปลือกทุเรียนซึ่งควรจะทิ้งมาเป็นวัตถุดิบ ตัดเสื้อให้ผู้นำใส่แล้วห่อเป็นของขวัญให้ไปใช้ในบ้านเมืองของเขา แนะนำให้เป็นที่รู้จักขึ้นชื่อลือชา ชวนให้ระลึกถึงการประชุมเอเปกในประเทศไทยตราบชั่วชีวิตของพวกเขา

ข้อมูลจำเพาะเอเปกและการประชุมในไทย

ชื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ก่อตั้ง1989
สมาชิก21 เขตเศรษฐกิจ: ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ซิลี จีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม๊กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไทย สหรัฐฯ เวียดนาม
ขนาดเศรษฐกิจรวมกัน52 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (55 % ของ GDP โลก)
คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจรวมของภูมิภาค2.5 % (2022) 2.6 % (2023)
ประชากรรวม2.9 พันล้านคน (38 % ของประชากรโลก)
การค้ารวม48 % ของโลก (ข้อมูลปี 2020)
การลงทุนเข้าสู่ภูมิภาค1.1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ข้อมูล 2021)
ผลิตก๊าซเรือนกระจก60 % ของโลก
ผลิตคาร์บอนไดอ๊อกไซค์65 % ของโลก
การเป็นเจ้าภาพของไทยการประชุมระดับรัฐมนตรี (1992) การประชุมสุดยอด (2003, 2022)
หัวข้อหลักเปิดกว้าง เชื่อมโยง สมดุล
ความริเริ่มที่ไทยนำเสนอในที่ประชุมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการฟื้นตัวหลังโรคระบาดโควิด
งบประมาณในการจัดการประชุมตลอดปี 20223,283.10 ล้านบาท
งบประมาณการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน399 ล้านบาท
กำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (เฉพาะการประชุมสุดยอด)15,000 คน
ที่มา: APEC Policy Support Unit และ รวบรวมโดยผู้เขียน


[1] APEC Policy Support Unit. APEC at 30: A Regional in Constant Change. May 2019 p. 1 (https://www.apec.org/docs/default-source/publications/2019/5/apec-regional-trends-analysis—apec-at-30/219_psu_arta_may-2019.pdf?sfvrsn=2a3e7ae3_1)

[2] APEC Ministerial Meeting September 10-11, 1992 Bangkok, Thailand (https://www.apec.org/meeting-papers/annual-ministerial-meetings/1992/1992_amm)

[3] Bangkok Declaration on Asia Pacific Economic Cooperation (https://www.apec.org/meeting-papers/annual-ministerial-meetings/1992/1992_amm/annex3)

[4] 1993 Leaders Declaration November 20,1993 Blake Island, Seattle, the United States (https://www.apec.org/meeting-papers/leaders-declarations/1993/1993_aelm)

[5] 1994 Leaders Declaration November 14, 1994. Bogor, Indonesia (https://www.apec.org/meeting-papers/leaders-declarations/1994/1994_aelm)

[6] Statement on Counter Terrorism (https://www.apec.org/meeting-papers/leaders-declarations/2001/2001_aelm/statement_on_counter-terrorism)

[7] 2001 Leaders’ Declaration October 21, 2001 Shanghai, China (https://www.apec.org/meeting-papers/leaders-declarations/2001/2001_aelm)

[8] 2003 Leaders’ Declaration October 12, 2003 (https://www.apec.org/meeting-papers/leaders-declarations/2003/2003_aelm)

[9] “APEC to strengthen Cooperation in Sustainable Forest Management” 5th APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry, Chiang Mai, Thailand August 25, 2022 (https://www.apec.org/press/news-releases/2022/apec-to-strengthen-cooperation-in-sustainable-forest-management)

[10] Statement of the Chair- 5th Meeting of Minister Responsible for Forestry 2022, Chiang Mai, Thailand August 25,2022 (http://mddb.apec.org/Documents/2022/MM/FTMM/22_ftmm_stmt.pdf)

[11] Statement of the Chai Misters Responsible for Trade Meeting 2022, Bangkok Thailand, May 21-22, 2022 (http://mddb.apec.org/Documents/2022/MM/MRT/22_mrt_jms.pdf)

[12] “US, others walk out of APEC talks over Russia’s Ukraine invasion”. Reuters May 21, 2022 (https://www.reuters.com/world/us-others-walk-out-apec-talks-over-russias-ukraine-invasion-officials-2022-05-21/)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save