fbpx

อนาคตประชาธิปัตย์ รัฐบาล และประชาธิปไตยไทย กับ อันวาร์ สาและ

ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากรัฐบาล อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการรับมือวิกฤตของรัฐบาลปัจจุบัน หนึ่งในคลื่นที่กระทบรัฐนาวาระหว่างมรสุมครั้งนี้คือการลาออกจากตำแหน่งของรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากกระแสความคิดอันแตกต่างที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึง ‘คลื่นใต้น้ำ’ ในรัฐบาลปัจจุบันที่ยังไม่เปิดเผยตัว

พรรคประชาธิปัตย์จะหยัดยืนต่อไปอย่างไรท่ามกลางรัฐบาลที่ล้มเหลวในการบริหาร รัฐบาลจะฝ่าวิกฤตอย่างไรท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ยุบสภา และประชาธิปไตยไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรหลังจากนี้

101 ชวน อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ผู้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พูดคุยถึงความหวังของเขาในการพลิกฟื้นพรรคประชาธิปัตย์เพื่อสร้างศรัทธาจากประชาชน และทางออกจากวิกฤตที่สังคมกำลังเผชิญหน้าร่วมกัน

:: จดหมายฉบับที่หนึ่งจากอันวาร์ สาและ ::

ผมสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี 2548 ปีนี้เข้าสมัยที่ 4 แต่ 3 สมัยที่ผ่านมาแทบไม่มีบทบาทในพรรคเลย เพราะไม่ได้อยู่ในฝ่ายบริหาร พอเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาถูกเลือกให้เป็นรองเลขาธิการพรรค ผมก็ตั้งใจทำงาน และคอยสะท้อนเสียงจากประชาชนให้พรรคฟังอยู่เสมอ 

หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ที่สมาชิกพรรคทยอยลาออก ไม่ว่าจะเป็นคุณกรณ์ จาติกวณิช  คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หรือ สมาชิก สก. สข. ในกรุงเทพฯ เราซึ่งเป็นหนึ่งในทีมกรรมการบริหารพรรคก็ปล่อยเรื่องนี้ไปไม่ได้ และต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพราะ หนึ่ง การทยอยออกของสมาชิกหลักไม่เป็นผลดีต่อภาพพจน์ของพรรค สอง ภาพพจน์เช่นนี้จะทำให้ประชาชนเกิดคำถามและอาจมีผลต่อคะแนนเสียงของพรรค ผมก็เริ่มส่งหนังสือเรียกร้องมาตั้งแต่ช่วงนั้น เพื่อให้มีหลักฐานชี้ชัดว่าเคยเรียกร้องอะไรไปและสิ่งที่เสนอถูกนำไปปฏิบัติอย่างไรบ้าง

ครั้งหนึ่งผมเคยโหวตสวนประเด็นเรื่องการตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษา ม.44 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นคนยื่นญัตติเรื่องนี้ แต่อยู่มาวันหนึ่งบอกไม่เอาแล้ว ขอให้ถอน ผมก็รู้สึกว่าทำได้อย่างไร ในเมื่อเรื่องนี้กระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ เราก็ควรยกเลิก ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แต่การทำแบบนี้เหมือนทำตามใบสั่ง วิธีแบบนี้ผมรับไม่ได้ เพราะถ้าสังคมถามมา ผมจะตอบอย่างไร อย่างน้อยที่สุดควรต้องให้เกียรติระหว่างกัน

ผมประกาศก่อนมีมติด้วยซ้ำว่าจะโหวตสวน และชี้แจงเหตุผลเป็นข้อๆ ว่าทำไมถึงงดออกเสียง เพราะทางพรรคก็เคยกล่าวไว้ว่าเราต้องร่วมรัฐบาลด้วยความจริงใจ ฉะนั้นถ้าเรื่องไหนล่อแหลมและขัดต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชน ผมก็มีสิทธิพูดและมีความชอบธรรมที่จะท้วงติง อย่าลืมว่าผมเป็นแค่ผู้นำสารเท่านั้น นี่เป็นเสียงสะท้อนจากประชาชน ผมที่เป็น ส.ส. ก็มีหน้าที่ต้องพูดเพื่อหาแนวทางแก้ไข

:: เพราะเสียงของผู้แทนราษฎร
คือเสียงสะท้อนของคนในพื้นที่ ::

ฟางเส้นสุดท้ายคือการบริหารวัคซีนของรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ตอนนั้นยังไม่มีการระบาดรอบที่ 3 ผมเสนอตั้งแต่ตอนแรกว่ารัฐบาลต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 80% ของประชากร และให้เร่งฉีดกับคนในกรุงเทพฯ ก่อน อย่างน้อยๆ จะช่วยยับยั้งการระบาดของเชื้อได้ดีที่สุด และลำดับต่อไป ขอให้เร่งส่งวัคซีนที่มีคุณภาพกลับไปที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะพฤติกรรมของคนใน 3 จังหวัดต่างจากคนภูมิภาคอื่น เขามีการรวมกลุ่มและมีการละหมาดตามหลักศาสนาตลอด ผมถึงขั้นไปคุยกับในพื้นที่ว่าขอให้พี่น้องอดทดและเสียสละเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่เสี่ยงให้เรียบร้อยก่อน

ช่วงหลังที่เกิดการระบาดรอบ 3 ก็เป็นอย่างที่ผมเตือน ทุกวันนี้ 3 จังหวัดติดอยู่ใน 10 อันดับจังหวัดเสี่ยงตลอด เศรษฐกิจของชาวบ้านแย่มาก เพราะคนใน 3 จังหวัดแสนกว่าคนทำงานอยู่ที่มาเลเซีย แต่หลังจากที่โควิดระบาด เขตแดนของประเทศมาเลเซียก็ถูกปิด เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของคน 3 จังหวัด 

ผมพยายามจะเรียกร้องว่าจะชดเชยรายได้ชาวบ้านได้อย่างไรบ้างในสภาวะที่ยังกลับไม่ได้ เพราะประเทศไทยมีการควบคุมจำนวนคนเข้าออกนอกประเทศ ช่วงแรกของการระบาดเปิดให้ผ่านด่านได้แค่วันละ 100-200 คนเท่านั้น แล้วลองคิดภาพว่าจำนวนคนที่ต้องการเดินทางจริงๆ มีเป็นแสนคน สุดท้ายก็เลยเกิดปัญหาคนลักลอบเดินทางทะลักเส้นทางธรรมชาติตามมา 

ผมเตือนมาทุกอย่าง แต่เตือนแล้วพรรคก็ไม่มีคำตอบหรือไม่มีคำชี้แจงอะไรกลับมาให้ ซึ่งการที่เขาจะรับเงื่อนไขหรือไม่ มันเกินอำนาจของผม แต่ผมมองว่าการที่ผมอยู่ในกรรมการบริหารพรรค หรือในฐานะรองเลขาธิการพรรค ถ้าอยู่แล้วไม่ได้เป็นประโยชน์ ผมจะอยู่ทำไม หรือผมคงอ่อนด้อยทางประสบการณ์ ถ้าอย่างนั้นก็เชิญหาคนเก่งมาทำ ผมขอพิจารณาตัวเอง 

:: พรรคเก่า คนเก๋า อย่าเก่าตาม ::

กรณีที่คุณอภิสิทธิ์ออกมาบอกว่าจะไม่หนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นจุดที่พรรคต้องแก้ไข ในต่างประเทศ คนที่จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคหรือขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ ต้องประกาศนโยบายให้ชัดว่าจะเดินไปทิศทางไหน แต่ของประชาธิปัตย์เอง แต่เดิมสิ่งที่หัวหน้าพรรคหาเสียงนั้นมีทิศทางชัดเจนจนแทบจะเป็นนโยบายด้วยซ้ำ แต่พอถึงวันหนึ่งเรากลับเลือกมติของพรรคโดยไม่ฟังหัวหน้า ถ้าอย่างนั้นแปลว่าหลังจากนี้เราต้องแก้ข้อบังคับเสียใหม่ หัวหน้าพรรคจะหาเสียงอะไรก็ให้เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ส่วนพรรคจะไปทิศทางไหนก็ต้องมาจากมติพรรคเท่านั้น เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องแก้ไขให้ชัดเจน เพราะในข้อข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เราต้องมีคำชี้แจงต่อประชาชนให้ได้

หลักง่ายๆ ที่ผมมักจะพูดอยู่หลายครั้งคือ  เราต้องทำถูกให้เป็นถูก ผิดให้เป็นผิด ไม่ต้องใช้ตรรกะหรือเหตุผลซับซ้อนมากมาย ผมเป็นคนแรกๆ ที่เสนอให้ท่านนายกฯ พิจารณาเรื่องลาออกกับยุบสภา การปฏิวัติในประเทศเราติดอันดับต้นๆ ของโลก สาเหตุที่ประชาธิปไตยบ้านเราไปไม่ถึงไหนเพราะเราเดินไปไม่สุดทาง ผมเรียกร้องตรงนี้ว่าต่อไปอย่าให้เกิดปฏิวัติอีกเลย

อย่าลืมว่าอำนาจในประเทศไทยมีอยู่ 3 หลักคือบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แต่วันนี้เหมือนอำนาจบริหารควบคุมนิติบัญญัติ พรรคร่วมรัฐบาลอย่างเราแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เราถอนไหม ถอดสลักตรงนี้ เอากองฟืนออกจากกองไฟ ถ้าเขาไปต่อไม่ได้ก็ไม่ปฏิวัติแน่ หรือถ้าเราถอนแล้ว รัฐบาลเกิดปัญหา ทำงานไม่ได้ และกลับมาบอกว่าประชาธิปัตย์มาร่วมมือกันอีกทีได้ไหม รอบนี้เราก็ต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจน จะมาให้เขาทำแบบเดิมไม่ได้ คุณต้องฟังเราด้วย แต่ถ้าสุดท้ายแล้วไปต่อไม่ได้ก็ยุบสภา และคืนอำนาจกลับให้ประชาชน 

ในสถานภาพที่ผมทำได้ ผมก็ทำเท่าที่ทำได้ทุกอย่าง บางครั้งอาจจะค้านกับความรู้สึกของคนในพรรคบ้าง แต่วันนี้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะ ส.ส. หลายคนที่ตอนแรกไม่เข้าใจวิธีการทำงานผม มาวันนี้หลายคนก็ให้กำลังใจ และหลายประเด็นก็เห็นด้วย ผมเข้าใจว่าแต่ละคนอาจจะมีข้อจำกัด หลายคนกลัวว่าถ้าอยู่แบบผม วันหนึ่งพรรคอาจจะไม่ส่งคุณเป็น ส.ส. ด้านพรรคเองก็บอกว่าเราต้องเป็นหนึ่งเดียวไม่อย่างนั้นจะเกิดความแตกแยกในพรรค แต่ผมมองว่าการทำงานในสถานภาพนี้ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือประชาชน เพราะเสียงของประชาชนต่างหากที่จะชี้ขาดว่าใครจะเป็นตัวแทนเขาในสภา ผมถึงกล้าเดินออกมาในรูปแบบนี้ 

และผมอยากจะเตือนว่าระวังนะครับ เสียงที่สะท้อนออกไปบ่อยๆ อาจเป็นกระแสเสียงว่านี่คือเสียงของเขา วันนี้เขาอาจยังอยู่ แต่อย่ารอให้ถึงวันที่เขาหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมเขาต้องอยู่กับเรา และถ้าไปแก้วันนั้นอาจจะสายไป

:: จดหมายอีกฉบับจากอันวาร์ สาและ ::

ประชาธิปัตย์เป็นเหมือนสถาบัน เป็นที่รวมของคนที่มีประสบการณ์ เมื่อเป็นที่รวมของคนเก่ง ก็ย่อมมีแรงเสียดทานระหว่างคนในพรรคด้วยกันค่อนข้างสูง เพราะ ส.ส. แต่ละคนมาจากพื้นที่หลากหลาย มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถต่างกันหมด แต่ทุกคนต่างแบกความคาดหวังของคนในพื้นที่มาเหมือนกัน ผมยอมรับว่าการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ แต่ผลประโยชน์เป็นของใคร ถ้าเป็นของประชาชนส่วนหนึ่ง พรรคส่วนหนึ่ง หรือผลประโยชน์ของบุคคล ถ้าคุณแยกความสำคัญของผลประโยชน์ไม่ได้ เอาผลประโยชน์ของตัวเองมานำ การทำงานของคุณก็มีปัญหาทันที 

ในความเป็นประชาธิปัตย์ยังมีข้อดีเยอะมาก ไม่ใช่ความผิดที่จะไม่เก่งทุกเรื่อง แต่ถ้าสมมติว่าคุณอยู่ในสถานะที่มีอำนาจ มีบทบาทที่ส่งผลต่อคนส่วนใหญ่ แล้วคุณไม่สามารถดึงคนเก่งมาทำงานร่วมได้ อันนี้ถือเป็นความผิด และบางครั้งก็ต้องมาดูว่าสิ่งที่พรรคพยายามทำกับความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องเดียวกันไหม ถ้าอันไหนไม่ใช่ก็ยังมีเวลาปรับเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน สิ่งนี้จะทำให้พรรคเราอยู่ในความคาดหวัง เป็นที่พึ่ง และอยู่เคียงข้างประชาชน ถ้าทำได้จริง อนาคตเราไม่ต้องห่วง 

ในอดีตประชาธิปัตย์เคยมีฐานเสียงจำนวนมาก ทำไมเขาถึงอยู่กับเรา แล้ววันนี้เขาผิดหวังอะไร คนรักกัน ตอนหวานชื่นก็โอเค ทุกอย่างไปได้ดี แต่รักมากบางทีก็เกลียดมากนะ ความเป็นพรรคก็เหมือนกัน ถ้าคุณไม่สามารถปรับความเข้าใจได้ แน่นอน เขาก็ไม่อยู่กับเรา

:: ก้าวต่อไปของอันวาร์ สาและ ::

ผมยืนยันว่าผมยังเป็น ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ผมเกิดจากบ้านนี้ ผมรักบ้านนี้ พรรคไม่ได้ผิดอะไร ถ้าเรายึดตามอุดมการณ์ก็เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทั้งนั้น เพียงแต่วันนี้ในบุคลิกภาพหรือในการบริหารของผู้บริหารอาจจะมีอะไรที่ไม่ตรงใจ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน หลายๆ พรรคสูญหาย จากวันหนึ่งที่เคยเป็นที่นิยมก็หายไปจากระบบ ประชาธิปัตย์ก็เหมือนกัน ฉะนั้นในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เราก็ต้องเปลี่ยนองค์กร แค่ปรับอย่างเดียวไม่พอ คุณอาจจะต้องประยุกต์เปลี่ยนใหม่ด้วยซ้ำไป 

ถ้าเขาไม่ขับผมออกจากพรรค ผมก็ต้องทำให้องค์กรดีขึ้นในทัศนะตามที่ควรเรียกร้อง ส่วนเรื่องย้ายพรรค ผมไม่ได้มีวาระ ผมต้องการปรับปรุงให้พรรคประชาธิปัตย์ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เป็นแค่พรรคของคนภาคใต้ แต่ต้องเป็นของคนไทยทั้งประเทศ เราต้องดึงตรงนี้กลับมาให้ได้

แต่ถ้าสมมติเขาไม่ให้ผมอยู่ในพรรคนี้ต่อ ผมก็มีสองทางเลือก หนึ่ง ถ้าผมยังคิดที่จะทำอยู่ อาจจะต้องย้ายพรรคเพื่อไปอยู่สังกัดอื่น สอง ผมอาจจะหยุดเลย ดูว่าบริบทที่เหมาะกับเราเป็นแบบไหน แต่ตราบใดที่เขาไม่ได้มีวาระที่จะขับผม และเห็นเหตุผลว่าสิ่งที่ผมทำไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อต่อรองตำแหน่งหรือเรียกร้องผลประโยชน์ ผมเชื่อว่าพรรคคงไม่ทำอะไรผม 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save