fbpx
“คุกคือโจทย์ใหญ่ร่วมกันของสังคมไทย” – มองอำนาจการลงทัณฑ์และสำนึกเรื่องเรือนจำ กับ อนุสรณ์ อุณโณ

“คุกคือโจทย์ใหญ่ร่วมกันของสังคมไทย” – มองอำนาจการลงทัณฑ์และสำนึกเรื่องเรือนจำ กับ อนุสรณ์ อุณโณ

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ และสมคิด พุทธศรี เรื่อง

นภสินธุ์ สามแก้วแจ่ม ภาพ

 

พฤษภาคม 2535, รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ที่ในขณะนั้นยังเป็นเพียงนายอนุสรณ์ นักศึกษาปริญญาตรี ถูกจับกุมจากการสลายการชุมนุม และถูกคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรม

“จำได้เลยว่าอยู่แดน 1 ห้อง 43” เขาเล่า “ติดอยู่ 3 วัน 2 คืน ก่อนได้รับการปล่อยตัวออกมาหลังในหลวงรัชกาลที่ 9 เรียกสุจินดาและจำลองเข้าไปเคลียร์”

แม้เป็นประสบการณ์ในเรือนจำเพียงช่วงสั้นๆ แต่ความทรงจำนั้นยังให้ความรู้สึกสดใหม่อยู่เสมอ คุกและคนคุกกลายเป็นหนึ่งในความสนใจของเขา อนุสรณ์เริ่มศึกษาทฤษฎีมานุษยวิทยาว่าด้วยเรื่องเรือนจำ และภายหลังยังลงมือศึกษาเรื่องสำนึกเกี่ยวกับอาชญากรรมและบทลงโทษของคนในสังคมไทยผ่านวิทยานิพนธ์  “วิสามัญฆาตกรรม: อาชญากรรมและการลงทัณฑ์ในสังคมไทย” จนเห็นภาพความเข้าใจเรื่องการลงทัณฑ์ของคน ความลักลั่นของอำนาจในกระบวนการยุติธรรมไทย อันเป็นที่มาของปัญหาในเรือนจำ และอื่นๆ อีกมากมาย

ภาพคุกที่นักมานุษยวิทยาอย่าง อนุสรณ์ อุณโณ เห็นเป็นแบบไหน

ในสวนเล็กๆ หน้าบ้านของอดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บทสนทนาเกี่ยวกับเรือนจำ สังคม และชีวิตมนุษย์ ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเรียบง่าย แต่ควรค่าแก่การรับฟัง

 

 

อาจารย์เริ่มต้นสนใจศึกษาอำนาจการลงทัณฑ์ในสังคมไทยได้อย่างไร

เริ่มแรก ผมสนใจเรื่องอำนาจการลงทัณฑ์ในสังคมไทยในเรื่องของการวิสามัญฆาตกรรม ว่าอะไรทำให้คนในสังคมส่วนหนึ่งเห็นดีเห็นงามกับการวิสามัญฯ มองมันเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทัณฑ์ ตอนนั้นผมศึกษาช่วง พ.ศ. 2539-2540 ที่กฎหมายเพิ่งเปลี่ยนให้ยาม้าหรือยาบ้าเป็นสารเสพติดประเภทหนึ่ง มีโทษถึงประหารชีวิต มันมีกรณีโจ ด่านช้าง ที่ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค กับ พ.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง นำทีมไปจับตัว แต่ระหว่างพาตัวออกมาจากบ้านและเดินกลับไปที่บ้านอีกครั้ง ก็มีการยิงกันเกิดขึ้น ทั้งหมด 6 ศพตายทั้งหมด เจ้าหน้าที่อ้างว่าผู้ต้องหาต่อสู้ขัดขืน ทั้งที่ตัวเจ้าหน้าที่เองไม่ได้รับบาดเจ็บเลย เรียกว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรมแบบใหญ่โตมาก เพราะตอนเกิดเหตุ มีทั้งเอาเฮลิคอปเตอร์ไปล้อม เอานักข่าวไปล้อม แต่สุดท้าย สิ่งที่เกิดขึ้นบนบ้านหลังนั้นไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรู้ นอกจากตำรวจ

น่าสนใจว่าไม่มีกระแสสังคมตั้งคำถามอะไร อาจเป็นเพราะสังคมตอนนั้นถูกทำให้หวาดกลัวพิษภัยของยาบ้า ภาพที่คนเมายาบ้าแล้วเอามีดไปจี้คอฆ่าคนไหลเวียนในสื่อกระแสหลักมาก แถมยังมีโฆษณาผู้เสพตาย ผู้ขายถูกประหารเต็มไปหมด คนต่างกลัวคนติดยาบ้ากัน เลยเหมือนเป็นใบอนุญาตกลายๆ ซึ่งส่วนตัวผมรู้สึกผิดหวังนะ ทำไมสังคมถึงอนุญาตฆ่ากันได้ง่ายดายแบบนั้น ไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกคนดูสะใจที่ได้ฆ่าแล้วข่าวก็เสนอแค่ว่าประวัติของ โจ ด่านช้าง เป็นยังไง มีเครือข่ายยังไง สุดท้ายก็กลายเป็นการชี้ให้เห็นประวัติอาชญากรรม และบอกว่าคนๆ นี้สมควรโดนแล้ว แทบไม่มีใครตั้งข้อสงสัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

จากเรื่องการวิสามัญฆาตกรรม อาจารย์ค้นพบอะไร

สิ่งที่ผมเห็นในตอนนั้นคือ สำนึกเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ของคนในสังคมยังไม่เปลี่ยนไปเท่าไหร่ ถึงแม้เราจะมีการปฏิรูประบบศาลและกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ มีการร่างกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาแทนที่กฎหมายตราสามดวงที่มีมาก่อนหน้า ซึ่งมีวิธีการลงทัณฑ์พิสดารมากแล้วแต่จะคิดได้ อย่างการกรอกน้ำร้อน ตอกเล็บ เป็นที่ครหาของชาวตะวันตก จนเป็นที่มาของสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เสียอธิปไตยทางศาลในรัชกาลที่ 4 ทำให้เราต้องปฏิรูปโดยเอาต้นแบบมาจากตะวันตก ยกเลิกโทษพิสดารทั้งหลายแหล่มาเป็นโทษแบบสากล และสร้างเป็น 3 ศาล คือศาลฎีกา ศาลกรุงเทพฯ และศาลหัวเมือง โดยให้รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง กษัตริย์มีอำนาจสูงสุดในการลงทัณฑ์ แต่สำนึกของคนในสังไทยเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ ความผิด อาชญากรรม ยังคงเหมือนเดิม

คนยังมองว่าอาชญากรรมคือการกระทำผิดของใครคนหนึ่ง และคนที่ทำควรได้รับโทษอย่างสาสมกับความผิดนั้น ยังไม่มีใครมองมิติเรื่องการปรับปรุงแก้ไขที่มาพร้อมกับการลงทัณฑ์สมัยใหม่ การลงทัณฑ์สมัยใหม่ไม่ได้พิจารณาแค่สัดส่วนความผิดกับโทษที่ต้องได้รับ แต่ยังรวมว่าเมื่อคนเข้าไปในเรือนจำ อยู่ใต้ความดูแลของเรือนจำแล้ว ต้องมีกระบวนการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้คืนสู่สังคมในฐานะสมาชิกคนหนึ่งต่อไป จิตสำนึกเรื่องนี้ไม่ได้ก่อตัวขึ้นในสังคมไทยพร้อมๆ กับการปฏิรูปศาลและกฎหมาย แทบไม่มีใครคิดเรื่องปรับปรุงแก้ไขตรงนี้

พอคนสนใจแค่ว่าใครทำผิดอะไร ต้องลงทัณฑ์แบบไหนจึงจะสาสม ทำให้เกิดกรณีการประชาทัณฑ์ และระบบก็เปิดโอกาสให้ทำด้วย อย่างบ้านเรา มีระบบให้ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ (crime re-enactment) ซึ่งปกติประเทศอื่นๆ มีน้อย เวลาผู้กระทำความผิดถูกนำตัวมาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ มันเปิดโอกาสให้ญาติสนิทมิตรสหาย คนรู้จัก หรือกระทั่งคนในชุมชนที่อาจจะมีความเคียดแค้นต่อผู้กระทำผิดมารุมประชาทัณฑ์ได้ มีกรณีเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย

การประชาทัณฑ์ต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงสำนึกของคนในสังคม ซึ่งผมไม่อยากใช้คำว่ากระเหี้ยนกระหือรือให้ลงโทษ แต่ก็คล้ายกับว่าเมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมขึ้น เราจะเน้นเรื่องการลงทัณฑ์คนทำผิด ตัดสินไปแล้วว่าคนที่ทำผิดเป็นคนเลว คนชั่ว ยิ่งลงโทษได้มากเท่าไหร่ สาสมมากแค่ไหนยิ่งดี โดยไม่ทันนึกถึงว่าสาเหตุที่เขาต้องทำความผิดคืออะไร ทั้งๆ ที่มันมีเงื่อนไขปัจจัยตั้งแต่ระดับจิตวิทยาบุคคล ไปจนถึงโครงสร้างทางสังคมหรือระบบต่างๆ ที่รายล้อมเขาอยู่ ทั้งหมดไม่เคยถูกนำมาพิจารณาว่าทำไมเขาต้องทำเช่นนั้น กับเรื่องที่ว่า ถ้าเขาทำแล้ว จะปรับปรุงแก้ไขเช่นไร และจะออกแบบสังคมแบบไหนที่จะไม่ทำให้การกระทำที่คุณคิดว่าเลวร้ายเกิดขึ้นอีก สิ่งนี้ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย และมันทำให้การประชาทัณฑ์หรือกระทั่งการวิสามัญฆาตกรรมมีที่ทางในสังคม

ปกติแล้วการวิสามัญฆาตกรรมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม มันเป็นการป้องกันตัวของเจ้าพนักงานระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่คนในสังคมจำนวนมากมักตีความการวิสามัญฆาตกรรมเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทัณฑ์ โดยเฉพาะเวลาเกิดคดีอุกฉกรรจ์ เพราะคิดว่าถ้าใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ ก็ต้องมีพยานหลักฐาน ต้องทำตามขั้นตอน ซึ่งคนทำผิดอาจจะหลุดคดีก็ได้ กลไกกระบวนการยุติธรรมไทยเองก็เชื่อถือไม่ค่อยได้ ถ้าวิสามัญฯ ไปเลยก็จบ รวดเร็วทันใจ และน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าในสายตาคนในสังคม

 

ในเมื่อสำนึกของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยใส่ใจเรื่องการลงทัณฑ์ แล้วคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างกรมราชทัณฑ์มีบทบาทหรือมองการทำหน้าที่ตัวเองเป็นอย่างไร

ตอนเราปฏิรูประบบศาลและกระบวนการยุติธรรมสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นมาเพื่อรวมอำนาจการตัดสินคดี จากเดิมที่อำนาจกระจายอยู่ในกระทรวงต่างๆ มีการสร้างเรือนจำ และตั้งสิ่งที่เรียกว่ากรมราชทัณฑ์ขึ้นมา

ความน่าสนใจคือตอนตั้งกรมราชทัณฑ์ เราออกแบบอย่างตะวันตก ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Department of Corrections แปลตรงตัวคือกรมที่ว่าด้วยการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง แต่ภาษาไทยของเรากลับเป็น “กรมราชทัณฑ์” ซึ่งแปลว่า “การลงทัณฑ์ของพระราชา”

เชื่อไหมว่าปัจจุบันไม่มีส่วนราชการอื่นไหนที่มีคำว่า ‘ราช’ นำหน้า มีแค่กรมราชทัณฑ์ที่เดียว ต่อให้เรามีราชนาวี นั่นก็ไม่ใช่ชื่อแบบทางการ ชื่อทางการคือกองทัพเรือ แล้วค่อยตั้งชื่อภาษาอังกฤษว่า Royal Thai Navy เหมือนกองทัพบกที่ตั้งว่า Royal Thai Army

แค่ไม่เปลี่ยนชื่อตามภาษาอังกฤษว่า Department of Corrections แต่เน้นว่าเป็นกรมที่เกี่ยวกับการลงทัณฑ์ก็น่าสนใจแล้ว นี่ยังเป็นการลงทัณฑ์ของพระราชาอีก ผมเคยพานักศึกษาไปดูคุกที่ต่างๆ หลายปี และเคยสัมภาษณ์ผู้บัญชาการเรือนจำแห่งหนึ่ง เขาบอกว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนราชทัณฑ์ที่ได้ทำงานในส่วนงานเดียวที่ยังยึดโยงกับสถาบันฯ เพราะมีคำว่า ‘ราช’ นำหน้า ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ไม่มี แง่หนึ่งคำว่าการลงทัณฑ์ของพระราชาจึงไม่ได้มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่ยังเป็นความลักลั่นของอำนาจทางกฎหมายด้วย

 

ลักลั่นกันอย่างไร

ความลักลั่นที่ว่าเป็นอย่างนี้ ตอนปฏิรูปศาลและระบบยุติธรรมสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอำนาจสูงสุดเป็นของกษัตริย์ คำพูดของกษัตริย์คือกฎหมาย และพยายามรวมอำนาจการตัดสินอยู่ที่กษัตริย์อย่างเบ็ดเสร็จมาก ต่อมาเรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยทฤษฎีแล้วเป็นการเคลื่อนย้ายอำนาจสูงสุดจากกษัตริย์มาที่ประชาชนตามหลักระบอบประชาธิปไตย และแยกอำนาจออกมาเป็น 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีตัวแทนอำนาจสูงสุดไป

ทางทฤษฎีนั้น อำนาจบริหารสูงสุดจะอยู่ที่นายกรัฐมนตรี อำนาจนิติบัญญัติสูงสุดอยู่ประธานรัฐสภา ส่วนอำนาจตุลาการ ต้องผ่องถ่ายมาให้ผู้พิพากษา เพื่อตัดสินคดีในนามอำนาจจากประชาชน แง่หนึ่งอาจจะเรียกว่ามีประธานศาลฎีกาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดก็ได้ แต่ในความเป็นจริงมันไปไม่ถึงตรงนั้น ถ้าเราอ่านคำพิพากษาทั้งหลายแหล่จะเห็นบนหัวกระดาษว่า ในพระปรมาภิไธย ซึ่งแปลว่าอำนาจที่ใช้ในการตัดสินไม่ได้เป็นของประชาชน แต่เป็นของกษัตริย์ หรือในนามกษัตริย์ แล้วผู้พิพากษาเป็นเพียงอาชีพเดียวในประเทศนี้ที่เมื่อสอบได้แล้ว ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าพระมหากษัตริย์ก่อนประกอบอาชีพ

พออำนาจตุลาการไม่ได้ถูกถ่ายโอนให้กับประชาชนหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง 2475 จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่สำนึกของผู้พิพากษาอาจจะยังเป็นการทำงานด้วยอำนาจของกษัตริย์ และส่งต่อถึงกรมราชทัณฑ์ ที่รู้สึกว่าตนลงโทษในนามพระราชาสืบเนื่องกันมา

ฉะนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยไม่ไปถึงไหน ส่วนหนึ่งนอกจากสำนึกของคนในสังคมที่มองการลงทัณฑ์เป็นเรื่องที่ต้องทำให้สาสมกับความผิด ยังมีเรื่องของสำนึกเกี่ยวกับอำนาจที่ไม่ได้ถ่ายโอนมาให้ประชาชน ยังคงยึดโยงอยู่กับพระมหากษัตริย์

สำนึกเรื่องการลงทัณฑ์ของคนในสังคมไทยก่อให้เกิดปัญหาอะไรในเรือนจำบ้างไหม

สิ่งที่ตามมาคือ ถึงแม้ว่าราชทัณฑ์ไทยจะเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาต่างๆ ระดับโลก แต่พอสังคมไม่ได้เห็นว่าเรือนจำเป็นที่สำหรับปรับปรุงแก้ไขนักโทษให้เป็นสมาชิกที่ดีก่อนส่งกลับสู่สังคม ก็ไม่ได้สนใจลงทุนหรือแก้ไขปัญหาจริงจัง งบประมาณที่จัดสรรให้กรมราชทัณฑ์จึงต่ำมากๆ เวลาผมคุยกับคนในกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำหลายแห่งก็ตัดพ้อทำนองว่าเป็นถังขยะรองรับปัญหา เมื่อสังคมบอกว่าคนนี้คือคนไม่ดี ก็โยนมาให้กรมราชทัณฑ์จัดการ แต่งบประมาณกลับไม่ตามมาด้วย ดูง่ายๆ จากงบประมาณเรื่องอาหารที่เลี้ยงผู้ต้องขังสามมื้อในแต่ละวัน คิดต่อหัวแล้วต่ำมาก ทำให้อาหารที่นักโทษได้กินไม่ต้องพูดถึงเรื่องโภชนาการครบ 5 หมู่เลย กระท่อนกระแท่นมาก

สมัยหนึ่ง ด้วยความบังเอิญในชีวิต ผมเคยติดคุกอยู่ครั้งหนึ่ง เป็นคุกทางการเมือง จากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ตอนผมเป็นนักศึกษาปริญญาตรีปี 3 ได้ไปร่วมชุมนุมประท้วง แล้วมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น ถูกจับกุมหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ผมจำได้ว่าเป็นช่วงสายๆ เกือบเที่ยง เขาให้เราถอดเสื้อนั่งกลางแดด ตกบ่ายหน่อยก็พาขึ้นรถ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าพาไปไหน สุดท้ายถึงรู้ว่าเลี้ยวเข้าเรือนจำกลางคลองเปรม จำได้เลยว่าอยู่แดน 1 ห้อง 43 ติดอยู่ 3 วัน 2 คืน ก่อนได้รับการปล่อยตัวออกมาหลังในหลวงรัชกาลที่ 9 เรียกสุจินดาและจำลองเข้าไปเคลียร์

ตอนเข้าไปอยู่ในนั้น ผมมีโอกาสได้เห็นสภาพคุกจากการที่ได้เป็นนักโทษจริงๆ แม้ว่าจะเป็นคดีทางการเมืองที่แยกออกมา แต่อาหารการกินก็กินเหมือนคนอื่นๆ มีข้าว มีแกงส้มน้ำดำๆ ผักบุ้ง แล้วก็วิญญาณปลา ช่วงหลังที่เข้าไปดูเรือนจำกับนักศึกษาก็ได้ตระเวนดูอาหารของนักโทษ ก็เป็นอาหารพื้นๆ ถ้าผู้ต้องขังต้องการกินดีหน่อย ก็ต้องเอาเงินที่ตัวเองฝากไว้กับร้านสวัสดิการไปซื้อของพิเศษมากิน หรือใช้วิธีต่างๆ นานา เพื่อให้ได้ซึ่งอาหารที่ดี

ประเด็นคือ แม้งบประมาณที่เจียดให้ราชทัณฑ์ โดยเฉพาะส่วนของอาหารจะต่ำ จนแทบจะหาอาหารที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการมาไม่ได้ แต่ก็ไม่เป็นที่สนใจในสังคม เพราะคนในสังคมต่างรู้สึกว่าสมควรแล้ว ทำผิดมาจะต้องการกินอะไรดี การเรียกร้องสิทธิผู้ต้องขังทั้งหลายเลยทำแทบไม่ได้ เพราะกระแสใหญ่ในสังคมยังมองว่าเรือนจำหรือคุกเป็นที่สำหรับคุมขัง ลงโทษ จะได้อะไรที่ไม่สมบูรณ์ หรือทรมานบ้างก็ถูกต้องแล้ว

 

ปัจจัยอะไรที่ทำให้คนมองเรื่องเรือนจำและการลงโทษว่าควรทำให้สาสมความผิดแบบนั้น

ผมคิดว่าศีลธรรมของศาสนามีอิทธิพลค่อนข้างมาก เวลาคนมองประเด็นการลงโทษ มักมองผ่านแว่นตาศีลธรรมทางศาสนา เนื่องจากประเทศไทยคนนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก ดังนั้นเราจะเจอคำสอนจำนวนมากที่เอื้อให้กับการลงทัณฑ์ในลักษณะเช่นนี้ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นตามสนอง คอนเซปต์เรื่องกรรมหรืออะไรเหล่านี้ช่วยอธิบายว่าทำผิด ก็ควรได้รับผลตามนั้น เพราะมีหลักธรรมคำสอนทางศาสนาส่วนหนึ่งช่วยสร้างคำอธิบายเชิงคุณค่าให้กับการลงทัณฑ์ ทำให้คนในสังคมไม่ค่อยคิดถึงสิทธิผู้ต้องขัง พวกรายการข่าวทั้งหลายก็เน้นดราม่าว่าคนทำผิดมันชั่วขนาดไหน สุดท้ายได้รับบทลงโทษยังไง แนวคิดเชิงสังคมศาสตร์หรือวิพากษ์ปัญหาไม่ค่อยมีใครพูดถึง เพราะมันขายไม่ออกในตลาด

หลายคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองก็ยังมีไม่น้อยที่เห็นดีเห็นงามกับแนวคิดการลงทัณฑ์แบบที่เป็นอยู่ ยังไม่หลุดพ้นจากระบบคุณค่าทางศีลธรรมที่ศาสนาสร้างไว้ เมื่อรวมกับวัฒนธรรมอื่นๆ เช่นอำนาจนิยม ที่ซ่อนอยู่ลึกมากในสังคมไทย สุดท้ายแล้วทำให้เราสลัดความคิดเหล่านี้หลุดได้ยากมาก

 

ฟังดูเหมือนสำนึกของคนในสังคมจะถูกครอบด้วยระบบคุณค่าที่ใหญ่มาก เรามีความหวังที่จะแก้ไขมันได้บ้างไหม

ผมคิดว่าสังคมต้องตั้งหลักให้ดีว่า หนึ่ง เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น โอเค มันต้องมีผู้รับผิดแน่ๆ ล่ะ แต่เราต้องฉุกคิดให้ได้ด้วยว่าความผิดที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยของตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ อีก ตัวอย่างเช่น มีคนปล้นจี้ร้านทอง ไม่ใช่ว่าเขานึกอยากจี้จึงทำเสมอไป แต่อาจเป็นไปได้ว่าเขาเกิดความล้มเหลวในการประกอบอาชีพ รัฐบริหารจัดการภาคการเกษตรล้มเหลวจนผลักให้คนเข้ามาเป็นแรงงาน เป็นลูกจ้างรายวันในเมืองที่ไม่มีหลักประกัน ไม่มีอนาคต สุดท้ายคนเลยต้องตัดสินใจใช้อาชญากรรมเป็นทางออกของชีวิต เป็นต้น

ถ้าเรามองไม่เห็นตรงนี้ ทุกอย่างก็จะถูกโยนให้เป็นเรื่องของผู้กระทำความผิดอย่างเดียว แล้วก็แก้ปัญหาด้วยการเอาคนไปขังคุก ถามว่าต่อจากนี้จะป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมซ้ำอีกได้ไหม ไม่ได้เลย ลำพังการจับคนใส่คุกอย่างเดียวปัญหามันไม่จบ ตราบเท่าที่คุณไม่นึกถึงเรื่องที่ใหญ่ขึ้น อย่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

สังคมต้องมองให้ออก ฉุกคิดให้ได้ว่าอาชญากรรมแต่ละครั้งประกอบด้วยเงื่อนไขปัจจัยอะไร และถ้าจะลงโทษเขา ควรลงโทษระดับไหน อย่างไร อีกเรื่องคือเรือนจำไม่ได้ทำหน้าที่ลงโทษให้สาสมกับความผิดเหมือนอย่างที่เราเข้าใจ แต่ต้องใส่มิติด้านการปรับปรุงแก้ไขให้คนกลับคืนสู่สังคมได้ เวลาผู้ต้องหากลับออกมา เราจะได้ไม่สงสัย ไม่ตั้งคำถาม ไม่หวาดระแวงเขาอีก กลับกันถ้าเราไม่มีกระบวนการแก้ไขเขาในเรือนจำ ก็ไม่มีใครมั่นใจได้ว่าเมื่อกลับออกมาแล้วเขาจะเปลี่ยนไป ทุกอย่างก็จะพันกันเป็นลูกโซ่อยู่แบบนี้

ถ้าคุณอยากไว้ใจเขา ก็ต้องคิดถึงระบบราชทัณฑ์ใหม่ และในระยะยาวคุณก็ต้องเปลี่ยนสังคมให้น่าอยู่ขึ้น เป็นสังคมที่จะไม่ผลิตอาชญากร ไม่ผลิตสัตว์ประหลาดออกมาเพ่นพ่าน เมื่อผู้ต้องขังออกมาแล้วจะได้ไม่เจอสภาวะบีบคั้นให้ต้องกลับไปอีก นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยที่ต้องไปให้ถึง

 

นอกจากเรื่องอาหาร ประสบการณ์ในเรือนจำของอาจารย์ในฐานะผู้ต้องขังและการพานักศึกษาเข้าไปเยี่ยมชม ทำให้อาจารย์เห็นปัญหาอะไรอีกบ้าง

เวลาเราเข้าไปเยี่ยมชมคุก อย่างหนึ่งที่ต้องตระหนักคือ เราจะไม่เห็นคุกอย่างที่มันเป็นจริงๆ เพราะเขาจะจัดให้อยู่ในระดับมาตรฐานของราชทัณฑ์สากล แขกไปใครมาก็มาดูได้

ผมไปมาหลายแห่งมาก เรือนจำบางขวางก็ไป คลองเปรมก็ไป เรือนจำพิเศษกรุงเทพ หรือทัณฑสถานหญิงกลางก็ไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เข้าใจว่าเป็นธรรมดาที่เมื่อเข้าไปแล้ว เขาจะจัดวางทุกอย่างให้พร้อมกับการที่มีบุคคลภายนอกเข้ามาดู ไม่ว่ากิจกรรมของนักโทษก็ดี สถานที่ก็ดี ห้องหับทั้งหลาย ส่วนใหญ่ก็ดูสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย คุณจะไม่มีโอกาสได้เห็นของจริงหรอก เว้นเสียแต่ว่าคุณจะไปเป็นนักโทษเสียเอง ซึ่งก็เป็นงานยาก มีนักมานุษยวิทยาหลายคนที่อยากศึกษาคุก ก็มักเจอข้อจำกัดว่าคุณต้องไปเป็นนักโทษจริงๆ

เท่าที่ผมพยายามหางานศึกษาด้านมานุษยวิทยาเกี่ยวกับเรือนจำ ก็ยังไม่ค่อยเห็นกรณีที่ศึกษาโดยใช้วิธีสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม พาตัวเองไปเป็นนักโทษจริงๆ เพราะมันเป็นการลงทุนที่สูงมาก อย่างดีก็มีแค่อดีตนักโทษออกมาเขียนหนังสือ เล่าเรื่องราวในคุกให้ฟัง ส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาจากภายนอกโดยได้รับอนุญาตหรือความร่วมมือจากเรือนจำ

การที่เราได้แต่เข้าไปศึกษาในฐานะบุคคลภายนอก ไปเยี่ยม ไปเห็นสิ่งที่เขาจัดไว้เป็นส่วนใหญ่ ก็มักจะไม่ค่อยเห็นปัญหามากนัก หรือได้รับรู้แค่ปัญหาเฉพาะที่คนราชทัณฑ์อยากบอกเรา แต่นั่นก็ทำให้ผมได้เห็นอะไรบางอย่าง เช่น เรื่องงบประมาณที่เขาตัดพ้อว่าน้อยมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับความรับผิดชอบและความคาดหวังของสังคม โดยเฉพาะเรื่องค่าอาหารที่ได้ยินบ่อย ปัญหาเรื่องเรือนจำรองรับนักโทษไม่พอ เกิดความแออัด งบประมาณสร้างคุกเพิ่มก็ไม่มี ไม่ต้องคิดเลยครับ และมันยากจะเรียกร้องสิ่งต่างๆ ให้คนทำงานด้วย เพราะคนจะว่าอยู่คุกนะ ไม่ได้นอนโรงแรม อำนาจต่อรองราชทัณฑ์จึงต่ำมากๆ ถ้าไปเปรียบเทียบกับกองทัพนะ เทียบกันไม่ได้เลย

 

ในฐานะนักมานุษยวิทยา อาจารย์มองปัญหาเรือนจำแออัดว่าอย่างไร เราควรจะแก้ที่ตรงไหน

ปัญหาเรื่องเรือนจำแออัด ส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับหลักของการลงทัณฑ์ สังคมไทยไม่ค่อยเลือกหลักการลงทัณฑ์แบบปรับปรุงแก้ไข หรือใช้วิธีการจัดการแบบอื่นๆ อย่างการกักบริเวณเอย ใช้กำไลข้อเท้าติดตามตัวเอย ความเป็นจริงมีหลากหลายวิธีมาก แต่คนไทยเราเคยชินว่าถ้าตัดสินคดีจบปั๊บ จะโยนเข้าเรือนจำท่าเดียว ทำให้คุกต้องรองรับอะไรหลายอย่าง ทั้งที่บางกรณีอาจไม่จำเป็นต้องเข้าคุกก็ได้ พอเรือนจำไม่มีมิติเรื่องการปรับปรุงแก้ไขอีก ปัญหาเลยยากจะดีขึ้นมากๆ

อีกส่วนหนึ่งก็เชื่อมโยงกับการนิยามความผิด ตั้งแต่เรื่องที่เรากำหนดว่าอะไรเป็นความผิด ลักษณะความผิดหรือโทษที่ได้รับ ตัวอย่างเช่น ตอนนี้ผู้ต้องขังจำนวนมากมาจากคดียาเสพติด ซึ่งเกิดขึ้นหลังเราเปลี่ยนสถานะความผิดของยาม้า กรณียาเสพติดนี้มีทั้งผู้ค้าและผู้เสพ หรือไม่ก็เป็นทั้งคู่ พอเกิดหนึ่งคดีเลยโยงใยกันไปหมด จับเข้าคุกกันทั้งหมด ทำให้นักโทษทะลักกันมาก หรือเมื่อก่อนคนติดคุกเพราะกัญชา ตอนนี้เราเริ่มเอาบางส่วนของกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ คนก็จะโดนจับเข้าคุกน้อยลง มันเป็นเรื่องที่เราอาจต้องคิดกันใหม่

 

เมื่อเราพูดถึงคุณภาพชีวิตที่ดีในคุก เรามักจะนึกภาพคุกสแกนดิเนเวียเป็นลำดับต้นๆ อาจารย์มองว่าไทยจะไปถึงจุดนั้นได้ไหม

น่าสนใจว่าคุกแบบสแกนดิเนเวีย อันที่จริงหลายแห่งก็ไม่มีนักโทษ เพราะเขาพยายามปรับปรุงในส่วนของนิยามความผิดและบทลงโทษ ทำให้คนถูกลงโทษด้วยการจำคุกลดลง คุกก็เลยว่าง

อย่างไรก็ตาม คุกแบบสแกนดิเนเวียเกิดขึ้นได้จากการที่คนไม่ได้มองคุกเป็นสถานที่ลงทัณฑ์ แต่มองเป็นที่สำหรับปรับปรุงแก้ไข ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขอย่างน้อยที่สุด สวัสดิการ ความเป็นอยู่ก็ควรจะใกล้เคียงกับชีวิตปกติ หลายกรณีเทียบเคียงกับการอยู่โรงแรมได้ด้วยซ้ำไป มันอยู่ที่สังคมเลย ไทยเราสามารถทำคุกแบบนั้นได้ แต่ถ้าสังคมไม่เอาด้วย ยังไงก็สร้างไม่ได้ คุกบ้านเราจึงเป็นโจทย์ใหญ่ร่วมกันของสังคมไทย

 

เท่าที่อาจารย์อ่านงานศึกษามา ประเด็นส่วนใหญ่ที่นักมานุษยวิทยาสนใจเกี่ยวกับเรือนจำคือเรื่องอะไร

มีนักมานุษยวิทยาหลายคนศึกษาเรื่องคุก แต่ฟูโกต์เป็นคนหนึ่งที่บุกเบิกการศึกษาคุกแบบแนวใหม่ เป็นเรื่องเทคโนโลยีอำนาจ 3 ประการที่ทำงานในคุก

สิ่งแรกคือ Discipline หรือวินัย แปลรวมๆ ว่าเป็นเทคนิคการปรับเปลี่ยนเรือนร่างให้ว่านอนสอนง่ายและมีผลิตภาพ นักโทษจะถูกควบคุมพื้นที่ ควบคุมกิจกรรม ตารางเวลา รวมถึงถูกฝึกให้มีผลิตภาพ เช่น ฝึกวิชาชีพ จากเดิมไปปล้นชิงวิ่งราว พอไปฝึกอาชีพ ออกมาก็ทำธุรกิจผลิตสินค้าขายได้ ส่วนนี้ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการ Correction ของคุก

สอง เป็นสิ่งที่ฟูโกต์เรียกว่า Panopticon เป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมในคุกที่ออกแบบโดยเจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) นักปรัชญาชาวอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 18 เป็นคุกที่มีหอคอยอยู่ตรงกลางสำหรับการมองเห็นโดยไม่ถูกเห็น สอดส่องดูแลห้องผู้ต้องขังรอบๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แนวคิดเหมือนมีสายตาของพระเจ้าจับจ้องมาจากเบื้องบน ทำให้คนในคุกรู้สึกถูกจ้องมองตลอดเวลา ซึ่งฟูโกต์อธิบายว่าโครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบนี้สร้างการควบคุมอย่างสมบูรณ์แบบ (Perfect Control) คือระเบียบวินัยควบคุมตัวนักโทษจากภายใน ขณะเดียวกัน นักโทษก็รู้สึกถูกจับจ้องจากภายนอกด้วย ทำงานควบคู่กันไป

คุกของไทยอาจไม่ได้รับแนวคิดแบบ Panopticon มาอย่างชัดเจน เพราะเราไม่ได้รับแนวคิดคุกจากอังกฤษหรือยุโรป เรารับจากอเมริกาซึ่งเป็นคุกสมัยใหม่ แต่ก็อาจจะมีบ้าง อย่างการใช้ CCTV จับจ้องสอดส่องแทน

 

โครงสร้างสถาปัตยกรรมในคุก แบบ Panopticon ที่มา : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Panopticon.jpg

 

อย่างที่สามเป็นสิ่งที่น่าสนใจ คือฟูโกต์เสนอเทคนิคของเรือนจำเรียกว่า Delinquency หรือการสร้างพวกเกกมะเหรกเกเร อันธพาล เป็นความผิดกฎหมายที่อยู่ภายใต้การควบคุม (Controlled Illegality) ออกมาอยู่ในสังคมเพื่อขยายอำนาจการตรวจตรา

ปกติแล้ว เรามักจะมอง ‘ขี้คุก’ หรือคนที่เข้าออกคุกซ้ำๆ เป็นความล้มเหลวของคุกในการปรับปรุงแก้ไขคน คุกถูกมองเป็นโรงงานผลิตอาชญากรรม แต่สำหรับฟูโกต์มองว่ามันเป็นความสำเร็จของคุกในการผลิตคนที่เป็นอาชญากรหรือพวกอันธพาล สำหรับเป็นเงื่อนไขหรือเหตุผลในการขยายพื้นที่การควบคุมตรวจตราออกไปนอกกำแพงคุก

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าสมมติคุณอยู่ในซอยหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่ง ผู้หญิงในซอยโดนไอ้ขี้คุกสักคนวิ่งราวกระเป๋า นอกจากโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจให้มาตรวจดูแล้ว ต่อมาตำรวจก็อาจจะมีมาตรการว่า อย่ากระนั้นเลย เพื่อความปลอดภัยของคนในซอย ต่อไปเราเอากล้อง CCTV มาติดเพิ่มที่ปากซอยเพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนในซอยกันเถอะ

ประเด็นคือก่อนหน้านั้นชีวิตคุณไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การสอดส่องตรวจตราของใคร แต่ทันทีที่มีไอ้ขี้คุกคนหนึ่งมาปล้นชิงวิ่งราว มันก็เป็นเหตุผลให้คุก หรืออำนาจในการลงทัณฑ์สามารถขยายพื้นที่การควบคุมออกมาจากคุกฟูโกต์จึงบอกว่ามันเป็นความสำเร็จ เพราะไอ้ขี้คุกช่วยขยายพื้นที่ของการควบคุมตรวจตราออกมานอกกำแพงคุก เสริมให้อำนาจของการควบคุมตรวจตราแข็งแกร่งขึ้น ขยายตัวมากขึ้น

ฟูโกต์บอกว่าเมื่อเทคโนโลยีอำนาจสามตัวนี้ทำงานในคุก และขยายมายังพื้นที่อื่นๆ ด้วย จะทำให้สังคมกลายเป็น Disciplinary Society หรือสังคมแห่งระเบียบวินัย เต็มไปด้วยการควบคุมตรวจตราทุกที่ อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อวิพากษ์แนวคิดของฟูโกต์เหมือนกัน โดยเฉพาะการลดทอนมนุษย์ลงเป็นเพียงแค่เรือนร่างที่เฉื่อยชา รอรับการปฏิบัติการของอำนาจบนเรือนร่างของตน

 

เรานำทฤษฎีเทคโนโลยีอำนาจในคุกของฟูโกต์มาอธิบายในบริบทสังคมไทยได้ไหม อย่างไร 

จากทฤษฎีของฟูโกต์ ผมมองว่าเทคนิคอย่างที่สามหรือ Delinquency ทำสำเร็จในสังคมไทย เพราะปัจจุบันเรามี CCTV เต็มไปหมด อยู่แทบทุกพื้นที่ของสังคม ชีวิตเราถูกควบคุมมากขึ้น ในแง่หนึ่งมันก็ดีที่ช่วยให้การจับกุมคนกระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับแต่ก่อน เพราะเราเห็นหน้าตาของผู้กระทำผิด เปิดโอกาสให้คนระบุตัวผู้ต้องหา หรือช่วยสร้างความมั่นใจ ทำให้คนเกิดความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น เพราะรู้ว่ามีการสอดส่องมากขึ้น

แต่ปัญหาคือมันเป็นการกระชับอำนาจในการลงทัณฑ์ เราเรียกร้องให้องค์ประธานแห่งการลงทัณฑ์ทำงานอย่างเต็มที่ และมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทุกครั้งที่มีคนทำผิดเกิดขึ้น คนในสังคมจะเรียกร้องให้อำนาจในการลงทัณฑ์แสดงตัว ยิ่งอำนาจทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าไหร่ คนจะยิ่งชื่นชอบ

ขณะเดียวกัน ถ้าคุณเป็นองค์ประธานแห่งการลงทัณฑ์ อยู่เบื้องหลังการลงทัณฑ์คนในสังคม ยิ่งมีอาชญากรรมแบบปล้นชิงวิ่งราว ลักเล็กขโมยน้อยเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งชอบ เพราะคนจะเรียกร้องหาคุณ พึ่งพาคุณ เปิดโอกาสให้คุณใช้อำนาจได้มากขึ้น ซึ่งมันจะไม่เป็นปัญหาถ้าอำนาจในการลงทัณฑ์นั้นมีที่มาจากส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีการถ่วงดุล ตรวจสอบกันระหว่างอำนาจทั้งหลายที่มีอยู่ในสังคม แต่สำหรับสังคมไทย มันอาจเป็นปัญหาเพราะว่าอำนาจของการลงทัณฑ์ หรือองค์ประธานแห่งการลงทัณฑ์ไม่ได้จากคนส่วนใหญ่ ไม่ได้ยึดโยง ถ่วงดุลกับอำนาจอะไร มันยังคงฝังตัวอยู่กับสถาบันฯ ไม่เคลื่อนมาสู่ประชาชนตั้งแต่การอภิวัฒน์ 2475

เราจะเห็นว่าอำนาจตุลาการในปัจจุบันเป็นอำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงอะไรกับใคร ไม่นับรวมศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ยึดโยงอะไรกับใครเหมือนกัน ถ้าอำนาจการลงทัณฑ์เป็นแบบนี้ และทุกคนเห็นดีเห็นงามกับการใช้อำนาจนั้น ตกเป็นเครื่องมือให้กับอำนาจในการลงทัณฑ์ที่ใช้คุกเป็นจุดขยายขอบเขตของการควบคุมตรวจตรา สุดท้าย เราจะเจอปัญหาใหญ่ว่าคุณอาจมีชีวิตที่ดูจะปลอดภัย ปราศจากอาชญากรรม แต่สิทธิเสรีภาพของคุณจะถูกลิดรอนหายไป

 

การขยายการควบคุมตรวจตราโดยใช้อันธพาลที่เรือนจำผลิตออกมา เป็นสิ่งที่เรือนจำคิดไว้หรืออย่างน้อยก็ตระหนักได้หรือเปล่า

จริงๆ ตัวเรือนจำอาจจะไม่ได้คิดหรอก ในมุมมองของฟูโกต์ การวิเคราะห์อำนาจไม่ได้มีเจตจำนงของตัวเจ้าของอำนาจ มีแต่ร่างทรงที่ใช้อำนาจ สิ่งที่เขาอธิบายเป็นเพียงการชี้ให้เห็นว่าถ้าอำนาจการลงทัณฑ์ขยายจากเรือนจำแบบนั้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะทำให้เราอยู่ภายใต้ตาข่ายของอำนาจ อยู่ภายใต้การควบคุมตรวจตราที่คุณจะกระดิกตัวไม่ได้เลย

ฟูโกต์ไม่ค่อยเสนอทางออกให้แก่เรา ทำให้เราอาจคิดว่าชีวิตน่าหดหู่สิ้นหวังมากๆ ทุกที่ล้วนมีแต่อำนาจ และต่อให้เกิดการต่อต้านขัดขืน อำนาจก็ยังอาศัยการต่อต้านขัดขืนนั้นเป็นเงื่อนไขขยายขอบเขตการควบคุมไปเรื่อยๆ หรือทำให้การควบคุมประณีตแยบยลมากขึ้นจนคนไม่รู้สึกตัว แต่สำหรับผม โจทย์ที่เราต้องคิดต่อจากฟูโกต์คือ ถ้าเราไม่มีทางพ้นจากอำนาจจริง เพราะจำเป็นต้องอาศัยการใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้ทำให้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข อย่างน้อยที่สุด จะทำอย่างไรให้อำนาจในการลงทัณฑ์หรือองค์ประธานในการลงทัณฑ์ทำในนามของส่วนรวม ทำในนามสังคม และต้องยึดโยงกับอำนาจประเภทอื่นๆ ไม่ใช่หลุดลอยหรือเป็นอิสระ ถ้าเราปล่อยให้มันเป็นองค์อธิปัตย์ในตัวมันเอง สิทธิเสรีภาพด้านอื่นๆ ของคุณจะหายไป คุณจะเถียงเขาไม่ได้อีกเลย

 

นอกจากแนวคิดแบบฟูโกต์ที่ศึกษาอำนาจในคุก มีงานศึกษาด้านมานุษยวิทยาที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องวัฒนธรรม สังคมในเรือนจำบ้างไหม

น้อยมาก เวลานักมานุษยวิทยาศึกษาคุกมักจะได้รับอิทธิพลจากงานของฟูโกต์เป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น เวลาเราเข้าไปในคุกก็มักใช้แว่นตาแบบฟูโกต์ มองเรื่องเทคโนโลยีอำนาจ 3 อย่างว่าทำงานแบบไหน หรือทำงานตรงกับที่ถูกออกแบบไว้หรือไม่ เช่น งานของ Lorna Rhodes เรื่อง Total Confinement ที่ศึกษาเรือนจำความปลอดภัยสูงในอเมริกา พบว่า โครงสร้างแบบ Panopticon หรือหอควบคุมที่ออกแบบให้คนภายในหอมองเห็นรอบด้าน สามารถควบคุมตรวจตราได้ 24 ชั่วโมง พอไปสัมภาษณ์คนที่ทำงานในหอควบคุมจริงๆ แทนที่เขาจะรู้สึกหยิ่งผยองเพราะมองเห็นทุกอย่าง กลับตรงกันข้าม คนในหอรู้สึกไม่มั่นคง หวาดกลัวตลอดเวลา เพราะรู้สึกเหมือนถูกมองจากสายตานับหมื่นนับพันคู่ที่คอยดูว่าตัวเองจะอ่อนแอหรือเผลอเมื่อไรจะได้เข้ามาโจมตี กลายเป็นว่าคนไม่ได้รู้สึกแบบ god knows all อย่างที่ถูกออกแบบมา แต่ดันรู้สึกวิตกกังวลว่าจะโดนผู้ต้องขังทำร้าย

โจทย์ส่วนใหญ่เลยไม่ได้ศึกษาในเชิงสังคมวัฒนธรรมเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาเรื่องคุกไม่ใช่ว่าใครจะเข้าไปทำก็ได้ เนื่องจากคุกเป็นสถาบันค่อนข้างปิด ต้องทำหนังสือขออนุญาต เวลาสัมภาษณ์ก็มีคนควบคุมตลอดเวลา แล้วเราไม่รู้ว่าสิ่งที่ผู้ต้องขังเล่าให้ฟังจริงเท็จแค่ไหนอย่างไร พอเราไม่มีโอกาสได้ศึกษาลึกๆ จริงๆ ยกเว้นจะกลายเป็นนักโทษเสียเอง ทำให้ยากจะศึกษาประเด็นเชิงวัฒนธรรม

แต่ถ้าถามผม ผมคิดว่ามีมิติเชิงสังคมวัฒนธรรมบางอย่างที่อาจจะพอสังเกตได้ จากการอ่านงานศึกษาของตะวันตกกับงานเขียนของอดีตนักโทษทั้งหลายแหล่ ผมว่าข้างในคุกไทยไม่ได้มีลักษณะของเทคโนโลยีอำนาจที่ฟูโกต์เสนอไว้เสียทีเดียว ในมุมมองของฟูโกต์ คุกเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ (Total institution) เหมือนกับโรงพยาบาลบ้า ค่ายทหาร โรงเรียนกินนอนที่มีการควบคุมเข้มงวด แต่สำหรับคุกในสังคมไทย ในแง่ที่เป็นสถาบันเบ็ดเสร็จคงไม่เกิดขึ้นแน่ เพราะคนมีอำนาจต่อรองค่อนข้างเยอะ และจริงๆ แล้วอาจไม่ต่างจากสถาบันทางสังคมอื่นๆ สักเท่าไหร่

ผมมองว่าในคุกไทยมีแนวโน้มเป็นสถานที่จำลองความสัมพันธ์ทางสังคมของเราในแบบควบแน่นหรือขมวดให้เข้มข้นมากขึ้น โครงสร้างความสัมพันธ์แบบระบบอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ ระบบขาใหญ่ เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล รวมกันอยู่ในนั้นภายใต้การต่อรองที่น้อยลง เราจะได้ยินกันเยอะว่ามีขาใหญ่ในคุก มีคนที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งก็คล้ายคลึงกับความสัมพันธ์ที่มีอยู่ข้างนอก บางอย่างก็อาจจะมีการใช้อำนาจแบบเข้มข้นขึ้น เพราะเราเองก็อาจไม่ได้เข้าไปให้ความสำคัญเรื่องการสอดส่อง ดูแลชีวิตคนคุกให้มีมาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น

 

 

แล้วสำหรับประเด็นเรื่องเพศในเรือนจำ อาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร   

ถ้าเป็นเรื่องเพศ เท่าที่ผมเยี่ยมชมทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพฯ ก็เห็นว่ามีความพยายามจัดสวัสดิการให้ผู้ต้องขังในระดับมาตรฐานราชทัณฑ์สากล เช่น ถ้าผู้หญิงมีลูก ตั้งครรภ์ระหว่างติดคุก ก็จะจัดการดูแลให้ แยกเด็กอ่อนไว้ต่างหาก ถือว่ามีสวัสดิการที่ดีเพราะส่วนหนึ่งองค์ภาฯ สนใจเรื่องนี้ด้วย ดังนั้น คุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงเลยดูเหมือนจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษระดับหนึ่ง

ส่วนเรื่องเพศที่เกี่ยวกับผู้ต้องขังข้ามเพศ ในเรือนจำชายอย่างคลองเปรมหรือบางขวางก็พบเห็นได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเขาก็มีโอกาสได้แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของเขานะ ได้รับอนุญาตให้แสดงความสวยงามผ่านเรือนร่างต่างๆ อยู่ เช่น อาจทำทรงผม แต่งหน้าทาปากได้ระดับหนึ่ง เพราะไม่เป็นอันตรายต่ออำนาจในการควบคุมด้วย สังคมไทยเนี่ย ถ้าการแสดงออกหรือเรียกร้องสิทธิแบบไหนที่ไม่เป็นอันตรายต่ออำนาจที่อยู่เบื้องหลังหรือคนกำกับอำนาจ ก็มักจะได้รับอนุญาตให้แสดงออกแบบไม่กดทับ ดังนั้น ในแง่กฎหมาย เราอาจจะเห็นว่าประเทศไทยก็ก้าวหน้าเรื่องเพศมากกว่าหลายๆ ประเทศ เช่น มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะอำนาจที่อยู่ข้างหลังมองว่าไม่ได้เป็นภัยคุกคามหรือเป็นอันตรายกับเขาไง

 

สุดท้าย คุกในฝันของอาจารย์เป็นแบบไหน

หนึ่ง เราควรจะมีคุกไม่มาก จำนวนคุกต้องลดลง หันไปมองสิ่งที่เราเรียกว่าความผิดหรืออาชญากรรมใหม่ ว่ามันคืออะไร เกิดขึ้นจากอะไร คนที่ก่อต้องแบกรับความรับผิดชอบขนาดไหน ความรับผิดชอบของเขาต้องถูกแปลงมาเป็นอะไร จำเป็นต้องถูกลงโทษให้อยู่ในกำแพงคุกอย่างเดียวไหม

สอง ถ้าต้องมีคนถูกลงโทษให้จำคุก เรือนจำต้องถูกออกแบบให้เป็นสถานที่เพื่อการปรับปรุงแก้ไข เตรียมคนกลับสู่สังคม เป็น Department of Corrections แบบที่ควรจะเป็นจริงๆ ไม่ใช่วางอยู่บนฐานความคิดการลงทัณฑ์ของพระราชา เพราะมีงานศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า ยิ่งคุณลงโทษรุนแรงเท่าไหร่ สิ่งที่คุณจะได้มาไม่ใช่คนที่สำนึกแล้วฟื้นกลับไปสู่สังคม แต่เป็นสัตว์ประหลาดตัวใหม่ ทันทีที่ปล่อยออกไป ก็จะไปอาละวาดสร้างปัญหาในสังคมอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีกับอะไรเลย ประเด็นในกระบวนการยุติธรรมที่เราถกเถียงกันมาก็ไม่ใช่เรื่องการเพิ่มระดับความรุนแรงของโทษ แต่เป็นประเด็นเรื่องความแน่นอนและรวดเร็วของกระบวนการยุติธรรมมากกว่า สิ่งที่ทำให้คนไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมคือมันนานและเอาแน่เอานอนไม่ได้ ถูกแทรกแซงได้ตลอดเวลา จนไม่สามารถเอาคนผิดมารับผิดชอบ

สังคมควรจะมองคุกแบบนี้ แบบที่เป็นสถานที่ปรับปรุงตัว ถ้าเราไม่มองโจทย์เรื่องเงื่อนไขการก่ออาชญากรรมและการแก้ไขผู้กระทำผิด เราจะไม่สามารถหลุดออกจากวังวนการทำความผิด ลงโทษคนทำ แล้วก็จะเกิดปัญหาซ้ำๆ มันจะไม่มีทางออกอะไรเลย

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save